oneworld onebaggage
Group Blog
 
All Blogs
 
การเรียกใช้ TUG BOAT(S)

เขียนโดย นาวาตรี อนันต์ สดับพจน์
Monday, 06 April 2009
การเรียกใช้ TUG BOAT(S)

โดย นาวาตรี อนันต์ สดับพจน์ จนร. ๑๓๔


มีประเด็นชวนหาคำตอบประเด็นหนึ่งคือ อำนาจในการเรียกใช้ TUG BOAT(S) เป็นของใคร ? เป็นของ นายเรือ ? หรือเอเย่น ? หรือเจ้าของท่าเทียบเรือ ? หรือผู้นำร่อง ? และในกรณีที่บุคคลที่ไม่มีอำนาจในการเรียกใช้ TUG BOAT(S) ดังกล่าว แต่ประสงค์จะมีส่วนในการกำหนดการใช้ TUG BOAT(S) ทั้งสองกรณีมีมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นการถูกต้อง “ตามจารีตประเพณีสากลว่าด้วยการนำร่อง” “ตามหลักกฎหมายทั่วไป” ตามหลักนิติธรรม และหรือ ตามหลักนิติวิธีของไทย .......สิ่งที่ผู้เขียนจะบรรยายต่อไปนี้น่าจะไขข้อข้องใจได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

๑. ผู้เกี่ยวข้องทั่วราชอาณาจักรไทย ยึดถือ และ ปฏิบัติ ตามจารีตประเพณีสากลเกี่ยวกับการนำร่อง ส่วนที่เกี่ยวกับ อำนาจหน้าที่ของนายเรือ(ทั้งกรณีนายเรือชาวไทยและกรณีนายเรือชาวต่างประเทศ) และ หน้าที่ของผู้นำร่อง โดยเคร่งครัดมาโดยตลอด จนทั้งหมดกลายเป็น จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ว่า

๑.๑ “นายเรือ” เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงในเรือ ทั้งด้านการปกครองบังคับบัญชาคนประจำเรือ การดำเนินการต่าง ๆ ในนามของเรือ( รวมทั้งการแต่งตั้ง “ตัวแทน” ) และรับผิดชอบทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับผลอันเนื่องมาจากการเดินเรือของเรือลำนั้น ฯลฯ

๑.๒ “ผู้นำร่อง” (ขณะทำการนำร่องบนเรือ) มีหน้าที่ให้คำแนะนำนายเรือ (ในฐานะ “ผู้แนะนำ( ADVISER )” เกี่ยวกับ การเดินเรือ การควบคุมบังคับเรือ กฎหมายท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และ ใช้ภาษาท้องถิ่นติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่น

๒. “ตัวแทนเรือ” หรือ “AGENT” คือผู้ที่นายเรือ(ในฐานะ “ตัวการ” )แต่งตั้งให้เป็น “ตัวแทนเรือ” และหรือ “ตัวแทนนายเรือ” (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย ตัวการ และ ตัวแทน) ดำเนินการต่าง ๆ ตามที่ระบุในหนังสือแต่งตั้งตัวแทน

๓. ด้วยนายเรืออยู่ประจำบนเรือตลอดเวลา นายเรือจึงรู้จุดอ่อนจุดแข็งทุก ๆ ด้านของเรือ (ทั้งองค์บุคคลและองค์วัตถุ) รู้ความพร้อมและประสิทธิภาพของเครื่องจักรเครื่องกลทุกชนิด รู้อาการตอบสนองต่าง ๆ ของเรือ ฯลฯ เป็นอย่างดี ดังนั้นโอกาสต่าง ๆ ที่ต้องใช้ TUG BOAT(S) ช่วยเหลือการเคลื่อนเดินของเรือ นายเรือจึงรู้ดีว่า สถานการณ์ใดควรใช้ TUG BOAT(S) ประเภทใด จำนวนเท่าใด ให้การช่วยเหลือ

การปฏิบัติหน้าที่ของ TUG BOAT(S) เป็นการก่อประโยชน์ให้กับเรือและหรือนายเรือโดยตรง จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสากลว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ TUG BOAT(S) เป็นภาระที่ เจ้าของเรือ(OWNER) หรือ นายเรือ ( ตามที่กำหนดในสัญญาจ้างงานและหรือในระเบียบปฏิบัติที่ OWNER กำหนด ) เป็นผู้ชำระ และในกรณีเรือที่อยู่ภายใต้บังคับของสัญญาเช่าเรือ ภาระการชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็เป็นภาระที่ ผู้เช่าเรือ หรือ OWNER เดิม หรือ นายเรือ ( ตามที่กำหนดในสัญญาเช่าเรือ และหรือ สัญญาจ้างงาน และหรือ ระเบียบปฏิบัติที่ OWNER กำหนด ) เป็นผู้ชำระเช่นกัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดใน ข้อ ๓ วรรคหนึ่ง และ วรรคสอง เมื่อพิจารณาประกอบกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดของนายเรือที่กล่าวใน ข้อ ๑.๑ ทั้งหมดจึงนำไปสู่บทสรุปที่ว่า อำนาจการขอใช้ TUG BOAT(S) (ไม่ว่าจะเป็นประเภท และหรือ จำนวน) เป็นอำนาจของนายเรือแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

