สติต้องหมั่นสร้างให้เกิดขึ้น อย่าคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นเอง


สติต้องหมั่นสร้างให้เกิดขึ้น อย่าคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นเอง


มาสร้างสติให้เกิดขึ้น ในวันแม่กันเถิด เพื่อตนเองและบุคคลรอบข้าง

คำว่า"แม่"นั้น เป็นคำที่มีความหมายอันลึกซึ้งกินใจที่ยิ่งใหญ่ อยู่ในหัวใจลูกทุกๆ คน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ค่นแค้นยันเศรษฐีมหาเศรษฐี ความเป็นแม่ ย่อมยังคงอยู่ในหัวใจของแม่ตลอดไป

แม่มีความห่วงใย และคอยเฝ้าดูความเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจของลูกทุกๆ คน ติดตามดูความเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษาในแต่ละระดับชั้น เพื่อให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เฝ้าติดตามดูความสำเร็จในด้านการงาน และการได้เห็นลูกๆ ทุกคนมีครอบครัวที่อบอุ่น ด้วยจิตใจที่จดจ่อทุกขณะที่ได้เห็นหน้าลูก

ความเป็นห่วงเป็นใยของแม่นี้จะจบลงตอนไหน? ตอบได้เต็มปากว่า จะจบลงได้จริงๆ นั้น ขอบอกว่าจบลงได้จริงๆ นะ ไม่ใช่จบลงที่ปากบอกว่า...? เมื่อจบการศึกษาแล้ว...มีการงานที่ดีแล้ว...มีครอบครัวที่อบอุ่นแล้ว...แม่จะหมดห่วงได้แล้ว...ไม่จริงอย่างแน่นอน

การที่แม่จะหมดห่วงได้จริงๆนั้น ก็ตอนที่ต้องตายจากกันไป ข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น แค่นี้ยังไม่พอ บางครั้งยังมีการห่วงไปถึงชีวิตหลังความตาย (ภพที่จะไป) อีกเสียด้วยซ้ำไป...

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราควรมาสร้างคุณงามความดีที่ยั่งยืน เพื่อมอบให้แก่แม่อันเป็นที่รัก เพื่อเป็นกุศลกันเถิด เริ่มที่การสร้าง "สติ" ให้เกิดขึ้นที่จิต เพราะสติแค่บอกว่าขอให้มีสติ มันไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุเพียงแค่นี้

คำว่า "สติ" นั้น หมายถึง การระลึก ซึ่งในหลายแห่ง อาจแปลว่า การระลึกรู้ ซึ่งก็หมายรวมเอาจิตที่เป็นผู้รู้เข้าไปด้วย เพราะ "สภาพเดิมของจิตเป็นธาตุรู้" ถ้าไม่มีจิตเป็นตัวยืนรู้ ก็ไม่อาจมีการระลึกรู้เกิดขึ้นมาได้อย่างแน่นอน การจะระลึกขึ้นมาได้นั้น ต้องระลึกรู้ได้ด้วยจิตของตนเท่านั้น ไม่มีใครช่วยระลึกให้เราได้ เป็นของๆ แต่ละบุคคล

การหมั่นระลึกรู้นั้น คือการสร้างสติให้เกิดขึ้น ใครจะมาช่วยเหลือ เพื่อสร้างแทนกันนั้นไม่ได้ อย่างมากที่สุดที่ทำได้ ก็คือ การคอยตักเตือนให้มีสติอยู่เสมอ หรือแนะนำให้รู้จักวิธีสร้างสติให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรจะมารู้จักวิธีการระลึกรู้หรือการสร้างสติอย่างถูกต้องตามหลักในมหาสติปัฏฐานสูตร เพราะการระลึกรู้ของบุคคลคนทั่วๆ ไปที่เรียกว่าสตินั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงสัญญาอารมณ์ชนิดหนึ่งเท่านั้น

เริ่มจากการหมั่นระลึกรู้ว่าสิ่งไหนที่เป็นกุศล (อารมณ์กุศล)
ควรทำให้เกิดขึ้น
และเจริญให้มากยิ่งๆ ขึ้น

สิ่งไหนเป็นอกุศล (อารมณ์อกุศล)
ควรละเสียให้ได้อย่างรวดเร็ว
และเพียรละอกุศลที่เคยมีอยู่ให้หมดไป


การจะทำให้สัญญาอารมณ์ กลายเป็นสติจนกระทั่งเป็นสัมมาสติได้นั้น ต้องเพียรพยายามระลึกรู้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ในที่ ๔ สถาน คือ ระลึกรู้อยู่ที่กาย เวทนา จิต และธรรม แบบไม่ขาดสาย ต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ หรือที่เรียกว่า มีสติเป็นชาคโร คือมีสติตื่นอยู่เสมอ

การหมั่นระลึกรู้ในขั้นแรกนั้น ควรเริ่มต้นที่ฐานกายก่อนเป็นอันดับแรก ตามแบบแผนในมหาสติปัฏฐาน เหตุก็คือ เป็นฐานที่ง่ายต่อผู้ปฏิบัติธรรมในขณะที่ยังเป็นผู้ใหม่อยู่ ที่จะระลึกรู้ได้อย่างชัดเจน เห็นไตรลักษณ์ได้ง่าย และสามารถเป็นฐานให้ระลึกรู้ได้ตลอดเวลาของการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง หรือนอน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสติปัฏฐาน หรือก็คือการระลึกรู้อยู่ที่ฐานได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเป็นสันตตินั่นเอง เมื่อคล่องแคล่วชำนาญได้ดีแล้ว การจะระลึกรู้อยู่ที่ฐานไหน ก็กระเทือนถึงกันหมด

การจะระลึกรู้อยู่ที่ฐานอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายให้ได้นั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม คอยหมั่นระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาของการปฏิบัติธรรมนั่นเอง คือต้องเพียรพยายามประคองจิต (สัมมาวายามะ) ไว้ที่ฐาน อย่าให้เผลอ เมื่อเพียรประคองจิตไว้ได้ไม่ให้เผลอ และไม่ปล่อยให้จิตส่งออกไปจากฐานได้สำเร็จ จิตก็จะรวมตัวลง จิตย่อมมีสติ (สัมมาสติ) สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย (สัมมาสมาธิ) ในขณะนั้น เรียกได้ว่า จิตได้สงัดจากกามและได้สงัดจากอกุศลกรรมต่างๆ พร้อมทั้งละสุข ละทุกข์ โสมนัสและโทมนัสแต่เก่าก่อนลงได้ ถึงจะเป็นตทังควิมุตติ เมื่อกระทำให้มากเจริญให้มากยิ่งขึ้น ก็จะกลายเป็นปหานวิมุตติได้ในที่สุด

พอมีแนวทางจากพระสูตรในมหาสติปัฏฐานให้ปฏิบัติตามได้ คือ หมั่นระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ที่เรียกว่าอานาปานสติ ซึ่งเป็นฐานกาย เป็นกายสังขารที่ไม่ได้เกิดจากความคิด เพื่อจะได้พิจารณาให้เข้าถึงกายในกายเป็นภายใน ที่เรียกว่านามกายนั่นเอง

