Group Blog
 
All Blogs
 

ปั่นหุ้น

กลวิธีของรายใหญ่ไล่ยำ !!

กลวิธีของรายใหญ่ไล่ยำ !!
ตามที่เกลิ่นไว้เมื่อเย็นว่ามีอะไรจะเล่า ลุงคิดอยู่นานแล้วนะว่าจะเล่าดีไม๊ พอดีช่วงนี้รู้สึกว่าพวกรายใหญ่และพวกแม่ทัพนายกองทั้งหลายหรือขาใหญ่ไม่ค่อยได้เข้ามาดูตรวจตราข้อมูลรายย่อยบอร์ดกันนัก เลยเห็นว่าเป็นโอกาสดีแต่ก็จะชะล่าใจไม่ได้ เอาเป็นว่าอ่านกันแล้ว ท่านผู้ดูแลช่วยๆลบกันหน่อยก็แล้วกัน ถ้าหากเขารู้เขาจะเช็คไอพีลุงลากมาถึงเบอร์ที่บ้านลุงได้ง่ายดาย แถมบางคนยังเห็นหน้าค่าตากันอีกต่างหาก ลุงแย่เลย ทั้งการงานอาจจะมีผลกระทบไปด้วย



เริ่มเลยก็แล้วกัน ตามที่ทุกคนรู้กันดีแล้วว่าตลาดหุ้นเรามีขาใหญ่คุมคอยดูแลควบคุมความเคลื่อนไหวหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดอยู่ หรือเรียกกันภาษาเราๆก็ “ปั่น”นั่นแหละ ฮ่าๆๆๆ และแน่นอนทุกๆคนคงรู้ดีว่ามีกลุ่มใหญ่ๆอยู่ไม่กี่กลุ่มที่มีทั้งอิทธิพลและกำลังเงินมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเสี่ยปู่ xxxงค์ เสี่ยเอกฯ หรือกลุ่มนกม. เช่นท่าน ป.กาแฟ ท่าน ส. กลุ่มหาดใหญ่ ฯลฯ เป็นต้น พวกนี้จะรู้กันดีว่าใครดูหุ้นตัวไหนอยู่และจะไม่ล้ำเส้นกันถ้าไม่จำเป็น ในบางครั้งยังร่วมมือกันอีกด้วยซ้ำ ยังไม่รวมกองทุนเล็กกลางที่เป็นแนวร่วมอีกหลายกอง กองทุนหัวดำที่บรรดาพวกนี้มีเงินอยู่ เพื่อใช้ในการแปลงกาย
กลุ่มใหญ่ๆนี้ลุงจะไม่ขอลงรายละเอียดมากเพราะทุกคนคงเคยอ่านบทความหลายๆบทความเกี่ยวกับนัก”ปั่น” เหล่านี้ว่ามีวิธีการทำกันอย่างไร เพราะหุ้นที่กลุ่มพวกนี้เล่น ถ้าทุกคนเล่นตามจังหวะที่ดีอ่านแม่นๆ ตามที่จอมยุทธิ์หลายๆท่านในที่นี้แนะนำไว้ก็คงไม่เจ็บตัวมากนัก เพราะรอบมันจะแกว่งให้มีโอกาสทำกำไรได้พอสมควร มีรูปแบบของกราฟเทคนิคที่พออ่านได้บวกประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญแล้วคงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ต้องบอกไว้เลยว่ากลุ่มพวกนี้จะยังไม่หยิบหุ้นของตัวเองขึ้นมาปั่นกันแบบโจ่งแจ้งแบบถี่ๆแน่นอน บางตัวถูกปล่อยทิ้งแบบอนาถาเลยก็ว่าได้
ที่ลุงอยากจะเสริมอีกนิดสำหรับกลุ่มนี้คือ สุดยอดข้อมูลจริงๆ แต่ละท่านจะรู้ข้อมูลไม่ใช่แค่เรื่องวงในวงนอกหรือประเทศเท่านั้น ข้อมูลของ”บิด” และ “ออฟเฟอร์” ที่ถูกคีย์เข้ามาวางในหุ้นแต่ละตัวก็สามารถเช็คได้ว่ามาจากโบรกไหน สมาชิกเบอร์อะไร กี่หุ้น แล้วจะมีสายนั่งอยู่ในห้องค้าทุกๆโบรก หรือแม้แต่มาร์ที่คอยส่งข้อมูลของนักลงทุนรายนั้นๆว่ามีสไตล์การเล่นแบบไหน แต่เขาจะทำในกรณีที่เห็นไม้ใหญ่ๆที่คาดว่าจะมีผลกระทบกับการปั่นของเขาเท่านั้น ถ้ามีเขาจะดำเนินการทันทีไม่ว่าจะเป็นการบีบให้ออกโดยการทุบๆ การหยุดเล่นและอื่นๆเป็นต้น บางทีใจดีให้เสียแค่ค่าคอมฯก็มี คือทุบลงไปแล้วลากขึ้นมาเปิดโอกาสให้ออก (ฮ่าๆๆ อันนี้ลุงเจอมาแล้วกับตัว) อันนี้เตือนไว้สำหรับมือหนักๆนะ มือไม่หนักไม่ต้องห่วง แต่ถ้าอยากเล่นหนักก็ทะยอยๆซื้อแล้วกันนะ ฮ่าๆๆๆๆๆ
เอาเข้าเรื่องพวกนักลงทุนนิสัยไม่ดีอีกกลุ่มเลยก็แล้วกัน กลุ่มนี้เป็นอันตรายมาก ถึงมากที่สุดสำหรับรายย่อย โดยเฉพาะพวกนักเก็งกำไรหรือนักเน็ต
กลุ่มนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง เริ่มต้นจากลูกค้ามือหนักธรรมดาๆไม่กี่คนที่รู้จักกันในห้องวีไอพีของแต่ละโบรก เกิดคุยกันระหว่างเทรดถูกคอ(เพราะแม่มใจชั่วอิ๋บอ๋ายเหมือนกัน) เลยรวมหัวกันนัดไปรวมตัวกันในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แน่นอนแต่ละคนต่างมีบัญชีหลายโบรกเวลาทำชั่วในหุ้นแต่ละตัวจึงถูกจับยาก แต่ที่ทำให้มันถูกจับยากอีกก็คือความไวของมัน ลุงขอเรียกไอ้พวกนี้ว่า “อีแร้งกินศพ” ก็แล้วกัน ลุงรู้จักพวกอีแร้งนี้หลายกลุ่มเป็นการส่วนตัวด้วยนะ เพราะเมื่อก่อน(ก่อนที่มันจะเป็นแร้ง) เคยเจอกันพูดคุยกันตามประสาเพื่อนนักลงทุนด้วยกันเวลาลุงไปห้องค้า ลุงยังเคยถูกทาบทามขอใช้ออฟฟิตเลยแต่ปฏิเสธแบบนิ่มๆไปหลายหน
