บ้านรักษ์ไทย ขอร่วมส่งเสริมและสํานึกรัก ศิลปวัฒนธรรมไทย และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้คงอยู่ยืนยาวตลอดไป
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 
ภาคกลาง , ภาคใต้


การแสดงพื้นเมือง


เป็นการแสดงที่แสดงออกถึงการสืบทอดทางศิลปะและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่สืบทอดกันต่อ ๆ มาอย่างช้านาน ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน การแสดงจะออกมาในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม อาชีพ และความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ตลอดจนอุปนิสัยของประชาชนในท้องถิ่น จึงทำให้การแสดงพื้นเมือง มีลีลาท่าทางที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง และพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งมีความแตกต่างกันตามภูมิภาค
การแสดงพื้นเมืองได้แบ่งออกเป็นสี่ภาคดังนี้


ภาคกลาง


ภาคกลางได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำของไทย มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย จึงมีเวลาที่จะคิดประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามได้มาก และมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่างๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาลและตามโอกาสที่มีงานรื่นเริง

ภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกันและพัฒนาดัดแปลงขึ้นเรื่อยๆและออกมาในรูปแบบของขนบธรรมเนียมประเพณี และการประกอบอาชีพ เช่น เต้นกำรำเคียว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลิเก ลำตัด กลองยาว เถิดเทิง เป็นต้น บางอย่างกลายเป็นการแสดงนาฏศิลป์แบบฉบับไปก็มี เช่น รำวง และเนื่องจากเป็นที่รวมของศิลปะนี้เอง ทำให้คนภาคกลางรับการแสดงของท้องถิ่นใกล้เคียงเข้าไว้หมด แล้วปรุงแต่งตามเอกลักษณ์ของภาคกลาง คือการร่ายรำที่ใช้มือ แขนและลำตัว
เช่น โขน ละครชาตรี ละครนอก ละครใน ลิเก หุ่น หนังใหญ่ เป็นต้น


เต้นกำรำเคียว



เป็นการแสดงพื้นเมืองที่เก่าเเก่ของชาวชนบทในภาคกลาง แถบจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งชาวชนบทส่วนมากมีอาชีพการทำนาเป็นหลัก เเละด้วยนิสัยรักสนุกกับการเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียวขึ้น ในเนื้อเพลงจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

ลักษณะการรำ จะเน้นความสนุก เป็นใหญ่ มีทั้งเต้นและรำควบคู่กันไป ในมือของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว อีกข้างหนึ่งถือข้าวที่เกี่ยวเเล้ววิธีเล่น จะมีผู้เล่นประมาณ 5 คู่ แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายชายเรียกว่า พ่อเพลง ฝ่ายหญิงเรียกว่าแม่เพลง เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนเเม่เพลงให้ออกมา เต้นกำรำเคียว โดยร้องเพลงเเละเต้นออกไปรำล่อฝ่ายหญิงและแม่เพลงก็ร้องเเละ รำแก้กันไป ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงนี้อาจเปลี่ยนไปหลาย ๆ คน ช่วยกันร้องจนจบเพลง ผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่เพลงก็จะเป็นลูกคู่ ปรบมือและร้องเฮ้ เฮ้วให้จังหวะ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ศิลปินของกรมศิลปากรได้ไปฝึกหัดการเล่นเต้นกำรำเคียวจากชาวบ้านตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงการเล่นเพื่อให้เหมาะกับการนำออกแสดงในงานบันเทิง โดยให้ นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญนาฏดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติแต่งทำนองเพลงประกอบการแสดงตอนเริ่มต้นก่อนร้องบทโต้ตอบและตอนจบบทร้อง

