โลกจะหมุนไปกับคุณ (Established on 7 January 2006) ........

thelegendary
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




web page counters
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add thelegendary's blog to your web]
Links
 

 

คำวินิจฉัยมัดตัว ชินวัตรอ่วม-พิรุธโอนหุ้น บี้ทักษิณ-พจมานแจงภาษี



หลักฐานคำวินิจฉัยมัดตัว ชินวัตรอ่วม-พิรุธโอนหุ้น พบมี "เงินได้พึงประเมิน" บี้ทักษิณ-พจมานแจงภาษี

กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2544 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2544 เกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 กรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ปรากฏว่า มีข้อน่าสงสัยหลายประการ โดย thaiinsider.com ได้รับการร้องขอให้ศึกษาถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด ทำให้พบข้อน่าสังเกตหลายอย่าง

ทั้งนี้ในคำวินิจฉัย พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ที่้ชี้แจงต่อศาลฯนั้น ระบุว่า ก่อนดำเนินกิจกรรมทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โอนหุ้นส่วนใหญ่ให้คุณหญิงพจมานถือแทน โดยใช้วิธีการโอนลอยหุ้น เป็นผลให้สิทธิของหุ้นนั้น ตกมาเป็นของคุณหญิงพจมาน

ทั้งนี้คุณหญิงพจมานได้มีการโอนหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ไปให้น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี ถือแทน จำนวน 5 ล้านหุ้น ต่อมาพอน.ส.ดวงตาจะแต่งงาน จึงมีการโอนหุ้น 4.5 ล้านหุ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 ให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายถือแทน โดยอ้างว่า เป็นการให้ตามสิทธิและธรรมจรรยา เพราะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและบริหารบริษัทมาด้วยกัน ขณะที่อีก 5 แสนหุ้นนั้นมีการโอนไปให้น.ส.บุญชู เหรียญประดับ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2540

โดยในคำให้การต่อศาลฯนั้น คุณหญิงพจมาน ระบุว่า ได้มีการโอนหุ้นจากน.ส.ดวงตาไปให้นายบรรณพจน์ ถือแทน โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ไม่ได้มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ ซึ่งสำนักงานตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร ได้มีหนังสือตอบข้อหารือ ตามหนังสือที่ กค 0811/4576 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2544 สรุปได้ว่า การที่คุณหญิงพจมานให้ตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ขัดต่อประมวลรัษฎากร และคุณหญิงพจมานหรือตัวแทนมีสิทธิได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี

นอกจากนี้คุณหญิงพจมานยังระบุด้วยว่า ไม่มีเจตนาหรือจงใจปกปิดรายการหุ้นที่ใช้ชื่อบุคคลอื่นถือแทน ซึ่งสามารถตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีเงินฝากได้ว่า เงินที่ใช้ในการซื้อ-ขายหุ้น รวมทั้งเงินปันผล จะนำเข้าในบัญชีเงินฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานสาขารัชโยธิน (ตามข้อ 6.5 ของคำวินิจฉัย)

ในคำวินิจฉัยของศาลฯ ยังระบุอีกว่า “จากพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันที่ 7 พ.ย. 2540 ซึ่งเป็นวันที่พ.ต.ท.ทักษิณยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นายบรรณพจน์ได้สั่งซื้อหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ผ่านโบรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) 4.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 164 บาท เป็นเงิน 738 ล้านบาท โดยซื้อผ่านน.ส.ดวงตา ที่ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน ซึ่งนายบรรณพจน์ให้การว่า ไม่ได้ซื้อหุ้นดังกล่าว แต่คุณหญิงพจมานแบ่งหุ้นให้ เมื่อพิจารณาประกอบคำให้การของนางกาญจนาภา หงส์เหิน ซึ่งให้การว่า การซื้อขายหุ้นในวันดังกล่าว คุณหญิงพจมานเป็นผู้ชำระเงินค่าซื้อแทนนายบรรณพจน์ เมื่อบริษัทโบรกเกอร์ได้รับค่าซื้อหุ้นแล้ว ได้ออกเช็คชำระราคาค่าหุ้นให้แก่น.ส.ดวงตา ผู้มีชื่อถือหุ้น เป็นเช็คขีดคร่อมระบุชื่อ น.ส.ดวงตา และตนได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีคุณหญิงพจมานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) การดำเนินการดังกล่าวต้องเสียค่าธรรมเนียมนายหน้าร้อยละ 1

เมื่อพิจารณาดูภาพรวมทั้งหมดแล้ว พบว่า การที่คุณหญิงพจมานอ้างว่า ให้หุ้นดังกล่าวแก่นายบรรณพจน์โดยให้ตามสิทธิและธรรมจรรยา แต่กลับไปซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยอมเสียค่าธรรมเนียมให้โบรกเกอร์ เพียง 7.38 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ที่ตามกฎหมายระบุไว้ว่า เงินได้ส่วนที่เกินสี่ล้านบาท ต้องเสียร้อยละ 37 ที่ในกรณีนี้ต้องเสียภาษีคิดเป็น 273 ล้านบาท

ซึ่งในกรณีนี้ เมื่อน.ส.ดวงตา นำเช็คค่าหุ้นมาคืนให้คุณหญิงพจมาน ตามหลักการแล้ว ถือว่า คุณหญิงพจมานได้รับเงินจากการขายหุ้นนอกตลาดฯ โดยมีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gain) เท่ากับว่า “มีเงินได้” ซึ่งตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรและมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร จึงถือว่าเป็นรายได้

ขณะที่นายบรรณพจน์เอง ตามหลักการแล้ว ถือว่า เมื่อมีการไปซื้อหุ้นในตลาดฯจากน.ส.ดวงตา เท่ากับว่า ไม่ได้เป็นการให้โดยเสน่หาจริง นายบรรณพจน์จึงมีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรและมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

สำหรับกรณีของน.ส.ดวงตา ทำให้ทราบว่า เงินปันผลมีการจ่ายในนามของน.ส.ดวงตา จึงมีประเด็นที่น่าสนใจคือ มีการการยื่นขอคืนภาษีโดยเครดิตในนามน.ส.ดวงตาหรือไม่ เพราะน.ส.ดวงตามีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) เมื่อน.ส.ดวงตานำเงินปันผลไปเข้าบัญชีคุณหญิงพจมานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็เท่ากับว่า คุณหญิงพจมานได้รับเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรและมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

ทั้งนี้มีกรณีตัวอย่างที่สามารถเทียบเคียงได้คือ …..

