Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
8 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
ความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมตะวันออกกลาง-อารยธรรมตะวันตก

ดินแดนตะวันออกกลาง ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งกำเนิดอารยธรรมยุคแรกของมนุษยชาติ เริ่มจากบริเวณที่ราบระหว่างลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส เมื่อ ๔,๑๗๐ ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งชนชาวสุเมเรียนซึ่งอาศัยในบริเวณนี้ เริ่มต้นสร้างอารยธรรมของมนุษย์ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีและคิดค้นประดิษฐ์อักษรขึ้นเป็นกลุ่มแรกในโลก และในห้วงเวลาต่อมาประมาณ ๒,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ชาวสุเมเรียนก็พัฒนาระบบเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง โดยการสร้างระบบเงินตราขึ้นแทนการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน (Microsoft Co. ๒๐๐๕:CD-ROM)

คำว่า เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) เป็นภาษากรีก แปลว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำทั้งสอง คือ แม่น้ำไทกริสและแม่น้ำยูเฟรติส ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของประเทศอิรัก อิหร่าน ซีเรีย และซาอุดิอารเบีย ซึ่งมีเมืองแบกแดดเป็นศูนย์กลางความเจริญ แม่น้ำไทกริส (Tigris) ยาว ๒๐๐๐ กิโลเมตร แม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) ยาว๒๘๐๐ กิโลเมตร ต้นแม่น้ำทั้งสองเกิดจากภูเขาอาร์เมเนีย (ปัจจุบันอยู่ในรัฐอาร์เมเนียประเทศรัสเซีย)ตอนต้นน้ำแม่น้ำทั้งสองแยกกัน แม่น้ำยูเฟรติสไหลอ้อมผ่านไปทางประเทศซีเรีย ส่วนแม่น้ำไทกริส ไหลอ้อมไปทางเปอร์เซีย (ประเทศอิหร่าน) จากนั้นจึงไหลขนานกันไปออกอ่าวเปอร์เซีย ตอนที่จะออกอ่าวเปอร์เซีย แม่น้ำทั้งสองไหลโค้งเข้าหากันจนเกือบบรรจบกัน ระหว่างแม่น้ำทั้งสองนี้มีที่ราบกว้างใหญ่ เนื้อที่ประมาณ ๒๗,๐๐๐๐ กิโลเมตร คือบริเวณที่มีชื่อเรียกว่า เมโสโปเตเมีย

เขตติดต่อของบริเวณเมโสโปเตเมียมีดังนี้ ทิศเหนือ จรดทะเลดำและทะเลแคสเปียน ทิศตะวันออกจรดที่ราบสูงอิหร่าน ทิศใต้ จรดซีเรียและปาเลสไตน์ ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้จรดคาบสมุทรอารเบีย ตอนใต้ของที่ราบระหว่างลุ่มแม่น้ำทั้งสองนี้ แม่น้ำไทกริสและแม่น้ำยูเฟรติสพัดเอาดินและทรายมาปะทะโคลนดมที่คลื่นพัดเข้าฝั่งจนตื้นเกิดเป็นคาบสมุทรซึ่งมีชื่อเรียกว่า คาบสมุทร
ชินาร์ (Shinar)

สภาพภูมิศาสตร์ที่ส่งเสริมให้บริเวณเมโสโปเตเมียกับคาบสมุทรชินาร์ เป็นสิ่งดึงดูดให้มนุษย์ไปตั้งถิ่นฐาน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าบริเวณเมโสโปเตเมียเป็นนาแห่งแรกของโลกที่มนุษย์ได้พบข้าวสาลี (ซึ่งเกิดเองตามธรรมชาติ) และเริ่มทำการเพาะปลูก บริเวณเมโสโปเตเมียสมัยโบราณ เดิมเป็นที่ลุ่มเต็มไปด้วยหนองบึงด้วยการสร้างเขื่อนคันดินและการทดน้ำ ทำให้บริเวณดังกล่าวสามารถทำการเพาะปลูกได้ผลดีถึงปีละ ๓ ครั้ง

ปัจจัยแห่งความเจริญเติบโตในพื้นที่เมโสโปเตเมีย

บริเวณเมโสโปเตเมียเป็นบริเวณที่อากาศรุนแรง ฤดูร้อนอากาศร้อนจัด ฤดูหนาวอากาศหนาวจัด ฝนตกน้อย (ปีหนึ่งไม่เกิน ๓ นิ้ว) ความรุนแรงของภูมิอากาศทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ขาดความกระตือรือร้น ประกอบกับเป็นพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ในที่โล่ง ปราศจากกำแพงธรรมชาติที่จะป้องกันการบุกรุกจากศัตรูภายนอก เมื่อถูกศัตรูที่แข็งแกร่งรุกรานก็หลีกทางให้ เมโสโปเตเมียจึงเป็นบริเวณชนหลายชาติหลายภาษา ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามายึดครองตลอดเวลา ก่อให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ศิลปะวิทยาการ

ชนพวกแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณเมโสโปเตเมีย คือ ชาวสุเมเรียน (Sumerian) ชนพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจากขาติใดไม่อาจทราบชัด ทราบแต่เพียงว่าเดิมเป็นชนเผ่าพเนจร อพยพมาจากภูเขาทางทิศตะวันออก เข้าไปตั้งถิ่นฐานแถบบริเวณปากแม่น้ำทั้งสองก่อนเมื่อประมาณ ๒๙๐๐-๒๘๐๐ ปีก่อนคริสตกาลแล้วขยายสู่คาบสมุทรชินาร์ (Shinar)

พวกสุเมเรียนเป็นเกษตรกรที่สามารถ รู้จักปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบ่อบึงด้วยการทดน้ำสร้างเขื่อนคูคลอง ทำให้ได้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ในไม่ช้าก็เจริญ มีนครหลวงชื่อนีปเปอร์ (Nipper) ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส

การตั้งถิ่นฐานของพวกสุเมเรียนนั้นกระจายย้ายกันอยู่ มีการปกครองแบบนครรัฐ แต่ละรัฐเป็นอิสระจากกัน นครรัฐเหล่านั้นได้แก่ อิริดู (Erido) คิช (Kish) บาบิโลน (Babylon) เออร์ (Ur) เออรุค (Uruk) และนีปเปอร์ (Nipper) นครรัฐต่าง ๆ เหล่านี้มีการทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันเองตลอดเวลา แต่ไม่มีรัฐใดสามารถครองความเป็นใหญ่อยู่ได้นาน จนกระทั่งประมาณ ๒๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ปรากฏว่าแคว้นเออร์มีอำนาจมาก สามารถตั้งราชวงศ์กษัตริย์แล้วแผ่อำนาจไปยึดนครรัฐบาบิโลนคิชและนิปเปอร์ไว้ในอำนาจได้ ต่อมาประมาณ ๒๒๗๕ ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์แห่งนครเออรุค ทรงพระนามว่าซักกิสิ (Zug-gisi) มีอำนาจมาก ได้ปกครองดินแดนระหว่างอ่าวเปอร์เซียจนจรดทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนทั้งหมดเป็นเหตุให้อารยธรรมสุเมเรียนแพร่หลายตลอดดินแดนเมโสโปเตเนียน ต่อจากยุคเมโสโปเตเมีย ได้มีพัฒนาการของอารยธรรมของชนเผ่าอื่น ๆ อีกตามลำดับ จนท้ายที่สุดอารยธรรมอิสลามก็เกิดขึ้นและเติบโตในภูมิภาคตะวันออกกลาง แผ่ขยายไปสู่อินเดีย สเปน และอาฟริกาเหนือ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๖-๗ และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทั้งทางด้านศิลปะวิทยาการและทางด้านการดำเนินชีวิตต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชาวยุโรปก็ได้ลอกเลียนแบบไปใช้และต่อยอดองค์ความรู้จนทำให้ชาวตะวันตกมีความก้าวหน้าทางวิทยาการสูงที่สุดในโลก ก็เนื่องมาจากพื้นฐานเทคโนโลยีและวัฒนธรรมของอิสลามนั่นเอง

อารยธรรมอิสลาม
(คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ. ๒๕๔๕:๑๘๔-๑๙๓)

