อนัตตา เปรียบดั่งยาขมของผู้ปฏิบัติธรรม


อนัตตา เปรียบดั่งยาขมของผู้ปฏิบัติธรรม


เมื่อใดก็ตามที่เกิดการพูดคุยถกธรรมกันขึ้นในหัวข้อ "อนัตตา" ของเหล่านักปฏิบัติธรรมชาวพุทธ ก็มักมีความขัดแย้งกันร่ำไป ไม่ลงรอยกันตามธรรมที่สมควรแก่ธรรมของแต่ละบุคคลที่ได้เคยปฏิบัติธรรม เรียนรู้ ศึกษา รับฟังมาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างหมดหัวใจที่มีอยู่ก่อนแล้ว จนทำให้ขาดวิจารณญาณที่ดีในการพิจารณาธรรมที่เคย ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษาแล้ว เพื่อนำมาตรวจสอบ สอบสวน เปรียบเทียบ เทียบเคียง กับธรรมที่พระผู้มีพระภาคย์เจ้าได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า สิ่งที่รู้มานั้นสามารถลงกันได้ดี ไม่มีความขัดแย้งกันกับพระพุทธพจน์ที่เป็นหลัก ภูมิรู้ภูมิธรรมที่ตนมีอยู่นั้นเป็นเรื่องเดียวกันรอยเดียวกันกับพระพุทธพจน์หรือไม่

ดังมีปรากฏในอนัตตลักขณสูตรที่พระองค์ทรงตรัสสั่งสอนเรื่อง "อนัตตา" ที่เปรียบเหมือนยาขมที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของนักปฏิบัติรุ่นใหม่ เมื่อมีความเข้าใจความหมายของคำๆ นี้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เช่น อนัตตาแปลว่าไม่มีตัวตน พระพุทธองค์ทรงสอนแต่เรื่องอนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา) ฯลฯ

เรามาพิจารณาพระสูตรที่มีปรากฏอยู่นั้น คำว่า "อนัตตา" แปลว่า "ไม่ใช่ตัวตน" ซึ่งมีความหมายแตกต่างเป็นคนละเรื่องเลยกับคำว่า "ไม่มีตัวตน" นั้น หมายถึง สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงไม่มีอยู่จริง ไม่เคยปรากฏให้รู้ให้เห็น ไม่มีเจ้าของ ภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือการติต่างมันขึ้นมาเองเพื่อพูดคุยกันเท่านั้น ซึ่งแตกต่างไปจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเวลาท่านเทศน์สั่งสอนชาวบ้านนั้น คำว่า "ไม่มีตัวตน"ของท่านหมายเอาสิ่งที่กำลังพูดถึงนั้นมีอยู่จริง แต่ไม่มีรูปร่างปรากฏให้จับต้องได้เท่านั้น สามารถรับรู้ได้ ฯลฯ

ส่วนฝ่ายที่เชื่อเรื่องไม่มีตัวตนในสายปริยัตินั้น หมายเอาสิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่จริง เช่น การกระทำมีอยู่ ผู้กระทำไม่มี ทางเดินมีอยู่ ผู้เดินไม่มี เช่น มรรคมีองค์ ๘ นั้นก็สักแต่ว่าเป็นทางเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน นิพพานนั้นก็สักแต่ว่านิพพาน แต่ผู้เข้าถึงนิพพานไม่มี สรุปง่ายๆ ก็คือ อะไรๆ ก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่ใช่ ที่ใช่ก็ไม่มี ที่มีก็ไม่ใช่ ไม่มีอะไรทั้งนั้น ความจริงแล้วคำสอนว่าไม่มีตัวตนดังที่กล่าวมา เป็นคำสอนของพวกปริพาชกจำพวกนัตถิกทิฐิ เป็นพวกนอกพุทธศ่าสนา

แปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในพวกที่มีความเชื่อแบบนั้น กลับมีความเชื่ออีกอย่างว่า กฏแห่งกรรมมีอยู่จริง ทำดีได้รับผลดีฯ เมื่อคนเราตกตายลงไปแล้วต้องมีอะไรสักอย่างที่เคลื่อนออกไป (จุติ) เพื่อไปชดใช้กรรมดีกรรมชั่วที่ (ตน) ทำไว้ (การกระทำมีอยู่) แต่กลับเชื่อว่าผู้กระทำไม่มี มักกล่าวอ้างบิดเบือนเถลไถลว่าเป็นแต่เพียง "สมมุติบัญญัติ" ทั้งที่นิยามของสมมุติบัญญัตินั้นชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ การจะสมมุติอะไรขึ้นมาได้นั้นสิ่งนั้นต้องมีอยู่จริง เช่น กระจกรูปทรงกระบอกก้นปิดเรียกว่า "แก้ว" แล้วบัญญัติซ้อนลงไปเป็น "สมมุติบัญญัติ" ว่า นั่นแก้วกาแฟ แก้วน้ำ เป็นต้น

เมื่อมีสมมุติบัญญัติ เรื่อง "อนัตตา" พระองค์ทรงต้องมีบัญญัติของคู่กันคือ "อัตตา" ซึ่งเป็นทวินิยม (ของคู่กัน) และคำว่าอัตตานั้นก็ยังมีปรากฏอยู่มากมายในพระสูตร อีกทั้งมีนัยยะที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทนั้นๆ

เรามาพิจารณาขอบเขตของอนัตตากัน เมื่อจิตมีการยึดมั่นถือมั่นเอา (สมมุติบัญญัตินั้น) รูปร่างกายที่มีอวัยวะภายในครบสมบูรณ์ มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด รัก ชอบ ชัง เหตุเพราะมีจิตเข้ามายึดครองร่างกายนี้ อีกทั้งยังยึดเอาอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นของๆ ตนคือจิตนั่นเอง หรือเรียกว่าจิตยึดเอารูป-นาม (ขันธ์ ๕) ว่าเป็นของๆ ตน เมื่อตรวจสอบกับพระพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน คือจิตที่ยึดครองอยู่นั้น เพราะจิตที่ยึดครองอยู่ยังซัดส่าย วุ่นวาย หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เราย่อมเอาจิตสังขารเหล่านั้นมาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ (อนัตตา)

เมื่อรู้จักฝั่งนั้นแล้วลองหันมารู้จัก "อัตตา" ที่มีความหมายตรงข้ามกับ "อนัตตา"ในรูปแบบนามธรรมที่ไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้ เราเคยได้พบเจอกันบ่อยๆ แต่กับถูกบดบังด้วยอนัตตาธรรมจนมองข้ามเรื่องนี้ไป เรามักได้ยิน ได้ฟังเสมอๆ เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านสั่งสอนลูกหลานของตนที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านวัยเป็นผู้ใหญ่ "เมื่อไหร่เอ็งจึงจะเป็นตัวเป็นตน" เสียที เมื่อได้ยินได้ฟังปุ๊บ เรารู้ได้ทันทีว่า ท่านกำลังบอกให้ลูกหลานของท่านให้รู้จักฝึกฝนอบรมจิตใจของตน เพื่อให้รู้จักความสงบตั้งมั่นที่ต้องรับผิดชอบดูแลตนเองและคนรอบข้าง เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ นี่เป็นเพียงอัตตาระดับชาวบ้าน

ส่วนอัตตาที่เป็นนามธาตุในพระสูตรอันเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้นั้น คือจิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ซึ่งบริสุทธิ์หมดจดตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอริยะชั้นโสดาบัน ว่าดังนี้ "ตสฺมา ตีหานนฺท อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา" แปลว่า "ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง"

ทั้งนี้แสดงว่า พระองค์ทรงสอนเรื่อง ตัวตน ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ ดังที่สอนกันอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว พระองค์ย่อมนำมาตรัสสอนพระอานนท์ไม่ได้เลย พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ รูปนาม (อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์) ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอัตตาตัวตนที่เที่ยงตรงคงที่ ถ้าหากปล่อยวางเสียได้ จิตก็จะบรรลุเข้าสู่สภาพธรรมที่ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ เป็นที่พึ่งที่อาศัยอันเที่ยงตรงคงที่ (อกุปปธรรม) อย่างแท้จริง