ผู้แสดงทั้งชายและหญิงมือขวาถือเคียว มือซ้ายถือกำรวงข้าว ทำท่าตามกระบวนเพลงร้องเย้าหยอกเกี้ยวพาราสีกัน
บทร้องมีอยู่ ๑๑ บท คือ บทมา ไป เดิน รำ ร่อน บิน ยัก ย่อง ย่าง แถ ถอง และ
เพลงในกระบวนนี้ผู้เล่นอาจด้นกลอนพลิกแพลงบทร้องสลับรับกันด้วยความสนุกสนาน บางครั้ง ในการแสดงอาจตัดบทร้องบางบทเพื่อความกระชับ ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงนำและตอนจบ

ผู้แสดงแต่งกายพื้นบ้านภาคกลาง ชาวนาชาย นุ่งกางเกงขายาว เสื้อคอกลมผ่าอกแขนสั้นเหนือศอก สีน้ำเงินคราม ผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวกปีก ชาวนาหญิง นุ่งผ้าพื้นดำ โจงกระเบน เสื้อคอกลมผ่าอกแขนยาวสีน้ำเงินหรือต่างสี สวมงอบ การแสดงชุดนี้สามารถแสดงได้โดยไม่จำกัดเวลา

ตัวอย่างเพลงที่ใช้ร้อง เช่น
เพลงมา
ชาย

มากันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่มามารึมา แม่มา (ซ้ำ) มาเถิดเเม่นุชน้อง พี่จะเป็นฆ้องให้น้องเป็นปี่ ต้อยตะริดติ๊ดตอด น้ำเเห้งน้ำหยอดที่ตรงลิ้นปี่ มาเถิดนะ แม่มา มารึมาแม่มา มาเต้นกำย่ำหญ้ากันในนานี้เอย
หญิง

มากันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อมามารึมา พ่อมา ฝนกระจายปลายนา แล้วน้องจะมาอย่างไรเอย

เพลงรำ
ชาย

รำกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่รำรำรึรำ แม่รำ ใส่เสื้อดี แม่ห่มแต่สีดอกขำ น้อยหรือแน่แม่ช่างรำ แม่เชื้อระบำเก่าเอย
หญิง

รำกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อรำรำรึรำ พ่อรำ มหาหงส์ลงต่ำ ต่างคนต่างรำไปเอย





รำกลองยาว



รำกลองยาวหรือบางครั้งเรียกว่ารำเถิดเทิง สาเหตุที่มีชื่อเรียกว่ารำเถิดเทิงก็เนื่องมาจากเสียงกลองยาวที่เวลาตีมีเสียงคล้าย ๆ คำว่าเถิดเทิงนั่นเอง การแสดงชุดนี้ใช้แสดงเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ หรือในงานบวช

เครื่องแต่งกายแสดงถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของภาคกลาง
รำกลองยาว สันนิษฐานว่าเป็นของพม่านิยมเล่นกันมาก่อน เมื่อครั้งพม่าทำสงครามกับไทยในสมัยกรุงธนบุรีในเวลาพักรบ พวกทหารพม่าก็เล่นสนุกสนานกันด้วยการเล่นต่าง ๆ ซึ่งทหารพม่าบางพวกก็เล่น "กลองยาว" พวกไทยเราได้เห็นก็จำมาเล่นกันบ้าง ยังมีเพลงดนตรีเพลงหนึ่งซึ่งดนตรีไทยนำมาใช้บรรเลง มีทำนองพม่า เรียกกันแต่เดิมว่า "เพลงพม่ากลองยาว"

ต่อมาได้มีผู้ปรับเป็นเพลงระบำ กำหนดให้ผู้รำแต่งตัวใส่เสื้อนุ่งโสร่งตา ศีรษะโพกผ้าสีชมพู มือถือขวานออกมาร่ายรำเข้ากับจังหวะเพลงที่กล่าวนี้ จึงเรียกเพลงนี้กันอีกชื่อหนึ่งว่า "เพลงพม่ารำขวาน"
ต่อมาการแสดงเถิดเทิงได้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามมากขึ้น โดยมีการแต่งกายที่เป็นแบบอย่างไทย กำหนดท่ารำใหัมีความเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น และมีกลองยาวเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง




รําสีนวล



เป็นชื่อของเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงละคร ประกอบกิริยาไปมาของสตรีที่มารยาทกระชดกระช้อย ทำนองเพลงมีท่วงทีซ่อนความพริ้งเพราไว้ในตัว ต่อมามีผู้ประดิษฐ์ทำนองร้องขึ้นประกอบการรำซึ่งทำให้ความหมายของเพลงเด่นชัด ปรากฏเป็นภาพงดงามเมื่อมีผู้ร่ายรำประกอบ

แต่เดิมการรำเพลงสีนวลมีอยู่แต่ในเรื่องละคร ภายหลังจึงแยกออกมาใช้เป็นระบำเบ็ดเตล็ด เพราะมีความงดงามไพเราะทั้งในชั้นเชิงของทำนองเพลง และท่ารำความหมายของการรำสีนวล เป็นไปในการบันเทิงรื่นรมย์ของหญิงสาวแรกรุ่นที่มีจริตกิริยางดงามตามลักษณะกุลสตรีไทย

ด้วยความที่ทำนองเพลง บทขับร้อง และท่ารำที่เรียบง่ายงดงาม จึงเป็นชุดนาฏศิลป์ชุดหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปจำนวนผู้แสดง ใช้แสดงเป็นหมู่ หรือแสดงเดี่ยวก็ได้ ตามโอกาสที่เหมาะสม
ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์

บทร้องที่ใช้แสดงมีอยู่ ๓ รูปแบบ
แบบที่ ๑
... ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล
สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล
... ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา

แบบที่ ๒ ประพันธ์บทร้องโดย นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญทาง
ด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ
...ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล
อันการรำสีนวลกระบวนนี้ เป็นแบบที่ร้องรับไม่จับเรื่อง
เป็นการรำเริงรื่นของพื้นเมือง เพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนอารมณ์
ได้ปลดทุกข์สุขใจเมื่อไร้กิจ เข้ารำชิดเคียงคู่ดูเหมาะสม
ขอเชิญชวนมวลบรรดาท่านมาชม รื่นอารมณ์ยามที่รำสีนวล
...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา

แบบที่ ๓
... ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล
สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล

ร้องอาหนู
เจ้าสาวสาวสาวสาวสะเทิ้น
เจ้าค่อยเดินค่อยเดินเดินตามทาง
ฝูงอนงค์ทรงสำอาง
นางสาวศรีห่มสี (ซ้ำ)
ใส่กำไลแลวิลัย ทองใบอย่างดี ทองก็ดี
ประดับสีเพชรพลอยพลอยงามดูงาม
ใส่ต่างหูสองหู หูทัดดอกไม้
สตรีใดชนใดในสยาม
จะหางามงามกว่า
มาเคียง ไม่เคียง (ซ้ำ)
ชวนกันเดิน พากันเดิน รีบเดินมา รีบเดินมา
ร่ายรำทำท่าน่ารักเอย
...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา


หมายเหตุ บทร้องอาหนู เป็นบทพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ท่อนสุดท้ายปรับปรุงขึ้นใหม่แตกต่างจากบทพระนิพนธ์) ผู้แสดงนุ่งผ้าโจง ห่มสไบจีบ สยายผมทัดดอกไม้ ใส่เครื่องประดับ (เข็มขัด กำไลมือ กำไลเท้า)
ความยาวของชุดการแสดงจะแตกต่างกันคือรำสีนวล ออกเพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ นาทีรำสีนวล ออกเพลงอาหนู เพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๘ นาที