อารยธรรมอิสลาม หมายถึง ความก้าวหน้าที่ได้รับแรงดลใจมาจากอิทธิพลของศาสนาอิสลาม สร้างขึ้นโดยชาวมุสลิมเชื้อชาติต่าง ๆ แต่เนื่องจากศาสดาโมหัมมัดผู้ประกาศศาสนาเป็นชาวอาหรับ ดังนั้น กลุ่มอาหรับจึงมีบทบาทสำคัญในการให้กำเนิดอารยธรรมอิสลาม แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นเจ้าของอารยธรรมเพียงชาติเดียว (ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์. ๒๕๔๖:๔๗-๔๘)

คาบสมุทรอาหรับในช่วงระยะที่อารยธรรมอิสลามถือกำเนิดเป็นดินแดนซึ่งประชากรแบ่งแยกออกเป็นเผ่านักรบหลายเผ่า ต่างก็มีวิถีชีวิตที่อาจแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ พวกที่เร่ร่อนตามทะเลทราย ซึ่งเรียกกันว่าพวกเบดูอิน (Bedouins) มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ จึงต้องเดินทางเร่ร่อนเพื่อแสวงหาทุ่งหญ้าและบ่อน้ำ ทำให้ไม่สามารถหยุดตั้งหลักแหล่งได้ พวกเร่ร่อนบางกลุ่มทำการเกษตร จึงตั้งถิ่นฐานชั่วคราวตามบริเวณแหล่งน้ำในทะเลทราย (Oasis) การดำเนินชีวิตอีกแบบหนึ่งคือพวกตั้งหลักแหล่งในเมืองยึดการค้าเป็นอาชีพ ด้วยเหตุที่เมืองในคาบสมุทรอาหรับสมัยนั้นมักตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าและเป็นเมืองท่าที่จอดพักของกองคาราวาน ชาวเมืองเหล่านี้จึงแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าจนมั่งคั่งร่ำรวย เช่น ชาวเมืองมักฮ์ (เมกกะ) เป็นต้น

แม้ว่าอารยธรรมอิสลามจะถือกำเนิดจากชนเผ่าที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองก็ตาม (ศาสดาโมหัมมัด เกิดที่เมืองมักกะฮ์ ในแคว้นฮิจญเราะฮ์ (Hijaz) ประเทศซาอุดิอารเบีย) แต่อิทธิพลของวัฒนธรรมของชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทราย ก็ปรากฏเด่นชัดอยู่ในพัฒนาการของอารยธรรมอิสลาม ทั้งนี้เพราะความผูกพันกันทางสายเลือด และขนบธรรมเนียมประเพณีของหมู่ชนทั้งสองพวก ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมของชนเผ่าเร่ร่อนมีความสำคัญต่อพัฒนาการของอารยธรรมอิสลาม เนื่องจากความแห้งแล้ง ทุรกันดาร เวิ้งว้าง และโดดเดี่ยวของทะเลทราย มีอิทธิพลต่อระบบความคิด สังคม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวอาหรับ การอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นกิจกรรมในทะเลทรายตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้ชนเผ่าเร่ร่อนรักอิสรภาพและยากที่จะปกครองหรือบังคับบัญชา ประวัติศาสตร์ของการสร้างจักรวรรดิอาหรับ แสดงให้เห็นว่าผู้นำที่สามารถพิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้เคร่งศาสนา สามารถดึงดูดความศรัทธาได้ เป็นนักรบที่เข้มแข็งและเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น จึงจะได้รับความจงรักภักดีจากชนเผ่าอาหรับและรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของจักรวรรดิไว้ได้ หากเมื่อใดที่ฐานอำนาจจากศูนย์กลางเสื่อมลง จักรวรรดิก็จะเริ่มแตกแยกออกจากกันและทำสงครามเข่นฆ่ากันเอง ความแห้งแล้งทุรกันดารของทะเลทรายก็ดี การมีชีวิตยากลำบากต้องสู้เพื่ออยู่รอดก็ดี ทำให้ชนเผ่าเร่ร่อนเหล่านั้นมีความกล้าหาญ อดทน เป็นนักรบที่เข้มแข็ง ครั้นเมื่อยอมรับศาสนาอิสลาม มีผู้นำที่สามารถและเข้มแข็ง เป็นนายทัพ (เช่น ศาสดาโมหัมมัด และกาหลิบ อุมัร เป็นต้น) ประกอบกับมีความเชื่อว่าทำการสงครามปกป้องศาสนาจะทำให้ได้ไปสู่ชีวิตบรมสุขในสวรรค์ กองทัพอาหรับจึงได้ชัยชนะในการรบและขยายอำนาจได้อย่างรวดเร็ว จึงเห็นได้ว่าแรงศรัทธาในศาสนาใหม่ ซึ่งพระโมหัมมัดได้สร้างขึ้น ประกอบกับความกล้าหาญ แข็งแกร่ง อดทน และชนเผ่าเร่ร่อนชาวอาหรับ ทำให้เกิดจักรวรรดิอิสลาม ซึ่งสร้างขึ้นด้วยการชนะสงคราม ความจำเป็นที่จะต้องรักษาตัวให้รอดพ้นจากการฆ่าฟันทำลายล้างกัน และเพื่อดำรงชีพในทะเลทรายอันประกอบด้วยภัยอันตรายได้ทำให้ชนเผ่าเร่ร่อนชาวอาหรับรู้จักสร้างขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้น และยึดถือราวกับเป็นกฎหมายของตน ขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้ ประกอบกับภาษาอาหรับซึ่งแต่ละเผ่าสามารถใช้และเข้าใจกันได้ นับเป็นรากฐานของวัฒนธรรม และความเป็นชาติหนึ่งชาติเดียวกันของชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายอาหรับ ตัวอย่างของขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าเร่ร่อน เช่น การดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในกระโจมเพื่อสะดวกแก่การอพยพ ครอบครัวหนึ่งจะอาศัยอยู่ในกระโจมหนึ่ง หลาย ๆ ครอบครัวจะเดินทางเร่ร่อนไปด้วยกันเป็นกลุ่ม สมาชิกทุกคนของกลุ่ม ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือนับญาติกันได้ นับว่าอยู่ในสกุลเดียวกัน มีผู้อาวุโสของสกุลเป็นหัวหน้า สกุลต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกัน หรือมีความปรารถนาจะรวมกัน ก็สามารถรวมกันเป็นเผ่ามีหัวหน้าเผ่าเป็นผู้ปกครอง ผู้ที่อยู่ในสกุลเดียวกันหรือสังกัดเผ่าใดเผ่าหนึ่ง ย่อมจะได้รับความพิทักษ์ปกป้องอันตรายด้วย

ก่อนเกิดศาสนาอิสลาม ชาวอาหรับนับถือเทพเจ้าหลายองค์ แต่ละเผ่าจะมีเทพเจ้าประจำเผ่า มีศาลเทพารักษ์สำหรับเทพเจ้าของตน เพื่อให้สมาชิกเผ่าเดินทางมานมัสการประจำปี นอกจากเทพเจ้าประจำเผ่าแล้ว แต่ละเผ่าก็ยับนับถือเทพเจ้าอีกมากมายหลายองค์ รวมทั้งยังนับถือธรรมชาติแวดล้อม เช่น น้ำพุ ต้นไม้ และหิน เป็นต้น เทพเจ้าบางองค์และปูชนียสถานบางแห่งอาจเป็นที่ที่ชนทุกเผ่าในอาหรับนับถือเหมือนกันหมดก็ได้ เช่น หินดำทรงกลมในปูชนียสถานกะฮ์บรอที่เมืองเมกกะ เป็นสถานที่ที่ชนเผ่านับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้าหลายองค์และพากันเดินทางมานมัสการเป็นประจำปี ในบรรดาเทพเจ้าทั้งหลาย ชนเผ่าต่างๆ ในอาหรับนับถือพระอัลลอฮ์ (Allah) เป็นเทพเจ้าสูงสุด เพราะเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งทั้งหลาย สำหรับการทำพิธีบูชาเทพเจ้านั้น ชาวอาหรับมักใช้เลือดบูชายัญ เพราะเชื่อว่าเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเทพเจ้ากับเผ่าของตน โดยทั่ว ๆ ไปชาวอาหรับมิได้เคารพนับถือเทพเจ้าต่าง ๆ มากนัก การปฏิบัติศาสนาก็ดูจะเป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีของเผ่ามากกว่า จึงปรากฏอิทธิพลของอารยธรรมต่างๆ ในดินแดนอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของคริสต์ศาสนา และศาสนายิว ประมาณ

