|
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
ครุฑ
ครุฑที่ไม่ใช่มังคุด...เขาเป็นใครหนอ...เขามาจากไหน... มีความสำมะคัญอย่างไร....อยากรู้ป่าววววววววว....

ไม่อยากรู้...ก็อยากเล่า...มามะ..จะเหลาให้แหลม...เอ๊ย...มะช่าย...จะเล่าให้ฟัง... ตำนานของครุฑในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เล่ากันสืบต่อมาช้านานว่า พญาครุฑเป็นบุตรของพระกัศยปมุนีเทพบิดร และนางวินตา พระกัศยปมุนีองค์นี้เป็นฤษีที่มีฤทธิ์เดชมากองค์หนึ่ง พระองค์มีชายาหลายองค์ แต่องค์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานพญาครุฑนั้น นอกจากนางวินตาแล้ว ยังมีอีกองค์หนึ่งคือ นางกัทรุ ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตา
สรุปได้ว่า พระกัศยปมุนีองค์นี้ เป็นคนเอาพี่เอาน้อง เพราะว่าพระทักษประชาบดี อันมีศักดิ์เป็นพ่อตาของพระกัศยปมุนี มีลูกสาวถึง ๕๐ คน และได้ยกให้พระกัศยปมุนี ถึง๑๓ คน โอ้วววว...แม่จ้าว...มากมายก่ายกองอะไรปานน๊านนนนน
อ่ะ..แต่ที่เกี่ยวข้องกับพญาครุฑ ที่ตุ๊ดไม่เมิน...มีด้วยกันสองนางดังกล่าวไปแล้วข้างต้น ทั้งสองนางได้ขอพรให้กำเนิดบุตรจากพระกัศยป โดยนางกัทรุได้ขอพรว่าขอให้มีบุตรจำนวนมาก ซึ่งต่อมาก็ได้ให้กำเนิดนาคหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล
ส่วนนางวินตาขอบุตรเพียงสององค์และขอให้ลูกมีอำนาจวาสนา เมื่อนางคลอดบุตรปรากฏว่าออกมาเป็นไข่สองฟอง น่าแปลกเนอะ..พ่อแม่เป็นคนออกลูกเป็นไข่...
นางทนรอไม่ไหวว่าบุตรของตนจะมีหน้าตาอย่างไร หล่อเหลาเหมือนมาริโอ้ เมาเร่อ รึป่าวววว จึงทุบไข่ออกมาฟองหนึ่งออกดู ปรากฏว่าเป็นเทพบุตรที่มีกายแค่ครึ่งท่อนบน ชื่อ อรุณ อรุณเทพบุตรโกรธมารดาของตนที่ทำให้ตนออกจากใข่ก่อนกำหนด จึงสาปให้มารดาของตนเป็นทาสนางกัทรุ และให้บุตรคนที่สองของนางเป็นผู้ช่วยนางให้พ้นจากความเป็นทาส เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะเนี่ย..สาปแม่ตัวเองได้ไง... จากนั้นจึงขึ้นไปเป็นสารถีให้กับพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ

ส่วนนางวินตาหลังจากทุบไข่ใบแรกด้วยความอยากรู้อยากเห็นไปแล้ว แล้วก็โดนลูกชายครึ่งท่อนของตัวเองสาปเรียบร้อย จึงไม่กล้าทุบไข่ฟองที่สองออกมาดู คงรอให้ถึงกำหนดที่บุตรคนที่สองซึ่งก็คือพญาครุฑออกมาจากไข่เอง
ซึ่งเมื่อพญาครุฑแรกเกิดเขาว่ากันว่า มีร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกระพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกคราใด ขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วสี่ทิศ ให้นามบุตรผู้นี้ว่า เวนไตย แปลได้ความว่า เหล่ากอของนางวินตา หรือ..แปลง่ายๆว่า ลูกของนางวินตานั่นเอง

