บ้านรักษ์ไทย ขอร่วมส่งเสริมและสํานึกรัก ศิลปวัฒนธรรมไทย และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้คงอยู่ยืนยาวตลอดไป
Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
19 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
นาฏยศัพท์

ความหมายของคําว่า "นาฏยศัพท์"

การศึกษาทางด้านนาฏศิลป์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโขน ละคร หรือระบำเบ็ดเตล็ดต่างๆก็ดี ท่าทางที่ผู้แสดงแสดงออกมานั้นย่อมมีความหมายเฉพาะ ยิ่งหากได้ศึกษาอย่างดีแล้ว อาจทำให้เข้าใจในเรื่องการแสดงมากยิ่งขึ้นทั้งในตัวผู้แสดงเอง และผู้ที่ชมการแสดงนั้นๆ สิ่งที่เข้ามาประกอบเป็นท่าทางนาฏศิลป์ไทยนั้นก็คือ เรื่องของนาฏยศัพท์ ซึ่งแยกออกได้เป็นคำว่า "นาฏย" กับคำว่า "ศัพท์"ดังนี้
นาฏย หมายถึง เกี่ยวกับการฟ้อนรำ เกี่ยวกับการแสดงละคร
ศัพท์ หมายถึง เสียง คำ คำยากที่ต้องแปล เรื่อง
เมื่อนำคำสองคำมารวมกัน ทำให้ได้ความหมายขึ้นมา ซึ่งมีผู้กล่าวไว้ดังนี้

นาฏยศัพท์ หมายถึง ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะท่ารำที่ใช้ในการฝึกหัด เพื่อใช้ในการแสดงโขน ละคร เป็นคำที่ใช้ในวงการนาฏศิลป์ไทย สามารถสื่อความหมายกันได้ทุกฝ่ายในการแสดงต่างๆ


ประเภทของนาฏยศัพท์


นาฏยศัพท์แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.นามศัพท์ หมายถึง ศัพท์ที่เรียกชื่อท่ารำ หรือชื่อท่าที่บอกอาการกระทำของผู้นั้น เช่น วง จีบ สลัดมือ คลายมือ กรายมือ ฉายมือ ปาดมื กระทบ กระดก ยกเท้า ก้าวเท้า ประเท้า ตบเท้า กระทุ้ง กระเทาะ จรดเท้า แตะเท้า ซอยเท้า ขยั่นเท้า ฉายเท้า สะดุดเท้า รวมเท้า โย้ตัว ยักตัว ตีไหล่ กล่อมไหล่

2.กิริยาศัพท์ หมายถึง ศัพท์ที่ใช้เรียกในการปฏิบัติบอกอาการกิริยา ซึ่งแบ่งออกเป็น
● ศัพท์เสริม หมายถึง ศัพท์ที่ใช้เรียกเพื่อปรับปรุงท่าทีให้ถูกต้องสวยงาม เช่น กันวง ลดวง ส่งมือ ดึงมือ หักข้อ หลบศอก เปิดคาง กดคาง ทรงตัว เผ่นตัว ดึงไหล่ กดไหล่ ดึงเอว กดเกลียวข้าง ทับตัว หลบเข่า ถีบเข่า แข็งเข่า กันเข่า เปิดส้น ชักส้น
● ศัพท์เสื่อม หมายถึง ศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อท่ารำหรือท่วงทีของผู้รำที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อให้ผู้รำรู้ตัว และแก้ไขท่าทีของตนให้ดีขึ้น เช่น วงล้า วงคว่ำ วงเหยียด วงหัก วงล้น คอดื่ม คางไก่ ฟาดคอ เกร็งคอ หอบไหล่ ทรุดตัว ขย่มตัว เหลี่ยมล้า รำแอ้ รำลน รำเลื้อย รำล้ำจังหวะ รำหน่วงจังหวะ

3.นาฏยศัพท์เบ็ดเตล็ด หมายถึง ศัพท์ต่างๆที่ใช้เรียกในภาษานาฏศิลป์ นอกเหนือไปจากนามศัพท์ และกิริยาศัพท์ เช่น จีบยาว จีบสั้น ลักคอ เดินมือ เอียงทางวง คืนตัว อ่อนเหลี่ยม เหลี่ยมล่าง แม่ทา ท่า-ที ขึ้นท่า ยืนเข่า ทลายท่า นายโรง พระใหญ่ - พระน้อย นางกษัตริย์ นางตลาด ผู้เมีย ยืนเครื่อง ศัพท์แทน

การรำตีบท

การรำตีบทคือ การนำเอานาฏยศัพท์มาใช้นั้นเอง เพื่อเป็นการบอกความหมาย และแสดงอารมณ์ออกมา ซึ่งหลักสำคัญในการรำตีบทคือ

● ตัดท่าย่อยออกไป
● คำนึงถึงความสวยงาม และสื่อความหมายให้เด่นชัด
● อย่าให้ท่าเหลื่อมกับคำพูด
● พยายามเลี่ยงท่าซ้ำ ท่าวรรคติดๆกัน
● อย่าทำมือซ้ำเพียงท่าเดียว
● การออกท่าควรคำนึงถึงบุคลิกของตัวละคร
● คำนึงถึงการเอียงศีรษะ

ลักษณะการรำตีบทของไทยจะมี 3 ลักษณะ คือ เกี่ยวกับกิริยามือแบ เกี่ยวกับกิริยามือจีบ และเกี่ยวกับกิริยามือชี้ นอกจากนี้ในการแสดงโขน - ละคร ยังมีการรำตีบทเกี่ยวกับการเลียนแบบสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งกิริยาของการเลียนแบบสัตว์ที่มีมักจะเป็นลักษณะของสัตว์เหล่านี้ เช่น ท่านก ท่าไก่ ท่าเป็ด ท่าปลา ท่ากุ้ง ท่าปู ท่าหอย ท่างู ท่ากบ ท่ากระต่าย ท่าเต่า ท่าจระเข้ ท่าช้าง ท่าม้า ท่าวัว ท่าควาย ท่ากวาง ท่าเสือ ท่าชะนี และท่าลิง เป็นต้น



