Group Blog
 
 
ตุลาคม 2548
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
25 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 

ช่องหูอักเสบ

เจ้าของสุนัขมักจะนำสุนัขของตนเองมาพบสัตวแพทย์และมักจะมาบ่นให้ฟังอยู่เสมอว่า "หูสุนัขของตนเองมีกลิ่นที่เหม็นน่ารังเกียจมากเลย มันเป็นอะไรหรือค๊ะ/ครับ?" หรือ"แมวของชั้นชอบเกาหูมากเลย มีขี้หูดำมาก ชั้นจะทำอย่างไรดี" หรือ "สุนัขของผมชอบเอาหูไปถูไปกับพรม แต่ผมไม่พบว่ามีความผิดปกติใดๆ เลย ทำไมเจ้าตูบของผมจึงเป็นอย่างนั้น" เหล่านี้เป็นคำถามที่สัตวแพทย์ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ

อาการของโรคหู

สุนัข หรือแมวที่มีอาการของโรคในช่องหู เราอาจจะพบว่าอาการเหล่านี้ได้

  • มีกลิ่น
    มีการเกาหู หรือเอาหู (หัว) ไปถูกับวัตถุ
    มีสิ่งคัดหลั่งออกมาจากช่องหู
    ช่องหู หรือใบหูมีสีแดง หรือบวม
    มีการสั่นหัว หรือเอียงหัวไปด้านใดด้านหนึ่ง
    มีอาการเจ็บรอบๆหู
    มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ซึม หรือหงุดหงิด


โรคของช่องหูเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากที่สุดในสัตว์เลี้ยง (ทั้งสุนัขและแมว) ส่วนใหญ่เป็นการอักเสบของช่องหูภายนอกที่เรียกว่า "otitis externa" ปัญหาช่องหูอักเสบพบได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสุนัขทั้งหมด จากการศึกษาสถิติการพบปัญหาช่องหูอักเสบในแมวพบได้ประมาณ 2 - 6.6 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุของการเกิดช่องหูอักเสบ

ปัญหาโรคช่องหูสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เมื่อเราพบว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีปัญหาโรคของช่องหู สิ่งที่ต้องคิดถึงและเป็นสาเหตุโน้มนำที่เป็นไปได้ที่ทำให้เกิดปัญหาโรคของช่องหูภายนอกได้แก่ การแพ้ (allergies) เช่น

พยาธิภายนอก เช่น ไรในหู (ear mites)
จุลินทรีย เช่น แบคทีเรีย และยีสต์
สิ่งแปลกปลอม เช่น เกสรดอกไม้ หรือหนามของพืช
การได้รับบาดเจ็บ (trauma)
มีความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น hypothyroidism
สิ่งแวดล้อมภายในช่องหูที่ผิดปกติ เช่น มีความชื้นมากเกินไป และความผิดปกติทางกายวิภาคของช่องหู
มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือทางภูมิคุ้มกัน (immune conditions) และการเกิดเนื้องอก

การแพ้ (Allergies): สุนัขที่มีอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้อาหาร (food allergy) หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันหายใจเอาเข้าไปในร่างกาย พบว่ามีบ่อยครั้งเหมือนกันที่ก่อให้เกิดปัญหาของช่องหูได้ ในความเป็นจริงปัญหาของช่องหูอาจจะเป็นอาการเริ่มแรกของอาการแพ้ด้วยซ้ำไป เนื่องจากการแพ้ที่เกิดขึ้นจะมีผลไปเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมภายในช่องหู ซึ่งเป็นเหตุโน้มนำทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือยีสต์แทรกซ้อนขึ้นมาได้ ถ้าเรารักษาแต่เพียงปัญหาการติดเชื้อแทรกซ้อน เราจะไม่สามารถกำจัดสาเหตุของปัญหานั้นได้ เราจำเป็นต้องรักษาปัญหาการแพ้ของสุนัขด้วย