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ชัดเจนว่า

"อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย "อานาปานสติ" นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำ "สติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์"

สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำ "โพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์"

โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชา "จิตหลุดพ้นทุกข์" ให้บริบูรณ์ ดังนี้"


พอที่จะสรุปได้ว่า การหมั่นฝึกสร้างสติให้เกิดที่จิตของตนนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ดีมีแต่ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เพราะคนที่ขาดสตินั้น มักสับสน วุ่นวายทำอะไรไปตามอำเภอใจ เนื่องมาด้วยอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นนำพาไป

แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกฝนในการสร้างสติให้เกิดขึ้นมาก่อน สร้างสติเป็น เห็นชัดอยู่ เมื่อกระทบอารมณ์เข้า ขณะที่จิตจะหวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดอยู่นั้น ให้รีบนำจิตมาระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องแทน แบบที่เคยทำได้สำเร็จมาก่อน จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว จิตใจย่อมมีสติสงบตัวลงราบคาบ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น

บุคคลเช่นนี้ย่อมยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวมเพียงถ่ายเดียว และเป็นที่พึ่งที่อาศัยให้กับคนรอบข้างและบุพการีอันเป็นที่รักได้อบอุ่นสบายใจอีกด้วย

"พวกเธอจงมีสติเพื่อยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด บุคคลที่มีจิตใจตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง" (คติธรรม)

น้อมถวายเป็นพุทธบูชา
และร่วมรำลึกถึงพระคุณแม่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 12 สิงหาคม 2561
Last Update : 12 สิงหาคม 2561 16:02:30 น.
Counter : 591 Pageviews.

0 comment
อนัตตา เปรียบดั่งยาขมของผู้ปฏิบัติธรรม


อนัตตา เปรียบดั่งยาขมของผู้ปฏิบัติธรรม


เมื่อใดก็ตามที่เกิดการพูดคุยถกธรรมกันขึ้นในหัวข้อ "อนัตตา" ของเหล่านักปฏิบัติธรรมชาวพุทธ ก็มักมีความขัดแย้งกันร่ำไป ไม่ลงรอยกันตามธรรมที่สมควรแก่ธรรมของแต่ละบุคคลที่ได้เคยปฏิบัติธรรม เรียนรู้ ศึกษา รับฟังมาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างหมดหัวใจที่มีอยู่ก่อนแล้ว จนทำให้ขาดวิจารณญาณที่ดีในการพิจารณาธรรมที่เคย ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษาแล้ว เพื่อนำมาตรวจสอบ สอบสวน เปรียบเทียบ เทียบเคียง กับธรรมที่พระผู้มีพระภาคย์เจ้าได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า สิ่งที่รู้มานั้นสามารถลงกันได้ดี ไม่มีความขัดแย้งกันกับพระพุทธพจน์ที่เป็นหลัก ภูมิรู้ภูมิธรรมที่ตนมีอยู่นั้นเป็นเรื่องเดียวกันรอยเดียวกันกับพระพุทธพจน์หรือไม่

ดังมีปรากฏในอนัตตลักขณสูตรที่พระองค์ทรงตรัสสั่งสอนเรื่อง "อนัตตา" ที่เปรียบเหมือนยาขมที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของนักปฏิบัติรุ่นใหม่ เมื่อมีความเข้าใจความหมายของคำๆ นี้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เช่น อนัตตาแปลว่าไม่มีตัวตน พระพุทธองค์ทรงสอนแต่เรื่องอนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา) ฯลฯ

เรามาพิจารณาพระสูตรที่มีปรากฏอยู่นั้น คำว่า "อนัตตา" แปลว่า "ไม่ใช่ตัวตน" ซึ่งมีความหมายแตกต่างเป็นคนละเรื่องเลยกับคำว่า "ไม่มีตัวตน" นั้น หมายถึง สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงไม่มีอยู่จริง ไม่เคยปรากฏให้รู้ให้เห็น ไม่มีเจ้าของ ภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือการติต่างมันขึ้นมาเองเพื่อพูดคุยกันเท่านั้น ซึ่งแตกต่างไปจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเวลาท่านเทศน์สั่งสอนชาวบ้านนั้น คำว่า "ไม่มีตัวตน"ของท่านหมายเอาสิ่งที่กำลังพูดถึงนั้นมีอยู่จริง แต่ไม่มีรูปร่างปรากฏให้จับต้องได้เท่านั้น สามารถรับรู้ได้ ฯลฯ

ส่วนฝ่ายที่เชื่อเรื่องไม่มีตัวตนในสายปริยัตินั้น หมายเอาสิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่จริง เช่น การกระทำมีอยู่ ผู้กระทำไม่มี ทางเดินมีอยู่ ผู้เดินไม่มี เช่น มรรคมีองค์ ๘ นั้นก็สักแต่ว่าเป็นทางเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน นิพพานนั้นก็สักแต่ว่านิพพาน แต่ผู้เข้าถึงนิพพานไม่มี สรุปง่ายๆ ก็คือ อะไรๆ ก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่ใช่ ที่ใช่ก็ไม่มี ที่มีก็ไม่ใช่ ไม่มีอะไรทั้งนั้น ความจริงแล้วคำสอนว่าไม่มีตัวตนดังที่กล่าวมา เป็นคำสอนของพวกปริพาชกจำพวกนัตถิกทิฐิ เป็นพวกนอกพุทธศ่าสนา

แปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในพวกที่มีความเชื่อแบบนั้น กลับมีความเชื่ออีกอย่างว่า กฏแห่งกรรมมีอยู่จริง ทำดีได้รับผลดีฯ เมื่อคนเราตกตายลงไปแล้วต้องมีอะไรสักอย่างที่เคลื่อนออกไป (จุติ) เพื่อไปชดใช้กรรมดีกรรมชั่วที่ (ตน) ทำไว้ (การกระทำมีอยู่) แต่กลับเชื่อว่าผู้กระทำไม่มี มักกล่าวอ้างบิดเบือนเถลไถลว่าเป็นแต่เพียง "สมมุติบัญญัติ" ทั้งที่นิยามของสมมุติบัญญัตินั้นชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ การจะสมมุติอะไรขึ้นมาได้นั้นสิ่งนั้นต้องมีอยู่จริง เช่น กระจกรูปทรงกระบอกก้นปิดเรียกว่า "แก้ว" แล้วบัญญัติซ้อนลงไปเป็น "สมมุติบัญญัติ" ว่า นั่นแก้วกาแฟ แก้วน้ำ เป็นต้น

เมื่อมีสมมุติบัญญัติ เรื่อง "อนัตตา" พระองค์ทรงต้องมีบัญญัติของคู่กันคือ "อัตตา" ซึ่งเป็นทวินิยม (ของคู่กัน) และคำว่าอัตตานั้นก็ยังมีปรากฏอยู่มากมายในพระสูตร อีกทั้งมีนัยยะที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทนั้นๆ