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ อิทธิพลของศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวมีพลังรุนแรงขึ้น กลุ่มชาวอาหรับผู้ใฝ่ฝันที่จะคิดเกี่ยวกับศาสนาให้ลึกซึ้งเห็นว่าศาสนาที่ตนนับถืออยู่ ไม่อาจตอบสนองความต้องการของตนได้ ในช่วงระยะนี้มักมีเรื่องเกี่ยวกับศาสดาผู้พยากรณ์เกิดขึ้นบ่อย ๆ ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของการนับถือพระเจ้าองค์เดียว และแสดงว่าชาวอาหรับเริ่มแสวงหาทางไปสู่การนับถือพระเจ้าองค์เดียว แทนการนับถือเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดังแต่ก่อน ในวาระนั้นเอง ศาสดาก็ปรากฏตัวขึ้นเพื่อตอบสนองสิ่งที่ชาวอาหรับแสวงหา

ความขัดแย้งระหว่างอิสลามกับตะวันตกในอดีต

สงครามครูเสด (ค.ศ. ๑๐๙๖-๑๒๗๙)
(สุวรรณา สัจจวีรวรรณ. ๒๕๒๕:๓๑๗-๓๒๕)

สงครามครูเสดเป็นสงครามศาสนาระหว่างคริสต์และอิสลาม เกิดขึ้นในระหว่างปลายศตวรรษที่ ๑๑ ถึงปลายศตวรรษที่ ๑๓ กินเวลาเกือบ ๒๐๐ ปี สงครามครูเสดนี้มีความสำคัญต่อยุโรปเป็นอันมาก และได้ทำให้คริสต์ศาสนาและศาสนาอิสลามรู้จักขันติธรรมทางศาสนาขึ้น แสวงหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติในเวลาต่อมา

สาเหตุของสงครามครูเสด

สาเหตุใหญ่ของสงครามครูเสดพอจะแยกได้เป็น ๔ ประการ ดังนี้
๑. เป็นปฏิกิริยาตอบโต้การรุกรานของพวกตะวันตก (คริสเตียน) ต่อผู้รุกรานตะวันออก (มุสลิม) ในแง่นี้เราพอจะมองเห็นความสัมพันธ์อันเป็นปรปักษ์กันระหว่างตะวันออกและตะวันตกจากสงครามกรุงทรอย และสงครอมเปอร์เซียในประวัติศาสตร์โบราณเป็นภาคต้น สงครามครูเสดเป็นภาคกลาง และการขยายอำนาจแสวงหาอาณานิคมในศตวรรษที่ ๑๙ เป็นภาคสุดท้าย และเมื่อพิจารณาในวงแคบลงมา มุสลิมได้รุกรานยุโรปมาหลายศตวรรษแล้ว นับแต่ปี ค.ศ. ๖๓๒ เป็นต้นมา ชาวตะวันออกที่เป็นอิสลามได้ขยายอำนาจของตนล่วงล้ำเข้าไปในเขตแดนที่ตะวันตกเคยได้อำนาจไว้ เช่น ซีเรีย อาฟริกาเหนือ อียิปต์ ตลอดจนคาบสมุทรไอบีเรีย ซ้ำยังคุกคามจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ในโลกตะวันตกคือ ไบแซนไทน์ และสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่สถาบันที่เป็นหัวใจของวัฒนธรรมตะวันตกขณะนั้นคือ กรุงโรมของสันตะปาปา โดยการปล้นสะดมอิตาลีบางส่วน ตลอดสมัยนี้การค้ากับตะวันออกไกลตกอยู่ในมือของอิสลาม แล้วแต่ความเมตตาของคนตะวันออกจะโปรดให้เป็นไป สงครามครูเสดจึงเป็นความพยายามที่จะล้มอำนาจของชาวตะวันออกที่เป็นมุสลิมของโลกตะวันตกหลังจากที่แพ้มาเป็นเวลานาน (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๑๑: ๒๙๒)
๒. ในความต้องการของชาวยุโรปในแต่ละระดับ กษัตริย์ฝรั่งเศสและพวกเยอรมันต้องการได้ดินแดนเพิ่มขึ้น บรรดาอัศวินและขุนนางต้องการผจญภัยแสดงความกล้าหาญตามอุดมการณ์อัศวินที่ดี พวกทาสต้องการเป็นอิสระ เสรีชนต้องการความร่ำรวยและแสดงความศรัทธาต่อศาสนา ความต้องการเหล่านี้ได้จูงใจให้ชาวยุโรปเดินทางผ่าฟันภยันตรายไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์
๓. สันตะปาปา ซึ่งมีอำนาจมากในยุโรปตะวันตกนั้นต้องการอำนาจเพิ่มขึ้น ด้วยความทะเยอทะยานที่จะรวมคริสตศาสนานิกายตะวันออกเขากับนิกายโรมันคาทอลิคภายใต้การบังคับบัญชาของตน สันตะปาปาจึงเป็นตัวเร่งเป็นอย่างดีในสงครามแต่ละครั้ง
๔. จักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันตะวันออกต้องเผชิญกับการรุกรานของพวกมุสลิมที่มีพวกเซลจุ๊คเป็นผู้นำ การรุกรานได้หนักหน่วยขึ้นทุกทีเข้าใกล้ส่วนกลาของจักรวรรดิ พระองค์จึงอยากจะยืมมือของคริสเตียนด้วยกันช่วยยับยั้งการรุกรานและรักษาจักรวรรดิเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

พฤติกรรมของสงครามครูเสด

สงครามครูเสดอาจแบ่งออกเป็น ๓ ระยะด้วยกัน (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๑๑:๒๙๓-๓๐๕) คือ ระยะแรก ระหว่างปี ค.ศ. ๑๐๙๖-๑๑๔๖ เป็นระยะการยึดครองของคริสเตียน ระยะที่สองระหว่างปี ค.ศ. ๑๑๔๗ – ๑๒๐๑ เป็นระยะตอบโต้ของอิสลาม ระยะที่สามระหว่างปี ค.ศ. ๑๒๐๒-๑๒๗๙ เป็นระยะสงครามย่อย

สงครามครูเสดระยะแรกเริ่มจากสันตะปาปาเออร์บันที่ ๒ ได้รับสาสน์ร้องขอจากจักรพรรดิอเล็กซิอุสให้ช่วยกู้ดินแดนศักดิ์สิทธิ์คืนจากพวกนอกศาสนา ประกอบกับพวก
เซลจุ๊คเตอร์กได้กระทำทารุณกรรมต่อชาวคริสต์ที่เดินทางไปนมัสการดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เยรูซาเล็ม เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๐๙๕ สันตะปาปาได้เรียกประชุมพระและฆราวาสครั้งใหญ่ที่เมืองเคลอมองต์ให้คริสเตียนคล้อยตามด้วยการโจมตีอิสลามว่ารุกรานดินแดนของชาวคริสต์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ทำลายวัดวาอาราม ทำความมัวหมองให้เกิดแก่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ ชุ่มไปด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง และท้ายที่สุดก็กระตุ้นว่าเดินทางเข้าถนนที่นำไปสู่หลุมศพศักดิ์สิทธิ์ ช่วยชิงสถานที่นั้นมาจากเผ่าชนที่ชั่วร้ายและครอบครองเสีย ปรากฏว่า
สุนทรพจน์นี้จับใจชาวคริสต์มาก เรียกร้องศรัทธาได้อย่างมากมาย หลังจากนั้นสงครามครูเสดครั้งแรกจึงได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๐๙๖ เมื่อปีเตอร์และวอลเตอร์ (Peter the Hermit, Walter the Penniless) รวบรวมชาวนา คนยากจน ทาสได้ถึง ๗,๐๐๐ คน ยกทัพมุ่งหน้าไปทางตะวันออก กองทัพที่ไร้ระเบียบวินัยนี้เข้าปล้นสะดมตามรายทางที่ผ่านไป ในที่สุดก็ไปถึงคอนสแตนติโนเปิล และเมื่อพบกับพวกมุสลิมก็ย่อมพ่ายแพ้ยับเยินเป็นธรรมดา

