เราไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แลฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า ฯ ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดเรายังพักอยู่ เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้นเรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แลฯ (โอฆตรณสูตรที่ ๑) ![]() "โยโว อานนฺท ธมฺโม จ เทสิโต วินโย จ ปญฺญตฺโต โส มม อจฺจเยน สตฺถา ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทน เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว" พระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว หมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่เราน้อมนำมาปฏิบัติบูชา ย่อมต้องเชื่อมโยงลงกันได้เป็นเนื้อเดียวกันหมด ไม่อาจขัดแย้งกันเองได้ ในปัจจุบันกลับมีการแอบอ้าง นำเอา เลือกเอา เฉพาะพระพุทธพจน์ที่ยังมีความกำกวมอยู่ มาตีความกันเองโดยมติที่ถูกใจ และชอบใจตนเอง โดยไม่นำพาว่าจะขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ในส่วนอื่นหรือไม่ กลับไม่ฉวยเอามาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระสูตรอื่นๆให้รอบคอบโดยดีเสียก่อน โดยความเป็นจริงแล้ว ตำราหรือที่เราเรียกว่า "ปิฏก" ที่มีอยู่นั้น ได้ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานหลายพันปี ย่อมต้องมีการขาดตก บกพร่อง ตกหล่น ยกเว้น ผิดพลาดไปได้เช่นกันตามแต่กาลสมัยนั้นๆ แค่เรื่อง "อัสสาสะ ปัสสาสะ" ที่มีมาในมหาสติปัฏฐานสี่ ท่านพระอรรถกถาจารย์แต่ละคณะยังรจนาไปคนละทิศคนละทาง บางคณะรจนาว่าหายใจออกก่อน บางคณะรจนาว่าต้องหายใจเข้าก่อน เพราะรจนาไปตามหลักฐานที่คณะตนเองมีอยู่ ถึงกับมีการกล่าวว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงแปลกันได้ตามชอบใจ ไม่ต้องเกรงว่าจะผิด" หรือที่เรียกว่า "พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง ตามมติที่ตนเองชอบใจ" พระพุทธพจน์ที่มีปัญหาเรื่อง "เราไม่พัก ไม่เพียร" ก็เช่นเดียวกัน ที่มีมาในโอฆตรณสูตรที่ ๑ มีความกำกวมขัดแย้งในพระสูตรเอง ได้มีผู้แอบอ้างนำมาตีความ เพื่อให้ลงกับมติตามใจชอบของตน เพื่อให้พุทธสาวกที่ยังหลงใหล ศรัทธา เสียเวลาเนิ่นช้าไปกับคำพูดที่ฟังสวยหรู ให้เกิดความรู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ควรเป็นเรื่องสบายๆ ง่ายๆ ไม่ต้องฝืนหรือบังคับใดๆทั้งสิ้น โดยสอนว่า "ความเพียร" ที่กล่าวถึงในโอฆตรณสูตรที่ ๑ นั้นเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" คือเป็นการปฏิบัติธรรมที่เหนื่อยเปล่า ภพภูมิที่ไปได้ก็แค่มนุษย์ เทวดาและพรหมทั่วๆไป ทั้งที่จริงแล้ว ในโอฆตรณสูตรที่ ๑ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ชัดว่า "เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้นเรายังลอยอยู่โดยแท้" (ข้ามโอฆะ) เมื่อนำ "พระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว" ฉวยเอามาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระสูตรอื่นๆให้ดีๆแล้ว จะเห็นได้ว่า เรื่อง "ความเพียร" นั้น สอดคล้องกัน และเชื่อมโยงลงกันได้ด้วยดี กับพระพุทธพจน์ในส่วนอื่นๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเรื่อง "ความเพียร" ไว้มากมายหลายแห่ง อาทิเช่น "วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร" ![]() "พวกเธอ(ภิกษุทั้งหลาย)จงเพ่งฌาน อย่าได้เกียจคร้าน นี่เป็นอนุสาสนีย์ของเรา(ตถาคต) ที่พร่ำสอนแก่พวกเธอ" คำว่า "อย่าได้เกียจคร้าน" ชัดๆว่า จงขยันหมั่นเพียรเพ่ง อย่าได้เกียจคร้านในการภาวนา(เพ่งฌาน) ![]() "เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ" (พุทธอุทานคาถาที่ ๑) ![]() ในทางพระพุทธศาสนานั้น คำว่า "พัก" คือ การ ละ หยุด วางลงชั่วคราว เป็นคำที่ใช้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกเสียส่วนใหญ่ และคำว่า "ไม่เพียร" นั้น จะไม่ค่อยพบเจอในพระสูตรอื่นใด เพราะการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นการปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา อาทิเช่น "การอดนอน ผ่อนอาหาร เพียรเพ่งภาวนา เดินจงกรม เพียรเพื่อเผากิเลส" ดังมีพระพุทธพจน์ในพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มากมาย ล้วนเชื่อมโยงลงกันได้หมด... แต่กลับมีผู้สอนโดยหลงเข้าใจผิด อรรถาธิบายคำว่า "ไม่เพียร" ที่มีมาในโอฆตรณสูตรที่ ๑ นั้น ไปตามมติของตนเอง โดยได้อ้างเอาเองว่า การทำ "ความเพียร" ในพระสูตรนั้นเป็นทางที่ผิด โดยอธิบายไว้ว่า "เมื่อพวกเราคิดถึงการเดินจงกรม เราก็เริ่มบังคับกาย เริ่มบังคับใจ เวลาเราคิดถึงเรื่องการนั่งสมาธิ เราก็บังคับกาย บังคับใจ มีแต่บังคับจนมัน นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่แสดงไตรลักษณ์...การทำความเพียรดังกล่าว เดินจงกรม นั่งภาวนา ไปได้แค่สุคติ มีตั้งแต่เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหมเท่านั้น" เป็นความเข้าใจผิดแบบผิดฝาผิดตัว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ เนื่องเพราะผู้สอนนั้นไม่รู้จัก และไม่เคยผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนามาอย่างจริงจัง ในแบบเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อบรรลุธรรมมาก่อน ผู้สอนนั้นเป็นเพียงมโนเอาเองตามตำราที่ได้เคยอ่านมา และนำมาคิดเองเออเองตามมติ จนมโนนั้นตกผลึกว่าควรเป็นเช่นนั้น ทำไมการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันจึงได้ นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ล่ะ? เพราะอาการที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ยังใหม่อยู่ในขั้นปรารภความเพียรพยายามระลึกรู้ เมื่อยังระลึกรู้ไม่ได้ จึงได้มีอาการดังกล่าว เปรียบเหมือนคนที่ฝึกหัดขี่จักรยานใหม่ๆ ทุกคนล้วน นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ทั้งนั้น ครั้นเมื่อเพียรพยายามจนกระทั่งเริ่มทรงตัวเป็น อาการนิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ย่อมค่อยจางหายไปเองตามลำดับความคล่องแคล่วชำนาญที่เกิดขึ้นนั้นแล เมื่อเพียรเพ่งภาวนาจนระลึกรู้ได้แล้ว จนกระทั่งจิตกับองค์ภาวนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ย่อมเข้าถึงพระไตรลักษณ์ รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ รู้ว่าที่นี่ละเอียดประณีต นี่สบาย นี่สงบ นี่วางเฉย นั่นวุ่นวาย นั่นสับสน นั่นยึดมั่นถือมั่นเอา นี่ใช่ นั่นไม่ใช่ เพราะระลึกรู้ได้แล้ว ส่วนผู้สอนคนนั้น กลับสอนเพื่อนำพวกที่ยังระลึกรู้ไม่ได้ ให้ไปดูกาย ดูจิต ดูรูปนามได้เลย สบายๆ ง่ายๆไม่ต้องมาเสียเวลากับการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ให้นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ทำให้ต้องลำบากเหนื่อยเปล่า โดยสอนว่า ความเพียรเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" พวกที่ยังระลึกรู้ไม่ได้ หลงเชื่อทำตาม ก็จะเห็นได้แต่เพียงกายสังขาร จิตสังขาร