Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
5 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
วันปิยมหาราช


๒๓ ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของหวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคมส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น
ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์

พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สี่ ในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ ณ พระตำหนักเดิมตรงพระที่นั่งสมมติเทวราชอุบัติ ในหมู่หนึ่งของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงมีพระนามชั้นเดิมว่า " เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ " ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับผม หรือ พระเกี้ยว สำหรับ ประดับหัวจุกของเด็กไทยโบราณี

"ทรงเป็นสมเด็จพระปิโยรส ของสมเด็จพระบรมชนกนาถตั้งแต่ทรงพระเยาว์วัย"


เมื่อทรงเจริญพระชันษาสมควรแก่การศึกษา ได้ทรงพระอักษร และเริ่มเรียนในสำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี ขัตติยราชนารี ผู้ทรงรอบรู้ศิลปวิทยาการหลายแขนง ตลอดจนโบราณราชประเพณี และได้ทรงศึกษาภาษาบาลี วิชาปืนไฟ มวยปล้ำ กระบี่กระบอง คชกรรม อัศวกรรม จากสำนักเจ้านายและขุนนางอื่นๆ ที่เป็นผู้ทรงความรู้อันสมควรแก่พระราชกุมาร สมเด็จพระราชบิดาผู้ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกล ทรงตระหนักดีว่าวิชาการสมัยใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ แต่ยังไม่มีในภาษาไทย จึงทรงว่าจ้างครูสตรีชาวอังกฤษมาสอนภาษาอังกฤษแก่สมเด็จพระบรมราชโอรสด้วย แม้ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ท่านก็ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษตลอดเวลา นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เมื่อเสด็จต่างประเทศก็ตรัสภาษาอังกฤษได้ดี ส่วนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ราชประเพณี โบราณคดีทั้งปวงนั้น สมเด็จพระราชบิดาพระราชทานพระบรมราโชวาทฝึกสอนด้วยพระองค์เอง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น พระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในจำนวนพระราชโอรส ธิดาทั้งสิ้น ๘๒ พระองค์ ในราชวงศ์จักรี ขณะพระชันษา ๙ พรรษา ได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรกาศ ตรงกับ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ต่อมาอีก ๔ ปี ก็ได้รับสถาปนาเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ ต่อมาใน ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้ทรงกำกับราชการ ในกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมทหารบกวังหน้า ในช่วงซึ่งพระองค์ได้ ตามเสด็จพระราชบิดา เพื่อทอดพระเนตร สุริยปราคา ที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้เกิด ประชวรด้วยไข้ป่า อย่างแรงทั้งสองพระองค์ และในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ พระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสู่ สวรรคตใน ในขณะซึ่งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ มีพระชนมายุเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ทั้งยังทรงประชวรด้วยไข้ป่าอย่างหนัก เกือบจะสิ้นพระชันษาด้วย ได้รับให้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ในวันเดียวกัน แต่ด้วยที่วัยพระองค์ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ โดยความเห็นชอบของที่ประชุมเสนาบดี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาเมื่อวันพุธที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๖ และทรงลาผนวชใน วันพฤหัสบดีที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงเข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ครั้งที่ สอง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ ในปีต่อมาได้กระทำการสำคัญยิ่งใหญ่คือ การเลิกทาส พระองค์สามารถกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปโดยมิได้เกิดเหตุร้ายภายในขึ้นเยี่ยงการเลิกทาสในนานาประเทศ และทรงโปรดฯ ให้มีการตราพระราชบัญญัติเลิกทาส ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗

สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงชนชาวไทย ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ นานถึง ๔๒ ปี ซึ่งยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารทุกพระองค์ ด้วยพระจริยวัตรและพระปรีชาสามารถอย่างเฉลียวฉลาด ของพระองค์ ได้ทรงเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงประเทศ โดยการวางรากฐานความเจริญในด้านต่างๆ ตลอดเวลา ๔๒ ปี ในรัชสมัยของพระองค์ประเทศไทยรุดหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ทรงพัฒนาฟันฝ่าอุปสรรค นานับประการ ทั้งต่อสู่กับการไล่ล่าเมืองขึ้นของบรรดาชาติมหาอำนาจ ในยุคนั้นมาได้ แม้จะเป็นการสูญเสียดินแดน ไปบางส่วน แต่พระองค์ทรงไว้ซึ่งความสุขุม พาประเทศชาติของพระองค์รอดพ้น จากการตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับซีกโลกส่วนนี้ของโลก ที่ ประเทศสยามแห่งนี้มิได้ตกเป็นทาสใคร ด้วยสายพระเนตรมองไกลของพระองค์ ได้ทรงพัฒนานำความเจริญ ก้าวหน้า เร่งรัดในแขนงต่างๆ ทั้ง การพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน และความมั่นคงของบ้าน อีกทั้งพระองค์ยังทรงสนพระทัยถึงความเป็น อยู่ของประชาชน ทรงออกเยี่ยมประชาราษฎร์ อยู่เป็นเนืองนิจ พระองค์จึงเป็นที่จงรักภักดี ของปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน

การเสด็จยังต่างประเทศ เปรียบเสมือนเปิดประตูสู่โลกกว้างในช่วงของต้นรัชกาล พระองค์ทรงเสด็จประพาส สิงคโปร์ ชวา พม่า อินเดีย และ หลายๆ ประเทศ ทรงเสด็จประพาสยุโรปถึง ๒ ครั้ง ด้วยกัน คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ และในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ แนวทางความสัมพันธ์ด้วยการทูตของพระองค์ท่าน ทำให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศทั่วยุโรป ข้อพิพาท และปัญหาต่างๆ ก็ได้คลายเบาบางลง ความลึกซึ้งพระปรีชาของพระองค์ ได้ทำให้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องของชายแดน ไทย-อังกฤษ หรือกับฝรั่งเศส ได้ผ่อนคลายในที่สุด

ความล้ำลึกในพระปรีชาสามารถในด้านวรรณกรรม พระองค์ก็ทรงเป็นได้ทั้ง กวี และ นักประพันธ์ ที่มีความสามารถอย่างลึกซึ้งทีเดียว การแต่งโคลง ฉันท์ บทละคร กาพย์ กลอน หรือ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง ทั้งที่พระองค์ทรงมีภารกิจอยู่มากมาย แต่ก็ด้วยพระวิรยะ อุตสาหะ ทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ดั่งที่ปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์มีมากกว่า ๓๐เรื่อง ซึ่งก็มีบางเรื่องที่มีความหนาถึงกว่า ๕๐๐ หน้าก็มี ดั่งบางพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งของพระองค์

"ความรู้ คู่เปรียบด้วย กำลัง กายเฮยสุจริต คือเกราะบัง ศาสตร์พ้องปัญญา ประดุจดัง อาวุธคุมสติ ต่างโล่ป้อง อาจแกล้ว กลางสนาม"


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวร พระวักกะ (ไต) พิการ กระทั่ง เวลา ๒๔ นาฬิกา ๔๕ นาที ของคืนวันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระองค์ได้เสด็จสู่สวรรคต รวมพระชนอายุ ๕๗ พรรษา ทรงเสวยราชย์ ๔๒ ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่ของแผ่นดินสยาม ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณสุดคณานับทั้งประโยชน์ สุข ความเจริญรุ่งเรือง นำชาติให้เป็นที่ยอมรับของ นานาชาติ พระคุณสุดล้นที่จะพรรณนาจากใจของประชาชนชาวไทยได้หมด พระองค์จึงเป็นที่รักเคารพของคนไทยเสมอมา

สมเด็จพระปิยมหาราช เป็นพระนามที่ได้รับการถวาย โดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ทรงคิดถวาย ซึ่งปรากฏอยู่บนจารึกใต้ฐาน ของ พระบรมรูปทรงม้า (๒๔๕๑) พระนามนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงเขียน ชมเชย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้คิดพระนามนี้ถวาย

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกๆ ปี ประชาชนคนไทย ทั้งชาติ ถือเป็นวันแห่งการน้อมรำลึกถึงพระองค์อย่างไม่มีเสื่อมคลาย วาระวันคล้ายวันที่พระองค์เสด็จสู่สวรรคต เป็นวันสำคัญที่สุดอีกวันหนึ่ง ที่จะเทิดพระเกียรติ พระปิยมหาราช ไว้ตลอดกาลนาน.

