อย่าให้ชะตาชีวิตมากำหนดเส้นทางให้คุณเดิน สร้างชีวิตและเส้นทางให้โชคชะตาเดินตามคุณ

 
ตุลาคม 2549
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
9 ตุลาคม 2549
 

พุทธธรรมพื้นฐาน ที่ควรรู้

คำว่า “ มนุษย์ ” มาจากคำว่า
มนะ หรือ มโน ซึ่งแปลว่า ใจ นำไปสนธิกับคำว่า อุษย์ ซึ่งแปลว่า สูง

มนะ + อุษย์ = มนุษย์
มนุษย์ จึงแปลว่า ผู้มีใจสูง
ดังที่ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ว่า

เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง
เหมือนดั่งยูงมีดีที่แววขน
ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน
หากต่ำล้นแม้คนมิอาจเป็น …/


“ มนุษย์ ” มีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท คือ

1. มนุษย์เทโว ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นเทวดา ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ ให้รักษา ธรรมะ 2 ข้อ คือทำใจให้มี หิริ ( ความละอายต่อบาป) และโอตตัปปะ(เกรงกลัวผลของบาป)
2. มนุษย์มนุษโส ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นมนุษย์ ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ให้รักษาศีล 5 ให้บริบูรณ์ ( บางที่เรียกมนุษย์ภูโต)
3. มนุษย์เปโต ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นเปรต ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ให้รักษาความโลภ ไว้เสมอๆ อย่าให้ขาดหายไปจากจิตใจ
4. มนุษย์เดรัจฉาโน ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ให้ปฏิบัติตัวเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน ลูกเขาเมียใคร ลูก หลาน ญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกับเราหรือไม่ ไม่ต้องละเว้น ไม่ต้องรู้ผิดชอบชั่วดี อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องคิดว่าใครจะเดือดร้อนเพราะเรา
5. มนุษย์เนรยิโก ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นสัตว์นรก ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ให้ปฏิบัติตัวเยี่ยงสัตว์นรก ทำจิตใจให้เร่าร้อน หิวโหย ทุกข์ ทรมาน ตลอดเวลา

จิตใจของมนุษย์มี 5 สภาพ คือ
1. จิตใจพร่องมาก จะแสวงหามาก
2. จิตใจพร่องน้อย จะแสวงหาน้อย
3. จิตใจเต็ม จะหยุดแสวงหา
4. จิตใจเปี่ยม จะรู้จักเป็นผู้ให้ (โดยไม่หวังผลตอบแทน)
5. จิตใจล้น จะรู้จักอุทิศตัวเพื่อสังคม

สังคมจะดีขึ้นได้ ต้องเริ่มที่ตัวเรา เพราะว่าใครจะชั่ว จะเลว จะโกง จะกิน เราไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปห้ามเขา ถึงแม้จะห้ามได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เราจะช่วยสังคมให้ดีขึ้นได้ เพียงแค่หันมาเริ่มที่ตัวเรา โดยเราไม่ชั่ว ไม่เลว ไม่โกง ไม่กิน อย่างคนอื่นเขา เมื่อทำได้แล้วก็ขยายแนวคิดเหล่านี้ไปสู่ ลูก หลาน เหลน ญาติสนิท เพื่อนฝูง ที่เคารพ เชื่อถือ ศรัทธาในตัวเรา เมื่อแนวความคิดเหล่านี้ได้ถูกขยายไปมากเท่าใด สังคมก็จะเริ่มค่อย ๆ ดี มากขึ้นเท่านั้น จงคิดอยู่เสมอว่า “ มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะช่วยสังคมให้ดีขึ้นได้ ” อย่าไปคาดหวังจากคนอื่นเป็นอันขาด ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ดังนั้นต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา เราจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ผิดๆ และไม่ใช้ให้คนอื่นกระทำในสิ่งที่ผิดๆ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะความผิดเล็กน้อยเหล่านั้น ถ้ากระทำมันจนเกิดเป็นความเคยชินจนเป็นสันดานแล้ว ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่ความผิดที่ใหญ่ขึ้นได้ อย่างไม่ต้องสงสัย ฉะนั้นเราต้องหักห้ามใจมิให้กระทำผิด แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม

การที่เราจะดูว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ ให้ดูที่กตัญญูกตเวที เพราะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า กตัญญูกตเวทีคือเครื่องหมายของคนดี คำว่า กตัญญู หมายถึงรู้คุณท่าน ส่วนคำว่า กตเวที นั้นหมายถึง การตอบแทนคุณท่าน ดังนั้นผู้ที่รู้คุณท่านและตอบแทนคุณท่านเท่านั้นจึงจะเรียกว่าเป็นคนดี และเป็นคนที่น่าคบหาสมาคมด้วย เราจึงต้องเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที เพื่อที่ผู้อื่นจะได้คบหาสมาคมกับเรา ได้อย่างสนิทใจ

เรื่องของบารมี เราจะเห็นว่าบางคนมีบารมีมาก บางคนมีบารมีน้อย บางคนไม่มีบารมี บารมีนั้นมิได้เกิดขึ้นเอง แต่เราต้องเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ถ้ามีความพยายามที่จะสร้างแล้ว บารมีย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน คำว่าบารมี นั้นแปลว่า กำลังใจ เช่น มีกำลังใจในการให้ทานก็จะได้ทานบารมี มีกำลังใจในการรักษาสัจจะก็จะได้ สัจจะบารมี ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ คือ

1. ทาน ใช้สำหรับ ตัดความโลภ (โลภะ แปลว่า ดึงเข้ามา)
2. ศีล ใช้สำหรับ ตัดความโกรธ
3. เนกขัมมะใช้สำหรับ ตัดอารมณ์กามคุณ (ยึดติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)
4. ปัญญา ใช้สำหรับ ตัดความโง่
5. วิริยะ ใช้สำหรับ ตัดความขี้เกียจ
6. ขันติ ใช้สำหรับ ตัดความไม่รู้จักอดทน
7. สัจจะ ใช้สำหรับ ตัดความไม่จริงใจ (มีอารมณ์ใจกลับกลอก)
8. อธิษฐาน ใช้สำหรับ ทรงกำลังใจไว้ให้สมบูรณ์ บริบูรณ์
9. เมตตา ใช้สำหรับ สร้างความเยือกเย็นของใจ
10. อุเบกขาใช้สำหรับ วางเฉย ช่างมัน เมื่อเราไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้

เรื่องของทาน เป็นเรื่องแรกของการสร้างบารมี
ทาน คือการให้เพื่อสงเคราะห์ โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เพื่อตัดโลภออกไป ทาน มาจากคำว่า ทานํ แปลว่า การให้ ทาน มีอยู่ 3 ประเภท คือ

1. ทาสทาน คือการให้ที่เลวกว่าที่เรากินเราใช้ เป็นทานที่มีบารมีต่ำ จัดอยู่ในขั้น บารมี
2. สหายทานคือการให้ที่เสมอกันกับที่เรากินเราใช้ เป็นทานที่มีบารมีเข้าใกล้นิพพาน หรือเฉียด ๆ นิพพาน อยู่ในขั้นอุปบารมี
3. สามีทาน คือการให้ที่ดีกว่าที่เรากินเราใช้ เป็นทานที่มีบารมีมาก เข้าถึงนิพพานได้ อยู่ในขั้นปรมัตถบารมี

