Group Blog
 
 
ธันวาคม 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
22 ธันวาคม 2551
 
All Blogs
 
เดือนที่ 7-9

การตั้งครรภ์ในเดือนที่ี่ 7


พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์
ในเดือนที่เจ็ดนี้ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1.1 กิโลกรัม และยาวประมาณ 26 เซนติเมตรแล้ว ส่วนยอดของมดลูกอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างสะดือกับใต้อก ตอนนี้ทารกมีไขมันมาสะสมตามร่างกายมากขึ้น ผิวหนังถูกปกคลุมด้วยไขสีขาวที่ช่วยปกป้องผิวหนังจากน้ำคร่ำ หากคลอดทารกในตอนนี้ ทารกยังมีโอกาสรอดชีวิตได้สูงภายใต้การดูแลพิเศษในโรงพยาบาล
สมองได้มีการพัฒนาขนาดโตขึ้นมาก และมีชั้นไขมันที่ปกคลุมเส้นประสาททั้งหมดเอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการรับส่งกระแสประสาทได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทารกสามารถเรียนรู้ได้ สมองมีการพัฒนาส่วนที่จะใช้คิดคำนวณ และตอนนี้ทารกสามารถรู้สึกเจ็บ ร้องไห้ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเสียง หรือแสง ทารกจะตอบสนองโดยการลืมตา จะเห็นว่าทารกมีพฤติกรรมเกือบจะเหมือนกับทารกที่ครบกำหนดแล้ว
เสียงดังจากภายนอกมีผลต่อทารกในครรภ์ ทารกจะได้ยินเสียงนั้น และมีรายงานการวิจัยซึ่งพบว่าเสียงดังทำให้ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น แม้แต่เสียงเพลงที่ดังเกินไปก็ตาม ดังนั้นคุณแม่ที่ทำงานในโรงงานที่มีเสียงเครื่องจักรดังๆ ควรปรึกษากับหัวหน้าเพื่อย้ายไปทำงานในจุดอื่นซึ่งเงียบสงบระหว่างการตั้งครรภ์ หรือการขอลาพัก
ตอนนี้ทารกขดตัวอยู่ในท้องคุณแม่เนื่องจากตัวเริ่มโตขึ้นและยาวขึ้น ทำให้พื้นที่มีจำกัด อย่างไรก็ตามทารกยังสามารถที่จะเปลี่ยนท่าได้ในขณะที่ทารกกำลังเคลื่อนไหว เนื่องจากปริมาณน้ำคร่ำน้อยลง คุณแม่จึงสามารถรู้สึกได้จากการเคลื่อนไหวของทารกได้อย่างชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนั้นขึ้นอยู่กับว่า ทารกอยู่ในท่าใด ตำแหน่งของรก และโครงสร้างร่างกายของคุณแม่เองบางครั้งชัดเจนมากจนสามารถมองเห็นจากผนังหน้าท้องของคุณแม่ได้เลย ลองให้คุณพ่อวางมือลงบนหน้าท้องในช่วงเวลาเย็นที่คาดว่าทารกจะมีการเคลื่อนไหวมากที่สุด บางทีคุณพ่ออาจสามารถรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารกจากโลกภายนอก
ทารกสามารถรับรู้รสชาติได้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าปุ่มรับรสของทารกที่อยู่ในครรภ์สามารถรับรู้รสได้ดีกว่าตอนที่อยู่ในโลกภายนอกเสียอีก
สารหล่อลื่นภายในปอดของทารกหรือ Surfactant ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทารกสามารถหายใจในโลกภายนอกได้ โดยที่สารหล่อลื่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ถุงลมเล็กๆนั้นแฟบติดกัน แต่สารหล่อลื่นนี้จะมีปริมาณมากพอก็ต่อเมื่อทารกมีอายุครบกำหนดแล้ว หากทารกคลอดก่อนกำหนด อาจเกิดภาวะหายใจลำบากขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคลอดเร็วก่อนกำหนดมากๆ การตั้งครรภ์โดยมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องคลอดก่อนกำหนด เช่น มารดามีภาวะความดันโลหิตสูง มีทารกในครรภ์มากกว่าสองคน แพทย์อาจให้ยาฉีดแก่แม่เพื่อช่วยเพิ่มระดับของ Surfactant ในปอดของทารกในครรภ์ได้ แต่ถ้าหากถุงน้ำแตกก่อนกำหนด หรือคลอดก่อนกำหนดโดยที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน กุมารแพทย์อาจพิจารณาให้ surfactant สังเคราะห์แก่ทารกเมื่อหลังคลอดทันทีเพื่อป้องกันการแฟบติดกันของถุงลมทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่
อาการท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหารมาก และท้องผูกยังคงเป็นอาการที่รบกวนคุณแม่อยู่ ขนาดของมดลูกที่โตขึ้นจะดันกระเพาะอาหารขึ้นไป หากคุณแม่รับประทานอาหารแล้วแน่นท้องมาก ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆอีกครั้ง
ในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์นี้ อาการบวมตามมือและเท้าเกิดขึ้นเป็นปกติ เพราะร่างกายสะสมน้ำไว้มาก อาจจะสังเกตได้จากแหวนที่คับมากขึ้น
ผิวหนังของคุณแม่จะแพ้ง่ายมากในช่วงนี้ อาจมีผื่นขึ้น หรือเป็นสิว ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าหากเป็นมากควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น เพราะหัวใจต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี่ยงร่างกาย รก และทารก ดังนั้นอัตราการเต้นของหัวใจของคุณแม่มักจะสูงกว่าปกติประมาณ 10 – 15 ครั้งต่อนาที คุณแม่บางท่านอาจถูกตรวจพบว่ามีเสียงผิดปกติของการเต้นของหัวใจ แต่มันจะหายไปเมื่อคลอดแล้ว
านมของคุณแม่ยังขยายต่อไปอีก รวมถึงต่อมผลิตน้ำนมก็มีความพร้อมแล้วที่จะผลิตน้ำนมออกมาเลี้ยงทารก ในไตรมาสสุดท้ายนี้คุณแม่อาจมีน้ำนมสีเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ ข้อควรระวังก็คือระวังการกระตุ้นที่บริเวณนมเพราะจะทำให้มดลูกบีบตัวและเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
