Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
9 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
@ ย่อทะเลมาไว้ในบ้านเราซะ - -

สำเร็จไปได้ด้วยดีกับตู้ปลาทะเล . . .


เอาน้องปลามาอวด อิอิ ตัวมันเล็กมากๆ อ่ะ เพราะราคาแพงซะ แล้วจะลองน้ำเลยกลัวตายซะก่อน มีเจ้า Damsel กะ Royal Dotty Back


น้องปลารอดก็ใส่ปะการังตามสูตรครับ


---------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูล จากเวป //www.siamreefclub.com/

ตู้ปลาทะเลสำหรับมือใหม่ Marine Tank for Dummies
ยินดีต้อนรับสู่โลกสีคราม ในบ้านหรือห้องส่วนตัวของท่าน หลายท่านคงไม่ปฏิเสธว่าการเลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมมาช้านาน และในจำนวนนี้ การเลี้ยงปลาตู้ก็นับเป็นความนิยมชมชอบอันดับต้นๆของบุคคลทั่วๆไป ไม่นานมานี้ เราทราบกันดีว่า การเลี้ยงปลาทะเล ได้กลายเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจากอิทธิพลของสื่อต่าง ๆ รวมทั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถก่อเกิดเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ช่วยให้การเลี้ยงปลาทะเลในระบบปิด ทำได้ง่ายดายขึ้น เอาล่ะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางสมัยนิยม หรือด้วยความสนใจศึกษาหาความรู้ ท่านที่เปิดบทความนี้อ่าน ก็ได้ตอบคำถามข้อแรกต่อตัวท่านเองไปแล้วว่า “อยากเลี้ยงปลาทะเล” ใช่มั้ยครับ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

ภาคที่ 1 ภาพรวมของการเลี้ยงตู้ปลาทะเล
หลายท่านที่เคยพบเห็นตู้ปลาทะเลมาแล้ว อาจจะเห็นว่าตู้ปลาทะเลนั้น มีความแตกต่างจากการเลี้ยงปลาน้ำจืดโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะของการจัดสภาพแวดล้อมในตู้ แน่นอน การเลี้ยงปลาทะเลมีความแตกต่างอย่างมากจากการเลี้ยงปลาน้ำจืด อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความต้องการที่คล้ายคลึงกัน เช่น
1. แสงสว่าง
2. การกำจัดของเสียในน้ำ
3. การให้ออกซิเจน
โปรดอย่าลืมว่า ไม่ว่าจะเป็นตู้ปลาน้ำจืด หรือตู้ปลาทะเล ต่างก็มีความต้องการพื้นฐานเช่นเดียวกัน สำหรับการเลี้ยงปลาทะเลนั้น จะอธิบายภาพรวมดังนี้
1. ตู้ปลา อาจดูแล้วไม่แตกต่าง แต่การเลี้ยงปลาทะเล จะต้องให้ความสำคัญกับตู้เช่นกัน เพราะแรงดันของน้ำทะเลจะไม่เหมือนน้ำจืด ดังนั้น ตู้ปลาทะเลจะต้องมีความแข็งแรงมากกว่าตู้ปลาน้ำจืดทั่วๆไป ทั้งนี้ ขาตู้ปลาเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ควรเน้นให้มีความแข็งแรง จึงจะดี
2. น้ำสำหรับปลาทะเล อย่างที่เคยกล่าวไว้เบื้องต้นว่าวิทยาศาสตร์ทำให้เราสามารถเลี้ยงปลาทะเลได้ง่ายขึ้น เดิมทีการใช้น้ำทะเลนั้นเป็นสิ่งที่ทำกันอย่างแพร่หลาย มีการขนส่งน้ำทะเลจากแหล่งที่เหมาะสม เช่น ตามเขตน้ำลึกในอ่าวไทย หรือทะเลอันดามัน น้ำทะเลที่ใช้ส่วนมากจะมาจากแหล่งดังกล่าว เพราะน้ำทะเลตามชายฝั่งมีการปนเปื้อนอย่างมาก ไม่เหมาะกับการนำมาเลี้ยง แต่ปัจจุบัน เราสามารถใช้เกลือวิทยาศาสตร์ที่ได้ออกแบบมาแล้วผสมกับน้ำสะอาดตามบ้าน ก็สามารถสร้างน้ำทะเลสำหรับเลี้ยงปลาได้แล้ว แม้ว่าท่านจะอยู่บนดอยสูง ก็สามารถเลี้ยงปลาทะเลได้
3. การจัดแสงสว่าง สำหรับตู้ปลาทะเล มีความพิเศษแตกต่างจากตู้ปลาน้ำจืด เพราะแสงสว่างจากหลอดไฟสำหรับปลาทะเลมีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตเล็กๆน้อยๆในตู้ ทั้งยังทำให้การชมตู้ปลาทะเลมีอรรถรสกว่าการใช้หลอดนีออนทั่วไป
4. ปลา และสิ่งมีชีวิตในตู้ ที่ต้องนำมากล่าวไว้ในภาคนี้ ก็เพราะ ตู้ปลาทะเล ไม่ได้เลี้ยงแค่ปลาทะเลอย่างเดียว ยังมีสิ่งมีชีวิตที่นักเลี้ยงปลาทะเลสามารถนำมาเลี้ยงรวมกันได้ นักเลี้ยงปลาทะเลจะต้องทำความเข้าใจถึงความต้องการของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น เพื่อจัดระบบตู้ปลาให้สามารถเลี้ยงสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ได้ และที่สำคัญ จำนวนของปลา จะแปรผันโดยตรงกับขนาดของตู้ และอุปกรณ์ที่ใช้
5. หิน และทราย มีความจำเป็นสำหรับตู้ปลาทะเลอย่างมาก เพราะใช้เป็นที่อยู่อาศัย หลบภัยของปลาทะเล รวมทั้งเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมในแนวปะการังที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลาทะเลอีกด้วย
6. อาหาร สำหรับปลาทะเล มีความต้องการแตกต่างจากปลาน้ำจืด ดังนั้น อาหารปลาก็มีความแตกต่างไปด้วย
7. อุปกรณ์ประกอบตู้ปลา ต้องใช้อุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับน้ำทะเล ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมสำหรับการเลี้ยงปลาทะเลโดยเฉพาะ เช่น ตัวทำคลื่น เครื่องช้อนฟอง(Protien Skimmer) ฮีตเตอร์ ชิลเลอร์ ฯลฯ
จากที่กล่าวมาถึงจุดนี้ ท่านคงจะพอจินตนาการภาพรวมของตู้ปลาทะเลได้คร่าวๆ แล้ว ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจากตู้ปลาน้ำจืดอย่างไร ในภาคต่อไปจะขอลงรายละเอียดในหลักการพิจารณาสรรหาองค์ประกอบต่างๆทั้ง 7 ประการนี้ เพื่อจะได้มีแนวทางเบื้องต้นก่อนลงมือเลี้ยงจริงๆ