หลังจากที่พวกอีแร้งมันรวมตัวกันได้ หาสถานที่ได้ มีเครื่องไม้เครื่องมือครบ(คอมและคนคีย์ข้อมูลซื้อขาย) ก็จะทำการวางแผนเลือกหุ้น ตอนแรกๆก็อาจจะเน้นตัวเล็กๆที่เจ้ามือและเจ้าของปล่อยปะละเลย แต่ช่วงหลังมันเอาหมดทั้งที่มีเจ้ามือ หรือแม้แต่หุ้นดีๆขนาดเล็กๆหรือกลางๆมันก็เอา เพราะมันเริ่มมีหลายกลุ่มเกิดขึ้นมาก จนปัจจุบันลุงได้ข่าวว่ามันมีมากถึงกว่าสามสิบกลุ่มเป็นอย่างน้อย
การเลือกหุ้นมันมีหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งของมันก็คือมาสอดส่องดูตามบอร์ดนี่แหละว่ารายย่อยชอบเล่นหุ้นปั่นตัวไหนบ้าง มันจะบันทึกไว้แล้วนำไปคุยกัน สืบดูเจ้ามือประจำว่าเป็นใคร เล่นแล้วจะมีผลมากไม๊แล้ววางแผน ถ้าเจ้ามือโหดไม่ชอบให้ใครมายุ่งมันก็จะหลีกเลี่ยงหรือไม่ก็เข้าเร็วออกเร็วแบบสายฟ้าแลบ เอากำไรแค่หักค่าคอมแล้วไม่เกิน 1 % ก็มี
มาถึงวิธีมันดีกว่า เอาเป็นว่าข้ามวิธีเลือกไปเลยแล้วกัน เพราะแต่ละกลุ่มมันต่างๆกันไป มันก็เรียนวิธีการขั้นพื้นฐานมาจากตามบอร์ดที่พวกเราก็เคยอ่านกันนี้แหละ บวกกับกำลังเงินและกำลังความชั่วที่พวกมันมีอยู่เข้าไปเท่านั้นเอง เริ่มจากการใช้เงินในหุ้นแต่ละตัวก็แล้วแต่ขนาดของหุ้น ลุงยกตัวอย่างบางตัวก็แล้วกัน เช่นหุ้นตัวหนึ่
ราคาลงมาที่แถวๆ 11-11.40 บาท มันก็จะเริ่มช่วยกันทะยอยเก็บซักสามสี่วัน รับบ้างตบขวาบ้างไปเรื่อยต้นทุนน่าจะได้ไม่เกิน 11.20 พอเช้าวันลุย มันก็จะเก็บเพิ่มสร่างโวลุ่ม 11-11.3 เรียกความสนใจ ลากผ่านแนวสร้างเทคนิคให้ดูดี พอก่อนเที่ยงมันเร่งเครื่อง ซื้อนำไม่ใหญ่ๆ ไล่ขึ้นไปจนถึง 11.8 ในสามสิบนาที ช่วงบนๆมันก็โยนหุ้นสลับไปมาเพื่อสร้างโวลุ่มและระบายของไปเรื่อยๆ พอของใกล้หมดมันก็ช่วยกันฟาดเปรี้ยงๆ ลงมาคืนเจ้ามือที่เดิม แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงของราคาในวันนั้น (แต่เทคนิคอาจเสียนิดหน่อย) ตัวนี้ยังถือว่าพวกมันกำไรดีกว่าทั่วๆไป เพราะเท่าที่คำนวนต้นทุนเฉลี่ยหักขายเฉลี่ยหักค่าคอมฯ คงราวๆ 2%กว่าๆ คิดเป็นเงินก็กำไรประมาณ 4 แสนบาทเป็นอย่างต่ำ แต่โทษทีบางวันบางกลุ่มมันเล่นมากกว่า3ตัว ก็มี ตัวใหญ่หน่อยโวลุ่มดีหน่อย ใช่เงินมากหน่อย เอากำไรน้อยหน่อยซัก เฉลี่ยไม่ถึง2% จ่ายคอมฯแล้วยังได้เกินล้านทุกนัก อาศัยเข้าเร็วออกเร็ว บางทีราย่อยยังไม่รู้สึกเลย บางทีตัวกลางๆนิ่งอยู่หลายวัน โวลุ่มไม่มาก อยู่ดีๆโวลุ่มเริ่มมา ซักพักจาก 8 บาท วิ่งพลวด ไปยืนเหนือแนวต้าน 8.20 บาท หน้าตาเฉย แถมแก่วงอยู่ยั่วอยู่จนรายย่อยทนไม่ได้เห็นว่าเพิ่งวิ่งมา 2% เองน่าจะยังมีแก๊บให้เล่น อีกทั้งผ่านแนวต้านแล้วด้วย เลยทะยอยกันบินเข้ากองไฟ พอเห็นได้ที่ก็เริ่มตบช่วย ฟาดไปมาอยู่เหนือแนวต้านซักพัก พอหุ้นใกล้หมด ก็เล่นแบบเดิมฟาดลงมาแถวๆที่เดิม แล้วบินหนีไป
นี่แค่ตัวอย่างบางกลุ่มเท่านั้น แต่ละกลุ่มก็จะมีวิธีและการเล่นต่างกันไปบ้าง แต่แนวทางคล้ายๆกันคือ อีแร้ง เข้าทึ้งเร็วออกเร็ว แต่ไม่ใช่เล่นไม่เลือกไม่ดูเวลา ดูเซนทิเมนท์ตลาดด้วยว่าเหมาะสมกับตัวไหนอย่างไร บางทีบางตัวมันซื้อท้ายตลาด ช่วยกันกดให้ได้ 0.25 สตางค์ แล้ววันรุ่งขึ้นเปิดกระโดด 0.26 ขายๆๆๆๆๆอยู่แนว บิด.26 ออฟเฟอร์ .27 อยู่จนหุ้นหมดแล้วทิ้งเลย แค่นี้มันก็กำไรเท่าไหร่แล้ว .01 สตางค์ก็ 3% กว่าแล้วนะ ขาย 0.26ส่วนใหญ่ 0.25บ้างบางส่วนก็รวยอื้อซ่าแล้ววันนั้น

