AtomKit : Lay your love on Me!!!
<<
กันยายน 2551
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
9 กันยายน 2551

GreenPeace : ความประทับใจเล็กๆที่เกิดขึ้น



พอดีวันนี้ตอนเย็นไปเดินเล่นที่บิ๊กซีนครปฐมมาครับ สายตาก็มองนู่นนี่ไป ตรงใหนตรงใหนก็มีแต่คนซื้อของ ร้านมือถือ เสื้อผ้า ของใช้ พอดีผมก็ไปเห็นบูธบูธหนึ่งครับ ตอนแรกนึกว่ามาขายบัตรเครดิต เห็นเป็นบูธสีเขียว ตั้งโต๊ะแบบธรรมดา มีแฟ้มกับหนังสือกองอยู่ตั้งเยอะ เดินผ่านรอบแรกไม่กล้าเข้าไปอ่ะครับ เพราะบบว่าโล่งมาก ผิดกับพวกร้านมือถือ เสื้อผ้า รอบสองก็เลยคิดว่า เอาวะ ไม่เห็นเป็นไรเลย เลยลองเข้าไปถามอ่ะครับ พี่ๆเค๊า3คนก็ถามว่า น้องรู้ไม๊คะว่ากรีนพีซคืออะไร - ก็รู้อ่ะครับ ว่ามันเกี่ยวกับพวกอนุรักษ์ธรรมชาติของเรา - อยู่มใหนคะเนี่ย - ม.4ครับ - ดีมากเลยนะคะเนี่ย มีใจอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นเยาวชนที่ดีมาก แล้วไปเผยแพร่ที่โรงเรียนด้วยนะคะ -โอ้ว ลอยเลย รู้งี้เข้ามาแต่แรกและ วันนี้ก็เลยเอาข้อมูลเกี่ยวกับกรีนพีซมาให้ดูกันครับ
ส่วนนี้ เป้นข้อมูลเล็กๆน้อยๆนะครับ

.......พร้อมๆ กับกระแสสนับสนุนและคัดค้าน“จีเอ็มโอ” ที่กลายเป็นประเด็นฮิตติดหูติดปากคนไทยเกือบทั้งประเทศ ชื่อขององค์กรหนึ่งปรากฏขึ้นบ่อยครั้งในสื่อต่างๆ ในฐานะผู้จุดประเด็นให้คนไทยรับทราบและเตรียมรับมือกับพิษภัยจากเทคโนโลยีชีวภาพนี้ ใช่แล้ว, พวกเขาคือกลุ่ม “กรีนพีซ”

แต่กรีนพีซเองก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกันกับมะละกอจีเอ็มโอเจ้าปัญหา คือได้รับทั้งเสียงก่นว่า ต่อต้าน...และชื่นชม กระทั่งคนไทยบางส่วนก็ยังรู้จักกรีนพีซเพียงแค่ว่า เป็นเอ็นจีโอที่รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวเพื่อทำลายอธิปไตยของชาติ !

ภายใต้เปลือกสีเขียวเข้มขององค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งนี้ จริงๆ แล้วเป็นเช่นไรกันแน่ ? ต้องติดตาม...

“สำนักงานของกรีนพีซที่ประเทศไทยต้องบอกว่าเป็นสำนักงานใหญ่ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยก่อตั้งสำนักงานเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งจัดว่าเป็นเครือข่ายของกรีนพีซที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ล่าสุดในโลก” ดร.จิรากรณ์ คชเสนี ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกริ่นถึงที่มาของกลุ่มกรีนพีซในเมืองไทย

ลักษณะขององค์กรกรีนพีซนั้นจะมีองค์กรที่เรียกว่า “กรีนพีซอินเตอร์เนชั่นแนล” ที่อยู่ที่อัมสเตอร์ดัม ณ เวลานี้ ทำหน้าที่ในการประสานงานกับเครือข่ายกรีนพีซที่มีอยู่ทั่วโลก รวมถึงสำนักงานต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดร.จิรากรณ์ดูแลอยู่ แต่กรีนพีซแต่ละแห่งก็มีความเป็นอิสระในการทำงานค่อนข้างมาก

“การกำกับดูแลก็คือมีผมในฐานะที่เป็นผู้บริหารดูแลเกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติการขององค์กร แล้วในขณะเดียวกัน เรามีบอร์ดกรรมการของเซาท์อีสต์เอเชียที่มาจากการคัดสรรเป็นผู้ดูแล เป็นเจ้านายผมอีกที ไม่ใช่บอร์ดกรีนพีซอินเตอร์เนชั่นแนลเป็นเจ้านายผม เพราะฉะนั้นกระบวนการลักษณะการดำเนินการก็เป็นลักษณะของเครือข่ายที่เป็นองค์กรที่รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม”

ในแต่ละปีการดำเนินงานของกรีนพีซจะมีการวางแผน โดยเฉพาะในสำนักงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ๆ อย่างกรีนพีซเอเชียฯ ที่นอกจากแผนงานประจำปีแล้วยังมีแผนงาน 5 ปี ซึ่งเมื่อทำแผนเสร็จก็จะส่งไปให้บอร์ดพิจารณา (ซึ่งจะมีตัวแทนจากกรีนพีซอินเตอร์ฯ ร่วมสังเกตการณ์ด้วย) จากนั้นก็จะส่งแผนงานไปให้กรีนพีซอินเตอร์ฯ ดูด้วยว่าอยู่ในลักษณะการทำงานของกรีนพีซทั่วโลกหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดสิทธิขาดการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับสำนักงานกรีนพีซแต่ละแห่ง

“กรีนพีซเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ เหตุผลที่กรีนพีซเป็นอิสระก็เพราะว่าไม่รับเงินจากพรรคการเมือง ไม่รับเงินจากรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้นเลย กลุ่มธุรกิจกรีนพีซก็ไม่รับ เพราะฉะนั้นเงินที่ได้ก็จะมาจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่บริจาค เราไม่ได้เป็นองค์กรที่มีสมาชิก ส่วนใหญ่เขาก็จะให้เงินสนับสนุนเป็นรายเดือน”

ทั้งนี้ดร.จิรากรณ์กล่าวว่า กรีนพีซอาจรับบริจาคจากมูลนิธิบางแห่งที่ผ่านหลักเกณฑ์ผู้บริจาคของกรีนพีซ คือต้องไม่ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือถ้าบริจาคมากๆ ก็ต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เข้ามามีอิทธิพลต่ออิสระในการทำงานของกรีนพีซ

แต่ด้วยเหตุที่เงินทุนสนับสนุนภายในประเทศไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน เครือข่ายกรีนพีซทั่วโลกจึงได้มอบเงินสนับสนุนแก่กรีนพีซเอเชียฯ และนั่นคือที่มาของคำโจมตีว่า “รับเงินต่างชาติ”

“เรามีรายงานทุกสิ้นปีเกี่ยวกับเรื่องการเงิน ว่าไทยมีผู้บริจาคมากน้อยขนาดไหน จำนวนเงินเท่าไร กระบวนการตรงนี้โปร่งใสชัดเจน ตรวจสอบได้” ผอ. กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยืนยัน

หลักการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่กรีนพีซยึดถือเป็นหัวใจคือ ‘นอนไวโอเลนซ์ ไดเร็ก แอกชัน’ ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากับปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง

“สมมติว่าเราไปรณรงค์แล้วเกิดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับเรา เราไม่ขัดขืน ไม่มีการต่อสู้ เพราะฉะนั้นใครที่จะเข้ามาร่วมรณรงค์กับกรีนพีซจะอยู่ในรูปของอาสาสมัคร แล้วก่อนที่จะเข้ามาร่วมทำกิจกรรมได้ก็ต้องมีการฝึกให้เผชิญหน้าแบบไม่ใช้ความรุนแรง”

แต่การดำเนินงานแบบ “ไดเร็กต์ แอ็กชั่น” หรือว่าง่ายๆ ว่า “ถึงลูกถึงคน”ของกรีนพีซนี้ หลายคนกลับมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรง นั่นเพราะคนไทยเรายังไม่คุ้นชินกับการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ขณะที่ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องธรรมดา ตราบเท่าที่นักเคลื่อนไหวไม่ทำร้าย หรือก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใด

“ในกระบวนการเผชิญหน้ากับปัญหา สิ่งที่มันจำเป็นที่จะบอกให้กับสาธารณะได้รับรู้หรือแก้ไขปัญหา มันจะต้องไปอยู่ในจุดๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ณ จุดที่เกิดเหตุ เพราะฉะนั้นในกรณีตัวอย่างของมะละกอจีเอ็มโอ ถ้ากรีนพีซไม่เข้าไปตรงนั้น ถามว่าในระดับสังคมจะรู้ไหมครับว่า ณ ที่นั้นมีการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอ และตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการปนเปื้อน เพราะฉะนั้นหลายๆ สิ่งที่กรีนพีซทำก็เพราะว่าการไปเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุมันเป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วเราเผชิญหน้ากับปัญหาด้วย ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี่มันไม่สามารถที่จะใช้วิธีการหลบๆ เลี่ยงๆ กับมัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมนับวันมันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลภาวะในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจีเอ็มโอด้วย ที่เป็นมลภาวะในทางพันธุกรรม เพราะฉะนั้นเราจำเป็นที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ถ้าไม่เผชิญหน้ากับปัญหาแล้วเราจะแก้ไขปัญหาได้ยังไง”