ภาค 2 การสรรหาอุปกรณ์เพื่อเลี้ยงปลาทะเล
จากภาพรวมในภาคที่แล้ว จะขอลงในรายละเอียดแต่ละข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการคัดสรรอุปกรณ์ที่จะเลี้ยงปลาทะเลได้อย่างดี เรียกได้ว่า ท่านจินตนาการเห็นตู้ปลาของท่านแล้ว ก็มาทำ Check list ว่าต้องเตรียมอุปกรณ์อะไร และอย่างไรบ้าง จะได้ไม่เสียเงินโดยใช่เหตุ
1. ตู้ปลา
ตามที่ทราบแล้วว่า ตู้ปลาทะเลต้องมีความแข็งแรงทนทานกว่าตู้ปลาน้ำจืด การซื้อตู้ปลาสำเร็จอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก การสั่งต่อตู้ปลา สามารถทำได้ อาจใช้งบประมาณเพิ่มกว่าเดิม แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความมั่นคงแข็งแรงของตู้ อย่างไรก็ดี จะอธิบายหลักการเลือกตู้ปลาทะเลเป็นข้อๆ ให้เข้าใจง่ายดังนี้ครับ
1.1 พิจารณาขนาดของตู้ปลาที่ต้องการ ส่วนใหญ่ เราจะเรียกขนาดของตู้ปลาโดยใช้ขนาดของความกว้างด้านหน้าเป็นหลัก และนิยมใช้หน่วยวัดเป็นนิ้ว สำหรับตู้ปลา เช่น ตู้ 36 คือตู้ที่มีความกว้าง 36 นิ้ว การเลี้ยงปลาทะเล ควรใช้ตู้ที่มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนสิ่งมีชีวิตที่จะเลี้ยง หากตู้เล็กเกินไปจะทำให้ปลาเกิดความเครียด และอาจเกิดโรคได้ง่าย
1.2 กำหนดความหนาของกระจก การสั่งต่อตู้ปลา โดยส่วนมากกระจกสำหรับตู้ปลาทะเลควรมีความหนาไม่น้อยกว่า 2/8 นิ้ว หรือ 2 หุน ยิ่งท่านต้องการตู้ขนาดใหญ่ ยิ่งควรเพิ่มความหนาของกระจกให้มากเข้าไว้ เพราะกระจกหนาจะรับแรงกดดันของน้ำทะเลได้ดีกว่ากระจกบาง
1.3 ชนิดของตู้ปลา นอกจากกระจกแก้วแล้ว นักเลี้ยงปลาหลายท่านอาจใช้วัสดุอีกชนิดหนึ่งทำตู้ปลาทะเลได้ นั่นคือ อะคริลิค เนื่องจากมีความเหนียว และหนา ทนแรงกดดันของน้ำได้ดี แต่มีราคาแพง เมื่อเทียบกับกระจก และหากอะคริลิคคุณภาพไม่ดี อาจเกิดรอยขูดขีดจากการทำความสะอาดได้ง่าย
1.4 ขาตั้งตู้ เส้นผมบังภูเขา
ขาตั้งตู้ปลาทะเลนั้น เป็นสิ่งที่นักเลี้ยงปลาทะเลควรให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตู้ปลา วัสดุสำหรับขาตั้งตู้ปลานั้นร้านจำหน่ายตู้ปลาทั่วไปนิยมใช้ขาตั้งเหล็ก และขาตั้งไม้ (กรณีออกแบบให้เป็นตู้ปลาที่มีลวดลายเป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ไม้ในบ้าน) สำหรับการเลี้ยงปลาทะเล ขาตั้งเหล็กเป็นตัวเลือกที่ประหยัดในระยะแรก โดยความเห็นส่วนตัวหากท่านต้องการเลี้ยงปลาทะเลในระยะยาวแล้ว ไม่ควรเลือกขาตั้งเหล็ก นักเลี้ยงปลาทะเลเลือกขาตั้งไม้ หรือลงทุนก่อฐานปูนในบ้านเป็นการถาวรสำหรับตู้ปลาทะเล ทั้งนี้ ขอให้คำนึงถึงงบประมาณและความเหมาะสมกับสถานที่ด้วย
1.5 ตู้กรอง ในการเลี้ยงปลาตู้สมัยใหม่ จะมีการออกแบบให้มีตู้กรองน้ำในตู้ปลา โดยมีการกั้นพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ แล้วออกแบบให้น้ำในตู้ล้นผ่านหวีกรองน้ำ สู่ห้องกรอง โดยจะมีอุปกรณ์ในการกรองเช่น ใยแก้ว หินกรอง ที่สำคัญในห้องกรองก็จะติดตั้งปั๊มน้ำสำหรับดูดน้ำในห้องกรองที่กรองแล้วกลับสู่ตู้ต
อไป เช่นเดียวกันกับตู้ปลาทะเล การกรองน้ำมีความสำคัญยิ่ง แต่ขนาดของห้องกรองน้ำจากตู้ปลาสำเร็จรูปทั่วไปอาจไม่เพียงพอสำหรับของเสียที่จะเกิดขึ้นในระบบ ตู้กรองจึงมีความจำเป็นสำหรับตู้ปลาทะเล หากท่านเลี้ยงตู้ปลาขนาดเล็ก อาจไม่จำเป็นต้องแยกตู้กรองออกจากตู้ปลา กล่าวคือสามารถใช้ห้องกรองที่ออกแบบมาแล้วได้ โดยเสริมอุปกรณ์บางอย่างเช่น ไบโอบอล หรือหินปะการัง เข้าไปในห้องกรอง เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียในการย่อยสลายของเสียจากตู้ (จะขอกล่าวโดยละเอียดในภาคต่อไป) นักเลี้ยงปลาทะเลส่วนใหญ่นิยมแยกตู้กรองออกจากตู้เลี้ยงปลา เพื่อเพิ่มพื้นที่ของตู้ปลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดของเสีย นอกจากนี้ ตู้กรองยังสามารถใช้พักปลาที่จะนำมาเลี้ยงเพื่อกักโรค หรือกักปลาที่มีอาการป่วย แยกออกจากตู้เลี้ยงไม่ให้แพร่เชื้อสู่ปลาตัวอื่นๆได้อีกด้วย โครงสร้างทั่วไปของตู้กรองจะประกอบด้วย
1.5.1 ห้องรับน้ำจากตู้หลัก ห้องนี้มักใส่ใยแก้ว เพื่อกรองฝุ่นผง และสิ่งสกปรกจากตู้หลัก บางครั้ง นักเลี้ยงปลาจะนำถุงใส่ผงถ่านคาร์บอน มาวางให้น้ำไหลผ่านเพื่อกรองสีของน้ำให้ดูใสสะอาดได้
1.5.2 ห้องแบคทีเรีย ห้องนี้จะใส่หินปะการัง หรือใบโอบอล เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียสำหรับการย่อยสลายของเสียจากปลาในตู้หลัก นักเลี้ยงปลาสามารถใส่ท่อออกซิเจนได้ในห้องนี้ เพื่อเติมอากาศให้กับระบบ และเร่งปฏิกิริยาของวงจรไนโตรเจน
1.5.3 ห้องปั๊ม ห้องนี้จะใส่ปั๊มน้ำ เพื่อดูดน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสู่ตู้หลัก นักเลี้ยงบางท่านอาจใส่เครื่องช้อนฟอง (Protien Skimmer) ลงในห้องนี้ หรือห้องแบคทีเรียได้
นอกจากนี้นักเลี้ยงปลาจะสามารถเพิ่มอรรถประโยชน์จากตู้กรองได้อีกมากมาย เช่น การเพาะเลี้ยงสาหร่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบตามความต้องการของนักเลี้ยงเอง
1.6 ระบบท่อ ก่อนที่จะสั่งต่อตู้ปลา หรือไปเลือกซื้อตู้ปลาจากร้านค้า ขอให้ท่านพิจารณาสถานที่ที่จะติดตั้งตู้ปลา และพิจารณาพื้นที่สำหรับการเดินระบบท่อ ในกรณีที่ท่านตัดสินใจทำตู้กรองแยกออกจากตู้เลี้ยง เพราะระบบท่อที่ไม่ได้ออกแบบไว้ก่อน จะทำให้ตู้ปลาทะเล กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรเข้าใกล้ของคนในบ้าน เพราะดูยุ่งเหยิงระโยงระยาง แทนที่จะเป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ ดังนั้น การออกแบบระบบท่อน้ำจากตู้เลี้ยงลงสู่ตู้กรอง และจากตู้กรองกลับสู่ตู้เลี้ยง จะต้องออกแบบอย่างดี และง่ายต่อการบำรุงรักษา ทั้งนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่โดยรวม
กล่าวโดยสรุปสำหรับการเลือกตู้ปลานั้น ท่านควรจะออกแบบความต้องการของท่าน แล้วนำไปปรึกษาร้านค้าที่ท่านคิดว่าไว้ใจได้ เพื่อป้องกันความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้น

2. น้ำ
อาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก แต่ในฐานะที่ท่านกำลังจะเริ่มต้นเลี้ยงปลาทะเล ควรจะมีความเข้าใจถึงข้อแตกต่างของน้ำที่ใช้สำหรับตู้ปลาทะเลเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้น้ำทะเลแท้ หรือน้ำทะเลเทียม ก็สามารถเลี้ยงปลาได้ทั้งนั้น คำถามที่ท่านต้องตอบตัวเองคือ อย่างไหนเหมาะสมกับท่านที่สุด
2.1 น้ำทะเลแท้
ท่านที่อยู่ในแหล่งที่สามารถหาน้ำทะเลแท้ได้ อาจไม่มีความยุ่งยากนัก น้ำทะเลที่นำมาใช้จะถูกขนส่งจากทะเลลึก เช่น ตามแนวน้ำลึกแถบเกาะต่างๆ ในอ่าวไทย หรืออันดามัน โดยชาวประมง มีข้อดีตรงที่ในน้ำทะเลแท้ จะมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่า “แพลงตอน” อยู่มากมาย ซึ่งนักเลี้ยงปลาบางท่านเห็นว่าเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการเลี้ยงสิ่งมีชีวิตที่ใช้แพงตอนเป็นอาหาร แต่ข้อด้อยของน้ำทะเลแท้นั้น อยู่ที่ระดับความสะอาด และแร่ธาตุที่จะไม่สม่ำเสมอ ตามแต่ฤดูกาล และแหล่งที่มา อีกทั้งผู้จำหน่ายที่นำน้ำทะเลมาเก็บไว้เป็นเวลานาน ก็ทำให้คุณภาพเสื่อมลงได้
2.2 น้ำทะเลเทียม
ปัจจุบันได้รับความนิยมมาก เดิมทีเกลือวิทยาศาสตร์ที่นำมาผสมเป็นน้ำทะเลเทียมนั้น ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาแพง แต่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ไทยสามารถผลิตเกลือวิทยาศาสตร์ได้เอง และทำเป็นอุตสาหกรรม จัดจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย ข้อดีของเกลือวิทยาศาสตร์ที่สามารถเอาชนะน้ำทะเลแท้ได้นั้น คือ ปริมาณและสัดส่วนของแร่ธาตุ ที่จำเป็นสำหรับปลาทะเล มีเพียงพอ และสม่ำเสมอ สำหรับความสะอาดนั้น ขึ้นอยู่กับนักเลี้ยงแต่ละท่าน นำไปผสมกับน้ำสะอาดในพื้นที่ของตน หากน้ำที่นำมาผสมไม่สะอาด หรือมีประมาณสารเคมีเยอะ อาจทำให้คุณสมบัติของน้ำทะเลเทียมเปลี่ยนไปได้ ดังนั้น น้ำที่จะนำมาผสมกับเกลือวิทยาศาสตร์ควรเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว เช่นน้ำดื่ม น้ำกรอง หรือบางท่านอาจใช้น้ำแร่ ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนของน้ำเปลี่ยนไป
***ถ้าปลาอย่างเดียวเน้นประหยัด ก็มารีเนียมถ้าก้นตู้ด้วยดีคุ้มค่าก็ อะควาไรทถ้าเอาดีๆหรูก็รีฟคริสตัลคับ
การเตรียมน้ำสำหรับตู้ปลาทะเล
ไม่ว่าจะเป็นน้ำทะเลแท้ หรือน้ำทะเลเทียม ท่านไม่สามารถนำไปเลี้ยงปลาได้ทันที อย่างน้อยควรมีขั้นตอนในการเตรียม ซึ่งไม่ยุ่งยากนัก ดังนี้
น้ำทะเลแท้
- ควรพักน้ำไว้สัก 1 คืน
- ก่อนใส่ลงตู้เลี้ยง ควรตรวจสอบค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ ค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำ และค่าของเสียในน้ำ เช่น ไนไตรท์ ไนเตรท เป็นต้น
น้ำทะเลเทียม
- ผสมเกลือวิทยาศาสตร์กับน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่ระบุในฉลาก
- ใช้ปั๊มน้ำ ตีน้ำที่ผสมแล้ว ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 คืน ระหว่างนั้น วัดค่าน้ำเป็นระยะๆ
- ควรผสมให้เพียงพอกับการใช้แต่ละครั้ง เกินดีกว่าขาด

