|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
เดินเที่ยวกรุงเทพ 1 วัน...
กรุงเทพมีที่เที่ยวมากมาย วันนี้เรามาเดินเที่ยวกรุงเทพแบบไม่ต้องกังวลเรื่องขับรถในเมือง รถติด หรือวุ่นวายหาที่จอดรถ วันนี้โปรแกรมเป็นแบบนี้ค่ะ วังพญาไท-พระที่นั่งวิมานเมฆ-พระที่นั่งอนันตสมาคม-เดินเล่นดูพระอาทิตย์ตกที่ถนนพระอาทิตย์-ท่าพระจันทร์
เราออกเดินทางจากบ้านกันแปดโมงเช้า ถึงสถานีบีทีเอสหมอชิต ทิ้งรถไว้ที่นี่ แล้วนั่งบีทีเอสไปที่อนุสาวรีย์ ให้ถึงอนุสาวรีย์ก่อน 9 โมงเช้านะคะ จากนั้นเดินไปที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เดินไปเรื่อยๆ มองเข้าไปทางฝั่งโรงพยาบาลจะเห็นตึกที่มีโดมสวยๆ ถึงแล้วค่ะวังพญาไท เข้าไปลงชื่อเยี่ยมชมกันก่อน และรอให้ถึง 9:30 วังพญาไทอยู่ในช่วงที่กำลังปรับปรุง ดังนั้นจึงเปิดให้เข้าชมวันละ 2 รอบ เฉพาะวันเสาร์นะคะ 9:30 และ 13:30 จะมีสมาชิกชมรมคนรักวังนำเที่ยวค่ะ
9:30 แล้ว เริ่มทัวร์ด้วยการชมภาพเก่า และฟังความเป็นมาของวังก่อน วังพญาไทสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้โปรดเกล้าให้สร้างพระที่นั่งใหม่หลายพระองค์ด้วยกัน และได้สถาปนาวังเป็น พระราชวังพญาไท ในสมัยรัชกาลที่ 7 วังพญาไทกลายเป็นโฮเต็ลพญาไท โรงแรมชั้นหนึ่งของประเทศในสมัยนั้น จนกระทั่งปี 2475 คณะราษฎรใช้วังพญาไทเป็นโรงพยาบาลทหารของกองทัพบก จนกระทั่งกลายมาเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน ไกด์จากชมรมคนรักวังพาเราเดินเข้าห้องนั้นออกห้องนี้เป็นเวลา 3 ชั่งโมง ค่าเยี่ยมชมฟรีนะคะ แต่มีตู้รับบริจาคเพื่อนำเงินไปบูรณะวังต่อไป
ออกจากวังพญาไท เราเดินกลับไปที่อนุสาวรีย์ชัยเพื่อหามื้อเที่ยงกิน รวมถึงเพื่อขึ้นรถเมล์ต่อไปยังพระที่นั่งวิมานเมฆ มื้อเที่ยงนี้แนะนำก๋วยเตี๋ยวถ้วยด่วนที่ร้านแถวๆตลาดนัดฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี จากนั้นขึ้นรถเมล์สาย ปอ. 28 ไปที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ค่ารถ 10 บาทเอง เนื่องจากไม่เคยมาแถวนี้มาก่อน เราจึงให้พี่กระเป๋าบอกด้วยว่าลงตรงไหน นั่งไปไม่นาน ขณะที่รถเมล์จอดติดไฟแดง ตาเราก็เหลือบไปเห็นป้าย "พระที่นั่งวิมานเมฆ 350 เมตร" เลยรู้ว่าเรานั่งรถเลยซะแล้วค่ะ เลยต้องขอลงตรงนั้นเลย พี่กระเป๋าบอกว่า อ้าว นึกว่าลงไปแล้ว... กรรม แล้วเราจะให้พี่ช่วยบอกด้วยว่าให้ ลงที่ไหน ทำไมล่ะ
เดินย้อนกลับกันเล็กน้อยก็เจอทางเข้าพระที่นั่งวิมานเมฆ ที่ลานจอดรถมีรถทัวร์จอดอยู่สามสี่คัน กลายเป็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะกว่านักท่องเที่ยวคนไทยค่ะ ที่นี่ต้องซื้อบัตรเข้าชมก่อน ราคา 75 บาทสำหรับคนไทย และ 100 บาทสำหรับชาวต่างชาติ ที่นี่แฟร์ดีนะคะ ไม่เขียนราคาคนไทยเป็นตัวเลขไทยเหมือนกับหลายๆที่ นัยว่ากลัวชาวต่างชาติรู้ว่าเขาจ่ายแพงกว่าเรามาก ไม่เห็นต้องกลัวเลย ว่าไหมคะ เดินตามป้ายไปเรื่อยๆก็เจอทางเข้าค่ะ ต้องฝากกระเป๋า กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ไว้ที่ล้อคเกอร์ ค่าฝาก ล้อคเกอร์ละ 20 บาท
