สติต้องหมั่นสร้างให้เกิดขึ้น อย่าคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นเอง


สติต้องหมั่นสร้างให้เกิดขึ้น อย่าคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นเอง


มาสร้างสติให้เกิดขึ้น ในวันแม่กันเถิด เพื่อตนเองและบุคคลรอบข้าง

คำว่า"แม่"นั้น เป็นคำที่มีความหมายอันลึกซึ้งกินใจที่ยิ่งใหญ่ อยู่ในหัวใจลูกทุกๆ คน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ค่นแค้นยันเศรษฐีมหาเศรษฐี ความเป็นแม่ ย่อมยังคงอยู่ในหัวใจของแม่ตลอดไป

แม่มีความห่วงใย และคอยเฝ้าดูความเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจของลูกทุกๆ คน ติดตามดูความเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษาในแต่ละระดับชั้น เพื่อให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เฝ้าติดตามดูความสำเร็จในด้านการงาน และการได้เห็นลูกๆ ทุกคนมีครอบครัวที่อบอุ่น ด้วยจิตใจที่จดจ่อทุกขณะที่ได้เห็นหน้าลูก

ความเป็นห่วงเป็นใยของแม่นี้จะจบลงตอนไหน? ตอบได้เต็มปากว่า จะจบลงได้จริงๆ นั้น ขอบอกว่าจบลงได้จริงๆ นะ ไม่ใช่จบลงที่ปากบอกว่า...? เมื่อจบการศึกษาแล้ว...มีการงานที่ดีแล้ว...มีครอบครัวที่อบอุ่นแล้ว...แม่จะหมดห่วงได้แล้ว...ไม่จริงอย่างแน่นอน

การที่แม่จะหมดห่วงได้จริงๆนั้น ก็ตอนที่ต้องตายจากกันไป ข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น แค่นี้ยังไม่พอ บางครั้งยังมีการห่วงไปถึงชีวิตหลังความตาย (ภพที่จะไป) อีกเสียด้วยซ้ำไป...

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราควรมาสร้างคุณงามความดีที่ยั่งยืน เพื่อมอบให้แก่แม่อันเป็นที่รัก เพื่อเป็นกุศลกันเถิด เริ่มที่การสร้าง "สติ" ให้เกิดขึ้นที่จิต เพราะสติแค่บอกว่าขอให้มีสติ มันไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุเพียงแค่นี้

คำว่า "สติ" นั้น หมายถึง การระลึก ซึ่งในหลายแห่ง อาจแปลว่า การระลึกรู้ ซึ่งก็หมายรวมเอาจิตที่เป็นผู้รู้เข้าไปด้วย เพราะ "สภาพเดิมของจิตเป็นธาตุรู้" ถ้าไม่มีจิตเป็นตัวยืนรู้ ก็ไม่อาจมีการระลึกรู้เกิดขึ้นมาได้อย่างแน่นอน การจะระลึกขึ้นมาได้นั้น ต้องระลึกรู้ได้ด้วยจิตของตนเท่านั้น ไม่มีใครช่วยระลึกให้เราได้ เป็นของๆ แต่ละบุคคล

การหมั่นระลึกรู้นั้น คือการสร้างสติให้เกิดขึ้น ใครจะมาช่วยเหลือ เพื่อสร้างแทนกันนั้นไม่ได้ อย่างมากที่สุดที่ทำได้ ก็คือ การคอยตักเตือนให้มีสติอยู่เสมอ หรือแนะนำให้รู้จักวิธีสร้างสติให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรจะมารู้จักวิธีการระลึกรู้หรือการสร้างสติอย่างถูกต้องตามหลักในมหาสติปัฏฐานสูตร เพราะการระลึกรู้ของบุคคลคนทั่วๆ ไปที่เรียกว่าสตินั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงสัญญาอารมณ์ชนิดหนึ่งเท่านั้น

เริ่มจากการหมั่นระลึกรู้ว่าสิ่งไหนที่เป็นกุศล (อารมณ์กุศล)
ควรทำให้เกิดขึ้น
และเจริญให้มากยิ่งๆ ขึ้น

สิ่งไหนเป็นอกุศล (อารมณ์อกุศล)
ควรละเสียให้ได้อย่างรวดเร็ว
และเพียรละอกุศลที่เคยมีอยู่ให้หมดไป


