โลกจะหมุนไปกับคุณ (Established on 7 January 2006) ........

thelegendary
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




web page counters
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add thelegendary's blog to your web]
Links
 

 
'ชินวัตร'ขายทิ้งชินคอร์ป 70,000 ล้านเอาไปทำอะไร ?



แม้ว่าช่วงปี 2548 ที่ผ่านมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อตระกูลเบญจรงคกุล ผู้บุกเบิกและก่อตั้ง บริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม ได้ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด 39.88% หรือคิดเป็นจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 173.3 ล้านหุ้น ให้แก่ บริษัท ไทย เทเลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด ในเครือกลุ่มเทเลนอร์ บริษัทสื่อสารชั้นนำจากประเทศนอร์เวย์ ทำให้กลุ่มเทเลนอร์ก้าวมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ยูคอม แทนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา

ช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน บมจ. สามารถ ไอ-โมบาย หรือ SIM และ บริษัท แคมโบเดีย สามารถ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (CASACOM) ตัดสินใจขายหุ้นให้กับ บริษัท ทีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล เอสดีเอ็น บีเอชดีฯ หรือ TMI ในเครือเทเลคอม มาเลเซีย เป็นเงินถึง 2,500 ล้านบาท

การขายทิ้งหุ้นใน 2 กิจการข้างต้นของกลุ่มทุนไทย ไม่เพียงตอกย้ำการรุกเข้ามาของต่างชาติก่อนการเปิดเสรีโทรคมนาคมที่จะเริ่มในปี พ.ศ.2549 นี้ เท่านั้น หากยังทำให้ข่าวที่เคยซุบซิบในแวดวงธุรกิจว่า ตระกูลชินวัตรจะทิ้งหุ้นใน บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ ชินคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม เนื่องจากเบื่อที่ทำให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ถูกยกระดับขึ้นมาจนกลายเป็นหนึ่งในวาระหลักของสังคม

สาเหตุที่ทำให้กระแสข่าวดังกล่าวทวีความจริงจังมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจาก นายกฯทักษิณ มักเปรยกับนักธุรกิจกลุ่มทุนของพรรคไทยรักไทยบ่อยๆว่า พร้อมจะขายทิ้งหุ้นเพราะต้องการลดเงื่อนไขทางการเมืองว่าด้วยเรื่องธุรกิจการเมือง "ผมได้ยินนายกฯพูดแต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อไหร่" นักธุรกิจใหญ่ที่ใกล้ชิดรัฐบาลกล่าว ซึ่งสอดรับกับสิ่งที่ นายกฯทักษิณ เคยพูดไว้ระหว่างออกรายการทีวีครั้งหนึ่งว่า "เรื่องธุรกิจใครมาซื้อตอนนี้ผมขายเลย ผมไม่เอาแล้ว ผมพอแล้ว"

ทั้งนี้ตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ (สกุลเดิมของคุณหญิงพจมาน) ถือหุ้นรวมกันใน บมจ.ชินคอร์ป 37.96% (แบ่งเป็นของ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร จำนวน 440,000,000 หุ้นหรือคิดเป็น 14.67% , นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 404,430,300 หุ้นหรือ13.49% และ นายพานทองแท้ ชินวัตร 293,950,220 หุ้น หรือคิดเป็น 9.80%)

-ทำไมชินวัตรต้องขาย

ถ้าถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มาสนับสนุนให้ตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์ ตัดสินใจขายหุ้นให้กับพันธมิตร ตอบได้ว่าน่าจะมาจาก 4 ปัจจัยหลักด้วยกัน

ประการแรก การเปิดเสรีโทรคมนาคมที่จะเริ่มต้นในปี 2549 นี้ ทำให้ยักษ์ใหญ่ทุนหนาจากต่างชาติพาเหรดกันเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดไม่ใช่มีเพียงผู้ประกอบการท้องถิ่นเท่านั้นหากยังมียักษ์ข้ามชาติเข้ามาร่วมวงด้วย การเข้ามาของยักษ์สื่อสารข้ามชาติถูกเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนเทคโนโลยีจากระบบจีเอสเอ็มไปสู่ยุคที่ 3 หรือ 3G (Third Generation) ที่สามารถส่งผ่านภาพเสียงและข้อมูลได้รวดเร็วทันใจ และโฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมที่กำลังจะมาถึงนั่นเองที่ทำให้กลุ่มทุนสื่อสารรุ่นบุกเบิกอย่าง เบญจรงคกุล ตัดสินใจยกธงขาวทิ้งหุ้นใน บมจ.ดีแทค เพราะมีการประมาณกันว่าการปรับเปลี่ยนในอนาคตทั้งระบบจะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนที่สูงเกินกว่าที่จะเสี่ยงลงทุนต่อ สู้กำเงินก้อนหนึ่งเดินลงจากเวทีดีกว่าถูกหามลงพร้อมกับกระเป๋าที่ว่างเปล่า