ตัวอาคารพระที่นั่งวิมานเมฆเป็นรูปตัว L ทำจากไม้สักทองทั้งหลัง ได้ชื่อว่าหลังใหญ่ที่สุดในโลกด้วยนะคะ การเข้าชมจะมีไกด์พาเดินชมห้องต่างๆซึ่งปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์โดยมีสำนักพระราชวังเป็นผู้ดูแล ข้างในพระที่นั่งติดแอร์ เดินชมเย็นสบาย ใช้เวลาทัวร์ประมาณครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้ว เมื่อออกมากด้านนอกและรับของจากล็อคเกอร์ เราก็สามารถถ่ายรูปภายนอกพระที่นั่งได้ หลังจากนี้เราสามารถเดินชมพระที่นั่งหลังอื่นๆในบริเวณนั้นได้อีก แต่พวกเราตัดสินใจเดินตามป้าย ลัดเลาะไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมเลย ระหว่างทางจะเดินผ่านพระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นพระที่นั่งเล็กๆที่สวยงามมากค่ะ ถ่ายรูปที่นี่กันนิดหน่อย แล้วเดินต่อไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมที่งามสง่าอยู่เบื้องหน้า พระที่นั่งอนันตสมาคมสร้างตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ แล้วเสร็จเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นที่รับรองแขกเมืองและประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรเนซ้องส์ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีค่ะ จนกระทั่งถึงปลายปี 51 พระที่นั่งแห่งนี้จะเปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันเด็กแห่งชาติเท่านั้น แต่ทุกวันนี้เราสามารถเข้าชมภายในได้แล้วทุกวัน โดยเสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาท แต่เนื่องจากช่วงที่เราไป ยังมีนิทรรศการศิลป์แผ่นดินอยู่ เลยต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 150 บาท บวกกับค่าผ้าถุง (ได้กลับบ้านด้วย) อีกคนละ 40 บาท ช่วงนิทรรศการ ห้ามใส่กางเกงเข้าค่ะ ศิลปะขั้นสูงของชาติ บวกกับความงามภายในพระที่นั่ง ทำเอาพวกเราอึ้งไปเลย รู้สึกปลื้มใจมาก อยากให้ไปเห็นด้วยตาตัวเองค่ะ คนไทยทุกคนน่าจะรู้สึกภูมิใจ คล้ายๆกัน ภายในพระที่นั่งห้ามถ่ายรูปนะคะ แต่ถ้าจำกันได้ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวง ที่มีภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายการต้อนรับสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ก็จัดที่นี่ค่ะ
