ทำทุกวันให้เป็นวันที่ดีที่สุด
 
สิงหาคม 2549
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 สิงหาคม 2549
 
 
จากชื่อ "คน" ไปเป็น "คำ" พิเรนทร์ กุ เชย ถั่วดำ ตุ๋ย

เคยสงสัยหรือไม่ว่าคำเหล่านี้มีที่มาอย่างไร

เล่นพิเรนทร์ กุ เชย อัดถั่วดำ ตุ๋ย


เล่นพิเรนทร์

ต้นตอของคำว่า "เล่นพิเรนทร์" มาจากพฤติกรรมของ "พระพิเรนทรเทพ" ตำรวจหลวงในสมัยรัชกาลที่ห้า

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาคุกคามไทย พระพิเรนทรเทพ ผู้นี้ฝึกบ่าวไพร่และอาสาสมัครให้ดำน้ำทน เพื่อไปเจาะเรือรบฝรั่งเศสให้จม บางคนดำน้ำแล้วทนไม่ไหวก็โผล่ขึ้นมา คุณพระพิเรนทร์ก็ใช้ไม้ถ่อคอยค้ำคอกดน้ำไว้ ถึงกับมีคนตายจึงต้องเลิกฝึก ตั้งแต่นั้นมา ถ้าใครทำเรื่องประหลาดก็จะพูดกันว่า "เล่นพิเรนทร์" หรือเล่นอย่างพระพิเรนทรเทพผู้นั้นเอง

กุ

คำว่า "กุ" เป็นคำร่วมสมัยกับคำว่า "เล่นพิเรนทร์" พจนานุกรม ให้ความหมายว่า "สร้างให้เป็นเรื่องเป็นข่าวขึ้นโดยไม่มีมูล" "กุ" มีที่มาจากพฤติกรรมของคนเช่นเดียวกับ "พิเรนทร์"

นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ เป็นปัญญาชนคนธรรมดารุ่นแรก ๆ ในสยามประเทศ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗ เมื่ออายุได้สี่ขวบ พระองค์เจ้ากินรี ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขอไปเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรสเป็นองค์อุปัชฌาย์ ก็ได้ฉายานามว่า เกศโร ซึ่งได้ใช้มาเป็นชื่อหน้าในภายหลัง คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ตามความนิยมที่จะมีชื่อหน้าอย่างตะวันตก

เนื่องจากได้มีโอกาสใกล้ชิดเจ้านายและเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่มาก จึงมีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนมาก ได้อ่านหนังสือตำราภาษาไทยจำนวนมาก และได้แอบคัดลอกหนังสือเหล่านั้น ออกมาพิมพ์เผยแพร่ให้กับบุคคลภายนอก โดยพยายามปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องและถ้อยคำของหนังสือใหม่ จึงทำให้ถูกไต่สวนบ่อยครั้ง ในข้อหาแต่งเติมพงศาวดาร ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของเขา ก็เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสอ่านหนังสือ และมีความรู้ ดังที่เขาได้มีโอกาส

คำว่า "กุ" ที่ย่อมาจากชื่อกุหลาบ หมายถึงโกหกขึ้นมา ก็มาจากพฤติกรรมนี้เอง กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เรียกหนังสือของนายกุหลาบ ว่า "หนังสือกุ" เพราะจะว่าจริงแท้ก็ไม่ใช่ เท็จทั้งหมดก็ไม่ใช่

เมื่อฝรั่งเศสส่งเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย ในร.ศ. ๑๑๒ เป็นเหตุให้ไทยต้องเสียดินแดนริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงประชาชนจำนวนมากโกรธแค้นฝรั่งเศสที่รังแกสยาม รวมทั้งนายกุหลาบด้วย แต่ว่าความเคืองแค้นของนายกุหลาบไม่ได้หยุดอยู่แค่ฝรั่งเศส แต่ลามมาถึงพระบรมราโชบายของพระเจ้าอยู่หัว ที่จำต้องสละแขนขาเพื่อรักษาชีวิตของสยามไว้

นายกุหลาบก็แต่งเติมพงศาวดารสุโขทัย เล่าเรื่อยมาถึงตอนจะเสียกรุงศรีอยุธยา ว่าตอนปลายอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" พระจุลปิ่นเกษ ไม่มีความสามารถที่จะรักษาอยุธยาไว้ได้ ถึงเสียบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นความจริงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้าไปแปลเป็นพระปิ่นเกศ และพระจุลปิ่นเกศ เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิ์ในการแต่งหนังสือ จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภ สุทัศน์) เมื่อยังเป็นพระยาอินทราบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมา สั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ นายกุหลาบจึงสารภาพว่าเป็นเรื่องที่ตนคิดขึ้นมาเอง

รัชกาลที่ ๕ มิได้ทรงลงโทษรุนแรงแต่อย่างใด เพียงแต่ทรงมีพระราชประสงค์จะดัดนิสัยให้นายกุหลาบเลิกอวดดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงรักษาคนบ้า ๗ วัน แล้วปล่อยไป