พยาธิ (Parasites): ไรในหู หรือ ear mite ที่ชื่อว่า Otodectes cynotis เป็นไรที่พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาของช่องหูในลูกแมวที่พบได้บ่อยมากที่สุด สัตว์เลี้ยงบางตัวมีภาวะภูมิไวเกินไป (hypersensitivity)ต่อตัวไรมาก และมักทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง สัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะมีการเกาอย่างรุนแรง จนทำให้ใบหูและช่องหูเกิดบาดแผลจากการเกาได้

แบคทีเรียและยีสต์ (Bacteria and Yeast): มีแบคทีเรียและยีสต์มากมายหลายชนิด เช่น ยีสต์ Malassezia pachydermatis เป็นตัวสาเหตุของการติดเชื้อในช่องหูที่สำคัญ โดยปกติหูที่มีสุขภาพดีจะมีความสามารถในการป้องกันจากการติดเชื้อจุลินทรีย์นี้ได้ดี แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมในช่องหูมีการเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการแพ้ หรือมีความผิดปกติทางฮอร์โมน หรือมีความชื้น เชื้อแบคทีเรียและยีสต์จะสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เป็นผลทำให้ไปทำลายกลไกการป้องกันการติดเชื้อที่ร่างมีอยู่

สิ่งแปลกปลอม (Foreign Bodies): เกสรดอกไม้ หรือหนามของพืช (plant awns) ซึ่งอาจจะหักติดค้างที่เสื้อผ้าของเจ้าของ หรือที่ขนของมัน (แม้ว่าเป็นเพียงหนามสั้นๆ ก็ตาม) สามารถที่จะตกเข้าไปในช่องหูได้ ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อช่องหู สัตว์จะเกา ทำให้เกิดบาดแผลจากการเกาและติดเชื้อแทรกซ้อนก่อนที่เจ้าของจะทราบเสียอีก ดังนั้นเจ้าของควรทำความสะอาดตัวสัตว์เลี้ยงภายหลังจากที่นำมันไปเดินเล่นนอกบ้าน รวมทั้งจะได้ตรวจสอบหูไปในตัวด้วย

การได้รับบาดเจ็บ (Trauma): ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น การทำร้ายตัวจนเกิดบาดแผลที่ใบหู หรือช่องหู มักเป็นผลมาจากการเกาอย่างรุนแรงมากกว่า

ความผิดปกติทางฮอร์โมน (Hormonal Abnormalitites): ภาวะการขาดฮอร์โมน (deficiencies) หรือมีฮอร์โมนชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป (excesses) จะสามารถทำให้เกิดปัญหาของผิดหนังและช่องหูได้ ไธรอยด์ฮอร์โมน กลูโคคอร์ติคอร์ย ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต และฮอร์โมนเพศเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพบต่อสุขภาพของผิวหนังและหูทั้งสิ้น

สิ่งแวดล้อมในช่องหู (Ear Environment):แบคทีเรียและยีสต์ชอบที่อาศัยอยู่ในช่องหู ที่ซึ่งมีความอบอุ่น มืดและมีความชื้น สุนัขที่มีน้ำหนักมาก หรืออ้วน ใบหูพับลงอย่างสุนัขพันธุ์ค๊อกเกอร์สเปเนียล อาจจะพบว่ามีปัญหาของช่องหูมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ เพราะช่องหูมีความชื้นมาก

สาเหตุอื่นๆ (Other Cause: สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาทางช่องหู ที่พบได้คือ ปัญหาที่เกิดจากพันธุกรรรม แต่พบได้ยาก และมักพบได้ในบางพันธุ์เท่านั้น ซึ่งรวมถึง ปัญหาโรค dermatomyositis ในสุนัขพันธุ์คอลลี่ (Collies) และ Shetland sheepdog และผิวหนังอักเสบแบบเปรียก (seborrhea) ในสุนัขพันธุ์ Shar Peis และ West Highland White Terriers. ส่วนปัญหาโรค Eosinophilic granulomas จะมีความเกี่ยวพันกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและสามารถทำให้เกิดปัญหาในช่องหูของแมวได้เช่นกัน ภาวะเนื้องอกอื่นๆ หรือ เนื้อร้ายอย่าง squamous cell carcinomas, melanoma สามารถพบได้ในช่องหูเช่นกัน