๔. กรณีผู้นำร่องต้องการเปลี่ยนแปลงคำขอใช้ TUG BOAT(S) ของนายเรือ ข้อ ๓ วรรคหนึ่ง ชี้ชัดว่านายเรือรอบรู้องค์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับเรือตนแล้วใช้องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านั้นตัดสินใจขอใช้ TUG BOAT(S) แต่นายเรือยังขาดความรอบรู้องค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นข้อจำกัดเพิ่มเติม บริเวณที่จะนำเรือเข้าไป (โดยเฉพาะหากเป็นกรณีที่นายเรือผู้นั้นเดินทางเข้ามาเป็นครั้งแรก) แต่ผู้นำร่องเป็นผู้รอบรู้ข้อจำกัดเพิ่มเติมต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอย่างดีเพราะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เป็นประจำแทบทุกวัน (จนได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ชำนาญการประจำท้องถิ่น” ) ดังนั้นหากเกิดความไม่สอดคล้องต้องกันระหว่างคำขอใช้ TUG BOAT(S) ที่นายเรือได้ขอไว้ก่อนหน้านี้ กับความเห็นของผู้นำร่อง เมื่อนำข้อ ๓ วรรคสอง และ ข้อสรุปใน ข้อ ๓ วรรคสาม มาประกอบการพิจารณา กรณีนี้จึงสรุปทางออกได้ว่า “เป็นหน้าที่ของผู้นำร่องที่จะต้องอธิบายให้นายเรือเข้าใจและหรือให้ยอมรับในเหตุผลของผู้นำร่อง....กรณีนายเรือยอมรับ ผู้นำร่องจะต้องเป็นผู้แจ้งการเปลี่ยนแปลงคำขอการใช้ TUG BOAT(S) ของนายเรือให้ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทราบเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป....แต่ถ้าเป็นกรณีนายเรือไม่ยอมรับและยืนยันคำขอการใช้ TUG BOAT(S) เดิม ผู้นำร่องก็ไม่มีสิทธิและหรือไม่มีหน้าที่เปลี่ยนแปลงคำขอของนายเรือโดยพลการ ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวใน ข้อ ๓ ทั้ง ๓ วรรค และผู้นำร่องมีหน้าที่ต้องปรับวิธีการการแนะนำนายเรือส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติร่วมกับ TUG BOAT(S) ใหม่ให้สอดคล้องกับการยืนยันคำขอการใช้ TUG BOAT(S) เดิมของนายเรือ”

๕. กรณีตัวแทนเรือต้องการกำหนดและหรือต้องการมีส่วนร่วมในการขอใช้ TUG BOAT(S) จากเหตุผลที่กล่าวใน ข้อ ๑.๑ ข้อ ๒ และ ข้อ ๓ ทั้ง ๓ วรรค รวมทั้งเป็นที่ทราบกันดีว่าตัวแทนเรือไม่มีโอกาสรับรู้รับทราบทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวในข้อ ๓ วรรคหนึ่ง กรณีนี้จึงสรุปได้ว่า ตัวแทนเรือไม่มีสิทธิและหรือไม่มีอำนาจหน้าที่กำหนดการขอใช้ TUG BOAT(S) ด้วยตนเองโดยพลการ ไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ๆ การขอใช้ TUG BOAT(S) ของตัวแทนเรือต้องเป็นไปตามคำขอของนายเรือทุกประการ ( ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง หากเป็นกรณีตาม ข้อ ๔ ) นอกจากนี้บุคคลอื่น ๆ (รวมทั้งผู้นำร่องด้วย) ล้วนไม่มีสิทธิและหรือไม่มีอำนาจหน้าที่ สั่งการและหรือบีบบังคับให้ตัวแทนเรือกำหนดและหรือเปลี่ยนแปลงคำขอใช้ TUG BOAT(S) จากคำขอของนายเรือให้เป็นไปตามคำขอของบุคคลผู้นั้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวใน ข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ และ ข้อ ๔