ระบำวิชนี



เป็นระบำชุดหนึ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยใช้ทำนองเพลงจีนดาวดวงเดียว ซึ่งเป็นเพลงที่มีอยู่ มาประดิษฐ์เป็นท่ารำ โดยผู้แสดงจะแต่งกายแบบนางใน ในมือถือพัดมีด้ามประกอบการรำซึ่งมีศัพท์เรียกว่า วิชนี หรือ พัชนี ออกมาร่ายรําด้วยท่วงทํานองเพลงและบทร้องอันไพเราะ

เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ชาวไทยนิยมใช้พัดเป็นเครื่องบรรเทาความร้อน ดังนั้นนาฏศิลปชุด ระบําวิชนี จึงวิวัฒนาการมาจากการใช้พัด รําเพยลมของชาวไทยในทํานองอย่างมีศิลปนั่นเอง
ผู้ประพันธ์เนื้อร้องคือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย ของกรมศิลปากร

โดยมีเนื้อร้องดังต่อไปนี้

หน้าร้อน
ทินกรเจิดแจ่มแฉล่มศรี
เกิดแสงแดดแผดมาสู่ร่างนี้
เผามาลีโรยเหงาเหี่ยวเฉาไป
อากาศร้อนอบอ้าวผะผ่าวผิว
ไล่ลมพริ้วมาไวคลายร้อนได้
พระพายหยุดสุดร้อนร้อนฤทัย
ต้องอาศัยโบกพัดกระพือลม
วิชนีที่ช่วยให้โรยรื่น
เย็นฉ่ำชื่นชุ่มในฤทัยสม
ถึงเวลาหน้าร้อนร้อนระงม
เชิญมาชมรำพัดให้เย็นใจเอย
....เพลงบรรเลงรัว เพลงเชิดจีน





ภาคใต้


โดยทั่วไปภาคใต้มีอาณาเขตติดกับทะเลฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง ประชากรจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีและบุคลิกบางอย่างที่คล้ายคลึงกันคือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจ รวดเร็ว เด็ดขาด มีอุปนิสัยรักพวกพ้อง รักถิ่นที่อยู่อาศัย และศิลปวัฒนธรรมของตนเอง จึงมีความพยายามที่จะช่วยกันอนุรักษ์ไว้จนสืบมาจนถึงทุกวันนี้

การแสดงของภาคใต้มีลีลาท่ารำคล้ายกับการเคลื่อนไหวของร่างกายมากกว่าการฟ้อนรำ ซึ่งจะออกมาในลักษณะกระตุ้นอารมณ์ให้มีชีวิตชีวาและสนุกสนาน เช่น โนรา หนังตะลุง รองเง็ง ตารีกีปัส เป็นต้น


โนรา



หรือบางคนเรียกว่า มโนห์รา เป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคใต้ ลักษณะการเดินเรื่อง และรูปแบบของการแสดงคล้ายละครชาตรีที่นิยมเล่นกันแพร่หลายในภาคกลาง เดิมการแสดงโนราจะใช้เนื้อเรื่องจากวรรณคดีเรื่องพระสุธน-มโนห์รา
โดยตัดตอนแต่ละตอนตั้งแต่ต้นจนจบมาแสดง เช่น ตอนกินรีทั้งเจ็ดเล่นน้ำในสระ ตอนพรานบุญจับนางมโนห์รา ตอนพรานบุญจับนาง
มโนห์ราไปถวายพระสุธน ฯ ปกติการแสดงโนราจะเริ่มจากนายโรงหรือโนราใหญ่ซึ่งเป็นตัวเอกหรือหัวหน้าคณะอออกมารำ "จับบทสิบสอง" คือ การรำเรื่องย่อต่าง ๆ สิบสองเรื่อง เช่น พระสุธน-มโนห์ราพระรถ-เมรี ลักษณวงศ์ เป็นต้น แต่หากผู้ว่าจ้างไปแสดงขอให้จับตอนใดให้จบเป็นเรื่องยาว ๆ ก็จะแสดงตามนั้น