การวินิจฉัย

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดปัญหาของช่องหูมีมากมายหลายอย่าง เราจึงไม่อาจจะนึกถึงแต่เพียงว่า "มีการติดเชื้อในช่องหูเท่านั้น" แล้วให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวแล้วปัญหาจะหมดไป สิ่งที่จะต้องกระทำต่อไปให้มากกว่านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น สัตวแพทย์อาจจะต้องใช้กล้องส่องตรวจช่องหู (otoscope) เพื่อตรวจดูช่องหูและประเมินการอักเสบของช่องหูที่เกิดขึ้น ถ้าการอักเสบนั้นเกี่ยวข้องกับเยื่อแก้วหู และตรวจหาสิ่งแปลกปลอม หรือเนื้องอก หรือสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาของช่องหู ถ้าต้องการตรวจสอบการติดเชื้อ สามารถทำการป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อ (swab) จากสิ่งคัดหลั่งในช่องหู และนำไปป้ายบนแผ่นสไลด์แก้ว ย้อมสีและส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตรวจหาตัวไร แบคทีเรีย หรือยีสต์ ได้ การซักประวัติสัตว์ป่วยและการตรวจร่างกายจะสามารถช่วยให้สามารถหาสาเหตุของปัญหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน หรือการแพ้ หรือจากพันธุกรรมหรือไม่ ถ้าสงสัยว่าปัญหาโรคในช่องหูอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุดังกล่าว การตรวจทดสอบเพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำต่อไป ถ้าการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดแรกที่ให้กับสัตว์ การเพาะเลี้ยงเชื้อและการทดสอบความไวต่อยาปฏิชีวนะของเชื้อที่แยกได้จากช่องหูเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรจะต้องกระทำก่อนที่จะเลือกใช้ยาชนิดอื่นต่อไป

การรักษา

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น การให้ยาปฏิชีวนะจะใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนยาต้านเชื้อราจะใช้สำหรับการติดเชื้อยีสต์ การให้ยากลูโคคอร์ติคอร์ย เช่น เด็กซาเมธาโซนมักจะใช้เพื่อลดการอักเสบในช่องหู (ยาหยอด หรือยากิน) กรณีปัญหาช่องหูที่เกิดมาจากโรคอื่นๆในร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางฮอร์โมน หรือการแพ้ จะต้องให้การรักษาสัตว์ทั้งตัว ไม่เฉพาะแต่ช่องหู เช่น การเสริมฮอร์โมน หรือตรวจทดสอบการแพ้ เป็นต้น

การแพ้ (Allergies): การรักษาการแพ้มักจะรักษาด้วยการหมั่นทำความสะอาดช่องหูอย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำยาทำความสะอาดหู (ear cleaning solution) ยาแก้แพ้ (antihistamine) และการเสริมกรดไขมันบางชนิด ในบางครั้งอาจจะมีความจำเป็นต้องให้คอร์ติโคสเตรียร์รอยด์ ยาเหล่านี้อาจจะให้สัตว์ด้วยการป้อนให้กิน หรือในรูปฉีดก็ได้ หรืออาจจะให้ในรูปที่ใช้ทาภายนอกร่างกายก็ได้ การตรวจทดสอบการแพ้และการทำ immunotherapy(hyposensitization) อาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรักษาปัญหาในช่องหู