อาการปวดหลังของคุณแม่จะเป็นมากขึ้นและบางทีส่งผ่านลงไปที่ขาทั้งสองข้าง ครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์มีอาการปวดหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินเข้าสู่ไตรมาสที่สาม อาการเจ็บที่หลังและส่งผ่านลงไปที่ขาอาจเกิดขึ้นได้จากการที่กระดูกสันหลังส่วนล่างนูนออก จากการที่ถูกมดลูกที่มีขนาดโตขึ้นดัน ทำให้เส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บ หรือถูกกด หรือบางทีการที่คุณแม่ก้มยกของโดยท่าทางไม่ถูกต้อง หรือบิดตัวเร็วเกินไป อาจเป็นสาเหตุให้ปวดหลัง และบางครั้งอาการปวดหลังก็หายไปเมื่อทารกเปลี่ยนท่า
หากคุณแม่นอนเอนหลังลงไปแล้วทำให้ไม่สุขสบาย นั่นเกิดจากการที่มดลูกที่มีขนาดใหญ่ลงไปกดอวัยวะต่างๆตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เลือดที่ไปหัวใจมีปริมาณน้อยลง ลองนอนตะแคงจะช่วยให้รู้สึกสบายมากขึ้น
คุณแม่จะเริ่มลุกจากเตียงลำบากขึ้น ให้นอนตะแคงก่อนแล้วใช้มือช่วยดันตัวขึ้นมา
หากคุณแม่มีอาชีพที่จำเป็นต้องยืนนานๆ อาจขอถุงเท้าที่ช่วยพยุงขาจากคุณหมอ หรือพยาบาล เนื่องจากอาการของเส้นเลือดขอดอาจเป็นมากขึ้น
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่
อาการเจ็บเตือน
อาการเจ็บท้องเกิดขึ้นจากการที่มดลูกมีการบีบรัดตัว คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่ากล้ามเนื้อที่อยู่ล้อมรอบทารกตึงและแข็งขึ้น อาการที่มดลูกบีบตัวนี้อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ แต่ในช่วงไตรมาสที่สามนี้จะชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อาการเจ็บเตือนและเจ็บครรภ์จะคลอดจริงๆนั้น แตกต่างกันตรงที่ เจ็บเตือนนั้นปากมดลูกยังคงปิดสนิท แต่เจ็บจริงปากมดลูกจะเปิดออก อาการเจ็บเตือนมดลูกจะหดรัดตัวไม่สม่ำเสมอจะเกิดขึ้นเมื่อใด เวลาใดก็ได้ แต่เจ็บจริงนั้น มดลูกจะหดรัดตัวสม่ำเสมอ และถี่มากขึ้น เจ็บนานขึ้น มดลูกอาจบีบตัวอยู่นานถึงสองนาทีและรุนแรงมากขึ้น การเจ็บเตือนเหมือนเป็นการซ้อมความพร้อมของการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ในการคลอดที่กำลังจะเกิดขึ้น
ทางเลือกในการคลอด
รในกรณีที่การตั้งครรภ์เป็นปกติ คุณแม่สามารถเลือกที่จะคลอดทารกทางช่องคลอดแบบธรรมชาติโดยไม่ใช้เทคโนโลยีใดๆเข้ามาช่วยได้ แต่ความเป็นจริงก็คือ โรงพยาบาลมีอุปกรณ์ต่างๆครบครันที่จะเตรียมพร้อมไว้ให้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยาระงับความรู้สึก อุปกรณ์ช่วยในการคลอดในกรณีที่คลอดยากเช่น คีม (Forceps) แวคคูอัม (Vacuum) หรือในกรณีที่ทารกอยู่ในภาวะที่ต้องทำการช่วยเหลือในทันทีต้องผ่าตัดออกมาก็สามารถใช้ห้องผ่าตัดได้เลย รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆที่คุณต้องการ เช่นวิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ มีเครื่องมือเตรียมพร้อมในกรณีที่ฉุกเฉิน มีเครื่องมืออีเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ตรวจสอบสภาวะของทารกในครรภ์ สามารถรองรับทารกที่คลอดออกมาแล้วอยู่ในภาวะวิกฤต เป็นต้น
เมื่อมาถึงโรงพยาบาล คุณแม่จะถูกจัดให้อยู่ในห้องรอคลอดที่สบาย สะอาด มีพยาบาลคอยดูแลและตรวจความก้าวหน้าของการคลอด ตรวจสภาวะของทารกในครรภ์ เมื่อคลอดทารกจะถูกส่งไปที่แผนกเด็กอ่อนเพื่อทำความสะอาดและ สังเกตอาการ โรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์ครบครันจะสังเกตอาการทารกที่คลอดใหม่ทุกรายในตู้อบ เพื่อที่สามารถสังเกตการหายใจของทารกได้อย่างชัดเจน และทารกอยู่ในตู้ที่มีอุณหภูมิอบอุ่นคงที่เหมือนกับในร่างกายของแม่ ทำให้ทารกสามารถปรับตัวกับโลกภายนอกได้ดีขึ้น ดังนั้นหากพบว่าลูกของคุณต้องอยู่ในตู้อบอย่าเพิ่งตกใจ หากทารกอาการปกติแข็งแรงดี แผนกเด็กอ่อนก็จะส่งทารกไปที่ห้องคุณแม่ในแปดชั่วโมง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor)
การคลอดก่อนกำหนดคือ การคลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ เด็กที่คลอดออกมาอาจยัง เจริญเติบโตไม่สมบูรณเต็มที่ ความสมบูรณ์ของเด็กจะขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เมื่อคลอด เด็กที่คลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 25 สัปดาห์อาจเสียชีวิต เด็กที่คลอดด้วยอายุครรภ์ น้อยๆแต่รอดชีวิตก็อาจจะมีปัญหาในการหายใจ อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ในขณะที่เด็กที่เป็นแฝดที่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดก่อนกำหนดแต่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจได้รับยากระตุ้นปอดให้สมบูรณ์ก่อนคลอด ทารกที่คลอดออกมา อาจมีน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับเด็กที่คลอดเมื่อครบกำหนดแต่ปอดมีความสมบูรณ์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
การคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นจากสาเหตุใด