พวกเราแทบไม่รู้สึกถึงการหากินของมันเลยใช่ไม๊ เพราะถ้าคนเล่นเน็ตก็จะขาดทุนแต่ไม่มาก 1-3 % แต่เจอทุกวันก็กระอักเหมือนกันนะ ส่วนคนเล่นสั้นกะเล่นรอบก็คิดว่า “เอาน่าเดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ขึ้น วันนี้มันรวบเก็บ” ถือต่อ ถ้าหุ้นไม่ลงมากก็ดีไป ถ้าเจ้ามือยังทิ้ง ลงต่อก็เจ็บหนัก ที่สำคัญดูมันมากซะจนเราแทบป้องกันลำบาก ลุงถึงเน้นว่า บิ๊กแค็บและตัวดีๆที่มีโวลุ่มเท่านั้น เพราะถึงมันเล่นก็ไม่ถึง 2% และหุ้นดีก็มีคนช้อนซื้อช่วยตลอดอยู่ดี

ที่ลุงต้องมาเตือนเพราะมันขยายตัวเร็วมาก มันเป็นพฤติกรรมเลียนแบบที่ติดต่อเร็วมาก ตอนแรกลุงเห็นว่ามีไม่กี่กลุ่ม แต่สัปดาห์ก่อนลุงได้รู้ข่าวว่ามันมีมากเป็นสิบๆกลุ่มแล้ว เล่นกันแบบเรี่ยราดเลยก็มีบ้างบางกลุ่มไม่ลงทุน เล่นช่องเดียวหักค่าคอมฯเอาแค่ไม่ถึง 0.5% ยังมีเลย มันเอาเปรียบรายย่อยที่ไม่ได้รวมตัวกันอย่างร้ายกาจ บางตัวลุงยังนึกไม่ถึงเลยว่ามันจะกล้าเล่น แต่มันก็เหิมเกริมเล่น เฮ้อออออ


กลต. กลต. กลต. จ๋า มัวไปทำอะไรอยู่ ลุงเชื่อว่าพวกเขาก็รู้ดี แต่ไม่ทำอะไร เพราะมันเป็นพฤติกรรมใหม่ เล่นเร็วเปลี่ยนที่หากินไปเรื่อง มีหลากหลายกลุ่ม หลายร้อยคน แถมยังระดับเศรษฐีก็มาก ไม่ได้เล่นตัวใดตัวหนึ่งเป็นรอบเหมือนขาใหญ่ตัวจริง

แต่ลุงขอบอกเลยว่า มีวิธีการเดียวที่เด็ดขาด และกำจัดคนพวกนี้และหยุดความเจ็บปวดของรายย่อยนักเน็ตและนักเก็งกำไรได้ก็คือ “นกเลิก เน็ตเซ็ทเทิลเมนท์” ซึ่งคงเป็นไปได้ยากส์ ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ที่จริงเขียนแค่นี้ลุงไม่กลัวหลอกหากลุงไม่รู้ว่าบางกลุ่มก็เป็นคนรู้จักมักจี่กันนี่แหละ บางคนทำการค้ากับลุงก็มี พวกนี้ก็เข้ามาหาข้อมูลต่างๆในบอร์ดเหมือนลุงเหมือนกัน แถมหลายคนก็มีเส้นสายในกรมตร. พอที่จะเช็คแค่ไอพีก็รู้ถึงบ้าน ตามด้วยแฟ้มประวัติทั้งครอบครัวอีกต่างหาก (เชื่อลุงเหอะ ทำได้สบายมาก ลุงเองยังเคยจับตัวป่วนในเว็ป บ.ลุงมาแล้วเลย แค่ไม่กี่ ช.ม. รูปทั้งครอบครับมันยังมาอยู่ในห้องทำงานเพื่อนลุงเลย)

เอาเป็นว่าถ้าอ่านแล้วก็ขอให้ผู้ดูแลช่วยลบตอนเช้าด้วยนะครับ เซพเก็บไว้ส่งเมล์ให้สมาชิกภายในบ้างก็คง โอเคนะ
ลุงต้องขอโทษด้วย เพิ่งไปออกกำลังมา แถมซาวน่าเอาเหงื่อออกเพียบ หน้ามือ มือสั่น พิมพ์ผิดถูกบ้างก็อภัยด้วยนา ฮ่าๆๆๆๆๆๆ รีบไม่มีเวลาตรวจทาน

ฝากอีกนิดนึง คือลุงได้ยินแว่วๆมาว่า ในช่วงเวลาคับขับบางวัน บอร์ดบางบอร์ดจะเข้าไม่ได้ หรือไม่ก็ยากมาก นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะจะ ได้ยินแว่วๆว่ามีทีมคอยป่วนคอยปิงๆเว็ปอะไรนี่แหละ ภาษาเทคนิคลุงไม่ถนัด ฮ่าๆๆๆ ระวังกันด้วย โดยเฉพาะท่านเจ้าสำนัก เขียนด่าพวกมันมากๆ อ่านแล้วให้ผู้ดูแลลบๆบ้างก็ดีเด้อ ลุงเป็นห่วงจริงๆนะ

สุดท้าย ลุงต้องขอโทษด้วยถ้าข้อมูลของลุงอาจทำให้บางท่านผิดหวังเพราะอาจเหมือนเรื่องโกหก หรือไม่ก็ไม่เห็นน่าสนใจตรงไหน ลุงก็ขออภัยไว้ด้วยแล้วกันนะ ฟังหูไว้หูก็แล้วกันนะ อย่าเชื่อลุงมาก




 

Create Date : 19 มีนาคม 2548    
Last Update : 19 มีนาคม 2548 14:19:03 น.
Counter : 436 Pageviews.  