ประการที่สอง ธุรกิจมือถือเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวเพราะจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะนี้มีถึง 30 ล้านเลขหมายแล้วจำนวนฐานลูกค้าใหม่ถัดจากนี้จะมีเพียง 1-2 ล้านเลขหมายเท่านั้น ไม่เหมือนกับ 4-5 ปีที่ผ่านมาฐานลูกค้าใหม่ขยายตัวถึง 5-6 ล้านเลขหมายเป็นอย่างต่ำ การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้อยู่ที่กลยุทธ์การตลาดในลักษณะสร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้บริการมือถือกันเพิ่มอีกแล้วหากแต่จะแข่งขันกันเรื่องคุณภาพ บริการเสริม และบริการหลังการขาย

ประการที่สามการตัดสินใจขายทิ้งหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปจะช่วยลดข้อกังขาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่กัดกร่อนความน่าเชื่อถือที่สังคมมีต่อ นายกฯทักษิณมาโดยตลอดได้ เพราะหลายปีที่ผ่านมาสังคมส่วนใหญ่เชื่อว่ายังไม่มีเงื่อนไขว่าการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลหลายสิ่งเข้าทางกลุ่มชินคอร์ปทั้งสิ้น อาทิ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ซึ่งถูกมองว่าทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มชินคอร์ปโดยตรง

ถ้าตัดขายหุ้นบมจ.ชินคอร์ป ออกไป อย่างน้อยก็ช่วยลดแรงกดดันเรื่องคำถามในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อนในทำนองนายกฯทักษิณไปอินเดียเพื่อเจรจาขายช่องสัญญาณดาวเทียวไทยคม 4 และการเดินทางไปเยือนประเทศพม่าจนทำให้ บมจ.ชินแซท ได้รับสิทธิ์พัฒนาโครงการการสื่อสารผ่านดาวเทียมระบบบรอดแบนด์ จำนวน 2,500 จุด หรือข้อครหากรณี บมจ.ชินแซท ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึง 16,459 ล้านบาท

และประการที่สี่ ช่วงเวลานี้คือจังหวะที่เหมาะสมที่จะขายเนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยสูง และอำนาจต่อรองยังสูงตราบใดที่ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอยังเป็น นายกรัฐมนตรีของไทย แต่กับอนาคตในวันข้างหน้าที่แนวโน้มเสถียรภาพของรัฐบาลดูไม่สดใสนักอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นกับสภาวะการเมืองที่บางคนให้คำอธิบายว่า ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน

สิงเทลหรือไชน่าเทเลคอม

แม้ข่าวการจะขายหุ้นในชินคอร์ปของตระกูลชินวัตรทิ้งได้รับการปฏิเสธอย่างแข็งขันจาก บุญคลี

ปลั่งศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชินคอร์ป ถึง 3 ครั้งในช่วงเดือน ธันวาคม 2548 หากสังคมกลับเชื่อ

ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการออกตัวเพื่อชี้แจงข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้นแต่ว่าการเจรจายังคงรุดหน้าต่อไป และสังคมเริ่มเหลียวมองรอบๆเพื่อหาผู้เหมาะสมก่อนเริ่มจับต้องไปที่

ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมของเอเชีย 2 รายแรกคือ

สิงคโปร์ เทเลคอม อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของ ชินคอร์ป ซึ่งเข้ามาถือหุ้นเพิ่มใน บมจ.เอไอเอส หลังวิกฤติ 2540

รายต่อมาคือ ไชน่า เทเลคอม ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมจากจีน ที่บุญคลีมักเอ่ยชมในความยิ่งใหญ่อยู่เสมอๆว่าเฉพาะผู้ใช้บริการมีมากกว่า 200 ล้านเลขหมายมากจนไม่สามารถเก็บเงินแบบ โพสต์เพด (ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง)

ถ้าเทียบฟอร์มระหว่าง ไชน่า เทเลคอม กับ สิงคโปร์ เทเลคอม มีความเป็นไปได้สูงว่าตระกูลชินวัตร น่าจะเลือกขายหุ้นให้กับ สิงคโปร์ เทเลคอม มากกว่า ด้วยเหตุผลว่าคบกันมานานจนรู้ใจกัน

บรรดาผู้สังเกตประมาณกันว่า ถ้ามีการซื้อ-ขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ป จริงราคาน่าจะอยู่ที่ระดับ 46-55 บาทต่อหุ้น ตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ คงไม่ตัดขายหุ้นออกมาทั้งหมดหากแต่จะเหลือทิ้งไว้บางส่วนไม่เกิน 10% เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และถ้ามีการซื้อ-ขายจริง ครอบครัวชินวัตร น่าจะได้เงินจากการขายหุ้นครั้งนี้ 68,000 ล้านบาท ถึง 81,825 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนหุ้นที่ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ถืออยู่จำนวน 1,487,740,120 หุ้นกับราคาที่คาดว่าจะขาย (46-55 บาทต่อหุ้น)

วันนี้คนในแวดวงการเมือง ธุรกิจ และตลาดหุ้นกำลังจับตาว่าวันที่ 10 มกราคม 2549 สัปดาห์หน้านี้ บมจ.ชินคอร์ปจะออกมาแถลงเกี่ยวกับการซื้อ-ขายหุ้นที่ลือสะพัดมาตลอดช่วงสัปดาห์หลังเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา

ขายเฉพาะสต๊อกออพชัน ?

