เย็นศิระ.. เพราะพระบริบาล
<<
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
18 กรกฏาคม 2549

แม่ฟ้าหลวง ของปวงชนชาวไทย



พระราชประวัติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1900 ณ เมืองนนทบุรี พระนามเดิมว่า สังวาล ทรงเป็นบุตรีของพระชนกชูและพระชนนีคำ พระชนกชูประกอบอาชีพเป็นช่างทอง และทำงานอยู่ที่บ้าน เมื่อเยาว์วัย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนม์ชีพในชุมชนชาวบ้านแถบวัดอนงคาราม ธนบุรี พระชนกชูถึงแก่กรรมตั้งแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังทรงพระเยาว์มาก จึงทรงอยู่ในความดูแลของพระชนนีคำและท่านซ้วย(พี่สาวของพระชนนีคำ) ทรงเริ่มเรียนหนังสือกับพระชนนีคำ แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนสำหรับเด็กหญิงที่วัดอนงคาราม และโรงเรียนศึกษานารี แต่ทรงเรียนที่โรงเรียนสองแห่งนี้เพียงช่วงสั้น

ต่อมาเมื่อพระชนมายุประมาณ 7-8 พรรษาพระญาติผู้ใหญ่ได้นำสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไปถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์โปรดให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไปทรงเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีวิทยาเมื่อทรงเรียนจบประถมสามัญแล้ว ใน ค.ศ. 1913 ได้ทรงเข้าเรียน วิชาพยาบาลที่โรงเรียนผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 หลังสำเร็จการศึกษา ทรงทำงานที่โรงพยาบาลศิริราชใน ค.ศ. 1917 ทรงได้รับทุนของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ไปทรงเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา ทรงเริ่มการเรียนที่โรงเรียนประถมเอเมอร์สัน (Emerson School) เมืองเบอร์กเลย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่าง ค.ศ. 1917-1918 จากนั้นได้ทรงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนนอร์ทเวสเทิร์น (North Western) เมืองฮาร์ตฟอร์ด มลรัฐคอนแน็กติคัต ในช่วงนี้พระองค์ได้ทรงรู้จักกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งกำลังทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ใน ค.ศ. 1919 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทรงหมั้นนางสาวสังวาลย์ ชูกระมล

หลังจากทรงหมั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงย้ายมาประทับและเรียนหนังสือที่บ้านมิสเอมิลี่และมิสคอนสแตนซ์ วิลลิสตัน (Miss Emily and Miss Constance Williston) ที่เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาซูเซตส์ ทรงเรียนวิชาชีพคณิต ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศสที่บ้านนี้ พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสอนพิเศษของมิสจอห์นสัน (Miss Johnson's tutoring school) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1920 ที่ประเทศไทย

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์เสด็จไปประทับที่สหรัฐอเมริกา สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเปลี่ยนมาศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและที่สถาบันเอ็มไอที (MIT Massachusetts Institute of Technology) ทั้งสองพระองค์ประทับที่ Apartment เรียบ ๆ ไม่หรูหราในเมืองบอสตันระหว่างที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชา สาธารณสุขศาสตร์นั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีได้เสด็จไปศึกษาหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ (Simmons college) ทรงเรียนอยู่ภาคการศึกษาหนึ่ง และเมื่อทรงสอบไล่ได้แล้วก็เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงเรียน (School Health) ในภาคฤดูร้อนที่ MIT ใน ค.ศ. 1921 สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข (Certificate of Public Health C.P.H.) จากนั้นได้เสด็จพร้อมด้วยหม่อมสังวาลย์ไปยุโรปเพื่อท่องเที่ยว ดูงาน และทรงเจรจากับผู้แทนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เรื่องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อพัฒนาปรับปรุงการศึกษาด้านการแพทย์ของไทยเข้าสู่มาตรฐานระดับอุดมศึกษา ปลาย ค.ศ. 1923 สมเด็จพระบรมราชชนก หม่อมสังวาลย์ และพระธิดาเสด็จกลับประเทศไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเสด็จกลับมา ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย

สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเอาใจใส่และทรงงานอย่างหนักทั้งในด้านการวางแผน งานด้านบริหาร การจัดหลักสูตรแพทยศาสตร์และการทรงสอนด้วยพระองค์เองในวิชาชีววิทยาและวิชาประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงงานอยู่ที่ประเทศไทยถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1925 ก็ทรงพาครอบครัวไปประทับที่เยอรมนีเพื่อรักษา พระองค์เนื่องจากพระสุขภาพไม่ดี และเพื่อทรงเรียนต่อวิชาแพทย์ที่เคยทรงเรียนที่มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดค้างไว้เพียงครึ่งหลักสูตร แต่ท้ายที่สุดมิได้ทรงเรียนที่เยอรมนีด้วยมีพระราชกิจในเมืองไทย เสด็จกลับมาเพียงพระองค์เดียว ส่วนหม่อมสังวาลย์และพระโอรสธิดาอยู่ที่ฝรั่งเศส แล้วมาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์



สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงมีพระโอรสธิดา 3 พระองค์ คือ

1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติ ค.ศ. 1923 ที่อังกฤษ
2. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ประสูติ ค.ศ. 1925 ที่เยอรมัน
3. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประสูติ ค.ศ. 1927 ที่สหรัฐอเมริกา


หลังจากพระสวามีสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมราชชนนีซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 29 พรรษา ต้องทรงเป็นทั้งพ่อและแม่ของเจ้านายเล็ก ๆ ทั้ง 3 พระองค์ ทรงเอาใจใส่อภิบาลพระโอรสธิดาได้อย่างดียิ่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1933 พระองค์พร้อมด้วยพระโอรสธิดาเสด็จไปประทับที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ เพื่ออนาคตในด้านการศึกษาของเจ้านายทั้ง 3 พระองค์ และเพื่อพระอนามัยของพระโอรสองค์โตที่ไม่สู้แข็ง แรง ต้องทรงอยู่ในที่อากาศเย็นสบาย วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1935พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ เนื่องจากทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยขัดแย้งกับรัฐบาลหลายเรื่องตามกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราช สันต-ติวงศ์ ค.ศ. 1924 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลพระโอรสองค์โตของสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงอยู่ในลำดับที่1แห่งการสืบราชสันตติวงศ์รัฐบาลโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรจึงอัญเชิญพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่8แห่งราชวงศ์จักรีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชประสงค์เช่นนั้นเพื่อความ สงบของบ้านเมือง

เมื่อขึ้นครองราชย์ยุวกษัตริย์พระองค์น้อยมีพระชนมายุเพียง 9 ชันษากว่า พระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งของสมเด็จพระบรมราชชนนีก็คือการอบรมอภิบาลพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเมื่อกาลเวลาผ่านไปก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงปฏิบัติพระราชภาระนี้ได้อย่าง ดีเลิศพระโอรสทั้ง สองพระองค์ซึ่งเสด็จ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีต่างทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ประเสริฐ และทรงปฏิบัติหน้า ที่ในฐานะพระมหา กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างดีเลิศเหมาะสม จึงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปเลยว่า สมเด็จพระบรมราช ชนนีทรงมีส่วนร่วมในการ “สร้าง” หน้าที่และบทบาทของสถาบัน พระมหากษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตยด้วยพระองค์หนึ่ง

เนื่องจากพระโอรสองค์เล็กเสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1946 เมื่อพระชนมมายุเพียง 18 พรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีจึงต้องรับพระราชภาระถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในช่วง ค.ศ. 1947 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์นั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีก็ได้ทรงลงทะเบียนเรียนแบบ auditที่มหาวิทยาลัยนี้ด้วย ทรงศึกษาวิชา ปรัชญาวรรณคดีฝรั่งเศส ภาษาบาลีและสันสกฤต หลังจากที่พระโอรสทรงอภิเษกสมรสใน ค.ศ. 1950 แล้วสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงย้ายจาก พระตำหนักวิลล่าวัฒนาที่ประทับของพระองค์และพระโอรสที่เมืองพุยยี่มาประทับ ณ แฟลตเลขที่ 19ถนนอาวองโปสต์ ในเมืองโลซานน์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จกลับ ประเทศไทยในปลาย ค.ศ.1951 สมเด็จพระบรมราชชนนียังคงประทับที่โลซานน์ต่อไปอีกจนถึง ค.ศ.1963 ในช่วงนี้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งคราว ไม่มีกำหนด เวลาที่แน่นอน ในค.ศ. 1964 ได้เสด็จกลับ มาประทับที่ประเทศไทยพร้อมกับเริ่มเสด็จประพาสหัวเมืองและเสด็จ พระราชดำเนินออก เยี่ยมราษฎรในถิ่น ทุรกันดารทั่วประเทศ ได้ทรงริเริ่มโครงการต่างเพื่อประชาชนยากจนด้อย โอกาสในพื้นที่เหล่านี้ นับจาก ค.ศ. 1964 เป็นต้นมา

สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงงานในชนบทมาอย่างต่อเนื่องจนถึง วาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เสด็จสวรรคตในวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1995 ในด้านพระราชอัธยาศัยและ พระราชจริยวัตร สมเด็จพระ บรมราชชนนีโปรดการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย โปรดการทรงงานด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เสมอทรงใช้จ่ายประหยัดเพื่อนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในกิจการกุศล โปรดการเดินป่า ปีนเขา ทอดพระเนตรดอก ไม้และทิวทัศน์ธรรมชาติทรงเป็นคนเข้มแข็งและเป็นคนตรง ทรงเน้นการพึ่งตนเองและการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมทรงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยทรงใฝ่รู้ศึกษาวิชาการต่าง ๆ มาตลอดพระชนม์ชีพ ทรงเลื่อมใสศรัทธาและศึกษาธรรมะ ในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทรงฝึกสมาธิและทรงดำเนินพระชนม์ชีพอยู่ในธรรมะ ไม่ทรงยึดถือในลาภ ยศ สรรเสริญ เคยมีรับสั่งว่า “คนเราไม่ควรลืมตัว ไม่อวดดี ไม่ถือว่าตนเก่ง” และเคยรับสั่งถึงเรื่อง จังหวะชีวิตว่าแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่หนึ่ง คือ แรกเกิด ทุกคนเท่ากันหมด เพราะมาแต่ตัวระยะที่สอง คือ ขั้นสมมุติ มีสมมุติต่าง ๆ เช่น ชื่อนั้น ชื่อนี้ บรรดาศักดิ์อย่างนั้น อย่างนี้ เกิดตามมาเป็นของปลอม ระยะที่สาม คือขึ้นระลึกถึงความจริงได้ว่าชีวิตที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่หลงไหลในสมมุติต่าง ๆ รู้จักใช้ลาภยศ สิ่งสมมุติเพื่อช่วย เหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์


















๏ น้อมรำลึกแม่ฟ้า มโนมัย
ดวงจิตของปวงไทยแซ่ซ้อง
เสด็จสู่สวรรคาลัย สุคติ- ภพแล
ทวยราษฎร์ยังเพรียกพร้องเทิดไท้สรรเสริญ ๚


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมฯ
ก้อนดินก้อนหนึ่งบนแผ่นดินไทย



VDO Clip พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนน


Download รูป + VDO Clip พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ
60 ปี Click ที่นี่ครับ









Create Date : 18 กรกฎาคม 2549
Last Update : 18 กรกฎาคม 2549 21:26:25 น. 2 comments
Counter : 1203 Pageviews.  

 
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ


โดย: wanwitcha วันที่: 18 กรกฎาคม 2549 เวลา:13:29:23 น.  

 
"ในหลวง-สมเด็จย่า" องค์ต้นแบบของพสกนิกร

จากความทรงจำของชายวัย85ปี ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 เป็นวันที่ทวยราษฎร์ต้องเศร้าโศกเสียใจอย่างที่สุด เพราะเป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี "สมเด็จย่า" อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย และในวันที่ 18 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็น "วันศรีนครินทร์" ซึ่งพสกนิกรชาวไทยต่างน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เพื่อรำลึกถึงพระองค์