ในกาลต่อมา นางกัทรุและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพที่เกิดคราวกวนเกษียรสมุทร และเป็นม้าเทียมราชรถของพระอาทิตย์โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาวส่วนนางกัทรุทายว่าสีดำ
ซึ่งความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรุใช้อุบายให้นาคทั้งหนึ่งพันลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า (บางตำนานว่าให้นาคพ่นพิษใส่ม้าจนเป็นสีดำ) นางวินตาไม่ทราบในอุบายเลยยอมแพ้ ต้องเป็นทาสของนางกัทรุถึงห้าร้อยปี
ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาสและได้ทราบเงื่อนไขจากพวกนาคว่า ต้องไปเอาน้ำอมฤตให้พวกนาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาเป็นไท เมื่อทราบดังนั้นครุฑจึงถลาขึ้นสู่สวรรค์เพื่อไปนำน้ำอมฤต
ระหว่างทางบังเกิดความหิวและพบเต่ากับช้างกำลังต่อสู้กัน เต่าตัวนั้นยาวได้ ๘ โยชน์ ช้างนั้นยาวได้ ๑๖ โยชน์ จึงใช้กรงเล็บจิกสัตว์ทั้งสองแล้วบินมาเกาะบนต้นไม้ใหญ่หมายจะกิน ความที่ทั้งสามคือ ครุฑ ช้าง และเต่ามีน้ำหนักมากทำให้กิ่งไม้หัก
เผอิญบนกิ่งไม้นั้นมีพราหมณ์กำลังนั่งร่ายพระเวทอยู่ ครุฑเห็นดังนั้นจึงใช้จะงอยปากคาบกิ่งไม้แล้วค่อยๆวางกิ่งไม้ลงบนพื้นดิน จนสามารถช่วยชีวิตพราหมณ์ไว้ได้ก่อนที่กลับไปจิกกินช้างและเต่า พราหมณ์พึงใจที่ครุฑช่วยชีวิตตนแม้อยู่ในความหิวจึงเรียกเวนไตยว่า "ครุฑ" หมายถึงผู้แบกรับภาระหนัก

ครั้นบินไปถึงสวรรค์ ครุฑก็กระพือปีกพัดให้ฝุ่นตระหลบไปทั้งอากาศ แล้วเข้าต่อสู้กับเหล่าทวยเทพที่นำโดย พระอินทร์) เหล่าเทพไม่สามารถต่อสู้กำลังของครุฑซึ่งได้รับพรให้มีอิทธิฤทธิ์มากเหนือผู้ใด แม้แต่วัชระซึ่งเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ยังไม่สามารถทำอันตรายครุฑได้
แต่ครุฑก็จำได้ว่าวัชระเป็นอาวุธที่พระอิศวรประทานให้แก่พระอินทร์ อีกทั้งด้วยความต้องการแสดงคารวะต่อพระอินทร์ผู้เป็นพี่ ครุฑจึงแสดงความเคารพโดยบันดาลให้ขนร่วงจากกายหนึ่งเส้น พื่อแสดงความเคารพต่อวัชระและรักษาเกียรติของพระอินทร์ผู้ป็นหัวหน้าของเหล่าเทพ ด้วยเหตุนี้ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งแปลว่า"ขนวิเศษ หรือผู้มีปีกอันงาม"
เหล่าทวยเทพเมื่อไม่เห็นทางที่จะต้านฤทธิ์ได้จึงจำต้องเปิดทางให้ครุฑเข้าไปเอาน้ำอมฤต ก่อนถึงที่เก็บน้ำอมฤตมีกองเพลิงร้อนขนาดที่เผาดวงอาทิตย์ให้เป็นจุลได้ ครุฑจึงแปลงกายให้มีปาก ๘๑๐๐ ปากแล้วจึงบินไปอมน้ำจากแม่น้ำ ๘๑๐๐ สายมาดับกองเพลิงนั้น กองเพลิงก็มอดไป ถัดเข้าไปด้านในมีจักร อันคมกริบรอตัดร่างผู้ที่จะเข้าไปลักน้ำอมฤต
ครุฑเห็นดังนั้นจึงแปลงกายให้เล็กเท่าธุลีบินลอดผ่านดุมจักรนั้นไปได้ ด้านในสุดยังมีนาคสองตนที่ดวงตาไม่กระพริบ มีพิษร้ายแรงดังเพลิงกาฬ เฝ้าคุมอยู่ หากนาคมองเห็นผู้ใดเข้ามาลักน้ำอมฤตย่อมพ่นพิษร้ายออกสังหารผู้นั้น ครุฑเห็นเช่นนี้จึงกางปีก กระพือลมบังเกิดเกิดฝุ่นคละคลุ้งตลบขึ้นในอากาศ ทำให้นาคมองไม่เห็นแล้วจิกนาคทั้งสองออกเป็นชิ้นๆ กินเป็นภักษาหาร

