มาค้นหาเพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ให้ถูกที่ถูกทางกันเถอะ (จบ)
มาค้นหาเพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ให้ถูกที่ถูกทาง (ต่อ) กันเถอะ (ตอนแรก) (ตอนสอง)
ถูกทางอย่างไรหละ? ก็ทางเดินของจิตไปสู่ความเป็นอริยะบุคล (โลกุตตรจิต) นั่นไง หรือเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อพูดถึงถูกทาง ทุกคนย่อมรู้ดีด้วยกันทั้งสิ้นว่า ต้องทางนี้เท่านั้น เป็นทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย คืออริยมรรคมีองค์ ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยสัจ ๔ หลายคนคงจะงงว่า สัตว์มาเกี่ยวข้องอะไรด้วยหละ? คำว่าสัตว์หมายถึง จิตที่ติดข้องอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายนั่นเอง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า "โลกคือหมู่สัตว์ที่มีอวิชชานำพาไปในที่ต่างๆ" อวิชชานำพาไป เพราะจิตมีอวิชชาครอบงำอยู่นั่นเอง เมื่อกล่าวถึงเส้นทางนำพาไปสู่ความพ้นทุกข์นั้น มักมีตำราอาจารย์ต่างๆ ที่ชี้นำไปคนละทิศคนละทาง บ้างว่าต้องมีสัมมาทิฐินำ บ้างให้รู้ทันกายใจก็พอ บ้างก็ว่าต้องวิปัสสนา (การรู้เห็นอย่างวิเศษ) เท่านั้น ฯลฯ มีมากมายตามมติของตนเองที่คิดว่าถูกต้อง ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ผิดตรงไหนเลย ถ้าได้ปฏิบัติตามคำสอนเหล่านั้น เพราะสามารถช่วยให้จิตใจของตนพัฒนาได้ตามกำลังคำสอนเหล่านั้น ที่ให้รู้จักสังวรอินทรีย์ของตน ที่ก่อนหน้านั้นตนเองก็ไม่เคยสนใจมาก่อนเลย พอทำตามนั้น ก็เหมือนกับตนเองที่กำลังแบกของหนักอยู่ และได้วางของที่หนักนั้นลง ทำให้รู้สึกเบากายเบาใจไปได้ในชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็กลับมาแบกต่อโดยไม่รู้ตัว และย่อมให้ผลเป็นที่น่าพอใจได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่รู้จักวิธีละวางภาระที่ถูกต้อง การที่จะพัฒนาคุณภาพของจิตให้มีคุณภาพยิ่งๆขึ้นไปได้ หรือเรียกว่าอธิจิตสิกขานั้น ต้องมีแบบแผนที่ควรต้องเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อเป็นการเสริมสร้างจิตให้มีกำลังสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายให้ได้ก่อน เพราะอะไร? เพราะจิตที่สับสนวุ่นวาย กวัดแกว่ง เปลี่ยนแปลง แส่ส่ายอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดนั้น ย่อมเป็นเป็นจิตที่ขาดคุณภาพไม่เป็นสมาธิ แข็ง กระด้าง คุ้นชินกับอารมณ์ ไม่ควรแก่การงานใดๆทั้งสิ้น การที่จิตจะมีสัมมาทิฐิ รู้ทัน หรือเกิดวิปัสสนาขึ้นมาได้นั้น ย่อมต้องมีพื้นฐานจากการฝึกฝนอบรมจิตให้สำเร็จมาก่อนแล้วเท่านั้น สิ่งดังกล่าวเหล่านั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีพื้นฐานการพัฒนาคุณภาพทางจิตมาก่อน ดังมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้วย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงดังนี้" และมีพระพุทธพจน์ที่เชื่อมโยงกันรับรองไว้ว่า การรู้เห็นตามความเป็นจริงนั้นก็คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ คือวิปัสสนานั่นเอง การจะรู้ทันอะไรได้นั้น จิตจะต้องมีกำลังสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิเท่านั้น จึงจะรู้ทันจริงๆ ไม่ใช่การรู้ทันแบบที่ชอบสอนกันอยู่ คือรู้ทันเมื่อเกิดการรับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เข้ามาปรุงไปเรียบร้อยแล้ว แบบนั้นไม่เรียกว่ารู้ทันอารมณ์ เรียกว่ารู้ตามอารมณ์ที่เมื่อเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วนั่นเอง ได้มีการสอนในปัจจุบันว่า "อย่าเพ่ง จะทำให้เครียด ปล่อยให้เผลอ แล้วสติตัวจริงจะเกิดขึ้นมาเอง" ซึ่งเป็นการสอนที่ขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วอย่างยิ่ง ซึ่งฟังดูแล้ว ก็น่าเชื่อถืออยู่เหมือนกันนะ เพราะปุถุชนคนทั่วไปล้วนกิเลสหยาบบาปหนาทั้งสิ้น เมื่อต้องมาฝืนตนเอง ในสิ่งที่ขัดแย้งกับกิเลสความต้องการของตนเองที่เคยชินหรือคุ้นชินอยู่ก่อนแล้ว ที่ต้องมาทำความเพียรเพ่ง ก็ย่อมต้องมีการเร่งรัด เพื่อเอาแต่ผลด้วยความอยากของตนโดยไม่รู้ตัวว่า นั่นหนะเป็นกับดักของกิเลสตัวร้ายที่คอยทำลายความเพียรเพ่งให้ล่มสลาย โดยไม่รู้ว่าเกิดจากความอยากของตนเองแท้ๆ ทำให้เยาวชนคนรุ่นที่ได้รับคำสอนผิดๆดังกล่าวนี้ เกิดความกลัวความเพียรเพ่งที่เป็นพื้นฐานของการฝึกฝนอบรมจิตนั่นเอง การ "เพ่ง" ตามหลักในพระพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ทรงหมายถึง "การรู้อะไรอย่างต่อเนื่องเนืองๆอยู่ตามหน้าที่" มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพระอานนท์ดังนี้ พ. ดูกรอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ ฯลฯ ซึ่งอมตะ คือความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ถือมั่น ดูกรอานนท์ ด้วยประการนี้แล ฯลฯ เป็นอันเราแสดงปฏิปทาเครื่องข้ามพ้นโอฆะ คือวิโมกข์ของพระอริยะแล้ว ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ (อ้างอิง อาเนญชสัปปายสูตร) เมื่อจิตหลุดพ้นเพราะความไม่ถือมั่นได้แล้ว จนกลายเป็นธรรมธาตุ ใครจะเรียกว่าอะไรก็ตามสบาย ขอให้สื่อสารให้เข้าใจกันก็พอ จิต(ธรรมธาตุ) จะเขลาเบาปัญญาอีกทำไม ในเมื่อจิต(ธรรมธาตุ)ละความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว จิต(ธรรมธาตุ) ของตนเมื่อหลุดพ้นดีแล้วเพราะมีปัญญา จะกลับมายึดมั่นถือมั่นในตนเอง(จิต)อีกไปทำไม? การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (เพ่งฌาน) ทำให้ไม่ประมาท ทำให้ไม่เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง ถ้าการเพ่งฌานแล้ว ทำให้เกิดความประมาท เกิดเดือดร้อนขึ้นมาในภายหลัง พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้พวกเธอ (ภิกษูทั้งหลาย) เพ่งฌานเพื่ออะไร? พระพุทธองค์ยังทรงย้ำนักย้ำหนาว่า "นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ" เพื่อให้เกิดสังคมคุณภาพออนไลน์ โปรดจงใช้ดุลยพินิจและทำความเข้าใจให้ดีว่ามีเหตุผลหรือไม่? โดยอย่าเพิ่งเชื่อ หรือปล่อยให้ความเป็นใหญ่ในการที่จะเชื่ออะไรนั้นไปให้กับใคร ไปง่ายๆ จงอ่านและพิจารณาด้วยดี แล้วลองนำไปสมาทานดูอย่างจริงจัง ไม่ใช่สมาทานด้วยความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ฯลฯ ถ้าเห็นว่าดีมีประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ผู้รู้ไม่ติเตียนแล้วค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต มาค้นหาเพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ให้ถูกที่ถูกทางกันเถอะ (ต่อ)
มาค้นหาเพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ให้ถูกที่ถูกทาง (ต่อ) กันเถอะ (อ่านตอนแรก)