หนังสือ กค 0706/5429 วันที่ 4 ก.ค. 2548 เรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินได้จากเงินปันผลจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีบริษัท ก. จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2546 ประกอบธุรกิจส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน ขอหารือกรณีเงินได้จากเงินปันผลจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้

1. เมื่อปี 2546 บริษัทฯ ได้ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท บ. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทฯ ซื้อหุ้นดังกล่าวผ่านตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ UOB

2. ในปี 2547 บริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัท บ. โดยบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ทั้ง 2 แห่ง และตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) จะนำเงินปันผลจากหลักทรัพย์มาจ่ายคืนให้แก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินปันผล เรียกว่า “Subsidiary Tax Certificate” และหลักฐานประกอบ ได้แก่ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ออกให้แก่ UOB

บริษัทฯ หารือว่า บริษัทฯ สามารถใช้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ซึ่งอยู่ในต่างประเทศมาเป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีของบริษัทฯ ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

กรณีบริษัทฯ ซื้อหุ้นของบริษัท บ. ผ่านตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ และตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ดังกล่าวได้สั่งซื้อและถือหุ้นในบริษัท บ. ในนามของตนเอง เมื่อบริษัท บ. จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ดังกล่าวก็จะจ่ายเงินปันผลที่ได้รับให้แก่บริษัทฯ อีกทอดหนึ่งและออกหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (Subsidiary Tax Certificate) พร้อมทั้งส่งมอบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ระบุชื่อตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ซึ่งอยู่ในประเทศคืนให้แก่บริษัทฯด้วย กรณีดังกล่าวบริษัทผู้มีหน้าที่เสียภาษีจากเงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่บริษัทที่มีชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ออกหุ้น

ดังนั้น กรณีบริษัท บ. จ่ายเงินปันผลให้แก่ตัวแทน ซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ในฐานะผู้ถือหุ้นที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพฯ บริษัทฯ ซึ่งไม่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงไม่มีสิทธินำหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ระบุชื่อตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ดังกล่าว มาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร
…………………

นอกจากนี้ ตามหลักฐานข้างต้นพบว่า คุณหญิงพจมานมีรายได้พึงประเมินจากกรณีดังกล่าว ก็ต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีรายได้พึงประเมินร่วมเช่นกัน ในฐานะคู่สมรส จึงเป็นคำถามว่า มีการเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี หรือไม่

ทั้งนี้เพราะผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 50(2) มีหน้าที่ต้องหักและนำส่งภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 และถ้าไม่ได้มีการหักนำส่ง ถือว่า ต้องรับผิดในการเสียภาษีร่วมกับผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 54

นับเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายว่า…

พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน มีการเสียภาษีในกรณีนี้หรือไม่



ที่มา ThaiInsider.Com - 09 January 2006




 

Create Date : 10 มกราคม 2549    
Last Update : 10 มกราคม 2549 1:54:55 น.
Counter : 1010 Pageviews.  

กิตติรัตน์หมดลาย อ้อนเบียร์ช้างจดทะเบียนในไทย



กิตติรัตน์หมดลายผจก. "อ้อน" บอร์ดเบียร์ช้าง คนไทยควรรักประเทศ กลัวสูญหลายพันล้าน!

“กิตติรัตน์” หมดทาง อ้อน “เบียร์ช้าง” อย่าไปจดทะเบียนที่สิงค์โปร์เลย ชี้จะทำให้ไทยเสียโอกาสหลายพันล้านบาท อ้างเป็นบริษัทคนไทย ต้องรักประเทศไทย แจงบริษัทมีผลกำไร-ผลตอบแทนสูง ไม่เชื่อเป็นแผนกดดันก.ล.ต.ให้เร่งพิจารณา

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงการที่บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์ช้าง จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า จะทำให้ไทยเสียโอกาสเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมใน ตลท. เช่น จะเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้นเบียร์ช้างปีละ 500 ล้านบาท รวมถึงการจ่ายเงินปันผลคืนให้ผู้ถือหุ้นคนไทยหลายพันล้านบาทต่อปี ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้มีความหมายและจะกลับคืนมาในรูปภาษี ที่จะนำมาพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงขอให้ทางคณะกรรมการไทยเบฟฯ ทบทวนมติการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ และให้โอกาสกับ ตลท. เพราะยังมั่นใจว่า บริษัทไทยเบฟฯ มีเจตนาที่จะเข้าจดทะเบียนใน ตลท. เพราะเป็นบริษัทของคนไทย

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า การที่เบียร์ช้างสนใจไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ไม่ใช่แผนกดดันการทำงานของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเร่งให้ ก.ล.ต.พิจารณากรณีนี้เร็วขึ้น แต่อาจเกิดจากอุปสรรคและปัญหาที่ติดขัดทำให้เบียร์ช้างยังไม่สามารถจดทะเบียนในตลท.ได้ จึงต้องหาทางออกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นอื่น ทั้งนี้ยืนยันว่า ยังเชื่อมั่นการทำงานของ ก.ล.ต. ว่า จะทำงานอย่างมีมาตรฐานและมีเหตุผล

"ผมยังมีศรัทธาต่อการทำงานของ ก.ล.ต.เหมือนเดิม และเชื่อว่า ไทยเบฟฯ ยังรักประเทศไทย ดังนั้น ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่รู้ว่า ไทยเบฟฯ เป็นบริษัทที่มีกำไรสูง และมีมูลค่าตลาดรวมสูงมาก จึงขอให้ทางบอร์ดไทยเบฟฯ ได้ทบทวนและให้โอกาสกับตลาดทุนไทย และเป็นการขอร้องบอร์ดไทยเบฟฯ ไม่ใช่การขอร้องนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานบอร์ดไทยเบฟฯ เพียงคนเดียว" นายกิตติรัตน์ กล่าว



ที่มา ThaiInsider.Com - 09 January 2006





 

Create Date : 10 มกราคม 2549    
Last Update : 10 มกราคม 2549 1:46:01 น.
Counter : 511 Pageviews.  