ข้างฝ่ายพระนารายณ์ เห็นครุฑกำลังจะเข้าไปนำน้ำอมฤตออกมาได้ จึงเข้าขัดขวาง ทั้งสองต่อสู้กันอย่างเป็นสามารถแต่...... ไม่มีผู้ใดแพ้หรือชนะ ต่างฝ่ายต่างเหนือยอ่อน จึงตกลงที่จะทำสัญญาหย่าศึก
โดยครุฑขอพรให้ตนเป็นอมตะโดยไม่ต้องดื่มน้ำอมฤทธิ์หนึ่ง ขอให้มีสิทธิ์จับนาคกินได้หนึ่ง และขอพรให้อยู่สูงกว่าพระนารายณ์เป็นข้อสุดท้าย และพระนารายณก็ขอให้ครุฑเป็นเทพพาหนะของพระองค์
เมื่อตกลงกันได้ดังนี้ ก็เซ็นต์สัญญา อย่าศึก ร่วมเป็นมิตรไมตรีกัน แต่ตามจริง..ครุฑก็อยู่ส่วนครุฑ ไม่ได้มานั่งขี่คอพระนารายณ์ ตลอดเวลา มีเพียงธงอันเป็นสัญลักษณ์ปักว้เหนือสถานอันพระนารายณ์สถิตย์ แค่นั้นเอง ส่วนพระนารายณ์ ก็ไม่ได้จิกหัวใช้ครุฑพร่ำเพรื่อ... ประมาณว่า ต่างฝ่ายต่างเกรงใจกันว่างั้นเหอะ

ดังนั้นเมื่อไทยรับเอาลัทธิเทวราชามา และถือว่า พระมหากษัตริย์ เป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการใช้ธงมหาราช อันธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พื้นสีเหลืองตรงกลางเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ ประดับอยู่บนยอดเสาธงเหนือที่ประทับ หน้ารถยนต์พระที่นั่ง เครื่องบินพระที่นั่ง ฯลฯ นั่นเอง
กลับมาดูสองศัตรูที่กลายเป็นมิตรไปแล้วกันต่อ พระนารายณ์ต้องพระประสงค์อยากทราบว่าเหตุไฉนใยครุฑจึงต้องขึ้นมาลักน้ำอมฤต ครุฑกราบทูลว่าทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพราะต้องการช่วยมารดาให้เป็นอิสระจากนางกัทรุ เมื่อแจ้งดังนั้นพระนารายณ์จึงตรัสว่าน้ำอมฤตนี้ไม่สามารถเอาไปได้ เพราะเป็นของสวรรค์
ครุฑจึงออกอุบายขอนำน้ำอมฤตไปให้พวกนาคก่อนแล้วให้พระอินทร์ตามมานำกลับไป จึงเอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา และกล่าวกันว่าได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา ๒-๓ หยด ด้วยเหตุนี้ หญ้าคาจึงถือเป็นสิ่งมงคลในทางศาสนาพราหมณ์
ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดี จึงยอมปล่อยนางวินตาแม่ครุฑให้เป็นอิสระ ขณะพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อจะมาดื่มกินน้ำอมฤตนั่นเอง พระอินทร์ก็นำหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้นาคอด..ไม่ได้กิน พวกนาคจึงเลียที่ใบหญ้าคาด้วยเชื่อว่าอาจมีหยดน้ำอมฤตหลงเหลืออยู่ ด้วยความคมของใบหญ้าคาจึงบาดกลางลิ้นเป็นทางยาว ส่งผลให้ ลิ้นกลายเป็นสองแฉก และงูอันเป็นวงศ์วานว่านเครือของพญานาคในชั้นหลัง จึงมีลิ้นเป็นสองแฉกสืบมาจนทุกวันนี้

แต่นั้นครุฑกับนาคจึงเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด และครุฑนั้นก็จะจับนาคกินเป็นอาหารเสมอ ครุฑมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา มีโอรสด้วยกันสองตน ชื่อ สัมปาติหรือสัมพาที และสดายุ หรือชฎายุ อันมีบทบาทเด่นอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์
ตามวรรณคดีพุทธศาสนากล่าวว่าครุฑมีขนาดใหญ่มาก วัดจากปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ ๑๕๐ โยชน์ เวลากระพือปีกสามารถทำให้เกิดพายุใหญ่ เกิดท้องฟ้ามืดมน และทำลายบ้านเมืองให้หมดสิ้นไปได้ ที่อยู่ของครุฑเรียกว่า สุบรรณพิภพเป็นวิมานอยู่บนต้นสิมพลีหรือต้นงิ้ว เชิงเขาพระสุเมรุ

นอกจากตำนานข้างต้น ครุฑยังมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยอีกหลายอย่าง โดย เฉพาะการถือว่าครุฑเป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดีย ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑซึ่งทรงอิทธิฤทธิ์ และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์

พระราชลัญจกร ตั้งแต่สมัยอยุธยา มีองค์หนึ่งเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่าไม่ควรมีองค์พระนารายณ์ ควรมี แต่ครุฑ จึงโปรดให้ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยา นริศรานุวัตติวงศ์ ทรงเขียนถวายใหม่ และ โปรดให้ทำขึ้นใช้ประทับพระปรมาภิไธย
ปัจจุบันตราดวงนี้อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในหนังสือสำคัญ เช่น ประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต่อมาจึงได้มีการใช้ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่ว ๆ ไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ
ส่วนครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงมีอยู่ ๓ ลำ คือ

เรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑ สีแดงยุดนาค ลำเดิมสร้างในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นเรือรูปสัตว์พื้นดำ ยาว ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กว้าง ๔ ศอก ลึก ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว แต่ได้ถูกระเบิดเสียหายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมศิลปากรได้เก็บหัวเรือและท้ายเรือไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑
เรือครุฑเหินเห็จ ลำปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ โดยใช้หัวเรือเดิมนำมาซ่อมแซม ท้ายเรือทำใหม่ เริ่มสร้างเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๑ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๑ แล้วช่างแกะสลักลวดลายทำงานประมาณ ๑๘ เดือน ช่างรักทำงาน ๖ เดือน ช่างเขียนลวดลายรดน้ำทำ งานประมาณ ๖ เดือน ช่างปิดทองและประดับกระจกทำงานประมาณ ๔ เดือน
ทำเครื่องตกแต่งเรือใหม่ตั้งแต่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๔ จนถึง ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๔ โดยมีบริษัท สำนักงานเกษรดอกประดู่ เป็นผู้ทำ
การแต่งกายของผู้ประจำเรือ นายลำนุ่งปูม สวมเสื้อเข้มขาบ โพกขลิบทอง

เรือครุฑเตร็จไตรจักร เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค ลำเดิมเป็นเรือพื้นดำ ยาว ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว ลึก ๑ ศอก ๙ นิ้ว ลำเก่าถูกระเบิดชำรุด กรมศิลปากรเก็บหัวเรือและท้าย เรือไว้ ลำปัจจุบันสร้างใหม่ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑ น้ำหนัก ๕.๙๗ ตัน กว้าง ๑.๙๐ เมตร ยาว ๒๗.๑๐ เมตร ลึก ๐.๕๒ เมตร กินน้ำลึก ๐.๒๙ เมตร ฝีพาย ๓๔ คน นายท้าย ๒ คน
การแต่งกายของผู้ประจำเรือ นายลำนุ่งปูม สวมเสื้อเข้มขาบ โพกขลิบทอง