ถูกที่น่ะ ที่ไหน? ถ้าไม่ใช่ที่กายอันยาววา หนาคืบ กว้างแค่ศอก ที่มีจิตครอบครองในอัตภาพนี้อยู่ (อุปาทินกสังขาร) เมื่อพูดถึงที่นี่หนะที่ไหน? หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งดีนักว่าทำไมหละ ต้องที่กายอันยาววา หนาคืบ กว้างแค่ศอก ที่มีจิตครอบครองในอัตภาพนี้ที่เรียกว่าอุปาทินกสังขาร เพราะถ้าเป็นอนุปาทินกสังขารแล้วล่ะก็ ย่อมฝึกฝนอบรมสั่งสอนอะไรไม่ได้เลยใช่หรือไม่? เนื่องเพราะเป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่งด้วยมหาภูตรูปที่ไม่มีจิตอันเป็นธาตุรู้ครองครองอยู่นั่นเอง จึงรู้ จำ นึกคิดอะไรไม่ได้เลย และพระพุทธองค์คงไม่มาเสียเวลาไปเปล่าๆ กับการสั่งสอนฝึกฝนอบรมสังขารที่ถูกปรุงแต่งขึ้นโดยไม่มีจิตครองเหล่านี้ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น ทรงเป็นผู้ฝึกฝนอบรมเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายโดยไม่มีใครยิ่งกว่า พระพุทธองค์ทรงฝึนฝนอบรมอะไร? เมื่อมาพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลที่ตริตรองตามความเป็นจริงได้ จะเห็๋นว่า ร่างกายอันยาววา หนาคืบ กว้างแค่ศอกนี้ เมื่อไม่มีจิตครองอยู่ก็ไม่ชีพ(ชีวิต) ก็คือซากศพดีๆนี่เอง ที่รอการเน่าเปื่อยไปตามกาลเท่านั้น ไม่สามารถรับรู้สึกถึงความเจ็บปวด โทมนัส โสมนัสใดๆทั้งสิ้นได้เลย คือไม่แจ้งในอารมณ์ต่างๆได้เลย สิ่งที่เกิดประจักษ์ขึ้นมาให้รู้เห็นได้ เข้าใจได้ เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ล้วนต้องมีจิตที่เป็นธาตุรู้ เข้ามาอาศัยยึดครองถือเอารวบรัดอยู่ในสกลกายนี้ ตามอำนาจของกิเลส กรรม วิบาก ที่ได้บันทึกลงไว้ที่จิตของตน ตามที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วนนั่นเอง ซึ่งเป็นอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ต่างๆ เมื่อจิตเข้ามายึดครองถือเอารูปร่างกายนี้เป็นของๆตนนั่นเอง จึงแสดงอาการออกมาถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เนื่องด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบจิต มีพระพุทธโอวาทที่ทรงตรัสไว้ในวันมาฆบูชา หรือที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์กล่าวไว้ดังนี้ ๑.ละอกุศลความชั่วช้าทั้งหลายให้หมดไป ๒.ยังกุศลความดีทั้งหลายให้เจริญยิ่งๆขึ้นมา ๓.ชำระจิตใจให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย พระพุทธโอวาทที่ทรงกล่าวมานั้น ล้วนทรงตรัสสั่งสอนให้ฝึกฝนอบรมจิตทั้งสิ้นใช่หรือไม่? คำสั่งสอนดังกล่าวนี้ ล้วนเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ที่ทรงได้อุบัติขึ้นมาในโลก เมื่อใครที่ยังคิดเองเออเองว่า จิตเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระนั้น ก็เพราะไปมองเห็นแต่เพียงอาการของจิตที่เป็นไปด้วยประการต่างๆ ตามอารมณ์กิเลสทั้งหลายทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ที่จิตของตนเข้าไปยึดมั่นถือเอาไว้ แล้วแสดงอาการต่างๆออกมาตามอารณ์กิเลสทั้งหลายเหล่านั้น ว่านั่นแหละคือสภาพธรรมของจิต ทั้งๆที่โดยแท้ที่จริงแล้ว นั่นเป็นเพียงอาการของจิตเท่านั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมต้องเห็นไปว่าจิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน ไปตามที่มีความเข้าใจว่าอย่างนั้น