Group Blog
 
All Blogs
 

เพิ่งมีโอกาสได้ดูเรื่อง"บ้านฉัน...ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้)"


ชอบมาก ๆ เลยครับ

ดูแล้วก็เหมือนคนบ้า ยิ้มอยู่คนเดียวทั้งเรื่อง แม้แต่ฉากเศร้าผมยังยิ้มเลย 555

เด็กคนที่เล่นเป็นต๊อก ไม่อยากเชื่อเลยว่าเล่นหนังเป็นเรื่องแรก ผมว่าน้องเค้าแสดงดีมากๆเลยนะครับ เป็นธรรมชาติมาก

ส่วนพอลล่าก็สวยมากๆ เล่นได้ดีเลย

ส่วนคนอื่นอย่างจาตุรงค์ และคนในครอบครัวก็เล่นดีมากๆเช่นกันครับ (ชอบคุณย่าตอนไปหาหมอ ฮามาก)

เป็นหนังที่ดูจบแล้วรู้สึกอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก ยิ้มได้ทั้งวันเลย

ใครยังไม่ดู ก็ลองหามาดูนะครับ ไม่ผิดหวังแน่นอน





 

Create Date : 12 ธันวาคม 2554    
Last Update : 14 พฤษภาคม 2555 21:42:13 น.
Counter : 319 Pageviews.  

Nijinsky Siam ถึงคราวฝรั่งก็อปไทย



คงเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับในปัจจุบันนี้ กับการเห็นวัยรุ่นไทยเต้น cover เพลงเกาหลีหรือญี่ปุ่น เต้นตามท่านักร้องต่างประเทศ แถมยังมีการประกวดมากมายที่เท่ากับเป็นการส่งเสริมการเต้น cover นี้ด้วย แต่คงจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับหลายๆคนแน่ ถ้าบอกว่า ท่ารำของประเทศไทยที่เรารู้จักกันดี และเห็นว่าเป็นเรื่องเชย ก็ยังมีชาวต่างชาติก็อปไปเช่นกัน

กว่าร้อยปีที่แล้ว วาสลาฟ นิชินสกี้ นักบัลเล่ต์ชาวรัสเซีย ผู้ที่ได้รับการยกย่องจากทั่วทั้งวงการว่าเป็น “God of Dancer” หรือนักบัลเล่ต์ชายที่ดีที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 วันหนึ่ง เขาได้ฟังคำบอกเล่าจากเพื่อนของเขา ที่ได้ชมการแสดงชุดหนึ่ง คือ การแสดงของคณะรำไทย ของนายบุศย์ มหินทร์ ที่เรียกได้ว่าเป็นการแสดงไทยชุดแรกที่ได้มีโอกาสไปแสดงต่างประเทศ จากคำบอกเล่านี้เอง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นิชินสกี้คิดการแสดงหนึ่งขึ้นมา มีชื่อว่า “La Danse Siamoise” โดยในการแสดงครั้งนั้น ยังไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวไว้ มีแค่เพียงภาพถ่ายและภาพวาดที่หลงเหลือเป็นหลักฐานอยู่

ต่อมานายพิเชษฐ์ กลั่นชื่น เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2549 ได้มีโอกาสเห็นภาพถ่ายการแสดงนั้น เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจและคิดที่จะนำเอาการแสดงของนิชินสกี้ในสมัยนั้นมาแสดงให้คนในยุคปัจจุบันชม เพื่อให้เห็นการผสมผสานระหว่างบัลเล่ต์และรำไทย เราจึงคิดการแสดงชุดหนึ่งขึ้นมา มีชื่อว่า “Nijinsky Siam”

จากหลักฐานที่มีเพียงรูปถ่าย ภาพวาดเพียงไม่กี่ใบ ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าข้อมูลของวาสลาฟ นิชินสกี้ นายพิเชษฐ์สามารถข้อมูลอันน้อยนิดมาดัดแปลง แต่งเติม ผ่านกระบวนการคิดว่าในภาพนั้นๆ นิชินสกี้กำลังคิดอะไรอยู่ กำลังรำท่าอะไร ทำไมจึงรำท่านั้น การแสดงชุดนี้ได้แสดงให้เห็นว่า นายพิเชษฐ์สามารถเข้าใจนิชินสกี้ได้อย่างแท้จริง