แต่สงครามครูเสดครั้งที่แท้จริงนั้นนำโดยสันตะปาปา โดยออกเดินทางในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๐๙๖ ประกอบด้วยขุนนางคนสำคัญของยุโรป และไปถึงคอนสแตนติโนเปิลตามลำดับ ดังนี้
๑. Huge of Vermadois มาทางใต้ของอิตาลี และมุ่งไปคอนสแตนติโนเปิล เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๐๙๖
๒. Godfrey of Bouillon และ Baldwin น้องชาย มาทางบกโดยผ่านฮังการีถึงคอนสแตนติโนเปิล ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๐๙๗
๓. Bohemond of Orronto และ Tancred ไปถึงภายหลังกอดเฟรย์เล็กน้อย
๔. Raymond of Toulouse และผู้แทนสันตะปาปา (Adhemar of Puy)
๕. Robert of Normandy ไปถึงพร้อมๆ กับ Stephen of Blois รวมกองทัพมีกำลังถึง ๓๐,๐๐๐ คน หลังจากกระทำสัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่หักหลังจักรพรรดิอเล็กซิอุสแล้ว กองทัพครูเสดก็ข้ามฝั่งเอเชียไมเนอร์ยึดได้นิชเซียและมอบคืนให้จักรพรรดิ ต่อจากนั้นกองทัพครูเสดก็เข้ายึดเอเชียไมเนอร์ได้ทั้งหมด ประกอบกับขณะนั้นพวกมุสลิมเซลจุ๊คกำลังเสื่อมอำนาจมากแล้ว แนวต้านทานจึงไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร พื้นที่ต่าง ๆ บนฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียนจึงตกอยู่ใต้ครอบครองของพวกครูเสดทั้งหมด รวมทั้งเยรูซาเล็ม หลังจากล้อมอยู่ ๑ เดือน กองทัพอียิปต์ที่รักษาเมืองอยู่ ๑,๐๐๐ คน ก็ยอมแพ้ คริสเตียนได้เข่นฆ่ามุสลิมขนานใหญ่ จากเอกสารร่วมสมัยได้บันทึกไว้ว่า “กองศีรษะ มือ เท้าของมนุษย์เห็นได้ตามถนนและตามสี่แยกทั่วไป”

เมื่อยึดครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์ได้แล้ว พวกขุนนางทั้งหลายก็เข้าปกครองอาณาจักร แบ่งออกเป็นแคว้นๆ ประกอบด้วย Kingdom of Jerusalem, County of Edessa, Principality of Antioch, และ County of Tripoli อาณาจักรเหล่านี้รวมเรียกว่า “Latin State” กอดเฟรย์ได้รับเลือกขึ้นเป็น “Baron and defender of the Holy Sepulcher และบอลด์วินได้สืบตำแหน่งแทนเป็นกษัตริย์แห่งเยรูซาเล็ม สงครามครูเสดระยะแรกก็ยุติลงด้วยชัยชนะของพวกคริสเตียนสามารถขับไล่มุสลิมออกไปได้ ตั้งอาณาจักรปกครอง เศรษฐกิจและการค้าทางทะเลก็ตกอยู่ในมือของตะวันตกอย่างสิ้นเชิง การค้าทางทะเลเมดิเตอเรเนียนคึกคักขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พวกคริสเตียนก็ไปจารึกแสวงบุญได้โดยสะดวก แทนที่สงครามครูเสดจะจบลงแต่เพียงนี้ แต่ชัยชนะของคริสเตียนครั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอ่อนแอของพวกเตอร์ก แต่ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๑๒๐ เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อเจ้าชายแซงกิได้รวบรวมชาวมุสลิมซึ่งกระจัดกระจายเข้าเป็นปึกแผ่น และเข้าตี
เอเดสสาเพื่อตอบโต้คริสเตียน สงครามครูเสดตอนใหม่จึงได้เริ่มขึ้น

สงครามครูเสดระยะที่ ๒ (ค.ศ. ๑๑๔๗-๑๒๐๑) การตอบโต้การรุกรานของพวกตะวันตก เมื่อข่าวเอเดสสาแตกไปถึงยุโรป ชาวยุโรปแตกตื่นกันมาก เซนต์เบอร์นาร์ด พระชาวฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้ชาวยุโรปรวมกำลังกันไปรบกับพวกนอกศาสนาอีก เขากล่าวว่า “ชาวคริสต์ที่สามารถฆ่าพวกนอกศาสนาในสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ได้ จะพ้นจากบาปไปสู่สวรรค์อย่างแน่นอน และที่แน่นอนกว่านั้นถ้าเขาตายในสงครามครั้งนี้” จากการชักชวนอันเร้าใจเหล่านี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๗ แห่งฝรั่งเศส และคอนราดที่ ๓ จักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตกลงพระทัยไปร่วมสงคราม คอนราดออกเดินทางในปี ค.ศ. ๑๑๔๗ และหลุยส์ติดตามไปใน ค.ศ. ๑๑๔๘ แต่ไม่สามารถเอาชนะพวกเตอร์กได้ เพราะพวกขุนนางคริสเตียนเกรงว่ากองทัพครูเสดจะมาแบ่งผลประโยชน์ของตนในที่สุดก็ล้มเหลว ปล่อยดินแดนศักดิ์สิทธิ์อยู่ในภาวะถูกคุกคามจากเตอร์กต่อไป ใน ค.ศ. ๑๑๖๑ ซาละดินได้เป็นผู้นำเตอร์กคนใหม่ที่เข้มแข็งและเปรื่องปราชญ์ยิ่ง ได้ตอบโต้ผู้รุกรานอย่างเข้มแข็ง ค.ศ. ๑๑๘๗ ก็สามารถยึดเยรูซาเล็มได้อีก จับเชลยได้เป็นจำนวนมากรวมทั้งกษัตริย์อาณาจักรละตินด้วย และค่อย ๆ ขยายเขตยึดครองออกไปเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง
ทริโปลี และ เมืองแอนติออก กับเมืองเล็ก ๆ อีกไม่กี่เมืองเท่านั้น ข่าวการสูญเสียเยรูซาเล็มทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่จะส่งทัพครูเสดมากู้นครศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง กองทัพยุโรปมาคราวนี้มีกษัตริย์สำคัญถึง ๓ พระองค์ คือ พระเจ้าเฟรดเดอริค บาร์บารอสสาแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าฟิลิป ออกัสตัส แห่งฝรั่งเศส พระเจ้าริชาร์ดที่ ๑ (ใจสิงห์) แห่งอังกฤษ สันตะปาปาอนุญาตให้กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์เก็บภาษี ๑ ใน ๑๐ จากทรัพย์สินของวัดในแต่ละประเทศไปใช้ในสงครามครั้งนี้ได้ ภาษีนี้เรียกว่า “Saladio Tithe” ซึ่งหมายถึง “ภาษีเพื่อปราบ
ซาละดิน” ทัพกษัตริย์ทั้ง ๓ มุ่งสู่เอเชียไมเนอร์ พระเจ้าเฟรดเดอริค บาร์บารอสสาจมน้ำสิ้นพระชนม์ขณะนำทัพข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่งในเอเชียไมเนอร์ ทหารเยอรมันส่วนหนึ่งจึงกลับยุโรป มีส่วนน้อยที่ยังรบต่อไป ทัพของพระเจ้าฟิลิปและพระเจ้าริชาร์ดมักจะทะเลาะเบาะแว้งชิงไหวพริบกันอยู่แล้ว แต่ก็ยึดเมืองเอเคอร์ได้ใน ค.ศ. ๑๑๙๑ แล้วพระเจ้าฟิลิปก็เลิกทัพกลับฝรั่งเศส คงเหลือแต่ทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ยังสู้รบต่อไป การรบของพระเจ้าริชาร์ดและซาละดินเป็นที่เลื่องลือในตำนานและวรรณคดีสมัยกลาง ผลัดกันแพ้ชนะ อย่างไรก็ตามความสำเร็จของพวกคริสเตียนมีเพียงเล็กน้อย ชัยชนะที่ได้ส่วนใหญ่เป็นการตกลงกันอย่างสันติมากกว่าการใช้อาวุธโดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าเมืองชายฝั่งตั้งแต่เมืองไทร์ไปทางใต้เป็นของละติน ส่วนภายในเป็นของมุสลิม เมื่อทำสัญญากันแล้วพระเจ้าริชาร์ดก็ยกทัพกลับอังกฤษมาขึ้นบกผ่านยุโรป ถูกเจ้าชายลีโอโปลด์แห่งออสเตรียจับตัวไปเรียกค่าไถ่ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ครูเสดครั้งนี้จึงนับว่าล้มเหลวอีก