การจะทำให้สัญญาอารมณ์ กลายเป็นสติจนกระทั่งเป็นสัมมาสติได้นั้น ต้องเพียรพยายามระลึกรู้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ในที่ ๔ สถาน คือ ระลึกรู้อยู่ที่กาย เวทนา จิต และธรรม แบบไม่ขาดสาย ต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ หรือที่เรียกว่า มีสติเป็นชาคโร คือมีสติตื่นอยู่เสมอ

การหมั่นระลึกรู้ในขั้นแรกนั้น ควรเริ่มต้นที่ฐานกายก่อนเป็นอันดับแรก ตามแบบแผนในมหาสติปัฏฐาน เหตุก็คือ เป็นฐานที่ง่ายต่อผู้ปฏิบัติธรรมในขณะที่ยังเป็นผู้ใหม่อยู่ ที่จะระลึกรู้ได้อย่างชัดเจน เห็นไตรลักษณ์ได้ง่าย และสามารถเป็นฐานให้ระลึกรู้ได้ตลอดเวลาของการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง หรือนอน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสติปัฏฐาน หรือก็คือการระลึกรู้อยู่ที่ฐานได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเป็นสันตตินั่นเอง เมื่อคล่องแคล่วชำนาญได้ดีแล้ว การจะระลึกรู้อยู่ที่ฐานไหน ก็กระเทือนถึงกันหมด

การจะระลึกรู้อยู่ที่ฐานอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายให้ได้นั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม คอยหมั่นระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาของการปฏิบัติธรรมนั่นเอง คือต้องเพียรพยายามประคองจิต (สัมมาวายามะ) ไว้ที่ฐาน อย่าให้เผลอ เมื่อเพียรประคองจิตไว้ได้ไม่ให้เผลอ และไม่ปล่อยให้จิตส่งออกไปจากฐานได้สำเร็จ จิตก็จะรวมตัวลง จิตย่อมมีสติ (สัมมาสติ) สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย (สัมมาสมาธิ) ในขณะนั้น เรียกได้ว่า จิตได้สงัดจากกามและได้สงัดจากอกุศลกรรมต่างๆ พร้อมทั้งละสุข ละทุกข์ โสมนัสและโทมนัสแต่เก่าก่อนลงได้ ถึงจะเป็นตทังควิมุตติ เมื่อกระทำให้มากเจริญให้มากยิ่งขึ้น ก็จะกลายเป็นปหานวิมุตติได้ในที่สุด

พอมีแนวทางจากพระสูตรในมหาสติปัฏฐานให้ปฏิบัติตามได้ คือ หมั่นระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ที่เรียกว่าอานาปานสติ ซึ่งเป็นฐานกาย เป็นกายสังขารที่ไม่ได้เกิดจากความคิด เพื่อจะได้พิจารณาให้เข้าถึงกายในกายเป็นภายใน ที่เรียกว่านามกายนั่นเอง

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ชัดเจนว่า

"อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย "อานาปานสติ" นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำ "สติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์"

สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำ "โพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์"

โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชา "จิตหลุดพ้นทุกข์" ให้บริบูรณ์ ดังนี้"


พอที่จะสรุปได้ว่า การหมั่นฝึกสร้างสติให้เกิดที่จิตของตนนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ดีมีแต่ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เพราะคนที่ขาดสตินั้น มักสับสน วุ่นวายทำอะไรไปตามอำเภอใจ เนื่องมาด้วยอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นนำพาไป

แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกฝนในการสร้างสติให้เกิดขึ้นมาก่อน สร้างสติเป็น เห็นชัดอยู่ เมื่อกระทบอารมณ์เข้า ขณะที่จิตจะหวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดอยู่นั้น ให้รีบนำจิตมาระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องแทน แบบที่เคยทำได้สำเร็จมาก่อน จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว จิตใจย่อมมีสติสงบตัวลงราบคาบ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น

บุคคลเช่นนี้ย่อมยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวมเพียงถ่ายเดียว และเป็นที่พึ่งที่อาศัยให้กับคนรอบข้างและบุพการีอันเป็นที่รักได้อบอุ่นสบายใจอีกด้วย

"พวกเธอจงมีสติเพื่อยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด บุคคลที่มีจิตใจตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง" (คติธรรม)

น้อมถวายเป็นพุทธบูชา
และร่วมรำลึกถึงพระคุณแม่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 12 สิงหาคม 2561
Last Update : 12 สิงหาคม 2561 16:02:30 น.
Counter : 596 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์