Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
28 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
[News] “ค่ายมือถือ” การันตี “สัญญาณสื่อสาร” ไม่มีล่ม! ช่วงน้ำท่วม

ในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ การติดต่อสื่อสารกลายเป็นหัวใจที่ผู้ให้บริการต้องมีมาตรการรองรับในภาวะฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้การติดต่อสื่อสาร “ล่ม” เนื่องจากในช่วงเวลาเช่นนี้ผู้ใช้บริการจะมีความต้องใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อขอความช่วยเหลือ และแจ้งข่าวระหว่างกัน มีแทบทุกวินาที


“เครือข่ายและเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายกลายมาเป็นโครงข่ายสื่อสารหลักสำหรับประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ เพราะสะดวก รวดเร็วต่อการใช้งาน เคลื่อนที่ได้ และสามารถเข้าถึงพื้นที่ภัยพิบัติได้อย่างไร้ข้อจำกัด”

เป็นคำกล่าวของ วิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และว่า “ที่สำคัญตอบสนองต่อการสื่อสารผ่าน Social Network ได้ดีที่สุด เห็นได้จากปริมาณการใช้งานทั้ง Voice และ Data ที่สูงขึ้นถึง 70% เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภัยพิบัติ”

เอไอเอสได้มีมาตรการการป้องกันเครือข่ายและเตรียมการรองรับกรณีหากอุทกภัยส่งผลกระทบกับชุมสายและสถานีฐาน ซึ่งมีมาตรการหลัก ประกอบด้วย 1.เตรียมการป้องกันสถานีฐานและชุมสายที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม โดยการยกระดับความสูงของอุปกรณ์ ตู้คอนเทนเนอร์ การวางแนวกระสอบทรายและกำแพงกั้นน้ำ

2.เตรียมระบบไฟสำรอง น้ำมันและการส่งกำลังบำรุง เพื่อให้ชุมสายยังคงให้บริการได้ตามปรกติ ในกรณีที่มีการตัดไฟจากการไฟฟ้า 3.เตรียมแผน Business Continuity Planning ในการปรับ traffic การสื่อสารไปยังชุมสายอื่นๆ ให้สามารถรองรับและใช้งานแทนได้ทันที กรณีหากชุมสายแห่งนั้นไม่สามารถป้องกันน้ำเข้าพื้นที่ได้

4.เตรียมสถานที่สำรองในกรณีเข้าปฏิบัติงานที่ศูนย์กลางการบริหารเครือข่ายส่วนกลางไม่ได้ เพื่อให้วิศวกรสามารถดูแลเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงประสานกับ Supplier ผู้ผลิตอุปกรณ์ Stand by อุปกรณ์และ Spare Part เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที


ส่งโซลูชั่นไร้สายหนุน

ส่วนการนำโซลูชั่นไร้สายของเอไอเอสเข้าไปสนับสนุนในเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ ประกอบด้วย1.การเข้าไปในพื้นที่ศูนย์อพยพหลักๆ โดยตั้งจุดให้บริการโทร.ฟรี เติมเงินเคลื่อนที่ รวมถึงนำรถสถานีฐานเคลื่อนที่เข้าไปขยายความสามารถในการรองรับการใช้งาน 2.สนับสนุนการจัดตั้ง Call Center ให้ภาครัฐเพื่อเป็นช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์

3.นำ Solutions Mobile Wall Board เข้ามาประยุกต์ใช้ โดยให้อาสาสมัครใช้มือถือถ่ายวิดีโอคลิปจุดต่างๆ และเขียนข้อมูลประกอบ จากนั้นส่งผ่านเครือข่าย Data มายังศูนย์กลาง เพื่อประมวลข้อมูลและส่งต่อความช่วยเหลือ 4.สนับสนุน Data ให้Googleเพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งข้อมูลจากแอปพลิเคชั่นของGoogleที่มีทั้งการแสดงข้อมูลจุดน้ำท่วม การขอความช่วยเหลือ

5.ติดตั้งเทคโนโลยี Wireless High Speed จาก Airnet ของเอไอเอส ให้กับจุดสำคัญต่างๆ ที่เป็นศูนย์ประสานงาน เช่น อยุธยาปาร์ค หรือที่อาคาร บบส. ทำให้เจ้าหน้าที่ประสานความช่วยเหลือผ่าน WiFi ทั้งบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตการโทร.ฟรีผ่าน VoIP

6.พัฒนาเมนู AIS Flood Relief บนโมบายไลฟ์ พอร์ทัล เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเกาะติดสถานการณ์ข่าวสารความเคลื่อนไหวเรื่องน้ำท่วมอย่างทันท่วงที โดยข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วยความเคลื่อนไหวของสถานการณ์น้ำที่อัปเดตล่าสุดจากทุกแหล่งข่าว, สายด่วน&รวมเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน, สถานที่จอดรถฟรี, ภาพวิดีโอคลิป, ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อม

7.นำ Solutions “mPABX” หรือ Mobile Public Automatic Switching Board ที่เป็นเสมือนตู้สาขาอัตโนมัติ ทำให้เบอร์โทรศัพท์มือถือเพียง 1 เบอร์สามารถมีคู่สายรองรับได้ตั้งแต่ 20 คู่สายขึ้นไป เข้ามาสนับสนุนหน่วยงานที่มีความต้องการใช้คู่สายโทรศัพท์จำนวนมากอย่างเร่งด่วน