แกนนำม็อบค้านเบียร์ช้างเข้าไทย แต่สนับสนุนให้เข้าตลาดสิงคโปร์



แกนนำม็อบต้านเบียร์ช้าง ประกาศเดินหน้าคัดค้าน “เบียร์ช้าง” ต่อหากจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควบคู่กับตลาดสิงคโปร์ ย้ำจุดยืนไม่ให้ธุรกิจแอลกอฮอล์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย แต่พร้อมสนับสนุนให้ไปเข้าตลาดสิงคโปร์ พร้อมเผย สธ. กำลังเร่งร่างกฎหมายควบคุมสุราคาดแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปีนี้

วันนี้( 6 ม.ค.) นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ประธานชมรมนักกฎหมายเพื่อสังคม ในฐานะฝ่ายกฎหมายของกลุ่มคัดค้านบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม “เบียร์ช้าง” เข้าตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า การที่เบียร์ช้างจะตัดสินใจเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ทางกลุ่มคัดค้านพร้อมสนับสนุน เพื่อให้บริษัทของคนไทยไปเติบโตในต่างประเทศ ซึ่งหากนักลงทุนจะไปซื้อขายหุ้นเบียร์ช้างในตลาดสิงคโปร์ ก็เป็นสิทธิที่ทำได้

อย่างไรก็ตามการที่เบียร์ช้างจะเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นสิงคโปร์ และตลาดหุ้นไทย (DUAL LISTING) นั้น ทางกลุ่มจะเดินหน้าคัดค้านต่อเนื่อง เพราะจุดยืนของการต่อต้านไม่ต้องการให้นำธุรกิจแอลกอฮอล์เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลัก หรือตลาดที่สอง เพราะธุรกิจดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นหากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการประชุมเพื่อพิจารณาการรับเบียร์ช้างเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน ทางกลุ่มผู้คัดค้านก็จะรวมตัวกันอีกครั้ง และจะติดตามข่าวของเบียร์ช้างอย่างใกล้ชิดต่อไป

“เรารู้สึกไม่สบายใจที่ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษ์ณ์ว่า เสียดายที่เบียร์ช้างจะไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ แสดงว่ามองแต่เรื่องธุรกิจ และเป้าหมายการขยายตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น” นายสัมพันธ์ กล่าว

นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่าความคืบหน้าการร่างกฎหมายควบคุมสุราของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ทางคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของกระทรวง จะมีการแก้ไขรายละเอียดบางจุดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาสแรกของปีนี้ น่าที่จะประกาศใช้ได้ เพราะทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งดำเนินการ โดยหลักการของกฎหมายสุราจะเน้น 3 เรื่อง คือการควบคุมการขาย การบริโภค และการโฆษณา

ที่มา ผู้จัดการ 6 มกราคม 2549




 

Create Date : 08 มกราคม 2549    
Last Update : 8 มกราคม 2549 23:12:29 น.
Counter : 777 Pageviews.  

ถ้าทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปจริง - ความจริงที่คนไทยต้องไม่ลืม !



จนถึงวันนี้ยังไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าตระกูลชินวัตรขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มทุนสิงคโปร์เกือบทั้งหมดเป็นเงินสดประมาณ 70,000 ล้านบาทขึ้นไปจริงหรือไม่ ?

แต่ก็เป็นกระแสข่าวที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

โดยเฉพาะหลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมด้วยคุณหญิง และลูก ๆ ทุกคน เดินทางไป “พักผ่อน” ที่ประเทศสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 1 – 4 มกราคม 2549 ซึ่งคาบเกี่ยวกับวันเปิดทำการของสถาบันการเงินและตลาดหลักทรัพย์ถึง 2 วันคือวันที่ 3 – 4 มกราคม 2549 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าไปลงนามในขั้นตอนสุดท้ายหรือเปล่า ?

ได้ยินมาว่าชินคอร์ปจะแถลงข่าวในวันอังคารที่ 10 มกราคม 2549 นี้

สมมติว่าชินคอร์ปขายหุ้นเกือบทั้งหมดให้กลุ่มทุนสิงคโปร์จริง !

นัยและความหมายหมายคืออะไร ?

สรุปสั้น ๆ ได้ 2 ประการ

ประการหนึ่งคือลดข้อครหาในประเด็น Conflict of interest !

อีกประการหนึ่งคือยึดหลัก “ปลอดภัยไว้ก่อน” แปรสินทรัพย์ทั้งหมดเป็นเงินสดที่เคลื่อนย้ายได้ง่ายเอาไว้ก่อน

ในประการหลังนี้หมายความว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่เป็นที่น่าไว้วางใจสำหรับตระกูลชินวัตรนัก !!

แต่นั่นยังไม่ใช่ประเด็นที่ต้องการจะบอกกล่าว

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าความมั่งคั่งของชินคอร์ปไม่ได้มาจากความสามารถของคนในตระกูลชินวัตรสถานเดียว หากมาจากโอกาสที่พวกเขาได้เข้ามาบริหารประเทศในรอบ 4 ปีที่ผ่านมานี้ด้วย คนไทยทั้งมวลจะต้องมองให้ทะลุมายาภาพตัวนี้

...........