เรื่องของปัญญา ปัญญาคือความรู้ ความรู้นั้นเกิดขึ้นได้ 3 ทาง คือ
1. สุตตมยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการฟัง การเรียนรู้
2. จินตมยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการคิด การไตร่ตรอง การใคร่ครวญพิจารณา
3. ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนา ผุดขึ้นเอง(รู้เอง) ขณะที่จิตเป็นสมาธิถึงขั้นอุปจารสมาธิ ซึ่งจะรู้เห็นได้ละเอียดลึกซึ้งมากกว่าปัญญาขั้นอื่นๆ และเป็นปัญญาที่ใช้ตัดกิเลสทั้ง 3 กอง ให้หมดได้โดยสิ้นเชิง

เรื่องของสมาธิ สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต มีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ คือ
1. ขณิกสมาธิ คือสมาธิที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เกิดจากการจดจ่อ ตั้งใจทำ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ตั้งใจขับรถ ตั้งใจฟัง ตั้งใจอ่าน เป็นต้น
2. อุปจารสมาธิ คือสมาธิเข้าใกล้ หรือสมาธิเฉียด ๆ สมาธิระดับนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถที่จะใช้พิจารณา เพื่อให้เกิดปัญญา หมดข้อสงสัยได้ด้วยตนเอง
3. อัปปนาสมาธิ คือสมาธิขั้นดิ่ง สมาธิระดับนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณาให้เกิดปัญญา แต่เกิดประโยชน์มากในการพักจิต เพราะสมาธิระดับนี้ ร่างกายจะไม่รับรู้สัมผัสใดๆ ไม่รับรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง และใช้พลังงานในร่างกายน้อยมาก ไม่ต้องกินอาหารได้หลายๆ วันติดต่อกัน ที่เรียกว่า เข้าฌาน

การฝึกเพื่อให้เกิดสมาธินั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ก็คือ ฝึกสติให้รู้เท่าทันจิต เมื่อสติตามทันจิตแล้ว ก็จะเกิดสมาธิ ขณะที่สติตามทันจิต การตัดสินใจใด ๆ ของเราจะไม่ผิดพลาด ถ้าขาดสติเมื่อใด ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ สมาธิจะพัฒนาสูงขึ้นได้ก็อยู่ที่การหมั่นฝึกฝนบ่อย ๆ การฝึกสมาธิ มีหลายแนวทาง เราต้องเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับจริตของตนเอง สมาธิของเราจึงจะก้าวหน้าและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

เรื่องของกิเลส กิเลสหมายถึงเครื่องเศร้าหมองของจิต มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ

1. โลภะ คือความโลภ (แปลว่า ดึงเข้ามา) ดับได้ด้วยการให้ทาน การบริจาค
2. โกรธะ คือความโกรธ ดับได้ด้วย เมตตา กรุณา รัก สงสาร
3. โมหะ คือความหลง ไม่รู้ความจริง ดับได้ด้วยการไม่ยึดติดอยู่ในวัตถุ ไม่ติดอยู่ในร่างกาย ไม่ติดอยู่ในโลกใดๆ ทั้งหมด

เมื่อเราละกิเลสทั้ง 3 ประการ อย่างหยาบ ๆ ได้แม้เพียงเล็กน้อย เราจะรู้สึกได้ถึงความเบาสบายของจิต ฉะนั้นถ้าหากเราละกิเลสได้ละเอียดยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง กิเลสนั้นหมดไปจากใจ เราจะรู้สึกเบาสบายขนาดไหน เป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องของ บุญ-บาป
บุญ หมายถึง ความเบาสบายของใจ ที่เกิดจากการกระทำกุศล (สิ่งที่ดีงาม) เช่นการให้ทาน การรักษาศีล และการภาวนา ซึ่งจะเกิดบุญ (ความเบาสบายใจ) จากน้อยไปหามากตามลำดับ

บาป หมายถึง ความไม่สบายใจ ที่เกิดจากการทำอกุศล (สิ่งไม่ดีไม่งาม) เช่น การกระทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับ ทาน ศีล ภาวนา