o การที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
o ครรภ์แฝด
o ได้รับการผ่าตัดบริเวณช่องท้องในขณะตั้งครรภ์ เช่นไส้ติ่งอักเสบ
o มีน้ำคร่ำปริมาณมากหรือน้อยเกินไป
o มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 16 สัปดาห์
o มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
o มารดาอายุน้อยกว่า 16 ปี
o รกลอกตัวก่อนกำหนด
o มารดาสูบบุหรี่
o ทำงานที่ต้องออกแรงมากๆ
อาการแสดงของการคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ การมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด มีอาการเกร็งท้องเป็นๆหายๆ เป็นจังหวะ และมีน้ำเดิน การวินิจฉัยสามารถทำได้โดย แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจครรภ์เพื่อดูการบีบตัวของมดลูก ตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ ตรวจการบางและขยายตัวของปากมดลูก
แพทย์จะทำการยับยั้งการคลอดก่อนกำหนด หรือจะดำเนินการคลอด ที่ปลอดภัยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของทารก สุขภาพของมารดาและทารก ศักยภาพของหน่วยบริบาลทารกแรกเกิดอาการวิกฤต (Intensive care nursery) ที่จะสามารถดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด
การยับยั้งการคลอดก่อนกำหนด
o พักในโรงพยาบาล และมีการสังเกตการบีบตัวของมดลูกอย่างต่อเนื่อง
o นอนบนเตียงตลอดเวลา เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อมดลูก และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
o ในน้ำเกลือทางเส้นเลือดดำเพื่อให้ยาทางเส้นเลือดที่จะช่วยลดการบีบตัว ของมดลูก
o ตรวจเลือด ปัสสาวะ และเซลล์จากปากมดลูกเพื่อ ตรวจการติดเชื้อ
o อัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจสภาพของรก สุขภาพของทารก ประเมินอายุของทารก ตรวจความผิดปกติของทารก และท่าของทารก
o ตรวจน้ำคร่ำเพื่อตรวจการติดเชื้อ และประเมินความสมบูรณ์ของปอดของทารก
แพทย์จะไม่ให้ยาเพื่อยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดในกรณีที่
o มีเลือดออกมากทางช่องคลอด
o มีความดันโลหิตสูงในระดับรุนแรง
o มีการติดเชื้อในมดลูก
o ทารกมีความผิดปกติ หรือเสียชีวิตแล้ว
o สภาวะอื่นๆที่การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะดูแลตนเองอย่างไร เพื่อป้องกัน การคลอดก่อนกำหนด
o ไปพบแพทย์ทุกสองสัปดาห์หลังจากที่อายุครรภ์ 20 – 24 สัปดาห์เพื่อตรวจครรภ์
o ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลกระทบของงานที่ทำต่อการคลอดก่อนกำหนด
o พักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
o หยุดการออกกำลังทุกชนิด ไม่ยกของหนัก ไม่เดินทางไกล
o ต้องทำใจให้สบายปราศจากความเครียด
o หาวิธีที่จะจดจำการเกิดการบีบตัวของมดลูกจากการใช้มือสัมผัส ทำการบันทึกการบีบตัวของมดลูก ความสม่ำเสมอของการบีบตัว และความรุนแรงของการบีบตัว
o ระวังการกระตุ้นที่บริเวณหัวนม เนื่องจากเป็นสาเหตุให้มดลูกบีบตัว
o ระวังเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากเป็นสาเหตุให้มดลูกบีบตัว
การตรวจต่าง ๆ
Nonstress Test (NST)
คือการประเมินสภาพของทารกในครรภ์จากภายนอก ผ่านจากมารดา และบันทึกการเต้นของหัวใจของทารก เมื่อทารกที่มีสุขภาพแข็งแร็งมีการเคลื่อนไหว อัตราการเต้นของหัวใจจะสูงขึ้น ถ้าอัตราการเต้นของหัวใจของทารกอยู่ในช่วง 120 – 160 ครั้ง / นาทีและเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 15 วินาที 2 ครั้งภายใน 20 นาทีการแปลผลคือ Reactive ซึ่งแสดง ถึงทารกมีสุขภาพดี
Nonstress Test จะทำเมื่อใด
o เมื่อเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง
o เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ที่ผ่านมาเช่น ทารกตายในครรภ์
o เมื่อมารดาสังเกตว่าทารกดิ้นน้อยลง
o เลยกำหนดคลอดแล้วยังไม่คลอด
Nonstress Test จะให้ผลที่น่าเชื่อถือเมื่อ
o ทำใน 6 – 8 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์
o ทำในช่วงเวลาที่ทารกมีการเคลื่อนไหวมากที่สุดของแต่ละวัน (เช่นหลังจากมารดา รับประทานอาหาร 1-2 ชั่วโมง)
การตรวจ Nonstress Test จะมีการติดตัวรับสัญญานที่ผนังหน้าท้องของมารดาสองจุดคือที่ ส่วนยอดของมดลูก และบริเวณที่สามารถได้ยินหัวใจของทารกเต้น มารดาจะได้รับปุ่มสำหรับกดเมื่อได้รู้สึกถึงการดิ้น ของเด็ก เครื่องมือจะบันทึกการเต้นของหัวใจของทารกเป็นเวลา ~ 30 นาที ผลจะแสดงเป็นรูป กราฟ และเมื่อมารดากดปุ่มผลของการตรวจก็จะถูกแปลตามสภาวะนั้น
การแปลผล
Reactive: ทารกเคลื่อนไหวอย่างน้อยสองครั้งใน 20 นาที ในสองครั้งที่ทารกมีการ เคลื่อนไหวอัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้นอีก ~15 ครั้งต่อนาทีและสูงขึ้นอย่างน้อย 15 วินาที
Nonreactive: ทารกไม่มีการเคลื่อนไหวหรือ ไม่มีการเพิ่มขึ้นของการเต้นของหัวใจ ในระหว่างที่ทำ