เนื่องเพราะจิตมีอวิชชาครอบงำอยู่ ย่อมรู้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง คือ ไปเห็นเอาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตน เป็นของๆตนอย่างเหนียวแน่นมั่นคง โดยถือเอา ไม่รู้สึกตัวได้เลย เพราะมีอวิชชาบิดบังอยู่นั่นเอง สรุปว่า เมื่อตั้งใจจะค้นหามรรคผลนิพพาน ที่ถูกที่ถูกทางแล้วล่ะก็ จงอย่าเที่ยวออกไปค้นหามรรคผลนิพพานที่ไกลตัวเองเลย มันไม่มีทางพบหรอก ต้องค้นที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่กายอันยาววา หนาคืบ กว้างแค่ศอก ที่มีจิตครอบครองในอัตภาพที่เป็นอยู่นี้ เริ่มด้วยการลงมือปฏิบัติสัมมาสมาธิ(สมาธิกรรมฐานภาวนา) ในอริยมรรคมีองค์๘ อย่างจริงจังด้วยความพากเพียร อย่าเพิ่งไปเชื่อใครหน้าไหนทั้งสิ้นว่าจะติดเพ่งเอา เพราะมีพระพุทธพจน์รับรองจากพระโอษฐ์ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนอานนท์ พวกเธอจงเพ่งฌาน อย่าเกียจคร้าน" เพื่อจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง โลกจักไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์ดังนี้... เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต มาค้นหาเพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ให้ถูกที่ถูกทางกันเถอะ
มาค้นหาเพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ให้ถูกที่ถูกทางกันเถอะ
ถูกที่น่ะ ที่ไหน? ถ้าไม่ใช่ที่กายอันยาววา หนาคืบ กว้างแค่ศอก ที่มีจิตครอบครองอัตภาพนี้อยู่ (อุปาทินกสังขาร) ถูกทางอย่างไรหละ? ก็ทางเดินของจิตไปสู่ความเป็นอริยบุคล (โลกุตตรจิต) นั่นไง หรือเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อกล่าวถึงมรรคผลนิพพานที่เป็นธรรมอันสูงสุดแล้ว มักเป็นที่ถกกันชนิดถึงพริกถึงขิงดุเดือดเลือดพล่านตามมติของตน เนื่องจากความรู้ที่ได้รับมานั้น มาจากแหล่งความรู้ที่ตนเองเชื่อถือและศรัทธานั่นเอง ถึงจะมาจากแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือมาก ไปสู่แหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือน้อยที่สุดก็ตามที แม้กระนั้น ก็ไม่มีใครยอมลงให้ใครในเรื่องเหล่านี้ เพราะมานะทิฐิที่มีในตนเองของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้เป็นความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติของตนเองเลย เพราะบุคคลที่ได้ผ่านประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติของตนเองมาแล้วนั้น มักไม่คิดจะตอบโต้หรือถกเถียงกับใครในเรื่องเหล่านี้ หรือให้ข้อเท็จจริงกับใครทั้งนั้น (ไม่อวด) เนื่องจากสิ่งที่ตนเองรู้เองเห็นเองมานั้น เป็นเรื่องยากที่อธิบายเป็นคำพูดหรือร้อยเรียงเป็นภาษาให้เข้าใจได้ง่ายๆ เพราะเป็นของที่รู้ได้โดยยาก เป็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้งเข้าถึงด้วยตรรกะได้ยาก ต้องลงมือปฏิบัติเพื่อเข้าถึงเท่านั้น และรู้ดีว่า การกล่าวตอบโต้ถกเถียงข้อข้องใจออกไปนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาได้เลย เปรียบเหมือนคนที่เคยได้รับประทานอาหารอร่อยที่สุดมาแล้ว ถึงจะได้รับประทานบ่อยๆ ครั้งก็จริง ก็ไม่สามารถบอกหรือบรรยายให้คนที่ไม่เคยได้รับประทานอาหารที่ว่ามานั้นเลยแม้สักครั้งเดียว ให้เข้าใจได้ถึงหรือเข้าไปถึงความรู้สึกอร่อยในรสชาดอาหารดังกล่าวที่ว่านั้นได้ แต่ถ้าเคยได้กลิ่นของอาหารดังกล่าวมาก่อนหน้านั้น ก็ยังพอจะเป็นการง่ายขึ้นมากในการอธิบายให้เข้าใจได้ ต่อให้บุคคลนั้นทรงภูมิปัญญาทางโลกที่เป็นเลิศ หรือมีความทรงจำดีขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะจินตนาการให้รู้ซึ้งถึงความรู้สึกอร่อยในรสชาดอาหารที่ว่านั้นได้ หรือในทางปฏิบัติก็จะกล่าวได้ว่า ไม่เคยได้สัมผัสถึง สภาวะธรรม อันประณีต สงบระงับ สันติ นั้น มาก่อนนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงมรรคผลนิพพานขึ้นมา ในตำรา ในคณะ ในประชุมชนไหนก็ตามแต่ ควรที่จะต้องนำมาพิจารณาให้รอบคอบ ตามหลักฐานในพระสูตรและวินัย ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วในเรื่องนี้ อย่าปล่อยให้ความเป็นใหญ่ในการที่จะเชื่ออะไรของตน ไปให้กับใครง่ายๆ ควรเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์ ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วในเรื่องเหล่านี้ เมื่อต้องการค้นหาพระนิพพานหรืออมตธรรม อันเป็นธรรมที่คงที่(อกุปปธรรม) ในครั้งเมื่อพระพุทธองค์จะทรงออกผนวช เพื่อค้นหาอมตธรรมหรือพระนิพพานนั้น เนื่องจากพระพุทธองค์ได้ทรงเห็นนิมิตที่มาแสดงให้เห็นถึง ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงเห็นเช่นนั้น ทรงปรารภกับพระองค์เองว่า ต้องมีสิ่งที่เป็นของแก้กัน คือ การไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย ในอัตภาพนี้อย่างแน่นอน พระพุทธองค์จึงทรงเริ่มต้นค้นหา ในอัตภาพร่างกายนี้ ที่มีจิตครองของพระพุทธองค์เองก่อน ใช่หรือไม่? ไม่ได้ออกไปเที่ยวค้นหาพระนิพพานหรืออมตธรรมจากที่ไหน ไกลออกไปจากอัตภาพร่างกายนี้เลย ส่วนวิธีการหรือทางที่จะดำเนินไปในการค้นหาเพื่อความหลุดพ้นนั้น ต้องมาว่ากันอีกทีในอันลำดับต่อไป ในอัตภาพร่างกายของพระพุทธองค์หรือบุคคลทั่วไปทุกคนนั้น ล้วนเป็นที่ประชุมของธาตุทั้ง ๖ อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และ วิญญาณธาตุ หรือ ธาตุรู้ ที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชา มาประสมรวมกันเข้า เป็น รูป-นาม อันเกิดจากกิเลส กรรม วิบาก ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ ใช่หรือไม่? ทั้งที่พระวรกายของพระพุทธองค์ ก็ไม่แตกต่างไปจากร่างกายของคนทั่วไปเลย ส่วนที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ระหว่างพระอริยบุคคล กับปุถุชนคนที่หนาด้วยกิเลสนั้น ที่ทำให้พระพุทธองค์ได้พระนามว่า "สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" คืออะไรหละ? พระวรกายของพระพุทธองค์? หรือ จิตของพระพุทธองค์ที่อาศัยอยู่ในพระวรกายนี้? ในเบื้องต้นนี้เป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า พระนิพพานนั้น อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ไม่ได้มาจากไหน ก็ที่ร่างกายอันยาววา หนาคืบ กว้างแค่ศอก เป็นที่ประชุมของมหาภูตรูป ๔ ที่มีจิตครองนั่นเอง รูปร่างกายที่มีที่เป็นอยู่ของทุกคนทุกตนนั้น ล้วนต้องมีจิตของตนเองครอบครองอยู่ จึงจะสั่งสอนฝึกฝนอบรมได้ ของใครของมันตามแต่กิเลส กรรม วิบาก ที่ได้สั่งสมผ่านมาในแต่ละภพแต่ละชาติอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน หรือเรียกว่า มีกิเลส กรรม วิบาก ที่สร้างสมมาของตน เป็นตัวผลักดันให้มาเกิดเป็นมนุษย์นั่นเอง เมื่อเข้าใจตามนี้แล้ว