และ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
เรือนารายณ์ทรงสุบรรณเดิมเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ประเภทเรือรูปสัตว์ หัวเรือแรกทีเดียวทำเป็นรูปครุฑเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์หมายถึงเรือพระที่นั่งแห่งพระมหากษัตริย์ ผู้อยู่ในฐานะสมมุติเทพนั่นเองความเป็นมาของเรือนารายณ์ทรงสุบรรณนั้น มีชื่อเดิมว่า มงคลสุบรรณ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหา เจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรง พระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ต่อขึ้นตามแบบอย่างสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์ตามที่ปรากฏ ความในพระราชพงศาวดารว่า ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน
ลักษณะของเรือลำนี้มีความยาว ๑๗ วา ๓ ศอก กว้าง ๕ ศอก ๕ นิ้ว ลึก ๑ ศอก ๖ นิ้ว กำลัง ๖ ศอก ๖ นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอกทาสีแดง กำลังฝีพาย ๖๕ คน โขนเรือแต่เดิม จำหลักไม้รูปพญาสุบรรณหรือพญาครุฑยุดนาคเท่านั้นมีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ
จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับ ยืนบนหลังพญาสุบรรณเพื่อความเป็นสง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ต้องตามคติในเทพปกรณัมของศาสนาพราหมณ์ว่าพญาสุบรรณนั้นเป็นเทพพาหนะ ของพระนารายณ์
เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกองค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตา ภรณ์และมงกุฏยอดชัย พระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีขาบ ( สีน้ำเงินเข้ม) มี ๔ พระกร ทรงเทพศาสตราในพระกรทั้ง ๔ คือ ตรี คทา จักร สังข์ ตามลักษณะในเทพปกรณัมของพราหมณ์ ซึ่งปรากฏในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ว่า
แลเห็นพระองค์ทรงลักษณ์ ผ่องพระพักตร์จำรัสรัศมี สีเขียวดั่งนิลมณี มีกายปรากฏเป็นสี่กร ทรงเทพอาวุธจักร สังข์ ทั้งตรี คทา ศิลป์ศร จึงรู้ว่านารายณ์ฤทธิรอน จากเกษียรสาครเสด็จมา
และเมื่อเสริมรูปพระนารายณ์แล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้ขนานนามเรือลำนี้ใหม่ว่า นารายณ์ทรงสุบรรณ
เวลาล่วงเลยนานเข้าตัวเรือนารายณ์ทรงสุบรรณคงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา คงเหลือแต่โขนเรือซึ่งตามประวัติศาสตร์ทราบว่ากระทรวงทหารเรือ เก็บรักษาไว้ พุทธศักราช ๒๕๓๙ อันเป็นมหามงคลสมัยกาญจนาภิเษก ครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลดุลยเดช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ จึงเนรมิตขึ้น ในรัชสมัย เพื่อเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษก และเปลี่ยนชื่อเรียใหม่ว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

นอกจาก ตราครุฑ จะปรากฏในส่วนราชการต่าง ๆ แล้ว ภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดินในกิจการได้ด้วย โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์ม โดยมีข้อความประกอบว่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต
การพระราชทานตรานี้แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ผู้ได้รับนอกจากจะเป็นช่างหลวง เช่น ช่างทอง ช่างถ่ายรูป เป็นต้น แล้วก็มักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน
ปัจจุบันการขอพระราชทานตราตั้งนี้ต้องยื่นคำขอต่อสำนักพระราชวัง เพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งตราตั้งนี้ถือเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายนี้จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวังเรียกคืน เนื่องจากบุคคล ห้างร้าน บริษัทที่ได้รับพระราชทานฯ เสียชีวิต หรือเลิกประกอบกิจการ หรือโอนกิจการให้ผู้อื่น หรือสำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิ.

และอีกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยครุฑ คือเรื่องกากี...
เรื่องกากี มีต้นเค้ามาจากเรื่องในนิบาตชาดก ชื่อ กากาติชาดก ในชาดกเรื่องนี้ เรียก กากี ว่า กากาติ
ชื่อ กากี เป็นชื่อของหญิงสาวนางหนึ่งผู้มีโฉมสะคราญ กายนางก็มีกลิ่นหอมกรุ่น และมีเหตุอันตรายแก่ตัวก็ด้วยความงามของนางนั้น นางเป็นมเหสีของท้าวพรหมทัต กษัตริย์แห่งนครพาราณสี
กากี เป็นหญิงที่มีรูปงามกลิ่นกายหอมพระองค์รักและหลงใหลนางกากี ไม่ให้มหาดเล็ก คนสนิทที่เป็นชายเข้าใกล้หรือได้เห็นนางยกเว้นที่จำเป็นเพียงไม่กี่คนเท่านั้น หนึ่งในหนุ่มคนสนิทที่สามารถเข้าใกล้นางกากีได้คือ นาฏกุเวร ผู้เป็นคนธรรพ์รูปงามมีหน้าที่บรรเลงดนตรี แต่งกลอน ขับกล่อมให้แก่ท้าวพรหมทัต ในยามที่พระองค์เล่นสกากีฬาโปรดปรานกับพระสหายสนิท
ตามปรกติคนธรรพ์เป็นกึ่งมนุษย์กึ่งเทวดาที่มีความสามารถสูง ยิ่งเป็นนาฏกุเวรผู้มีความเปรื่องปราชญ์ก็ยิ่งเป็นที่รักใคร่ไว้วางพระทัยของท้าวพรหมทัต
นอกจากพระประยูรญาติที่ท้าวพรหมทัตโปรดให้เล่นสกาด้วยแล้ว พระองค์มีสหายสนิทผู้มีความลึกลับที่มีฝีมือการทอดสกาเทียบเท่าพระองค์นามว่าเวนไตย เวนไตยเป็นพญาครุฑที่มีวิมานชื่อฉิมพลีตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ เหนือดงงิ้วผู้มีร่างมาเป็นมานพรูปร่างสง่างามในเมืองมนุษย์ เวนไตยไม่ยอมบอกว่าตัวเองมาจากที่ไหน แต่ก็มาเล่นสกากับท้าวพรหมทัตอย่างสม่ำเสมอทุกๆเจ็ดวัน
คำร่ำลือถึงความสง่างามของพญาเวนไตยจากสนมกำนัลมาเข้าหูนางกากี นางกากีลองแอบดูครั้งหนึ่งก็พอดีกับเวนไตยมองมา ทั้งคู่ต่างตื่นเต้นในความงามของกันและกัน ทำให้เวนไตยถึงกับทำอุบายลักพานางกากีไปจากท้าวพรหมทัต โดยการจำแลงตัวเป็นพญาครุฑบินไปบังแสงอาทิตย์ที่ส่องเมืองพาราณสี ทำให้เมืองมืดมิดและอลหม่านจากการเกิดพายุใหญ่กระหน่ำ เวนไตยฉวยโอกาสนี้พาตัวนางกากีไปสมสู่ ณ วิมานฉิมพลี เนื่องจากนางกากีก็พึงพอใจเวนไตยเมื่อยามเป็นชายหนุ่มรูปร่างสง่างามในวิมานฉิมพลี
ท้าวเทวทัตเป็นทุกข์ระทมเมื่อนางกากีมเหสีสุดสวาทได้หายไป ไม่สามารถตามหาได้ นาฏกุเวรผู้แอบหลงรักในรูปและกลิ่นกายของนางกากี อาสานำตัวนางกากีกลับ เพราะรู้ระแคะระคายเนื่องจากเหตุการณ์ ในวันที่เวนไตยสบตากับนางกากีไม่พ้นจากสายตาของคนธรรพ์หนุ่มนี้ไปได้ นาฏกุเวรได้ผูกกลอนขับกล่อมขณะที่เวนไตยเล่นสกากับท้าวพรหมทัต จนสังเกตความผิดปรกติของเวนไตยได้ เมื่อท้าวพรหมทัตทรงอนุญาต การเล่นสกาครั้งต่อมานาฏกุเวรจึงแปลงร่างเป็นตัวไรเกาะปีกเวนไตย เมื่อเขากลายเป็นพญาครุฑตามไปถึงวิมานฉิมพลี