ผู้แสดง เป็นชายล้วน คณะหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ ๑๕-๒๐ คน แล้วแต่ขนาดของคณะ อาจมีถึง ๒๕ คน ก็ได้ ประกอบด้วย หัวหน้าคณะหรือนายโรงหรือโนราใหญ่ ๑ คน หมอไสยศาสตร์ ๑ คน ผู้รำอย่างน้อย ๖ คน อย่างมาก ๑๐ คน นายพราน (พรานบุญ) ๑ ทาสี (คนใช้ ตัวประกอบ ตัวตลก) ๑ คน นักดนตรี และลูกคู่จำนวน ๕-๖ คน ตาเสือ (ผู้ช่วยขนเครื่องและช่วยดูแลทั่วไป) ๑-๒ คน

เครื่องดนตรี วงโนรา ประกอบด้วย กลองโนรา หรือทับโนรา โหม่ง ฉิ่ง ฉาบการแสดง โนราแต่เดิมจะแสดงบนพื้นดิน โดยใช้เสื่อปู ตัวโรงเป็นสี่เหลี่ยม มีหลังคามุงด้วยจาก มีเสากลาง ๑ ต้น มีแต่ไม้ไผ่สูงราว ๕๐ เซนติเมตร
สำหรับตัวแสดงนั้น เรียกว่า "นัก" ด้านซ้ายและขวาของนักเป็นที่สำหรับดนตรีและลูกคู่นั่ง

การแต่งกาย แบบดั้งเดิมจะแต่งกายเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ ประกอบด้วย เทริด (ชฎา) สังวาล ปีกนกแอ่น หางหงส์ ทับทรวง สนับเพลา ชาวไหว ผ้าห้อยข้าง กำไลต้นแขน กำไลข้อมือ และสวมเล็บยาวไม่สวมเสื้อ เทริดจะสวมเฉพาะตัวนายโรงหรือโนราใหญ่เท่านั้น ส่วนนายพรานจะสวมหน้ากากเปิดคาง หน้ากากสีแดงสำหรับใช้ "ออกพราน" ส่วนหน้ากากพรานสีขาว จะใช้สำหรับนายพรานทาสี ตามความเชื่อและพิธีกรรมในการแสดง ถือว่าเป็นหน้าศักดิ์สิทธิ์

แต่เดิมการเดินทางไปแสดงที่ต่าง ๆ จะต้องเดินทางเท้า จึงเรียกว่า "โนราเดินโรง" ก่อนจะออกเดินทางนายโรงจะช่วยกันขนเครื่องที่จะใชแสดงมาวางไว้กลางบ้าน และหมอไสยศาสตร์จะทำพิธีพร้อมกับบรรเลงดนตรี เพื่อขอความเป็นสิริมงคล ระหว่างเดินทางผ่านสถานที่หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะบรรเลงดนตรีเป็นการแสดงคารวะและอาจมีการำถวายมือด้วย เมื่อถึงสถานที่ที่จะแสดงจะนำเอาอุปกรณ์ต่าง ๆ กองไว้กลางโรง เมื่อจะถึงเวลาแสดง หมอไสย
ศาสตร์มาปกปักรักษา อย่าให้มีอันตรายใด ๆ
จากนั้นลูกคู่ก็จะลงโรง (โหมโรง) สักพักหนึ่งเมื่อคนดูหนาตาแล้ว นายโรงก็จะขับบทบูชาครู และผู้แสดงออกรำ โดยเริ่มจากผู้แสดงที่ยังไม่ค่อยเก่งไปจนถึงคนเก่ง ๆ และสุดท้ายก่อนนายโรงจะออก ตัวนายพรานหรือตัวทาสีหรือตัวตลก จะออกมาร้องตลก ๆ
จากนั้นนายโรงหรือโนราใหญ่จะออกรำ ซึ่งทุกคนจะคอยดูโนราใหญ่ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่รำสวยที่สุดเมื่อนายโรงรำจบ ก็อาจจะเลิกการแสดงหรืออาจแสดงต่อด้วยเรื่องสุธน มโนห์รา พระรถเมรี ฯลฯ หรือที่เรียกว่า "จับบทสิบสอง" จนดึก เมื่อโนราใหญ่หรือนายโรงถอดเทริดออก ก็เป็นอันจบการแสดง