อุปาทานขันธ์ ที่ปรากฎออกมาหลอกล่อเอาเท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงธรรมอันละเอียดประณีต (เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ) อันเป็นธรรมอันเอกที่ผุดขึ้นมาให้ตนประจักษ์ชัดได้ อุปมาเหมือนคนที่มีกำลังยังไม่มากพอ เพราะยังสะสมกำลังมาไม่ถึง กลับถูกใช้ให้ไปทำงานที่ยากยิ่ง หนักหนาสาหัสเกินกำลังตน ก็น่าจะคาดเดาได้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง แทนที่จะโทษตนเองว่า "กำลังไม่ถึง" กลับไพล่ไปโทษงานที่ตนเอง "ทำไม่เสร็จ" ว่าเป็นงานที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง แล้วจะทำอย่างไรล่ะ "เราไม่พัก มีหรือเราไม่เพียร" แบบถูกฝาถูกตัว แบบไม่มโนเอาเอง ตรงตามคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว พระพุทธองค์ทรงเน้นให้พระสาวกปรารภเรื่อง ความเพียร เพราะความเพียรเป็นองค์ธรรมอันสำคัญยิ่งในทางพระพุทธศาสนา ทรงแสดงไว้ใน "อริยสัจสี่" หรือที่เรียกว่า "อริยมรรคมีองค์แปด" หรือ อีกชื่อที่เรียกว่า "มหาสติปัฏฐานสี่" (อานาปานสติ) อันเป็นทางดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์ สมาธิ ใน อริยมรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ "สัมมาวายามะ" ความเพียร เพียรละอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรสร้างกุศลธรรมที่เกิดแล้วให้ยิ่งขึ้นไป โดยประกอบด้วย "สัมมาสติ" คอยระลึกรู้อยู่ที่องค์ภาวนา เมื่อประคองจิตไม่ให้หลุดจากองค์ภาวนา อกุศลธรรมที่กล่าวมาย่อมต้องจืดจางไปเอง กุศลธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เดินจงกรม ที่ได้มานั้นย่อมต้องเจริญยิ่งๆขึ้นไป เมื่อระลึกรู้ได้แล้ว จิตย่อมรวมลงเป็นสมาธิ "สัมมาสมาธิ" เป็นธรรมอันเอก อ่อนควรแก่การงาน ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงดังนี้ มีพระพุทธพจน์รองรับไว้โดยไม่ต้องตีความใดๆเลย "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้" ![]() การรู้เห็นตามความจริง ดังกล่าว ก็คือตัว ปัญญาในทางพระพุทธศาสนา เป็นความสามารถของจิตในการปล่อยวางอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามาหลอกล่อ ครอบงำจิตของเราเอาไว้ ให้อุปกิเลสดังกล่าวออกไปจากจิต หรือที่เรียกว่า สลัดออก สลัดคืน เบื่อหน่าย คลายละ ปล่อยวางอารมณ์กิเลสต่างๆออกไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลาเลย หากปราศจากความเพียรเพ่งประกอบภาวนานุโยคเสียแล้ว จิตจะไปเอาพลังที่ไหนมาปล่อยวางอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิตของตนได้ ใช้เพียงมโนเอาหรือที่เรียกว่า"คิดเองเออเอง" ก็ย่อมไปฉวยเอามานะติดมาด้วยโดยไม่รู้ตัว ท้ายนี้ขอฝาก คำสอนของท่านพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตะเถระ ดังนี้ "หวังพระนิพพาน ด้วยความเพียรเท่าฝ่ามือ ลองคิดดู กิเลสเท่ามหาสมุทร แต่ความเพียรเท่าฝ่ามือ มันห่างไกลกันขนาดไหน คนสมัยนี้ เพียงใช้ฝ่ามือแตะมหาสมุทร ทำความเพียรเพียงเล็กน้อย แต่หมายมั่นปั้นมือว่าจะข้ามโลกสงสาร" ![]() พ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในสายของหลวงปู่มั่นทุกรูป ล้วนเพียรเพ่งภาวนาปฏิบัติธรรมกรรมฐานตามคำสอนของท่าน คือ "อดนอน ผ่อนอาหาร นั่งภาวนายันรุ่ง เดินจงกรมจนเท้าแตก" ไม่เกียจคร้าน ดังนี้ เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต เอกจรํ จิตดวงเดียวเที่ยวไป