เมื่อเวนไตยออกไปปฏิบัติภารกิจนอกวิมาน ก็คืนร่างเป็นนาฏกุเวรคนเดิม ด้วยความเสน่หาที่มีต่อนางกากี นาฏกุเวรก็ขอร่วมอภิรมย์สมสู่กับนางกากี โดยขู่ว่าจะไม่เปิดเผยความลับระหว่างเวนไตยกับนาง นางกากีเห็นว่านาฏกุเวรเปิดเผยว่ารักใคร่ตัวนางมาก่อน ก็ยอมสมสู่ด้วย
เมื่อถึงกำหนดนัดเล่นสกากับท้าวพรหมทัต นาฏกุเวรก็จำแลงเป็นตัวไรเกาะปีพญาครุฑเวนไตยกลับเมืองพาราณสี และได้กราบทูลให้ท้าวพรหมทัตทำเป็นไม่ทราบเรื่อง ระหว่างการเล่นสกานาฏกุเวรก็แต่งกลอนยั่วยุให้เวนไตยโกรธ โดยพรรณาถึงรายละเอียดทุกอย่างที่นางกากีมี แสดงว่านาฏกุเวรได้ร่วมอภิรมย์รักโดยนางกากีก็สมัครใจ
เวนไตยโกรธมากที่นางกากีทรยศต่อตัวเอง เมื่อกลับไปก็คาดคั้นเอาความจริงกับนางกากี แต่นางกากียอมรับตอนหลังอ้างว่าถูกบังคับ ซึ่งเวนไตยไม่เชื่อและส่งนางกากีกลับคืนเมืองพาราณสี ท้าวพรหมทัตทั้งรักทั้งแค้นทั้งอับอาย ทรงตัดเยื่อใยนางกากีและสั่งให้มหาดเล็กนำไปลอยแพในมหาสมุทร
นางกากีต้องเผชิญเคราะห์กรรมอย่างแสนสาหัส เมื่อนายสำเภามาพบนาง สลบไสลบนแพ เรือนร่างที่สวยงามย่อมเป็นที่หมายปองของนายสำเภา เขาจึงได้นางกากีเป็นภรรยา ต่อมาโจรสลัดได้ปล้นเรือนายสำเภา และหัวหน้าโจรบังคับนางกากีให้เป็นภรรยาอีก ท่ามกลางความอิจฉาริษยาของสมุนโจร เพราะหัวหน้าโจรไม่ยอมแบ่งผู้หญิงให้เหมือนรายอื่นๆ
ในที่สุดก็เกิดการแก่งแย่งนางกากีกันในหมู่โจร ถึงกับฆ่าฟันกันเอง นางกากีฉวยโอกาสหลบหนีพวกโจรได้ แต่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายในป่าจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด โชคดียังเป็นของนางกากี ที่บังเอิญมีกษัตริย์ชรานามว่าท้าวทศวงศ์ ผู้เป็นหม้ายแห่งเมืองไพศาลีเสด็จมาเที่ยวป่า ได้นำนางกากีไปชุบเลี้ยงเป็นถึงมเหสี
นางกากีไม่บอกความจริงให้ท้าวทศวงศ์เพราะกลัวความไม่ดีของตนเอง จะทำให้ท้าวทศวงศ์ไม่รับอุปการะ จิตใจของนางยังไม่เป็นสุขถึงจะได้เป็นถึงมเหสี แต่ท้าวทศวงศ์ก็ทรงโปรดปรานมเหสีร่างงามและกลิ่นกายหอม
ตั้งแต่ท้าวพรหมทัตลอยแพนางกากีไป ก็ไม่มีความสุขกลับต้องระทมทุกข์ ถึงกับประชวรและสวรรคตในเวลาต่อมา เนื่องจากพระองค์ไม่มีทายาท ข้าราชบริพารจึงได้เลือกผู้ที่เป็นที่รักใคร่ของประชาชน และมีปัญญาเฉียบแหลมขึ้นครองราชย์แทน นาฏกุเวรได้รับเลือกเป็กษัตริย์แทนท้าวพรหมทัต คนธรรพ์หนุ่มผู้เป็นกษัตริย์ก็ยังรักอาลัยนางกากีอยู่ ไ ด้สืบจนทราบว่านางกากีได้เป็นมเหสีของท้าวทศวงศ์ นาฏกุเวรจึงส่งสารทวงนางกากีในฐานะที่เคยเป็นมเหสีของกษัตริย์เมืองพาราณสีมาก่อน แต่เมืองไพศาลีไม่ยอม จึงได้เกิดสงครามระหว่างสองเมือง ในที่สุดนาฏกุเวรก็ยึดเมืองไพศาลีได้ และรับนางกากีกลับมาเป็นมเหสีสมใจปรารถนา
คำเตือน
