Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
21 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
วิถีสู่สังคมคุณธรรม

วิถีสู่สังคมคุณธรรม
พระไพศาล วิสาโล
----------------------------------------------------------

๒๕๔๙ เป็นปีที่มีการพูดถึงคุณธรรมและจริยธรรมมากที่สุดปีหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการที่ท่านพุทธทาสภิกขุมีชาตกาลครบหนึ่งศตวรรษ และไม่ได้เกิดจากความห่วงกังวลที่เยาวชนไทยมีมาตรฐานทางศีลธรรมต่ำลง แต่สาเหตุสำคัญเกิดจากความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทักษิณซึ่งอ้าง ๑๙ ล้านเสียงอยู่เป็นอาจิณ เมื่อฝ่ายหนึ่งอ้างความชอบธรรมจากระบอบประชาธิปไตย เป็นธรรมดาอยู่เองที่อีกฝ่ายจะชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมตามหลักคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งเป็นจุดอ่อนอย่างฉกรรจ์ของรัฐบาลทักษิณ ยิ่งเมื่อมีการใช้กำลังทหารโค่นล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความชอบธรรมอย่างหนึ่งที่ใช้อ้างในการรักษาระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็คือ เพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรม (สองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร ทำไมจึงใช้ควบกัน จะยังไม่ขออภิปรายในที่นี้ แต่ขอใช้คู่กันตามสมัยนิยมไปพลาง ๆ ก่อน)

มองเผิน ๆ การที่รัฐบาลทักษิณถูกโค่นล้ม นับเป็นชัยชนะของคุณธรรมและจริยธรรม แต่อันที่จริง นั่นอาจเป็นความพ่ายแพ้ของคุณธรรมและจริยธรรมก็ได้ หากว่าคุณธรรมและจริยธรรมถูกใช้เป็นเพียงข้ออ้างในการยึดอำนาจเท่านั้น ว่ากันโดยหลักการแล้ว การใช้กำลังอาวุธเพื่อแก้ปัญหา ทางการเมือง แทนที่จะใช้สันติวิธีนั้น เป็นสิ่งที่สวนทางกับหลักคุณธรรม แม้จะแก้ปัญหาได้แต่ก็ชั่วคราว และจะสร้างปัญหาอื่นมาแทนที่ ขณะเดียวกันก็จะเป็นเยี่ยงอย่างให้มีการใช้กำลังอาวุธเป็นทางออกอยู่เสมอ

หลังจากที่มีการยึดอำนาจแล้ว ก็มีการพยายามนำเอาคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประเทศ ขณะเดียวกันก็มีเสียงขานรับจากหลายแวดวง ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น ควบคู่กับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตามคุณธรรมและจริยธรรมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของการเทศน์หรือการสอนเท่านั้น ถ้าทำเพียงเท่านั้นก็ไม่มีวันสำเร็จ คุณธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยบูรณาการในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และเทคโนโลยีจนกลายเป็นวัฒนธรรม ครอบคลุมถึงวิถีชีวิต โลกทัศน์ และค่านิยม ไม่มีรัฐบาลใดสามารถทำเช่นนี้ได้สำเร็จ แต่ต้องมีการขับเคลื่อนในระดับประเทศ และมีการวางแผนระยะยาว ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยควรยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว คุณธรรมและจริยธรรมของคนไทยในปัจจุบันเสื่อมถอยลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะปัจจัยพื้นฐานสองประการคือ วัตถุนิยม และ อำนาจนิยม ทั้งสองปัจจัยได้สถาปนาตัวเองจนฝังลึกอยู่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศไทยอย่างมั่นคงแน่นหนา และได้กลายเป็นวัฒนธรรม หรือวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของคนไทยในทุกระดับ

วัตถุนิยมนั้นเติบโตมากับระบบทุนนิยม ซึ่งมีความเชื่อว่าการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวหรือความโลภนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ คำพูดที่สะท้อนความเชื่อดังกล่าวได้อย่างชัดเจน คือ “greed is good” ทุนนิยมได้ทำให้เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญ เป็นทั้งเป้าหมายของชีวิตและของประเทศ ดังเห็นได้จากการถือเอาการเติบโตของจีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ)เป็นเป้าหมายหลักของแทบทุกประเทศ ขณะที่ความร่ำรวยเป็นเป้าหมายในชีวิตของคนส่วนใหญ่ ( “บ้านนี้อยู่แล้วรวย”จึงเป็นพรยอดปรารถนาที่ใคร ๆ ก็อยากได้จากหลวงพ่อคูณ)