เรามาพิจารณาขอบเขตของอนัตตากัน เมื่อจิตมีการยึดมั่นถือมั่นเอา (สมมุติบัญญัตินั้น) รูปร่างกายที่มีอวัยวะภายในครบสมบูรณ์ มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด รัก ชอบ ชัง เหตุเพราะมีจิตเข้ามายึดครองร่างกายนี้ อีกทั้งยังยึดเอาอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นของๆ ตนคือจิตนั่นเอง หรือเรียกว่าจิตยึดเอารูป-นาม (ขันธ์ ๕) ว่าเป็นของๆ ตน เมื่อตรวจสอบกับพระพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน คือจิตที่ยึดครองอยู่นั้น เพราะจิตที่ยึดครองอยู่ยังซัดส่าย วุ่นวาย หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เราย่อมเอาจิตสังขารเหล่านั้นมาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ (อนัตตา)

เมื่อรู้จักฝั่งนั้นแล้วลองหันมารู้จัก "อัตตา" ที่มีความหมายตรงข้ามกับ "อนัตตา"ในรูปแบบนามธรรมที่ไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้ เราเคยได้พบเจอกันบ่อยๆ แต่กับถูกบดบังด้วยอนัตตาธรรมจนมองข้ามเรื่องนี้ไป เรามักได้ยิน ได้ฟังเสมอๆ เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านสั่งสอนลูกหลานของตนที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านวัยเป็นผู้ใหญ่ "เมื่อไหร่เอ็งจึงจะเป็นตัวเป็นตน" เสียที เมื่อได้ยินได้ฟังปุ๊บ เรารู้ได้ทันทีว่า ท่านกำลังบอกให้ลูกหลานของท่านให้รู้จักฝึกฝนอบรมจิตใจของตน เพื่อให้รู้จักความสงบตั้งมั่นที่ต้องรับผิดชอบดูแลตนเองและคนรอบข้าง เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ นี่เป็นเพียงอัตตาระดับชาวบ้าน

ส่วนอัตตาที่เป็นนามธาตุในพระสูตรอันเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้นั้น คือจิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ซึ่งบริสุทธิ์หมดจดตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอริยะชั้นโสดาบัน ว่าดังนี้ "ตสฺมา ตีหานนฺท อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา" แปลว่า "ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง"

ทั้งนี้แสดงว่า พระองค์ทรงสอนเรื่อง ตัวตน ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ ดังที่สอนกันอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว พระองค์ย่อมนำมาตรัสสอนพระอานนท์ไม่ได้เลย พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ รูปนาม (อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์) ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอัตตาตัวตนที่เที่ยงตรงคงที่ ถ้าหากปล่อยวางเสียได้ จิตก็จะบรรลุเข้าสู่สภาพธรรมที่ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ เป็นที่พึ่งที่อาศัยอันเที่ยงตรงคงที่ (อกุปปธรรม) อย่างแท้จริง

มีพระบาลีในปัณฑิตวัคคแห่งพระธรรมบทกล่าวไว้ ดังนี้คือ "ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตกฺกิเลเสหิ ปณฺฑิโต" แปลว่า "บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส" แสดงว่า จิตที่บริสุทธิ์นี้ คือ ตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกมาสอนพระอานนท์ดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้ ดังนั้นคำสอนที่ว่า ไม่มีตัวตน จึงย่อมขัดแย้งกับพุทธพจน์ข้อนี้อย่างไม่มีปัญหา

สำหรับข้อที่ว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" นั้น เป็นการอ้างแบบเฉไฉไม่ยอมรับความจริง โดยที่ไม่เคยดูบริบทก่อนหน้านั้นให้ดีเสียก่อน ทุกครั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึง สัพเพ ธัมมา อนัตตา นั้น บริบทก่อนหน้าจะต้องกล่าวถึงรูป-นาม (ขันธ์ ๕) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเป็นอนัตตา กระทั่งมีการละไว้ในฐานที่เข้าใจ แต่กลับถูกมองข้ามไปเสีย

เราต้องไม่ลืมว่ายังมีธรรมฝ่ายโลกุตตรธรรม ที่เที่ยงตรงคงที่ต่อพระนิพพานนั้นมีอยู่ เช่น อมตธรรม อกุปปธรรม วิราคะธรรม ฯลฯ ธรรมดังกล่าวทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ ซึ่งตรงข้ามกับ "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ดังที่กล่าวอ้างไว้ โดยมีพระพุทธพจน์ตรัสรองรับไว้ ในฉันทสูตร ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย"

เหตุทำให้เข้าถึง "อนัตตาธรรม" ได้นั้น ควรเดินตามรอยทางเดินที่นำไปสู่ความเป็นอริยเจ้า คือ "อริยมรรคมีองค์ ๘" ซึ่งในมหาจัตตารีสกสูตร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง"


องค์ประกอบดังกล่าวมีสัมมาทิฐิเป็นใหญ่เป็นประธาน ทำให้จิตมีพลังรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า อันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่ "รูป-นาม(ขันธ์ ๕) ไม่ใช่ตนคือจิต จิตไม่ใช่รูป-นาม (ขันธ์ ๕)"

สรุปสุดท้าย กล่าวตามข้อเท็จจริง พระพุทธองค์มิได้ทรงสอนให้ถอนคำบัญญัติทิ้งเสีย หรือทรงสอนให้ทำลายสิ่งที่รองรับคำบัญญัติ ให้ละลายหายสูญไปด้วยแต่ประการใดเลย เนื่องจากทุกข์โทษทั้งหลาย มิได้เกิดจากการใช้คำบัญญัติ แต่เกิดจากการเข้าไปยึดถือสิ่งรองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิด ว่ามีแก่นสารสาระเป็นอัตตา (ตัวตน) ต่างหาก

พระองค์ทรงสอนให้ ถอนความยึดมั่นถือมั่น สิ่งรองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิดไปนั้นเสีย เมื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นสิ่งที่รองรับคำบัญญัติเสียแล้ว ก็ย่อมหลุดพ้นจากวัตถุหรืออารมณ์ที่รองรับคำบัญญัติทั้งหลายได้อย่างสิ้นเชิง จิตก็ย่อมผ่องแผ้วบริสุทธิ์ ไม่หลงไปพลอยเกิดพลอยตายกับสิ่งที่รองรับคำบัญญัตินั้นด้วย จิตจึงเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้อย่างแท้จริง


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 10 สิงหาคม 2561
Last Update : 10 สิงหาคม 2561 23:22:35 น.
Counter : 531 Pageviews.