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน 1

การลงทุนในที่นี้ ผมจะกล่าวถึงแต่การลงทุนในหลักทรัพย์เท่านั้น ไม่รวมถึงการลงทุนในกิจการค้ากำไรอื่นๆ

พวกเรา ทั้งที่เป็นพวกหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน นักเรียน นักศึกษา เจ้าของกิจการ รับจ้างทั่วไป ฯลฯ หากต้องการที่จะลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ ย่อมเกิดคำถามแรกขึ้นมาในใจว่า เรามีเงินพอที่จะนำไปลงทุนแล้วหรือยัง ? ถ้ายังไม่พอ แล้วจะทำยังไงถึงจะมีเงินออมให้เป็นกลุ่มก้อนขึ้นมาเพื่อที่จะนำให้ไปเกิดดอกออกผล (มั๊ง) ในภาวะที่บางคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว บางคนเพิ่งทำงานใหม่ ก็สรรหาหนี้สินเข้าสู่ตัวเองเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนรถ หนี้ผ่อนบ้าน อีกทั้งเงินเดือนที่ได้รับมาหมดไปกับการเที่ยวเตร่ ซื้อของอำนวยความสะดวก ประดับร่างกาย และอื่นๆ

เมื่อเดือนที่แล้ว ดูรายการคุณสรยุทธที่เชิญนักการเงินมาออกรายการเกี่ยวกับการออม มีผู้ชมจำนวนมากโพสเข้ามาประมาณว่า “การออมเป็นเรื่องของคนรวย คนหาเช้ากินค่ำจะมีเงินออมได้ไง” “แค่จ่ายหนี้รายเดือน ก็แทบจะหมุนไม่ทันแล้ว จะเอาเงินที่ไหนมาออม” “นั่งฟังคนรวยคุยกัน” ฯลฯ อีกมาก ที่แสดงถึงว่า

“คนไทย (ส่วนมาก) ยังไม่รู้จักการจัดการการเงินส่วนบุคคล (Personnel Finance Management) ที่ดีพอ”

ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจาก การศึกษาที่ไม่ปลูกฝังการจัดการการเงินส่วนบุคคลมาตั้งแต่เด็ก วินัยการออมของคนไทยเลยห่างหายไป โดยเฉพาะสมัยนี้ ธนาคารออมสินถูกลดบทบาทไปมาก ภาพที่เห็นตอนปิดเทอมที่เด็กๆ จะอุ้มกระปุกไปฝากออมสิน แทบจะลบเลือนออกไปแล้ว ต่างจากสมัยก่อนที่ธนาคารออมสินมีบทบาทในการกระตุ้นให้เด็กรักการออมมากกว่า

ท่านนายกฯ เคยพูดว่า “ไม่เป็นหนี้ ไม่มีทางรวย” อันนี้ยอมรับว่าจริงครับ แต่นั่นเป็นมุมมองของ “พ่อค้า” ของ “เจ้าของกิจการ” แต่ในมุมมองของคนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือนล่ะ จำเป็นหรือไม่ที่ “ไม่เป็นหนี้ ไม่มีทางรวย” คำตอบคือ “ไม่จำเป็น” แล้วทำอย่างไรล่ะคนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน รับจ้างทั่วไป จะมีเงินเพียงพอที่จะนำไปลงทุนให้เกิดดอกออกผล (มั๊ง) มากขึ้น คำตอบก็คือ “การจัดการการเงินส่วนบุคคล (Personnel Finance Management)” นั่นเอง (คนที่เป็นเจ้าของกิจการ , คนรวยแล้ว โปรดข้ามเนื้อหาต่อจากนี้ไป)

การจัดการการเงินส่วนบุคคล อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย เพราะไม่มีให้เรียนในระดับมัธยม หรือประถม จะมีให้เรียนเฉพาะสาขาบริหารที่เกี่ยวข้องเท่านั้นในตอน ป.ตรี ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ ที่เขาปลูกฝังเด็กของเขา มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

ตำราที่เกี่ยวกับการจัดการการเงินส่วนบุคคลนั้นถือว่าที่เป็นภาษาไทยจริงๆ ยังมีไม่แพร่หลายนัก การนำตำราต่างประเทศมาแปล วัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตก็แตกต่างจากคนไทย เพราะคนไทยอยู่กันเป็นครอบครัว บางครอบครัวมีภาระที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ ที่แยกครอบครัวเป็นเอกเทศ คนไทย (บางคนที่กตัญญู) จึงมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการดูแลพ่อแม่ของตน รวมถึงการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา หากมีวุฒิภาวะพอสมควรแล้ว ผู้ใหญ่จะสอนให้เด็กหาเงินเรียนเอง ประมาณว่าหากยูอยากจบ ป.ตรี ก็หาเงินเรียนเอง ไอจะส่งให้แค่ไฮสคูล ซึ่งแตกต่างจากคนไทยอย่างสิ้นเชิง

ผมจึงอยากจะสรุปแนวคิดการจัดการการเงินส่วนบุคคลแบบสั้นๆ ตรงตามวัฒนธรรมของคนไทย และไม่อ้างอิงทฤษฎีใดๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

แนวคิดแรก คือ ให้รายรับที่ได้รับมา “คงอยู่เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด” กล่าวคือ พยายามอยู่อย่างพอเพียง อย่าเป็นหนี้ โดยไม่จำเป็น (ผมตั้งใจไว้ว่า ผมจะไม่ยอมเป็นหนี้ จนกว่าผมจะมีเงิน “พอ” ที่จะนำไปลงทุนในหุ้นให้เกิดดอกออกผล (มั๊ง) ได้) วอเรน บัฟเฟต์ ตอนรวยใหม่ๆ เขาก็ยังใช้รถกระบะเก่าๆ และอยู่บ้านในสวนแถบชานเมืองอยู่เลย (ผมยึดคติว่า ไม่รวย อยู่อย่างรวย ไม่มีทางรวย)

แนวคิดสอง คือ เมื่อรายรับ ไม่กระเด็นกระดอนออกไปมาก จะมีวิธีจัดสรรการออมเงินอย่างไรให้ลงตัวที่สุด จากการทดลองจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนของผม ผมเสนอแนวคิดดังนี้
ให้พ่อแม่ = 20% ของเงินเดือน
ออม = 25% ของเงินเดือน (โดย 20 % ของเงินออมห้ามถอนออกเด็ดขาด เพื่อกันไว้ใช้ยามฉุกเฉินจริงๆ ส่วนอีก 80% ให้แยกบัญชีไว้ต่างหาก โดยเงินส่วนนี้จะเป็นส่วนที่จะนำไปลงทุนให้เกิดดอกออกผลในอนาคต)
ใช้จ่าย = 55% ของเงินเดือน (ผมใช้เงินเดือนส่วนนี้ทั้งเดือน ยังมีเงินเหลือจากส่วนนี้ไปโป๊ะส่วนเงินออมอีกต่างหาก)