บ่อยครั้งในการตรวจที่จะได้ผล Nonreactive เนื่องจากทารกไม่มีการเคลื่อนไหวเพียงพอ ที่เครื่องจะทำการอ่านผลได้ แพทย์จะทำการตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อเด็ก Active มากขึ้น แต่ถ้าผลยังคงเป็น Nonreactive ก็จะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์แบบที่เรียกว่า Biophysical แต่ถ้าผลยังคงไม่ชัดเจนแพทย์ก็จะต้องทำ Contraction Stress Test (CST) และถ้าหากผลการตรวจแสดงว่าทารกมีสุขภาพไม่แข็งแรงแพทย์อาจแนะนำให้ ทำการคลอดก่อนกำหนด


การตั้งครรภ์ในเดือนที่ี่ 8


พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์
เมื่อจะสิ้นสุดปลายเดือนที่แปดนี้ทารกจะมีความยาวประมาณ 36 เซนติเมตร และหนักประมาณ 3.5 กิโลกรัม ทารกมีการพัฒนารูปร่างและการทำงานของร่างกายไปจนเกือบสมบูรณ์แล้ว จะจะมีชีวิตรอดได้หากคลอดออกมาในเดือนนี้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจในหน่วยบริบาลทารกแรกเกิดของโรงพยาบาล เพราะปอดมีความสมบูรณ์มาก แต่ทารกก็ยังมีการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาเพื่อช่วยให้ปอดสมบูรณ์มากขึ้น เป็นการเตรียมพร้อมในการหายใจหลังคลอด ในสี่สัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอดทารกจะมีการพัฒนาในเรื่องของน้ำหนัก และการสร้างชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพื่อป้องกันและรองรับแรงที่จะเกิดขึ้นระหว่างการคลอด
สมองมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในเดือนนี้ ทารกสามารถเรียนรู้สิ่งที่อยู่ภายนอก ลองคุยกับลูก หรือ เปิดเพลงเบาๆให้ฟัง เพื่อสร้างความคุ้นเคย
ใบหน้าของทารก เมื่อคลอดจะมีลักษณะกลมและขอบตาอาจมีสีคล้ำ แต่หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและสีผิว
แขนขาของทารกนั้นได้มีการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ และนิ้วมีนิ้วเท้ามีเล็บขึ้นเต็มปลายนิ้วพอดี
ขนอ่อนๆตามตัวของทารกนั้นได้หายไปเกือบหมดในเดือนที่แปด แต่บางส่วนก็ยังมีเหลืออยู่ให้เห็นหลังคลอด ผิวหนังของทารกจะมีสีซีด ลอกเป็นขุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ฝ่ามือทั้งสองข้าง
อวัยวะของระบบสืบพันธุ์ในทารกเพศหญิงจะมีเนื่อเยื่อที่จะเจริญไปเป็นเต้านมและหัวนมเริ่มเห็นชัดเจน ในทารกเพศชาย ลูกอัณฑะที่เคยอยู่ในช่องท้องตอนนี้ได้เคลื่อนตัวลงมาอยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้ว
ในเดือนที่แปดนี้จะหมุนตัวกลับเอาศีรษะลงไปสู่เชิงกรานของแม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด แต่บางทีก็ไม่เป็นเช่นนั้น คุณหมอสามารถตรวจพบได้จากการตรวจอัลตร้าซาวด์ และคุณสามารถพบว่าส่วนที่แข็งๆและเป็นศีรษะของทารกอยู่บริเวณชายโครง และเท้าเล็กๆถีบลงบนบริเวณท้องส่วนล่างของคุณ หากในเดือนที่เก้าทารกยังคงไม่หมุนศีรษะกลับลงมาสู่อุ้งเชิงกราน การผ่าตัดคลอดก็จะถูกกำหนดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่่
อาการปวดที่รอยต่อของกระดูกเชิงกรานสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อทารกมีขนาดใหญ่และเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน กระดูกรอยต่อ และกล้ามเนื้อที่ยึดมดลูกจะถูกกดดันหรือดึงรั้งทำให้เมื่อเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายจะรู้สึกเจ็บได้
ว่าที่คุณแม่จะรู้สึกว่าตัวเองนั้นเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่วเหมือนก่อน หรือจะเรียกว่าอุ้ยอ้ายก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะเดินหรือวิ่ง
ว่าที่คุณแม่บางคนมักจะมีปัสสาวะเล็ดเมื่อหัวเราะ หรือไอ เป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ร่างกายสร้างออกมามากขึ้นเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อคลายตัว รวมถึงกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ
ริดสีดวงทวาร แรงกดดันที่ศีรษะของทารกกดลงบนอุ้งเชิงกราน เพิ่มแรงดันในหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดเป็นริดสีดวงทวารขึ้นทำให้เจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าที่คุณแม่ที่ท้องผูกบ่อยๆมักจะเป็นริดสีดวงทวารได้โดยง่าย บางทีริดสีดวงทวารทำให้เลือดออกได้ อย่าอายที่จะบอกคุณหมอ เพราะเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะเกิดริดสีดวงทวารขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ และคุณหมอจะมียาที่ช่วยให้คุณบรรเทาอาการเจ็บปวด พยายามอย่ายืนนานๆจะเพิ่มแรงดันให้เพิ่มมากขึ้น
อาการหายใจไม่พอจะมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนที่แปดและเก้า ยอดของมดลูกจะอยู่สูงถึงระดับซี่โครงชิ้นล่างสุด และดันกระบังลมของคุณแม่ขึ้นไป ทำให้คุณรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก หรือหายใจไม่พอ ลองหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ แต่ลึกๆ จะช่วยให้ดีขึ้น และไม่มีผลกับการเจริญเติบโตของทารก พยายามยืนหรือนั่งให้หลังตรงอยู่เสมอจะช่วยให้อากาศไหลเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น ในเวลานอนมดลูกจะดันกระบังลมขึ้นไปอีก ให้เอาหมอนหลายๆใบหนุนไหล่และศรีษะให้สูงขึ้น หรือนอนท่ากึ่งนอนกึ่งนั่ง จะทำให้คุณหายใจสะดวกและหลับสบายขึ้น
คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าร่างกายของุณแม่นั้นอ้วนฉุ เนื่องมาจากการบวมขึ้นของอวัยวะต่างๆ ที่มีของเหลวมาสะสมอยู่ เช่น ใบหน้า รอบตา ริมฝีปาก มือ ขา เข่า และเท้า เนื่องจากมีน้ำมาสะสมในเซลล์ไม่ถือเป็นความผิดปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องลดเกลือในอาหารลง เพียงแต่หลับพักผ่อนให้มากพอ
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่
คุณแม่บางท่านอาจกังวลว่าทารกจะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่ จะมีความพิการหรือความผิดปกติหรือไม่ เป็นเรื่องปกติที่ว่าที่คุณแม่จะกังวล แต่ถ้าหากว่าคุณรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องแล้วก็ไม่ควรต้องกังวล ทารกมีโอกาสที่จะเกิดความพิการขึ้นได้น้อยมากหากคุณแม่อายุน้อยกว่าสามสิบห้าปี และหากได้รับการตรวจคัดกรองความผิดปกติ (Triple markers) ตรวจน้ำคร่ำ หรือได้ทำการตรวจ 4D-อัลตร้าซาวด์แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงอีก
บางครั้งคุณแม่อาจกลัวและวิตกเกี่ยวกับการคลอด ความเจ็บปวด หรือคุณแม่จะสามารถคลอดเองได้หรือไม่ ทารกจะได้รับอันตรายจากการคลอดหรือไม่ โดยปกติแล้วหากทารกอยู่ในท่าที่ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ หรือมีภาวะรกเกาะต่ำ หรือคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์บางอย่าง การผ่าตัดคลอดจะถูกกำหนดไว้อยู่แล้ว คุณหมอจะต้องประเมินเอาไว้แล้วว่าคุณแม่สามารถคลอดเองได้ ซึ่งถ้าหากเกิดการคลอดลำบากขึ้นและทารกยังอยู่ในสภาวะปกติดี เครื่องมือที่ช่วยการคลอดทางช่องคลอดบางอย่างจะถูกนำมาใช้ เช่น คีม (Forceps) หรือแวคคิวอัม (Vacuum) ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ ไม่เป็นอันตรายต่อทารก แต่ถ้าหากการรอคลอดที่ยาวนาน ปากมดลูกไม่เปิดเต็มที่และมีผลให้ทารกอยู่ในสภาวะที่ขาดอ๊อกซิเจน การผ่าตัดคลอดจะเป็นทางเลือกที่ถูกนำมาใช้
คุณแม่บางท่านมีความวิตกกังวลว่าจะสามารถรับผิดชอบดูแลทารกได้หรือไม่ แม้ว่าคุณแม่จะมีวุฒิภาวะที่เหมาะสมแต่บางครั้งความรู้สึกนี้ก็เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกับคุณแม่มือใหม่ จำไว้ว่าคุณทำได้แน่ๆ เมื่อทารกคลอดออกมาคุณแม่จะรู้สึกว่าทำได้แน่ๆ การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์นั้น จะช่วยให้ความวิตกกังวลนั้นหายไป ลองอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงดูทารก หาพี่เลี้ยง หัดเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือชงนมผสม จะช่วยให้คุณแม่มีความพร้อมและมั่นใจมากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ทารกท่าก้น
ในเดือนที่แปดนี้ทารกควรจะกลับศีรษะลงมาเรียบร้อยแล้ว แต่บางทีก็ไม่เป็นเช่นนั้น คุณหมอสามารถตรวจพบได้จากการตรวจอัลตร้าซาวด์ และคุณสามารถพบว่าส่วนที่แข็งๆและเป็นศีรษะของทารกอยู่บริเวณชายโครง และเท้าเล็กๆถีบลงบนบริเวณท้องส่วนล่างของคุณ หากในเดือนที่เก้าทารกยังคงไม่หมุนศีรษะกลับลงมาสู่อุ้งเชิงกราน การผ่าตัดคลอดก็จะถูกกำหนดขึ้น ทารกท่าก้นหมายถึง เด็กในครรภ์มารดาที่มีส่วนนำเป็นก้นหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของขาหรือร่วมกันอยู่ทางส่วนล่างของมดลูก และศีรษะอยู่ทางยอดมดลูก สาเหตุที่แท้จริงที่เกิดทารกท่าก้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบสาเหตุที่ส่งเสริมให้เกิดทารกท่าก้นในกรณีดังต่อไปนี้
o เด็กในครรภ์มีการเคลื่อนไหวได้มากกว่ากว่าปกติ เช่น มีน้ำคร่ำมากกว่าปกติ หรือมารดามีหน้าท้องหย่อนในการตั้งครรภ์หลังๆ
o มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
o ส่วนหัวเด็กไม่สามารถปรับเข้ากับอุ้งเชิงกรานได้เช่น เด็กมีภาวะ Hydrocephalus หรือรกเกาะต่ำ
o ทารกแฝด
ในทารกท่าก้นบางกรณีสามารถคลอดเองทางช่องคลอดได้ แต่พบว่าภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดทารกท่าก้นมีสูงเช่น ทารกขาดอ๊อกซิเจน และมีเลือดออกในสมอง เนื่องจากศีรษะเด็กคลอดช้าเกินไป ปัจจุบันพบว่าการผ่าตัดคลอดเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับกรณีนี้
ภาวะกรวยไตอักเสบ
กรวยไตอักเสบเกิดขึ้นในช่วงใดของการตั้งครรภ์ก็ได้ แต่มักพบในไตรมาสที่สามเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับขนาดของมดลูกที่โตขึ้นด้วย โดยที่มดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นและไปกดทับหลอดไต อีกสาเหตุหนึ่งคือหลอดไตมีการเคลื่อนไหวน้อยลง ด้วยผลจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทั้งสองสาเหตุนี้ทำให้มีการคั่งค้างของปัสสาวะทำให้มีการติดเชื้อตามมา เชื้อที่พบบ่อยมักจะเป็น E.Coli