0 comment
ผู้รู้ชั้นเลิศ อยู่ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก นี้เอง


ผู้รู้ชั้นเลิศ อยู่ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก นี้เอง


น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑

วันนี้วันดีเป็นวันเพ็ญแห่งอาสาฬหมาส วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันอาสาฬหบูชา วันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนาแบบครบสมบูรณ์ อันมีองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ต่างกันแต่ชื่อที่เรียกหาเพื่อความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกัน ส่วนความหมายที่แท้จริงนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เนื้อเดียวกัน

พระพุทธองค์ทรงค้นหาอมตธรรมความจริงในเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยเห็นว่า สิ่งต่างๆ ในโลกล้วนเป็นทวินิยม เมื่อมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นของคู่กัน จึงออกค้นหาโมกขธรรมโดยลำพังพระองค์เอง เมื่อได้พบกับพระอาจารย์ทั้งสอง คือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส ตามลำดับ ก็ได้เข้าศึกษากับท่านทั้งสอง โดยแค่ท่านทั้งสองกล่าววาจาที่สอนจบลง พระพุทธองค์ก็เข้าใจและเข้าถึงในอรูปฌานที่ ๗ และที่ ๘ เหล่านั้นในทันที

ทรงเห็นว่ายังไม่ใช่ทางแห่งความพ้นทุกข์ เพราะจิตยังติดสุขอยู่ในฌานเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่น ด้วยกลัวไปว่าอารมณ์ฌานที่ได้มานั้นจะจืดจางไป ต้องคอยประคองอารมณ์จิตที่ติดสุขที่เกิดจากฌานนั้นตลอดเวลา ทำให้เป็นทุกข์อยู่ จัดอยู่ในกามสุขัลลิกานุโยค เป็นสุขที่เกิดจากอารมณ์ฌานอันละเอียด จัดเป็นกาม (พอใจ) อยู่

เมื่อเห็นว่าไม่ใช่แนวทางเหตุการพ้นทุกข์ จึงหันมาในแนวทางทางสุดโต่งอีกฟากฝั่งหนึ่ง เพื่อทรมานตนให้เกิดความลำบาก หวังว่าจะลดความทะยานอยากลง จัดเป็นอัตตกิลมถานุโยค กลายเป็นว่าอยากที่จะไม่อยาก เป็นการเหนื่อยเปล่า ไม่เป็นธรรมเพื่อห่างไกลจากกิเลส

พระพุทธองค์ทรงระลึกขึ้นมาได้ว่า ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ ด้วยอานาปานสติ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระพุทธองค์จึงทรงหันมาเจริญอานาปานสติแบบต่อเนื่องเนืองๆ โดยไม่ขาดสาย กระทั่งจิตสงบมีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ ปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตเป็นการต่อเนื่อง เริ่มจากอามีสสัญญา เข้าสู่ฌานที่สอง มีธรรมอันเอกผุดขึ้น เห็นจิตตนเองสงบ มีสติตั้งมั่น เข้าสู่ฌานที่สาม อยู่เป็นสุขด้วยนามกาย มีอุเบกขาอยู่ เข้าสู่ฌานที่สี่ ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

จะสังเกตได้ว่า สมาธิที่มีมานานก่อนพระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมานั้น เป็นสมาธิที่จิตยังเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ รูป อรูป เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ปล่อยวางไม่เป็น เพราะเกรงไปว่าสุขที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ฌานอันละเอียดอ่อนอยู่นั้น จะจืดจางลง เป็นความหวั่นไหวที่ซ่อนอยู่ ย่อมแตกต่างไปจาก "สัมมาสมาธิ" ที่ปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิต ตั้งแต่ฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๔ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งจิตของตนสงบ มีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สงบถึงขีดสุด จิตมีสติบริสุทธิ์วางเฉยอยู่ (ฌาน ๔)

พระพุทธองค์ทรงกล้าประกาศออกมาว่า "เราตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง" ดั่งมีพระบาลีรองรับไว้ว่า "ปุพเพ อนนุสสุเตสุ ธัมเมสุ แปลว่า ธรรมอันเราตรัสรู้นี้ ไม่เคยได้ยินได้ฟัง จากที่ไหนในกาลก่อนนี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ" ผู้ศึกษาพึงระมัดระวังให้ดี อย่านำเอาฌานสมาบัติ มาผสมปนเปกับฌานในสัมมาสมาธิ ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้ายังคิดว่า พระพุทธองค์ทรงต่อยอดการตรัสรู้มาจากรูปฌาน อรูปฌานแล้ว ระวังจะกลายเป็นการจาบจ้วงไปโดยไม่รู้ตัว

เครื่องล่อ (กายสังขาร) ที่ทำให้เกิดฌานในสัมมาสมาธินั้น ทำให้จิตของตนสามารถเห็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจน ส่วนฌานสมาบัติไม่อาจเห็นในส่วนนี้ ต่อเมื่อได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องให้หันมาพิจารณาเครื่องล่อในสติปัฏฐาน ๔ จิตของผู้ปฏิบัติฌานสมาบัติอยู่ก่อน ที่มีความชำนิชำนาญในการเข้าออกฌานอย่างคล่องแคล่วแล้ว ย่อมง่ายดายต่อการพลิกกลับมาเข้าสู่ฌานในสัมมาสมาธิได้อย่างรวดเร็ว

"ข้อปฏิบัติให้ถึงทางตรัสรู้นั้นเป็นปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุด ๒ อย่าง อันพระตถาคตตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว กระทำให้เกิดจักษุ กระทำให้เกิดญาณ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไฉน คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘"

มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น ผู้ศึกษาธรรมะจะต้องทำความเข้าใจว่า "มรรค" นี้เป็นเรื่องของจิต เป็นทางเดินของจิต ที่ทำให้เกิดปัญญา (แยกตัวหรือละเว้นสิ่งที่ผิด ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ถูก) ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องอบรมให้เกิดขึ้นที่จิต เพื่อสลัดอารมณ์ออกไปให้หมดอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

เราจึงเห็นได้ว่าหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา มีประโยชน์แก่ผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงเท่านั้น ผู้ใดลงมือปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น
พระสงฆ์ หรือ ฆราวาสก็ตาม...ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องกั้นหรือขีดคั่นไว้เลย

ผู้ใดปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาก ก็ย่อมได้รับพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพล การครอบงำของอารมณ์ได้ดี และมีความสุขในชีวิตประจำวันมาก

ผู้ใดปฏิบัติน้อย ก็ย่อมได้รับพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพลการครอบงำของอารมณ์ได้น้อย และมีความสุขในชีวิตประจำวันน้อย

ผู้ใดไม่ปฏิบัติเลย ก็ย่อมไม่มีพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพลการครอบงำของอารมณ์เลย คือยังถูกอารมณ์ทั้งหลายครอบงำให้หวั่นไหวตามไปด้วย ทำให้ไม่มีความสุขในชีวิตประจำวันเท่าที่ควร นั่นก็คือ ไม่รู้จักวิธีทำตนให้มีความสุข ทั้งๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

มีพระบาลีในมหาปรินิพพานสูตร ยืนยันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนี้ คือ :

"สีล ปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสงฺโส,
สมาธิ ปริภาวิโต ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสงฺสา,
ปญฺญา ปริภาวิโต จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ
สมาธิที่มีศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาที่มีสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตที่มีปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ดังนี้"


พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้เรื่องการปฏิบัติ อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ อริยมรรคมีองค์ ๘ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน รอยเดียวกัน ทำให้จิตของพระพุทธองค์บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าทั้งหลาย

ทรงนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนที่ทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองให้เหล่าพระอริยสาวกออกไปเผยแผ่ ดังในครั้งที่พระพุทธองค์ทรงมีพระสาวกครบ ๖๐ รูป ได้ทรงส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก ได้ตรัสแก่พระสาวกเหล่านั้นว่า :

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริก (อบรมสั่งสอน) ไป
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนทั้งหลาย
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์และความสุขของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายเถิด

พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกัน ๒ รูป

จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น (ศีล)
งามในท่ามกลาง (สมาธิ)
งามในที่สุด (ปัญญา)
จงประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะครบบริบูรณ์, บริสุทธิ์

สัตว์ทั้งหลาย (ผู้ติดข้องอยู่ในอารมณ์) จำพวกที่มี กิเลสเบาบางมีอยู่
เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม, ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม"


ภิกษุสาวกที่พระพุทธองค์ทรงให้ออกไปประกาศพระศาสนาเหล่านั้น ล้วนเป็นพระอริยสาวกที่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ กระทั่งจิตของตนสะอาดบริสุทธิ์หมดจดปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

ฉะนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน รอยเดียวกัน โดยไม่ต้องไปหาเที่ยวค้นหาผู้รู้ชั้นเลิศจากที่ไหน พระพุทธองค์ทรงให้ค้นหาที่กายยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี้ ที่มีจิตครอง ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

สรุปสุดท้าย ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกปฏิบัติสมาธิ เพื่ออบรมจิตให้รวมตัวสงบลงจนถึงขีดสุดบ่อยๆ เนืองๆ จนเกิดความชำนาญคล่องแคล่ว หลังจากที่ได้สร้างฐานลมหายใจกระทบแล้วถึงขนาดที่ว่า เมื่อคิดถึงฐานเมื่อใด จิตก็สงบถึงขีดสุดเมื่อนั้นทันที โดยไม่เสียเวลาเนิ่นนานเลย ปัญญาในขั้นนี้ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า เมื่อจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว อารมณ์และความรู้สึกนึกคิด รวมทั้งจุดนิมิตลมหายใจกระทบ ก็จะถูกสลัดปล่อยวางออกไปจนหมดสิ้น จิตกับสติจะทำงานอยู่ด้วยกัน กล่าวคือ

จิตอยู่ที่ไหน สติก็จะอยู่ด้วยที่นั่น
สติอยู่ที่ไหน สมาธิก็จะอยู่ที่นั่น
สมาธิอยู่ที่ไหน ปัญญาก็จะอยู่ที่นั่น
และปัญญาอยู่ที่ไหน ศีล (เจตนางดเว้น) ก็จะอยู่ที่นั่นด้วย

ทั้งนี้หมายความว่า บรรดาคุณธรรมความดีหรือความถูกต้องทั้งหลาย ได้รวมตัวกันที่จิต ดังที่เรียกว่า "มรรคสามัคคี หรือ มคฺคสมงฺคี" แล้วนั่นเอง


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 27 กรกฎาคม 2561
Last Update : 27 กรกฎาคม 2561 20:26:15 น.
Counter : 485 Pageviews.

0 comment
ศาสนาพุทธกับการพัฒนาสังคมมนุษย์


ศาสนาพุทธกับการพัฒนาสังคมมนุษย์


🌷 น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

เนื่องในวาระวันวิสาขบูชาได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง วันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้ง ๓เหตุการณ์นั้นได้เกิดตรงกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขมาส (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง จึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ"

แล้วพระพุทธองค์ทรงตรัสว่ารู้เรื่องอะไร? จึงสามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเครื่องขวางกั้นทางที่นำจิตไปสู่ความดับทุกข์ทั้งปวงได้

อวิชชา คือ ความไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ไม่กำหนดรู้ว่านั่นทุกข์ ไม่เพียรพยายามละเหตุแห่งทุกข์ จิตของตนจึงหลงไหลได้ปลื้มไปกับรูป-นาม (ขันธ์ ๕) หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นาม (ขันธ์ ๕) ที่จิตของตนอาศัยอยู่นั้น ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน จึงมีความทะยานอยาก (ตัณหา) ออกไปสู่อารมณ์ที่รัก ชอบ ชัง แล้วเกิดอุปาทานรับเอาอารมณ์เหล่านั้นมายึดมั่นถือมั่นไว้ที่จิตของตน

เมื่อจิตของตนไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูป-นาม (ขันธ์ ๕) ก็ไม่มีการปรุงแต่ง (วิสังขาร) เมื่อไม่มีการปรุงแต่ง เวทนาต่างๆ เช่น สุข-ทุกข์ ก็ไม่เกิดขึ้นที่จิต เมื่อเวทนา สุข-ทุกข์ ไม่เกิดขึ้นที่จิต จิตก็ไม่ต้องไปจดจำ (สัญญา) มาเป็นอารมณ์ เมื่อไม่ต้องไปจดจำมาเป็นอารมณ์ จิตก็ไม่แจ้งในอารมณ์นั้นๆ (วิญญาณ)

มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้ดังนี้
"วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า
จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว"


ในอนัตตลักขณสูตร พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอนพระปัญจวัคคีย์ว่า รูป-นาม-ขันธ์ ๕ (นั่น)ไม่ใช่เรา เราไม่เป็นนั่น (รูป-นาม-ขันธ์ ๕) รูป-นาม-ขันธ์ ๕ (นั่น)ไม่ใช่ตัวตนของเรา ในครั้งกระนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง จิตเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตจึงหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในรูป-นาม-ขันธ์ ๕

แล้วสุข ทุกข์ รัก ชอบ ชังเกิดขึ้นที่ไหน? ถ้าไม่ใช่เกิดขึ้นที่จิตของตน จิตคือผู้รู้ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อจิตสิ้นการปรุงแต่งสิ่งที่ถูกรู้ดับไป จิตรู้มั้ย? ย่อมต้องรู้แน่นอน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงรู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงแล้ว ทำให้พระพุทธองค์ทรงรู้จักเหตุ และความสิ้นไปของเหตุแห่งธรรมทั้งหลายนั้น เพราะจิตของพระองค์ไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นาม-ขันธ์ ๕ ที่จิตยึดครองอยู่นั้น ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน

โดยความเป็นจริง จิตของทุกๆ คน ที่ยังยึดมั่นถือมั่นเอารูป-นาม-ขันธ์ ๕ อยู่นั้น ล้วนมีทั้งสุข ทั้งทุกข์ รัก ชอบ ชัง หมุนเวียนเปลี่ยนไป แปรปรวนไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่เข้ามาครอบงำจิตของตนอยู่ในขณะนั้นๆ เป็นทุกข์ไปกับการเปลี่ยนแปลงแปรปรวน แต่กลับมองไม่ออก เพราะการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนที่เป็นทุกข์โดยปรมัติที่เกิดขึ้นนั้น ยังมีทั้งรัก ชอบ ชัง ที่ทำให้เป็นสุขอันประกอบด้วยอามิสเจืออยู่ เป็นเครื่องฉาบทาไว้เพื่อลวงตา