สงครามครูเสดระยะที่ ๓ (ค.ศ. ๑๒๐๒-๑๒๗๙) ระยะของสงครามย่อย หลังจากสงครามครูเสดระยะที่สองแล้วเตอร์กเมื่อสิ้นซาละดิน (ค.ศ. ๑๑๙๓) อาณาจักรเตอร์กที่แตกแยกเพราะซาลาดินยกดินแดนให้ลูกชายหลายคน รวมทั้งน้องชาย ทางยุโรปพวกพระก็พยายามเร่งเร้าให้กษัตริย์และขุนนางมาทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ต่อไปอีก ได้เกิดสงครามครูเสดย่อย ๆ อีก ๔ ครั้ง แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก เพราะพวกครูเสดในระยะหลัง ๆ ได้เปลี่ยนจุดมุ่งหมายจากการปลดปล่อยดินแดนศักดิ์สิทธิ์มาเป็นการแสวงหาความร่ำรวยด้วยการยึดครองดินแดนและปล้นสะดม ทำให้สันตะปาปาเองก็อับอายการกระทำของคริสเตียนเหล่านี้ จนในที่สุดชาวยุโรปก็หมดความกระตือรือร้น สงครามจึงยุติลงใน ค.ศ. ๑๒๗๙ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ก็ยังคงอยู่กับพวกนอกศาสนาต่อไป แต่สงครามครั้งนี้ก็ได้มีผลกระทบต่อยุโรปมากมาย

ผลของสงครามครูเสด

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในสงครามครูเสด ตลอดเวลาเกือบ ๒๐๐ ปี ที่คนในยุโรปซึ่งมีวัฒนธรรมโดยทั่วไปในระดับต่ำกว่าอิสลาม ได้มาสัมผัสกับวัฒนธรรมที่สูงกว่าในโลกของอิสลาม ชาวยุโรปได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปหลายประการ แต่อิทธิพลจากตะวันออกที่ได้รับนั้นเป็นเรื่องศิลปะ การอุตสาหกรรม และการค้ามากกว่าทางด้านวิทยาการหรือวรรณคดี ทั้งนี้เพราะชาวยุโรปที่เดินทางมาตั้งหลักแหล่งหรือมาสัมพันธ์กับมุสลิมในช่วงเวลานี้ล้วนเป็นพวกอัศวินทหารเลว และนักแสวงหาโชคลาภมากกว่านักปราชญ์ บุคคลเหล่านี้ไม่มีความสามารถที่จะซึมซับสิ่งใดที่ดีเลิศได้ นอกจากสิ่งที่หยิบฉวยจับต้องได้ง่าย ทางตรงกันข้ามยุโรปได้มารู้จักกับมุสลิมที่อยู่ตามชายอาณาเขต ในยุคที่อารยธรรมอิสลามกำลังจะเสื่อม ชาวมุสลิมที่ชาวยุโรปรู้จักในราชอาณาจักรของตนจึงเป็นแต่ชาวบ้านนอกผู้ไร้การศึกษา และไม่เจริญไปกว่าชาวยุโรปเองเท่าไรนัก ความชิงชังมุสลิมที่เห็นเป็นศัตรูกับศาสนาของตนยิ่งสร้างอคติแก่ชาวยุโรปมาก จนกระทั่งเป็นการยากที่จะเรียกรู้สิ่งที่ดีงามของอิสลาม เช่น วิทยาการกรีกที่มุสลิมสั่งสมสร้างสรรค์ไว้

ในส่วนของชาวมุสลิมได้รับเพียงความย่อยยับของบ้านเมืองของตน แม้ว่าตลอดสมัยครูเสด ไม่ค่อยจะมีการรบบ่อยครั้งนักก็ตาม แต่โรคระบาดที่เกิดจากความอดอยาก การสังหารหมู่ ในแต่ละครั้งที่ทั้งสองฝ่ายผลัดกันยึดครองเมืองต่าง ๆ ตลอดจนความกลัวซึ่งกันและกัน ทำให้ไม่มีใครประสงค์จะกอบกู้เมืองเหล่านั้นให้คงคืนอีกตลอดมา ในปัจจุบันไม่มีสิ่งใดที่เป็นอนุสรณ์ของสงครามครูเสดในตะวันออกกลางเลย นอกจากความชิงชังและความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคนสองศาสนาที่ยังเหลือตกทอดมาในประชาชนแถบนี้จนถึงปัจจุบัน

ในราชอาณาจักรของพวกครูเสด มีการแปลตำราทางวิทยาศาสตร์จากภาษาอาหรับเพียงเล่มเดียว คือตำราแพทย์ของมอชูสิที่เมืองแอนติออคในปี ค.ศ. ๑๑๒๗ อิทธิพลจากอิสลามอีกประการหนึ่งทางด้านการแพทย์ คือการสร้างโรงพยาบาลขึ้นในยุโรป ทางด้านวรรณคดีก็ได้บ้างเล็กน้อยที่ไม่ค่อยสำคัญนัก เช่น นิทานบางเรื่องที่ปรากฏในงานของซอเวอร์ก็ได้เค้ามาจากอาหรับราตรี เดคาเมรอนของบอคคัซซีโอก็มีเรื่องทางตะวันออกอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญกว่านั้นก็คือสงครามครูเสด กระตุ้นให้นักศึกษาในยุโรปเริ่มสนใจภาษาอาหรับ ค.ศ. ๑๒๗๖ บาทหลวงคนหนึ่งในฝรั่งเศส ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นเพื่อศึกษาภาษาอาหรับ เนื่องจากเห็นว่าวิธีที่จะจัดการกับพวกมุสลิมนอกศาสนานี้ก็คือการกลับใจให้เป็นคริสเตียน ใน ค.ศ. ๑๓๑๑ สภาแห่งเวียนนาก็อนุมัติให้สอนภาษาอาหรับและตาดขึ้นที่มหาวิทยาลัยปารีส ลูแวง และซาลามันกา

จากการต่อสู้ในห้วงระยะเวลาอันยาวนาน การสะสมความหวาดระแวงระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิม ยังผลให้มีการกล่าวขวัญถึงสงครามครูเสดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แสดงถึงความพร้อมที่จะปลุกความขัดแย้งภายในจิตใจระหว่างบุคคลต่างวัฒนธรรมขึ้นได้ทุกขณะ

ความขัดแย้งระหว่างอิสลามกับตะวันตกในปัจจุบัน

หลังเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และเพนตากอนในนิวยอร์ก โลกมุสลิมถูกจับตามองอย่างมาก เพราะสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ชี้นิ้วไปที่อุสามะฮ์ บินลาดิน ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองได้ปฏิเสธกับหนังสือพิมพ์ปากีสถานถึงสามครั้งว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สหรัฐฯก็เดินหน้าถล่มอัฟกานิสถานตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๐๐๒ เป็นต้นไป และยุติการโจมตีเมื่อแน่ใจว่ากองกำลังฏอลิบาน (Taliban) และอัลกออิดะฮ์ (Qaida) ของเขาไม่อยู่ในสถานะที่จะตอบโต้ได้แล้ว ฝ่ายฏอลิบาน และ กองกำลังอัลกออิดะฮ์ ส่วนหนึ่งถูกจับเป็นเชลยและถูกส่งไปอยู่ในค่ายกวนตานาโมของสหรัฐฯ ในคิวบา ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสหรัฐฯ ดูแลเชลยเหล่านี้อย่างไม่ให้เกียรติและไม่เป็นไปตามข้อตกลงเจนีวาว่าด้วยการดูแลเชลยศึก (จรัญ มะลูลีม. ๒๕๔๕:๒๖)

ประเทศมุสลิมหลายประเทศถูกกดดันและปัญหาการก่อการร้ายถูกผูกโยงเข้ากับชาวมุสลิมในหลายๆ แห่ง เช่น ในหมู่บ้านเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ มีการอาสาส่งทหารเข้ามาช่วยกองกำลังฟิลิปปินส์ปราบปรามกลุ่มอะบูซัยยัฟโดยรัฐบาลสหรัฐฯ การเชื่อมโยงกลุ่มอัลกอดิดะฮ์กับมุสลิมในอาเจห์ อินโดนีเซีย การต่อต้านการคลุมหิญาบ ในโรงเรียนประถมของสิงคโปร์ การพยายามโยงเอาการก่อการร้ายมาเป็นเครื่องมือในการปราบปรามฝ่ายค้านของรัฐบาลอัมโนในมาเลเซียและการจำขังโดยไม่มีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวโยงกับขบวนการ
อัลกออิดะฮ์ ฯลฯ