แนวคิดที่สองนี้ผมลองใช้จริงแล้วพบว่าเวิร์คสุด โดยผมจะยกตัวอย่างเป็นเงินจริงๆ ดังนี้
เงินเดือนเริ่มแรกตอนผมทำงานใหม่ 20,000 บาท (วุฒิ ป.โท)
ให้พ่อแม่ และน้าที่เลี้ยงผมมาแต่เด็ก 4,000 บาท
ออมแบบห้ามถอน 1,000 บาท
ออมแบบรอไปลงทุนต่อ 4,000 บาท (เงินออมส่วนนี้ ขึ้นอยู่กับอายุของแต่ละคนด้วย ผมยังหนุ่ม ยอมรับความเสี่ยงจากการสูญเงินส่วนนี้ได้สูงหน่อย แต่ถ้าคนที่อายุมากแล้ว สัดส่วนก็จะต้องลดลงไปให้เหมาะสม)
ใช้จ่ายรายเดือน 11,000 บาท (ผมไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยว จึงมีเงินเหลือจากส่วนนี้อีกต่างหาก) จริงๆ ต้องหักค่าประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกด้วย

เป็นวิธีที่ง่ายๆ แบบนี้แหละครับ ผมว่าใครๆ ก็น่าจะทำได้ หากมีวินัยในการออม และมีวิธีจัดการการเงินส่วนบุคคลที่ดีพอ

พอผมมีเงินออมพอสมควร ผมก็จะเลือกสรรหาหุ้นที่จะไปลงทุน แล้วก็โซโล่ ซึ่งจะว่ากันในตอนต่อๆ ไป

ขอให้คนที่มีเงินออมอยู่แล้วมีเงินออมมากๆ ยิ่งขึ้น คนที่ยังไม่มีก็ขอให้มีเงินออมในเร็ววัน




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2548 10:31:48 น.
Counter : 329 Pageviews.  

=====วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน เจาะลึกกลยุทธ์ FTA=====

คราวที่แล้ว ปฐมบทแห่งการลงทุน 3ว่าด้วยเรื่อง “จะเลือกเป็นนักลงทุนแบบใด?” คำถามนี้ คำตอบอาจจะบ่งบอกได้จาก “แนวทางในการบริหารพอร์ทการลงทุนของตน” ซึ่งผมได้เสนอสูตร 5-4-1 นั่นก็คือ VI (Value Investing) 50%, FTA (Fundamentally Technical Analysis) 40% และ VS (Value Speculating) 10% ตามลิงค์นี้ครับ

//www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I3271246/I3271246.html

ตอนนี้เรามาเจาะลึกกับกลยุทธ์ FTA กันว่าเป็นอย่างไร เหมาะกับใคร มีกฎอะไรบ้าง และผลกระทบจากการที่ใช้ผิดพลาดเป็นอย่างไร และตัวอย่างการใช้

FTA คืออะไร?
FTA (Fudamentally Technical Analysis) เป็นกลยุทธ์การลงทุนโดยอาศัยจุดเด่นของการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานมาช่วยในการสรรหาหุ้นดี มาลงทุน ซึ่งหลักการในการสรรหาหุ้น หรือบริษัทที่น่าลงทุน เหมือนกับหลักการของ “บัฟเฟตต์” ทุกประการ (หากจำไม่ได้ให้กลับไปอ่านวางหมาก...ตอนที่ 3) แต่อาจจะไม่เข้มงวดเท่าก็ได้ และที่เพิ่มเติมคือ จะต้องเป็นบริษัทที่นิยมเทรดกันพอสมควร คือให้มีระลอกคลื่น เพื่อที่จะได้ทำ FTA ได้ โดยดูที่มูลค่าการซื้อขายตามลิงค์นี้

//www.set.or.th/static/market/mainboard.html

จากนั้นก็อาศัยแนวคิดหลัก หรือเคล็ดวิชาเดียวกับ DSM คือ “ทำอย่างไรให้เงินจำนวนเท่าเดิม มีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมาได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับเงินปันผลให้มากขึ้น” แต่วิธีการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยผมจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค มาช่วยเพิ่มจำนวนหุ้น

ใช้เครื่องมือทางเทคนิคอะไร มาประยุกต์ใช้กับ FTA?
เครื่องมือทางเทคนิคที่ผมใช้เป็นอาวุธหลักคือ ทฤษฎีคลื่นอีเลียต, Fibonacci Retracement, เส้นแนวรับแนวต้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เส้น Trend line และ เส้น EMA ค่าต่างๆ

อาวุธรองที่ผมใช้เป็นประจำคือ MACD, แท่งเทียน, Patterns และเครื่องมือ Basic Technical ที่ผมดัดแปลงขึ้น คือ T-EMA (ซึ่งผมจะนำมาเผยแพร่ในตอนต่อไป)

FTA จะใช้อาวุธใดก็ได้ ขอให้เป็นอาวุธที่ใช้ถนัด และเหมาะสำหรับผู้ใช้ ซึ่งอันนี้ผู้ที่ใช้เครื่องมือจะรู้เอง

ความรู้ทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิค เข้าไปดูที่ลิงค์นี้

//inv2.asiaplus.co.th/abn/web/thai/investor_learning.jsp

FTA เหมาะกับใคร?
1. คนที่อยากมีอิสรภาพทางการเงินจากการ “ลงทุน” ในหุ้น คือมุ่งหวังที่จะรับผลตอบแทนจากปันผล (Dividend Yield) มากกว่าผลตอบแทนในรูปส่วนต่างราคา (Capital Gain) แต่ก็ยังชื่นชอบการซื้อ-ขายหุ้นโดยการใช้เครื่องมือทางเทคนิคจับจังหวะเข้าทำการซื้อ-ขาย
2. คนที่มีองค์ประกอบทั้ง 5 ครบแล้วเท่านั้น นั่นคือ คัมภีร์ยุทธ์ อาวุธ กระบวนท่า เคล็ดวิชา และการฝึกฝน (ทั้งทางด้านบุ๋นและบู๊)
3. คนที่ชอบการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน และสนุกกับการวิเคราะห์ทางเทคนิค
4. คน “เล่นหุ้น” ที่เป็นนักพนันดัมมี่ โป๊กเกอร์ เก้าเก ที่อาศัยความรู้ ไหวพริบ ประสบการณ์ การคาดการณ์ การวิเคราะห์คู่แข่ง ฯลฯ ที่อยากปรับพฤติกรรมมาเป็น “นักลงทุน”
5. คนที่มี “เงินเย็น” เหลือเก็บบางส่วนจากงานที่ทำ
6. คนที่มีวินัยในการลงทุน ซื้อ-ขายตาม “Model Trade” ที่คิดว่าเหมาะสำหรับตน
7. คนที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ ในบริษัทที่ตนเองชื่นชอบ
8. นักลงทุนระยะยาว ยาวมาก ยาวโครตๆๆ