แล้วศาสนาพุทธมีประโยชน์อย่างไร? ในการช่วยพัฒนาจิตใจให้สังคมดีขึ้นอย่างทุกวันนี้ เราลองมาเดินตามรอยพระพุทธองค์ดูว่าปฏิบัติตามได้จริงแค่ไหน

เดินตามรอยพระบาท (โอวาท) ในวันวิสาขบูชา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ล้วนมีวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน เกิดขึ้นในวันเดียวกัน และทุกๆ พระองค์ล้วนทรงสอนธรรมเพื่อความหลุดพ้นเช่นเดียวกัน

พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมานั้น ล้วนทรงสอนเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนา เหมือนกันหมด ดังนี้ คือ

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์


เราลองนำมาเทียบเคียงดู ลัทธิและศาสนาอื่นทั่วๆไปนั้น ล้วนสอนเหมือนกันหมด มีการสอนเพียง ข้อ ๑ และ ข้อ ๒ คือ ให้ละชั่ว ทำความดี ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปของสังคมที่ยังสับสนวุ่นวาย การละชั่วก็เพียงต่อหน้าบุคคลที่มองอยู่ เมื่อคล้อยหลังอาจไปทำในสิ่งคาดคิดไม่ถึงก็ได้ แต่ก็ยังมีบุคคลบางคนที่สามารถยับยั้งชั่งใจละเว้นความชั่วที่หยาบๆ ได้ เพราะจิตมีพละมากพอ ส่วนการละความชั่วที่ละเอียดซ่อนลึก เช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทานนั้น มีเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น

การละชั่วนั้น ย่อมทำได้ยากยิ่งกว่าการทำความดี ยิ่งในปัจจุบัน การละชั่ว ทำดี ไม่ได้กระทำที่จิตของตน เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ให้คนทั่วไปได้รู้ ได้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น แต่ภายในจิตของตนไม่ได้เป็นดังเช่นที่ว่านั้นเลย เพราะยังขาดข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นตัวกำกับให้ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ ที่แสดงออกไปนั้นถูกต้องเที่ยงตรงตามความเป็นจริง

ส่วนในข้อ ๓ นั้น พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า "จิต" ของผู้ปฏิบัติ สามารถชำระให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากอุปกิเลสทั้งหลาย (กุศลและอกุศล) ได้จริง ทำให้บุคคลในสังคมที่หันมาสนใจปฏิบัติธรรมกรรมฐานตามรอยพระองค์ รู้จักกับความสงบตั้งมั่นของจิต บุคคลที่จิตมีความสงบตั้งมั่นดีแล้ว กระทำการสิ่งใดๆ ลงไปนั้น ย่อมตั้งอยู่ในความถูกต้องเที่ยงธรรมเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีจิตใจที่เมตตาเอื้ออารีต่อคนในสังคมด้วยกัน ทำให้สังคมดีขึ้น น่าอยู่ยิ่งขึ้น

แตกต่างไปจากจิตใจคนในสังคมที่มีแต่ความสับสนวุ่นวายเป็นที่ตั้ง ความสงบที่เกิดขึ้นมีขึ้นให้เห็นชั่วครั้งชั่วคราวนั้น เกิดจากการรู้จักเปลี่ยน (ข่ม) อารมณ์ของตนไปสู่ความรู้สึกปลอดภัย เป็นการสร้างภาพพจน์จนคุ้นชิน เป็นสัญญาอารมณ์ที่ได้ถูกกำหนดไว้ก่อน ทำบ่อยๆ จนเป็นถิรสัญญา ในขณะที่จิตใจของตนนั้น ยังรู้สึกอึดอัด ขัดข้อง สับสนอยู่ แต่ภายนอกนั้นดูเหมือนสงบ

สิ่งที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่นั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนอารมณ์ ไมใช่เกิดจากการปล่อยวางอารมณ์ ที่ได้จากการปฏิบัติธรรมจนจิตของตนบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว การเปลี่ยนอารมณ์นั้น อาจทำให้เกิดภัยขึ้นมาได้ในภายหลัง ส่วนการปล่อยวางอารมณ์นั้น ปลอดภัยจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง เปรียบเช่นปัญญาที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด ย่อมแตกต่างไปจากปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริง รู้โดยไม่ต้องคิด


ปัญหาหลักอยู่ตรงที่ว่า เราจะทำอย่างไร? จึงจะชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว หลุดพ้นจากการถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทานที่ทำให้จิตของเราเศร้าหมอง

เหตุเพราะจิตของเราชอบแส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปรู้รับอารมณ์ต่างๆ และยึดถือเข้ามาสู่จิตของตน จนเกิดความความเศร้าหมองขึ้นที่จิตนั่นเอง

การปฏิบัติธรรมเพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองได้นั้น ย่อมทำให้จิตของเรามีพลังอำนาจมากยิ่งขึ้น ในการที่จะต่อสู้ฟาดฟันกับอุปกิเลสทั้งหลาย อันนี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาเพื่อชำระจิตของเรา ในข้อที่ ๓ นั่นเอง

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า จิตนั้นมีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่ต้องเศร้าหมองไป เหตุเพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง

จะทำอย่างไร? ให้จิตไม่เศร้าหมองเพราะกิเลสเป็นแขกจร

ผู้ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนามาพอสมควร ย่อมรู้ดีว่ามีพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึง ทางอันเอกเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ (คือผู้ที่ติดข้องในอารมณ์) ทั้งหลาย ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เมื่อยังมีผู้เดินตามทางนี้ (อริยมรรค ๘) อยู่ โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์

ในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระองค์ทรงกล่าวไว้ในมหาจัตตารีสักกสูตร ทรงเชิดเอา สัมมาสมาธิ เป็นใหญ่เป็นประธานในมรรคทั้งหลาย และที่เหลือจากนั้นอีก ๗ องค์ ทรงให้สัมมาทิฐิ (รู้เห็นตามความเป็นจริง) เป็นใหญ่เป็นประธาน บุคคลที่จิตมีสติสงบตั้งมั่น กระทำการใดๆ ล้วนเป็นไปโดยชอบทั้งสิ้น

องค์แห่งสมาธินั้น ประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นั่นคือ เมื่อทั้ง ๓ องค์ทำหน้าที่ร่วมกัน จิตย่อมรวมตัวลงเป็นสมาธิ ตั้งมั่นชอบโดยลำพังตนเองได้ โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใดๆ (รูปฌาน อรูปฌาน) ทั้งสิ้น

เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบแห่ง องค์สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ หรือ ที่เรียกว่า "อธิจิตตสิกขา" เทียบเคียงกับพระโอวาทซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว) แล้ว โดยความรอบคอบไม่ประมาท จะเห็นว่าลงกันได้เป็นอย่างดี ดังรายละเอียด ต่อไปนี้