3. แสงสว่าง
โดยทั่วไปแล้ว การใช้หลอดไฟสำหรับให้แสงของตู้ปลา มักจะมองว่าเพื่อความสวยงาม แต่สำหรับตู้ปลาทะเล แสงสว่างที่ใช้มีจุดประสงค์หลายประการ เช่น เพื่อความสวยงาม เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ และเพื่อเป็นอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตในตู้ จำพวกสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยการสังเคราะห์แสงเป็นอาหาร ดังนั้น นักเลี้ยงปลาทะเลที่ดีจะคำนึงถึงการจัดระบบแสงสว่างให้กับตู้ปลาทะเลของตนเป็นอย่างดีหลอดไฟฟ้าแสงสว่างที่เป็นที่นิยมสำหรับนักเลี้ยงปลาทะเลมีหลายประเภท ดังนี้
3.1 หลอดฟลูออเรสเซนท์ หรือหลอดนีออน แต่ไม่ใช่หลอดนีออนที่ใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป หลอดนีออนสำหรับตู้ปลาทะเลได้มีการผลิดออกจำหน่ายโดยมีการกำหนดค่าอุณหภูมิแสงไว้อย่
งเฉพาะเจาะจง ซึ่งหลอดนีออนสำหรับตู้ปลาทะเล จะให้แสงสีขาว ซึ่งจำลองแถบแสงสีขาวให้เหมือนกับแสงจากดวงอาทิตย์ แม้ว่าจะไม่เทียบเท่านัก แต่ก็มีข้อดีตรงที่ราคาถูกและหาซื้อง่าย นอกจากนี้ หลอดนีออนสำหรับตู้ปลาทะเล ยังมีอีกหลายประเภทตามชนิดของแสงที่นักเลี้ยงปลาทะเลต้องการ เช่น แสงสีม่วง หรือ Actinic Blue ซึ่งนิยมกันมาก เพราะจะใช้ร่วมกับหลอดแสงสีขาว เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสเปคตรัมแสง
เมื่อกล่าวถึงอุณหภูมิแสงแล้ว ก็จะอธิบายสักเล็กน้อย ว่า อุณหภูมิของแสงมีหน่วยเป็น “เคลวิน” (Kelvin) ซึ่งหลอดนีออนสำหรับบ้านเรือนทั่วไปที่เราเห็นนั้น เรียกกันว่าหลอด เดย์ไลท์ จะให้อุณหภูมิแสงประมาณ 4500-6000 องศาเคลวิน อุณหภูมิแสงขนาดนี้ เมื่อส่องผ่านตัวกลางที่เป็นอากาศอาจมองเป็นสีขาว แต่เมื่อผ่านตัวกลางที่เป็นน้ำ (โดยเฉพาะน้ำทะเล) เราจะเห็นเป็นสีเหลือง ในวงการเลี้ยงปลาทะเล นิยมใช้หลอดนีออนที่มีอุณหภูมิแสงตั้งแต่ 10,000 องศาเคลวินขึ้นไป ขนาดของหลอดนีออนที่จะใช้มีหลากหลาย โดยแบ่งตามกำลังงานไฟฟ้าที่ใช้ เช่น หลอด 18 วัตต์ 36 วัตต์ เป็นต้น ซึ่งท่านจะต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมตามขนาดของตู้ปลา
3.2 หลอดตะเกียบ อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเป็นหลอดตะเกียบแบบที่นิยมใช้กัน หลอดตะเกียบสำหรับตู้ปลาทะเล เป็นหลอดที่ออกแบบมาเฉพาะใช้งานกับตู้ปลาทะเล มีราคาแพง แต่อายุการใช้งานนานกว่าหลอดนีออน แต่ในช่วงหลังๆมานี้ ไม่ค่อยเห็นมากนักในตลาดปลาทะเลเมืองไทย อีกทั้งผู้เขียนก็ไม่เคยใช้ จึงขออธิบายไว้แต่เพียงคร่าวๆ
3.3 หลอดเมทัล ฮาไลด์ (Metal Halide Bulb)
หลอดชนิดนี้ ในวงการวิศวกรรมไฟฟ้า จะจัดอยู่ในประเภท หลอดไอปรอทแรงดันสูง เราสามารถพบเห็นตามงานป้ายโฆษณา หลอดไฟส่องสว่างในทางหลวง เป็นต้น หลอดชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่ให้แสงสว่างมาก และให้ความถูกต้องของสีได้ดีกว่าหลอดชนิดอื่นๆที่กล่าวมา แต่ต้องการระบบจุดหลอดแบบพิเศษ และมีราคาค่อนข้างสูง
ในวงการปลาทะเล มีการนำหลอดเมทัลฮาไลด์ มาใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะมีการผลิดเพื่อใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงปะการังในต่างประเทศ มีขนาดกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 150 วัตต์ เป็นต้นไป นักเลี้ยงปลาทะเลมักนิยมใช้กันในขนาด 150-450 วัตต์ และอุณหภูมิแสงตั้งแต่ 10000 เคลวิน เป็นต้นไป
ผลจากการใช้งานหลอดเมทัลฮาไลด์กับตู้ปลาทะเล จะให้แสงที่สวยสดงดงามมาก เพราะมีสเปคตรัมของแสดงครบถ้วน เทียบเท่ากับแสงจากดวงอาทิตย์ ท่านจะเห็นสีสันของปลา หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้อย่างสวยงาม แต่ผลที่ตามมาก็คือ อุณหภูมิของน้ำในตู้ปลา และค่าไฟฟ้าที่ท่านจะต้องจ่ายออกไปนั่นเอง

4. ปลา
พระเอกของเรื่องนี้ ปลาทะเลมีหลากหลายสายพันธุ์ มีทั้งที่สามารถนำมาเลี้ยงในตู้ปลาได้ และไม่ได้ บางชนิด สามารถเพาะพันธุ์ได้ในระบบปิดแล้ว ประเด็นหลักของหัวข้อนี้ คือ การเลือกปลาที่จะนำมาเลี้ยง ในภาคแรก ได้เกริ่นว่า จำนวนของปลา จะสัมพันธ์กับขนาดของตู้ปลา หากท่านใช้ตู้ขนาด 36 นิ้ว ท่านจะไม่สามารถเลี้ยงปลาได้มากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีปลาบางตัวที่สามารถเติบโตได้จนมีขนาดใหญ่ ก็จะยิ่งเป็นอันตรายต่อตู้ และต่อตัวปลาเอง หลักการนำปลามาเลี้ยงขอเสนอไว้เพื่อพิจารณาดังนี้
4.1 ก่อนเลี้ยงควรศึกษาจากหนังสือปลาทะเล ถึงขนาดของตัวโตเต็มที่ อาหารที่ปลาต้องการ ความเข้ากันได้กับปลาสายพันธุ์อื่น
4.2 เขียนรายชื่อปลาที่ท่านต้องการเลี้ยง ปลาบางสายพันธุ์ต้องเลี้ยงเป็นคู่ บางสายพันธุ์ต้องเลี้ยงเดี่ยวๆ
4.3 จัดเรียงลำดับตามขนาดของปลา การลงปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าก่อน จะทำให้ปลาที่มีขนาดเล็กกว่าถูกรบกวนได้ ด้วยอุปนิสัยของปลาทะเลเอง
4.4 หากปลาที่มีนิสัยดุร้าย แม้จะตัวเล็ก ก็สามารถจัดให้อยู่เป็นลำดับหลังๆ ได้ ทั้งนี้ต้องศึกษาจากหนังสืออย่างละเอียด
4.5 อย่าเลือกปลาทะเลเพราะความแปลกตาเพียงอย่างเดียว ปลาทะเลบางอย่างมีความต้องการอาหารเป็นพิเศษ และเลี้ยงในระบบปิดได้ยาก เช่น ปลาไหลบางชนิด หรือปลาที่มีพิษบางชนิด ท่านไม่สามารถสอบถามจากพ่อค้าปลาได้ เพราะข้อมูลที่ท่านจะได้จะสอดคล้องกับความต้องการของท่านจนเกินความเป็นจริง

