Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
6 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 

วิกฤติแค่ไหนก็ตะลุย 'แชะ!!' 'ช่างภาพ' กลาง 'สมรภูมิน้ำ'

วิกฤติแค่ไหนก็ตะลุย 'แชะ!!' 'ช่างภาพ' กลาง 'สมรภูมิน้ำ'



“ขอตรงนี้ลงหนึ่งคน” เสียงวิทยุสื่อสารสั่งการจากภายในตัวรถไปถึงกระบะหลังรถดังขึ้น รถกระบะยกล้อสูงขึ้นเกือบร่วมหนึ่งเมตร ในยามปกติอาจดูแปลกตา แต่เวลานี้เจ้านี่คือพาหนะฮีโร่ที่พอจะฝ่าระดับน้ำที่สูงไปได้ ทว่า...แม้จะยกสูง แต่ระดับน้ำก็เรียกว่าอยู่ในระดับเดียวกับขอบประตูรถ สถานการณ์เช่นนี้สำหรับคนทั่วไปคงตัดสินใจยากสักนิดกับการพาตัวเองลงสู่ระดับน้ำที่ท่วมสูงระดับเอว แต่ชายหนุ่มคนหนึ่งก็กระโดดลงไปแบบไม่ต้องคิด พร้อมอุปกรณ์พะรุงพะรัง.......

ทีมวิถีชีวิต โต๊ะข่าวสกู๊ป ติดตามภารกิจของ “ทีมช่างภาพเดลินิวส์” ออกตระเวนพื้นที่ต่าง ๆ ที่ถูกน้ำท่วม (ก่อนที่เดลินิวส์เองก็กลายเป็นจุดน้ำท่วมระดับสาหัส) สถานที่แต่ละแห่งล้วนเป็นจุดวิกฤติ จึงไม่แปลกที่รถของเราจะสร้างความงุนงงให้ผู้คนที่พบเห็น เพราะขณะที่คนพื้นที่กำลังทยอยเดินทางออก รถของเรากลับวิ่งสวนทางย้อนเข้าไป...

“ไปอีกนิด ไปอีกนิด อย่าเพิ่งพัก เข้าไปดูอีกหน่อยก่อน” เสียงสั่งการเข้มของชายหนุ่มด้านซ้ายรถตะโกนบอกคนขับข้าง ๆ แดดข้างนอกยังคงร้ายกับเราไม่เลิก ร้อนเสียจนแทบได้กลิ่นคาวแดดลอยขึ้นมาจากผืนน้ำที่ฝ่ามา นาฬิกาข้อมือเข็มสั้นชี้ ใกล้เลขสอง บ่งบอกว่าเป็นเวลาเกือบบ่ายสองแล้ว ที่ท้ายรถ หลายคนยกขวดน้ำขึ้นดื่มเพื่อดับร้อนและคลายหิว เพราะตั้งแต่ตระเวนออกไปถ่ายภาพตามพื้นที่หลายจุด ทุกคนในทีมยังไม่มีใครมีข้าวตกถึงท้องเลย

“มันเป็นสัญชาตญาณของนักข่าว ของช่างภาพทุก ๆ คนแหละ ที่ต้องการเข้าไปในจุดที่กำลังวิกฤติ ทุกคนต่างก็ต้องการเข้าไปให้ได้มากที่สุด ลึกที่สุด เพื่อสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้สังคมได้รับรู้” เสียงของ สุรเชษฏ์ วัชรวิศิษฏ์ หัวหน้าช่างภาพเดลินิวส์ บอกกับเราถึงเหตุผลในการบุกฝ่าเข้าไปในพื้นที่วิกฤติ ขณะหยุดพักที่ร้านอาหารข้างทางแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ร้านที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ขณะที่หลาย ๆ ร้านต้องปิดตัวเองชั่วคราวเพราะถูกน้ำท่วมเกือบหมด