ความยาวของการแสดงชุดนี้ ใช้เวลาแสดงประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง




หนังตะลุง



เป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ ที่มีมานานจนยังหาต้นตอดั้งเดิมไม่ได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่ยุคใด สมัยใด คงมีการบันทึกไว้ในระยะหลังที่เป็นหลักฐานแต่ เท่าที่มีการจดบันทึกได้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการนำหนังตะลุงจากภาคใต้มาแสดงถวายทอดพระเนตรที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙

การแสดงหนังตะลุง แต่เดิมจะเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น ต่อมาการติดต่อสื่อสารก้าวหน้าขึ้น เริ่มนำเรื่องในวรรณคดีต่าง ๆ มาแสดง ปัจจุบันหนังตะลุงนำนวนิยายรักโศก เหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบันมาแสดง บางคณะก็แต่งบทนวนิยายเอง มีพระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวอิจฉา การเล่นหรือเชิดหนังตะลุงในช่วงหัวค่ำ ในสมัยก่อนจะเริ่มจากการออกลิงขาว ลิงดำ หรือที่เรียกว่าจับลิงหัวค่ำซึ่งปัจจุบันนี้ก็ไม่มีแล้ว

คณะหนังตะลุง ประกอบด้วย นายหนัง ๑ คน ซึ่งมีเป็นเจ้าคณะเป็นผู้เชิดตัวหนัง พากย์และเจรจา ร้องรับและเล่นดนตรีด้วย ชื่อคณะมักจะใช้ชื่อของนายหนังเป็นชื่อคณะ เช่น หนังจูเลี่ยม กิ่งทอง ลูกคู่ ๕-๖ คน

โรงหนังตะลุง จะปลูกเป็นเพิงหมาแหงน ฝาและหลังคามุงด้วยจากหรือทางมะพร้าว สูงจากพื้นดินราว ๑๕๐-๑๗๐ เซนติเมตร เป็นโรงสี่เหลี่ยม มีบันไดขึ้นด้านหลัง ใช้พื้นที่ราว ๘-๙ ตารางเมตร ด้านหน้าโรงจะมีจอผ้าขาวขอบสีน้ำเงินขึงเต็มหน้าโรง มีไฟส่องตัวหนังให้เกิดภาพ หน้าจอมีหยวกกล้วยทั้งต้น สำหรับปักตัวหนังวางอยู่ขอบล่างของจอด้านใน ลูกคู่และดนตรีจะนั่งอยู่ถัดจากนายโรง

ตัวหนัง ทำจากหนังวัวแกะและฉลุ ขนาดจะต่างกันไปตามบทบาทของหนัง เช่น รูปเจ้าเมือง รูปยักษ์ รูปฤาษีจะมีขนาดใหญ่กว่ารูปอื่น คณะหนึ่ง ๆ จะมีตัวหนังราว ๑๕๐-๒๐๐ ตัว เวลาเก็บหนังจะแยกกันเก็บ เช่น ยักษ์ พระ นาง จะแยกกัน รูปฤาษี เทวดา ตัวตลกจะเก็บไว้บนสุด เก็บเป็นแผงซ้อน ๆ กัน มีไม้ไผ่สานเป็นเสื่อลำแพนหนีบอยู่ทั้งบนและล่าง และใช้เชือกผูกเก็บเป็นแผง ๆ

ดนตรีประกอบการแสดง ประกอบด้วยโหม่ง ๒ ใบ ทับโนรา ๒ ใบ กลองโนรา ๒ ใบ ปี่ ๑ เลา
ความยาวของการแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๒-๖ ชั่วโมง