ชินคอร์ปเป็นบริษัทของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ที่ถือหุ้นบริษัทลูกที่สำคัญ ๆ หลายบริษัท อันได้แก่

เอไอเอส บริษัทที่วิ่งเต้นได้สัมปทานและวิ่งเต้นขยายเวลาสัมปทานโทรศัพท์มือถือที่สูบเงินจากประชาชนด้วยจำนวนเลขหมายมากที่สุดในประเทศเกือบ 21 ล้านเลขหมาย หรือประมาณกว่า 90 % มีรายได้ต่อปีประมาณ 80,000 ล้านบาท

ชินแซทเทิลไลท์ บริษัทที่วิ่งเต้นมาจากรัฐบาลเผด็จการจนได้สัมปทานดาวเทียม และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากบีโอไอถึง 16,459 ล้านบาทในสมัยที่ตัวเองเป็นรัฐบาลเอง

แคปปิตอลโอเค บริษัทที่ทำมาหากินกับคนยากจน และกองทุนหมู่บ้าน ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ด่วน ดอกเบี้ยมหาโหด ๆ

แอร์เอเซีย สายการบินราคาถูกแย่งลูกค้าจากการบินไทย

ไอทีวี ทีวีของไอที่ได้รับสัมปทานจากกรมประชาสัมพันธ์ ได้ลดค่าสัมปทานและอนุญาตให้ปรับผังเวลาขยายรายการบันเทิงในสมัยที่ตัวเองเป็นรัฐบาลเอง

เอสซีแอทเซท บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถซื้อที่ดินราคาถูกจาก บสท. และ/หรือ บบส.

พูดง่าย ๆ ก็คือ ชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มธุรกิจของตระกูลชินวัตร ที่มีทรัพย์สินมูลค่าอย่างมหาศาล โดยมีที่มาผูกขาดกับการสัมปทานทรัพยากรสำคัญ ๆ ของประเทศไทยเอาไว้ได้เกือบทั้งหมด

และมีอัตราการเจริญเติบโตพรวดพราดที่แยกไม่ออกจากนโยบายของรัฐบาล

รัฐบาลที่มีคนตระกูลชินวัตรเป็นผู้นำ

เรื่องแบบนี้จะพูดกันลอย ๆ หาได้ไม่ ตาม “เซี่ยงเส้าหลง” มาดูกัน...ตามมา.....

27 มีนาคม 2533 – วิ่งเต้นจนเอไอเอสได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHZ เป็นระยะเวลา 20 ปี

ปี 2535 – วิ่งเต้นจนได้รับสัมปทานดาวเทียมไทยคมโดยการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลเผด็จการ รสช. โดยอิงความสัมพันธ์ที่สนิทแนบแน่นกับ พล.อ.สุนทร คงสม พงษ์ ซึ่งก็ชดใช้บุญคุณมาจนถึงสนับสนุน 2 คนสนิทของท่านให้ได้ดีในยุคนี้ คือ พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันท์ เคยได้เป็นรมว.กลาโหม และ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาสรานนท์ เพิ่งได้เป็นผบ.สูงสุด

18 พฤศจิกายน 2535 -- เอไอเอสแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน จำกัด กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

1 ตุลาคม 2537 -- สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัยชุดที่ 1 เอไอเอสเปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Digital GSM

20 กันยายน 2539 -- ช่วงรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นรองนายกรัฐมนตรี เอไอเอสลงนามสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยเพิ่มอายุสัมปทานจาก 20 ปี เป็น 25 ปี

กรกฎาคม 2542 -- เอไอเอสเริ่มเปิดจำหน่ายและให้บริการผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ชื่อ One-2-Call ซึ่งเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล GSM แบบ Pre-paid โดยใช้บัตรเติมเงินที่ไม่มีบริการรายเดือน และไม่ต้องมีการจดทะเบียนเลขหมาย

ปี 2544 – พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี และดำเนินนโยบายเพื่อชาติดังต่อไปนี้....

• แปรสภาพคู่สัญญาและคู่แข่งของเอไอเอสอย่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มาเป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รายได้อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงลงทุนโครงข่ายที่ไม่คุ้มทุนเพื่อประชานิยม และรัฐบาลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการสัมปทานที่ไม่คุ้มค่าและทำให้การแข่งขันของ ทศท.อ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ

• แปรสภาพคู่แข่งของเอไอเอสอย่างการสื่อสารแห่งประเทศไทย มาเป็นบริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยกเลิกการประมูลสัมปทานเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือของคู่แข่ง CDMA เฟส 2 ที่เอกชนรายอื่นชนะประมูล (ไม่ใช่ญาติพี่น้องตัวเอง) แล้วกลับมาให้ กสทฯ ลงทุนเอง และรัฐบาลก็กำกับเองอีก จนรายได้ของ กสทฯ ก็ลดลงและอ่อนแอลงอีกเช่นกัน

• ในปี 2546 ตรา พ.ร.ก.จัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ให้กระทบรายได้สัมปทานของผู้ประกอบการรายเดิม กีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ จนไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้

• พฤศจิกายน 2546 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมติส่งเสริมการลงทุนโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ของชินแซทเทิลไลท์ โดยให้การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะรายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่เป็นกิจการที่ลงทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่รู้ไปยกเว้นภาษีทำไม บริษัทจึงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อีก 16,459 ล้านบาทต่อปี