5. หิน และทราย
ความต้องการของปลาทะเล ไม่เหมือนกับปลาน้ำจืด ท่านอาจเอาหุ่นตาแป๊ะตกปลามาวางในตู้ปลาทะเลได้ แต่ท่านจะพบว่า มันไม่เข้ากันเลย ปลาทะเลที่ท่านสามารถนำมาเลี้ยงในตู้นั้น มีแหล่งอาศัยตามธรรมชาติอยู่ในแนวปะการัง ดังนั้น การจัดสภาพแวดล้อมในตู้ปลาทะเล จึงนิยมจัดให้จำลองสภาพของแนวปะการังมาเพื่อปลาจะได้มีที่หลบภัยตามธรรมชาติ และคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี
ประโยชน์ของหิน และทราย ในตู้ปลาทะเล นอกจากเป็นที่หลบภัยแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยกรองของเสียในน้ำด้วย ท่านต้องเข้าใจว่าระบบตู้ทะเล เป็นระบบปิด ไม่เหมือนทะเลธรรมชาติ ของเสียจากตัวปลาทะเลเอง
5.1 หินที่ใช้ในระบบตู้ปลาทะเล
นักเลี้ยงปลาทะเลส่วนใหญ่นิยมใช้หินที่มาจากแหล่งธรรมชาติ เราเรียกหินจำพวกนี้ว่า “หินเป็น” เพราะเป็นหินจากทะเลธรรมชาติ เช่นจากแนวปะการัง หรือแนวหินโสโครก บางแห่ง ที่เกิดการทับถมจากซากปะการัง และก่อตัวเป็นหิน หินเป็นนี้ มีลักษณะทางโครงสร้างเหมือนซากปะการัง แต่มีน้ำหนักเบากว่าหินธรรมดา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายประเภท เช่น หนอนตัวแบน สาหร่าย ฟองน้ำ เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาหินเป็นเทียมขึ้นมา โดยมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับหินเป็น แต่มีความสะอาดจากกระบวนการผลิด ซึ่งได้เปรียบกว่าหินเป็นธรรมชาติที่อาจเกิดการเน่าเสียของสิ่งมีชีวิตในกระบวนการขนส่ง และการจัดเก็บ ทำให้นักเลี้ยงปลาทะเลใช้หินเป็นเทียมกันมากขึ้น อีกทั้งยังหาซื้อได้ง่ายอีกด้วย
การเลือกหินเป็น (ธรรมชาติ)
เมื่อท่านไปหาซื้อหินเป็นจากร้านค้า ท่านจะเห็นบ่อ หรืออ่างขนาดใหญ่ ในนั้นมีหินจำนวนมาก แช่อยู่ในน้ำ มีการใช้ปั๊มน้ำตีน้ำ อยู่ตลอดเวลา นั่นแหละครับคือการบำบัดหินเป็น และการเตรียมหินของร้านค้าก่อนมีลูกค้ามาซื้อ สิ่งที่ท่านต้องทำคือ “เลือก” หินที่ท่านต้องการ ผมมีวิธีเลือกหินเป็นอย่างง่ายๆ ดังนี้ครับ
5.1.1) ท่านต้องมีรูปแบบโครงสร้างของหินในตู้ทั้งหมด กล่าวคือ ท่านควรร่างภาพโครงสร้างแนวหินในตู้ของท่านเสียก่อน จะทำให้ท่านมีรูปลักษณ์ของหินเป็นที่จะใช้เพื่อประกอบการเลือกหิน
5.1.2) เลือกหินเป็นตามรูปร่างที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องเป็นก้อนใหญ่ เพราะปัจจุบัน มีกาวที่สามารถเชื่อมต่อหินเข้าด้วยกันได้
5.1.3) ลักษณะของหินเป็นที่ดี จะต้องมีน้ำหนักเบา เนื่องจากมีรูพรุน มีกลิ่นเล็กน้อย ก้อนไหนมีกลิ่นเหม็นแสดงว่าสิ่งมีชีวิตภายในหินอาจเน่าเสียเกือบหมดแล้วก็ได้ พยายามเลือกหินก้อนที่ยังมีสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่มากที่สุด
หลังจากเลือกและซื้อมาถึงบ้านแล้ว ท่านก็จงนำหินที่ได้มาบำบัดตามแนวทางที่ร้านค้าเค้าทำกัน ที่สำคัญ กระบวนการจัดซื้อหิน ควรทำหลังจากประกอบตู้เสร็จแล้ว เพื่อไม่ให้ท่านต้องเก็บหินนานเกินไป
5.2 ทรายสำหรับตู้ปลาทะเล
ทฤษฎีการย่อยสลายของเสียในตู้ทะเล มีผู้รู้ได้แนะนำว่า การใช้ทรายหนาในตู้ปลาทะเล จะช่วยให้ตู้มีการย่อยสลายของเสียได้ดี นักเลี้ยงปลาทะเลหลายท่านก็ใช้ทฤษฎีนี้ ที่เรียกว่า Deep Sand Bed (DSB) การใช้ทรายละเอียดปูที่พื้นตู้ให้มีความหนามากกว่า 4 นิ้วขึ้นไป จะช่วยยึดโครงสร้างของแนวหินที่ท่านจัดไว้ได้อย่างดี และภายใต้ชั้นทรายหนา จะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น หนอนตัวแบน ไส้เดือนทะเล เป็นต้น และชั้นทรายหนานั้น ยังจะซึมซับเอาของเสียภายในตู้ปลาทะเล แล้วผ่านกระบวนการย่อยสลายได้เป็นอย่างดี (รายละเอียดของวงจรไนโตรเจน โปรดสอบถามนักวิชาการ)
ทรายที่ใช้ (ถ้าท่านจะใช้ระบบ DSB) ควรเป็นทรายละเอียดที่มาจากแหล่งธรรมชาติ ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ตู้ปลามักมีทรายละเอียด จำพวกทรายแก้ว (silica sand) ซึ่งอาจไม่เหมาะเพราะเป็นทรายสังเคราะห์ การนำทรายจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะหากท่านไปนำกลับมาเอง ท่านต้องเตรียมอุปกรณ์การจัดเก็บให้ดี เพราะการเก็บทรายจากธรรมชาติ จะต้องมีการแช่น้ำทะเลระหว่างขนส่ง เพื่อรักษาสภาพรวมทั้งป้องกันไม่ให้สิ่งมีชีวิตในทรายเน่าสลาย ปัจจุบันทฤษฎี การใช้ทราย ก็ได้รับความนิยมลดน้อยลง นักเลียงปลาทะเลหลายท่าน นิยมใช้เศษปะการังป่นละเอียด ปูพื้นแทนทราย ซึ่งก็ได้ผลดี และบางราย ก็ไม่มีการปูพื้นตู้ซึ่งเรียกกันว่า Bare Bottom การเลี้ยงแบบนี้จะได้ผลดีสำหรับผู้เพาะเลี้ยงปะการัง เพราะการเพาะเลี้ยงปะการังจะต้องป้องกันศัตรูตามธรรมชาติไม่ให้มารบกวนปะการังได้

6. อาหาร
ท่านสามารถหาซื้ออาหารสำเร็จรูปสำหรับปลาทะเลได้ทั่วไป มีทั้งอาหารแบบเกล็ด แผ่น หรือแม้กระทั่งอาหารแบบน้ำ แต่ปลาทะเลบางชนิดก็ต้องการนอกเหนือจากอาหาร เช่นวิตามิน หรือแร่ธาตุจำเป็นบางชนิด ทำให้นอกจากอาหารแล้ว ยังมีการผลิดอาหารเสริมสำหรับปลาทะเลมาจำหน่าย แต่ข้อดีของการเลี้ยงปลาก็คือ ท่านไม่จำเป็นต้องให้อาหารมาก แต่ขอให้สม่ำเสมอ เพราะการให้อาหารมากไป ทำให้เกิดของเสียตกค้างในระบบมาก อันจะก่อให้เกิดตะไคร่ตามตู้ได้ง่าย นอกจากนี้ ควรให้อาหารที่หลากหลายเช่น ในบางครั้งอาจให้กุ้งสดสับละเอียด หรือหอยลายสับ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาที่เลี้ยงนั้นเอง