หัวหน้าช่างภาพแจงว่า ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง ข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสะสมไว้ให้มากที่สุด เพื่อจะกำหนดแผนการทำงานไว้ล่วงหน้า แต่ก็มีหลายครั้งเช่นกันที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะเรื่องของเส้นทางและระดับน้ำ ณ ปัจจุบัน ที่อาจจะทำให้การเดินทางมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้ตอนแรกได้ อีกทั้งความปลอดภัยก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีที่มีข่าวเรื่องคน ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ไปแล้วไม่น้อย และ จระเข้ ที่พิสูจน์แล้วว่ามีอยู่จริง ไม่ใช่เพียงข่าวลือ ซึ่งนี่ก็ทำให้อุบัติเหตุอย่างการเดินตกหลุมตกท่อกลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไป

“ทุกคนรักตัวกลัวตายทั้งนั้น แต่ความที่อยากจะเข้าไปบันทึกภาพออกมามันรบเร้าคนอย่างเรามากกว่า ทุกคนก็ต้องใช้ประสบการณ์ ใช้หลักความปลอดภัยที่แต่ละคนก็จะมีการกำหนดไว้ในใจว่าแค่ไหนพอ แค่ไหนหยุด” สุรเชษฏ์กล่าว

ภมร มานะพรชัย ช่างภาพอีกคนบอกว่า น้ำท่วมครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายจึงมีความสำคัญในแง่การเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกเหตุการณ์ ช่างภาพทุกคนต่างก็ต้องการภาพที่คิดว่าจะสื่อสารให้สังคมรับรู้ข้อเท็จจริงได้มากที่สุด เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหลาย ๆ พื้นที่ที่เข้าไปบันทึกภาพ ก็พบเรื่องราวมากมาย มีทั้งดีและไม่ดี

“มุมดีคือได้เห็นว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน มีน้ำใจให้กัน ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ที่ไม่ดีคือเรายังเห็นการเอารัดเอาเปรียบของบางคนอยู่ ตรงนี้มันเหมือนไปซ้ำเติมคนที่เดือดร้อนให้ทุกข์เพิ่มขึ้น” เป็นมุมมองของภมร

พรายฟองน้ำสีขาวแหวกและกระทบรถจนเกิดเสียงดัง ลมเฉื่อย ๆ พัดตีหน้าอยู่เป็นระยะ ๆ เหมือนเรือที่กำลังท่องอยู่กลางมหานทีใหญ่ หากแต่พาหนะยามนี้ไม่ใช่เรือ แต่เป็นรถ และใต้มหานทีนี้ก็หาใช่แผ่นทราย แต่เป็นถนนกว้างที่เคยขวักไขว่ รถพาเราลัดเลาะสู่บริเวณถนนพหลโยธิน หลังจากรับทราบจากวิทยุสื่อสารว่าจะมีการอพยพผู้คนในบริเวณนี้

“อย่าเพิ่งดับนะลูก ทนอีกหน่อยนะ” เสียงของ สันติ มฤธนนท์ ช่างภาพที่วันนี้ควบตำแหน่งพนักงานขับรถ พูดเสียงติดสนุก แต่ไม่บอกก็รู้ว่าในใจอดกังวลไม่ได้ถึงสภาพของเครื่องยนต์ที่กำลังถูกรีดขีดจำกัด เขาเล่าว่านี่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งแรกที่ได้ลงลุยเต็มตัว ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะถ่ายภาพสังคมและบันเทิง การออกมาตะลุยบันทึกภาพน้ำท่วมครั้งนี้ถือเป็นประสบ การณ์สำคัญที่จะอยู่ในความทรงจำของเขาไปอีกนานอย่างแน่นอน ความเหนื่อยย่อมมีบ้างกับการออกเดินไปในน้ำ ท่ามกลางสภาพอากาศที่พลิกขั้ว ร่างกายส่วนล่างเย็นเพราะน้ำ ส่วนร่างกายท่อนบนกลับร้อนอ้าวเพราะเปลวแดด แต่ก็ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะความกระหายที่จะเข้าไปบันทึกภาพความจริงในพื้นที่ออกมาให้สังคมรับรู้ มีมากกว่า