ทรูมูฟมั่นใจโครงข่าย

ด้านทรูมูฟเตรียมแผนรองรับหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยได้สำรวจสถานีฐานทั้งหมด โดยทำการยกสถานีฐานที่อยู่ในจุดเสี่ยงที่น้ำจะท่วมถึงเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับชุมสายหลัก ได้ทำแนวป้องกันน้ำท่วมสูง 2.5 เมตร และเตรียมเครื่องสูบน้ำกรณีมีน้ำรั่วเข้ามา พร้อมทั้งเตรียมเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ กรณีมีการตัดไฟ และได้จัดเตรียมศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังน้ำท่วม (war room) ทำหน้าที่ดูแลสถานีฐานและโครงข่ายตลอด 24 ชั่วโมง

กสท พร้อมรับภัยน้ำท่วม

ในส่วนรัฐวิสาหกิจที่ดูแลโครงข่ายหลัก อย่าง กสท ให้ความมั่นใจโครงข่ายหลักออกสู่ต่างประเทศ 2 ชุมสายใหญ่ทั้งบางรักและนนทบุรี จะไม่กระทบ

วสันต์ เสนาะกรรณ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารข้อมูล บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า เนื่องจาก กสท เป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบโครงข่ายการสื่อสารรวมถึงชุมสายเชื่อมต่อทั้งในและต่างประเทศซึ่งมีผลต่อความต่อเนื่องของการสื่อสารทั่วประเทศ กสท จึงเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้อย่างเต็มที่

กสท มีโครงข่ายที่จะออกไปต่างประเทศหลักอยู่ที่อาคาร CAT TOWER บางรัก และศูนย์โทรคมนาคมนนทบุรี ซึ่งพื้นที่นั้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2-3 เมตร และตัวอาคารสูงกว่าถนนอีก 1.5 เมตร และมีพนังกั้นน้ำกระสอบทรายอีกชั้น เชื่อว่าจะสามารถรับน้ำท่วมได้ถึง 2 เมตร กรณีน้ำท่วมสูงกว่านั้นได้เตรียมเครื่องสูบน้ำพร้อมแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ได้เตรียมรองรับคือระบบไฟฟ้า โดยหากการไฟฟ้าฯ หยุดจ่ายกระแสไฟ กสท ได้เตรียมเครื่องปั่นไฟหรือเจเนอเรเตอร์พร้อมน้ำมันสำรองที่เพียงพอสำหรับ กสท บางรัก และนนทบุรี ที่จะสามารถเดินเครื่องต่อไปได้อีกประมาณ 10 วัน

นอกจากการเตรียมพร้อมตัวชุมสาย (node) หลักที่เป็นเกตเวย์ไปต่างประเทศแล้ว สำหรับการให้บริการวงจรเชื่อมโยงของชุมสายต่างๆ ในพื้นที่ประสบภัย ทุกชุมสายของ กสท จะเปิดทำการเพื่อให้ลูกค้าที่ยังต้องการทำงานสามารถใช้งานวงจรสื่อสารได้อย่างต่อเนื่อง โดยมี 2 กรณีที่จะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้คือน้ำท่วมสูง หรือการไฟฟ้าหยุดจ่ายกระแสไฟ

“เราจะเป็นหน่วยงานสุดท้ายที่จะ shut down ระบบ”

ในด้านความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ วสันต์ กล่าวว่า ลูกค้าที่วางเซิร์ฟเวอร์ในศูนย์ CAT IDC (Internet Data Center) มีความปลอดภัยสูงซึ่งข้อมูลจะไม่สูญหายแน่นอน เพราะทั้งระบบไฟและระบบ Transmission ไม่อยู่ในจุดที่มีผลกระทบ ส่วน Server ที่ลูกค้าดูแลเองโดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมนั้น เชื่อว่าทางฝ่ายไอทีของลูกค้าแต่ละบริษัทมีความตื่นตัวในการเตรียมระวังเรื่องนี้ตั้งแต่แรก จึงไม่น่าจะมีการสูญหายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ลูกค้าอาจมีปัญหาในด้านสถานที่การทำงาน กสท จึงมีแนวทางในการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถทำงานได้ตามปรกติ

ทั้งนี้ ลูกค้า กสท ที่ต้องการออฟฟิศชั่วคราวในกรุงเทพฯ กสท ได้เตรียมสำรองสถานที่เพื่อเป็นออฟฟิศให้และจัดเตรียม Link ใหม่เพื่อใช้ในการทำงาน กรณีลูกค้าที่ย้ายออฟฟิศไปที่สาขาอื่นหรือในต่างจังหวัดจะสามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทันทีเช่นกัน โดยเชื่อมต่อเข้ามายัง Server ที่ CAT IDC หรือหากเป็นที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต กสท จะมีหน่วยขายเป็นผู้ประสานการเชื่อมโยง Link ให้ลูกค้าได้เชื่อมต่อกับ CAT IDC เพื่อให้ลูกค้าดำเนินงานได้ตามปรกติในทุกที่


กสท ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการให้บริการในสภาวะน้ำท่วม (Service Continuity Network Operation Center) หรือ SCNOC เพื่อประสานงานการให้บริการในสภาวะน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.54 ที่ผ่านมา ศูนย์ SCNOC ได้ติดตามสถานการณ์ชุมสายในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด และได้ประสานการส่งข้อมูลถึงผู้ใช้บริการได้ทันท่วงที สำหรับ กสท นั้นได้ปิดชุมสายในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้วกว่า 30 ชุมสาย ส่วนใหญ่สามารถขนย้ายอุปกรณ์ได้ทันเวลาและมีความเสียหายในส่วนของอุปกรณ์น้อยมาก คือเฉพาะที่นิคมฯ สหรัตนนคร คิดเป็นความเสียหายเพียง 2-3%

wanwan019
ข่าวโดย ผู้จัดการ


Create Date : 28 ตุลาคม 2554
Last Update : 28 ตุลาคม 2554 2:11:21 น. 0 comments
Counter : 654 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

NEWSU_CHADA
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add NEWSU_CHADA's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.