มติชน ขอนำเสนอ เรื่องราวดีๆ บันทึกไว้ในหนังสือ "หยุดความเลวที่...ไล่ล่าคุณ" ของ พ.อ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน ที่ได้บรรยายถึงความประทับใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ในหนังสือว่า...หลังงานพระบรมศพสมเด็จย่าเสร็จสิ้นลงแล้ว ราชเลขาฯของสมเด็จย่ามาแถลงในที่ประชุมต่อหน้าสื่อมวลชนว่า ก่อนสมเด็จย่าจะสิ้นพระชนม์ปีเศษ ตอนนั้นอายุ 93 ในหลวงเสด็จจากวังสวนจิตรไปวังสระปทุมตอนเย็นทุกวัน ไปทำไมครับ?
ไปกินข้าวกับแม่ ไปคุยกับแม่ ไปทำให้แม่ชุ่มชื่นหัวใจ

พอเขาแถลงถึงตรงนี้ อาจารย์ตกตะลึง โอ้โห! ขนาดนี้เชียวหรือในหลวงของเรา เสด็จไปกินข้าวมื้อเย็นกับแม่ สัปดาห์ละกี่วัน...

ทราบไหมครับ? 5 วัน มีใครบ้างครับ? ที่อยู่คนละบ้านกับแม่ แล้วไปกินข้าวกับแม่สัปดาห์ละ 5 วัน หายาก...

ในหลวงมีโครงการเป็นร้อยเป็นพันโครงการ มีเวลาไปกินข้าวกับแม่สัปดาห์ละ 5 วัน พวกเรา ซี 7 ซี 8 ซี 9 ร้อยเอก พลตรี อธิบดี ปลัดกระทรวง ไม่เคยไปกินข้าวกับแม่ บอกว่างานยุ่ง
แม่บอกว่าให้พาไปกินข้าวหน่อย บอกว่าไม่มีเวลา จะไปตีกอล์ฟ
ทุกครั้งที่ในหลวงไปหาสมเด็จย่า ในหลวงต้องเข้าไปกราบที่ตัก แล้วสมเด็จย่าก็จะดึงตัวในหลวงเข้ามากอด กอดเสร็จก็หอมแก้ม ตอนสมเด็จย่าหอมแก้มในหลวง อาจารย์คิดว่าแก้มในหลวงคงไม่หอมเท่าไร เพราะไม่ได้ใส่น้ำหอม แต่ทำไมสมเด็จย่าหอมแล้วชื่นใจ เพราะท่านได้กลิ่นหอมจากหัวใจในหลวง หอมกลิ่นกตัญญู ไม่นึกเลยว่าลูกคนนี้จะกตัญญูขนาดนี้ จะรักแม่มากขนาดนี้ ตัวแม่เองคือสมเด็จย่าไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นคนธรรมดาสามัญชน เป็นเด็กหญิงสังวาลย์ เกิดหลังวัดอนงค์เหมือนเด็กหญิงทั่วไป เหมือนพวกเราทุกคนในที่นี้


ในหลวงหน่ะ...เกิดมา เป็นพระองค์เจ้า เป็นลูกเจ้าฟ้า ปัจจุบันเป็นกษัตริย์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือหัว แต่ในหลวงที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก้มลงกราบคนธรรมดา...ที่เป็นแม่ หัวใจลูกที่เคารพแม่ กตัญญูกับแม่อย่างนี้ หาไม่ได้อีกแล้ว

คนบางคน พอเป็นใหญ่เป็นโต ไม่กล้าไหว้แม่ เพราะแม่มาจากเบื้องต่ำ เป็นชาวนา เป็นลูกจ้าง ไม่เคารพแม่ ดูถูกแม่ แต่นี่ในหลวงเทิดแม่ไว้เหนือหัว นี่แหละครับความหอม นี่คือเหตุที่สมเด็จย่าหอมแก้มในหลวงทุกครั้ง ท่านหอมความดี หอมคุณธรรม หอมความกตัญญูของในหลวง หอมแก้มเสร็จแล้วก็ร่วมโต๊ะเสวย
...มีอยู่เรื่องหนึ่งที่จำได้แม่น สมเด็จย่าเล่าว่า ตอนเรียนหนังสือที่สวิส ในหลวงยังเล็กอยู่ เข้ามาบอกว่า อยากได้รถจักรยาน เพื่อนๆ เขามีจักรยานกัน แม่บอกว่า ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็เก็บสตางค์ที่แม่ให้ไปกินที่โรงเรียนไว้สิ เก็บมาหยอดกระปุกวันละเหรียญ สองเหรียญ พอได้มากพอ ก็เอาไปซื้อจักรยาน

...พอถึงวันปีใหม่ สมเด็จย่าก็บอกว่า "ปีใหม่แล้ว เราไปซื้อจักรยานกัน เอ้าะกระปุก...ดูซิว่ามีเงินเท่าไร?"