FTA ไม่เหมาะกับใคร?
1. คนที่มุ่งหวังที่จะรับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) มากกว่าผลตอบแทนจากปันผล (Dividend Yield)
2. คนที่ไม่ชอบการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน
3. คนที่ไม่ชอบหรือไม่ยอมรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค
4. คนที่มีองค์ประกอบทั้ง 5 ไม่ครบ
5. คน “เล่นหุ้น” ที่เป็นนักพนันป๊อกเด้ง ไฮโล ที่อาศัยดวงอย่างเดียว
6. คนที่นำ “เงินร้อน” มา “เล่นหุ้น” (รวมทั้งพวกที่กู้เงินมาเล่นด้วย)
7. คนที่อยากรวยทางลัดจาก “ตลาดหุ้น” หรือ “ยุทธภพ”
8. คนที่ลงทุนระยะสั้น สั้นมาก สั้นโคตรๆๆๆ

ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน หรือทางเทคนิคเลย จะใช้ FTA ยังไง?
ก็ทำให้ตัวเองรู้ซักทีสิครับ!!! 555 คือ ต้องทำให้องค์ประกอบทั้ง 5 ครบซะก่อน

ไม่มีเวลาศึกษามานั่งอ่านหรือศึกษา ให้ครบองค์ประกอบทั้ง 5?
จัดสรรเวลาว่างเพียงวันละ ครึ่งช.ม. หรือ หนึ่งช.ม. ก่อนเข้านอน ทำให้คุณสามารถเกษียณก่อนกำหนดได้ เป็นการ “ลงทุน” ที่คุ้มค่ามาก

ต้องทำงานหนักทุกวัน กลับบ้านเหนื่อยอยากพักผ่อน ไม่มีเวลามานั่งอ่านหรือศึกษาแบบเด็กๆ เตรียมสอบหรอก?
คุณอยากทำงานหนัก กลับบ้านเหนื่อย ไปตลอดชีวิตหรือเปล่าล่ะครับ? หรืออยากทนเหนื่อยแค่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง และสบายในวันข้างหน้า เลือกเอาก็แล้วกัน

อายุมากแล้ว ทำ FTA ตัวเองก็ไม่ได้ใช้ ทำไปทำไม?
อย่างน้อยก็ยังมีมรดกเป็นหุ้นของบริษัทดีๆ ไว้ให้ลูกหลานน่า ยังดีกว่าไม่มีอะไรให้ หรือมีหนี้ให้ช่วยล้างต่อหลังจากตัวเองตายไม่ใช่หรือ?

ชอบความสนุกเร้าใจของการเก็งกำไร ทำ FTA มันสนุกเร้าใจหรือเปล่า?
เวลาได้หุ้นเพิ่มขึ้นมาสะใจโครตๆ เลยล่ะครับ เพราะนอกจากจะได้จำนวนหุ้นเพิ่มแล้ว โอกาสรับเงินปันผลในอนาคตตามจำนวนหุ้นที่เพิ่มก็สูงขึ้นด้วย
เวลาได้หุ้นน้อยลงกลับไม่ค่อยเสียใจเท่าไหร่ (จะเกิดขึ้นไม่บ่อย ถ้ามี “วินัย” ในการใช้ Model Trade) ก็เพราะว่าที่ขายออก 20%เพื่อที่จะซื้อคืนในต้นทุนที่ต่ำกว่ามันกลับเป็นขายหมู (คือขายออก 20% แต่หุ้นดันรีเบาวน์ ช้อนซื้อคืนไม่ได้) นั่นก็แสดงว่าอีก 80% ที่เหลืออยู่ในพอร์ทเราได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกแนะ จะเสียใจทำไมอ่ะ

ชอบพนันอ่ะ สนุกดี โอกาสรวย 50-50?
ก็ลองมาเล่นพนันแบบใช้กึ๋นอย่างเล่นดัมมี่ โป๊กเกอร์ เก้าเก แทนเล่นไพ่ป๊อกเด้ง ไฮโล ดูบ้างสิครับ โอกาสมันมากกว่า 50-50 แน่นอน ซึ่งไม่ได้อาศัยดวงอย่างเดียว

ทำ FTA แล้วหยุดกลางคันได้ไหม?
ได้ครับ หากคุณทำ FTA แล้วเห็นว่าได้จำนวนหุ้นมากพอควรแล้ว จะเลิกทำแล้วถือยาวๆ เป็น VI ต่อไปก็ได้ หรือ อยากลองหันมาทำ DSM ดูบ้างก็ย่อมได้ เพราะแนวคิดหลักเดียวกัน

เป็น Day Trader จะลองทำ FTA ดูบ้างได้ไหม?
ได้สิครับ คุณก็อาจจะประยุกต์ใช้กราฟ Intra day มาจับจังหวะเข้าซื้อ-ขาย ตามที่คุณถนัด ว่าแต่คุณมีองค์ประกอบครบทั้ง 5 หรือยังล่ะ

ตอนที่แล้วคุณหมากเขียวยกตัวอย่างคลื่นอีเลียต ประยุกต์ใช้กับ FTA ซึ่งเข้าใจยาก ไม่ถนัด จะใช้เครื่องมืออื่นได้หรือเปล่า?
แนวคิด FTA ประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ เครื่องมือ ที่คุณคิดว่าเป็น “Model Trade” ที่เหมาะกับคุณ เมื่อคุณค้นพบแล้ว ก็ใช้มันอย่างมีวินัย ทำตัวเองให้เป็น “Trading Machine”

ทำยากนะ ไอ้ “Trading Machine” เนี่ย?
เข้าองค์ประกอบ 5 ไงล่ะครับ ฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน ท่องไว้ และปฏิบัติตาม ผมเริ่มศึกษาคลื่นอีเลียต และปริ๊นทกราฟ SET และหุ้นรายตัวหลายๆ ตัวมานั่งนับคลื่น “ทุกวัน” วันละ 10-20 นาทีเท่านั้นเอง พอมีสัมมนาที่โบรกจัดที ผมก็จะคัดกราฟเด็ดๆ ที่ผมนับแล้วคิดว่านับได้ Make sense ที่สุดไปให้นักวิเคราะห์ท่านหนึ่งซึ่งถนัดเรื่องคลื่นมาก พิจารณาดูว่าเป็นอย่างไร (นักวิเคราะห์ท่านนี้ผมนับถือเป็นอาจารย์ของผมท่านหนึ่ง) ผมฝึกแบบนี้อยู่เกือบปี จนมั่นใจและลองมาใช้จริง
จำไว้ว่าในโลกนี้มัน “No Free Lunch” ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ หรอกครับ