![]() ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ, สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ผู้ใดสำรวมจิตซึ่งมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลๆได้ ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็นที่อาศัย นี้ไว้ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากการพันธนาการของมาร(คือกิเลส)ได้ เนื่องในวโรกาสดิถีวันวิสาขบูชา เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง เพื่อเป็นการรำลึกนึกถึงวันที่มีเรื่องราวสำคัญๆ คือ เป็นวันประสูติ เป็นวันตรัสรูู้ และเป็นวันปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เราชาวพุทธพึงต้องจดจำนำมาพิจารณา เพื่อปฏิบัติบูชาธรรมตามสมควรแก่ธรรมในกาลอันควร โดยเฉพาะในข้อที่ว่า พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้นั้น เป็นหัวข้อธรรมที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบว่า พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้เรื่องอะไร? เมื่อได้ศึกษาพระธรรมตามพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมเข้าใจและรู้ว่าพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ "สัจธรรม" เป็นธรรมนำไปสู่ความจริงแท้ ที่เรียกว่า "อริยสัจ ๔" คือ สัจธรรมความจริงแท้ที่นำไปสู่ความเป็นอริยบุคคล ๔ ประการ มีดังนี้คือ ๑.ทุกข์ ๒.สมุทัย ๓.นิโรธ ๔.มรรค กล่าวคือ ทุกข์ พึงกำหนดรู้(ปริญฺเญยฺยํ) สมุทัย รู้แล้วพึงละ(ปหาตพฺพํ) นิโรธ พึงกระทำให้แจ้ง(สจฺฉิกาตพฺพํ) มรรค พึงเจริญให้มาก เจริญให้ยิ่งๆขึ้น(ภาเวตพฺพํ) ทั้งหมดนี้ข้อใหญ่ใจความสำคัญรวมลงที่ข้อ ๔ "อริยมรรค" คือ ทางปฏิบัติ(เดิน)ไปสู่ความเป็นอริยบุคคลที่จิตของตน ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว (พระพุทธพจน์) เพิ่อความรอบคอบโดยไม่ประมาท พึงนำข้อธรรมมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงว่าลงกันได้กับหัวใจพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "โอวาทปาฏิโมกข์" คือ ๑.ละชั่ว ๒.ทำความดี ๓.ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าทั้งหลาย ทั้ง ๓ ข้อที่ได้กล่าวมานี้ ล้วนเป็นเรื่องการปฏิบัติธรรมทาง "จิตของตน"(มรรค)ล้วนๆ ข้อที่ว่า มรรค พึงเจริญให้มาก เจริญให้ยิ่งๆขึ้นนั้น เป็นไปเพื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายนั่นเอง เพื่อให้จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง อันเป็นการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ที่เรียกว่า "อานาปานสติ" เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ (พระพุทธพจน์) เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เป็นเรื่องการปฏิบัติธรรมทาง "จิตของตน" มีทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว (พระพุทธพจน์) เราย่อมต้องศึกษาให้รู้จัก คำว่า "จิต" นั้น คืออะไร? มีสภาวะธรรมเช่นใด ขอยกพระพุทธพจน์ที่เป็นพระบาลีที่ได้ทรงตรัสไว้ชัดๆว่า ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ, สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ผู้ใดสำรวมจิตซึ่งมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลๆได้ ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็นที่อาศัย นี้ไว้ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากการพันธนาการของมาร(คือกิเลส)ได้ จากพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆทั้งสิ้น แต่เพื่อเป็นการพิจารณาให้รอบคอบ และเพื่อป้องกันความสับสนที่จะเกิดขึ้นในภายหลังในเรื่องของ"จิต" เนื่องจากจิตเองไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้ แต่มีรูปร่างกายเนื้อเป็นที่อยู่อาศัย(ถ้ำ) จิตผู้รู้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในทุกๆคน คนละดวง ส่วน "จิตมาร หรือ สังขารมาร" มีอยู่มากมายเป็นร้อยดวง (หลวงปู่สิม พุทธจาโร) จิตดังกล่าวนี้เราเรียกว่า "จิตสังขารหรืออาการของจิต" นั่นเอง ที่เราสามารถพูดได้ว่า ใครมี "จิตใจดีงาม หรือ จิตใจต่ำช้าเลวทราม"นั้น เกิดจากการเราที่ได้สังเกตเห็นอาการของจิต(จิตสังขาร) ที่แสดงออกมาให้เห็นทางกาย วาจา ใจ ประจักษ์ชัดด้วยอายตนะภายในของตน แล้วจะทำอย่างไรล่ะ? จึงจะสำรวมจิตที่มีดวงเดียว เที่ยวไปสู่ทีไกล เปลี่ยนแปรเป็นไปตามอารมณ์ที่มากระทบ อารมณ์ที่เป็นกุศลก็เป็นกุศลจิต อารมณ์ที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศลจิต หรืออัพยากฤตคือจิตยังไม่รู้จักอารมณ์นั้นๆ จึงรู้สึกเฉยๆ ที่เรียกเฉยโง่อยู่ เมื่อพิจารณาตามข้อธรรมที่มีมาใน อริยมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธองค์ทรงยกให้ "สัมมาสมาธิ" เป็นใหญ่ แวดล้อมด้วยมรรคอีก ๗ องค์ และมรรคทั้ง ๗ ที่แวดล้อม "สัมมาสมาธิ" อยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงยกให้ "สัมมาทิฐิ" เป็นประธาน (มหาจัตตารีสกสูตร) การปฏิบัติธรรมกรรมฐานใน "สัมมาสมาธิ" หรือที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา คือการฝึกฝนอบรมสำรวมจิตให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากการพันธนาการของมาร(คือกิเลส) นั่นเอง เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต จิตประภัสสรผ่องใส แต่เศร้าหมองไปเพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจร
![]() ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นอย่างมาก มักทำให้จิตใจของผู้ที่ไม่ได้รับการอบรมฝึกฝนจิตด้วยการปฏิบัติบูชาภาวนามยปัญญา ขาดสติ จิตไม่สงบตั้งมั่น หวั่นไหว เศร้าหมอง ร้อนรน ไปตามอากาศที่ร้อนอบอ้าว ที่เป็นไปตามวาระของมัน เมื่อพิจารณาพระบาลีที่มีมาในพระพุทธพจน์ข้างต้นโดยรอบคอบแล้ว เราจะเห็นได้ว่าความเศร้าหมองร้อนรนหวั่นไหวไม่สบายกายไม่สบายใจ ที่เกิดขึ้นมาในภายหลังนั้น สืบเนื่องจากมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามา โดยที่ก่อนหน้านั้น จิตของเรามีความประภัสสรผ่องใสอยู่ก่อน เมื่อพูดถึงจิตประภัสสรผ่องใส นักปฏิบัติธรรมอาจมีข้อกังขาว่า "จิตประภัสสรผ่องใสอยู่แล้ว ปล่อยให้กิเลสเข้ามาได้อย่างไร" โดยลืมพิจารณาไปว่า "อุปกิเลสหรือแขกนั้น" เป็นกิเลสที่เราได้เคยเชื้อเชิญเจ้ากิเลสเหล่านั้นไว้ก่อนนานมาแล้ว จนกลายเป็น "สัญญาอารมณ์" จึงเรียกได้ว่าเป็น "แขก" ของเรา เมื่อเป็นแขกที่ได้รับเชิญมาก่อนหน้านานมาแล้ว นานวันที่ได้เข้ามานอนเนื่องอยู่ ณ ภายในจิตใจของตน จนกลายเป็นอุปกิเลสของเรา ไม่ใช่กิเลสทั่วๆไป อุปกิเลสนั้นจึงพร้อมที่จะปรากฏขึ้นมา สร้างความไม่สงบ หวั่นไหว เศร้าหมองขึ้นแก่จิตของตนได้ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ความประภัสสรผ่องใสของจิตที่ยังไม่ได้ความบริสุทธิ์หมดจดจากอุปกิเลสที่เป็นแขกนั้น ความประภัสสรผ่องใสของจิตที่มีอยู่ ย่อมยังจะไม่สงบ หวั่นไหว เศร้าหมองลงได้ทุกๆเมื่อ เมื่อมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามา เพราะยังขาดสติกำกับ สติไม่มีกำลังพอที่จะช่วยยับยั้งอุปกิเลส หรือแขกจรเหล่านั้น ไม่ให้เข้ามาครอบงำ เพราะยังขาดการฝึกฝนอบรมปฏิบัติบูชาภาวนามยปัญญาอย่างจริงจัง แล้วทุกท่านพร้อมหรือยังที่จะเริ่มลงมือฝึกฝนอบรมปฏิบัติบูชาภาวนามยปัญญา เพื่อให้จิตของตนมีความประภัสสรผ่องใสบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