• ปี 2546 ไอทีวีได้ลดค่าสัมปทาน และไอทีวีสามารถปรับเพิ่มรายการบันเทิงได้

• ปลายปี 2546 ชินคอร์ปลงทุนในสายการบินราคาถูก แอร์เอเซียมาเป็นคู่แข่งการบินไทย (นกแอร์) โดยที่รัฐบาลก็ยังส่งคนไปดูแลและตัดสินใจนโยบายเส้นทางการบินและการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมกับเปิดเสรีการบินภายในประเทศโดยยกเลิกอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำ 3.8 บาทต่อกิโลเมตร และในที่สุดการบินไทยก็เริ่มเข้าสู่การขาดทุนจากนโยบายเส้นทางบินที่ผิดพลาดอีกเหมือนกัน

• ปื 2547 ชินคอร์ปเริ่มเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อแก่ผู้บริโภค แคปิตอล โอเค ปล่อยสินเชื่อนอกระบบธนาคารพาณิชย์ ทำมาหากินเพิ่มเติมจากภาคประชาชนที่เดือดร้อนเงินทอง

ตัวอย่างของความมั่งคั่งในทุกวันนี้ได้แก่ค่ารายได้จากโทรศัพท์มือถือ

ในปี 2547 เฉพาะบริษัทมือถืออย่างเอไอเอสมีรายได้รวมทั้ง สิ้น 77,708 ล้านบาท โดยที่ไม่ต้องเสียค่าเช่าโครงข่าย (access charges) ของ ทศท ฯ เหมือนผู้ประกอบการรายอื่น

แต่ยังน้อย ถ้าเทียบกับงานวิจัยจากนักวิชาการของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ได้เคยสรุปเอาไว้ว่า กลุ่มเจ้าของ “หุ้นทักษิณ” ซึ่งประกอบไปด้วย ไอทีวี, ชินคอร์ปอเรชั่น, เอไอเอส, ชินแซทเทิลไลท์, ธนาคารทหารไทย ฯลฯ นั้น...

ได้รับความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายและมาตรการของรัฐในปี 2546 เพียงแค่ปีเดียว เพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมถึงประมาณ 205,276 ล้านบาท

นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องใหญ่ ๆ เกี่ยวกับทิศทางในยุคต่อไปของประเทศ ซึ่งบังเอิญชินคอร์ปฉลาดล้ำ อ่านได้ทะลุปรุโปร่ง ดำเนินนโยบายตามได้อย่างสอดคล้องทางด้าน...

• ลอจิสติกส์ -- ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ และทางบก

• น้ำมัน, พลังงาน, ปิโตรเคมี

การขายหุ้นชินคอร์ปจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา

เคยมีข้อวิเคราะห์กันว่าอาจเป็นเพราะชินคอร์ปต้องการจะขายเพื่อไปลงทุนในโทรศัพท์มือถือ รุ่นที่ 3 (3 G) ซึ่งมีเทคโนโลยีสูงกว่าทุกวันนี้มาก

แต่ก็ไม่สมเหตุสมผลด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ

1. หากต้องการขายเทคโนโลยีเก่าจริง ๆ ก็ควรจะขายเฉพาะเอไอเอสบริษัทลูกกิจการโทรศัพท์มือถือ

2. นักลงทุนหน้าโง่ที่ไหนจะไปซื้อชินคอร์ปหากเป็นกิจการที่จะไม่ดีอีกต่อไป การขายได้ในราคาดีก็แปลว่าธุรกิจนี้ต้องยังมีอนาคตที่สดใส

3. ปัจจุบันชินคอร์ปถือหุ้นเอไอเอสที่ครองตลาดโทรศัพท์มือถือมากที่สุด อีกทั้งรัฐบาลได้ออกภาษีกิจการโทรคมนาคมกีดกันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ ทั้งยังกำกับดูแลทั้ง กสท ฯ และ ทศท ฯ มิหนำซ้ำ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในทุกวันนี้ก็ยังมีข้อกังขาว่าเป็นกลุ่มคนที่เอื้อกลุ่มทุนในปัจจุบันหรือไม่ ดังนั้นต่อให้มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ตาม ใครจะไปสู้เอไอเอสได้

เมื่อเหตุผลการลงทุนเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเท่าไรนัก ก็ต้องมีคำถามตามมาอีกว่าหากมีการขายหุ้นชินคอร์ป

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาพฤติกรรมของกลุ่มตระกูลชินวัตรและญาติพี่น้องในช่วงเวลาไม่นานนี้ที่ต่างเริ่มขายหุ้นกันออกมาอย่างผิดสังเกต

• กันยายน 2548 นายพานทองแท้ ชินวัตร ขายหุ้นธนาคารทหารไทยทั้งหมด จำนวน 162 ล้านหุ้น ได้เงินประมาณ 652 ล้านบาท

• นายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้ที่ได้รับโอนหุ้น บมจ. ทราฟฟิกคอนเนอร์ มาจากนางสาวชยาภา วงศ์สวัสดิ์ (ลูกสาวของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์) ได้ขายหุ้น 20 ล้านหุ้นทั้งหมดออกไป

• นายพายัพ ชินวัตร ขายหุ้นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างงานระบบ EMC ที่โฆษณาว่าจะรับงานก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์จนหมด

• นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้บริหารเอไอเอส ก็ขายหุ้นของเอไอเอสออกมาอย่างต่อเนื่อง

ถ้าจะลบภาพ Conflict of Interest ถามว่าขายวันนี้ไม่ช้าไปหรือ ?

ทำไมไม่ขายเสียตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ?