แนะนำดีจัง (ปากดีจริง จริง) พอร์ทลงทุนของคุณหมากเขียวกำไรหรือขาดทุนอ่ะ? (เป็นคำถามที่ส่งมาทางอีเมล ผมตอบที่นี่ละกัน)
ช่วงแรกๆ ที่เข้ามาในตลาด องค์ประกอบไม่ครบทั้ง 5 แถม EGO สูง ไม่ดูเทคนิคเลย เพราะคิดว่ามันเป็น Voodoo Finance เอาความรู้ที่เรียน Finance ตอนป.โทจากตำรามาใช้อย่างเดียว ผลปรากฎว่าขาดทุน เพราะเข้าไม่ถูกจังหวะ (ผมเริ่มเข้า “ยุทธภพ” ตอนตลาดปักหัวลงพอดีเลย) แถมขี้ตื่นกลัว และโลภอีกต่างหาก

หลังจากเปิดใจ ทำตัวเป็น “ถ้วยชาที่มีน้ำอยู่ครึ่งใบ” รับน้ำชาที่ค่อยๆ รินเติม และรินเติมมาเรื่อยๆ ศึกษาแนวคิดจากเพื่อนๆ พี่ๆ ในสินธร ทั้งคุณเด่นศรี พี่คลาย เครียด คุณเฟ่ยหง คุณMudley คุณอยากเชือก คุณซีเค พี่ Pretty ฯลฯ อีกมากมายกล่าวถึงแทบไม่หมด จนได้แนวคิดการลงทุนคือ FTA และเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนใหม่ จัดพอร์ทใหม่ จนเงินที่ขาดทุนไปก็ค่อยๆ คืนทีละนิดทีละนิด จนขาดทุนน้อยลงแล้วครับ (ช่วงแรกผมขาดทุนมากประมาณ 56%) แต่ตอนนี้มันไม่สำคัญสำหรับผมหรอกครับว่าผมจะกลบขาดทุนได้เมื่อไหร่ ผมสนแต่ว่าเข้าซื้อ-ขายจังหวะใดถึงจะทำให้จำนวนหุ้นผมเพิ่มขึ้นได้มากกว่า

คุณอายุเท่าไหร่อ่ะ FTA จะน่าเชื่อถือเหรอ? (เป็นคำถามที่ส่งมาทางอีเมล ผมขอตอบที่นี่ละกัน)
อายุสำคัญขนาดไหนล่ะครับ ถ้าผมอายุน้อยแสดงว่าผมความรู้น้อยหรือเปล่า? หรือถ้าผมอายุเยอะแล้วผมจำเป็นต้องมีความรู้มากหรือ?
ประสบการณ์ในตลาดผมไม่เยอะครับ ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับผู้รู้หลายๆ ท่าน ผมจึงอาศัยเก็บข้อมูลในอดีตมาหลายๆ ปี หลายๆ ประเทศ ทำเป็นงานวิจัยชิ้นเล็กๆ เพื่อทดสอบดู ปลายปีที่แล้วใครที่เคยอ่านงานวิจัยเครื่องมือที่ผมนำเสนอคงจะพอจำได้ นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ผมทำเท่านั้น (ผมจะพูดถึงอีกครั้งในตอนหน้า)
น้อง Mudley อายุน้อยกว่าผม แต่แนวคิดยอดเยี่ยม ผมนับถือเป็นอาจารย์ผมท่านหนึ่งเหมือนกัน
น้อง Moonzonezturn เพิ่งเรียน ป.ตรี ปี 3 แต่มี Model Trade ที่คิดค้นขึ้นเอง ถือว่ายอดเยี่ยมเช่นกัน

ต้องนั่งดูกราฟหุ้นทุกวันหรือเปล่า ไม่มีเวลามานั่งเปิดคอมอ่ะ?
ผมไม่ได้เป็น Day Trader ผมใช้กราฟระดับ 1 ปีเป็นหลัก ทำ FTA แต่ละครั้งประมาณ 3-4 อาทิตย์ต่อตัวต่อครั้งเท่านั้นครับ หากสัญญาณเครื่องมือยังไม่อยู่ในช่วงส่งสัญญาณ ก็ไม่จำเป็นต้องดูทุกวันก็ได้

ทำ FTA ควรมีหุ้นอยู่ในพอร์ทกี่ตัว?
หุ้นในพอร์ทผมมีอยู่ 5 ตัวเท่านั้นเอง ผมคิดว่ามันเป็น “ลูก” น่ะครับ มีเยอะดูแลไม่ไหว เอาน้อยๆ แต่ดูแลทั่วถึงดีกว่า อีกหน่อยมันจะได้ “ดูแล” ผมได้ตอนแก่
VI มีอยู่ 2 ตัว
FTA มีอยู่ 2 ตัว
VS มีอยู่ 1 ตัว

ผลจากการใช้ FTA?
1. ได้เป็นเจ้าของกิจการ ในบริษัทที่ตนเองชื่นชอบ
2. อิสรภาพทางการเงิน จากปันผลที่เพิ่มขึ้นๆ จากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นๆ
3. สุขกาย สบายใจจากการ “ลงทุน” ในหุ้น หุ้นขึ้นก็ Happy หุ้นลงก็สบายใจ