ประชาชนในโลกมุสลิมจำนวนมากยังชื่นชมฏอลิบาน อัลกออิดะฮ์ และอุสามะฮ์ บินลาดิน ว่าเป็นวีรบุรุษของพวกเขา เพราะพวกเขารู้จักบินลาดิน มานานแล้วว่าเป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ อันเป็นประเทศที่ชาวมุสลิมมองว่าเข้ามากอบโกยเอาประโยชน์จากโลกมุสลิมและสนับสนุนอิสราเอลอย่างไร้เหตุผลจนนำไปสู่ความตายของชาวปาเลสไตน์ในเขตยึดครองอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่มติของสหประชาชาติที่ ๒๒๔ และ ๓๓๘ ให้อิสราเอลถอนตัวออกจากเขตยึดครองตั้งแต่ปี ๑๙๖๗ แต่จนถึงเวลานี้อิสราเอลก็ยังยึดครองดินแดนดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เมื่ออิรักรุกรานคูเวต สหประชาชาติสามารถกดดันให้ซัดดัมฮุสเซ็น ออกไปจากคูเวตได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์คล้ายคลึงกันแต่สหรัฐฯ และสหประชาชาติกลับไม่อาจกดดันอิสราเอลให้ทำเช่นนั้นได้ นอกจากนี้ บินลาดินยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนฐานทัพออกไปจากซาอุดิอาระเบียแผ่นดินอันประเสริฐของอิสสามอีกด้วย ประชาชนส่วนใหญ่จึงชมชอบ แนวคิดของเขา ส่วนเรื่องการโจมตีตึกเวิลด์เทรดนั้นชาวมุสลิมส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาไม่ได้ทำ ดังนั้น การไล่ล่าตัวเขาและมุลลาห์ มุฮัมมัด อุมัร ผู้นำฏอลิบาน จึงเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวและไม่เป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิมส่วนใหญ่

แนวความคิดที่เน้นการแตกแยกระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิม

แนวคิดของแซมมวล ฮันติงตัน

ศาสตราจารย์ แซมมวล ฮันติงตัน แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลจอร์ช บุช และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางสาว คอร์โดลิซ่า ไรซ์ ซึ่งแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อโลกมุสลิมค่อนข้างมาก ก่อให้เกิดความตึงเครียดในโลกยุคปัจจุบัน ฮันติงตัน มีความเชื่อว่า ความแตกแยกระดับมหาภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และที่มาของความขัดแย้งต่างๆ จะมาจากด้านวัฒนธรรม การปะทะกันระหว่างอารยธรรม จะครอบงำการเมืองโลก การปะทะที่สำคัญที่สุดจะเป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตก กับ "อารยธรรมที่มิใช่ตะวันตก" แต่เขาใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในบทความและหนังสือ บรรยายความขัดแย้ง ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและมีแนวโน้มว่าจะเกิด ระหว่างอารยธรรมที่เขาเรียกว่า ตะวันตกข้างหนึ่ง และอารยธรรม "อิสลามและขงจื๊อ" อีกข้างหนึ่ง ในแง่รายละเอียด ฮันติงตันแสดงท่าทีต่อต้านอิสลามอย่างชัดเจนมากกว่าอารยธรรมอื่นใดทั้งหมด ซึ่งภาพสะท้อนดังกล่าวนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น (www.midnightuniv.org)

การปะทะระหว่างวัฒนธรรมในโลกนั้น ฮันติงตันพิจารณากลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ ๆ ทั้งงหมด ๘ อารยธรรม คือ (www.thaipost.net)
๑. อารยธรรมจีนหรือขงจื๊อ นำโดยประเทศจีน กลุ่มประเทศที่รับอิทธิพลจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวโยงกันในเวียดนามกับเกาหลี
๒. อารยธรรมญี่ปุ่น ถึงจะเป็นสาขาย่อยของวัฒนธรรมจีน แต่ก็ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้อารยธรรมนี้จะมีขนาดเล็กในแง่ภูมิศาสตร์ก็ตาม
๓. อารยธรรมฮินดู เป็นอารยธรรมเก่าแก่ ถือกำเนิดขึ้นในอนุทวีปอินเดียมาตั้งแต่ปี ๑๕๐๐ ก่อนคริสต์ศักราช ถือเป็นหัวใจของวัฒนธรรมอินเดียในปัจจุบัน
๔. อารยธรรมอิสลาม ถือกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ ๗ บนคาบสมุทรอารเบีย และแผ่ขยายไปในหลายภูมิภาคของโลก
๕. อารยธรรมออร์โธดอกซ์ มีศูนย์กลางอยู่ที่รัสเซีย แยกตัวจากศาสนาคริสต์แบบตะวันตกเพราะมีแหล่งกำเนิดจากอาณาจักรไบแซนไทน์ ได้รับอิทธิพลของตะวันตกจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ยุคปฏิรูป และยุคแห่งเหตุผล ค่อนข้างน้อย
๖. อารยธรรมตะวันตก มีรากเหง้ามาจากยุคคลาสสิกของกรีกกับโรมันช่วง ค.ศ.๗๐๐ มีเอกลักษณ์อยู่ที่นิกายคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์ ภาษากลุ่มยุโรป การแบ่งกิจการของฝ่ายอาณาจักรกับศาสนจักร การปกครองด้วยหลักกฎหมาย หลักความหลากหลายทางสังคม การปกครองในระบบตัวแทน และความเป็นปัจเจกบุคคล มีศูนย์กลางอยู่ที่ยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และบางส่วนของละตินอเมริกา
๗. อารยธรรมละตินอเมริกัน แม้แตกตัวไปจากอารยธรรมยุโรป และอาจถือเป็นอารยธรรมย่อยของยุโรป แต่ก็มีลักษณะเฉพาะตัวในด้านวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ถือนิกายคาธอลิก มีชนเผ่าพื้นเมือง มีพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจในแบบของตัวเอง และมีวรรณกรรมกับภาษาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
๘. อารยธรรมแอฟริกัน ถึงจะเป็นลูกผสมจากอิทธิพลตะวันตก-คริสเตียน-อิสลาม แต่ก็มีวัฒนธรรมโดดเด่นเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะในแถบใต้ทะเลทรายซาฮาราลงไป โดยมีแอฟริกาใต้เป็นพี่ใหญ่

ฮันติงตันชี้ว่า หัวใจของทุกอารยธรรมนั้นอยู่ที่ศาสนา แล้วพูดเจาะจงลงไปถึงผู้นับถือศาสนาอิสลามกับศาสนาอื่นๆ ว่า (www.thaipost.com)

"...ในพื้นที่ทั้งหลายเหล่านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับประชาชนของอารยธรรมอื่นๆ ไม่ว่าคาทอลิก โปรเตสแตนท์ ออร์โธดอกซ์ ฮินดู จีน พุทธ หรือ ยิว นั้น โดยทั่วไปแล้วเป็นปรปักษ์กัน เกิดความรุนแรงในคู่ความสัมพันธ์เหล่านี้ในบางช่วงของประวัติศาสตร์ ความรุนแรงหลายกรณีเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ ไม่ว่ามองไปทางไหน ชาวมุสลิมมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติ คำถามย่อมตามมาว่า แบบแผนของความขัดแย้งในปลายศตวรรษที่ ๒๐ ระหว่างมุสลิมกับกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิมเช่นนี้ จะเป็นจริงในกรณีของคู่ความสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมอื่นๆ ด้วยหรือไม่ คำตอบคือไม่ มุสลิมมีประชากร ๑ ใน ๕ ของโลก แต่ในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ พวกเขามีส่วนพัวพันในความรุนแรงระหว่างกลุ่มมากกว่าผู้คนของอารยธรรมอื่น ๆ หลักฐานมีมากมาย..."

จากคำพูดดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งและการมีอคติต่อชาวมุสลิมอย่างรุนแรงของฮันติงตัน ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตก อันเป็นที่มาของความเกลียดชังระหว่างสมาชิกในวัฒนธรรมทั้งสอง

แนวคิดของซายิด กูเทบ

ซายิด กูเทบ เป็นนักรัฐศาสตร์ชาวอิยิปต์ซึ่งสำเร็จการศึกษาในสหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลหัวรุนแรง และมีส่วนเกี่ยวพันกับการสังหารประธานาธิบดีนัสเซอร์แห่งอียิปต์ เป็นผู้นำแนวคิดของกลุ่มวาฮาบิซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่อิทิศตนเพื่อยังไว้ซึ่งศาสนาอิสาลาม มาขยายผลเพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านตะวันตก พร้อมทั้งส่งเสริมการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่ายิฮัด เพื่อเอาชนะพวกนอกศาสนา (//en.wikipedia.org)

กูเทบ ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูแนวคิดอิสลามดั้งเดิม ที่ยึดคำสอนในพระคัมภีร์เป็นหลัก ทั้งในการดำเนินชีวิต การปกครอง และการควบคุมทางสังคม แนวคิดของเขามีอิทธิพลอย่างสูงต่อการวางแผนและการกำหนดกลยุทธของ อุสามะฮ์ บินลาดิน ผ่านทางหนังสือซึ่งเป็นที่นิยมมากในกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง เรื่อง Ma'alim fi-l-Tariq (Milestones), Fi zilal al-Qur'an (In the Shade of the Quran), Al-Islam wa Mushkilat al-Hadara (Islam and the Problems of Civilization), และ Ma'arakat al-Islam wa'l-Ra's Maliyya (The Battle Between Islam and Capitalism) (//en.wikipedia.org) กล่าวได้ว่า กูเทบ ก็คือ ฮันติงตัน ในส่วนของมุสลิมนั่นเอง แต่เขากลับมีอิทธิพลมากกว่า เพราะมีผู้นำแนวคิดของเขาไปขยายผลอย่างจริงจัง จนเกิดเหตุการณ์ ๙๑๑ ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๔

สรุป

อารยธรรมอิสลาม มีพัฒนาการทางด้านกรอบแนวความคิดและทางด้านวิทยาการ การประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งระยะแรกมีความก้าวหน้ามากกว่าสังคมตะวันตกเป็นอย่างมาก ที่มาของวิชาการที่สำคัญ เช่น พีชคณิต เราขาคณิต ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นในคาบสมุทรอาหรับทั้งสิ้น ชาวตะวันตกได้รับการถ่ายทอดวิทยาการเหล่านี้ เนื่องจากผลของสงครามครูเสด ทำให้พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของตะวันตกก้าวหน้ามากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีย้อนรอย ด้วยการลอกเลียนแบบมาจากชาวอาหรับ อย่างไรก็ตาม ความหวาดระแวงและความเกลียดชังระหว่างชาวมุสลิมและคริสเตียนก็ยังมีการจดจำสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ อันเป็นการง่ายที่จะทำการปลุกระดมความแตกแยกของกลุ่มชนทั้งสองให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลของนักคิดนักเขียนทั้งฝ่ายตะวันตกและฝ่ายมุสลิม ซึ่งบางส่วนมีการชี้นำให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงจากการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมใหญ่ ๆ ในโลก โดยวัฒนธรรม ตะวันตกของชาวคริสต์และวัฒนธรรมอิสลามของชาวมุสลิม ได้รับการชี้นำว่ามีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ประกอบกับท่าที่ของผู้นำโลกตะวันตก คือ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อกลุ่มประเทศมุสลิม ต่อเนื่องกันมาในระยะเวลายาวนาน เป็นการสร้างความหวดระแวงและความเกลียดชังซึ่งกันและกันให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก อันเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องกำหนดนโยบายต่างประเทศที่รอบคอบ โดยจะต้องไม่พยายามประกาศตนเข้าข้าฝ่ายใดอย่างเด่นชัด เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง

พ.อ.อนุชาติ บุนนาค
ก.ค.๔๙

บรรณานุกรม

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ. อารยธรรมสมัย ๑-๓. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๕.

จรัญ มะลูลีม, “ภาพรวมของโลกมุสลิมหลังเหตุการณ์ ๙, ๑๑ กันยายน ๒๐๐๑”, วิกฤติโลกวิกฤติเอเชีย. เอกสาประกอบการเสวนาทางวิชาการ โครงการอบรมครูระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ณ หอประชุมสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๕, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๕.

นิธิ เอียวศรีวงศ์, อิสลามสมัยแรก. พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๑.

ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์. อารยธรรมตะวันออก. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๔๖.

สุวรรณา สัจจวีรวรรณ. อารยธรรมตะวันออกและตะวันตก. กรุงเทพฯ: โอ เอส การพิมพ์, ๒๕๒๕.

Microsoft Co. Encarta Encyclopedia. CD-ROM. ๒๐๐๕.

//en.wikipedia.org

//www.midnightuniv.org

//www.thaipost.net





Create Date : 08 กรกฎาคม 2549
Last Update : 8 กรกฎาคม 2549 0:15:54 น. 36 comments
Counter : 6132 Pageviews.

 
โหยย.. ขอบพระคุณเรื่องดีๆเจ้าค่ะ

จริงๆ เข้ามาบล๊อคนี้ สองครั้งแล้ว

แต่เรื่องของวันนี้ เป็นเรื่องที่ ตะเข้ ชอบมากๆถึงมากที่สุดเจ้าค่ะ ขอขอบพระคุณที่เอามาลงให้ได้อ่านเจ้าค่ะ

เอามาลงอีกบ่อยๆนะเจ้าคะ ตะเข้ ขออนุญาตติดตามอ่านนะเจ้าคะ


โดย: Jakaey วันที่: 8 กรกฎาคม 2549 เวลา:1:14:59 น.  

 
น่ามีแผนที่สมัยโบราณประกอบนะเจ้าคะ

ตะเข้อยากรู้เรื่องปาเลสไตน์มากเลยเจ้าค่ะ ได้ยินมาแต่เด็กๆจนโตเวลาเราดูข่าวโทรทัศน์.. เชื่อว่าเด็กรุ่นหลังนี้ ไม่มีใครทราบที่มาหรือสาเหตุความขัดแย้ง..มากพอหรืออาจไม่อยู่ในความสนใจจริงจังหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ..

จริงๆแล้วเข้ เคยได้มีโอกาสอ่านมาบ้างแล้ว แต่ถ้ามีให้อ่านอีกเยอะๆ เข้ก็จะอ่านให้หมด เพื่อเทียบเคียงกันด้วยน่ะเจ้าค่ะ


โดย: Jakaey วันที่: 8 กรกฎาคม 2549 เวลา:1:22:52 น.  

 
ขอบคุณครับที่เห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์


โดย: พ.อ.อนุชาติ บุนนาค (anuchartbunnag ) วันที่: 9 กรกฎาคม 2549 เวลา:22:34:24 น.  

 
ขอบคุณค่ะเพิ่งเข้ามาดูมีประโยชน์มาก ขอให้สรุปอารยธรรมตะวันตกสมัยกลางและสมัยใหม่ได้ไหมคะ
ขอบพระคุณค่ะ


โดย: สินธุ IP: 203.172.60.147 วันที่: 23 สิงหาคม 2549 เวลา:23:13:14 น.  

 
เนื้อหาดีมาก


โดย: gift IP: 203.113.67.69 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2549 เวลา:21:38:38 น.  

 
ความเจริญของอารยธรรมยุโรปในปัจจุบัน รับและพัฒนามาจากอารยรรมเมโสโปเตเมียและอียิปต์โบราณอย่างไรครับ


โดย: เริงศักดิ์ IP: 202.28.35.1 วันที่: 16 พฤศจิกายน 2549 เวลา:18:28:30 น.  

 
อิสลามนั้นชัดเจน แต่ที่ไม่ชัดนั้น คือพวกเรา


โดย: วี IP: 203.156.101.203 วันที่: 4 ธันวาคม 2549 เวลา:14:12:18 น.  

 
เอ้อ คือผทอยากรู้ว่า ศูนย์กลางความเจริญของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้อยู่ที่ไหนอ่ะครับ แต่ถ้าเกิดในบทความบอกไว้แล้วกระผมต้องขออภัยด้วยนะครับ (เพราะกระผมหาไม่เจอ อิอิ)


โดย: izad_got IP: 222.123.47.21 วันที่: 11 ธันวาคม 2549 เวลา:12:24:55 น.  

