พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
30 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 

บี มาย เกสท์ : เอกชัย เจียรกุล นักกีตาร์คลาสสิคไทยสร้างชื่อในเวทีโลก

บี มาย เกสท์ : เอกชัย เจียรกุล นักกีตาร์คลาสสิคไทยสร้างชื่อในเวทีโลก
ติดตามข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองจากสื่อต่างๆ ดูข่าวแล้วก็ไม่ค่อยมีอะไรให้รื่นรมย์นัก ทั้งสถานการณ์เมือง เศรษฐกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ ข้าวยากหมากแพง อ่านมากๆ ดูมากๆ ก็ทำให้จิตใจห่อเหี่ยว บี มาย เกสท์ เสาร์นี้ขอนำเรื่องชื่นอกชื่นใจมาฝากคุณผู้อ่าน กับเรื่องราวของ เบิร์ด — เอกชัย เจียรกุล นักกีตาร์คลาสสิคของไทย ที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขันกีตาร์คลาสสิคระดับนานาชาติ “JoAnn Falletta International Guitar Concerto Competition 2012” ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการสนับสนุนของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ภายใต้แบรนด์ “แสงโสม” สดๆ ร้อนๆ เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา
หนุ่มนักกีตาร์คลาสสิควัย 25 ปี เล่าถึงเส้นทางการเล่นดนตรีของตัวเองให้ฟังว่า เริ่มจากเล่นทรัมเป็ตในวงโยธวาธิตของโรงเรียน จนกระทั่งอายุ 13 ปี ได้มีโอกาสชมคอนเสิร์ตของนักกีตาร์คลาสสิคท่านหนึ่ง ที่ได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาแสดงเดี่ยวจนทำให้เด็กชายเบิร์ดในวันนั้นเกิดความประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจก้าวสู่การเป็น “นักกีตาร์คลาสสิค”
“เสน่ห์ของกีตาร์คลาสสิคสำหรับผม กีตาร์คลาสสิคเป็นเครื่องสายที่เวลาแสดง เราสามารถเล่นให้มันเป็นวงออเครสตร้าขนาดเล็กได้ ทำให้เกิดท่วงทำนอง เสียงประสานด้วยกีตาร์คลาสสิคตัวเดียว คือเราสามารถแสดงคอนเสิร์ตแบบ One man show ได้เลย”
เบิร์ค ศึกษาและฝึกฝนการเล่นกีตาร์คลาสสิคอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 15 ปี ที่วิทยาลัยดุริยางศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในปี 2553 ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาวิชาการแสดงเดี่ยวกีต้าร์คลาสสิค ปัจจุบันเอกชัย ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านกีต้าร์คลาสสิคที่มหาวิทยาลัย Mozarteum ในเมือง Sulzburg ของประเทศออสเตรีย กับนักกีตาร์ระดับโลก Pro.Marco Tamayo
“ตอนเด็กที่เริ่มเล่นดนตรี สำหรับผมคือ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ช่วยสร้างสมาธิให้กับตัวเอง ตอนนั้นก็คิดแค่นั้น อาจจะดูเท่ด้วย แต่เมื่อวันที่ผมตัดสินใจจะเป็นนักกีตาร์คลาสสิคอาชีพ เราต้องทุ่มเททุกอย่าง การฝึกซ้อม ทำให้เราเป็นคนที่ต้องมีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย ถึงแม้อาจจะมองว่าเราขึ้นเวทีแสดงหรือเวทีการแข่งขันจริงๆ แค่ไม่กี่นาที แต่แค่ไม่กี่นาทีนั้นมันสำคัญมาก เพราะเราผิดพลาดไม่ได้ ยิ่งถ้าเล่นกับวงเราผิดคนหนึ่งอาจจะส่งผลต่อการเล่นของคนทั้งวงก็ได้”
เช่นเดียวกับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากรายการ? “JoAnn Falletta International Guitar Concerto Competition 2012” ประเทศสหรัฐอเมริกา เบิร์ด บอกว่า เขาเตรียมตัวสำหรับรายการแข่งขันนี้มาเป็นปีแล้ว เพราะเวทีนี้ยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นกีฬาโอลิมปิกของนักกีตาร์คลาสสิคทั่วโลกเลยทีเดียว ซึ่งจัดขึ้นโดย JoAnn Falletta คอนดักเตอร์หญิงชื่อดังของโลก และเป็นนักกีตาร์คลาสสิคที่มีผลงานมากมาย
“เป็นการแข่งขันที่มีกฎ กติกา ชัดเจนในแต่ละรอบกว่าจะผ่านได้ นักกีตาร์คลาสสิคทั่วโลกนะผมว่าที่มีความคิดเหมือนกันว่าสักครั้งหนึ่งที่อยากจะมายืนอยู่ในการแข่งขันนี้ เพราะรอบแรกเขาจะมีบทเพลงบังคับให้เราเล่นส่งเทปเข้าไป จากนั้นคัดเหลือ 8 คน เข้าสู่รอบรองชนะเลิศ ทั้ง 8 คน จะทำการแสดงเดี่ยวในสตูดิโอที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ของอเมริกา บางส่วนของแคนาดา และทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีคนติดตามชมการแข่งขันกว่า 10 ล้านคน จากนั้นจะคัดให้เหลือ 3 คน เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้เล่นกับวง Buffalo Philharmonic และ JoAnn Falletta เป็นคอนดักเตอร์เอง