หากดูลักษณะของชินคอร์ปที่มีพฤติกรรมการลงทุนที่ชอบความปลอดภัยในการลงทุน ชื่นชอบประกอบกิจการเทคโนโลยีชั้นสูง มีผลตอบแทนสูง ผูกขาดจากการทำสัมปทานจากภาครัฐ ความเป็นไปได้จึงมีอยู่เพียงแค่ 3 กรณี

กรณีที่ 1 ลงทุนซื้อ กฟผ. เพื่อยึดโครงข่ายสายส่งไฟเบอร์ ออปติก เตรียมเข้าไปสู่การผูกขาดสื่อสารโทรคมนาคมรูปแบบใหม่ หรืออาจจะลงทุนกิจการพลังงานอย่างโรงกลั่นน้ำมัน หรือพลังงานทดแทน แต่หากมีการขายหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด ก็ดูจะเป็นการไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไรนัก

กรณีที่ 2 ลงทุนในกิจการเทคโนโลยีในอนาคต เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ หรือนาโนเทคโนโลยี ซึ่งกรณีนี้เป็นไปได้ยากและยังอีกไกลมากสำหรับประเทศไทยที่ไม่มีความพร้อมสักเท่าใดนัก ทั้งในด้านบุคคลากร และความล้าหลังทางด้านงานวิจัย จึงไม่น่าจะเป็นไปได้อีกเช่นกัน

กรณีที่ 3 นำเงินจำนวนเกือบแสนล้านไปลงทุนในต่างประเทศที่มีความมั่นคงหรือให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

หากเป็นกรณีที่ 3 นั้นก็จะตรงกับที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ฟันธงไว้เบื้องต้นว่า....

ยึดหลัก “ปลอดภัยไว้ก่อน” แปรสินทรัพย์ทั้งหมดเป็นเงินสดที่เคลื่อนย้ายได้ง่ายเอาไว้ก่อน

ถ้าหากมีความคิดเช่นนี้เกิดขึ้น

หรือถ้าหากจะคิดไปไกลกว่านี้ว่า เงินจำนวนมหาศาลเกือบแสนล้านบาทเหล่านี้สามารถจะเป็นเสบียงให้ครอบงำการเปลี่ยนแปลงในประเทศ และสามารถกลับมามีอำนาจอีกครั้งได้ ยามเมื่อต้องหมดอำนาจลง เพราะเงินจำนวนนี้สามารถมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ จะนำเข้ามาเมื่อใดก็ได้ เป็นพลังอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจแล้วเอามาแบล็กเมล์ประเทศ เหมือนกับที่แบล็กเมล์คนไทยว่าไม่เลือกพรรคไทยรักไทยแล้วจะไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

ก็อยากจะเตือนให้สำเหนียกเสียหน่อยว่าทรัพย์สินที่ร่ำรวยของท่านนั้นมาจากไหน ?

ถ้าไม่ใช่แผ่นดินไทยนี้ที่ได้ให้โอกาสท่านมาจนถึงทุกวันนี้

จากคนขายคอมพิวเตอร์จนเกือบเจ๊ง แลกเช็ค ชักหน้าไม่ถึงหลัง กลายเป็นมหาเศรษฐีติดระดับโลก ได้อย่างไร ?

สัมปทานโทรศัพท์มือถือ สัมปทานดาวเทียม ล้วนเป็นทรัพยากรคลื่นอากาศของประเทศ

แม้แต่ดาวเทียม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระราชทานนาม

แล้วต้นทุนทางสังคมที่ลดภาษี ลดค่าสัมปทาน อีกเล่า ?

เพราะฉะนั้น เงินเกือบแสนล้านนี้จึงมีส่วนที่เป็นของประชาชนอยู่ไม่ใช่น้อยเลย !!



ที่มา ผู้จัดการ 6 มกราคม 2549




 

Create Date : 08 มกราคม 2549    
Last Update : 8 มกราคม 2549 23:17:16 น.
Counter : 632 Pageviews.  

'ชินวัตร'ขายทิ้งชินคอร์ป 70,000 ล้านเอาไปทำอะไร ?



แม้ว่าช่วงปี 2548 ที่ผ่านมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อตระกูลเบญจรงคกุล ผู้บุกเบิกและก่อตั้ง บริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม ได้ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด 39.88% หรือคิดเป็นจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 173.3 ล้านหุ้น ให้แก่ บริษัท ไทย เทเลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด ในเครือกลุ่มเทเลนอร์ บริษัทสื่อสารชั้นนำจากประเทศนอร์เวย์ ทำให้กลุ่มเทเลนอร์ก้าวมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ยูคอม แทนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา

ช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน บมจ. สามารถ ไอ-โมบาย หรือ SIM และ บริษัท แคมโบเดีย สามารถ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (CASACOM) ตัดสินใจขายหุ้นให้กับ บริษัท ทีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล เอสดีเอ็น บีเอชดีฯ หรือ TMI ในเครือเทเลคอม มาเลเซีย เป็นเงินถึง 2,500 ล้านบาท

การขายทิ้งหุ้นใน 2 กิจการข้างต้นของกลุ่มทุนไทย ไม่เพียงตอกย้ำการรุกเข้ามาของต่างชาติก่อนการเปิดเสรีโทรคมนาคมที่จะเริ่มในปี พ.ศ.2549 นี้ เท่านั้น หากยังทำให้ข่าวที่เคยซุบซิบในแวดวงธุรกิจว่า ตระกูลชินวัตรจะทิ้งหุ้นใน บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ ชินคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม เนื่องจากเบื่อที่ทำให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ถูกยกระดับขึ้นมาจนกลายเป็นหนึ่งในวาระหลักของสังคม

สาเหตุที่ทำให้กระแสข่าวดังกล่าวทวีความจริงจังมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจาก นายกฯทักษิณ มักเปรยกับนักธุรกิจกลุ่มทุนของพรรคไทยรักไทยบ่อยๆว่า พร้อมจะขายทิ้งหุ้นเพราะต้องการลดเงื่อนไขทางการเมืองว่าด้วยเรื่องธุรกิจการเมือง "ผมได้ยินนายกฯพูดแต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อไหร่" นักธุรกิจใหญ่ที่ใกล้ชิดรัฐบาลกล่าว ซึ่งสอดรับกับสิ่งที่ นายกฯทักษิณ เคยพูดไว้ระหว่างออกรายการทีวีครั้งหนึ่งว่า "เรื่องธุรกิจใครมาซื้อตอนนี้ผมขายเลย ผมไม่เอาแล้ว ผมพอแล้ว"