กรรม แปลว่าการกระทำ เป็นคำกลาง ๆ ฉะนั้นถ้านำไปรวมกับคำว่า กุศล จะได้คำว่า กุศลกรรม หมายถึงการกระทำในสิ่งที่ดีงาม หรือถ้านำไปรวมกับคำว่า อกุศล ก็จะได้คำว่า อกุศลกรรม หมายถึง การกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามหรือการกระทำความชั่วนั่นเอง

กุศลกรรมส่งผลให้เราได้รับความสุข ส่วนอกุศลกรรม ส่งผลให้เราได้รับความทุกข์ ดังนั้น ถ้าเราต้องการความสุข เราจะต้องเลือก ทำแต่กุศลกรรมเท่านั้น …

บุญกิริยาวัตถุ
บุญกิริยาวัตถุ แปลว่าหลักแห่งการบำเพ็ญบุญ หรือหลักแห่งการทำบุญ บุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี 3 อย่าง คือ
1. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
2. ศีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
3. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
หมายความว่า วิธี หรือหลักแห่งการทำบุญในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดโดยย่อแล้วก็มีเพียง 3 อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา แต่ถ้าขยายความให้กว้างออกไป บุญกิริยาวัตถุมี 10 ประการ คือ
1. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
2. ศีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
3. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
4. อปจายนมัย บุญเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
5. ไวยยาวัจจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ
6. ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ
7. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ
8. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม
9. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม
10. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง การปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูก

ลำดับอานิสงส์ของทาน (ทานํ=การให้)
ให้แก่สัตว์เดรัจฉาน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้มนุษย์ 1 ครั้ง
ให้แก่มนุษย์ 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้สมมติสงฆ์ 1 ครั้ง
ให้กับสมมติสงฆ์ 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระโสดาบัน 1 ครั้ง
ให้กับพระโสดาบัน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระสกิทาคามี 1 ครั้ง
ให้กับพระสกิทาคามี 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระอนาคามี 1 ครั้ง
ให้กับพระอนาคามี 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระอรหันต์ 1 ครั้ง
ให้กับพระอรหันต์ 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระปัจเจกพุทธเจ้า 1 ครั้ง
ให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้า 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระพุทธเจ้า 1 ครั้ง
ให้กับพระพุทธเจ้า 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้สังฆทาน 1 ครั้ง
ให้สังฆทาน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้อภัยทาน 1 ครั้ง
ให้อภัยทาน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้ธรรมทาน 1 ครั้ง
ดังนั้น การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง ดังพุทธภาษิตที่ว่า “ สพฺพทานํ ธมมทานํ ชินาติ ”

สังโยชน์ 10
1. สักกายทิฏฐิ คือความรู้ความเห็นผิด ว่า กายเป็นตน หรือรูปเป็นตน ขันธ์ 5 เป็นตน ความจริงสิ่งเหล่านั้นเป็นสภาพขององค์ประกอบต่าง ๆ มาประชุมกันเข้า และอยู่ภายใต้กฎแห่งธรรมดา (ธัมมัฏฐิตตา) กฎแห่งไตรลักษณ์ แต่เพราะหยั่งไม่ถึงความจริงข้อนี้ จึงยึดถือว่ารูปร่างกายนี้เป็นตนเป็นของตน จึงเกิดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตนอย่างหยาบ ๆ
2. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยต่าง ๆ เช่น สงสัยในองค์พระศาสดา สงสัยในพระธรรม ในพระสงฆ์รวมตลอดทั้งสงสัย ที่ไป ที่มา ของชีวิต ชะตา โชคเคราะห์ต่าง ๆ ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่มีหลักยึด ยากแก่การดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงาม
3. สีลัพพตปรามาส คือความยึดมั่นในศีลพรต ยึดมั่นในพีธีการที่ทำตาม ๆ กันมาอย่างงมงาย ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง เห็นเป็นขลัง เห็นเป็นศักดิ์สิทธิ์ ติดในรูปแบบพิธีรีตอง ประพฤติปฏิบัติด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ โดยที่มุ่งผลประโยชน์ตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง
4. กามราคะ คือความกำหนัดยินดีในกาม ความติดใจมัวเมาในกามคุณ
5. ปฏิฆะ คือความโกรธแค้นขัดเคือง คับข้องหมองใจ ความไม่พอใจ ความขุ่นใจ
6. รูปราคะ คือความติดใจในรูปภพ ในรูปธรรมอันประณีต พอใจในรสแห่งความสุขสงบของสมาธิขั้นรูปฌาน เป็นต้น
7. อรูปราคะ คือความติดใจในอรูปภพ ในอรูปธรรม เช่นอารมณ์ในอรูปฌาน เป็นต้น
8. มานะ คือความถือตัวถือตน ถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่ ในเชิงเปรียบเทียบว่า ดีกว่าเขา สูงกว่าเขา เท่าเทียมเขา หรือต่ำกว่าเขา เป็นต้น
9. อุทธัจจะ คือ ความที่จิตซ่านไปตามอารมณ์ วาบหวิว กระเพื่อมไหวด้วยธรรมารมณ์
10. อวิชชา คือความไม่รู้เท่าทันความจริง ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในกฎธรรมดาแห่งเหตุผล ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ตราบเท่าที่ยังไม่พ้นทุกข์สิ้นเชิง