นอกเหนือจาก 4 ปัจจัยที่ได้กล่าวถึงไปในข้างต้นทั้งเรื่อง เปิดเสรีโทรคมนาคม มือถืออิ่มตัว และการเมืองขาลงแล้ว ยังมีอีกเหตุผลที่มาสนับสนุนการขายหุ้นในครั้งนี้เหตุผลที่ว่าคือการจัดสรรหุ้นให้กับผู้บริหารในรูปแบบของ STOCK OPTIONS (ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายหุ้น) ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าถ้าไม่ตัดขายออกไปภายใน 3 ปีจะต้องนำหุ้นที่ถือครองกลับคืนไปยังบริษัท

เหตุผลนี้ได้รับการชี้แจงจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ในฐานะน้องสาวของ นายกฯทักษิณ ไว้อย่างนี้

"หุ้นที่ขายออกไปไม่ได้จำกัดเฉพาะของเราเพียงคนเดียวเท่านั้นยังมีของคุณวิกรม ศรีประทักษ์ และผู้บริหารท่านอื่นที่ได้รับหุ้นในลักษณะนี้ทุกคนขายหุ้นออกไปทั้งหมดเพราะหมดช่วงไซเลนส์พีเรียดพอดี (ช่วงที่ห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น ) แต่บังเอิญเราเป็น 1 ใน 4 ของผู้บริหารที่ต้องถูกรายงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯเพราะเป็นผู้บริหารในบริษัทเพื่อให้เกิดความโปร่งใส"

นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่ากรณีที่มีกระแสข่าวลือออกมาว่าตระกูลชินวัตรจะจัดสรรหุ้นออกไปให้กับผู้ถือหุ้นใหม่ว่า ตนยังไม่ทราบเพราะปัจจุบันโครงสร้างผู้ถือหุ้นยังเป็นรูปแบบเดิมอยู่และจากข่าวที่เผยแพร่ออกมานั้นทางคุณบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ได้ออกมาปฏิเสธข่าวอยู่ตลอดเวลาว่าไม่เป็นความจริง

-ปฏิกิริยาทักษิณ

กระแสข่าวตระกูลชินวัตรทิ้งบมจ.ชินคอร์ปไม่เพียงสร้างความยุ่งยากให้กับธุรกิจในกลุ่มชินคอร์ปหากยังสร้างความหงุดหงิดให้กับ นายกฯทักษิณ เป็นอย่างยิ่งเพราะบังเอิญช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา นายกฯทักษิณพาครอบครัวไปพักผ่อนที่สิงคโปร์จากเดิมที่มีกำหนดว่าจะไปญี่ปุน แม้นายกฯ ทักษิณ ชี้แจงเหตุผลของการเปลี่ยนแผนว่า เพราะสิงคโปร์ใช้เวลาเดินทางน้อยทำให้มีเวลาในการพักผ่อนมากขึ้น แต่หลายคนกลับมองตรงข้ามและคิดว่า "นายกฯทักษิณอาจใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเจรจาขายหุ้นชินคอร์ป"

หลังจากใช้เวลาพักผ่อนที่ประเทศสิงคโปร์ 3 วัน และเดินทางเข้าทำงานตามปกติที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมาและถูกนักข่าวสอบถามเรื่องนี้ นายกฯทักษิณ มีสีหน้าหงุดหงิดขึ้นทันที และกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า " ขอให้ถามเรื่องรัฐบาล โอเค ...หมดแล้วนะครับ ขอบคุณมากครับ ผมเป็นหวัด "

แม้คนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจของตระกูลชินวัตรโดยตรงปฏิเสธอย่างแข็งขัน หากเวลานี้มีการมองข้ามสถานการณ์ไปแล้วว่า ตระกูลชินวัตรจะนำเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ที่ได้จากการขายหุ้นไปกว้านซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลมีนโยบายแปรรูปเข้าระดมทุนในตลาด

นั่นเป็นข้อสังเกตที่ยังต้องคอยการพิสูจน์!!!



จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2077 08 ม.ค. - 11 ม.ค. 2549




Create Date : 08 มกราคม 2549
Last Update : 8 มกราคม 2549 23:16:04 น. 0 comments
Counter : 491 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.