7. อุปรกรณ์ประกอบอื่นๆ
ปั๊มน้ำ ปั๊มน้ำหลักคือปั๊มที่ใช้สำหรับการปั๊มน้ำที่ผ่านการกรองในห้องกรองน้ำกลับสู่ตู้เลี
ยง จะต้องเลือกขนาดปั๊มที่เพียงพอสำหรับการไหลวนของน้ำในระบบ ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นตู้ปลาที่กั้นห้องกรองสำเร็จรูปแล้ว จะสามารถเลือกปั๊มได้ไม่ยาก แต่หากท่านทำตู้กรองแยกต่างหาก ก็ต้องเลือกปั๊มให้เหมาะกับขนาดของตู้และอัตราการไหลวนของน้ำ เพื่อประสิทธิภาพในการกรองบำบัดน้ำ ที่สำคัญ ปั๊มน้ำเป็นอุปกรณ์ที่ต้องเปิดตลอดเวลา จึงขอแนะนำให้ลงทุนกับปั๊มน้ำสักนิด เพื่อความมั่นใจในระบบ
ปั๊มออกซิเจน สำหรับตู้ปลาทะเล ปั๊มออกซิเจนสามารถใช้ประโยชน์นอกเหนือจากการป้อนอากาศให้กับน้ำ ยังสามารถใช้อัดอากาศร่วมกับเครื่องช้อนฟอง (Protien Skimmer) สำหรับการตีน้ำในเครื่องให้แตกตัวแยกของเสียออกมาอีกด้วย ปั๊มออกซิเจนมีทั้งแบบลูกยาง และแบบแผ่นไดอาแฟรม แบบลูกยางนั้นมีราคาถูก และมีหลายขนาด แต่มีอายุการใช้งานสั้น แต่ปั๊มออกซิเจนแบบแผ่นไดอาแฟรมมีราคาแพงกว่า แต่อายุการใช้งานก็นานกว่า อีกทั้งอะหลั่ยของปั๊มยังหาซื้อได้อีกด้วย
เครื่องช้อนฟอง (Protien Skimmer) จำเป็นสำหรับตู้ปลาทะเลมากทีเดียว เพราะปลาทะเลมีเมือกเยอะ และเป็นของเสียที่ต้องกำจัดด้วยเครื่องช้อนฟอง เครื่องช้อนฟองมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ตัวเครื่อง ปั๊มน้ำ และถ้วยกรอง หลักการทำงานของเครื่องช้อนฟองกล่าวโดยสรุปคือ ปั๊มน้ำจะดูดน้ำเข้าสู่เครื่อง ภายในเครื่องจะออกแบบให้มีก้านลักษณะเหมือนใบพัด แต่หมุนไม่ได้ ในช่องน้ำเข้า จะต้องมีอากาศจากปั๊มออกซิเจน เข้าไปผสมกับน้ำ ทำให้น้ำเป็นฟอง ดันตัวผ่านใบพัด ทำให้เกิดการแยกฟองกับน้ำออกจากกัน ฟองอากาศจะดึงเอาเมือกและของเสียในน้ำออกมาด้วย และถูกดันตัวขึ้นมาอยู่ในถ้วยกรอง เมื่อถ้วยกรองเต็ม ก็นำไปเททิ้ง น้ำที่ออกจากเครื่องก็จะมีของเสียน้อยลง
การเลือกเครื่องช้อนฟอง จะต้องมีความสัมพันธ์กับขนาดของปริมาตรน้ำในตู้ ดังนั้นท่านสามารถเลือกซื้อเครื่องช้อนฟองได้ตามปริมาตรน้ำในตู้ได้ไม่ยาก แต่จะแนะนำให้เลือกเครื่องช้อนฟองที่มีการรองรับปริมาตรน้ำได้มากกว่าขนาดตู้สักเล็กน้อย จะมีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้งปั๊มน้ำซึ่งเครื่องช้อนฟองบางยี่ห้อ อาจขายพร้อมปั๊มก็เป็นการดี แต่อาจมีราคาแพง เพราะเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเสียส่วนมาก ถ้าเป็นสินค้าที่ผลิดในแถบเอเชีย ก็จะมีราคาถูกแต่ประสิทธิภาพก็จะได้ตามราคา และท่านจะต้องเลือกซื้อปั๊มให้เหมาะสมกับขนาดของเครื่องด้วย
นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ เช่น เครื่องมือวัดอุณหภูมิ ตัววัดความถ่วงจำเพาะของน้ำ อุปกรณ์วัดค่าน้ำ เช่น ค่าความเป็นกรดด่าง ค่าของเสียจำพวกไนไตรท์ ค่าฟอสเฟต ฯลฯ ซึ่งท่านจะต้องเลือกซื้อให้เหมาะสมกับความจำเป็นของตู้ หรือหากมีงบประมาณ อาจซื้อเป็นเครื่องมือวัดแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะสามารถอำนวยความสะดวกให้ท่านได้เป็นอย่างดี
เมื่อท่านได้อ่านบทความภาคนี้จนจบ ท่านจะพอมีแนวทางในการเลือกสรรอุปกรณ์ประกอบตู้ปลาของท่านได้บ้างไม่มากก็น้อย อยากเน้นย้ำให้ศึกษาจากแหล่งความรู้อื่นๆ และสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ “อย่าถามหาความจำเป็นจากผู้ขาย” ในบทความภาคต่อไป จะเป็นการสรุปขั้นตอนการปฏิบัติการตั้งตู้ปลา เพื่อให้ท่านสามารถดำเนินการได้โดยมีความผิดพลาดให้น้อยที่สุด โปรดติดตาม

ภาค 3 เริ่มต้นปฏิบัติการ
ภาคนี้ จะกล่าวถึงขั้นตอนการติดตั้ง และเดินระบบตู้ปลาทะเล ตามความเข้าใจ และประสบการณ์ของผู้เขียนเอง หากท่านศึกษาบทความในภาคนี้ ประกอบกับการค้นคว้าปรึกษาผู้รู้จากด้านต่างๆ ท่านจะสามารถเริ่มต้นเลี้ยงปลาทะเลได้ โดยพบปัญหาน้อยที่สุด และสามารถประหยัดงบประมาณได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางวิชาการ จะสามารถทำให้ท่านตัดสินใจได้ ซึ่งผู้เขียนเองมิได้ต้องการให้ท่านยึดติดกับข้อแนะนำในบทความนี้ เพราะผู้เขียนได้เรียบเรียงจากประสบการณ์และความเข้าใจส่วนตัว
ขั้นตอนการเริ่มต้นติดตั้งระบบตู้ปลาทะเลที่จะกล่าวต่อไป จะสมมติว่าท่านมีอุปกรณ์ องค์ประกอบครบถ้วนตามภาคที่ 1 และอุปกรณ์แต่ละประการ ก็ได้ผ่านการคัดสรรจนได้มาตรฐานเป็นที่พึงพอใจแล้ว เพื่อความเข้าใจ แต่ในทางปฏิบัติจริง อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของท่านเอง
ขั้นตอนในการตั้งระบบตู้ปลาทะเล จะขอนำเสนอเป็นขั้นตอน ดังนี้
1. ติดตั้งตู้ปลา และระบบต่างๆ
2. เติมทราย และจัดหินเป็น
3. เซ็ทน้ำ
4. นำปลาปล่อยลงตู้
5. ดูแลรักษา

1. ขั้นตอนการติดตั้งตู้ปลา และระบบต่าง ๆ
เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ เพราะหากการติดตั้งตู้และระบบไม่เรียบร้อย ท่านจะต้องเสียเวลาปรับปรุงระบบในภายหลัง อันจะทำให้เกิดงบประมาณบานปลาย และเสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่าง ๆ เช่นตู้แตก ไฟช็อต ปลาตาย เป็นต้น
ระบบท่อน้ำ
ในการติดตั้งตู้ จะต้องมีการเตรียมพื้นที่ให้เรียบร้อย ออกแบบการเดินท่อน้ำเข้า ออก ของระบบ จากตู้หลัก ไปตู้กรอง และจากตู้กรองกลับสู่ตู้หลัก ท่อน้ำนี้ควรจะติดตั้งอยู่ในที่ที่สามารถซ่อมบำรุงได้ หากมีการรั่วซึม จะไม่เป็นอันตรายต่อพื้นที่อื่น นักเลี้ยงปลาทะเลบางท่านออกแบบให้มีห้องสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ระบบต่างหากจากห้องวางตู้ปลา ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่สูง แต่ก็คุ้มค่า แต่สำหรับท่านที่กำลังจะเริ่มต้น ขอให้ปรึกษากับคนในบ้านท่านเอง เพื่อความสะดวกของการอยู่อาศัย
ระบบไฟฟ้า
นอกจากระบบท่อน้ำแล้ว ก็เป็นระบบไฟฟ้า ท่านอาจคำนวณการสิ้นเปลืองไฟฟ้าของตู้ทั้งหมดก่อนคร่าวๆ โดยเอาค่าการบริโภคกระแสไฟฟ้าของอุปกรณ์ทุกตัวมารวมกัน แล้วพิจารณาแหล่งจ่ายไฟฟ้าในบ้าน ว่าเพียงพอหรือไม่ มีนักเลี้ยงปลาทะเลหลายท่าน ที่เริ่มต้นด้วยการใช้ปลั๊กแถว ซึ่งดูจะง่ายต่อการใช้งาน แต่อันตรายหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้าขึ้น ดังนั้น หากท่านคิดจะทำระบบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นไปได้ที่ท่านจะต้องจัดทำระบบไฟฟ้าสำหรับตู้ปลาแยกต่างหากจากไฟฟ้าอื่น ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด การออกแบบระบบแบบนี้ จะทำให้ระบบตู้ปลาของท่านมีความเสี่ยงน้อยมาก หากเกิดไฟฟ้าดับ
ในขั้นตอนนี้ท่านอาจทดสอบระบบแสงสว่างไปด้วย การทดสอบทำเพื่อตรวจสอบว่า การให้แสงสว่างกับตู้ได้ทั่วถึงหรือไม่ ระยะของหลอดไฟฟ้ากับผิวน้ำ อุณหภูมิของน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้แก้ไขปรับปรุงได้แต่เนิ่นๆ
ติดตั้งตู้ปลา
เมื่อนำตู้ปลามาวางในพื้นที่ (ส่วนมากจะใช้บริการจากช่างฝีมือของร้านติดตั้งตู้ปลา) ควรมีการตรวจสอบระนาบของฐาน หลังจากวางตู้เปล่าลงไปบนฐานแล้ว โดยใช้ระดับน้ำวัดในระนาบต่างๆ ของตู้ เมื่อได้ระนาบทุกตำแหน่งดีแล้ว จะเป็นการทดสอบรอยรั่วซึม โดยการใช้น้ำจืดเติมลงในตู้ปลา เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่า รอยต่อต่างๆ ของตู้ มีการรั่วซึมหรือไม่ และที่สำคัญ ให้ทดสอบการเดินระบบน้ำ โดยเปิดระบบเดินน้ำ และตรวจสอบรอยต่อของท่อน้ำต่าง ๆ ว่ามีรอยรั่วซึมหรือไม่ จะได้ปรับแก้ได้ทัน ทั้งนี้ ให้จำลองสถานการณ์ไฟฟ้าดับ ว่าเมื่อเกิดไฟฟ้าดับแล้ว น้ำที่ไหลกลับไปที่ตู้กรองนั้นท่วมล้นออกมาหรือไม่ กระบวนการตรวจสอบรอยรั่วซึมนั้นอาจใช้เวลาสัก 1-2 วันเพื่อความมั่นใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับตัวท่านเอง แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า “อย่าใจร้อน”
ในขั้นตอนการติดตั้งตู้ปลาและระบบต่าง ๆ ท่านสามารถติดตั้งระบบการสร้างกระแสน้ำในตู้ปลาไปพร้อมๆกันได้ แต่การกำหนดกระแสน้ำในตู้นั้น ยังต้องการตัวแปรอีกเล็กน้อย ซึ่งท่านจะสามารถปรับเปลี่ยนในขั้นตอนการเซ็ทน้ำจริงได้อีกครั้งหนึ่ง