การแสดงชุดนี้จัดขึ้นที่เยอรมัน เนเธอแลนด์ สโลเวเนีย สวิตเซอร์แลนด์ ตรุกี และอังกฤษมาก่อนแล้ว และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นี่เป็นครั้งแรกทที่เขาเปิดการแสดงในประเทศไทย โดยเปิดการแสดงไปเมื่อวันที่ 1-4 กันยายน ณ โรงละครสดใส พันธุมโกมล ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การแสดงชุดนี้แบ่งเป็นสามส่วนด้วยกัน ในส่วนแรก เป็นส่วนที่ปูเรื่องให้ผู้ชม ทำให้ผู้ชมได้ทราบประวัติความเป็นมาของการแสดงนี้ และรู้จักวาสลาฟ นิชินสกี้มากยิ่งขึ้น ในช่วงท้ายของการแสดงส่วนนี้ มีการใช้หนังใหญ่ที่แกะเป็นรูปนิชินสกี้อย่างวิจิตรสวยงาม พร้อมเพลงบรรเลงประกอบการแสดงที่ฟังดูเศร้าสร้อย แต่กลมกล่อมและไพเราะเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้เขียนเอง ฟังแล้วถึงกับขนลุกเลย สิ่งที่น่าสนใจของการแสดงส่วนนี้คือ ตอนที่นักแสดงเชิดหนังใหญ่ออกมา จะเป็นการเชิดช้าๆ ค่อยๆ เยื่องย่างออกมาจากด้านซ้ายของเวทีไปทางขวา ความช้านี้ไม่ได้ทำให้การแสดงน่าเบื่อชวนหลับเลย แต่กลับทำให้ผู้ชมได้ซึมซับบรรยากาศ ความรู้สึก และอารมณ์ของการแสดง และรับ “สาร” ที่นักแสดงต้องการสื่อได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับเพลงบรรเลงประกอบช้าๆ ที่แสดงอารมณ์เศร้า ความรู้สึกของผู้เขียนในตอนนั้น คือ รู้สึกเศร้าเสียใจกับการตายของนิชินสกี้เหลือเกิน ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักหรือชมการแสดงของเขามาก่อนเลย

ในการแสดงส่วนที่สอง มีนักแสดงออกมาสามคน คือ ตัวลิง ยักษ์ และนาง สิ่งน่าสนใจของการแสดงนี้คือ การให้นิชินสกี้แสดงเป็นตัวพระ โดยใช้ภาพถ่ายของเขาถ่ายประกอบไปด้วย ในการแสดงส่วนนี้ จะไม่มีเสียงเพลงประกอบอะไรเลย นายพิเชษฐ์ได้ให้เหตุผลว่า เขาต้องการให้ผู้ชมอยู่ในความเงียบเพื่อให้รับรู้และตีความท่วงท่า ไม่ว่าจะเป็นท่ารำ หรือการกระทืบเท้าในการแสดงนี้ได้อย่างเต็มที่ เขาคิกว่าถ้ามีเสียงเพลงประกอบ จะทำให้ผู้ชมไม่ได้มีสมาธิจดจ่อที่การแสดงของนักแสดงอย่างเดียว นักแสดงทั้งสามจะไม่ได้สวมเครื่องแต่งกายแบบนาฏศิลป์แบบที่เราคุ้นเคยกัน และยังมีเนื้อเรื่องที่ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ทุกท่วงท่าที่แสดง ก็เปรียบกับรูปภาพของนิชินสกี้ในท่าต่างๆ แสดงถึงการแปลความและตีความท่าเต้นของนิชินสกี้ออกมาเป็นท่ารำมาตรฐานของไทยจริงๆ ทุกท่ารำ ทุกอากัปกริยาของนักแสดง ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น

ในการแสดงส่วนสุดท้าย เป็นการแสดงเดี่ยวของนายพิเชษฐ์ที่ตอนแรกยืนนิ่งๆ ข้างหลังเป็นการจำลองเครื่องแต่งกายของวาสลาฟ นิชินสกี้ที่ใช้แสดงในสมัยนั้น พร้อมฉากหลังที่สวยงามและอลังการมาก มีหนังใหญ่แกะสลักเป็นรูปวาสลาฟ นิชินสกี้ในท่ารำต่างๆ และยังการเล่นสีฟ้า สีทอง และสีเขียว ประกอบกับไฟที่สะท้อนสีออกมาให้ดูสวยงาม วิจิตร และละเมียดละไม เพียงแค่ฉากอย่างเดียวก็ทำให้ผู้เขียนเองรู้สึกทึ่งและตื่นตาตื่อใจไปกับการแสดงนี้มาก ทั้งๆที่นายพิเชษฐ์ยังไม่ได้แสดงอะไรเลยด้วยซ้ำ เมื่อถึงตอนที่พิเชษฐ์เริ่มต้นรำ ผู้เขียนรู้สึกว่าเขาเหมือนไม่เป็นตัวของตัวเองเลย จะว่าไปก็เหมือนกับเขาเป็นนิชินสกี้ออกมารำให้ดูจริงๆ ท่ารำที่ดูแปลกประหลาดไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน แสดงถึงการผสมผสานกับอย่างลงตัวระหว่างบัลเล่ต์ของตะวันตกและรำไทย บางท่าก็ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึงท่ารำของไทยจริงๆ ไม่ได้ บางท่าผู้เขียนก็นึกออกเลยว่ามาจากท่ารำไหนของไทย น่าแปลกที่ท่ารำไทยที่คนในยุคปัจจุบันเป็นว่าเป็นเรื่องเชย นายพิเชษฐ์กลับนำมาแสดงและทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนานและอัศจรรย์ใจได้ขนาดนี้ อาจจะเพราะว่ามันไม่เหมือนท่ารำของเราจริงๆ จึงทำให้การแสดงดูมี “อะไร” ที่ไม่เหมือนใคร และคงไม่มีใครเหมือนด้วย