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนกับเราเดินผ่านตรงถนนเห็นบ้านหลังหนึ่งไฟไหม้ ไม่มีคนอยู่ ปิดกุญแจ เรามีทางเลือกอยู่สองทาง ทางที่หนึ่ง เดินผ่านไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ในฐานะที่เป็นพลเมืองดีและมีจิตสำนึกนี่ สิ่งที่เราทำมีทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือว่าปีนรั้วเข้าไปในบ้านนั้นแล้วก็ไปดับไฟ เพื่อให้บ้านนั้นปราศจากอัคคีภัย และไฟก็ไม่ลุกลามไป ในกรณีที่สองนี้ถ้าไปพิจารณาจากตัวบทกฎหมายนี่ก็ถือว่าผิด แต่กฎหมายสุดท้ายมันอยู่ที่เจตนา เพราะฉะนั้นเจตนาดีก็จะก่อให้เกิดผลดี แล้วไม่ใช่ผลดีต่อตัวองค์กรเราเองด้วย แต่เป็นผลดีสำหรับสิ่งแวดล้อมโลกโดยรวม”

แต่หลายครั้งที่กรีนพีซนั้นถูก “ไฟลวก” แถมยังถูกเจ้าของบ้านหาว่าบุกรุก เช่นกรณีมะละกอจีเอ็มโอที่ดร.นิกร และภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากกรมวิชาการเกษตรใน 3 ข้อหา คือ บุกรุกสถานที่ราชการ ทำให้เสียทรัพย์ และลักทรัพย์ ซึ่งอัยการจะทำการไต่สวนมูลฟ้องในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

“จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีข้อขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐเลย ถ้าเราจะทำงานร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐ เราก็ยินดี เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ตั้งตัวเป็นศัตรู หรือบอกว่าคุณเป็นภาครัฐนะ เราไม่ทำงานด้วย ถ้าหากเราเห็นว่าการเข้าไปร่วมงานกับภาครัฐนั้นหรือภาคเอกชนหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มันสามารถทำให้การรณรงค์ของเราได้ผลเร็วขึ้น แต่ว่าถ้าหน่วยงานใดๆ เป็นผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องถือว่าตรงนั้นเขาเป็นเป้าหมายของการรณรงค์”

หากหน่วยงานของรัฐพร้อมจะให้ความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชน วันนี้เราอาจไม่ต้องมาถกเถียงหาข้อยุติเรื่องจีเอ็มโอ

“ลองนึกดูสิครับ ถ้ากรีนพีซไม่ไปที่นั่น จะมีการยอมรับจนกระทั่งถึงจุดที่ว่ามีการปนเปื้อนของจีเอ็มโอไหม ต้องบอกว่าไม่มีเลย หน่วยงานของรัฐพยายามปกปิดข้อมูล ไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง หลังจากที่เราไปเปิดเผยแล้วยังพยายามที่จะปฏิเสธข้อมูลอีก พยายามที่จะดิสเครดิตเรา แล้วยังต้องบอกว่าใช้กระบวนการขู่โดยการดำเนินคดีอีก ทั้งที่กรีนพีซเอาข้อมูลไปบอกว่ามีการปนเปื้อนเกิดขึ้น และนี่คือจุดต้นกำเนิดของการปนเปื้อน เพราะเราเชื่อและพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ถ้าเชื่อเราตั้งแต่ต้น ปัญหาทุกอย่างอย่างน้อยที่สุดก็จะได้รับการแก้ไขมาประมาณเกือบ 2 เดือนที่แล้ว ไม่ใช่รอผ่านมาแล้วเกือบ 2 เดือนถึงมาแก้ไข”

“กรีนพีซเวลาเราจะทำการรณรงค์เราต้องทำวิจัย แล้วใช้ฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ในทางวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการในการรณรงค์ อย่างกรณีของมะละกอจีเอ็มโอนี่เราทำวิจัยล่วงหน้า เราศึกษาข้อมูลต่างๆ ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยเรามีทั้งอาสาสมัคร มีทั้งเครือข่าย มีทั้งคนที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราเก็บรวบรวมข้อมูลจนกระทั่งถึงจุดที่เราแน่ใจว่านี่เป็นประเด็นปัญหา แล้วคิดว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป”

“เราไม่ได้ทำทุกเรื่อง เรื่องที่กรีนพีซทำเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในระดับโลก อย่างกรณีจีเอ็มโอก็ชัดเจน ปัญหาเกี่ยวกับสารพิษและปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลกก็ยิ่งชัด แต่ถ้ามันเป็นประเด็นปัญหาของท้องถิ่นที่มันไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก เราก็ไม่ได้ลงไปทำ”

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมทางเหนือของประเทศ จึงมีบางคนไม่เข้าใจว่าทีอย่างนี้พวกเอ็นจีโอที่ค้านการก่อสร้างเขื่อนหายไปไหน ขณะที่หลายสื่อออกข่าวเตือนให้ประชาชนระวังภัยน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำในพื้นที่จะระบายน้ำออก...

“ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับล่างๆ เราจะบอกว่าปัญหาเศรษฐกิจมาก่อนนะ แล้วถัดมาจะเป็นปัญหาในเชิงสังคม แล้วค่อยเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจึงไม่ค่อยให้ความสนใจเอาใจใส่ รวมทั้งรัฐบาลด้วย เพราะฉะนั้นกรีนพีซเราพูดอยู่ตลอดเวลาว่าการพัฒนานี่มันจะต้องยืนอยู่บนฐาน 3 ฐาน ก็คือฐานเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ฐานเกี่ยวกับเรื่องสังคมและก็ฐานเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม กรีนพีซเหมือนกับคนที่ถือเสาเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วก็พยายามจะปักลงไป บางครั้งจึงเหมือนกับว่าสิ่งที่กรีนพีซทำค้านหรือต้านทานกระแสหลัก ถ้าสังคมพัฒนามากขึ้น คนจะให้ความสนใจเอาใจใส่เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น จะทำให้การดำเนินงานของกรีนพีซมันง่ายขึ้น”

“ถึงแม้ในประเทศที่เขาพัฒนาแล้วเขาก็ยังมองว่าพวกที่มาพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นพวกต่อต้านสังคม เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่เราต่อต้านการพัฒนาที่มันไม่ยั่งยืน ที่มันทำลายสิ่งแวดล้อม เราต้องการการพัฒนาที่มันไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย”

กำเนิด “กรีนพีซ” นักรบสิ่งแวดล้อม

ในปี พ.ศ.2514 นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่มเล็กๆ จากแวนคูเวอร์ แคนาดา ผู้เชื่อมั่นในแนวทาง “การเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ” ได้เช่าเรือเล็กมุ่งหน้าสู่เกาะอัมชิตกา นอกชายฝั่งอะแลสก้าเพื่อต่อต้านการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา


แม้เรือเล็กนั้นจะไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะถูกเรือลาดตระเวนชายฝั่งของสหรัฐอเมริกาจับกุมเสียก่อน แต่ก็นับว่าบรรลุวัตถุประสงค์ เพราะการกระทำของพวกเขากลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และนำมาซึ่งการก่อตั้งกรีนพีซ

พันธกิจของกรีนพีซคือ เป็นองค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมอิสระที่ใช้การเผชิญหน้าอย่างสันติ เพื่อเปิดโปงปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอันจะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาโลกใบนี้ให้เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

กรีนพีซนับเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพในการทำงานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบันกรีนพีซมีสำนักงานอยู่ใน 38 ประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา เอเชีย และแปซิฟิก และมีผู้สนับสนุนกว่า 2.8 ล้านคนทั่วโลก


จบแล้วครับ ...น่าจะได้รุ้อะไรเพิ่มนะครับ สำหรับวันนี้ ก็ขอเชิญชวนให้เพื่อนๆหันมาสนใจธรรมชาติ รัก และรักษ์ธรรมชาติกันบ้างนะครับ เราจะได้มีชีวิตต่อในวันพรุ่งนี้ ธรรมชาติมีแต่ให้ ผู้คนมีแต่ทำลาย ถ้าเราไม่รักษา ธรรมชาติจะดีขึ้นได้อย่างไร ลองคิดดูนะครับ

สนใจ ไปได้ที่ //www.greenpeace.org/seasia/th/
------------------
ส่วนท้ายนี้เป็นอันทีได้มาอ่ะครับ พี่เค๊าบอกว่าลองไปเปิดเว็บดู




 

Create Date : 09 กันยายน 2551
4 comments
Last Update : 9 กันยายน 2551 21:58:47 น.
Counter : 1950 Pageviews.

 

มันน่าคิด

 

โดย: boyblackcat 9 กันยายน 2551 23:02:11 น.  

 

ผมเป็นอาสาไปแล้ว มันมีงานอะไรรอเราอยุ่มั่งครับ -*-

 

โดย: อาสาคนหนึ่ง IP: 124.121.59.15 25 เมษายน 2553 3:01:48 น.  

 

ไม่ทราบว่าอาสากรีนพีชนี่ส่วนใหญ่อายุเท่าไรอ่ะคะ
มีเยาวชนสมัครเป้นบ้างป่าวเอ่ยอยากทราบข้อมูลอ่ะค่ะ

 

โดย: kid1412 IP: 112.142.136.116 9 พฤษภาคม 2553 17:08:56 น.  

 

อยากทราบว่าองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศมีอะไรบ้าง.....แล้วมีแนวคิดอย่างไร...ช่วยบอกด้วยนะค่ะ...

 

โดย: ศศิวิมล IP: 223.206.99.100 24 ธันวาคม 2553 22:28:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


AtomKit
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add AtomKit's blog to your web]