เสร็จแล้วสมเด็จย่าก็แถมให้ ส่วนที่แถมนะ มากกว่าเงินที่มีในกระปุกอีก มีเมตตาให้เงินลูก ให้ไม่ได้ให้เปล่า สอนลูกด้วย สอนให้ประหยัด สอนว่าอยากได้อะไร ต้องเริ่มจากตัวเรา คำสอนนั้นติดตัวในหลวงมาจนทุกวันนี้ เขาบอกว่าในสวนจิตรเนี่ย...คนที่ประหยัดที่สุดคือในหลวง

...คราวหนึ่งในหลวงป่วย สมเด็จย่าก็ป่วย ไปอยู่ศิริราชด้วยกัน แต่อยู่คนละมุมตึก ตอนเช้าในหลวงเปิดประตู แอ๊ด...ออกมา พยาบาลกำลังเข็นรถสมเด็จย่าออกมารับลมผ่านหน้าห้องพอดี ในหลวงพอเห็นแม่ รีบออกจากห้องมาแย่งพยาบาลเข็นรถ

มหาดเล็กกราบทูลว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องเข็น มีพยาบาลเข็นให้อยู่แล้ว ในหลวงมีรับสั่งว่า แม่ของเรา ทำไมต้องให้คนอื่นเข็น เราเข็นเองได้

นี่ขนาดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นกษัตริย์ ยังมาเดินเข็นรถให้แม่ ยังมาป้อนข้าว ป้อนน้ำให้แม่ ป้อนยาให้แม่ ให้ความอบอุ่นแก่แม่ เลี้ยงหัวใจแม่ ยอดเยี่ยมจริงๆ เห็นภาพนี้แล้วซาบซึ้ง...

...ในหลวงเฝ้าสมเด็จย่าอยู่จนถึงตี 4 ตี 5 เฝ้าแม่อยู่ทั้งคืน จับมือแม่ กอดแม่ ปรนนิบัติแม่ จนกระทั่ง "แม่หลับ..." จึงเสด็จกลับ พอไปถึงวัง เขาโทรศัพท์มาแจ้งว่า สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์ ในหลวงรีบเสด็จกลับไปศิริราช เห็นสมเด็จย่านอนหลับตาอยู่บนเตียง ในหลวงตรงเข้าไปคุกเข่า กราบลงที่หน้าอกแม่ พระพักตร์ในหลวงตรงกับหัวใจแม่

"ขอหอมหัวใจแม่เป็นครั้งสุดท้าย"

ซบหน้านิ่งอยู่นาน แล้วค่อยๆ เงยพระพักตร์ขึ้น น้ำพระเนตรไหลนอง ต่อไปนี้....จะไม่มีแม่ให้หอมอีกแล้ว

เอามือกุมมือแม่ไว้ มือนิ่มๆ ที่ไกวเปลนี้แหละ ที่ปั้นลูกจนได้เป็นกษัตริย์ เป็นที่รักของคนทั้งบ้านทั้งเมือง ชีวิตตลูก แม่ปั้น

มองเห็นหวี ปักอยู่ที่ผมแม่ ในหลวงจับหวี ค่อยๆ หวีผมให้แม่ หวี...หวี...หวี...หวี ให้แม่สวยที่สุด แต่งตัวให้แม่ ให้แม่สวยที่สุด ในวันสุดท้ายของแม่...

เป็นภาพที่ประทับใจอาจารย์ที่สุด...เป็นสุดยอดของลูกกตัญญู...หาที่เปรียบไม่ได้อีกแล้ว

//www.dekorlaku.com/modules.php?name=News&file=article&sid=197


โดย: ก้อนดินก้อนหนึ่งบนแผ่นดินไทย วันที่: 18 กรกฎาคม 2549 เวลา:13:47:10 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ก้อนดินก้อนหนึ่งบนแผ่นดินไทย
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




eXTReMe Tracker

[Add ก้อนดินก้อนหนึ่งบนแผ่นดินไทย's blog to your web]