ไรในหู (Ear Mites):ปัญหาไรในช่องหูมักทำให้ช่องหูแห้ง ดำ มีเศษเนื้อเยื่อเล็กๆ นิ่มๆ มีลักษณะคล้ายผงกาแฟอยู่ในช่องหู ปัญหาไรในช่องหูพบได้ในแมวมากกว่าในสุนัข (แล้วแต่พื้นที่) ภาวะดังกล่าวนี้ให้การรักษาด้วยการทำความสะอาดช่องหูและให้ยาฆ่าไรก็จะสามารถจัดการกับปัญหาได้แม้วาการรักษาอาจจะต้องใช้เวลานาน(อาจเป็นสัปดาห์ในบางราย)

ยีสต์ (Yeast): ยีสต์สามารถก่อให้เกิดปัญหาช่องหูที่มีความรุนแรงได้ เรามักจะพบว่ามีสิ่งคัดหลั่งในช่องหูมีลักษณะเป็นไขคล้ายขี้ผึ้งสีน้ำตาลและมีกลิ่นเหม็นมาก การทำความสะอาดช่องหูทุกวันอาจจะช่วยลดปัญหากลิ่นได้บ้าง แต่การติดเชื้อยีสต์ในช่องหูเป็นปัญหาที่ไม่สามารถที่จะกำจัด หรือรักษาให้หายได้ง่ายนัก การรักษาการติดเชื้อยีสต์ในช่องหูอาจจะต้องมีการรักษาที่พิเศษกว่าการรักษาตามปกติ เนื่องจากการให้ยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อยีสต์ได้ ถ้าสงสัยว่ามีการติดเชื้อยีสต์ในช่องหู ควรนำสุนัขไปปรึกษาสัตวแพทย์

การติดเชื้อแบคทีเรีย(Bacterial Infections): การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องหูสามารถทำให้มีกลิ่นเหม็นในช่องหูได้ รวมทั้งอาจจะพบว่ามีสิ่งคัดหลั่งสีเหลืองด้วย ถ้าปัญหามีความรุนแรงและเรื้อรัง การทำความสะอาดช่องหูเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการจัดการกับปัญหา และการให้ยาปฏิชีวนะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการรักษา และควรอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ ถ้าการติดเชื้อในช่องหูมีความรุนแรงมาก การติดเชื้อนั้นมีโอกาสแพร่ หรือรุกลามเข้าไปในช่องหูส่วนกลาง หรือส่วนในได้ การวินิจฉัยและหาสาเหตุของปัญหาให้เร็วที่สุดเป็นสิ่งที่จำเป็น

โดยปกติการรักษาสภาพช่องหูให้มีความสะอาดอยู่เสมอจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับสัตว์เลี้ยงของท่าน


การปลิ้นใบหู เพื่อตรวจช่องหู
การทำความสะอาดใบหูและช่องหู

การทำความสะอาดหู

หูของสัตว์เลี้ยงมักจะเป็นรูปตัว "L" มากกว่าหูของคนและเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูจึงมักจะถูกเก็บสะสมอยู่บริเวณมุมของตัว "L" การกำจัดขี้หูที่สะสมในช่อง หูสามารถทำได้ด้วยการใส่น้ำยาสำหรับทำความสะอาดหู(น้ำยาที่ดี)ลงไปในช่องหู น้ำยาล้างหูที่ดีควรมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ แต่ไม่ควรใช้วิธีการแทง กระแทก ควรบีบนวดบริเวณโคนหูประมาณ 20-30 วินาทีเพื่อทำให้เศษเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มและหลุ่ดออกมา ทำการเช็ดเอาเศษเนื้อเยื่อที่หลุดออกและใช้ก้านไม้ที่พันด้วยสำลีที่ชุบให้ชุ่มไปด้วยน้ำยาทำความสะอาดช่องหู ให้ทำซ้ำๆ กันจนไม่พบว่ามีเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูหลงเหลืออยู่ในช่องหูอีก ถ้าสภาพภายในช่องหูมีเนื่อเยื่อ หรือขี้หูมาก อาจจะทำความสะอาดตามวิธีดังกล่าววันละ 2 ครั้ง