กฎการลงทุนของ FTA (แบบใช้คลื่นอีเลียต)
1. ห้ามขาดทุน คือให้ซื้อที่จุดเริ่มต้นของภาวะตลาดกระทิง นั่นคือซื้อที่จุดเริ่มต้นของคลื่น 1 ย่อย ของคลื่น 1 ใหญ่
2. ถ้าขาดทุน ให้ขาย 20% ที่แนวรับแรกที่เส้นราคามันหลุดลงไปทันที และขายทุก 20% เมื่อทะลุแนวรับต่อไปลงไป
3. ให้ไปซื้อคืนที่แนวรับที่เส้นราคาไม่สามารถลงต่อไปได้ คือโดนปุ๊บ กระเด้งทันที ด้วยเงินทั้งหมดที่ขายออกไป
4. หากกำไร ถ้าเป็นภาวะตลาดกระทิง คลื่น 1-5 ย่อย ขึ้นยังไงก็ไม่ขาย จะขายก็ต่อเมื่อ
4.1 หมดคลื่น 5 ย่อย ในคลื่นลูก 1, 3, และ5 ใหญ่ แล้วไปซื้อคืนที่คลื่น C ย่อย ในคลื่นลูก 2 และ 4ใหญ่
4.2 ชนแนวต้านเส้นขนาน 2 ครั้งแล้วไม่ผ่าน คืออาจจะเกิดการฟอร์มตัวเป็น Double Top (ถือว่าเป็นคลื่นล้มเหลว ซึ่งอยู่ในกฎอีเลียต)
4.3 สิ้นสุดภาวะตลาดกระทิง คือที่คลื่น 5 ย่อย ของคลื่น 5 ใหญ่
5. ภาวะตลาดหมี คลื่น 1-5 ย่อย ลงยังไงก็ไม่ซื้อ จะซื้อก็ต่อเมื่อ
5.1 หมดคลื่น 5 ย่อย ในคลื่นลูก A และ C ใหญ่ และไปขายที่คลื่น C ย่อย ของคลื่น B ใหญ่
5.2 ชนแนวรับเส้นขนาน 2 ครั้งแล้วไม่ผ่าน คืออาจจะเกิดการฟอร์มตัวเป็น Double Bottom
5.3 สิ้นสุดภาวะตลาดหมี คือที่คลื่น 5 ย่อย ของคลื่น C ใหญ่

กฎข้อ 2 และ 3 เกิดจากการวิเคราะห์กฎข้อ 1 ผิด เพราะคิดว่าราคากลับตัวเป็นภาวะกระทิงแล้ว พอขาดทุน จึงให้แก้ไขด้วยวิธีดังกล่าว จนกว่าจะมองลูกคลื่นถูกภาวะ แล้วค่อยเริ่มนับคลื่นใหม่

และการซื้อขายในแต่ละครั้ง ให้ซื้อขาย 20% เท่านั้น (ผมใช้แบบนี้ ท่านจะใช้สูตรอื่นก็ไม่ว่ากัน)

หากท่านไม่ถนัด หรือไม่ชอบใช้คลื่นอีเลียต ซึ่งเป็นหนึ่งใน Advance Technical

ดังที่กล่าวแล้วว่า FTA สามารถประยุกต์ใช้กับ Basic Technical ได้มากมายหลายเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น MACD, SSTO, RSI, EMA ฯลฯ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้จะเซทค่าเป็นเช่นใด ดังนั้นจึงมีกฎการซื้อขายแบบใช้เครื่องมือ Basic Technical ดังนี้

กฎการซื้อขายของ FTA (แบบใช้เครื่องมือ Basic Technical)
1. ห้ามขาดทุน คือให้ซื้อตามสัญญาณทางเทคนิคที่เครื่องมือที่คุณเลือกใช้ส่งสัญญาณ “ซื้อ” หรือเป็น “Golden Cross” เท่านั้น
2. ถ้าขาดทุน คือสัญญาณของเครื่องมือที่ใช้ให้ “ซื้อ” เป็น “Failure Cross” ให้ขาย 20% เมื่อสัญญาณของเครื่องมือที่คุณเลือกใช้ส่งสัญญาณให้ “ขาย” และขายทุก 20% เมื่อทะลุแนวรับต่อไปลงไป
3. ให้ไปซื้อคืนตามสัญญาณทางเทคนิคที่เครื่องมือที่คุณเลือกใช้ส่งสัญญาณ “ซื้อ” ด้วยเงินทั้งหมดที่ขายออกไป
4. ให้ซื้อตามสัญญาณทางเทคนิคที่เครื่องมือที่คุณเลือกใช้ส่งสัญญาณ “ซื้อ” เท่านั้น คือทำตัวให้เป็น Trading Machine
5. ให้ขายตามสัญญาณทางเทคนิคที่เครื่องมือที่คุณเลือกใช้ส่งสัญญาณ “ขาย” เท่านั้น คือทำตัวให้เป็น Trading Machine

ขอหลักการใช้งานจริงของFTA ด้วย เนื่องจากว่าVI และDSM มีคนเอามาให้ดูแล้ว?
ผมจะขอยกตัวอย่างการใช้ FTA โดยการใช้กราฟ SET เท่านั้นนะครับ ไม่ขอลงลึกไปถึงหุ้นรายตัว โดยตัวอย่างที่จะยก ผมจะใช้คลื่นอีเลียต ซึ่งเป็น Advance Technical เป็นตัวอย่างแรก และตามด้วย Basic Technical
ภาพนี้เป็นภาพ SET เมื่อตอนเดือน 7 ปีที่แล้ว เส้นสีเขียวคือ EMA10 สีแดงคือ EMA25 และสีเหลืองคือ EMA200 จากกฎลงทุนของ FTA แบบคลื่นข้อ 1 ผมต้องซื้อที่จุดเริ่มต้นของภาวะตลาดกระทิง โดยตอนนั้นผมเข้าใจว่าคลื่น C ลูกแรก เป็นจุดสิ้นสุดของภาวะหมีแล้ว ผมจึงรอหลังจากนั้นสองวันเพื่อรอการฟอร์มตัวของแท่งเทียนเมื่อเห็นว่ารีบาวน์แน่แล้วจึงเข้าซื้อ

แต่ปรากฏว่าคลื่นลูกที่ผมเข้าใจว่าเป็นคลื่น 1 ย่อยของภาวะตลาดกระทิง กลับกลายเป็นคลื่นต่อของภาวะหมี ผมจึงต้องขายออก 20% ตามกฎข้อ 2 คือให้ขายที่แนวรับแรกที่เส้นราคามันหลุดลงไปทันที นั้นคือแนวรับเส้น EMA 10 และ 25 (จากภาพจะเห็นได้ว่า วันเดียวแท่งเทียนก็หลุดแนวรับทั้งสองไปแล้ว และภาพนี้เกือบๆ จะเป็น Double Top ด้วย ซึ่งตรงตามกฎข้อ 4.2 ยังไงก็ต้องขายออก) และมาขายออกอีก 20% เมื่อพ้นแนวรับ EMA200 (ตอนนี้ผมขายออกไปแล้ว 40%)

จากนั้นก็รอมาจนฟอร์มตัวมาเป็นคลื่น C ลูกสอง









 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2548 10:30:19 น.
Counter : 464 Pageviews.  


bb8
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bb8's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.