อาการที่เกิดจากกรวยไตอักเสบได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน กดเจ็บบริเวณหลังระหว่างชายโครงและกระดูกสันหลัง และอาจมีการถ่ายปัสสาวะบ่อย คุณหมอสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจโปรตีน และPus cell ในปัสสาวะ หากคุณเป็นกรวยไตอักเสบ คุณจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาลเนื่องจากแพทย์ต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและยาปฏิชีวนะ
กรวยไตอักเสบอาจเกิดขึ้นเรื้อรังได้ หากก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมานแก่ว่าที่คุณแม่มาก คุณหมออาจทำการเหนี่ยวนำให้เกิดการคลอด หากการตั้งครรภ์ครบกำหนดแล้ว
การตรวจต่าง ๆ
Contraction Stress Test (CST)
คือการประเมินสภาพของทารกในครรภ์จากภายนอก ผ่านจากมารดาโดยการ บันทึกการเต้นของหัวใจของทารกในขณะที่มีการบีบตัวของมดลูก อัตราการเต้นของ หัวใจของทารกและการบีบตัวของมดลูกจะถูกบันทึกไว้
การบีบตัวของมดลูกจะทำให้เลือดมาเลี้ยงทารกน้อยลงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จากการสังเกตอัตราการเต้นของหัวใจของทารกขณะที่มีการบีบตัวของมดลูก แพทย์จะสามารถบอกได้ว่าทารกสามารถรับมือกับสภาวะตึงเครียดของการบีบตัวของมดลูก นั้นได้ดีเพียงใด
Contraction Stress Test จะทำเมื่อใด
o เมื่อ Nonstress Test ได้ผล Nonreactive
o เมื่อผลของการตรวจ Biophysical profile ได้คะแนนต่ำ
o เมื่อแพทย์สงสัยว่าทารกอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงสูง
การตรวจ Contraction Stress Test แพทย์จะวัดการบีบตัวของมดลูกโดยพันก๊อซรอบผนังหน้าท้องของมารดาหัวใจของทารกจะถูกวัดจากเครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่องมือจะบันทึกการเต้นของหัวใจของทารก และการบีบตัวของมดลูก ผลจะแสดงเป็นรูปกราฟสองเส้นแยกจากกัน
การแปลผล
Negative: หากในระหว่างการตรวจไม่มีการลดลงของการเต้นของหัวใจของทารก แสดงว่าทารกมีสุขภาพดี
Positive: หากในระหว่างการตรวจมีการลดลงของการเต้นของหัวใจของทารก แสดงว่าทารกมีความผิดปกติบางอย่าง
หลังจากการตรวจ Contraction Stress Test จะต้องมาตรวจซ้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับผลการตรวจ หากผล Positive มารดาอาจจำเป็นต้องพักในโรงพยาบาล หากทารกมีสุขภาพไม่แข็งแร็งโดยที่ไม่สามารถแก้ไขได้แพทย์อาจแนะนำให้ทำการคลอดก่อนกำหนดโดยเร็วที่สุด
ความเสี่ยงของการทำ Contraction Stress Test อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดดังนั้นจึงไม่ทำในรายที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
แพทย์จะไม่ทำการตรวจ Contraction Stress Test ในกรณีต่อไปนี้
o เคยมีการผ่าตัดคลอดโดยลงมีดในแนวตั้ง
o อาจทำให้รกลอกตัวจากมดลูกดังนั้นจะไม่ทำในกรณีที่สงสัยว่ารกอาจลอกตัวก่อนกำหนด
o จะไม่ตรวจในทารกแฝด
o ในรายที่รกเกาะต่ำเพราะจะทำให้มีเลือดออก


การตั้งครรภ์ในเดือนที่ี่ 9 - 10


พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์
ตอนนี้ทารกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นวันละ 1 ออนซ์ ซึ่งอาจมีน้ำหนักมากถึง 3.5 กิโลกรัม (7 ปอนด์ 11 ออนซ์) และยาวประมาณ 36 เซนติเมตร (14 นิ้ว) เมื่อครบกำหนด 40 สัปดาห์พอดีทารกอาจยาวถึง 20 นิ้ว หรือมากกว่านี้เล็กน้อย
เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 36 สัปดาห์ ทารกจะมีความสมบูรณ์ของร่างกายเกือบร้อยเปอร์เซนต์แล้ว และจะสามารถมีชีวิตรอดได้หากมีการคลอดก่อนกำหนด โดยอาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในหน่วยบริบาลทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลนานนัก เนื่องจากปอดสมบูรณ์เต็มที่แล้ว พร้อมที่จะทำงานเมื่อทารกออกสู่โลกภายนอก
ในช่วงสี่สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ทารกจะมีการเพิ่มน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการสะสมของไขมันใต้ผิวหนังจะทำให้ทารกดูอ้วน แก้มยุ้ย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการรองรับแรงกดที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการคลอดนั่นเอง
ขนที่ปกคลุมร่างกายอยู่มากมายจะเริ่มหายไป และมีไขมันมาเคลือบผิวหนังอยู่แทน ไขมันเล่านี้จะช่วยปกป้องผิวที่บอบบางของทารกเอาไว้ ผิวหนังอาจจะลอกและแห้งแตกบ้างโดยฌพาะอย่างยิ่งบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า และผิวหนังมักมีสีค่อนข้างซีดเมื่อแรกคลอด
ใบหน้าเมื่อแรกคลอดจะค่อนข้างกลม และรอบขอบตาอาจดูคล้ำเล็กน้อยซึ่งจะหายไปเองถึงแม้บางคนจะใช้เวลานานถึงหกเดือนก็ตาม
แขนและขาจะอยู่ในท่างอ นิ้วมือและนิ้วเท้ามีความสมบูรณ์เต็มที่ และนิ้วมือและนิ้วเท้าเล็กๆนั้นจะมีเล็บที่บางและคมซึ่งอาจทำให้ข่วนตัวเองได้ซึ่งคุณอาจจะเห็นรอยข่วนนั้นได้เมื่อทารกคลอดออกมา
หากเป็นทารกเพศชาย ตอนนี้ลูกอัณฑะจะเคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะสามารถมองเห็นได้จากการตรวจอัลตร้าซาวน์ สำหรับทารกเพศหญิงจะมีเนื้อเยื้อของเต้านมและหัวนมได้เคลื่อนขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว
ขี้เทาที่อยู่ในลำใส้ของทารกจะทำให้ระบบขับถ่ายเริ่มมีการเคลื่อนไหวและขับถ่ายเป็นครั้งเมื่อทารกออกสู่โลกภายนอก
ทารกจะมีการเคลื่อนไหวน้อยลงเมื่อคุณใกล้คลอด แต่ทารกที่อยู่ในสภาวะที่ไม่ดีนักก็จะเคลื่อนไหวน้อยลงเช่นกันเพื่อเก็บพลังงานเอาไว้ ดังนั้นเมื่อคุณตื่นนอนขึ้นในตอนเช้าและก่อนเข้านอน นั่งอยู่บนเตียงสักสามสิบนาทีและนับจำนวนครั้งของการเคลื่อนไหวของทารก หากคุณนับได้จำนวน 5 – 6 ครั้งก็ถือว่าเพียงพอแล้วและคุณก็สบายใจได้ว่ามีความปลอดภัยภายในโลกส่วนตัวเล็กๆนั้น ทารกเคลื่อนไหว 10 ครั้งต่อวันถือว่าปกติดี
ปอดของทารกนั้นมีการพัฒนาจนสมบูรณ์เต็มที่ มีการผลิตฮอร์โมนบางชนิดออกมาซึ่งช่วยในการพัฒนาความสมบูรณ์ของปอดภายหลังการคลอด
หัวใจของทารกจะเต้นประมาณ 110-150 ครั้งต่อนาที เมื่อทารกคลอดออกมาจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในระบบไหลเวียนเลือด เมื่อปอดมีการขยายตัวออก ทำให้เลือดมีการไหลผ่านไปยังปอด และเกิดระบบไหลเวียนเลือดที่สมบูรณ์
รกซึ่งให้อาหารและออกซิเจนแก่ทารกมาเป็นเวลานานจะมีความสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเริ่มมีการเสื่อมสภาพลง เมื่อมีการคลอดรกออกมา รกจะมีน้ำหนักประมาณ 1 ใน 6 ของน้ำหนักของทารก
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่่
บริเวณท้องส่วนล่างจะรู้สึกหน่วงมากขึ้น เนื่องมาจากศีรษะของทารกที่เคลื่อนลงต่ำเพื่อเตรียมพร้อมต่อการคลอด จะมีน้ำหนักไปถ่วงบริเวณท้องส่วนล่างมากยิ่งขึ้น
ตอนนี้คุณแม่เลิกกังวลกับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นได้แล้ว เพราะว่ามันกำลังจะหายไปในไม่ช้า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นแบ่งเป็น ส่วนทารก 38% ส่วนของเลือดและของเหลวที่เพิ่มขึ้น 22% ส่วนของมดลูก เต้านม ก้นและขา ที่ขยายใหญ่ขึ้น 20% เป็นน้ำหนักของน้ำคร่ำ 11% และ อีก 9% เป็นน้ำหนักของรก ปากมดลูกจะอ่อนนุ่มขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมที่จะขยายออก หรือเปิดออกให้ทารกเคลื่อนผ่านออกมาได้ ช่องคลอดจะมีการขยายความยาวออกด้วยเช่นกัน เส้นเลือดดำจะมีเลือดมาคั่งอยู่ทำให้บริเวณช่องคลอดมีสีออกม่วงๆ และคุณแม่ก็จะมีตกขาวออกมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากปากมดลูกมีการผลิตเยื่อเมือกออกมามากขึ้น คุณแม่ต้องระมัดระวังในการทรงตัวให้มากยิ่งขึ้น เพราะน้ำหนักของหน้าท้องที่มากขึ้นจะทำให้เสียสมดุลย์ของการทรงตัว เป็นสาเหตุให้ปวดหลัง
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่
คุณแม่อาจจะเหนื่อยกับการตั้งครรภ์ ในเดือนสุดท้ายนี้คุณจะอุ้ยอ้ายมากขึ้น จะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกเหมือนอย่างแปดเดือนแรก แต่อาการที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆเช่น หายใจไม่พอ อาหารไม่ย่อย Heartburn จะลดลงเนื่องจากทารกเคลื่อนตัวลงสู้ช่องเชิงกราน แต่ก็จะทำให้คุณเคลื่อนไหวหรือเดินได้ลำบากมากขึ้น
ทาครีมให้ผิวหนังชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นรอยแตกของผิวหนังบริเวณหน้าท้องเต้านม สะโพกและต้นขา รอยแตกนี้อาจจางลงได้บ้าง
พักให้มากขึ้น ลดกิจกรรมต่างๆลง ผ่อนคลายความตึงเครียด เพราะมีทฤษฎีที่พบว่าฮอร์โมนจะหลั่งออกมาในขณะที่มีความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุให้มดลูกบีบตัวทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
ในหญิงตั้งครรภ์ที่ใกล้จะคลอดจะมีของเหลวสะสมอยู่ตามเข่า เท้า ขาส่วนล่าง ทำให้อวัยวะเหล่านั้นบวมขึ้น การยกขาสูง หรือการแช่ขาในอ่างน้ำเย็น จะช่วยให้อาการบวมดีขึ้น
คุณแม่บางท่านอาจมักจะหงุดหงิดรำคาญ ในช่วงนี้สิ่งที่มากระทบเล็กๆน้อยๆมักทำให้คุณแม่หงุดหงิดอยู่เสมอ ความอดทนของคุณแม่จะลดลง คุณแม่อาจจะหงุดหงิดกับการที่ต้องเดินเข้าห้องน้ำบ่อยมากนับครั้งไม่ถ้วนในตอนกลางคืน หรืออารมณ์เสียที่ไม่สามารถก้มลงไปผูกเชือกรองเท้าของตัวเองได้
ความกลัวจะทำให้คุณแม่รู้สึกกังวลใจ อย่าเก็บความกลัวความกังวลเอาไว้กับตัว ลองพูดคุยกับคนอื่นจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น และจะทำให้คุณแม่หายกลัวได้หากถามถูกคน
เมื่อมาถึงขั้นที่ทารกมีการเจริญเติบโตเต็มที่ และพร้อมที่จะออกมาดูโลกแล้ว บางทีคุณแม่จะย้อนกับไปคิดถึงเรื่องราวในแปดเดือนที่ผ่านมา เรื่องราวบางอย่างที่เป็นสาเหตุให้คุณกังวลใจในอดีตอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ขบขันได้ในตอนนี้
และเหมือนเป็นสัญชาติญาณของการทำรัง คุณแม่จะลุกขึ้นมาทำความสะอาดและตระเตรียมพื้นที่สำหรับต้อนรับสมาชิกใหม่ แต่ขอให้มีคนช่วยทำ และอย่าหักโหมเกินไปเพราะมันอาจทำให้คุณแม่ต้องไปโรงพยาบาลก่อนกำหนด
อาการแสดงว่าจะคลอด
