ยินดีต้อนรับครับ... ขอบคุณที่แวะมาครับ...

<<
ธันวาคม 2554
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
5 ธันวาคม 2554
 

มติชนรายวัน : "เศรษฐกิจพอเพียง" คอลัมน์ ใต้เบื้องพระบริบาล84พรรษา5ธันวา

มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2554
.......................................................................
"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้กับประชาชนชาวไทยมานานกว่า 37 ปีแล้ว เป็นแนวคิดตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง คำคำนี้แม้หลายคนจะท่องจำได้ขึ้นใจ แต่กลับกันในทางปฏิบัติมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงจนนำไปปรับใช้ให้เกิดผลสำเร็จ การถ่ายทอดความรู้ให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักของเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ต้นมาจนถึงทุกวันนี้ ลองสดับฟัง ดร.สุเมธ กันอีกครั้ง

"จุดเริ่มต้นเศรษฐกิจพอเพียง

จุดเริ่มต้นจริงๆ ของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ดร.สุเมธอธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งคำนี้จริงๆ คือ พ.ศ.2540 พูดถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่หลักของความคิดเป็นหลักที่ทรงปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจคนก็จะเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ถ้าจะดูหลักจริงๆ แล้วคงไม่ใช่ คำว่าพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ เพราะหลักของความพอเพียง ก็คือหลักของธรรมะ ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคเกษตรเท่านั้น ในภาคส่วนอื่นก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ เช่น สังคมพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง การเมืองพอเพียง

เหมือนกับพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ที่พระราชทานไว้ว่า

"การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ถ้าในหมู่บ้าน หรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้ มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก"

ดร.สุเมธบอกว่า "ในความคิดของผม ผมมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักของธรรมะ ปรัชญา มากกว่าหลักของเศรษฐศาสตร์ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเรื่องกินอยู่ ใช้จ่ายอย่างพอเพียง ดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท ตรงนี้พยายามพูดให้คนเข้าใจ แต่พอมีคำว่าเศรษฐกิจเข้ามา คนก็นึกว่าคำพอเพียงก็จะต้องนึกถึงความยากจน ความประหยัด" ในภาพรวมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนเหมือนกับพระพุทธเจ้าเตือน คือให้มีสติ ศีล สมาธิ ปัญญา จุดเริ่มต้นคือ ต้องมีสติก่อน พอมีสติก็ต้องรักษาศีลปฏิบัติสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องด้วยเหตุและผล แล้วใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ผลสุดท้ายชีวิตก็จะสมดุล

อย่างคำหลักๆ ที่พระราชทานไว้ 3 คำ ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน คำ 3 คำนี้ก็ขั้นตอนคล้ายๆ กับ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง เช่นคำว่าพอประมาณที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่อง แต่ละกิจกรรม ก็มีความพอประมาณอยู่ในแต่ละเรื่องอยู่แล้ว แต่ละคนก็มีความพอประมาณไม่เหมือนกัน

สิ่งที่จะต้องทำอันดับแรก คือ การประเมินตัวเองก่อนที่จะลงมือทำกิจกรรมหรือเรื่องใดๆ เมื่อประเมินตัวเองได้ก็ดำเนินการไปด้วยหลักของเหตุและผลโดยใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทางคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันคือ ความไม่ประมาทไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร ก็ต้องมีแผนการรองรับหรือเตรียมการรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต การคิดไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะได้มีทางเลือก ในสมัยใหม่ก็จะพูดกันว่าเมื่อมีทางเลือกก็จะมีทางรอด

นอกจากการปฏิบัติตามคำ 3 คำข้างต้นแล้ว พระองค์ได้พระราชทานข้อสังเกตเพิ่มเติมให้อีก 3 ข้อ นั่นคือ 1.ต้องรอบรู้รอบคอบ 2.ระมัดระวัง สองคำนี้ก็คล้ายๆ กับมีภูมิคุ้มกัน ต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงตามโลกให้ทันเพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และ 3.ต้องมีคุณธรรม ไม่ทุจริต ต้องรู้จักแบ่งปันให้กับคนอื่นและสังคม

"แบบอย่างความสำเร็จตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักธุรกิจเล็ก นักธุรกิจใหญ่ หลักการจะเหมือนกัน คือ สามารถประยุกต์ใช้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้หมด เหมือนกับ "ลุงนิล" นายสมบูรณ์ ศรีสุบัติ วัย 61 ปี เกษตรกรจากบ้านทอนอม อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร เจ้าของสวนลุงนิล ปัจจุบันเปิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร "ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติพืชคอนโด 9 ชั้น"