![]() สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อกล่าวถึงศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมทราบกันดีว่าย่นย่อมาจากอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักให้สำคัญกับการพยายามที่จะรักษาศีลให้ได้ โดยใช้ความตั้งใจพยายามรักษา การคอยระวังแบบที่ว่ามานั้น เหมือนข้าวคอยฝน ซึ่งบอกไม่ได้ว่าฝนจะตกเมื่อไหร่ การรักษาศีลโดยการสร้างสติ จากการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นสติปัฏฐาน ๔ ที่เกิดจากการภาวนา ย่อมระลึกรู้ได้รวดเร็วกว่าการคอยระวังตั้งใจให้มีการรักษาศีล การมีสติจากการทำสมาธิกรรมฐานภาวนา "ศีลจะคอยรักษาบุคคล" นั้น พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา ทรงตรัสยืนยันหนักแน่นว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย" แสดงว่า พระพุทธองค์ทรงมิได้ยกเว้นให้กับพระภิกษุสงฆ์อันเป็นสาวกของพระพุทธองค์เลย เพราะบุคคลที่มีจิตใจเป็นสมาธิ มีสติสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง อะไรเล่าที่เรียกว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า คือการรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้คือ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละเหตุแห่งทุกข์นั้น มรรค ต้องเจริญ ต้องทำให้เกิดขึ้น นิโรธ ทำให้แจ้งในการดับทุกข์ เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต เพราะจิตไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
![]() จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลาย อันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง เพราะจิตไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ การที่จิตไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง คือ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักละเหตุแห่งทุกข์ ไม่จักทางที่ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ไม่รู้จักการดับทุกข์ การที่จิตไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ย่อมทำให้จิตใจของบุคคลนั้นมีอวิชชาครอบงำอยู่ จึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนานนับไม่ถ้วน ด้วยความเขลา เพราะไม่รู้จักการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางอันเอก เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อออกจากทุกข์ การเวียนว่ายตายเกิดนั้น เป็นการเวียนว่ายของจิตของแต่ละบุคคล หาใช่รูปร่างกายทั้งหลายไม่ จิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมสมาธิกรรมฐานภาวนา(ภาวนามยปัญญา) ย่อมรู้จักกำหนดรู้ทุกข์ รู้จักการละเหตุแห่งทุกข์ รู้จักการปฏิบัติตามอริยมรรค ๘ เพื่อให้จิตมีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ รู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมรู้จักวิธีดับทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ได้ เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต
|
ในความฝันของใครสักคน
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog |
|||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |