space
space
space
 
กุมภาพันธ์ 2567
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
20 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ทางสายกลาง เพื่อชีวิตสังคมที่สุขสมบูรณ์ พระคันธกุฎี ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี อาทิตย์ ที่ ๑๙ ก
 ทางสายกลาง เพื่อชีวิตสังคมที่สุขสมบูรณ์
 
พระคันธกุฎี  ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี
 
อาทิตย์ ที่ ๑๙ ก.พ. ๒๕๓๘


     บัดนี้  เราได้เดินทางมาถึงวัดพระเชตวัน ... ที่พระคันธกุฎี  ที่พระพุทธเจ้าได้เคยประทับอยู่เป็นเวลารวมถึง ๑๙ ปี  ในพระเชตวันนี้และในเมืองหลวงของแคว้นโกศล คือ กรุงสาวัตถี


235 สาวัตถี ถิ่นปิยชนเปี่ยมศรัทธา


     กรุงสาวัตถี นี้เป็นชื่อในภาษาบาลี ที่เมืองอินเดียนี้เขาเรียกตาม ภาษาสันสกฤตว่า เมืองศราวัสตี

     แต่ชื่อสาวัตถี ก็ดี ศราวัสตี ก็ดี เป็นชื่อที่เรารื้อฟื้นขึ้นมาในสมัยปัจจุบัน  แต่ก่อนที่จะมีการรื้อฟื้นสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนานั้น ชื่อนี้ได้เลือนลางจางหายไปแล้ว คนอินเดียไม่รู้จัก  สาวัตถีเป็นเมืองที่ถูกลืมไปแล้ว   คนอินเดียเขาเรียกถิ่นนี้ว่า สะเหต-มะเหต (Saheth-Maheth)

     สถานที่นี้  ซึ่งเคยเป็นเมืองใหญ่ เป็นราชธานีของแคว้นมหาอํานาจ ในสมัยโบราณ มาบัดนี้กลับกลายเป็นที่รกร้าง เป็นถิ่นกันดารห่างไกล อย่างที่โยมได้เดินทางมาถึงและได้เห็นตั้งแต่วานนี้ แม้แต่ถนนหนทาง  ก็เดินทางมาแสนยาก สภาพทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งหลาย

     ชื่อสาวัตถีนี้มีตำนานว่า  เดิมเป็นที่อยู่ของฤษีชื่อว่า สวัตถะ
 
     อีกนัยหนึ่ง ว่า เมืองนี้ชื่อ สาวัตถี  เพราะมีสิ่งของเครื่องใช้เครื่องอุปโภคบริโภคพรั่งพร้อมทุกอย่าง
 
     อีกตำนานหนึ่ง เล่าว่า พวกพ่อค้ากองเกวียนต่างๆ ที่เราเรียกว่า คาราวาน (caravan) ได้เดินทางมาค้าขายที่นี่มาก เพราะเป็นเมืองใหญ่ และเมื่อมาถึงที่นี่ ก็มีการไถ่ถามว่ามีของอะไรมาขายบ้าง กองคาราวาน ก็จะตอบไปว่า “มีทุกอย่าง”
 
     คำว่า   “มีทุกอย่าง”  ภาษาบาลีว่า    “สพฺพํ  อตฺถิ”  สพฺพํ   ที่แปลว่า  ทุกอย่าง นั้น แปลงเป็น สาว  (ภาษาสันสกฤตเป็น สรฺวํ)   ส่วน อตฺถิ   แปลว่า มีแล้ว  สพพํ  อตฺถิ   ก็กลายมาเป็น สาวัตถี
 
     (อีกนัยหนึ่งว่า ชื่อ สาวัตถีเพราะเป็นที่อยู่ของฤษีชื่อ “สวัตถะ” แต่ฝ่ายสันสกฤตว่า ชื่อ ศราวัสตี  เพราะเป็นเมืองที่ราชาพระนามว่า “ศราวัสตะ” ทรงสร้างขึ้น)
 
     นี่เป็นตำนานเรื่องราวที่เป็นมาในอดีต  เป็นประวัติของชื่อเมืองนี้
 
     เมืองสาวัตถีนี้ตามพระคัมภีร์ว่า อยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ ๔๕ โยชน์  ถ้าคิดเป็นตัวเลขปัจจุบัน  โยชน์ละประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ก็ได้ ๗๒๐ กิโลเมตร  นี้ก็ว่าไปตามตัวเลขในคัมภีร์
 
     เส้นทางสมัยก่อนเป็นทางเกวียน และต้องวกต้องแวะเมืองโน้น เมืองนี้ ทำให้ระยะทางห่างออกไป  แต่ถนนปัจจุบันก็อ้อมไปอ้อมมาไม่น้อย โยมก็คำนวณเอาเอง เพราะเราก็เดินทางมาตามลำดับ แต่ถ้าวัดตามแผนที่ปัจจุบัน ลากตรงเป็นเส้นไม้บรรทัด ก็ได้ระยะทาง ๔๖๐ กม.
 
     จะสังเกตเห็นว่า การวัดระยะทาง มักใช้เมืองราชคฤห์เป็นจุดศูนย์ กลางในการวัด แสดงว่าเมืองราชคฤห์มีความสำคัญมาก
 
     เมืองสาวัตถี ดังได้กล่าวแล้วว่า เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นานที่สุดในการบำเพ็ญพุทธกิจ คือเสด็จมาประทับที่สาวัตถีถึง ๒๕ พรรษา โดยแบ่งเป็น ๒ วัด คือ ประทับที่วัดพระเชตวัน ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ๑๙ พรรษา และประทับที่วัดบุพพาราม ของนางวิสาขา อีก ๖ พรรษา
 
     แต่ที่จริงยังมีวัดใหญ่ในเมืองสาวัตถีอีกวัดหนึ่ง  คือ วัดราชการาม หรือราชิการาม   (ในคัมภีร์เรียกว่า ราชการาม) ซึ่งเป็นวัดของพระเจ้าปเสนทิโกศล
 
     บุคคลสำคัญมากในเมืองสาวัตถี ที่มีความคุ้นเคยสนิทสนม เป็นผู้อุปถัมภ์องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ นอกจากพระเจ้าปเสนทิโกศล  ก็มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  และนางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นหลัก
 
     อาจจะเป็นด้วยเหตุที่เมืองสาวัตถีนี้ มีบุคคลที่มีความคุ้นเคยสนิท สนมใกล้ชิดกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก จึงเป็นเหตุให้พระองค์เสด็จมาประทับมาก ทั้งๆที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงประดิษฐานพระศาสนาเบื้องต้นที่เมืองราชคฤห์แต่กลับมาประทับที่นี่มากที่สุด
 
     ด้านเมืองราชคฤห์นั้น  ต่อมามีเหตุการณ์เกิดความเปลี่ยนแปลงพระเจ้าแผ่นดินองค์เดิมที่เริ่มต้นในการประกาศพระศาสนา ซึ่งทรงมีความสนิทสนมกับพระพุทธเจ้ามาก คือ พระเจ้าพิมพิสาร ถูกพระราชโอรส คือพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์เสีย
 
     แม้ในระยะก่อนปลงพระชนม์ เจ้าชายอชาตศัตรูก็ได้สมคบกับพระเทวทัต ทำการต่างๆ เป็นที่วุ่นวายอยู่นาน เรื่องราวในกรุงราชคฤห์  ก็คงจะไม่เป็นที่เรียบร้อยดีนัก
 
     อันนี้อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ว่า เมื่อเศรษฐีและมหากษัตริย์ในเมืองสาวัตถีมีศรัทธามาก พระพุทธเจ้าก็จึงเสด็จมาประทับที่นี่มาก
 
     ในการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้า ๔๕ พรรษานั้น ได้กล่าวแล้วว่าทรงจำพรรษาที่เมืองสาวัตถีรวม ๒๕ พรรษา ส่วนที่เมืองราชคฤห์ ก็ได้ประทับอีก ๕ พรรษา สองเมืองก็รวมเข้าไป ๓๐ พรรษาแล้ว  ยังเหลืออีกเพียง ๑๕ พรรษา
 
     พรรษาแรก ก็ประทับที่อิสิปตนมฤคทายวัน เริ่มประกาศพระศาสนา  พรรษาสุดท้าย ก่อนจะปรินิพพานจำที่เวฬุุวคาม เมืองเวสาลี   ย้อนหลังไปก่อนนั้นอีก  เสด็จไปประทับจำพรรษาที่ ๑๓ และ ๑๘-๑๙ ณ จาลิยบรรพต รวม ๓ พรรษา นับว่านานรองไปจาก ๒ เมืองที่กล่าวมา แล้วข้างต้น บวกอีก ๓ พรรษา ก็เป็น ๕ พรรษา รวมเป็น ๓๕ พรรษา
 
     ส่วนที่เหลืออีก ๑๐ พรรษา พระองค์ประทับเฉลี่ยไปแห่งละ ๑ พรรษาหลายแห่ง จะไม่นำมาลำดับ เพราะว่าลำดับยากและจะจำยาก
 
     ที่ว่ามานี้ เป็นการทำให้มองเห็นภาพการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับที่เมืองสาวัตถีนี้มากที่สุด เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนาของพระองค์จึงเกิดขึ้นที่นี่มากมาย
 
     อย่างมงคลสูตรซึ่งเป็นพระสูตรที่เรารู้จักมากที่สุด เราสวดกันบ่อย เวลามีงานมงคลก็ต้องสวดมงคลสูตร ก็ตรัสที่นี่
 
     พระสูตรที่ตรัสแสดงถึงกฎธรรมชาติว่า  ธรรมคือหลักความจริงเป็นธรรมนิยาม มันดำรงอยู่ตามธรรมดาของมัน  ไม่ว่าตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม   ธรรมก็เป็นอย่างนั้น   แต่พระองค์ทรงค้นพบแล้ว นำมาเปิดเผย แสดงชี้แจงทำให้เข้าใจได้ง่าย  พระสูตรนี้เรียกว่าธรรมนิยามสูตร หรือในพระไตรปิฎกท่านเรียกว่า อุปปาทสูตร ก็ตรัสที่นี่เหมือนกัน
 
     แม้พระสูตรอื่นๆ อีกมากมาย   บางทีไม่ได้ตรัสในเมืองนี้  แต่ก็อยู่ในแคว้นนี้   เช่นพระสูตรที่คนรู้จักกันมากชื่อว่า กาลามสูตร  ก็ตรัสในแคว้นโกศลนี่แหละ ที่เกสปุตตนิคม
 
     อย่างไรก็ตาม  อย่างที่กล่าวแล้วว่า  พระพุทธเจ้าได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ เพราะเมืองราชคฤห์เป็นเมืองใหญ่    พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นการณ์ไกลในความสำคัญของเมืองราชคฤห์
 
     จะเห็นว่า เหตุการณ์สำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นที่เมืองราชคฤห์ เริ่มแต่การที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์  แคว้นมคธ   ต่อมาการสังคายนาครั้งแรก ก็ทำที่เมืองราชคฤห์  พระเจ้าอโศกมหาราชส่งศาสนทูตไปประกาศพระศาสนา  ก็ไปจากแคว้นมคธ ซึ่งตอนนั้นย้ายเมืองหลวงจากราชคฤห์ไปปาฏลีบุตรแล้ว
 
     เหตุการณ์ใหญ่ๆ ในพระพุทธศาสนา มีจุดตั้งต้นไปจากเมืองหลวงของแคว้นมคธ  แต่สาวัตถีกลับเป็นดินแดนที่พระพุทธเจ้าประทับมากที่สุด
 
     ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะทรงมองเห็นความเหมาะสมของสาวัตถี ในด้านที่จะใช้เป็นที่แสดงธรรมเพื่อให้มีคำสอนที่จะนำไปใช้  ไปปฏิบัติ ไปเผยแผ่ จึงทรงเลือกสาวัตถีเป็นแหล่งในการที่จะสั่งสอน
 
     (น่าสังเกตว่า ในตอนกลาง และปลายพุทธกาล แคว้นโกศลที่มีสาวัตถีเป็นเมืองหลวง นับว่ามีความสงบสุข บรรยากาศเหมาะแก่การเป็นแหล่งสั่งสอนธรรม  ส่วนราชคฤห์นอกจากมีการเปลี่ยนแผ่นดินแบบไม่เป็นไปด้วยดี  จากพระเจ้าพิมพิสารมาเป็นพระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว ยังมี การแข่งอำนาจอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะกับแคว้นวัชชี)
 
     ส่วนจุดที่เป็นต้นกำเนิดสำคัญๆ ของเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในทางพระศาสนา และจุดสำคัญในการทำงานของคณะสงฆ์  ให้ไปใช้กรุงราชคฤห์ เป็นศูนย์กลางเพราะมคธเป็นศูนย์กลางอำนาจและความเจริญในระยะยาว
 
     รวมความว่า เมืองสองเมือง คือ สาวัตถี กับ ราชคฤห์นี้  มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราควรจะได้ภาพนี้ไว้
 
     พระพุทธเจ้าประทับที่สาวัตถีมาก  เพราะบ้านเมืองสงบสุข  และมีบุคคลที่ทรงใกล้ชิดคุ้นเคยมาก  เช่น  นางวิสาขาที่เราได้ยินชื่อเป็นประจำ
 
     เรื่องของนางวิสาขามหาอุบาสิกา   มีมากมายในพระวินัย   นางวิสาขาเป็นต้นเหตุของการบัญญัติอะไรต่างๆ ที่ทำให้พระสงฆ์ได้มีความสะดวกสบายขึ้นในเรื่องปัจจัย ๔ เกิดมีอาหารฉันในชื่อต่างๆ แม้แต่ผ้าอาบน้ำฝน นางวิสาขาก็เป็นผู้เริ่มต้นทั้งนั้น
 
     นางวิสาขามีบทบาทสำคัญแม้แต่ในเวลาเกิดเหตุการณ์ในคณะสงฆ์   เช่นมีอธิกรณ์เกิดขึ้น อย่างที่เคยเล่าให้โยมฟัง
 
 
235 เรื่องร้อนที่ราชคฤห์   มาระงับได้ที่สาวัตถี
 
 
     นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสสปะ เป็นธิดาเศรษฐีในเมืองราชคฤห์ต่อมาออกบวชแล้ว ครรภ์โตขึ้นมา ภิกษุณีทั้งหลายพากันติเตียนว่า เธอทำไมทำอย่างนี้ เธอบวชเข้ามาแล้วทำไมประพฤติผิดล่วงละเมิดพระวินัย
 
     เนื่องจากมารดาของพระกุมารกัสสปะบวชในสำนักพระเทวทัต  เมื่อเกิดเรื่องราวแล้ว  ภิกษุณีทั้งหลายจึงพากันเข้าไปหาพระเทวทัต  เพื่อขอให้วินิจฉัย  พระเทวทัตกลัวหมู่คณะของตัวเองจะขายหน้า ก็บอกให้สึกไปเสีย
 
     นางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะคิดน้อยใจว่า เราบวชด้วยความศรัทธาอย่างยิ่ง เป็นลูกผู้ดีมีเงินทองมากมาย อุตส่าห์สละทรัพย์สมบัติสละชีวิตมาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้ทำความผิดเลย มีหรือจะมายอมง่ายๆ
 
     เธอก็คิดขึ้นมาว่า เราบวชเพื่ออุทิศองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้บวชอุทิศพระเทวทัต คิดได้อย่างนี้ก็เลยไปปรึกษาภิกษุณีผู้ใหญ่ให้ช่วยนำเรื่องมาขอพระวินิจฉัยจากพระพุทธเจ้า
 
     เรื่องเกิดที่เมืองราชคฤห์ แต่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่สาวัตถี คณะภิกษุณีจึงต้องพาภิกษุณีท่านนี้เดินทางไกลจากราชคฤห์มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สาวัตถี
 
     พระพุทธเจ้า ทั้งที่ทรงทราบว่านางภิกษุณีนี้บริสุทธิ์ แต่ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของพระวินัย  จึงตั้งคณะผู้ตัดสินอย่างที่เราเรียกในสมัยนี้ว่า ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ฝ่ายพระมีพระอุบาลีเป็นประธาน และทางฝ่ายอุบาสิกาก็มีนางวิสาขา มีอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วย
 
     นางวิสาขาทำหน้าที่ตรวจสอบร่างกายนางภิกษุณี และได้สอบถามด้วยความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์   ในที่สุดก็ไปชี้แจงแก่ที่ประชุม โดยประมวลเรื่องราวและทำให้วินิจฉัยได้ว่า ภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะนั้น   ตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนบวชแล้ว  มีครรภ์ติดมาก็จึงเป็นอันว่าภิกษุณีนั้นพ้นจากอธิกรณ์พ้นคดีเป็นผู้บริสุทธิ์
 
     ต่อมา ภิกษุณีท่านนั้นก็คลอดบุตรเป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงขอไปเลี้ยง ด้วยเสด็จเข้ามาในวัดได้ยินเสียงเด็กร้อง  ทรงดำริว่าไม่สมควรจะให้อยู่ในวัด และการเลี้ยงดูเด็กก็ทำให้ภิกษุณีลำบาก จึงทรงขอไปเลี้ยงในวัง
 
     เพราะเหตุที่อยู่ในวังจึงเรียกว่าเป็นกุมาร คำว่า “กุมาร”  นี้มีความหมายเหมือนพระราชกุมาร เมื่อเติบโตขึ้นในวัง จึงมีชื่อเรียกว่ากุมารกัสสปะ
 
     ต่อมากุมารกัสสปะออกบวช ได้บรรลุอรหัตตผล เป็นพระมหาสาวกสำคัญองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะในทางแสดงธรรมวิจิตร และต่อมาภิกษุณีที่เป็นมารดาก็ได้บรรลุอรหัตผลเหมือนกัน
 
     นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นที่พระเชตะวันในเมืองสาวัตถี    เรื่องในสาวัตถีมีมากมายเหลือเกิน   นี่เป็นเพียงตัวอย่าง

 
 
235 เคารพรัก - รักร่มเย็น เป็นบรรยากาศของสาวัตถี
 
 
     นอกจากนางวิสาขาแล้ว  ยังมีอนาถบณฑิกเศรษฐี  ผู้สร้างวัดพระเชตะวัน  ซึ่งอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งเป็นที่พึ่งของคนยากคนจนคนอนาถาทั้งหมด
 
     ชื่อตัวของท่านเศรษฐีว่าสุทัตตะ แต่เพราะเหตุที่เป็นผู้เลี้ยงดูคนยากจนอนาถา เลยได้สมญานามว่า “อนาถบิณฑิกะ” ซึ่งแปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา   หมายความว่า  ท่านเป็นผู้เอาใจใส่คนยากไร้มาก  คนอนาถาไม่มีเงินทอง ไม่มีอาหารกิน ก็ได้พึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี
 
     แม้องค์พระมหากษัตริย์เอง คือพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเคารพนับถือในพระพุทธเจ้าอย่างยิ่งยวด   คงจะเทียบคล้ายๆ กับพระเจ้าพิมพิสาร  แต่พระเจ้าพิมพิมสารแห่งแคว้นมคธนั้นทรงพระชนม์กว่า  เนื่องจากถูกปลงพระชนม์เสียโดยพระราชโอรสเอง
 
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลมีความเคารพในพระพุทธเจ้ามาก และมีอายุเท่ากับพระพุทธเจ้าด้วย คือประสูติปีเดียวกัน นับแบบไทยจัดเป็นสหชาติโดยปี
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลได้แสดงความเคารพอย่างสูงในพระพุทธเจ้า   ครั้งหนึ่ง   เมื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พอมาถึงก็เข้ามากอดจูบพระบาทของพระพุทธเจ้า
 
     พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า มหาบพิตรมีอะไรหรือจึงมาแสดงความเคารพรักอาตมาถึงอย่างนี้
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลก็กราบทูลว่า  พระพุทธองค์ได้ทำให้มหาชนตั้งอยู่ในกุศล ในคุณความดี
 
     หมายความว่า  พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน และแก่ประเทศของพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนนอกเหนือจากความเคารพส่วนพระองค์  ที่ทรงมีความเคารพรักมีความใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสแสดงเหตุผลต่างๆ ที่พระองค์มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าหลายอย่างหลายประการ
 
     พระดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่แสดงความเคารพรักพระพุทธเจ้า และเหตุผลต่างๆ ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระองค์นั้น  เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสจบและลาเสด็จกลับไปแล้ว  พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสบอกให้พระสงฆ์จำไว้ และให้เรียกข้อความที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลพระองค์ครั้งนี้ว่า ธรรมเจดีย์  ซึ่งท่านได้จัดเป็นพระสูตรหนึ่ง  เรียกว่า ธัมมเจติยสูตร หรือเรียกง่ายๆ ว่า ธรรมเจดีย์สูตร
 
     ให้สังเกตว่า  พระสูตรนี้เป็นคำตรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า  พระสูตรไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสทั้งหมด  แม้แต่คำตรัสของพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นเรื่องของธรรม และพระพุทธเจ้าทรงยอมรับ ก็เป็นพระสูตรได้เหมือนกัน
 
     ธัมมเจติยสูตร นี้ เป็นพระสูตรที่น่าศึกษา แสดงให้เห็นลักษณะของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีข้อความเปรียบเทียบกับลัทธิศาสนาอื่นไปด้วยในตัว ว่าทำไมพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าบ่อยๆ คล้ายๆ ว่ามีความรักมาก ก็อยากจะทรงสนทนาด้วย เพราะฉะนั้น  เมื่อมีโอกาสก็เสด็จมาเฝ้า บางครั้ง พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุเคราะห์พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นการส่วนพระองค์
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นเสวยจุ  จึงทรงมีน้ำหนักมาก  ทำให้อุ้ยอ้าย  เวลาจะประทับนั่งก็ไม่สะดวก  จะลุกก็ไม่ค่อยคล่องแคล่ว   
 
     ครั้งหนึ่ง   พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยเสร็จใหม่ก็เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะเสวยมากก็ทรงอึดอัด พระพุทธเจ้าทรงสังเกตเห็น  จึงได้ตรัสพระคาถาว่า “บุคคลผู้มีสติอยู่เสมอ รู้ประมาณในอาหารที่ได้มา จะมีเวทนาเบาบางแก่ช้า อายุยืน” (สํ.ส.๑๕/๓๖๖)
 
     พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงได้สติ   เลยให้พระราชนัดดาของพระองค์   ซึ่งตามเสด็จมาเฝ้าด้วย เรียนคาถาของพระพุทธเจ้านี้ไว้  เวลาพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสวยครั้งใด พระราชนัดดาก็จะว่าคาถานี้ขึ้นมา พอพระราชนัดดาว่าคาถานี้ขึ้น  พระเจ้าปเสนทิโกศลก็จะสะดุด และทำให้เสวยพอประมาณ ไม่เสวยมากไป
 
     ต่อมาปรากฏว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า   คล่องแคล่วขึ้น  ทรงระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และตรัสว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์พระองค์ด้วยประโยชน์ ทั้ง ๒ อย่าง ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ และสัมปรายิกัตถะ
 
     หมายความว่า   พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม  ประทานข้อปฏิบัติในการขัดเกลาพัฒนาจิตใจ ทำให้พระองค์ได้ประสบสัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์ลึกซึ้งหรือประโยชน์เบื้องสูงแล้ว   แต่ไม่แค่นั้น   พระพุทธเจ้ายังทรงอนุเคราะห์พระองค์ด้วยทิฏฐธัมมิกัตถะ คือประโยชน์ปัจจุบันด้วย ซึ่งในที่นี้ได้แก่เรื่องสุขภาพร่างกาย
 
     เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง  แสดงให้เห็นความสนิทสนมของพระเจ้าปเสนทิโกศลต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
     ที่นำเรื่องเหล่านี้มาเล่าให้ฟัง   เพื่อเราจะได้มองเห็นสภาพแวดล้อมของถิ่นนี้   ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2567 7:32:16 น. 0 comments
Counter : 27 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7881572
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7881572's blog to your web]
space
space
space
space
space