2. เติมทราย และจัดแนวหิน กายภาพภายในตู้
ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน หลังจากที่ท่านตรวจสอบรอยรั่วซึม และระบบต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ดูดน้ำจืดออกจากตู้ให้หมด และนำน้ำทะเล หิน ทราย ที่เตรียมเอาไว้ มาใสในตู้
มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ อันดับแรก ใส่ทรายที่เตรียมไว้ ประมาณร้อยละ 30-40 ของปริมาณทรายทั้งหมดลงในตู้ก่อน เพื่อเป็นพื้นรองกันกระแทก จากนั้น นำหินที่เตรียมไว้ ค่อยๆ จัดให้อยู่ในรูปทรง ตามที่ได้ออกแบบไว้ ขั้นตอนนี้อาจมีการใช้กาวต่อหิน ซึ่งควรทำให้เรียบร้อย ระวังหินตกกระทบตู้ หลังจากจัดเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ลองขยับดูความมั่นคงให้ดี เพราะเมื่อเติมน้ำแล้วจะทำได้ยากมาก อีกทั้ง เผื่อที่ว่างสำหรับการทำความสะอาดผนังตู้กระจกด้วย เมื่อจัดหินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็นำทรายส่วนที่เหลือทั้งหมดใส่ลงไป และปรับพื้นที่สูงต่ำ ตามต้องการ แล้วใส่น้ำทะเลบางส่วนลงไป เพื่อให้ทรายอัดตัวอยู่กับพื้นตู้

3. เซ็ทน้ำ
ขั้นตอนที่สำคัญ และใช้เวลายาวนานที่สุดในการติดตั้งระบบทั้งหมด น้ำทะเลที่เตรียมไว้ นำมาใส่ในตู้ให้เต็มตามระดับที่ได้วางไว้ จากนั้น ก็เริ่มเปิดระบบปั๊ม ให้เดินน้ำ ในเบื้องต้น ท่านสามารถจัดระบบกระแสน้ำในตู้ได้ในขั้นตอนนี้ ระบบกระแสน้ำที่เกิดจากปั๊มสร้างกระแสน้ำในตู้ หรือหลายท่านอาจลงทุนซื้อเครื่องทำคลื่น ซึ่งจะสร้างกระแสคลื่นเป็นจังหวะเหมือนกระแสคลื่นในทะเลจริง ให้กับตู้ของท่าน กระแสน้ำมีความสำคัญในการพัดพาเอาฝุ่นละอองไม่ให้ฟุ้งกระจาย หากออกแบบกระแสน้ำได้ดีแล้ว จะทำให้กระบวนการกรองของเสีย มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะส่งผลให้เศษฝุ่นละอองในตู้ตกสู่พื้นตู้ ไม่ฟุ้งกระจาย ตู้ของท่านจะดูใสสะอาดตลอดเวลา
หลังจากเดินระบบน้ำเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการวัดค่าน้ำ โดยใช้อุปกรณ์ทดสอบค่าน้ำ ค่าน้ำหลักๆ ที่จะต้องวัดคือ ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ (pH) และ ค่าของเสียในน้ำจำพวกไนไตรท์ (NO2-) ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำทะเลที่ควรจะเป็นจะอยู่ราว ๆ 8.2-8.6 กล่าวคือมีความเป็นด่าง และค่าของเสียจำพวกไนไตรท์ ควรจะมีค่าน้อยที่สุด ไม่ต้องแปลกใจว่าเริ่มเซ็ทน้ำครั้งแรก ค่าของเสียจะสูงมาก เนื่องจากระบบการย่อยสลายของเสียในระบบยังไม่มีนั่นเอง ระบบการย่อยสลายของเสียในระบบตู้ปลาทะเล จะอาศัยแบคทีเรียในการย่อยสลาย โดยแบคทีเรียที่ว่านี้ ท่านสามารถหาซื้อมาใส่ในตู้ได้ โดยจะจำหน่ายกันในลักษณะทั้งแบบผง และแบบน้ำ ในขั้นตอนการเซ็ทน้ำนี้ ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟแสงสว่าง เพราะจะทำให้เกิดตะใคร่ได้ง่าย
ในการรอให้แบคทีเรียขยายตัว ท่านสามารถสังเกตได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยนำกุ้งสดสัก 2-3 ตัว ขนาดพอประมาณ ใส่ลงไปในตู้ แล้วสังเกตจนกระทั่งเนื้อกุ้งถูกย่อยสลายจนหมด ขั้นตอนของการเซ็ทน้ำนี้ อาจใช้เวลา 4-8 สัปดาห์เลยทีเดียว และผู้เขียนขอเน้นให้พยายามรอให้นานเท่าที่จะนานได้ เพราะการสร้างระบบที่มีเสถียรภาพมากเท่าใด ย่อมจะปลอดภัยต่อปลาที่จะนำมาเลี้ยงเท่านั้น และนอกจากระบบย่อยสลายของเสียแล้ว ท่านยังต้องตรวจสอบอุณหภูมิ และค่าน้ำอย่างสม่ำเสมอ ในขั้นตอนนี้ หากอุณหภูมิที่เปรียบเทียบช่วงกลางวัน และกลางคืน เปลี่ยนแปลงมาก จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล ตู้ปลาทะเลที่มีเสถียรภาพจะมีค่าอุณหภูมิแตกต่างระหว่างกลางวันกับกลางคืนอยู่ที่ 1-3 องศาเซลเซียส นักเลี้ยงปลาทะเลหลายท่านแนะนำว่า ตู้ปลาทะเลควรมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 26-32 องศาเซลเซียส กล่าวคือ เย็นไปก็ไม่ดี ร้อนไปก็ไม่ดี ท่านอาจต้องมีอุปกรณ์เสริมจำพวก ฮีทเตอร์ เพื่อทำความอบอุ่นให้กับตู้หากท่านวางตู้ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หรืออุปกรณ์จำพวก ชิลเลอร์ เพื่อทำความเย็นให้กับตู้หากตู้ปลาของท่านต้องเผชิญกับความร้อนอย่างต่อเนื่อง
ระหว่างที่ตู้ของท่านอยู่ในช่วงรอ ท่านอาจต้องตอบคำถามจากคนในบ้าน ว่าทำไมถึงยังใส่ปลาไม่ได้ และโดยเฉพาอย่างยิ่ง ความต้องการของตัวท่านเอง ที่อยากเห็นเจ้าตัวน้อยแหวกว่ายอยู่ในตู้ของท่านอย่างร่าเริง ความใจร้อนจะทำให้พ่อค้าปลาหลายราย เสนอ “ปลาเทสต์น้ำ” ให้กับท่าน โดยให้เหตุผลว่า หากปลาชนิดนี้ อยู่ในตู้ของท่านได้ ท่านก็สามารถนำปลาชนิดอื่นมาเลี้ยงได้เช่นเดียวกัน ประกอบกับ “ปลาเทสต์น้ำ” เหล่านี้ สนนราคาไม่แพง จนท่านอาจอดใจไม่ไหว โดยคิดว่า “ถ้าตายก็ไม่เสียดายเงินหรอก” และก็นำมาใส่ในตู้ เพื่อ “สนองความต้องการ” ในเบื้องต้น ผู้เขียนก็ได้ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว และขอเรียนให้เข้าใจว่า การใช้ “ปลาเทสต์น้ำ” นั้น ไม่ใช่บทสรุปของการเซ็ทน้ำแต่อย่างใด เป็นความจริงว่า เมื่อระบบมีเสถียรภาพแล้ว ปลาก็จะอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัย แต่โดยส่วนมาก “ปลาเทสต์น้ำ” ที่พ่อค้าปลานิยมนำเสนอนั้น เป็นปลาที่มีความทนทานต่อสภาพน้ำอยู่เป็นทุนเดิม ยกตัวอย่างเช่น ปลาในสายพันธุ์ ปลาสลิดหิน หรือ “เดมเซล” ปลากลุ่มนี้มีความทนทานต่อสภาพน้ำมาก จนนักเลี้ยงปลาบางท่านถึงกับออกปากว่า ถ้าใครเลี้ยงเดมเซลไม่ได้ ก็เลี้ยงปลาอะไรไม่ได้เลย และหากท่านทำการศึกษาอุปนิสัยของปลาชนิดนี้จะพบว่า เป็นปลาที่มีนิสัย “หวงถิ่น” อย่างร้ายกาจ ซึ่งทำให้เกิดปัญหากับการนำปลาอื่นมาเลี้ยงในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีนิสัยเสียๆ หลายอย่างที่นักเลี้ยงปลาหลายท่านเคยพบเห็นแล้ว จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แต่สายพันธุ์นี้เท่านั้นที่พ่อค้าปลามักแนะนำให้ใช้ เทสต์น้ำ ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ท่านอดทน ตั้งใจรอจนกว่าจะมั่นใจในระบบจริงๆ
คำถามถัดมาก็คือ ระหว่างรอนั้น เราควรทำอะไร ผู้เขียนขอเสนอให้ท่าน หาหนังสือปลาทะเลมาอ่าน เพื่อศึกษาอุปนิสัยของปลาแต่ละชนิดที่ท่านสนใจ เขียนรายการปลาที่ท่านต้องการ เรียงลำดับการนำมาเลี้ยงก่อน หลัง ปลาบางชนิดต้องรอให้ตู้มีอายุมากกว่า 4 เดือนขึ้นไป จึงจะเลี้ยงได้รอด ปลาบางชนิดชอบกระโดดออกจากตู้ ปลาบางชนิดต้องการอยู่ในตู้ขนาดใหญ่ ท่านสามารถหาหนังสือมาศึกษาได้ และสอบถามจากนักเลี้ยงปลาที่เคยเลี้ยง จากนั้น ก็เสาะหาแหล่งจำหน่ายปลาที่ท่านมั่นใจ และนำรายชื่อปลาไปปรึกษา เพราะปลาที่ท่านต้องการ อาจมีจำหน่ายเป็นบางช่วง บางช่วงอาจไม่มีจำหน่าย ซึ่ง จะเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนให้กับท่านได้เป็นอย่างดี