ชีวิตของลุงนิล เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เคยมีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อ เคยเป็นเจ้าของร้านอาหาร เคยลงทุนทำสวนปลูกทุเรียนแต่กลับประสบปัญหามีหนี้สินกว่า 2 ล้านบาท จนทำให้เขาคิดสั้นเกือบจะฆ่าตัวตายมาแล้ว

เมื่อได้ฟังพระราชดำรัสหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการทำเกษตรกรรมทฤษฎีใหม่ ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2540 เหมือนกับการจุดประกายให้เกิดความคิดที่จะทำตามแนวพระราชดำริ จึงเริ่มต้นสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วพบว่า ปัญหาคือเงินที่ใช้ซื้อปุ๋ยเคมีปีละหลายแสนบาท

เมื่อรู้เช่นนั้นจึงหยุดการซื้อปุ๋ยทุกชนิดทันที แล้วหันมาใช้น้ำจุลินทรีย์ (อีเอ็ม) ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชแทน พร้อมทั้งหันมาใช้วิธีปลูกพืชห่มดินตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีแนวทางว่า การทำสวนอย่าเปลือยดินควรปลูกพืชห่มดินเอาไว้ จึงเปลี่ยนความคิดใหม่ จากสวนที่ไม่มีหญ้าแม้แต่ต้นเดียว กลายเป็นสวนที่ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกไปหมด ตรงไหนเป็นที่ว่างก็เอาใบตองหรือเศษใบไม้ใบหญ้าไปปิดเอาไว้ พร้อมยึดหลักลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ด้วยวิธีการปลูกพืชที่กินได้แซมตามที่ว่างระหว่างต้นทุเรียน เช่น ปลูกต้นส้มจี๊ด ปลูกกระชาย ปลูกกล้วยเล็บมือนาง พร้อมทั้งเลิกการใช้สารเคมีทุกชนิด พอพืชผักออกดอกผลก็มีรถพ่อค้า แม่ค้ามารับซื้อถึงสวน หลังจากทำสวนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงผ่านไปประมาณ 1 ปี ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยน มีเงินเหลือจึงรวบรวบนำไปใช้หนี้ ใช้เวลาประมาณ 6 ปี ก็ใช้หนี้ทั้ง 2 ล้านบาทได้หมด ปัจจุบันก็มีรายได้จากทำสวนและการท่องเที่ยวเชิงเกษตรปีละนับล้านบาท

"การนำเศรษฐกิจพอเพียงปรับใช้ในยามอุทกภัย

อย่างเรื่องน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปีนี้ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้ความรู้ว่า สื่อมวลชนหลายแขนงได้รายงานข่าวว่าน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นผลของการตัดไม้ทำลายป่า แต่คนก็ยังไม่เข้าใจ ยังโวยวาย โกรธธรรมชาติ ไม่ยอมกลับมาย้อนดูตัวเองด้วยหลักเหตุผล นั่นคือการสร้างบ้านเรือนไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ทั้งที่รู้ว่าพื้นที่ราบลุ่มของภาคกลางเป็นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หลายคนก็กลับไปสร้างบ้านไม่สอดคล้องกับธรรมชาติเป็นบ้านทรงสมัยใหม่ ไม่ได้สร้างบ้านยกใต้ถุนสูงเหมือนกับคนโบราณ หากจะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในสถานการณ์น้ำท่วมก็สามารถทำได้ ต้องมีการประเมินพื้นที่และปลูกบ้านให้สอดคล้องกับธรรมชาติเพื่อลดความสูญเสียหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ เช่น บ้านที่มีใต้ถุนสูง น้ำท่วมก็จะท่วมเข้าใต้ถุน บนบ้านสามารถอยู่อาศัยได้

หลังจากน้ำลดเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟู เยียวยา สามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยยกเอาเหตุการณ์อุทกภัยในปีนี้เป็นบทเรียน แล้วกลับมาคิดไตร่ตรองว่าปีหน้าควรจะปรับปรุงหรือดีดบ้านให้สูงขึ้นแค่ไหน คำนวณจากระดับน้ำในปีนี้ว่าท่วมสูงเท่าไหร่ ถ้าท่วมปีนี้ 1 เมตร ก็ควรปรับระดับบ้านให้สูงขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายหากจะเกิดน้ำท่วมอีก ควรมีการเตรียมสิ่งของอุปกรณ์ไว้ใช้ในยามน้ำท่วม อย่างรองเท้ายาง เครื่องมือวัดกระแสไฟฟ้า เรือ ที่สำคัญควรจัดสรรเงินที่จะเก็บไว้ใช้ในยามน้ำท่วมด้วย คำนวณจากน้ำท่วมในปีนี้ว่าจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมนานเท่าใด หลักที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการประมาณตนเองและเตรียมความพร้อมด้วยความไม่ประมาท

"ความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง ณ วันนี้

นับจากวันเริ่มต้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้กับประชาชนชาวไทย จนถึงวันนี้พระองค์ยังทรงติดตามการดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตร ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2554

"เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ศึกษามาแบบไม่ค่อยจริงจัง แต่ว่าย้ำว่ามีประโยชน์ เพราะว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็ถ้าคิดแบบเล่นๆ เกินไป แม้ว่าเป็นการรอ คำว่าเศรษฐกิจและก็พอเพียง พอเพียงก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าพอเพียงอะไร แต่ตามความคิดของตัว พอเพียงก็คือว่า ทำอะไรไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ฟุ้งซ่าน และก็ทำให้ได้ผล ที่นี้ผู้ที่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็จะต้องพยายามอธิบายว่าเป็นเศรษฐกิจ ความพอเพียง ก็คือ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ทำอะไรให้มันเกินไป ทำอะไรให้ เมื่อทำแล้วได้ผลในการทำและถ้าได้ผลก็หมายความว่า ประหยัดสำหรับชาวบ้าน คนที่ทำเศรษฐกิจนี้เอง ควรทราบผู้ที่เป็นนักทฤษฎี ผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ต้องหาเหตุผลของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ถ้าหาเหตุผลได้ ก็เชื่อว่าเหตุผลนี้ก็จะได้ประโยชน์ เมื่อได้ประโยชน์ ชาวบ้าน ประเทศก็ได้ประโยชน์ เมื่อได้ประโยชน์แล้ว เขาก็จะมีความร่ำรวยขึ้น โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ถ้าทำได้แล้ว ก็จะเป็นการช่วยประเทศชาติให้อยู่ได้

"ถ้าไม่เอาใจใส่ในความคิดเหล่านี้ งานทั้งหลายที่เราทำก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แต่ก็ต้องมีบกพร่อง เพราะว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ถ้าคิดแบบชาวบ้าน ไม่มีอะไรที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Sophisticate (ซับซ้อน ขั้นสูง) ถ้าทำอะไรแบบธรรมดา ก็ดูท่าทางไม่มี Sophisticate ไม่มีประโยชน์ใหญ่โตมโหฬาร แต่ว่าถ้าทำไม่ Sophisticate ชาวบ้านเขาก็ทำเองได้ เท่าที่ฟังดู ชาวบ้านได้ค้นพบ การทำเศรษฐกิจพอเพียงด้วยตนเอง ก็ดีใจที่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้ ก็น่าจะไปค้นดูว่า ชาวบ้านเขาค้นพบอะไรในเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อได้ค้นหาว่า เขาได้จริงๆ หรือไม่จริง ถ้าได้จริงก็จะต้องติดต่อ ในผลงานที่ชาวบ้านได้ ซึ่งจะทำให้สามารถที่จะทำให้เศรฐกิจพอเพียงนี้ มีประโยชน์มากขึ้น"

ดร.สุเมธให้ความเห็นว่า เชื่อว่าหลายคนเข้าใจหลักของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ความเข้าใจของแต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน บางคนอธิบายครั้งเดียวก็เข้าใจ ขณะที่บางคนก็ต้องอธิบายหลายครั้งจึงจะเข้าใจ แต่สิ่งที่ท้าทายอยู่ตลอดเวลาก็คือทุกคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมของกิเลส ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกระตุ้นให้เกิดความอยากบริโภค อย่างกระเป๋าแบรนด์เนมใบละ 50,000 บาท กับกระเป๋าผ้าใบละ 100 บาท ถ้าใช้หลักเหตุผลมาตัดสินใจในเรื่องการใช้งานก็ไม่ต่างกันคือใช้ใส่ของ แต่ที่มีราคาแพงกว่า เพราะมีค่าลิขสิทธิ์ ทำให้มีมูลค่าแพงกว่าแต่ก็กินไม่ได้

เชื่อว่าหลายคนเข้าใจในหลักข้อนี้ แต่พอจะนำมาใช้ปฏิบัติจริงมักจะต้านทานกระแสไม่ได้ เพราะคนในสังคมไม่ได้อยู่ด้วยปัญญา ทุกวันนี้คนในสังคมอยู่กับความหลง ไม่มีเหตุมีผล จนเกิดเป็นความขัดแย้ง ขณะนี้คณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญกำลังจัดทำให้มีตำราเรียนที่มีมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้ผู้เรียนได้รู้หลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้องตามแนวปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานก็จะสอนกันตามความรู้ ความเข้าใจของตัวเอง



ไม่ว่ากระแสโลกจะเปลี่ยนแปลงเพียงใด หากประชาชนชาวไทยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องนำทางชีวิตก็จะพบกับความสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืน




 

Create Date : 05 ธันวาคม 2554
0 comments
Last Update : 5 ธันวาคม 2554 10:18:16 น.
Counter : 4015 Pageviews.

 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Lowepro
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Google
[Add Lowepro's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com