ระบำตารีกีปัส



เป็นระบำที่ต้องอาศัยพัดเป็นองค์ประกอบสำคัญ คำว่าตารี แปลว่า รำ คำว่า กีปัส แปลว่า พัด เป็นการแสดงที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี และได้ทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดปัตตานี เมื่อคัดเลือกการแสดงชุดนี้ใช้แสดงในงานเปิดกีฬาเขต ครั้งที่ ๑๔ ซึ่งจังหวัดปัตตานีเป็นเจ้าภาพ ลีลาของการแสดง อาจจะมีพลิกแพลงแตกต่างกันไป สำหรับการแสดงชุดนี้ ได้ปรับปรุงท่ารำ เพื่อให้เหมาะสมกับการแสดงที่เป็นหญิงล้วน

เครื่องดนตรีประกอบการแสดง ได้แก่ ไวโอลิน แมนตาลิน ขลุ่ย รำมะนา ฆ้อง มาลากัส
บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง เพลงตารีกีปัส เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง บรรเลงดนตรีล้วนๆ มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สนุกสนานเร้าใจ ความไพเราะของเพลงตารีกีปัส อยู่ที่การโซโล่ เสียงดนตรีทีละชิ้น




รองเง็ง



การแสดงรองเง็ง เป็นการแสดงที่นิยมอยู่ในแถบสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าใจว่าจะเป็นการแสดงที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตก ในยุคของการเริ่มติดต่อการค้าขายกับชาวสเปนหรือชาวโปรตุเกสที่มาติดต่อค้าขายกับชาวมาลายู

แต่ดั้งเดิมการแสดงรองเง็งจัดแสดงเฉพาะในบ้านของขุนนางหรือเจ้าผู้ครองเมืองเท่านั้น โดยฝึกหัดข้าทาสบริวารเอาไว้อวดหรือเอาไว้ต้อนรับแขกเมือง ต่อมาค่อย ๆ แพร่หลายออกไปสู่ชาวบ้านโดยผ่านทางการแสดงมะโย่งของชาวบ้าน เมื่อหยุดพักก็นำการเต้นรองเง็งออกมาแสดงคั่นเวลา ผู้แสดงมะโย่งก็อาจมาร่วมเต้นด้วย ทำให้การแสดงรองเง็งแพร่หลายขึ้น
ต่อมาการเต้นและธรรมเนียมก็เปลี่ยนไปเปิดโอกาสให้ผู้ชมที่เป็นผู้ชายขึ้นไปเต้นคู่ด้วยได้เช่นเดียวกับรำวงของภาคกลาง เป็นต้น

จำนวนผู้แสดงแต่ละคนไม่จำกัดผู้เต้น แต่นักดนตรีจะมี ๔-๕ คนผู้แสดงอาจจะมากกว่า ๔ คู่ก็ได้

เครื่องดนตรี ประกอบด้วยรำมะนา ๑-๒ ลูก ฆ้อง ๑ ลูก ไวโอลิน ๑ ตัว

โอกาสที่ใช้แสดง ไม่จำกัด ใช้เฉพาะงานมงคลเท่านั้น สถานที่อาจ
จะเป็นลานกว้าง บริเวณบ้าน หรือบนเวที ตามแต่ความเหมาะสมการแต่งกาย เหมือนกับการแสดงซัมเปง แต่อาจจะประณีตบรรจงและใช้ผ้าที่ดูจะมีราคาและสวยงามมากกว่าการแต่งกายของซัมเปง
ท่าเต้นรองเง็ง แต่เดิมมีลีลาค่อนข้างปานกลาง ต่อมานำเอาจังหวะเต้นรำเข้าไปปะปน เช่น รุมบ้า แซมบ้า กัวลาซ่า เป็นต้น และใช้เครื่องดนตรีสากลเข้าไปผสมด้วยเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน

การเต้นหรือแสดงรองเง็ง จะไม่มีพิธีหรือขนบธรรมเนียมอื่น ๆ แต่จะเริ่มเมื่อดนตรีบรรเลงฝ่ายชายจะเข้าไปโค้งฝ่ายหญิง เพื่อเชื้อเชิญให้ออกเต้น ไม่มีการจับมือกัน เมื่อจบเพลงหนึ่ง ๆ ก็จะโค้งให้กัน ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะยืนคนละฝั่งของเวที หันหน้าเข้าหากัน ทั้ง ๒ ฝ่ายจะรักษาแถวให้ขึ้นลงอย่างมีจังหวะและลีลาที่นุ่มนวลเหมือนเต้นลอยอยู่บนอากาศอย่างแผ่วเบา
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๒๐-๓๐ นาที




ระบำร่อนแร่



เป็นระบำที่ปรับปรุงขึ้นตามลีลาท่าทางในการประกอบอาชีพของชาวไทยภาคใต้ เป็นการแสดงนาฎลีลาที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น ถ่ายทอดการทำมาหากินที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น คือการร่อนแร่ดีบุก ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิม และสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดอย่างมหาศาลในอดีต วัสดุในการร่อนแร่ที่เรียกว่า “เลียง” ซึ่งมีลักษณะกลมคล้ายกระทะ หรือตะแกรง ก้นแหลม สามารถเจาะรูสำหรับร่อนแร่ได้

จัดแสดงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนภาคใต้เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒

ต่อมานักศึกษาระดับปริญญา วิทยาลัยนาฏศิลปสมทบในคณะนาฏศิลปและดุริยางค์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวะศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้นำระบำร่อนแร่มาปรับปรุง และเรียบเรียงท่าขึ้นใหม่ โดยใช้เพลง "ตลุงราษฎร์" ซึ่งนายประสิทธิ์ ถาวร ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้แต่งทำนองเพลง ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของนางสาวปราณี สำราญวงศ์ หัวหน้าภาควิชานาฏดุริยางค์ คีตศิลปศึกษา

การแต่งกายในการแสดงใช้ชุดย่าหยา ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองของท้องถิ่น




ระบำพัดใบพ้อ



เป็นระบำที่วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชได้คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยการนำเอาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้าน การจักสานพัดใบกะพ้อของชาวบ้านโคกยาง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงในลีลาท่ารำต่างๆ ตามรูปแบบของนาฏศิลป์ ตลอดจนการนำพัดใบกะพ้อขนาดต่างๆ มาสร้างสรรค์ประยุกต์เป็นเครื่องประดับในการแต่งกายของนักแสดง

อีกทั้งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและอนุรักษ์ สืบทอดอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าในภูมิปัญญาของท้องถิ่น โดยใช้นาฏศิลป์เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย




ระบำทักษิณาภัตราภรณ์



ระบำชุดนี้วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ได้นำเอาศิลปะการทอผ้าของชาวภาคใต้มารวบรวมเป็นระบำ โดยเริ่มตั้งแต่การฟอกไหม การตากไหม การกรอไหม ตลอดจนขั้นตอนสุดท้ายคือ การทอผ้า

ผู้แสดงระบำชุดนี้จะนุ่งผ้าหลายชนิด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวพื้นเมืองภาคใต้ทั้งสิ้น ได้แก่
ผ้าไหมภุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผ้านาหมื่นศรีของชาวจังหวัดตรัง
ผ้าเกาะยอของชาวจังหวัดสงขลา
ผ้าปาเต๊ะของชาวจังหวัดปัตตานี
และสุดท้ายคือ
ผ้ายกเมืองคอนของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช







กลับขึ้นบน




Create Date : 22 สิงหาคม 2551
Last Update : 19 กันยายน 2551 20:04:33 น. 0 comments
Counter : 47267 Pageviews.

บ้านรักษ์ไทย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add บ้านรักษ์ไทย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.