ภายใต้ระบบทุนนิยม เงินกลายเป็นตัววัดคุณค่าของทุกสิ่ง อะไรที่วัดเป็นเงินไม่ได้ ย่อมไร้คุณค่า อะไรที่ให้ประโยชน์เป็นเม็ดเงินได้มากที่สุด ย่อมถือว่ามีคุณค่ามาก แม้จะต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม (นากุ้งจึงมีคุณค่ามากกว่าป่าชายเลน เช่นเดียวกับศูนย์การค้ามีคุณค่ามากกว่าโรงเรียน) ผลที่ตามมาคีอเงินกลายเป็นสื่อกลางในความสัมพันธ์ทุกมิติ พ่อแม่แสดงความรักต่อลูกด้วยการให้เงินและวัตถุ ครูกับนักเรียน หมอกับคนไข้ สัมพันธ์กันโดยมีเงิน(ค่าจ้าง)เป็นสื่อกลาง แม้แต่ฆราวาสก็เข้าหาพระเพราะหวังโชค ขณะที่พระก็ปรารถนาเงินบริจาคจากฆราวาส

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การขยายตัวและหยั่งลึกของวัตถุนิยมทั้งในระดับทัศนคติและโครงสร้าง ผู้คนเห็นว่าความสุขเกิดจากการเสพ จึงพยายามแสวงหาวัตถุสิ่งเสพมาปรนเปรออย่างไม่หยุดหย่อน ในขณะที่สื่อมวลชน ระบบการศึกษา และระบบเศรษฐกิจก็กระตุ้นการบริโภคอย่างเต็มที่ เมื่อประกอบกับวัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมความขยันหมั่นเพียร และระบบยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพ ผลที่ตามมาคือปัญหาหนี้สิน การพนัน คอร์รัปชั่น การลักขโมย และปล้นฆ่า อย่างไม่เคยมีมาก่อน

ควบคู่กับวัตถุนิยมคืออำนาจนิยม การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ได้ทำให้รัฐมีอำนาจในการกำหนดทุกอย่าง ทั้งภาษา ศาสนา การศึกษา การปกครอง อีกทั้งยังสามารถแผ่ขยายอำนาจเข้าไปในทุกพื้นที่ จนชุมชนอ่อนแอในขณะที่ประชาชนต้องพึ่งพิงรัฐมากขึ้น และถูกกำหนดโดยรัฐอยู่ฝ่ายเดียว จนเกิดความสัมพันธ์แบบอำนาจนิยม

กลไกสำคัญในการแผ่ขยายวัฒนธรรมอำนาจนิยม ได้แก่ระบบราชการ ซึ่งไม่เพียงสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรโดยอาศัยอำนาจ(หรือคำสั่ง)ยิ่งกว่าคุณธรรมหรือความรู้ หากยังทำให้ข้าราชการสัมพันธ์กับประชาชนในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นไม่ว่าระบบราชการแพร่หลายไปถึงไหน วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็ระบาดไปถึงนั่น ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียน ดังเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน จนเกิดเหตุการณ์ข่มขู่คุกคามและตบตีกันอยู่เป็นประจำ

อำนาจนิยมและวัตถุนิยมนั้น เป็นตัวการส่งเสริมอกุศลมูล ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ โดยตรง ดังนั้นจึงนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ การเบียดเบียน การผิดศีล และการละเมิดกฎหมาย นับเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณธรรมและจริยธรรมโดยตรง ยิ่งอำนาจนิยมและวัตถุนิยมฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างและวัฒนธรรมของผู้คนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ห่างไกลจากคุณธรรมและจริยธรรมมากเท่านั้น

การสร้างสังคมที่มีคุณธรรมและจริยธรรม จึงต้องทำมากกว่าการเทศน์หรือการรณรงค์ด้วยคำขวัญ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ออกจากโครงสร้างวัตถุนิยมและอำนาจนิยม ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปอย่างรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา สื่อมวลชน และระบบยุติธรรม