การเริ่มการคลอดหมายถึงการที่มดลูกมีการบีบรัดตัวเพื่อที่จะขับเคลื่อนทารกในครรภ์ให้ออกสู่โลกภายนอก โดยปกติธรรมชาติของมดลูกขณะตั้งครรภ์จะมีการบีบตัวเป็นพัก ๆ เสมือนกับการเตรียมตัว ฝึกซ้อมการหดรัดตัวมาตลอดช่วงการตั้งครรภ์ แต่เป็นการหดรัดตัวที่ไม่สม่ำเสมอ และไม่ก่อความเจ็บให้แก่คุณแม่ เมื่อเข้าสู่กระบวนการคลอด การหดรัดตัวของมดลูกก็จะเข้าสู่ระบบ คือการบีบรัดตัวจะรุนแรงขึ้น ๆ ระยะเวลาจะสั้นลงและสั้นลงจนเข้าสู่ความคงที่ 3 รอบการบีบตัวใน 10 นาที ในช่วงเวลานี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเริ่มกระบวนการคลอดแต่อาจจะแตกต่างกันไป อาการปวดท้องเป็นพัก ๆ จะเป็นอาการนำ แต่ในคุณแม่บางท่านจะรู้สึกถึงอาการปวดหลังนำมาก่อน และจะมีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด แต่ก่อนปวดก็อาจพบมูกเลือดได้ เนื่องจากปากมดลูกเปิดขยายและเมือกที่อุดอยู่จะหลุดออกมา นอกจากนี้ภาวะน้ำเดินเป็นอาการสำคัญที่จะบอกว่า ภายใน 24 ชั่วโมงข้างหน้าการคลอดต้องสิ้นสุดลง ถ้ามีน้ำเดินมาก่อนเริ่มมีการคลอด ถือเป็นสภาวะผิดปกติที่จะต้องเข้าพบแพทย์โดยเร็ว
การเตรียมตัวสำหรับการคลอด
การเริ่มต้นเตรียมตัวแต่เนิ่นๆจะทำให้คุณแม่มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวไปคลอด สิ่งของที่ต้องนำไปด้วย หรือการเตรียมพร้อมเมื่อจะนำทารกกลับบ้าน เป็นต้น
สิ่งที่จะต้องนำไปโรงพยาบาลสำหรับการคลอด
1. ของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู แป้งโรยตัว เครื่องสำอางต่างๆ ชุดชั้นในแบบที่คุณซื้อเตรียมไว้สำหรับการให้นมทารก เสื้อผ้าสำหรับใส่กลับบ้าน ถุงเท้า แผ่นซับน้ำนม สลิปสำหรับใส่พยุงหน้าท้องจะช่วยให้คุณเดินได้สะดวกขึ้นหลังคลอด ของใช้ส่วนใหญ่โรงพยาบาลมักจะมีเตรียมไว้ให้อยู่แล้วเช่น ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ผ้าอนามัย เสื้อผ้าทารก ผ้าอ้อม นมกระป๋องและขวดนมของทารกทางโรงพยาบาลจะมีเตรียมไว้ให้เสมอ แต่ถ้าคุณอยากจะนำไปเองก็สามารถทำได้
2. ขนมหรือผลไม้ที่คุณชอบ
3. กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ สำหรับถ่ายตอนคลอด
4. เทปหรือซีดีเพลงที่คุณชอบ อาจต้องนำเครื่องเล่นไปด้วยเพราะโรงพยาบาลมักจะมีแค่ทีวีเท่านั้น
5. หนังสืออ่านเล่นหลายๆเล่ม เพราะหลังคลอดคุณแม่อาจต้องนอนบนเตียงหลายวัน
6. สมุดโทรศัพท์ เอาไว้โทรบอกข่าวดี
7. โทรศัพท์มือถือและเครื่องชาร์ทแบตเตอรี่
8. คอมพิวเตอร์ LAP TOP เอาไว้หาข้อมูลทางอินเตอร์เนตหรือตอบ e-mail ขอบคุณสำหรับ e-card ที่เพื่อนๆ ส่งมาแสดงความยินดี
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ตะคริว
ตะคริวอาจเกิดขึ้นได้ มักจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน เมื่อคุณแม่เข้านอนแล้ว และพบว่ามีอาการเกร็งอย่าง ฉับพลันที่ข้อเท้าและลามขึ้นมาที่ขาพร้อมกับความรู้สึกเจ็บ จะมีหดเกร็งอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อนั้นมีลักษณะเป็นก้อนแข็งร่วมด้วยอาการปวด มักพบตะคริวที่กล้ามเนื้อขาหรือแขน แต่บางครั้งก็เป็นที่เท้า มือ นิ้ว หน้าท้อง ตะคริวเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอเพราะต้องแบ่งไปให้ทารกสร้างกระดูกและฟัน หรือเกิดจากการที่ระดับของแคลเซียมและโปแทสเซียมไม่สมดุลย์กัน วิธีแก้ไขก็คือ เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม กุ้งฝอย ปลาตัวเล็กๆ งาดำ ถั่วแดงหลวง ใบยอ ตำลึง
การบรรเทาอาการทำได้โดยเมื่อเกิดตะคริวขึ้นให้คุณแม่เหยียดคลายกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว หากเป็นที่ขาให้เหยียดขาออกให้ตรงหรือหย่อนขาลง การนวดขาจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้ อาจให้คุณพ่อช่วยดึงเหยียดให้ด้วยความนุ่มนวล ให้ความอบอุ่นและนวดกล้ามเนื้อนั้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด
โลหิตจาง
ช่วงที่ตั้งครรภ์ เม็ดเลือดแดงจะถูกสร้างเพิ่มขึ้น เพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายคุณแม่และทารก และยังต้องเผื่อการสูญเสียเลือดขณะคลอดอีกด้วย ถ้ารู้สึกเหนื่อย หน้าซีด มือเล็บซีด เป็นลมง่าย ก็น่าสงสัยว่าจะได้รับธาตุเหล็กน้อยไป โดยเฉพาะเมื่อใกล้คลอดคุณแม่บางท่านรับประทานอาหารได้น้อยลงเพราะรู้สึกแน่นท้อง จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ คุณแม่ต้องพยายามรับประทานให้ได้มากขึ้น และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ตับ เนื้อไม่ติดมัน อาหารทะเล นม ไข่ งา ถั่วเหลือง ผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง ผักปวยเล้ง และมะเขือเทศ วิตามินซีช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรซื้อวิตามินสำเร็จรูปมากินเองควรปรึกษาคุณหมอก่อนจะดีกว่า




Create Date : 22 ธันวาคม 2551
Last Update : 22 ธันวาคม 2551 15:39:49 น. 0 comments
Counter : 2392 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

youki
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




กำลังจะได้เป็นคุณแม่แล้วค่ะ..
Friends' blogs
[Add youki's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.