ออกจากพระที่นั่งก็เกือบๆสี่โมงเย็น เราออกทางประตูหน้า ตามโปรแกรมคือจะไปเดินเล่นดูพระอาทิตย์ตกที่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อ ข้ามไปฝั่งตรงข้ามก่อนค่ะ แล้วหารถไปถนนพระอาทิตย์ แนะนำให้นั่งตุ๊กๆ จะได้อารมณ์ของการเป็นนักท่องเที่ยวมาก บอกลุงคนขับให้ไปส่งที่ป้อมพระสุเมร สนนราคาอยู่ที่ 50 บาท ป้อมพระสุเมรเป็นหนึ่งในสองจากทั้งหมด 14 ป้อมที่ยังเหลือให้ได้ชมกันทุกวันนี้ อีกป้อมที่ยังเหลืออยู่คือป้อมพระกาฬที่ถนนราชดำเนิน ป้อมทั้ง 14 ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 แน่ะ เก่าเกิน 200 ปีแล้ว
จากตรงนี้เราตัดสินใจหาอะไรรองท้องก่อน ซึ่งถ้ามาแถวนี้แล้วไม่ได้กินโรตีมะตะบะชื่อดัง ถือว่าภาระกิจยังไม่สมบูรณ์ค่ะ ร้านหาไม่ยากค่ะ อยู่ริมถนนตรงใกล้ๆที่รถตุ๊กๆจอดนั่นแหละ ก่อนมาได้ข่าวว่าร้านนี้คนเยอะ อาจไม่มีที่นั่ง เขาก็ให้ซื้อโรตีไปนั่งกินริมฝั่งเจ้าพระยาแทน ใกล้ๆป้อมพระสุเมรเป็นสวนสาธารณะเล็กๆ มีที่นั่ง ร่มไม้ ให้ชื่นชมธรรมชาติริมน้ำได้ค่ะ วันที่เราไป ที่ร้านยังมีที่นั่ง ก็เลยได้นั่งกินที่ร้าน โรตีก็อร่อยปกติ ที่พวกเราชอบมากคือซุปไก่
เมื่อจัดการอาหารหมด เราก็เริ่มออกเดินไปตาม Walkway เลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางกรุงเทพฯทำทางเดินไว้ซะดีเลยค่ะ เราเดินผ่านท่าพระอาทิตย์ ผ่าน UNICEF ที่เช่าวังพระอาทิตย์เดิมมาทำออฟฟิศ เดินชมแม่น้ำสบายๆถ่ายรูปไปเรื่อยๆ จนถึงท่าเรือพระปิ่นเกล้า ก็สุดทางเดินพอดี จากนั้นก็ขึ้นไปเดินริมถนนแทน ผ่านกองการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ เข้าไปที่ธรรมศาสตร์ เดินเข้าไปในมหาลัย ได้อารมณ์เป็นนักศึกษาดีค่ะ เดินผ่านโดมธรรมศาสตร์ไปออกประตูหนึ่ง ก็จะเห็นตลาดนัดท่าพระจันทร์ ของที่ขายที่นี่ก็จะเป็นเสื้อผ้าของใช้วัยรุ่น พวกเราเดินดูของกันแป๊บนึง ได้เวลากลับแล้ว จึงเดินไปสนามหลวง ผ่าสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถกลับอนุสาวรีย์ฯ จากตรงนี้มีรถเมล์หลายสายค่ะ พวกเรารอ ปอพ.25 อยู่นาน แต่ไม่มาซักที จึงตัดสินใจเรียกแท้กซี่กลับมาที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ก่อนนั่งบีทีเอสกลับสถานีหมอชิต
วันนั้นออกจากหมอชิตทุ่มครึ่ง ขณะขับรถกลับบ้านก็วางแผนเที่ยวครั้งหน้าเรียบร้อย
Create Date : 29 ธันวาคม 2552 |
|
7 comments |
Last Update : 29 ธันวาคม 2552 13:58:00 น. |
Counter : 4562 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: chabori 29 ธันวาคม 2552 16:28:21 น. |
|
|
|
| |
โดย: รัชชี่ (รัชชี่ ) 29 ธันวาคม 2552 21:11:09 น. |
|
|
|
| |
โดย: Dimples255 IP: 114.128.116.123 31 ธันวาคม 2552 16:38:59 น. |
|
|
|
| |
โดย: Mr.Sporderman IP: 110.164.67.20 3 มกราคม 2553 19:07:52 น. |
|
|
|
| |
โดย: nut IP: 58.8.140.85 19 เมษายน 2554 21:58:14 น. |
|
|
|
| |
|
|