แต่ที่ทำให้เวทีนี้ยิ่งใหญ่คือ บนเวทีแข่งขันจะติดธงชาติของนักดนตรีไว้ด้วย และเล่นเพลงชาติของผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วย ถึงแม้ว่าผมจะได้แค่รองชนะเลิศอันดับ 2 ผมก็ภูมิใจมากครับที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะนักดนตรีกีตาร์คลาสสิค ที่ได้เป็น 1 ใน 3 ที่ยืนอยู่บนเวทีของการแข่งขันอันทรงเกียรตินี้ครับ”
ความสามารถของ เบิร์ด ยังการันตีด้วยรางวัลอีกมากมาย อาทิ 1st prize of International Guitar Competition in Valencia, Spain (2011), 1st prize of International Guitar Competition in Deajeon, South Korea (2010), 1st prize of International Guitar Competition in Culiancan, Mexico (2010) ยังไม่นับรวมที่ได้รับเชิญให้แสดงเดียวกีตาร์ร่วมกับวงออเครสตร้าระดับโลก เช่น The Seoul Philharmonic Orchestra, The International Orchestra of Italy, Unity Philharmonic Orchestra ภายใต้การอำนวยเพลงโดย บัณฑิต อี้งรังษี, Thailand Philharmonic Orchestra, Dr.Sax Chamber Orchestra, The Ukraine Philharmonic Orchestra, Bangkok Symphony Orchestra, Culiacan Symphony Orchestra (Mexico), The Kiev Carmerata Chamber Orchestra (Austria) เป็นต้น
“นอกจากเรียนแล้ว การเข้าแข่งขันในรายการต่างๆ ก็ถือว่ามีความสำคัญสำหรับดนตรีคลาสสิคครับ เพราะการแข่งขันเป็นการสร้างเครดิตให้กับตัวเอง ตอนนี้ผมก็อยู่ระหว่างการร่วมการแข่งขันที่สาธารณรัฐสโลวัก อันนี้เป็นรายการที่ไม่ได้อยู่ในแพลน แล้วไปต่อที่ออสเตรีย เดือนสิงหาคมก็จะไปแข่งที่ญี่ปุ่น หลังเรียนจบปริญญาโท ผมตั้งใจจะเรียนต่อปริญญาเอกเลยครับ แล้วก็เข้าแข่งขันในรายการต่างๆ ของกีตาร์คลาสสิค ไปจนอายุ 30 ปี คงจะหยุดแข่ง เพราะคิดว่าตอนนั้นความสามารถของเราคงจะเรียกได้ว่าเป็นมืออาชีพได้แล้ว ถ้ากลับเมืองไทยก็จะไปสอนที่ วิทยาลัยดุริยางศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็อยากจะมีส่วนในการพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิคบ้านเราให้ทัดเทียมกับต่างประเทศครับ”
เบิร์ด บอกว่า วงการดนตรีคลาสสิคบ้านเราตอนนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องขอบคุณ บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยากรไทยหนึ่งเดียวบนเวทีโลก ที่ทำให้วงการดนตรีคลาสสิคในประเทศไทยได้รับความสนใจ จนในปัจจุบันมีสถาบันเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิค และมีนักดนตรีคลาสสิคของไทยรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้นเช่นกัน ในฐานะนักดนตรีกีตาร์คลาสสิครุ่นพี่ เบิร์ด มีข้อคิดดีๆ ฝากมาถึงน้องๆ ที่สนใจดนตรีคลาสสิค รวมถึงดนตรีแนวอื่นๆ ว่า
“ดนตรีเป็นภาษาสากล ดนตรีไม่มีพิษมีภัยกับใคร มีแต่ให้ประโยชน์ อย่างผมดนตรีก็ทำให้ผมเป็นคนมีความรับผิดชอบ ให้ประสบการณ์ชีวิต ได้มีโอกาสเดินทางไปทั่วโลก ได้รู้จักผู้คนมากมาย ได้รับการแสดงความชื่นชม และได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย สำหรับน้องๆ ที่สนใจดนตรี ไม่ว่าจะดนตรีแนวไหน ผมอยากจะบอกว่าแค่คุณพูดว่า สนใจ หรือ ชอบ ไม่พอ แต่ต้องศึกษาหาความรู้ในดนตรีนั้นๆ ด้วย แล้วก็มีความรับผิดชอบในการฝึกฝนฝีมือ ต่อให้คุณมีพรสวรรค์มากแค่ไหน แต่ขาดระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม คุณก็เป็นนักดนตรีที่ดีและประสบความสำเร็จไม่ได้ครับ”




 

Create Date : 30 มิถุนายน 2555
0 comments
Last Update : 30 มิถุนายน 2555 13:00:03 น.
Counter : 2545 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.