บ้านรักษ์ไทย ขอร่วมส่งเสริมและสํานึกรัก ศิลปวัฒนธรรมไทย และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้คงอยู่ยืนยาวตลอดไป
Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
19 กันยายน 2551
 
All Blogs
 

“นาฏศิลป์” (นาดตะสิน)


นาฏศิลป์ เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากคำ 2 คำ คือคำว่า “นาฏ” ซึ่งหมายถึงการฟ้อนรำ และคำว่า “ศิลปะ” หมายถึงสิ่งที่มนุษย์ดัดแปลงขึ้นมาจากธรรมชาติให้มีความวิจิตรงดงามขึ้น
ดังนั้น คำว่า “นาฏศิลป์” จึงมีความหมายรวมกัน หมายถึง ศิลปะแห่งการฟ้อนรำ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “นาฏศิลป์” ดังนี้

“นาฏศิลป์” (นาดตะสิน) น. หมายถึง ศิลปะแห่งการละครหรือการฟ้อนรำ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2525 : 438)
ดังนั้นสรุปได้ว่า นาฏศิลป์ไทย หมายถึง ศิลปะแห่งการแสดงท่าทางในการฟ้อนรำแบบไทยด้วยความประณีตงดงาม เพื่อก่อให้เกิดความรื่นรมย์อันโน้มน้าวอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชมให้คล้อยตาม ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น หรือเรียกว่า ศิลปะของการร้องรำทำเพลง



นาฎศิลป์ เป็นศิลปวัฒนธรรมสาขาหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองของไทยเรา ความงดงามของท่าร่ายรำตามจังหวะและทำนองเพลง ตลอดจนการแสดงสื่อความหมายด้วยบทเจรจา ท่าทาง และคำร้องเป็นลำนำ ช่วยให้ผู้ชมได้ชื่นบานสนุกสนานได้อิ่มเอมกันสุนทรียรส และเกิดอารมณ์คล้อยตามไปกับการแสดง นาฎศิลป์ไทยจึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ปู่ ยา ตา ยาย ได้ถ่ายทอดไว้ให้สมควรที่เยาวชนทั้งหลายควรสนใจรับสืบทอด และรักษาไว้เป็นศรีสง่าของชาติไทยสืบไป

ท่วงท่าของการร่ายรำนั้น เกิดขึ้นจากอิริยาบถต่าง ๆ ของคนในชีวิตประจำวันนั้นเอง แม้ว่ามือและแขนจะเป็นส่วนสำคัญของการรำ แต่อวัยวะทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นศีรษะ หน้า คอ ลำตัว เอว ขา และ เท้า ก็ต้องเคลื่อนไหว รับสัมพันธ์กันทุกส่วนจึงจะแลดูงามและสื่อความหมายได้ดี การแสดงท่ากวัก โบกสะบัด จีบคว่ำ จีบหงาย ร้องไห้ อิ่มเอม โกรธ ขับไล่ ฯลฯ ล้วนแต่มีท่ารำที่สวยงาม และดูได้เข้าใจชัดเจนทั้งสิ้น

เนื่องจากการร่ายรำ เป็นศิลปะขั้นสูง ผู้ที่จะรำเป็นจึงต้องได้รับการฝึกหัดและฝึกฝนอย่างจริงจัง จึงจะดูนิ่มนวล กลมกลืน และงามสง่า ครูนาฎศิลป์โบราณได้ประดิษฐ์ท่ารำไว้มาก เป็นท่าหลักที่ต้องเรียนรู้ให้แม่นยำ ท่าหลักสำหรับฝึกหัดรำนี้มักเรียกกันว่า "แม่บท" เป็นท่ารำที่เลี่ยนแบบอิริยาบถทั้งของเทพบุตร เทพธิดา คน สัตว์และธรรมชาติแวดล้อม เช่น เทพนม สอดสร้อยมาลา กวางเดินดง เมขลาล่อแก้ว ยอดตองต้องลม เป็นต้น ท่ารำ บางท่าเป็นการแสดงความรู้สึกและอารมณ์ เช่น เสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง หนุมานผลาญยักษ์ พระลักษมณ์แผลงฤทธิ์ เป็นต้น



การรำคือการแปลชื่อท่ารำต่าง ๆ มาประดิษฐ์ให้มีส่วนสัดงดงาม เรียบเรียงลำดับ ทำให้เข้ากับจังหวะและทำนองของเพลงร้องเพลงดนตรีที่บรรเลงประกอบ ตบแต่งท่ารำสำหรับเชื่อมท่าต่างๆ ให้ติดต่อกลมกลืนกัน
การแสดงนาฎศิลป์แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
๑. ระบำ
๒. ละคร

ระบำ เป็นการแสดงร่ายรำประกอบคำร้องและทำนองจังหวะดนตรีที่มุ่งความสวยงามและความบันเทิงเป็นสำคัญ ผู้แสดงจะมีเพียงคนเดียวหรือเป็นหมู่ก็ได้ การแสดงระบำต้องมีความพร้อมเพรียงและช่วยให้เกิดความสนุกสนาน

ละคร เป็นการแสดงรำที่มีเรื่องราวดำเนินไปโดยลำดับ มีหลายประเภท เช่น ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์และโขน

สำหรับโขนนั้นยังมีวิธีการแสดงที่แตกต่างกันไป เช่น โขนกลางแปลง โขนนั่งราว โขนโรงใน โขนหน้าจอ และโขนฉาก

นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการนำนาฎศิลป์แบบตะวันตกมาใช้ จึงเกิดมีละครร้อง ละครพูด ละครพูดสลับลำ และละครสังคีต การละครได้เฟื่องฟูมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้มีวิวัฒนาการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน



ประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์ไทย

นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปะแห่งการฟ้อนรำ ที่มีสมมติฐานมาจากธรรมชาติ แต่ได้รับการตกแต่งและปรับปรุงให้งดงามยิ่งขึ้น จนก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้ดูผู้ชม โดยแท้จริงแล้วการฟ้อนรำก็คือ ศิลปะของการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น แขน ขา เอว ไหล่ หน้าตา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการฟ้อนรำจึงมาจากอิริยาบทต่าง ๆ ของมนุษย์ ได้แก่ ยืน เดิน นั่ง นอน ฯลฯ ตามปกติการเดินของคนเราจะก้าวเท้าพร้อมทั้งแกว่งแขนสลับกันไปเช่นเมื่อก้าวเท้าซ้ายก็จะแกว่งแขนขวาออก และเมื่อก้าวเท้าขวาก็จะแกว่งแขนซ้ายออกสลับกันเพื่อเป็นหลักในการทรงตัว ครั้นเมื่อนำมาตกแต่งเป็นท่ารำขึ้น ก็กลายเป็นท่าเดินที่มีลีลาการก้าวเท้าและแกว่งแขน ให้ได้สัดส่วนงดงามถูกต้องตามแบบแผนที่กำหนด ตลอดจนท่วงทำนองและจังหวะเพลง

นาฏศิลป์ไทย เกิดมาจากอากัปกิริยาของสามัญชนเป็นพื้นฐาน ซึ่งโดยทั่วไปมนุษย์ทุกคนย่อมมีอารมณ์ต่าง ๆ ได้แก่ รัก โกรธ โศกเศร้า เสียใจ ดีใจ ร้องไห้ ฯลฯ แต่ที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อมนุษย์มีอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น นอกจากจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นในจิตใจแล้วยังแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมาทางกายในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น
รัก - หน้าตากิริยาที่แสดงออก อ่อนโยน รู้จักเล้าโลม เจ้าชู้
โกรธ - หน้าตาบึ้งตึง กระทืบเท้า ชี้หน้าด่าว่าต่าง ๆ
โศกเศร้า,เสียใจ - หน้าตากิริยาละห้อยละเหี่ย ตัดพ้อต่อว่า ร้องไห้

สรุปได้ว่า นาฏศิลป์ไทย เกิดมาจากกิริยาท่าทางซึ่งแสดงออกในทางอารมณ์ของมนุษย์ปุถุชน อากัปกิริยาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นมูลเหตุให้ปรมาจารย์ทางศิลปะนำมาปรับปรุงบัญญัติสัดส่วนและกำหนดวิธีการขึ้น จนกลายเป็นท่าฟ้อนรำ โดยวางแบบแผนลีลาท่ารำของมือ เท้า ให้งดงาม รู้จักวิธีเยื้อง ยัก และกล่อมตัว ให้สอดคล้องสัมพันธ์กันจนเกิดเป็นท่ารำขึ้น และมีวิวัฒนาการปรับปรุงมาตามลำดับ จนดูประณีตงดงาม อ่อนช้อยวิจิตรพิสดาร จนถึงขั้นเป็นศิลปะได้

นอกจากนี้ นาฏศิลป์ไทย ยังได้รับอิทธิพลแบบแผนตามแนวคิดจากต่างชาติเข้ามาผสมผสานด้วย เช่น วัฒนธรรมอินเดียเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องของเทพเจ้า และตำนานการฟ้อนรำ โดยผ่านเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ ผ่านชนชาติชวาและเขมร ก่อนที่จะนำมาปรับปรุงให้เป็นรูปแบบตามเอกลักษณ์ของไทย เช่น ตัวอย่างของเทวรูปศิวะปางนาฏราช ที่สร้างเป็นท่าการร่ายรำของ พระอิศวร ซึ่งมีทั้งหมด 108 ท่า หรือ 108 กรณะ โดยทรงฟ้อนรำครั้งแรกในโลก ณ ตำบลจิทรัมพรัม เมืองมัทราส อินเดียใต้

ปัจจุบันอยู่ในรัฐทมิฬนาดู นับเป็นคัมภีร์สำหรับการฟ้อนรำ แต่งโดยพระภรตมุนี เรียกว่า คัมภีร์ภรตนาฏยศาสตร์ ถือเป็นอิทธิพลสำคัญต่อแบบแผนการสืบสาน และการถ่ายทอดนาฏศิลป์ของไทยจนเกิดขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่มีรูปแบบ แบบแผนการเรียน การฝึกหัด จารีต ขนบธรรมเนียม มาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาทางด้านนาฏศิลป์ไทยได้สันนิษฐานว่า อารยธรรมทางศิลปะด้านนาฎศิลป์ของอินเดียนี้ได้เผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตามประวัติการสร้างเทวาลัยศิวะนาฎราชที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1800 ซึ่งเป็นระยะที่ไทยเริ่มก่อตั้งกรุงสุโขทัย ดังนั้นท่ารำไทยที่ดัดแปลงมาจากอินเดียในครั้งแรกจึงเป็นความคิดของนักปราชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการแก้ไข ปรับปรุงหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จนนำมาสู่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนนำมาสู่การประดิษฐ์ท่าทางการร่ายรำและละครไทยมาจนถึงปัจจุบัน








กลับขึ้นบน




 

Create Date : 19 กันยายน 2551
0 comments
Last Update : 28 ตุลาคม 2551 16:20:07 น.
Counter : 27776 Pageviews.


บ้านรักษ์ไทย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add บ้านรักษ์ไทย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.