เชย

แล้วก็มาถึงคำว่า "เชย" คำ ๆ นี้มาจากบุคลิกของ "ลุงเชย" ตัวละครในหัสนิยาย เรื่อง "พล นิกร กิมหงวน" ประพันธ์โดย ปรีชา อินทรปาลิต (ป. อินทรปาลิต) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๕๑๐ มีตัวละครสำคัญคือ พล นิกร กิมหงวนและ ดร.ดิเรก สี่คนนี้ดองกันทางเขย คือ เมียของแต่ละคนเป็นพี่น้องกัน บุคลิกของตัวละครจะแตกต่างกัน แต่กลมกลืนกันได้อย่างแนบเนียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รวมหัวกันหนีเมียไปเที่ยว บางครั้ง ก็แอบเอาพ่อตาไปด้วย พ่อตาคือ "เจ้าคุณปัจจานึก" บุคลิกเด่นตรง หัวล้าน

"ลุงเชย" มีชื่อจริงว่า นายเชย พัชราภรณ์ เป็นพี่ชายของเจ้าคุณประสิทธิ์ บิดาของพล เป็นชาวอำเภอโกรกพระ เปิ่นๆ ไม่ทันสมัย ชื่อเชยจึงถูกยึดมาบอกกล่าวถึงคนที่มีบุคลิกเดียวกับแก มีอยู่ตอนหนึ่ง ลุงเชยเดินทางจากบ้านนอกมาถึงกรุงเทพ แต่งตัวแบบคนบ้านนอก รองเท้าแตะ เสื้อปล่อยชายแล้วเอาผ้าขาวม้าเคียนพุง กินข้าวก็เปิบด้วยมือ จะข้ามถนนแต่ละครั้งรอเป็นชั่วโมงจนกว่าไม่มีรถอยู่ในสายตา แถมยังบ่นอีกว่า

"ไอ้คนบางกอกมันรีบร้อนกันไปไหนจริง ทั้งวันเลย"

พอเห็นรถเมล์ขาว ที่มีคนอยู่เต็มรถก็บ่นอีก

"ไอ้คนบางกอกมันขี้โรคกันจริง ไม่สบายกันทั้งคันรถเลย"

เพราะรถเมล์ขาว มีตราเครื่องหมายคล้ายกาชาดสีแดงติดเป็นสัญลักษณ์ แกก็นึกว่าเป็นรถพยาบาล ตราสัญลักษณ์ของเมล์ขาว ก็เอามาจากลักษณะเหรียญของคนจีน ที่ตอนนั้น"นายเลิศ" หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน มีเหรียญติดกระเป๋ามาเหรียญเดียว จนทำมาหากินร่ำรวย และเป็นเจ้าของรถเมล์ขาว เพื่อรำลึกถึงความเหนื่อยยาก จึงจำลองเหรียญเป็นสัญลักษณ์ของเมล์ขาวทุกคัน

ลุงเชยไปไหนมาไหนจะไม่ใช้ถุงหรือกระเป๋า จะใช้ "ชะลอม" ใส่สัมภาระทุกชนิดของแก ความที่แกอยู่บ้านนอก ไม่เคยเห็นตึกสูง ๆ พอมาบางกอกเจอตึกทีไร แกเคยแหงนหน้าขึ้นไปมองแล้วก็นับในใจ ครั้งหนึ่ง แกออกไปคนเดียวไปเจอตึกที่สูงที่สุดในสมัยนั้น อยู่แถวเยาวราช เขาเรียก "โรงแรม ๗ ชั้น" แกก็แหงนมองและตั้งอกตั้งใจนับ ก็มีจิ๊กโก๋มาสะกิดและถามว่า

"ลุง..ทำอะไร"

แกก็หันไปมองหน้าด้วยความไม่ค่อยวางใจเท่าไรนัก แต่ก็ตอบความจริงไปว่า

"กูกำลังนับตึกอยู่ว่ามันกี่ชั้น"

จิ๊กโก๋ ได้ทีก็ต้อนฉับพลัน

"นับได้ยังไงลุง ที่นี่กรุงเทพนะ เขาห้ามนับ หากนับจะต้องเสียค่าปรับเป็นชั้น ๆ ไป แล้วลุงนับไปกี่ชั้นแล้ว"

แกรู้ทันและอาศัยความฉลาดแบบคนบ้านนอกตอบไปว่า

"ข้านับไปได้แค่สามชั้นเอง"

จิ๊กโก๋แบมือและบอกว่า

"งั้นจ่ายเงินมา สามสิบบาทชั้นละ ๑๐ บาท"