อาจจะใช้ก้านไม้พันด้วยสำลี หรือ cotton bud ในการทำความสะอาดช่องหู และด้านในของใบหู แต่ไม่ควรแหย่ให้ลึกเข้าไปในช่องหูมากนัก เพราะจะทำให้ขี้หู หรือเศษเนื้อเยื่ออัดกันแน่นภายในช่องหูมากกว่าเป็นการเขี่ยเอามันออกมา

สัตว์บางตัวพบมีว่าปัญหาของช่องหูที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเจ็บปวด การทำความสะอาด หรือขณะให้การรักษาอาจจะมีความจำเป็นต้องทำให้สลบเสียก่อน แต่ในบางครั้งสัตว์จะไม่ยอมให้ทำความสะอาดหูของมัน เพราะมันไม่ชอบ มันรำคาญ เจ้าของจะต้องพูดคุยกับมัน ให้มันผ่อนคลายในระหว่างที่ทำความสะอาด ถ้ามันเชื่อฟังควรต้องชมเชย ให้รางวัล

หลังจากทำความสะอาดหูแล้ว ปล่อยให้มันสั่น หรือสะบัดหัวได้และปล่อยให้แห้ง หลังจากนั้นจึงค่อยใส่ยาให้

การป้องกันโรคหู

หัวใจที่สำคัญในการทำให้ช่องหูมีสุขภาพดีคือ ความสะอาด ควรตรวจสอบช่องหูของสัตว์เลี้ยงของท่านทุกสัปดาห์ การพบว่ามีขี้หูเพียงเล็กน้อยถือว่าเป็นสิ่งปกติ ถ้าสัตว์เลี้ยงชอบเล่นน้ำมาก หรือมีใบหูยาวห้อย หรือมีประวัติโรคของช่องหู แนะนำให้ทำความสะอาดช่องหูเป็นประจำ(2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) ด้วยวิธีการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ถ้ารอบๆ ช่องหูมีขนยาวมาก ให้ตัดให้สั้น เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก การรักษาโรคของช่องหูควรรักษา หรือกำจัดสาเหตุของโรค ซึ่งเป็นเหตุโน้มนำทำให้เกิดปัญหาของช่องหูจึงจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

พึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้าสัตว์เลี้ยงของท่านรู้สึกไม่สะดวกสะบาย กระวนกระวายอย่างมากแสดงให้เห็น ช่องหูมีกลิ่นเหม็นมาก หรือช่องหูมีความผิดปกติ ไม่ควรรีรอที่จะนำมันมาพบสัตวแพทย์ ถ้าเยื่อแก้วหูของสัตว์เลี้ยงของท่านเกิดความเสียหาย การใช้ยาบางชนิด หรือน้ำยาทำความสะอาดช่องหูบางชนิดอาจจะเป็นอันตรายมากกว่าเป็นการรักษา ดังนั้นจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์




 

Create Date : 25 ตุลาคม 2548
4 comments
Last Update : 25 ตุลาคม 2548 23:26:08 น.
Counter : 2716 Pageviews.

 

เป็นประโยชน์และความรู้มากๆ ค่ะ

อยากทราบว่ามีโรคอะไรที่ต้องระวังเป็นพิเศษหรือเปล่าคะสำหรับโกลเด้นที่จะเดินทางกลับไปอยู่ที่เมืองไทย (แถมกลับตอนหน้าร้อนซะด้วย) เพราะกำลังหาข้อมูลว่าต้องเตรียมอะไรรอให้เค้าบ้างค่ะ

 

โดย: คุณแม่จอมกอด IP: 66.75.7.25 26 ตุลาคม 2548 15:08:59 น.  

 

อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานในสุนัขค่ะ

 

โดย: นกน้อย IP: 124.120.212.231 24 มีนาคม 2550 19:08:02 น.  

 

 

โดย: ............... IP: 203.149.16.42 28 พฤษภาคม 2550 18:07:39 น.  

 

 

โดย: vernotisecs IP: 70.81.95.101 13 กรกฎาคม 2550 23:28:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Perfex Dog
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Perfex Dog's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.