ตลอดการแสดงเกือบหนึ่งชั่วโมง พิเชษฐ์ได้พาผู้ชมดำดิ่งเข้าไปในโลกใหม่ โลกที่ผสมผสานไปด้วยศิลปะตะวันออกและศิลปะตะวันตก ที่ดูเหมือนจะเข้ากันไม่ได้เลย แต่นายพิเชษฐ์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เขาทำสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” ให้ “เป็นไปได้” ได้

การที่นายพิเชษฐ์จัดการแสดงโดยเริ่มจากปูเรื่องให้ผู้ชมรู้ที่มาของแสดง ต่อด้วยการรำของไทยแท้ๆ แล้วจบด้วยบัลเล่ต์ผสมรำไทย ก็เหมือนกับการเดินทางและวิวัฒนาการของรำไทยที่เปลี่ยนจากการเป็นของไทยแท้ๆ ไปสู่การประยุกต์เข้ากับบัลเล่ต์ของตะวันตก การแสดงนี้ก็เหมือนกับการเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้ชม เพื่อให้ได้รู้จักรำไทยในอีกมุมมองหนึ่ง คือ มุมมองของชาวต่างชาติ ซึ่งเราคงจะหาได้ยากที่จะมีชาวต่างชาติลอกเลียนแบบการแสดงของไทยไปแสดงแบบในแบบของตัวเอง เพราะในปัจจุบันนี้ก็เห็นได้ชัดว่า วัยรุ่นชอบก็อปแต่ท่าเต้นของนักร้องเกาหลี นักร้องญี่ปุ่น

นายพิเชษฐ์เปิดการแสดงชุดนี้ขึ้นมาก็อาจจะมีจุดประสงค์เพื่อให้คนไทยรักและหวงแหนในงานศิลปะของเราเอง เพื่อกระตุ้นคนไทยให้อนุรักษ์นาฏศิลป์ที่เก่าแก่และงดงามนี้ ให้คงอยู่คู่ประเทศสืบไป ต้องขอชื่นชมในอุดมการณ์ของพิเชษฐ์เรื่องนี้ นอกจากนี้พิเชษฐ์ยังกล้าที่จะเปิดบริษัทเอกชนของตัวเอง คือ Pichet Khunchun Dance Company นายพิเชษฐ์บอกว่าบริษัทเอกชนที่ทำงานแบบนี้หมดไปนานกว่า 200 ปีแล้ว ตอนนี้เหลือแค่บริษัทของเขาเพียงแห่งเดียว ที่เขาทำแบบนี้ก็เพราะเขาต้องการแสดงให้เห็นว่า การเรียนนาฏศิลป์ไทย ไม่ใช่เรียนเพื่อให้รู้ เรียนเพื่อไปเป็นอาจารย์ เรียนเพื่อไปทำงานรัฐ หรือไปออกรายการเพื่อบอกให้คนไทยอนุรักษ์ศิลปะไทย แต่สามารถนำมาใช้หากินได้ เขาสามารถพิสูจน์ว่า เขาเรียนนาฏศิลป์ไทยเพื่ออนุรักษ์และเลี้ยงชีพตัวเองไปพร้อมๆ กันได้

แต่ไม่ว่าการแสดงชุดนี้จะมีจุดประสงค์อะไรก็ตาม แต่ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่ามันจะจุดประกายความคิด หรือกระตุ้นให้คนไทยหลายๆ คน โดยเฉพาะวัยรุ่น ที่เห็นว่างานนาฏศิลป์ไทยเป็นเรื่องเชยๆ ล้าสมัย ให้หันกลับมามอง ให้หันกลับรัก และหวงแหน และอยากจะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้มีโอกาสดูงานศิลปะไทย ได้มีโอกาสซึมซับอรรถรสจากงานศิลปะเหล่านี้

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงนัก ถ้าจะบอกว่าการแสดงชุด Nijinsky Siam เป็นการแสดงที่คนไทยทุกคน “ควรดู” ดูเพื่อให้รับรู้ว่า นาฏศิลป์ไทยยังไม่ล้มหายตายจากไปไหน แต่ยังคงอยู่ในใจของผู้ที่รักความเป็นไทยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือชาวต่างชาติก็ตาม




 

Create Date : 11 กันยายน 2554    
Last Update : 14 พฤษภาคม 2555 21:42:23 น.
Counter : 534 Pageviews.  


SaiNoGO
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add SaiNoGO's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.