4. นำปลาปล่อยลงตู้
ถึงเวลาแล้ว !!! หลังจากที่ท่านอดทนรอคอยระบบให้อยู่ตัวมาเป็นเวลานาน ผู้เขียนขอแสดงความยินดีกับท่านที่ทำตามขั้นตอนด้วยดี และท่านจะพบว่า ไม่เสียเวลาเลยกับการรอคอย แน่นอน ปลาที่ท่านจะนำมาปล่อยนั้น ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะปลาทะเลมักถูกจับมาจากแหล่งธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ มีปลาน้อยชนิดนัก ที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ ซึ่งถ้าท่านเลือกได้ โปรดเลือกซื้อปลาที่เพาะพันธุ์ในระบบปิด เนื่องจากมีความทนทานต่อระบบมากกว่า ปลาที่จับจากแหล่งธรรมชาตินั้น มักจะโดนจับด้วยวิธีการน็อกยา ซึ่งเป็นวิธีที่อันตราย และมักทำให้ปลาตาย (ซึ่งส่วนมากจะมาตายในตู้ท่านนั่นแหละ) ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องสืบหาร้านที่ไว้ใจได้ ว่าปลาที่จับมามีสุขภาพแข็งแรง
เมื่อท่านอยู่ในร้านปลา ท่านเห็นปลามากมาย อยู่ในตู้ ท่านมองหาปลาที่ท่านต้องการ แล้วก็เจอจนได้ สิ่งที่ควรทำคือ ดูสภาพของตัวปลา มีร่องรอยบาดแผลหรือไม่ เกล็ดเรียบเนียนไม่ลอกล่อน ลักษณะการว่ายน้ำ แข็งแรงสดใสหรือไม่ การหายใจเป็นจังหวะ ไม่หอบหรือผิดปกติ ดวงตาไม่มีการปูดโปนออกมา สภาพในตู้ที่เลี้ยงอยู่นั้น ไม่มีปลาตาย นี่คือสภาพภายนอกที่ท่านสามารถสังเกตได้ด้วยตา หลังจากนั้น ลองสอบถามข้อมูลจากผู้ขาย ถ้าเป็นไปได้ ลองให้ผู้ขายให้อาหาร และดูว่าปลากินอาหารหรือไม่ ร้านปลาที่ดี หลังจากนำปลามาที่ร้านแล้ว จะต้องทำการกักโรคเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนใส่ลงในตู้โชว์ เพื่อป้องกันการติดโรค หรือการนำโรคไปติดต่อกับปลาในตู้โชว์ ข้อมูลนี้หากท่านสามารถมั่นใจว่า ร้านปลานั้นมีระบบการกักโรคที่ดี ก็เป็นความมั่นใจให้กับท่านได้
เอาล่ะ ตอนนี้ปลาตัวแรกของท่าน อยู่ในถุงเรียบร้อยแล้ว และท่านก็ทะนุถนอมเป็นอย่างดีจนมาถึงบ้าน เตรียมจะปล่อยลงตู้ ขั้นตอนการปล่อยลงตู้ก็สำคัญ เพราะน้ำในตู้โชว์ที่ร้าน กับน้ำในตู้ที่บ้าน มันจะเหมือนกันได้ไง จริงมั้ยครับ ฉะนั้น การปล่อยปลาลงไปทันทีทันใด ก็จะเป็นอันตรายต่อปลาได้เช่นเดียวกัน ผู้เขียนขอแนะนำวิธีการง่ายๆ ในการปล่อยปลาลงตู้ ดังนี้
1. ปิดไฟแสงสว่าง
2. เตรียมสายยางเล็กๆ สักเส้น เพื่อดูดน้ำ
3. เปิดปากถุงที่ใส่ปลา เทน้ำออกประมาณครึ่งหนึ่ง ระวังไม่ให้ปลากระโดดหนี
4. ดูดน้ำจากในตู้ให้หยดลงในถุงปลาช้าๆ ให้น้ำในตู้ผสมกับน้ำในถุง
5. สังเกตพฤติกรรมของปลา ว่าผิดปกติหรือไม่
6. เทน้ำในถุงออกอีกครึ่งหนึ่ง แล้วทำขั้นตอนที่ 4 ซ้ำอีก
7. ทำขั้นตอนที่ 4-6 อีก 2-3 รอบ
8. ค่อยๆ เทปลาจากถุง ใส่ลงในตู้ ถ้าเป็นไปได้ ควรหากล่องกักปลา ที่สามารถลอยน้ำในตู้ได้มาใช้ แล้วใส่ปลาลงในกล่องกักปลา
9. สังเกตพฤติกรรม อาการของปลาสักระยะ ก่อนปล่อยออกจากกล่องกักปลา
ขั้นตอนนี้ควรทำกับปลาทุกตัวที่จะนำมาใส่ในตู้ แม้ว่าตู้ปลาของท่านจะมีเสถียรภาพเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเก่ากับปลาใหม่ เกิดการต่อสู้กัน