 
อ่านไม่จบวันหลังมาอ่านใหม่น่ะค่ะอย่าพึ่งโกรธ


โดย: น้องอี IP: 203.153.166.174 วันที่: 17 ธันวาคม 2549 เวลา:14:58:37 น.  

 
ย้าวยาว


โดย: .ง..ง.. IP: 203.153.169.27 วันที่: 6 มกราคม 2550 เวลา:13:20:39 น.  

 
ดีมั่กมากเรยยยยยยยคร้ากาลังหาอยู่พอดี


โดย: vvv^_^vvv IP: 203.113.80.12 วันที่: 8 มกราคม 2550 เวลา:16:50:50 น.  

 
525685


โดย: 9999 IP: 61.7.228.42 วันที่: 22 มกราคม 2550 เวลา:9:16:21 น.  

 


โดย: ชาม IP: 202.29.37.240 วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:11:10:12 น.  

 
เป็นเรื่องที่กำลังเรียนอยู่พอดีเป็นเรื่องที่หน้าศึกษามาก


โดย: ตรึม IP: 203.172.150.187 วันที่: 23 พฤษภาคม 2550 เวลา:9:09:19 น.  

 
ขอบคุณมั่กๆ กำลังต้องการพอดีเลยอ่ะ


โดย: Chompu' IP: 203.113.80.137 วันที่: 27 มิถุนายน 2550 เวลา:18:02:55 น.  

 
ดีใจที่บทความนี้เป็นประโยชน์ต่อท่านผู้ที่สนใจครับ


โดย: พ.อ.ดร.อนุชาติ บุนนาค IP: 58.9.94.103 วันที่: 1 กรกฎาคม 2550 เวลา:6:23:44 น.  

 


โดย: หนอน IP: 125.24.12.200 วันที่: 3 กรกฎาคม 2550 เวลา:13:19:09 น.  

 
สงครามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ไม่ต่างจากอดีตครับ
เรื่องศาสนา

และการไม่ยอม ของคริสต์

ทั้งหมดมาจาก ยิวครับ

เชิญส่งmailได้ครับ


โดย: usufd@gmail.com IP: 125.24.142.169 วันที่: 9 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:32:42 น.  

 
เรียน คุณ usufd@gmail.com

ยิวก็เป็นชนชาติหนึ่งในโลก เคยมีอดีตที่ทนทุกข์มาตั้งแต่ยุคกว่า ๒ พันปีก่อน เคยรุ่งเรืองและล่มสลาย เคยรบราฆ่าฟันกันเอง และถูกคนอื่นมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ก็ยืนหยัดมาได้ แต่ผมก็คิอว่ายิวมิได้ดีวิเศษหรือชั่วร้ายไปกว่าชนชาติอื่นเลย เพียงแต่พวกยิวมีความเหนียวแน่นในการรวมกลุ่ม มีประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องกันมายาวนาน และมีความภาคภูมิใจในความเป็นยิว พร้อมทั้งการยึดมั่นในอัตลักษณ์หรือวิถีชีวิตแบบยิวอย่างเคร่งครัด จึงยืนหยัดมาได้จนทุกวันนี้

สิ่งที่ยิวมีมากกว่าคนไทยก็คือความภูมิใจในชาติ และความเสียสละให้แก่บ้านเมือง ผมเชื่อเช่นนั้น


โดย: พ.อ.ดร.อนุชาติ บุนนาค IP: 58.8.98.160 วันที่: 20 กรกฎาคม 2550 เวลา:15:58:40 น.  

 
เชื้อสายของชาวยิวมาจากลูกหลานของนบีอิสหาก(ไอแซก)และนบีอิบรอฮีม(อับราฮัม)ใช่ไหม


โดย: ขอถาม IP: 61.91.193.146 วันที่: 22 กรกฎาคม 2550 เวลา:15:42:45 น.  

 
เขียนได้ดีมากคะ ขอบคุณมากคะ


โดย: ก้ามปู IP: 203.153.189.1 วันที่: 26 กรกฎาคม 2550 เวลา:15:33:22 น.  

 
ได้ความรู้


โดย: ก้ามปู IP: 203.153.189.1 วันที่: 26 กรกฎาคม 2550 เวลา:15:35:05 น.  

 
ได้ความรู้มากมายเลยคะ เเล้วยังเข้าใจเเล้วก็อ่านง่ายด้วย


โดย: ขอบคุณนะคะ IP: 58.9.80.77 วันที่: 2 กันยายน 2550 เวลา:8:47:45 น.  

 
อยากได้รูปครับ


โดย: เอาไปทำงาน IP: 58.9.110.47 วันที่: 8 กันยายน 2550 เวลา:14:11:47 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: -- IP: 203.118.121.105 วันที่: 27 กันยายน 2550 เวลา:16:13:28 น.  

 
ช่วยวิจารณ์อารยธรรมอิสลามดว้ยนะคะ เพราะอยากรู้ว่ามันดียังไง เสียยังไง มีประโยชน์ยังไง จุดเด่นคือ..ไรคะ


โดย: แอนนา IP: 202.28.118.85 วันที่: 16 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:17:01 น.  

 
แง้แง้ อยากได้อารยธรรมจีนน่ะค่ะ ม่ายมีเรยย์


โดย: พลอย IP: 203.113.17.149 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:24:54 น.  

 
ดีมากๆเลยครับ(ชอบ)


โดย: ตาม IP: 202.29.11.229 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:13:54 น.  

 
เธชเธธเธ”เธขเธญเธ”เน€เธฅเธข


โดย: เน„เธกเนˆเธฃเธนเน‰เน€เธซเธกเธทเธญเธ™เธเธฑเธ™ IP: 203.172.169.34 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:11:42:54 น.  

 
ดีค่ะ ตรงกับเนื้อหาที่ต้องการพอดี
ขอบคุณมากๆ


โดย: สิ IP: 203.172.245.34 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:11:43:01 น.  

 
ขอบคุนคับสำหรับความรู้นี้


โดย: อชิ IP: 58.147.55.182 วันที่: 1 สิงหาคม 2551 เวลา:12:18:06 น.  

 
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ พอดีได้ค้นคว้าประกอบการพรีเซ็นต์ ไม่เคยทราบ มาก่อนเพราะเรียนสายวิทย์มา ค่ะและไม่ค่อยได้สนใจประวัติศาสตร์ ดีมากๆ เลยค่ะ


โดย: K_angle IP: 202.91.18.204 วันที่: 31 สิงหาคม 2551 เวลา:21:29:46 น.  

 
ยอดเยี่ยม ชัดเจน


โดย: zoo IP: 117.47.206.170 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา:17:37:02 น.  

 
ว้าวว ขอบคุนมากเรยค่ะ

เราต้องอ่านอ่ะ ในหนังสืออย่างเดียวมัน brief มากๆเรย

ขอบคุนน่ะค่ะ

จาติดตามเรื่องต่อๆไปน่ะค่ะ


โดย: ลา ลา ลัล ลา IP: 58.8.230.232 วันที่: 21 ธันวาคม 2551 เวลา:17:23:45 น.  

 
"อารยธรรมอิสลาม มีพัฒนาการทางด้านกรอบแนวความคิดและทางด้านวิทยาการ การประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งระยะแรกมีความก้าวหน้ามากกว่าสังคมตะวันตกเป็นอย่างมาก ที่มาของวิชาการที่สำคัญ เช่น พีชคณิต เราขาคณิต ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นในคาบสมุทรอาหรับทั้งสิ้น ชาวตะวันตกได้รับการถ่ายทอดวิทยาการเหล่านี้ เนื่องจากผลของสงครามครูเสด ทำให้พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของตะวันตกก้าวหน้ามากขึ้นอย่างรวด เร็ว โดยใช้เทคโนโลยีย้อนรอย ด้วยการลอกเลียนแบบมาจากชาวอาหรับ"


ลองยกตัวอย่างหน่อยได้ไหมครับ จะได้กระจ่าง


โดย: warodako IP: 222.123.140.30 วันที่: 19 มีนาคม 2552 เวลา:18:59:23 น.  

 
เนื้อหายาวมาก แต่ก้อดี


โดย: โอ้ มาย ก้อด IP: 125.26.98.25 วันที่: 18 กรกฎาคม 2552 เวลา:10:21:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.