Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
14 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
'วิจัยไรฝุ่น - เชื้อเพลิงทดแทน' 2 นักเทคโนโลยีดีเด่นปีนี้



ปัจจุบันโลกมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยการแข่งขันที่สูงมาก ซึ่งหากไทยยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเราจะขาดอำนาจการต่อรอง
ในเวทีระดับโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคของการแข่งขันอย่างไร้พรมแดนที่แท้จริง

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า เพื่อลดปัญหาการพึ่งพาเทคโนโลยีของประเทศอย่างเร่งด่วน มูลนิธิฯ จึงจัดให้มีการมอบรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” ขึ้นตั้งแต่ในปี 2545 คู่ขนานไปกับรางวัลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้คนในสังคมไทยเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน

ซึ่งปีนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นำเสนองานวิจัยที่มีคุณภาพสูงมากเข้ามาให้พิจารณามากกว่า 50 ผลงาน

โดยผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นมี 2 รางวัลคือ ทีมวิจัยจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้คิดค้นวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นขึ้นภายใต้ “โครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นที่ได้มาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” และ ดร.เกรียงไกร สุขแสนไกรศร วิศวกรใหญ่ ฝ่ายวิศวกรรมและเทคนิค บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด ที่ร่วมมือกับบัณฑิตวิทยาลัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาพลัง
งานทางเลือกที่เรียกว่า “SCG Fluidized Bed Gasifier”

ทั้งนี้ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฏสุนทร จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศ.เกียรติคุณ พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค จากภาควิชาโสตนาสิกลาริงซ์วิทยา รศ.วรรณะ มหากิตติคุณ จากภาควิชาปรสิตวิทยา รศ.ดร.พญ.อัญชลี ตั้งตรงจิตร จากภาควิชาปรสิตวิทยา ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง จากสถานส่งเสริมการวิจัย และ ผศ.ดร.ณัฐ มาลัยนวล จากภาควิชาปรสิตวิทยา

ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฏสุนทร หัวหน้าโครงการฯ บอกว่า จากการวิจัยพบว่า ไรฝุ่น คือสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งในการก่อโรคภูมิแพ้ และปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะที่น้ำยาสกัดสารภูมิแพ้จากไรฝุ่น ที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาแพงมาก ทีมวิจัยจากศิริราชพยาบาลได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องไรฝุ่นมานาน โดยมีการผลิตน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และวัคซีนสำหรับตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้ เพื่อใช้เองมานานกว่า 30 ปีแล้ว

และตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสามารถที่จะเพาะเลี้ยงไรฝุ่นสายพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทยได้สำเร็จ โดยไทยถือเป็น 1 ใน 4 แห่งของโลกที่ได้ทำการผลิตไรฝุ่นเชิงพาณิชย์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ในการแยกไรฝุ่นบริสุทธิ์ให้ปนเปื้อนจากอาหารเพาะเลี้ยงให้น้อยที่สุด

การนำไรฝุ่นที่ปัจจุบันสามารถทำให้บริสุทธิ์ได้สูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ มาทำเป็นน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และวัคซีนสำหรับตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้ ถือเป็นการต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. คาดว่าจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในต้นปีหน้า และมีราคาถูกกว่าวัคซีนที่ผลิตจากประเทศในแถบสหรัฐอเมริกาและยุโรปประมาณ 50%

ด้าน ดร.เกรียงไกร สุขแสนไกรศร นักเทคโนโลยีดีเด่นประเภทบุคคล เจ้าของงานวิจัยการพัฒนาพลังงานทางเลือกจากเชื้อเพลิงชีวมวลโดยใช้เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น บอกถึงที่มาของงานวิจัยนี้ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องสั่งซื้อเทคโนโลยีนี้จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงมาก และไม่คุ้มทุน ตนเองพอมีความรู้พื้นฐานด้านนี้มาพอสมควร จึงอยากจะผลิตเครื่องต้นแบบขึ้นใช้ในองค์กร และเมื่อทำวิจัยก็พบว่าหากทำได้จริงจะสามารถสร้างผลตอบแทนต่อองค์กรในรูปแบบของเม็ดเงินได้มาก นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดงบประมาณการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่า 5-7 เท่าอีกด้วย

ทั้งนี้ได้มีการวิจัยและพัฒนาจนประสบความสำเร็จได้เครื่องต้นแบบที่มีประสิทธิภาพและขยายผลในเชิงพาณิชย์เป็นขนาด 5 เมกะวัตต์ความร้อน 15 เมกะวัตต์ความร้อน และ 25 เมกะวัตต์ความร้อน ในปี พ.ศ. 2551-2552

ปัจจุบันการมีนำไปใช้งานใน 7 บริษัท ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมของเอสซีจี

นอกจากนี้ยังมีการประกาศรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ซึ่งมี 2 รางวัลคือ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาศักยภาพการผลิตไมโครอะเรย์ในประเทศไทย เพื่อใช้สำหรับการตรวจวิเคราะห์เชื้อโรคที่ระบาดในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินิติ โชติสังกาศ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับวิศวกรรมปฐพี ในการตรวจวัดน้ำในช่องว่างของดิน เพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างระบบเตือนภัยดินถล่มที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือจากการใช้ปริมาณน้ำฝนในการเตือนภัยเพียงอย่างเดียว

น่ายินดีกับวงการเทคโนโลยีของไทย ที่มีนักวิจัยเก่ง ๆ ซึ่งมีผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดทั้งในวงการอุตสาหกรรมและวงการแพทย์ และช่วยให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน!!!.

นาตยา คชินทร
nattayap@dailynews.co.th


Create Date : 14 ตุลาคม 2554
Last Update : 14 ตุลาคม 2554 15:11:39 น. 1 comments
Counter : 675 Pageviews.

 


โดย: อ้างอิง4 (stevenjung ) วันที่: 16 ตุลาคม 2554 เวลา:22:57:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

NEWSU_CHADA
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add NEWSU_CHADA's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.