สังโยชน์ 10 อย่างนี้ เป็นเครื่องวัดระดับของอริยบุคคล จากชั้นอริยชนชั้นต้นสุดจนถึงอริยชนชั้นสูงสุดดังนี้

พระอริยชั้นโสดาบัน ละสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ข้อต้น คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส ได้ กลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกไม่เกิน 7 ชาติ แล้วจะสำเร็จอรหันต์ เข้านิพพาน

พระอริยชั้นสกิทาคามี ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้แล้ว ยังละกามราคะ ปฏิฆะขั้นหยาบได้ กลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกไม่เกิน 3 ชาติแล้วจะสำเร็จอรหันต์เข้านิพพาน

พระอริยชั้นอนาคามี ละสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ข้อต้น คือ ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ ได้ทั้งหมด จะไม่กลับมาเกิดอีกแต่จะบำเพ็ญบารมีที่ชั้นพรหมโลกและสำเร็จอรหันต์ เข้านิพพาน

พระอริยชั้นอรหันต์ ละสังโยชน์ 10 อย่างได้ทั้งหมด เมื่อละได้ก็เข้าสู่นิพพานได้ทันที ถ้ายังไม่ทิ้งร่างเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ถ้าทิ้งร่างแล้วเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2549
1 comments
Last Update : 9 ตุลาคม 2549 22:26:02 น.
Counter : 871 Pageviews.

 
 
 
 
สาธุ...
 
 

โดย: Life's like that วันที่: 10 ตุลาคม 2549 เวลา:21:14:27 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

เหนือลิขิต
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีท่านที่หลงเข้ามาในเว็บบล๊อกแห่งนี้ทุกท่าน

อย่าเพิ่งแปลกใจที่ได้อ่านอะไรไปโดยที่ยังไม่ได้เห็นแม้เงาของผู้เขียน อยากจะบอกว่าผมเอง เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย จนหลายคนอาจจะตกใจกับการปฏิบัติตน แนวความคิดของผม ไม่ถึงกับต่อต้านสังคม เพียงแต่อยากให้สังคมได้รับรู้ และมีทางเลือกในสิ่งที่ดีกว่า เพราะการมีโอกาสได้รู้ ได้เห็น ในสิ่งต่างๆ มามากพอควรแล้ว ต่อไปนี้จึงเป็นการลงมือทำ โดยเริ่มต้นด้วยการเขียน และสิ่งต่างๆที่เขียนก็ล้วนเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ในประเทศไทยของเรานี้

ขอทุกท่านจงโปรดช่วยชี้แนะ
[Add เหนือลิขิต's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com