การปฏิรูปดังกล่าวไม่อาจเนรมิตได้ด้วยอำนาจ หากต้องอาศัยความรู้และความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ดังนั้นใครก็ตามแม้มีอำนาจเบ็ดเสร็จก็ไม่สามารถผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรมและจริยธรรมได้ อันที่จริงการมีอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการมีแนวโน้มจะพาสังคมไทยถอยห่างจากคุณธรรมและจริยธรรมด้วยซ้ำ เพราะอำนาจนั้นมักเป็นปฏิปักษ์กับคุณธรรม ดังคำกล่าวอันลือชื่อของลอร์ดแอคตันว่า “อำนาจมีแนวโน้มที่จะฉ้อฉล อำนาจเบ็ดเสร็จย่อมทำให้เกิดความฉ้อฉลอย่างยิ่ง”

การรัฐประหารโดยคมช.นั้น แม้จะทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรหลุดจากอำนาจ และไม่อาจสร้างปัญหาให้แก่สังคมไทยได้ดังแต่ก่อน แต่ก็ได้สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาหลายประการ โดยเฉพาะการตอกย้ำวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างแก้ได้ด้วยอำนาจ สันติวิธีถูกเมินข้ามมากขึ้น ผลก็คือทุกฝ่ายก็หันมาใช้อำนาจหรือความรุนแรงเพื่อเอาชนะคะคานกัน การวางระเบิด ๘-๙ จุดในวันส่งท้ายปีเก่าคือผลพวงของทัศนคติดังกล่าว ซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยสู่ความตกต่ำยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้เงื่อนไขประการต้นของการสร้างสังคมคุณธรรม ก็คือการพาสังคมการเมืองไทยออกจากกับดักแห่งอำนาจนิยมที่คณะรัฐประหารได้สร้างเอาไว้โดยเร็วที่สุด นั่นคือการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาในปีนี้ให้จงได้ จะว่าไปแล้วการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยให้กลับมาหยั่งรากลึกและทำงานได้ เป็นบททดสอบที่สำคัญว่าสังคมไทยจะก้าวหน้าไปสู่วิถีแห่งคุณธรรมและจริยธรรมได้หรือไม่ หากประชาธิปไตยของไทยยังล้มลุกคลุกคลาน หรือมีแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยอาศัยกำลังทหารค้ำยัน(หรือครอบงำ) นั่นก็หมายความว่า เรายังห่างไกลจากสังคมคุณธรรม เพราะยังถือคติ “อำนาจคือความถูกต้อง”

ต่อเมื่อ “ความถูกต้องคืออำนาจ” นั่นแหละคือเครื่องชี้ว่าสังคมไทยคือสังคมคุณธรรม ในสังคมเช่นนี้ ประชาธิปไตยย่อมสถาปนาอย่างมั่นคง และปัญหาความขัดแย้งทั้งหลายย่อมแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี หาใช่กำลังอาวุธไม่

อย่างไรก็ตามพร้อม ๆ ไปกับการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เวทีแห่งการต่อสู้โดยสันติวิธีบังเกิดขึ้นนั้น สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องคือการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ออกจากโครงสร้างแห่งอำนาจนิยมและวัตถุนิยม ควบคู่กับการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างรอบด้านดังกล่าวข้างต้น จะว่าไปแล้วการปฏิรูปอย่างรอบด้านนี้เองที่จะเป็นหลักประกันให้เกิดประชาธิปไตยอย่างตั้งมั่น ในทำนองเดียวกับที่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็งจะส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างที่เอื้อต่อคุณธรรมและจริยธรรมอย่างแท้จริง

๒๕๕๐ เป็นปีที่เราจะต้องเลือก ระหว่าง “อำนาจคือความถูกต้อง” หรือ “ความถูกต้องคืออำนาจ” ต่อเมื่อเราเลือกประการหลังเท่านั้น สังคมคุณธรรมจึงจะมีหวังเป็นจริงขึ้นได้บนแผ่นดินนี้




Create Date : 21 พฤษภาคม 2553
Last Update : 21 พฤษภาคม 2553 17:49:37 น. 1 comments
Counter : 348 Pageviews.

 
กราบนมัสการพระคุณเจ้า สาธุ


โดย: Nunoynaruk วันที่: 21 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:08:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nunoynaruk
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Nunoynaruk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.