มีพระบาลีในปัณฑิตวัคคแห่งพระธรรมบทกล่าวไว้ ดังนี้คือ "ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตกฺกิเลเสหิ ปณฺฑิโต" แปลว่า "บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส" แสดงว่า จิตที่บริสุทธิ์นี้ คือ ตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกมาสอนพระอานนท์ดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้ ดังนั้นคำสอนที่ว่า ไม่มีตัวตน จึงย่อมขัดแย้งกับพุทธพจน์ข้อนี้อย่างไม่มีปัญหา

สำหรับข้อที่ว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" นั้น เป็นการอ้างแบบเฉไฉไม่ยอมรับความจริง โดยที่ไม่เคยดูบริบทก่อนหน้านั้นให้ดีเสียก่อน ทุกครั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึง สัพเพ ธัมมา อนัตตา นั้น บริบทก่อนหน้าจะต้องกล่าวถึงรูป-นาม (ขันธ์ ๕) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเป็นอนัตตา กระทั่งมีการละไว้ในฐานที่เข้าใจ แต่กลับถูกมองข้ามไปเสีย

เราต้องไม่ลืมว่ายังมีธรรมฝ่ายโลกุตตรธรรม ที่เที่ยงตรงคงที่ต่อพระนิพพานนั้นมีอยู่ เช่น อมตธรรม อกุปปธรรม วิราคะธรรม ฯลฯ ธรรมดังกล่าวทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ ซึ่งตรงข้ามกับ "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ดังที่กล่าวอ้างไว้ โดยมีพระพุทธพจน์ตรัสรองรับไว้ ในฉันทสูตร ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย"

เหตุทำให้เข้าถึง "อนัตตาธรรม" ได้นั้น ควรเดินตามรอยทางเดินที่นำไปสู่ความเป็นอริยเจ้า คือ "อริยมรรคมีองค์ ๘" ซึ่งในมหาจัตตารีสกสูตร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง"


องค์ประกอบดังกล่าวมีสัมมาทิฐิเป็นใหญ่เป็นประธาน ทำให้จิตมีพลังรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า อันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่ "รูป-นาม(ขันธ์ ๕) ไม่ใช่ตนคือจิต จิตไม่ใช่รูป-นาม (ขันธ์ ๕)"

สรุปสุดท้าย กล่าวตามข้อเท็จจริง พระพุทธองค์มิได้ทรงสอนให้ถอนคำบัญญัติทิ้งเสีย หรือทรงสอนให้ทำลายสิ่งที่รองรับคำบัญญัติ ให้ละลายหายสูญไปด้วยแต่ประการใดเลย เนื่องจากทุกข์โทษทั้งหลาย มิได้เกิดจากการใช้คำบัญญัติ แต่เกิดจากการเข้าไปยึดถือสิ่งรองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิด ว่ามีแก่นสารสาระเป็นอัตตา (ตัวตน) ต่างหาก

พระองค์ทรงสอนให้ ถอนความยึดมั่นถือมั่น สิ่งรองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิดไปนั้นเสีย เมื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นสิ่งที่รองรับคำบัญญัติเสียแล้ว ก็ย่อมหลุดพ้นจากวัตถุหรืออารมณ์ที่รองรับคำบัญญัติทั้งหลายได้อย่างสิ้นเชิง จิตก็ย่อมผ่องแผ้วบริสุทธิ์ ไม่หลงไปพลอยเกิดพลอยตายกับสิ่งที่รองรับคำบัญญัตินั้นด้วย จิตจึงเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้อย่างแท้จริง


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 10 สิงหาคม 2561
Last Update : 10 สิงหาคม 2561 23:22:35 น.
Counter : 551 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์