5. ดูแลรักษา
หลังจากชื่นชมกับปลาที่แหวกว่ายในตู้อย่างสำราญ การดูแลรักษาตู้นั้น เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ระบบคงที่ ไม่เกิดโรคภัยกับปลาในตู้ ท่านสามารถทำได้เองง่ายๆ และไม่ใช้เวลามาก ผู้เขียนจะแนะนำการดูแลรักษาตู้แบบพื้นฐานดังนี้
5.1 วัดค่าน้ำ หลังจากตู้เข้าระบบได้แล้ว ท่านยังคงต้องมีการวัดค่าน้ำเป็นระยะๆ แต่อาจไม่บ่อยครั้งเหมือนช่วงแรก การวัดค่าน้ำ อย่างที่กล่าวไปแล้ว สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ อาจจะทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และการวัดค่าน้ำ เป็นอุปนิสัยพื้นฐานที่นักเลี้ยงปลาทะเลควรกระทำ เมื่อเห็นสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในตู้ เมื่อวัดค่าน้ำแล้วจะสามารถวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหาได้ และแก้ไขได้ทันเวลา หลายท่านอาจเพิ่มรายละเอียดของการวัดค่าน้ำ นอกเหนือจากวัดค่าความเป็นกรดด่าง ค่าไนไตรท์ ทั้งนึ้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของท่านเอง
5.2 เปลี่ยนน้ำ / เติมน้ำ ตู้ปลาทะเลไม่เหมือนตู้ปลาน้ำจืด การเปลี่ยนน้ำล้างตู้ทั้งหมด ไม่ควรกระทำเพราะเท่ากับการรื้อระบบและเซ็ทระบบใหม่ น้ำทะเลมีการระเหย เมื่อระเหยไปแล้ว จะเหลือเกลือที่ตกค้างในระบบ นั่นจะทำให้น้ำมีความเค็มมากขึ้น ท่านสามารถวัดค่าความเค็มได้ด้วยการวัดค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำ และวิธีการรักษาระดับค่าความถ่วงจำเพาะนั้น ก็คือการเติมน้ำจืดเข้าไปละลายเกลือในระบบ ก็จะทำให้ระบบดำเนินอยู่ได้ น้ำจืดที่นำมาเติมนั้น ควรเป็นน้ำจืดที่บำบัดแล้ว ไม่ควรนำน้ำประปามาเติมโดยตรงเป็นอย่างยิ่ง เพราะน้ำประปามีคลอรีน และสารเคมีปรับสภาพน้ำ อันจะทำให้เกิดความผิดปกติกับระบบสารเคมีในตู้ปลาทะเลได้ นักเลี้ยงปลาทะเลหลายท่านนิยมใช้น้ำกรองจากระบบ Reverse Osmosis เพราะน้ำจืดที่ได้ค่อนข้างบริสุทธิ์ อย่างไรก็ดี หากท่านไม่ต้องการลงทุนหาเครื่องกรองมาใช้งาน ก็สามารถใช้น้ำจืดสำหรับดื่มได้ โดยปกติการเติมน้ำจืดเข้าระบบควรเติมทุกวัน วันละเล็กน้อย แต่จะมีปริมาณเท่าไรนั้น ท่านสามารถวัดได้จากค่าความถ่วงจำเพาะนั่นเอง
สำหรับการเปลี่ยนน้ำกับตู้ปลาทะเล นิยมเปลี่ยนน้ำเพียงจำนวนหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มแร่ธาตุที่จำเป็นให้กับตู้ปลา และเป็นการกำจัดของเสียได้อีกทางหนึ่ง ท่านสามารถเปลี่ยนน้ำในอัตราส่วนที่หลากหลาย ดังนี้
5.2.1 เปลี่ยนทีละน้อย ๆ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรน้ำในตู้ โดยเปลี่ยนทุกๆ 2 สัปดาห์ หรือ 4 สัปดาห์
5.2.2 เปลี่ยนครั้งใหญ่ ประมาณ 40- 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรน้ำในตู้ มักทำเมื่อมีปัญหาผิดปกติขึ้นในตู้ เช่น ปลาเป็นโรค ปลาตาย เป็นต้น
ขั้นตอนการเปลี่ยนน้ำ คล้ายคลึงกับขั้นตอนการเซ็ทน้ำ
เริ่มจากการเตรียมน้ำเอาไว้ น้ำที่เปลี่ยนควรเป็นน้ำชนิดเดียวกับน้ำเดิมที่ใช้ กล่าวคือ ถ้าใช้น้ำทะเลแท้ ก็ควรเปลี่ยนด้วยน้ำทะเลแท้ ถ้าใช้น้ำเกลือผสม ก็เปลี่ยนด้วยน้ำเกลือผสมเช่นกัน เว้นเสียแต่ว่า บางท่านอาจเปลี่ยนจากการใช้น้ำทะเลแท้ มาเป็นน้ำเกลือผสม อาจทำการเปลี่ยนครั้งใหญ่ก่อน หลังจากนั้นค่อยเปลี่ยนทีละน้อยๆ ต่อไป
เมื่อเตรียมน้ำเอาไว้แล้ว พยายามวัดค่าน้ำให้ใกล้เคียงกับค่าน้ำในตู้ ปิดระบบทุกอย่าง และดูดน้ำออกจากตู้ วัดปริมาณให้เพียงพอกับที่จะเปลี่ยน ระหว่างนี้อาจทำความสะอาดกระจกไปด้วยเลย หลังจากนั้น นำน้ำใหม่ใส่ลงในตู้ช้าๆ ถ้าเป็นไปได้ควรใส่ในตู้กรอง และเปิดระบบปั๊ม จะได้นำน้ำผ่านระบบกรองชั้นหนึ่งก่อนเข้าสู่ตู้จะเป็นการดีกว่าใส่โดยตรง
เมื่อเดินระบบครบถ้วนดีแล้ว ลองวัดค่าน้ำอีกครั้ง และคอยเฝ้าระวังปัญหาที่จะเกิดขึ้น
5.3 ตรวจสอบระบบต่าง ๆ
ทุกๆ เดือนที่ผ่านไป ท่านสามารถตรวจสอบระบบต่าง ๆ ของตู้โดยใช้เวลาไม่นานนัก เช่น การทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะอาจมีผลึกเกลือที่เกิดจากการระเหยของน้ำ ไปเกาะตามขั้วหลอดไฟ ตามปั๊มออกซิเจน ฯลฯ ทำความสะอาดปั๊มน้ำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ในระบบได้
5.4 เลี้ยงปลา
การให้อาหารอย่างสม่ำเสมอ และหลากหลาย เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ปลาของท่านมีสุขภาพแข็งแรง อย่างไรก็ดี ควรระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในตู้ ไม่ว่าจะเป็นจากการเปลี่ยนน้ำ การเปลี่ยนอาหาร ฯลฯ หากมีสิ่งผิดปกติกับปลาของท่าน ควรทำการแยกปลาออกจากตู้หลัก นักเลี้ยงปลาหลายท่าน นิยมเตรียมตู้พักปลาไว้ต่างหาก เพื่อดูแลรักษาปลาที่ป่วย เพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้ยา จะไม่กระทบต่อปลาอื่นในตู้
เพียงเท่านี้ ตู้ปลาทะเลของท่าน ก็เป็นที่ชื่นชม ของคนในบ้าน และเพื่อนๆ ของท่านที่มาเยี่ยมเยียน ในช่วงท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนมีข้อคิดบางประการกับการเลี้ยงตู้ปลาทะเล เพื่อให้ท่านได้พิจารณา
1. พยายามถามตัวเองให้มาก ว่าต้องการเลี้ยงตู้ปลาทะเล “จริงๆ” หรือไม่
2. ศึกษาหาความรู้ประกอบการตัดสินใจตลอดเวลา
3. เป็นการง่าย ที่ท่านจะหาร้านค้าแบบ “One stop service” แต่ท่านต้องแลกด้วยงบประมาณ และความภาคภูมิใจ เพราะหากมีคนถาม (ซึ่งผู้เขียนมั่นใจว่าต้องมี) ว่าตรงนั้นทำยังไง, ทำไมถึงเลือกทำแบบนี้ ท่านจะไม่สามารถอธิบายได้ เพราะท่านไม่ได้ทำ
4. เสน่ห์ของตู้ปลาทะเล 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ขั้นตอนการตั้งตู้และเซ็ทระบบ อีก 30 เปอร์เซ็นต์อยู่หลังจากระบบอยู่รอดปลอดภัย
ไนไตรท์ จะต้องเป็น 0 หรือน้อยจนแทบอ่านค่าจากตัววัดไม่ได้ เมื่อระบบเข้าที่แล้วครับ
ของเสียของระบบ ที่อยู่ในรูปของ แอมโมเนีย จะถูกย่อยสลาย
เมื่อแอมโมเนีย (NH4) กำลังลด ไนไตรท์ (NO2) จะค่อยๆ สูงขึ้น และเมื่อไนไตรท์กำลังถูกย่อยสลาย ในขณะที่ ไนไตรท์ (NO2) กำลังลด ไนเตรท (NO3) ก็จะค่อยๆ สูงขึ้นเป็นลำดับครับ
สุดท้ายที่เราต้องคอยตรวจสอบคือเจ้า ไนเตรท (NO3) ครับ เพราะมันจะตกค้างในระบบนานกว่าเพื่อน...
ความเค็ม วัดได้โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า ไฮโดรมิเตอร์ครับ แต่ไฮโดรมิเตอร์จะวัดออกมาเป็นค่าความถ่วงจำเพาะ และที่บริเวณที่อ่านค่า เค้ามักจะเอาไปเทียบเคียงกับค่าความเค็มครับ เพราะมันสัมพันธ์กัน
ความเค็ม (Salinity) ที่เหมาะสมกับสัตว์ทะเล อยู่ในช่วงระหว่าง 28-35 ppt (Part Per Thoundsand) ซึ่งจะสัมพันธ์กับค่า ความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity:SG) ประมาณในช่วงตั้งแต่ 1.022-1.028 ครับ
ไนไตรท์ : เมื่อระบบอยู่ตัวแล้วจะมีค่าน้อยมากหรือเป็น 0 ครับ
พีเอช(pH) คือค่าความเป็นกรดด่างครับ น้ำทะเลธรรมชาติจะอยู่ราวๆ 7.8-8.4 ครับ ค่าที่แนะนำจะอยู่ในช่วง 8.0-8.4 สูงไป หรือต่ำไป จะมีสารสำหรับปรับให้ครับ
แอมโมเนีย : เป็นของเสีย ซึ่งจะถูกย่อยสลาย และกลายเป็นไนไตรท์ต่อไปครับ ระบบจะเป็นตัวย่อยสลายเอง หรือเท่าที่ทราบมีน้ำยาบางอย่างช่วยย่อยสลายได้เร็วขึ้น แต่ใช้แบคทีเรีย และปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติจะปลอดภัยที่สุดครับ
ค่าที่บอกมาถือว่าพร้อมครับ...สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ค่าที่บอกมานี่ ขอให้ไม่เปลี่ยนแปลงสักระยะครับ กล่าวคือ ลองวัดทุกๆ สัปดาห์ ถ้าค่าที่ได้ใกล้เคียง หรือไม่เปลี่ยนเลย ติดต่อกันสักสองสามสัปดาห์ ผมคิดว่าพร้อมที่สุดครับ...
ส่วน จะลง ปลา กุ้ง หรือก้นตู้ ก็เลือกเอาตามชอบครับ สำหรับปลา เลือกชนิดที่ดุร้ายน้อยที่สุดก่อนครับ ก้นตู้บางชนิดเป็นอาหารของปลา หรือกุ้ง






Create Date : 09 กรกฎาคม 2552
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2555 18:14:05 น. 3 comments
Counter : 5305 Pageviews.

 
ต้องดูแลเยอะแยะไปหมดเลยนะคะเนี่ย - -"

คุงพี่ชินกำลัง In Lov3 คร่า ^^


โดย: peeshin วันที่: 9 กรกฎาคม 2552 เวลา:16:39:06 น.  

 
คุณยอดเยี่ยมมาก ละเ อียดเข้าใจถ่องแท้


โดย: คนผ่านมา IP: 49.230.102.14 วันที่: 12 กรกฎาคม 2557 เวลา:8:30:59 น.  

 
บอกรายละเอียดดีมากเลยครับ ขอบคุณที่นำข้อมูลดีดีมาฝากน่ะครับ


โดย: Siriphat younaisat IP: 49.237.252.124 วันที่: 11 สิงหาคม 2559 เวลา:11:06:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

KhunNoo@rm
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Load Counter
Google
New Comments
Friends' blogs
[Add KhunNoo@rm's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.