ทั้งนี้ตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ (สกุลเดิมของคุณหญิงพจมาน) ถือหุ้นรวมกันใน บมจ.ชินคอร์ป 37.96% (แบ่งเป็นของ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร จำนวน 440,000,000 หุ้นหรือคิดเป็น 14.67% , นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 404,430,300 หุ้นหรือ13.49% และ นายพานทองแท้ ชินวัตร 293,950,220 หุ้น หรือคิดเป็น 9.80%)

-ทำไมชินวัตรต้องขาย

ถ้าถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มาสนับสนุนให้ตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์ ตัดสินใจขายหุ้นให้กับพันธมิตร ตอบได้ว่าน่าจะมาจาก 4 ปัจจัยหลักด้วยกัน

ประการแรก การเปิดเสรีโทรคมนาคมที่จะเริ่มต้นในปี 2549 นี้ ทำให้ยักษ์ใหญ่ทุนหนาจากต่างชาติพาเหรดกันเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดไม่ใช่มีเพียงผู้ประกอบการท้องถิ่นเท่านั้นหากยังมียักษ์ข้ามชาติเข้ามาร่วมวงด้วย การเข้ามาของยักษ์สื่อสารข้ามชาติถูกเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนเทคโนโลยีจากระบบจีเอสเอ็มไปสู่ยุคที่ 3 หรือ 3G (Third Generation) ที่สามารถส่งผ่านภาพเสียงและข้อมูลได้รวดเร็วทันใจ และโฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมที่กำลังจะมาถึงนั่นเองที่ทำให้กลุ่มทุนสื่อสารรุ่นบุกเบิกอย่าง เบญจรงคกุล ตัดสินใจยกธงขาวทิ้งหุ้นใน บมจ.ดีแทค เพราะมีการประมาณกันว่าการปรับเปลี่ยนในอนาคตทั้งระบบจะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนที่สูงเกินกว่าที่จะเสี่ยงลงทุนต่อ สู้กำเงินก้อนหนึ่งเดินลงจากเวทีดีกว่าถูกหามลงพร้อมกับกระเป๋าที่ว่างเปล่า

ประการที่สอง ธุรกิจมือถือเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวเพราะจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะนี้มีถึง 30 ล้านเลขหมายแล้วจำนวนฐานลูกค้าใหม่ถัดจากนี้จะมีเพียง 1-2 ล้านเลขหมายเท่านั้น ไม่เหมือนกับ 4-5 ปีที่ผ่านมาฐานลูกค้าใหม่ขยายตัวถึง 5-6 ล้านเลขหมายเป็นอย่างต่ำ การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้อยู่ที่กลยุทธ์การตลาดในลักษณะสร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้บริการมือถือกันเพิ่มอีกแล้วหากแต่จะแข่งขันกันเรื่องคุณภาพ บริการเสริม และบริการหลังการขาย

ประการที่สามการตัดสินใจขายทิ้งหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปจะช่วยลดข้อกังขาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่กัดกร่อนความน่าเชื่อถือที่สังคมมีต่อ นายกฯทักษิณมาโดยตลอดได้ เพราะหลายปีที่ผ่านมาสังคมส่วนใหญ่เชื่อว่ายังไม่มีเงื่อนไขว่าการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลหลายสิ่งเข้าทางกลุ่มชินคอร์ปทั้งสิ้น อาทิ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ซึ่งถูกมองว่าทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มชินคอร์ปโดยตรง

ถ้าตัดขายหุ้นบมจ.ชินคอร์ป ออกไป อย่างน้อยก็ช่วยลดแรงกดดันเรื่องคำถามในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อนในทำนองนายกฯทักษิณไปอินเดียเพื่อเจรจาขายช่องสัญญาณดาวเทียวไทยคม 4 และการเดินทางไปเยือนประเทศพม่าจนทำให้ บมจ.ชินแซท ได้รับสิทธิ์พัฒนาโครงการการสื่อสารผ่านดาวเทียมระบบบรอดแบนด์ จำนวน 2,500 จุด หรือข้อครหากรณี บมจ.ชินแซท ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึง 16,459 ล้านบาท

และประการที่สี่ ช่วงเวลานี้คือจังหวะที่เหมาะสมที่จะขายเนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยสูง และอำนาจต่อรองยังสูงตราบใดที่ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอยังเป็น นายกรัฐมนตรีของไทย แต่กับอนาคตในวันข้างหน้าที่แนวโน้มเสถียรภาพของรัฐบาลดูไม่สดใสนักอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นกับสภาวะการเมืองที่บางคนให้คำอธิบายว่า ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน

สิงเทลหรือไชน่าเทเลคอม

แม้ข่าวการจะขายหุ้นในชินคอร์ปของตระกูลชินวัตรทิ้งได้รับการปฏิเสธอย่างแข็งขันจาก บุญคลี

ปลั่งศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชินคอร์ป ถึง 3 ครั้งในช่วงเดือน ธันวาคม 2548 หากสังคมกลับเชื่อ

ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการออกตัวเพื่อชี้แจงข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้นแต่ว่าการเจรจายังคงรุดหน้าต่อไป และสังคมเริ่มเหลียวมองรอบๆเพื่อหาผู้เหมาะสมก่อนเริ่มจับต้องไปที่

ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมของเอเชีย 2 รายแรกคือ

สิงคโปร์ เทเลคอม อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของ ชินคอร์ป ซึ่งเข้ามาถือหุ้นเพิ่มใน บมจ.เอไอเอส หลังวิกฤติ 2540

รายต่อมาคือ ไชน่า เทเลคอม ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมจากจีน ที่บุญคลีมักเอ่ยชมในความยิ่งใหญ่อยู่เสมอๆว่าเฉพาะผู้ใช้บริการมีมากกว่า 200 ล้านเลขหมายมากจนไม่สามารถเก็บเงินแบบ โพสต์เพด (ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง)