“นี่ก็เพิ่งพลาดตกหลุมลงไปแช่น้ำ ดีที่ยังไว มือยังชูกล้องกับอุปกรณ์ไว้เหนือหัวทัน แต่ไอโฟนผมเปียกน้ำหมดแล้ว แต่ก็คิดว่าน่าจะยังพอใช้งานได้อยู่นะครับ ผมทนได้ เขาก็ต้องทนได้” สันติบอกกับเราแบบติดตลก

“ทำงานใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ เลยพี่” เสียงของ จักรพงษ์ ก้องกาญจ์ภาส ช่างภาพอีกคนของชุดตะลุยน้ำที่ตระเวนถ่ายภาพน้ำท่วมไล่มาตั้งแต่นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ บอกกับเรา ยืนยันสถานการณ์น้ำท่วมที่ประชิดติดเมือง ซึ่งสำหรับรายนี้ก็บอกว่า การที่ช่างภาพอยากออกไปในพื้นที่เพราะเป็นสัญชาตญาณที่ต้องการถ่ายทอดเหตุการณ์ที่พบเห็นให้สังคมได้รับรู้ แม้จะลำบากมากแค่ไหนก็ต้องเข้าไปถ่ายภาพให้ได้ เพราะภาพจะเล่าเหตุการณ์ได้ดีที่สุด

เขากล่าวอีกว่า น้ำท่วมครั้งนี้นับว่าเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง เชื่อว่ากว่าสถานการณ์จะปกติก็คงต้องใช้เวลานาน และสำหรับการทำงานก็ต้องระมัดระวังตัว เพราะอันตรายมีอยู่รอบ ๆ เช่น ไฟดูด สัตว์ร้าย สัตว์มีพิษ โรคที่มากับน้ำ นอกจากนี้ยังต้องระวังอุปกรณ์ เพราะแต่ละชิ้นราคาไม่ใช่ถูก แต่บางทีก็เกิดเหตุสุดวิสัยก็ต้องทำใจ “น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงและกินวงกว้างเหลือเกิน แต่ก็เชื่อว่าทุกคนจะฟันฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ เพราะคนไทยยังมีน้ำใจต่อกัน”

ด้าน ภัทรพงศ์ สมัตถะ ช่างภาพอีกคน ก็บอกถึงการเต็มใจลุยฝ่าน้ำเข้าไปแชะเก็บภาพ คล้าย ๆ กับคนอื่น เขามองว่าน้ำท่วมครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งข้อมูลและภาพถ่ายจะมีประโยชน์และมีคุณค่า จะทำให้สังคมตระหนักถึงความรุนแรงและจะได้นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้เพื่อการวางแผนในอนาคต เมื่อเราถามว่าระหว่างถ่ายภาพม็อบกับน้ำท่วมอันไหนยากกว่ากัน เขาบอกว่า เทียบกันไม่ได้ ยากคนละแบบ ที่เหมือนกันก็คือช่างภาพต้องเอาตัวเองให้รอดจากสถานการณ์คับขัน

“อยากได้ภาพแค่ไหน ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย ทั้งคน และอุปกรณ์ ถ้าได้รูปดีแล้วไม่มีโอกาสเผยแพร่ มันก็ไม่มีประโยชน์” เขาบอกกับเราถึงหลักการทำงานในสถานการณ์ลำบากยามนี้...

.......นี่เป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งของ “ทีมช่างภาพเดลินิวส์” ยังมีช่างภาพอีกหลายชีวิตที่เกาะติดสถานการณ์อยู่ในหลายพื้นที่ เพื่อบันทึก “ภาพความจริง” เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย มานำเสนอต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับการนำเสนอ “ข่าวความจริง” เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ของ “ทีมข่าวเดลินิวส์” ฝ่ายต่าง ๆ แม้ว่าชีวิตจริงของนักข่าว-ช่างภาพเดลินิวส์หลาย ๆ คนเองก็อยู่ในภาวะต้องเปลี่ยนสถานะ...

เป็น “ผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ด้วยเช่นกัน!!!!!.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ รายงาน




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2554
0 comments
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2554 9:59:55 น.
Counter : 359 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


bunbaramee
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add bunbaramee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.