กล่าวโดยสรุป นาฏยศัพท์หรือ นาฏยภาษา(ภาษาท่า) ก็จะหมายถึง การสื่อความหมายหรือสื่อสารให้เข้าใจกัน โดยใช้กิริยาท่าทางการรำในทางนาฏศิลป์ เรียกว่า รำบท หรือรำตีบท คือ การแสดงท่ารำแทนคำพูด รวมทั้งการแสดงอารมณ์ด้วย การรำบทเป็นการใช้ภาษาที่พัฒนามาจากท่าทางโดยธรรมชาติ ท่ารำที่ใช้ในการรำตีบทต่าง ๆ ดังเช่น

ท่าแนะนำตัว



เป็นอากัปกริยาที่บ่งบอกให้ทราบว่าเป็นการแนะนำตัวของตัวละครนั้นๆ ซึ่งตัวละครทั้งฝ่ายพระ นาง ยักษ์ ลิง มีทำปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันจะแตกต่างก็เฉพาะลีลาในการปฏิบัติ ซึ่งขึ้นอยู่กับบุคลิกของตัวละครนั้นๆ ว่าเป็นตัวละครตัวใดมีบุคลิกลักษณะเช่นใด การปฏิบัติจะใช้เฉพาะมือซ้ายเท่านั้น ถ้าใช้มือขวาถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิดแบบแผน





ท่าสวยงาม, เก่งกล้า




เป็นอากับกิริยาที่ใช้บ่งบอกให้ทราบว่าเป็นการกล่าวชมถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่ามีความสวยงาม, ดี, เลิศและใช้กล่าวชมตัวละครตัวอื่นหรือตนเองว่าเก่งกล้า สามารถ พระนาง ยักษ์ มีการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันลิงจะมีรูปแบบการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป





ท่ายืน



เป็นอากัปกิริยาที่แสดงความหมายในท่ายืนของตัวละครซึ่งอยู่ในลักษณะยืนตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง ตัวละครแต่ละตัวจะมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันไปตามบทบาทที่แสดงอยู่





ท่าเดิน



เป็นอากัปกิริยาที่แสดงความหมายเกี่ยวกับอิริยาบทในการเดินของตัวละครแต่ละตัวซึ่งมีความงดงามแตกต่างกันไป แต่ลักษณะการเดินของตัวละครเกือบทั้งหมด เลียนแบบมาจากอากัปกิริยาเด่นของมนุษย์ ยกเว้นเฉพาะตัวละครที่เป็นสัตว์ ก็จะเลียนแบบลักษณะอากัปกิริยาในการเดินของสัตว์ชนิดนั้นๆ





ท่าชี้



เป็นอากัปกิริยาที่แสดงความหมายเกี่ยวกับอิริยาบทในการบอกกล่าวถึงสิ่งของ บุคคล หรือสถานที่





ท่ารัก



เป็นอากัปกิริยาที่แสดงถึงอารมณ์รัก ความพิศวาส ความเสน่ห์หา ต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยปกติแล้วการแสดงท่ารักจะปฏิบัติในแบบเดียวกัน เพียงแต่แตกต่างกันในลีลา บุคลิกเฉพาะตัวของ พระ นาง ยักษ์ ลิง





ท่าอาย



เป็นอากัปกิริยาที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกขวยเขินหรืออาย โดยปกติตัวนางจะแสดงมากกว่าตัวอื่นๆ เช่น เมื่อถูกเกี้ยวพาราสี พระ ยักษ์ ลิง จะแสดงบ้างเป็นบางโอกาส





ท่ายิ้ม



เป็นอากัปกิริยาที่แสดงถึงอารมณ์ที่บ่งบอกถึงความยินดีและพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีความสุขลักษณะการปฏิบัติของ พระ นาง ยักษ์ ลิง จะมีความคล้ายคลึงกันแต่จะแตกต่างกัน ที่ลีลาของตัวละครแต่ละตัวเท่านั้นการปฏิบัติจะใช้มือซ้ายปฏิบัติเท่านั้นถ้าใช้มือขวาจะถือว่าปฏิบัติที่ผิดแบบแผน





ท่าโกรธ



เป็นอากัปกิริยาที่แสดงออกมาจากอารมณ์ที่ไม่พอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันไม่พึงปรารถนา พระ นาง จะปฏิบัติในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ส่วน ยักษ์และลิงจะปฏิบัติในลักษณะหน้าที่แตกต่างกันตามแต่บุคลิกของตัวละครนั้นๆ





ท่าร้องไห้ (โอด)



เป็นอากัปกิริยาที่แสดงถึงอารมณ์ที่เศร้าโศกเสียใจในทางนาฏศิลป์มีศัพท์เรียกเฉพาะว่า "ท่าโอด"ในการปฏิบัติท่าโอดจะเป็นการแสดงอารมณ์ สีหน้า และสายตาที่เศร้าหมองประกอบกับรูปแบบและลีลาทางนาฏศิลป์ที่ประณีต พระ นาง ยักษ์ มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ส่วนลิงจะมีรูปแบบในการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป







กลับขึ้นบน



Create Date : 19 กันยายน 2551
Last Update : 26 ตุลาคม 2551 11:59:57 น. 0 comments
Counter : 45271 Pageviews.

บ้านรักษ์ไทย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add บ้านรักษ์ไทย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.