๖. กรณีเจ้าของท่าเรือต้องการกำหนดหรือกำหนดการใช้ TUG BOAT(S) ทุกฝ่ายเข้าใจดีว่ากรณีนี้เจ้าของท่าเรือมีเหตุผลเกี่ยวกับหลักประกันความต่อเนื่องในการประกอยกิจการท่าเรือ เพราะทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุเรือโดนท่าและเกิดความเสียหายจนถึงขั้นไม่สามารถประกอบกิจการท่าเรือทั้งหมดหรือบางส่วนได้ เจ้าของท่าเรือต้องประสบความยุ่งยากนานัปการ และต้องสูญเสียผลประโยชน์อันเป็นสิทธิประโยชน์อันชอบธรรมที่เจ้าของท่าเรือพึงได้รับ....แน่นอนว่าสิทธิดังกล่าวของเจ้าของท่าเรือได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย .....แต่สิทธิของนายเรือที่จะต้องธำรงไว้ซึ่งอำนาจหน้าที่และความรับผิดของตนตามที่กล่าวใน ข้อ ๑.๑ ข้อ ๓ ทั้ง ๓ วรรค ก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายด้วยดุจกัน....ดังนั้นทางออกสำหรับกรณีนี้จึงควรที่จะต้องนำ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรม และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยสัญญา มาเป็นแนวทางหาทางออกที่เป็นสายกลางให้กับทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะการทำนิติกรรมสัญญาเป็นการผูกนิติสัมพันธ์ด้วยความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายออกมาเป็นหนังสือสัญญาที่ใช้เป็นเอกสารหลักฐานได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ....กล่าวคือก่อนที่เรือลำใดจะเข้ามาใช้ท่าเทียบเรือใดที่มีการกำหนดการใช้ TUG BOAT(S) ตัวแทนเรือต้องติดต่อท่าเทียบเรือนั้นเพื่อขอรายละเอียดการกำหนดการใช้ TUG BOAT(S) ของเจ้าของท่าเรือ รวมทั้งขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทและกำลังของ TUG BOAT(S) ทั้งหมดที่มีและที่สอดคล้องตามข้อกำหนดของเจ้าของท่าเรือ รวมทั้งจำนวนที่สามารถให้บริการได้ จากนั้นตัวแทนเรือต้องแจ้งข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวให้นายเรือทราบและตัดสินใจว่านายเรือต้องการกำหนด จำนวน ประเภท และ กำลัง ของ TUG BOAT(S) อย่างไร(ด้วยข้อมูลที่ได้รับจากตัวแทนเรือ)แล้วแจ้งกลับมายังตัวแทนเรือพร้อมหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเรือ ( เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๘ ) ให้ตัวแทนเรือผู้นั้นมีอำนาจทำสัญญาขอใช้ท่าเรือกับเจ้าของท่าเรือได้ ( ปัจจุบันมีข่ายการสื่อสารที่เอื้อต่อการดำเนินการดังกล่าวได้สะดวกและรวดเร็วไม่ว่าขณะนั้นเรือจะอยู่ ณ ที่ใด ๆ ในโลก ) .... ( หมายเหตุ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดกรณี ข้อ ๔ เจ้าของท่าเรือควรต้องประสานงานกับผู้ประกอบกิจการการนำร่องและหรือผู้นำร่องที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำ ณ ท่าเรือนั้นก่อนการกำหนดการใช้ TUG BOAT(S) ดังกล่าว เพื่อรวบรวม ข้อคิดเห็น และ ข้อเสนอแนะ นำมาปรับปรุงเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการการนำร่องและหรือผู้นำร่องยอมรับบทสรุปสุดท้ายเกี่ยวกับการกำหนดการใช้ TUG BOAT(S) ของเจ้าของท่าเรือต่อไป )

๗. กรณีพิเศษที่ขอเพิ่มเติมคือ กรณีผู้ประกอบกิจการ TUG BOAT(S) ขอเปลี่ยนแปลงการจัด TUG BOAT(S) ให้แตกต่างไปจากคำขอของนายเรือตาม ข้อ ๓ วรรคสาม หรือต่างไปจากนิติกรรมสัญญาตาม ข้อ ๖ อันเนื่องมาจาก ณ เวลาที่เรือเดินทางมาถึง TUG BOAT(S) ตามคำขอมีจำนวนไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล กำลังทำงานอยู่กับเรือลำอื่น ๆ หรือด้วยเหตุผลอื่นใด กรณีนี้จะต้องได้รับการยินยอมจาก

๗.๑ นายเรือแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น หากเป็นกรณีใน ข้อ ๓ หรือ ข้อ ๔

๗.๒ นายเรือและเจ้าของท่าเรือ หากเป็นกรณีใน ข้อ ๖

- - - - -










แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 27 April 2009 )


Create Date : 05 กรกฎาคม 2552
Last Update : 18 กรกฎาคม 2552 11:59:56 น. 2 comments
Counter : 1208 Pageviews.

 
ดีครับวันนี้ว่างๆๆเล่นมาเยี่ยมเพื่อนๆชาวbloggang หลังจากผมไปทำเว็บไซค์ใหม่ของผมสองเว็บก็คือเว็บ โปรโมทเว็บ
และเว็บฟังเพลงของผม ฟังเพลงไม่รู้งานนี้จะมีคนเข้าขนาดไหน


สุดท้ายก่อนจะจากช่วงนี้ก็วันหยุดยาวแล้วก็ให้ไม่ประมาทนะครับ เมาอย่างครับ รักษาสุขภาพครับทุกคน


โดย: prempcc วันที่: 5 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:28:51 น.  

 


โดย: jodtabean (loveyoupantip ) วันที่: 6 สิงหาคม 2554 เวลา:3:10:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Farfaraway2015
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Just Funny
Friends' blogs
[Add Farfaraway2015's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.