เราไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แลฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า ฯ

ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดเรายังพักอยู่ เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้
เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้นเรายังลอยอยู่โดยแท้

ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แลฯ


(โอฆตรณสูตรที่ ๑)




"โยโว อานนฺท ธมฺโม จ เทสิโต วินโย จ ปญฺญตฺโต โส มม อจฺจเยน สตฺถา

ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย
ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทน เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว"


พระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว หมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่เราน้อมนำมาปฏิบัติบูชา ย่อมต้องเชื่อมโยงลงกันได้เป็นเนื้อเดียวกันหมด ไม่อาจขัดแย้งกันเองได้

ในปัจจุบันกลับมีการแอบอ้าง นำเอา เลือกเอา เฉพาะพระพุทธพจน์ที่ยังมีความกำกวมอยู่ มาตีความกันเองโดยมติที่ถูกใจ และชอบใจตนเอง โดยไม่นำพาว่าจะขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ในส่วนอื่นหรือไม่ กลับไม่ฉวยเอามาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระสูตรอื่นๆให้รอบคอบโดยดีเสียก่อน

โดยความเป็นจริงแล้ว ตำราหรือที่เราเรียกว่า "ปิฏก" ที่มีอยู่นั้น ได้ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานหลายพันปี ย่อมต้องมีการขาดตก บกพร่อง ตกหล่น ยกเว้น ผิดพลาดไปได้เช่นกันตามแต่กาลสมัยนั้นๆ

แค่เรื่อง "อัสสาสะ ปัสสาสะ" ที่มีมาในมหาสติปัฏฐานสี่ ท่านพระอรรถกถาจารย์แต่ละคณะยังรจนาไปคนละทิศคนละทาง บางคณะรจนาว่าหายใจออกก่อน บางคณะรจนาว่าต้องหายใจเข้าก่อน เพราะรจนาไปตามหลักฐานที่คณะตนเองมีอยู่ ถึงกับมีการกล่าวว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงแปลกันได้ตามชอบใจ ไม่ต้องเกรงว่าจะผิด" หรือที่เรียกว่า "พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง ตามมติที่ตนเองชอบใจ"

พระพุทธพจน์ที่มีปัญหาเรื่อง "เราไม่พัก ไม่เพียร" ก็เช่นเดียวกัน ที่มีมาในโอฆตรณสูตรที่ ๑ มีความกำกวมขัดแย้งในพระสูตรเอง ได้มีผู้แอบอ้างนำมาตีความ เพื่อให้ลงกับมติตามใจชอบของตน

เพื่อให้พุทธสาวกที่ยังหลงใหล ศรัทธา เสียเวลาเนิ่นช้าไปกับคำพูดที่ฟังสวยหรู ให้เกิดความรู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ควรเป็นเรื่องสบายๆ ง่ายๆ ไม่ต้องฝืนหรือบังคับใดๆทั้งสิ้น โดยสอนว่า "ความเพียร" ที่กล่าวถึงในโอฆตรณสูตรที่ ๑ นั้นเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" คือเป็นการปฏิบัติธรรมที่เหนื่อยเปล่า ภพภูมิที่ไปได้ก็แค่มนุษย์ เทวดาและพรหมทั่วๆไป

ทั้งที่จริงแล้ว ในโอฆตรณสูตรที่ ๑ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ชัดว่า
"เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้นเรายังลอยอยู่โดยแท้" (ข้ามโอฆะ)

เมื่อนำ "พระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว" ฉวยเอามาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระสูตรอื่นๆให้ดีๆแล้ว จะเห็นได้ว่า เรื่อง "ความเพียร" นั้น สอดคล้องกัน และเชื่อมโยงลงกันได้ด้วยดี กับพระพุทธพจน์ในส่วนอื่นๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเรื่อง "ความเพียร" ไว้มากมายหลายแห่ง อาทิเช่น

"วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ
บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร"





"พวกเธอ(ภิกษุทั้งหลาย)จงเพ่งฌาน อย่าได้เกียจคร้าน
นี่เป็นอนุสาสนีย์ของเรา(ตถาคต) ที่พร่ำสอนแก่พวกเธอ"

คำว่า "อย่าได้เกียจคร้าน" ชัดๆว่า จงขยันหมั่นเพียรเพ่ง
อย่าได้เกียจคร้านในการภาวนา(เพ่งฌาน)





"เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ"

(พุทธอุทานคาถาที่ ๑)




ในทางพระพุทธศาสนานั้น คำว่า "พัก" คือ การ ละ หยุด วางลงชั่วคราว เป็นคำที่ใช้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกเสียส่วนใหญ่ และคำว่า "ไม่เพียร" นั้น จะไม่ค่อยพบเจอในพระสูตรอื่นใด

เพราะการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นการปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา อาทิเช่น "การอดนอน ผ่อนอาหาร เพียรเพ่งภาวนา เดินจงกรม เพียรเพื่อเผากิเลส" ดังมีพระพุทธพจน์ในพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มากมาย ล้วนเชื่อมโยงลงกันได้หมด...

แต่กลับมีผู้สอนโดยหลงเข้าใจผิด อรรถาธิบายคำว่า "ไม่เพียร" ที่มีมาในโอฆตรณสูตรที่ ๑ นั้น ไปตามมติของตนเอง โดยได้อ้างเอาเองว่า การทำ "ความเพียร" ในพระสูตรนั้นเป็นทางที่ผิด โดยอธิบายไว้ว่า

"เมื่อพวกเราคิดถึงการเดินจงกรม เราก็เริ่มบังคับกาย เริ่มบังคับใจ เวลาเราคิดถึงเรื่องการนั่งสมาธิ เราก็บังคับกาย บังคับใจ มีแต่บังคับจนมัน นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่แสดงไตรลักษณ์...การทำความเพียรดังกล่าว เดินจงกรม นั่งภาวนา ไปได้แค่สุคติ มีตั้งแต่เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหมเท่านั้น"

เป็นความเข้าใจผิดแบบผิดฝาผิดตัว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ เนื่องเพราะผู้สอนนั้นไม่รู้จัก และไม่เคยผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนามาอย่างจริงจัง ในแบบเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อบรรลุธรรมมาก่อน ผู้สอนนั้นเป็นเพียงมโนเอาเองตามตำราที่ได้เคยอ่านมา และนำมาคิดเองเออเองตามมติ จนมโนนั้นตกผลึกว่าควรเป็นเช่นนั้น


ทำไมการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามันจึงได้ นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ล่ะ?
เพราะอาการที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ยังใหม่อยู่ในขั้นปรารภความเพียรพยายามระลึกรู้ เมื่อยังระลึกรู้ไม่ได้ จึงได้มีอาการดังกล่าว

เปรียบเหมือนคนที่ฝึกหัดขี่จักรยานใหม่ๆ ทุกคนล้วน นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ทั้งนั้น ครั้นเมื่อเพียรพยายามจนกระทั่งเริ่มทรงตัวเป็น อาการนิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ย่อมค่อยจางหายไปเองตามลำดับความคล่องแคล่วชำนาญที่เกิดขึ้นนั้นแล

เมื่อเพียรเพ่งภาวนาจนระลึกรู้ได้แล้ว จนกระทั่งจิตกับองค์ภาวนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ย่อมเข้าถึงพระไตรลักษณ์ รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ รู้ว่าที่นี่ละเอียดประณีต นี่สบาย นี่สงบ นี่วางเฉย นั่นวุ่นวาย นั่นสับสน นั่นยึดมั่นถือมั่นเอา นี่ใช่ นั่นไม่ใช่ เพราะระลึกรู้ได้แล้ว



ส่วนผู้สอนคนนั้น กลับสอนเพื่อนำพวกที่ยังระลึกรู้ไม่ได้ ให้ไปดูกาย ดูจิต ดูรูปนามได้เลย สบายๆ ง่ายๆไม่ต้องมาเสียเวลากับการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ให้นิ่งๆ แข็งๆ ทื่อๆ ทำให้ต้องลำบากเหนื่อยเปล่า

โดยสอนว่า ความเพียรเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" พวกที่ยังระลึกรู้ไม่ได้ หลงเชื่อทำตาม ก็จะเห็นได้แต่เพียงกายสังขาร จิตสังขาร อุปาทานขันธ์ ที่ปรากฎออกมาหลอกล่อเอาเท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงธรรมอันละเอียดประณีต (เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ) อันเป็นธรรมอันเอกที่ผุดขึ้นมาให้ตนประจักษ์ชัดได้