สัมมาวายามะ เป็นไฉน
ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ
-ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น-ไม่ให้เกิด
-ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
-ยังกุศลที่ยังไม่เกิด-ให้เกิดขึ้น
-ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้เจริญงอกงาม


เราพอจะเห็นเค้าเงื่อนได้ว่า องค์แห่ง สัมมาวายามะ นั้น เป็นการปฏิบัติตามหัวใจพุทธศาสนา
ในข้อ ๑ ละบาปทั้งปวง (ละชั่ว)
และข้อ ๒ สร้างกุศลให้เกิดขึ้น (ทำดี)

สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติภาวนาต้องมีเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาในข้อที่ ๓ ซึ่งต้องอาศัยองค์ธรรมอีก ๒ องค์ประกอบด้วย คือ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ (อธิจิตตสิกขา)


สัมมาสติ เป็นไฉน
ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม ที่เรียกว่า มหาสติปัฏฐาน ๔ คือ ฐานที่ตั้งของสติที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่องเนืองๆไม่ขาดสายในที่สุด โดยต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งปฏิบัติธรรมสมาธิภาวนา "อานาปานสติ" พิจารณาจากกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

(เพื่อให้เข้าถึงจิตที่เป็นธรรมอันเอก ณ ภายใน ผุดขึ้นมาให้ประจักษ์ชัด)


สัมมาสมาธิ เป็นไฉน (หรือที่เรียกอีกชื่อว่า อธิจิตตสิกขา)
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ


มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า
"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว (สัมมาสมาธิ) ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ) ดังนี้"


นั่นคือ เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างจริงจัง จากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา จนจิตของตนมีฐานที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน) อย่างมั่นคงหรือมีกรรมฐานแล้ว ย่อมต้องคอยประคองจิตของตนไม่ให้แส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปหาอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลาย ที่ทำให้จิตของตนเศร้าหมอง ยิ่งประคองจิตของตนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งปล่อยวางอารมณ์ได้มากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น

ซึ่งอันนี้ต้องอาศัยความเพียรอย่างยิ่งในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาให้เกิดความชำนาญ เพื่อจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) เมื่อมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว (สมาธิอบรมปัญญา) ก็อาศัยพลังปัญญาที่เกิดขึ้นจากการได้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น นำมาเพื่อปล่อยวางอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลายออกไปจากจิตของตน (ปัญญาอบรมสมาธิ)

สรุป พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ ล้วนทรงสอนเรื่องอธิจิตสิกขา (อธิจิตฺเต) หรือการชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย โดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (อธิจิตตสิกขา) เพื่อให้จิตเกิดปัญญา หลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน ไม่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสเป็นแขกจร

สังคมที่มีการปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมนำความสงบสุข สันติร่มเย็น มาสู่สังคมนั้น


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 29 พฤษภาคม 2561
Last Update : 29 พฤษภาคม 2561 12:38:13 น.
Counter : 557 Pageviews.

0 comment
แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา


แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา


🌷 น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา ๑ มีนาคม ๒๕๖๑

สมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ ๑ ในสิกขา ๓ เป็นทางเดินของจิตนำไปสู่ความเป็นอริยะเจ้า เป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ลงมือปฏิบัติแบบจริงจัง เป็นสมาธิที่สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายอันเกิดแต่วิเวก ทำให้จิตมีพลังในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ และความยึดถือในความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย (อาการของจิต)ออกไป ในขณะที่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเข้ามากระทบจิต

ผู้ใดสามารถฝึกฝนอบรมจิต ปฏิบัติธรรมสัมมาสมาธิจนชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าที่ดีหรือที่ชั่ว สุขหรือทุกข์ ย่อมไม่สามารถครอบงำจิต ปรุงแต่งจิตของผู้นั้น ให้กระสับกระส่าย สับสนวุ่นวาย ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ได้อีกต่อไป

สัมมาสมาธิฌานที่ ๔ นั้น มีคุณลักษณะดังนี้ คือ "ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสแต่เก่าก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่" เป็นสภาวะธรรมที่เรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้ จิตมีพลังปล่อยวางสลัดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไป เป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เป็นตทังควิมุตติ เข้าสู่ความสงบตั้งมั่น เยือกเย็น ในพระพุทธศาสนาได้โดยแท้จริง

ดั่งมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ใน "สมาธิสูตร" ดังนี้
"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"


เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์อย่างรอบคอบ จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" นั้น คือ "วิปัสสนา" เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ รู้เห็นอย่างไรจึงเรียกว่า "รู้เห็นอย่างวิเศษ" คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ หยาบ ละเอียด (รูปฌาน อรูปฌาน) ล้วนเป็นทุกข์ เมื่อรู้แล้วว่า "อารมณ์ทั้งหลาย" ที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นล้วนเป็นทุกข์ ควรละความทะยานอยาก (สมุทัย)-เหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย เพื่อถึงนิโรธ-ดับทุกข์ทั้งปวงได้ ด้วยมรรค-ทางดำเนินไปเพื่อความดับทุกข์

คำว่า "สมถะ" และ "วิปัสสนา" เป็นคำที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง แต่กลับถูกนำไปใช้ในทางแบ่งแยกของผู้ปฎิบัติธรรมให้ออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่พระสูตรเองก็ยังเขียนไว้อย่างรัดกุมรอบคอบ ไม่ได้ถูกแบ่งแยกให้ออกจากกันแต่อย่างไร จนเกิดเป็นสาย "สมถะภาวนา" หรือสาย "วิปัสสนาภาวนา" อย่างทุกวันนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริงของพระสูตรที่วางหลักไว้ดีแล้ว

เพราะคำว่า "และ" ในพระสูตรนั้น ก็ชัดเจนอยู่แล้วในตัวว่า ต้องร่วมกันให้เกิดขึ้น ขาดจากกันไม่ได้ แสดงว่า "สมถะ" และ "วิปัสสนา" นั้นเป็นเรื่องที่ต้องกระทำควบคู่กัน พร้อมกันไป ในขณะจิตเดียวกัน ต่างกันแต่สภาวะที่เกิดขึ้น ของเหตุปัจจัยที่มีมาให้พิจารณา ขณะประคองจิตอยู่ (ตรึกธรรม) เฉพาะหน้าในเวลานั้นๆ

เช่นเดียวกันกับคำว่า สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งต้องเกิดขึ้นร่วมกันไปขาดกันเสียไม่ได้ ที่เรียกว่า "อัญญะ-มัญญะ" ปัจจัย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น หนุนเนื่องต่อกัน และอาศัยกันและกันเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย หากเราสามารถสร้างสติประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ (สติปัฎฐาน) ได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆแล้ว จิตของตนย่อมสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อประคองจิตที่มีสติให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ต่อเนื่อง จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ดังนี้

เพราะในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพียรประคองจิตของตนอยู่นั้น บางครั้งบางขณะที่จิตระลึกรู้ (สติ) อยู่ จิตอาจจะเกิดเผลอไผลส่งออกไปในอารมณ์ที่ยินดีน่ารักใคร่ หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดี จะมาจากภายนอกก็ดี หรือที่เกิดขึ้นจากสัญญาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ณ.ภายในจิตเองก็ดี เมื่อระลึกนึกขึ้นมาได้และสามารถดึงจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้น และยกจิตของตนที่ส่งออกไปจากฐานที่ตั้ง ให้กลับมาวางอยู่ที่ฐานแห่งความสงบ(สติ)ดังเดิมได้เป็นวิปัสสนา

ฐาน คือ ที่ตั้งของสติที่ระลึกรู้อยู่ในขณะนั้นๆ (สติปัฏฐาน) อันมีลมหายใจ หรือองค์ภาวนาต่างๆ ที่เป็นอุบาย (กายสังขาร) เพื่อให้จิตของตนได้ฝึกฝนเกาะเกี่ยวจนเป็นสมาธิ การยกจิตของตนให้กลับมาสู่ฐานที่ตั้งของสติที่ได้เคยอุปโลกน์ไว้นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เกิด "ปัญญา" สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะที่จิตยึดอยู่นั้นออกไปได้ กลับมาสู่ฐานของสติอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่ฝึกอบรมใหม่ๆ แต่เมื่อฝึกฝนอบรมจิตให้กระทำบ่อยๆ กระทำให้มาก เจริญให้มากปัญญาที่เกิดขึ้นย่อมแหลมคมยิ่งๆขึ้นไปเอง

ขณะที่เราสามารถยกจิตกลับมาตั้งไว้ที่ฐานสติได้อย่างแม่นยำต่อเนื่องเนืองๆ จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นเป็น "สมาธิ" จิตของตนย่อมรู้เห็นอย่างวิเศษ (วิปัสสนา) ว่าขณะนี้จิตของตนเป็นสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบตั้งมั่นอยู่นั้น ต่างจากเมื่อครู่ที่จิตของตนได้ซัดส่ายวุ่นว่ายส่งออกไปยึดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นแขกจรเข้ามา ย่อมรู้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างจิตที่มีความสงบตั้งมั่น กับจิตที่ซัดส่าย สับสน วุนว่าย ได้ตามความเป็นจริง ดังนี้

เมื่อกระทำให้มาก กระทำบ่อยๆ เจริญให้เกิดขึ้น จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว ก็นำผลที่ได้ปฏิบัติมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อกระทบอารมณ์ทางอายตนะ ๖ มีอาการของจิตเกิดขึ้น กระเพื่อมไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ยินดี ยินร้าย รัก ชอบ ชัง จิตย่อมระลึกรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ว่าขณะนี้จิตสับสน ซัดส่าย วุ่นวายไปตามอารมณ์เหล่านั้น (สุข ทุกข์) ให้รีบนำจิตกลับมาสู่ความสงบตั้งมั่นให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังสติขณะแห่งจิตที่เป็นสมาธินั้น (ขณิกสมาธิ)โดยนำจิตของตนมาวางไว้ที่ฐานแห่งความสงบ มีสติตั้งมั่น ที่จิตของตนได้เคยฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว

ใครที่ยังคิดว่า สมถะและวิปัสสนา ต้องแยกกันปฏิบัตินั้น เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เมื่อจิตรู้จักความสุขที่เกิดแต่ความสงบตั้งมั่นอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมต้องรู้ชัดถึงสภาวะจิตที่กระเพื่อมซัดส่าย ส่งออก สับสนวุ่นวาย ว่าต่างกันอย่างไร จึงเป็นวิปัสสนาที่เกิดจากจิตที่รู้จักฐานสติสงบตั้งมั่นเป็นอย่างดี

เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะทางใดทางหนึ่ง จิตย่อมสามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ในทันทีทันใด นี่จึงเป็นปัญญาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจกันผิดๆ ไปจากความเป็นจริง อันเกิดจากการนึกคิดที่คิดแล้วคิดเล่า เฝ้าแต่คิดจนความนึกคิดเหล่านั้นตกผลึก อันนั้นเราเรียกว่า "สัญญาอารมณ์"

ส่วน "ปัญญาวิปัสสนา" ที่จิตของตนสามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริงของจิตที่มีกำลังสติเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก กระทำบ่อยๆ จนชำนาญคล่องแคล่วในการปล่อยวางย่อมละสังโยชน์ได้

"สัญญาอารมณ์" ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ จนจำได้อย่างแม่นยำเป็นถิรสัญญา ผลที่ได้คือ "สักๆ แต่ว่ารู้" เป็นการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างรวดเร็ว ทำเป็นว่าไม่ได้สนใจในอารมณ์เหล่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง จิตได้รับและยึดอารมณ์เหล่านั้นไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมาทางสีหน้าให้เห็นถึงอาการของจิตที่กระเพื่อมอยู่ ณ.ภายในจิตของตน พูดหรือแสดงออกให้ดูดีด้วยวาจาเพราะๆ ด้วยคำว่า "สักแต่ว่า"

กล่าวถึงปัญญาวิปัสสนาแล้ว มีพระพุทธพจน์ตรัสรองรับไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ตรัสพระคาถาดังนี้ว่า :-

"โยคาเว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย
เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย
จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ

ปัญญาเกิดขึ้นเพราะความประกอบ
ไม่ประกอบ ปัญญาก็หมดสิ้นไป
บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว
พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ"


ยังมีพระสูตรที่ทรงตรัสรองรับและเชื่อมโยงกัน ไว้ว่า
"เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า "ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้"... ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น" (นาวาสูตร)

สรุปสุดท้ายว่า การศึกษาพระพุทธศาสนานั้น ให้ยึดหลัก "กาลามสูตร" เป็นหลัก อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ๑๐ ประการ ให้ฟังด้วยดี นำที่ได้ยินได้ฟังมาศึกษา ตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง และสมาทานลงมือปฏิบัติธรรมตามอย่างจริงจัง ผลที่ออกมาเป็นประโยชน์ ผู้รู้ไม่ติเตียน นำผลที่ได้ไปใช้ได้จริง (ปัจจัตตัง) ค่อยเชื่อก็คงไม่สาย

"บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ" ความหมายของ "ปัญญา" ในทางพระพุทธศาสนาแตกต่างไปจากความเฉียวฉลาด (ปัญญา) ในทางโลกอย่างสิ้นเชิง ปัญญาในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นความสามารถของจิตในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว

ที่เรียกว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" คือ รู้ว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ สามารถนำจิตของตนสู่ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สงบหนอ ได้ในทันทีทันใด เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ตามที่พระสูตรได้กล่าวไว้ จิตของตนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมสมาธิมาอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว จิตก็เข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้ในทันทีชั่วขณะจิตเดียว สติ สมาธิ ปัญญา จึงเป็นเรื่องเดียวกัน


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 01 มีนาคม 2561
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2562 18:24:31 น.
Counter : 559 Pageviews.

0 comment

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์