๑. ข้อความหรือเนื้อหาทั้งหมดในบล๊อกนี้..ไม่มีลิขสิทธิ์..อยากก๊อบเอาไปทำอะไรก็เชิญตามสบาย
๒. เนื้อหาต่างๆที่เขียนในบล๊อกนี้..เป็นความรู้ที่มีอยู่ของเจ้าของบล๊อก บวกกับไขโมยความรู้ของคนโน้นคนนี้เวบนั้นเวบนี้ มายำจนกลายเป็นบล๊อกนี้ขึ้นมา หากจะนำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ...ควรคิดเสียใหม่เด้อ... เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน 
เกือบลืม..ขอบคุณรูปบางรูปที่ขโมยมา...ไม่รู้จากเวปไหนมั่ง เจ้าของผ่านมาเห็นจำได้ก็อย่าว่ากันนะ....
แล้วก็ขอบคุณเนื้อหา..ที่มาจากหลายเวปเหลือเกิน..จำไม่ได้... เจ้าของมาอ่านแล้วก็อาจจะจำไม่ได้เช่นกัน ว่ากรูเขียนไว้ยังงี้เหรอวะ....
Create Date : 31 กรกฎาคม 2552 |
Last Update : 31 กรกฎาคม 2552 16:20:15 น. |
|
18 comments
|
Counter : 19010 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: butbbj วันที่: 31 กรกฎาคม 2552 เวลา:15:11:14 น. |
|
|
|
โดย: butbbj วันที่: 31 กรกฎาคม 2552 เวลา:15:26:41 น. |
|
|
|
โดย: butbbj วันที่: 31 กรกฎาคม 2552 เวลา:16:02:49 น. |
|
|
|
โดย: butbbj วันที่: 31 กรกฎาคม 2552 เวลา:16:03:57 น. |
|
|
|
โดย: a IP: 124.122.186.150 วันที่: 31 กรกฎาคม 2552 เวลา:17:11:45 น. |
|
|
|
โดย: อุ้มสี วันที่: 31 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:59:28 น. |
|
|
|
โดย: ข้ามขอบฟ้า วันที่: 1 สิงหาคม 2552 เวลา:1:46:40 น. |
|
|
|
โดย: แป๋วภูเก็ต วันที่: 2 สิงหาคม 2552 เวลา:17:01:47 น. |
|
|
|
โดย: d__d (มัชชาร ) วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:7:35:33 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:7:54:01 น. |
|
|
|
โดย: tonpor (kosak ) วันที่: 9 กันยายน 2552 เวลา:9:53:45 น. |
|
|
|
โดย: ภูมิ IP: 118.173.47.138 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2552 เวลา:20:01:26 น. |
|
|
|
โดย: pp IP: 125.26.198.85 วันที่: 28 ธันวาคม 2552 เวลา:20:19:49 น. |
|
|
|
โดย: pp IP: 125.26.198.85 วันที่: 28 ธันวาคม 2552 เวลา:20:20:04 น. |
|
|
|
โดย: เอ็มไอเอ็นที IP: 223.206.97.54 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2553 เวลา:11:03:14 น. |
|
|
|
โดย: ทายาท IP: 119.63.78.253 วันที่: 3 กรกฎาคม 2554 เวลา:12:39:31 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]

|
หัวใจดวงน้อย ที่คอยจะมอบความรัก ให้กับใครซักคน..หมดหัวใจ
(โอ้ว..น้ำเน่าคอด..คอด..)
* ข้อควรระวัง *
เจ้าของบ้านสันดานเสีย ไม่ค่อยชอบตอบบล๊อกนะครับ
start 8 Dec.08
|
|
|
|
|
|
|