อุปมาเหมือนคนที่มีกำลังยังไม่มากพอ เพราะยังสะสมกำลังมาไม่ถึง กลับถูกใช้ให้ไปทำงานที่ยากยิ่ง หนักหนาสาหัสเกินกำลังตน ก็น่าจะคาดเดาได้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง แทนที่จะโทษตนเองว่า "กำลังไม่ถึง" กลับไพล่ไปโทษงานที่ตนเอง "ทำไม่เสร็จ" ว่าเป็นงานที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง


แล้วจะทำอย่างไรล่ะ "เราไม่พัก มีหรือเราไม่เพียร" แบบถูกฝาถูกตัว แบบไม่มโนเอาเอง ตรงตามคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

พระพุทธองค์ทรงเน้นให้พระสาวกปรารภเรื่อง ความเพียร เพราะความเพียรเป็นองค์ธรรมอันสำคัญยิ่งในทางพระพุทธศาสนา ทรงแสดงไว้ใน "อริยสัจสี่" หรือที่เรียกว่า "อริยมรรคมีองค์แปด" หรือ อีกชื่อที่เรียกว่า "มหาสติปัฏฐานสี่" (อานาปานสติ) อันเป็นทางดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์

สมาธิ ใน อริยมรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

"สัมมาวายามะ" ความเพียร
เพียรละอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด
เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดแล้วให้หมดไป
เพียรสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
เพียรสร้างกุศลธรรมที่เกิดแล้วให้ยิ่งขึ้นไป

โดยประกอบด้วย "สัมมาสติ" คอยระลึกรู้อยู่ที่องค์ภาวนา เมื่อประคองจิตไม่ให้หลุดจากองค์ภาวนา อกุศลธรรมที่กล่าวมาย่อมต้องจืดจางไปเอง กุศลธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เดินจงกรม ที่ได้มานั้นย่อมต้องเจริญยิ่งๆขึ้นไป

เมื่อระลึกรู้ได้แล้ว จิตย่อมรวมลงเป็นสมาธิ "สัมมาสมาธิ" เป็นธรรมอันเอก อ่อนควรแก่การงาน ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงดังนี้

มีพระพุทธพจน์รองรับไว้โดยไม่ต้องตีความใดๆเลย

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"




การรู้เห็นตามความจริง ดังกล่าว ก็คือตัว ปัญญาในทางพระพุทธศาสนา เป็นความสามารถของจิตในการปล่อยวางอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามาหลอกล่อ ครอบงำจิตของเราเอาไว้ ให้อุปกิเลสดังกล่าวออกไปจากจิต หรือที่เรียกว่า สลัดออก สลัดคืน เบื่อหน่าย คลายละ ปล่อยวางอารมณ์กิเลสต่างๆออกไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลาเลย

หากปราศจากความเพียรเพ่งประกอบภาวนานุโยคเสียแล้ว จิตจะไปเอาพลังที่ไหนมาปล่อยวางอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิตของตนได้ ใช้เพียงมโนเอาหรือที่เรียกว่า"คิดเองเออเอง" ก็ย่อมไปฉวยเอามานะติดมาด้วยโดยไม่รู้ตัว

ท้ายนี้ขอฝาก คำสอนของท่านพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตะเถระ ดังนี้

"หวังพระนิพพาน ด้วยความเพียรเท่าฝ่ามือ
ลองคิดดู กิเลสเท่ามหาสมุทร
แต่ความเพียรเท่าฝ่ามือ มันห่างไกลกันขนาดไหน

คนสมัยนี้ เพียงใช้ฝ่ามือแตะมหาสมุทร
ทำความเพียรเพียงเล็กน้อย
แต่หมายมั่นปั้นมือว่าจะข้ามโลกสงสาร"




พ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในสายของหลวงปู่มั่นทุกรูป ล้วนเพียรเพ่งภาวนาปฏิบัติธรรมกรรมฐานตามคำสอนของท่าน คือ "อดนอน ผ่อนอาหาร นั่งภาวนายันรุ่ง เดินจงกรมจนเท้าแตก" ไม่เกียจคร้าน ดังนี้



เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 18 มิถุนายน 2557
Last Update : 20 มกราคม 2558 7:45:35 น.
Counter : 2781 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์