แกก็ยอมจ่ายโดยดี แล้วเดินหัวเราะกลับบ้าน ไปเล่าให้ลูกหลานฟังว่า

"ไหนพวกมึงเตือนกูนักเตือนกูหนา ให้ระวังคนบางกอกมันจะหลอกเอา นี่กูไปหลอกมันมาแล้ว หน่อยแน่ ไม่ได้กินกูหร็อก กูนับตึกไปได้หมดแล้ว ๗ ชั้น แต่โกหกมันว่า ๓ ชั้นมันก็เชื่อ แทนที่จะเสีย ๗๐ บาท กูเสียแค่ ๓๐ บาทเอง"

อัดถั่วดำ และ ตุ๋ย

มีอีก ๒ คำที่มาจากชื่อคน และใช้ในความหมายเช่นเดียวพฤติกรรมของคน ๆ นั้น คื่อ "อัดถั่วดำ" และ "ตุ๋ย"

ข่าวจาก หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับประจำวันที่ ๒๐มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘

"เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนนี้ เวลา ๑๘ น. ร.ต.ท. แสวง ทีปนาวิณ สารวัตร สถานีตำรวจป้อมปราบ ได้จับตัว นายการุณ ผาสุข หรือ นายถั่วดำ ตำบลตรอกถั่วงอก อำเภอป้อมปราบ มาไต่สวนยัง สถานีป้อมปราบ เหตุที่นายการุณ หรือถั่วดำ ถูกจับนั้น ความเดิมมีว่า ร.ต.ท. แสวง เห็นห้องแถวเช่า ซึ่งนายถั่วดำ เช่าอยู่ มีเด็กชายตั้งแต่ ๑๐ ถึง ๑๖ ปี อยู่ในห้องมากมาย จึงสงสัยว่า เด็กชายเหล่านั้น จะเป็นเด็กที่ประพฤติในทางทุจริต ร.ต.ท.แสวง ได้ออกสืบสวนอยู่ ๒ - ๓ วัน จึงทราบว่า นายถั่วดำ เป็นคนไม่มีภรรยา และเป็นผู้ชักชวนเด็ก ๆ ผู้ชาย ไปดูภาพยนตร์บ้าง ซื้อของเล่นบ้าง ให้ขนมรับประทานบ้าง แล้วก็พากันมาที่ บ้านพัก ของนายถั่วดำ ก็กระทำการ สำเร็จความใคร่ แก่เด็กชาย ที่พามาเสียก่อน และต่อจากนั้นแล้ว ก็จะจัดเด็กเหล่านั้น รับสำเร็จความใคร่ กับแขกบ้าง เจ้าสัว และจีนบ้าบ๋าบ้าง พวกที่มาต้องเสียเงินเป็นรางวัล ให้แก่นายถั่วดำ เยี่ยงหญิงโสเภณี"

จากนั้นชื่อของ "นายถั่วดำ" ก็กลายมาเป็นศัพท์เฉพาะที่รู้ทั่วกัน ว่า "อัดถั่วดำ" หมายถึง การเสพสมทางทวารหนัก

ต่อมาอีก ๖๓ ปี ในพ.ศ. ๒๕๔๑ ก็มีข่าว ข้าราชการชื่อเล่นว่า "ตุ๋ย" ทำมิดีมิร้าย กับเด็กชาย หนังสือพิมพ์ก็ใช้คำ "ตุ๋ย" พาดหัวข่าว แทนความหมายดังว่า จนเป็นที่นิยมใช้กันสืบมา

ปัจจุบันไม่มีใครกล้าตั้งชื่อลูกโดยเฉพาะลูกผู้ชายว่า "ถั่วดำ" แน่นอน และในอนาคตเด็กรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า "ตุ๋ย" คงหายากเต็มที













Create Date : 11 สิงหาคม 2549
Last Update : 11 สิงหาคม 2549 14:54:51 น. 7 comments
Counter : 1476 Pageviews.

 
เข้่ามาอ่านงับ


โดย: mingky วันที่: 11 สิงหาคม 2549 เวลา:15:10:09 น.  

 
ขอบคุณที่รวบรวมเอามาให้อ่านกันครับ


โดย: ตี๋น้อย (Zantha ) วันที่: 11 สิงหาคม 2549 เวลา:15:27:33 น.  

 
เข้ามาอ่านหาความรู้ยามเย็นค่ะทานข้าวเย็นให้อร่อยน๊า


โดย: d__d (มัชชาร ) วันที่: 11 สิงหาคม 2549 เวลา:19:30:18 น.  

 
สุดยอดครับ


โดย: I.Brother วันที่: 11 สิงหาคม 2549 เวลา:23:48:28 น.  

 
อ่านๆๆๆๆแล้วก้อได้ความรู้ขึ้นมาอีก..


โดย: pooktoon วันที่: 13 สิงหาคม 2549 เวลา:20:48:07 น.  

 
อืมมม......มันเป็นอย่างนี้นี้เอง


โดย: yaah วันที่: 14 สิงหาคม 2549 เวลา:18:34:47 น.  

 
อืมม์ ขอบคุณครับ


โดย: ดำรงเฮฮา วันที่: 6 กันยายน 2549 เวลา:22:39:19 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 

เพ็ญชมพู
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add เพ็ญชมพู's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com