การเลิกทาส การเลิกระบบไพร่

การเลิกระบบไพร่

คำว่า "ไพร่" คือ คำที่ใช้เรียกราษฎรสามัญทั้งหญิงและชายในสังคมมาแต่อดีต สถานะไพร่เกิดขึ้นจากความจำเป็นทางสังคมที่แรงงานมีความสำคัญ ทั้งทางเศรษฐกิจและเป็นกำลังให้กองทัพยามสงคราม รัฐไทยในสมัยก่อนจึงต้องมีนโยบายส่งเสริมให้คนเข้ามาตั้งบ้านเมือง และหาวิธีควบคุมกำลังคนเหล่านั้น ระบบการควบคุมคนไทยในสังคมไทยคือ "ระบบมูลนายไพร่ "

สถานะของไพร่จึงเป็นสถานะที่ถูกพันธนาการไว้ด้วยระเบียบของรัฐ ไม่มีอิสระในชีวิตจนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีไพร่หลบหนีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่า สถานะไพร่ เป็นแอกใหญ่ของสังคม ได้ทรงปลดภาระนี้ด้วยการจัดระเบียบสังคมเสียใหม่ให้มีการใช้แรงงานจ้าง ทหารประจำการหรือทหารอาชีพแทนการเกณฑ์แรงงาน* เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๔๒๕ มีการตราพระราชบัญญัติทหารหลายฉบับ ให้เป็นทหารสมัครก่อน จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ จึงประกาศใช้ " พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ " เปลี่ยนจากทหารสมัครเป็นทหาร "เกณฑ์ " โดยกำหนดให้ไพร่ที่มีอายุ ๑๘ - ๒๐ ปีต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารและประจำการมีกำหนดระยะเวลา ๒ ปี การประกาศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารนี้ นับเป็นการยกเลิกระบบไพร่อย่างเป็นทางการ ไพร่จึงมีสถานะเป็นคนสามัญ เป็นแรงงานอิสระที่มีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิในฐานะมนุษย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเลิกทาส
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบริหารราชการแผ่นดินโดยสิทธิขาด นับตั้งแต่ปี ๒๔๑๖ เป็นต้นมา พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทะนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นไป และให้ประชาราษฎร์ได้อยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้ากัน โดยทรงยึดหลักว่า ธรรมเนียมใดเป็นการเจริญ มีคุณประโยชน์เป็นยุติธรรมแล้ว ก็ทรงทำนุบำรุงให้วัฒนาการยิ่งขึ้นไป ธรรมเนียมใดไม่เป็นการเจริญแก่ประชาชน ไม่เป็นคุณประโยชน์ ไม่เป็นการยุติธรรมก็ทรงเลิกเสียนั่นคือการเลิกทาส ได้ทรงพิจารณาที่จะเลิกทาสด้วยการลดราคาค่าทาสลง จำนวนทาสค่อยลดลงโดยลำดับจนหมดไปทั้งพระราชอาณาเขต ทรงใช้วิธีการอย่างละมุนละม่อมในการเลิกทาส มิให้ทั้งนายและตัวทาสเองได้รับผลเสียและไม่พึงพอใจ ทรงดำเนินการเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๗ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๘ จึงเลิกระบบทาสได้สำเร็จลุล่วง และได้ออกเป็นพระราชบัญญัติทาส รศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๔๘)

การเลิกทาสเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ทรงพระอุตสาหะจัดการในเรื่องนี้เป็นเวลานานกว่าสามสิบปี จนบรรลุผลสมดังพระราชประสงค์ โดยมิได้ทรงท้อถอย ทรงรอบคอบ เห็นการณ์ไกลเป็นเลิศ พระองค์ทรงดำเนินการได้เรียบร้อย โดยมิได้เสียเลือดเนื้อหรือเกิดการเดือดร้อนประการใด เยี่ยงการเลิกทาสในนานาประเทศ พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ย่อมยังประโยชน์ให้แก่ชาวไทยและประเทศชาติเป็นอเนกประการ

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซด์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ




Create Date : 05 ตุลาคม 2553
Last Update : 5 ตุลาคม 2553 10:37:58 น. 2 comments
Counter : 1316 Pageviews.

 
ร่วมรำลึกถึงวันสำคัญของชาติครับ


โดย: หน่อย - ตั้ม (tumauto ) วันที่: 5 ตุลาคม 2553 เวลา:21:10:25 น.  

 
ร่วมรำลึกถึงวันสำคัญของชาติครับ


โดย: รัก IP: 171.5.52.13 วันที่: 5 ธันวาคม 2555 เวลา:14:19:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

chit130512
Location :
ลำปาง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับสู่กิจกรรมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญา
Friends' blogs
[Add chit130512's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.