ถ้าเทียบฟอร์มระหว่าง ไชน่า เทเลคอม กับ สิงคโปร์ เทเลคอม มีความเป็นไปได้สูงว่าตระกูลชินวัตร น่าจะเลือกขายหุ้นให้กับ สิงคโปร์ เทเลคอม มากกว่า ด้วยเหตุผลว่าคบกันมานานจนรู้ใจกัน

บรรดาผู้สังเกตประมาณกันว่า ถ้ามีการซื้อ-ขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ป จริงราคาน่าจะอยู่ที่ระดับ 46-55 บาทต่อหุ้น ตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ คงไม่ตัดขายหุ้นออกมาทั้งหมดหากแต่จะเหลือทิ้งไว้บางส่วนไม่เกิน 10% เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และถ้ามีการซื้อ-ขายจริง ครอบครัวชินวัตร น่าจะได้เงินจากการขายหุ้นครั้งนี้ 68,000 ล้านบาท ถึง 81,825 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนหุ้นที่ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ถืออยู่จำนวน 1,487,740,120 หุ้นกับราคาที่คาดว่าจะขาย (46-55 บาทต่อหุ้น)

วันนี้คนในแวดวงการเมือง ธุรกิจ และตลาดหุ้นกำลังจับตาว่าวันที่ 10 มกราคม 2549 สัปดาห์หน้านี้ บมจ.ชินคอร์ปจะออกมาแถลงเกี่ยวกับการซื้อ-ขายหุ้นที่ลือสะพัดมาตลอดช่วงสัปดาห์หลังเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา

ขายเฉพาะสต๊อกออพชัน ?

นอกเหนือจาก 4 ปัจจัยที่ได้กล่าวถึงไปในข้างต้นทั้งเรื่อง เปิดเสรีโทรคมนาคม มือถืออิ่มตัว และการเมืองขาลงแล้ว ยังมีอีกเหตุผลที่มาสนับสนุนการขายหุ้นในครั้งนี้เหตุผลที่ว่าคือการจัดสรรหุ้นให้กับผู้บริหารในรูปแบบของ STOCK OPTIONS (ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายหุ้น) ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าถ้าไม่ตัดขายออกไปภายใน 3 ปีจะต้องนำหุ้นที่ถือครองกลับคืนไปยังบริษัท

เหตุผลนี้ได้รับการชี้แจงจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ในฐานะน้องสาวของ นายกฯทักษิณ ไว้อย่างนี้

"หุ้นที่ขายออกไปไม่ได้จำกัดเฉพาะของเราเพียงคนเดียวเท่านั้นยังมีของคุณวิกรม ศรีประทักษ์ และผู้บริหารท่านอื่นที่ได้รับหุ้นในลักษณะนี้ทุกคนขายหุ้นออกไปทั้งหมดเพราะหมดช่วงไซเลนส์พีเรียดพอดี (ช่วงที่ห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น ) แต่บังเอิญเราเป็น 1 ใน 4 ของผู้บริหารที่ต้องถูกรายงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯเพราะเป็นผู้บริหารในบริษัทเพื่อให้เกิดความโปร่งใส"

นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่ากรณีที่มีกระแสข่าวลือออกมาว่าตระกูลชินวัตรจะจัดสรรหุ้นออกไปให้กับผู้ถือหุ้นใหม่ว่า ตนยังไม่ทราบเพราะปัจจุบันโครงสร้างผู้ถือหุ้นยังเป็นรูปแบบเดิมอยู่และจากข่าวที่เผยแพร่ออกมานั้นทางคุณบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ได้ออกมาปฏิเสธข่าวอยู่ตลอดเวลาว่าไม่เป็นความจริง

-ปฏิกิริยาทักษิณ

กระแสข่าวตระกูลชินวัตรทิ้งบมจ.ชินคอร์ปไม่เพียงสร้างความยุ่งยากให้กับธุรกิจในกลุ่มชินคอร์ปหากยังสร้างความหงุดหงิดให้กับ นายกฯทักษิณ เป็นอย่างยิ่งเพราะบังเอิญช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา นายกฯทักษิณพาครอบครัวไปพักผ่อนที่สิงคโปร์จากเดิมที่มีกำหนดว่าจะไปญี่ปุน แม้นายกฯ ทักษิณ ชี้แจงเหตุผลของการเปลี่ยนแผนว่า เพราะสิงคโปร์ใช้เวลาเดินทางน้อยทำให้มีเวลาในการพักผ่อนมากขึ้น แต่หลายคนกลับมองตรงข้ามและคิดว่า "นายกฯทักษิณอาจใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเจรจาขายหุ้นชินคอร์ป"

หลังจากใช้เวลาพักผ่อนที่ประเทศสิงคโปร์ 3 วัน และเดินทางเข้าทำงานตามปกติที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมาและถูกนักข่าวสอบถามเรื่องนี้ นายกฯทักษิณ มีสีหน้าหงุดหงิดขึ้นทันที และกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า " ขอให้ถามเรื่องรัฐบาล โอเค ...หมดแล้วนะครับ ขอบคุณมากครับ ผมเป็นหวัด "

แม้คนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจของตระกูลชินวัตรโดยตรงปฏิเสธอย่างแข็งขัน หากเวลานี้มีการมองข้ามสถานการณ์ไปแล้วว่า ตระกูลชินวัตรจะนำเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ที่ได้จากการขายหุ้นไปกว้านซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลมีนโยบายแปรรูปเข้าระดมทุนในตลาด

นั่นเป็นข้อสังเกตที่ยังต้องคอยการพิสูจน์!!!



จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2077 08 ม.ค. - 11 ม.ค. 2549




 

Create Date : 08 มกราคม 2549    
Last Update : 8 มกราคม 2549 23:16:04 น.
Counter : 491 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.