ก็ควรที่จะพิจารณาหลักเกณฑ์ให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปว่า พระนิพพานเข้าไปอาศัยอยู่ในรูป-นาม ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ ได้อย่างไร? ในเมื่อพระนิพพานเป็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น หาที่ตั้งมิได้ คือ ไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้ แต่พระนิพพานเป็นสภาวะธรรมหรือคุณลักษณะที่มีอยู่จริง เข้าถึงได้จริง แต่จับต้องเป็นตัวๆ มิได้ แบบที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า มีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่ของโคมลอยหลอกลวง หรือที่เรียกว่าติต่าง-คิดขึ้นมากันเอง สามารถสัมผัสและเข้าถึงได้จริง ด้วยการลงมือปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยสัจ ๔ มีพระพุทธพจน์ทรงตรัสรับรองไว้ว่า "ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ โลกจะไม่วางเว้นไปจากพระอรหันต์" จากพระโอวาทที่ทรงตรัสไว้ พอที่จะสรุปไว้ว่า อริยมรรค ๘ นั้นเป็นทางเดินของจิตไปสู่ความเป็นอริยะ เพราะพระพุทธองค์ไม่ทรงสั่งสอนรูปหรือมหาภูตรูปที่ไม่มีจิตครองแน่นอน เพราะสั่งสอนไม่ได้ เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เข้าใจอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีจิตที่เป็นธาตุรู้ จำ คิด นึกนั่นเอง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ชัดๆ พระพุทธองค์ทรงอุทานตอนตรัสรู้ใหม่ๆ เป็นปฐมพุทธพจน์ มีพระบาลีว่า "วิสงฺขารคตํ จิตตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา" แปลว่า "จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้วดังนี้" แสดงว่าจิตของพระพุทธองค์ทรงบรรลุพระนิพพานมาแล้ว ทรงรู้จักสภาวะพระนิพพานเป็นอย่างดี จึงได้นำสภาวะของพระนิพพาน ที่พระพุทธองค์ทรงบรรลุแล้วนั้น กลับมาสั่งสอนให้เป็นที่รู้ทั่วกันได้ แสดงความชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้นว่า ความแตกต่างระหว่างพระอริยบุคคล และ ปุถุชนคนธรรมดานั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิต ที่แตกต่างกันนั่นเอง จิตที่ได้เข้ามาที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ (ภพ) นี้ ของแต่ละบุคคลนั้น ย่อมมีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าได้สร้างสม สะสม บารมีธรรม (กิเลส กรรม วิบาก) กันมามากน้อยแค่ไหน เพียงใดนั่นเอง มรรคผลนิพพานนั้น ไม่ใช่เป็นพหิทธาธรรมา แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ณ ภายในจิตของตน ไม่ใช่เป็นธรรมที่ต้องออกค้นหาจากภายนอกร่างกายของตนอันมีจิตครองเลย ใช่หรือไม่? มักมีการสอนว่า มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง แต่โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องรองรับอยู่ก่อนเลย เป็นเพียงแต่สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมาเองได้เท่านั้น โดยบอกไม่ได้ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่รู้ เพราะไม่มีทั้งผู้เข้าถึง ผู้หลุดพ้น ผู้กระทำ ผู้รับผลของสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมานั้นเลย ทั้งๆ ที่พระนิพพานเป็นคุณลักษณะของอะไรสักอย่างที่ทำให้เกิดสภาวะธรรมนั้นขึ้นมาให้ปรากฏ เมื่อมีการสอนกันเช่นนี้ พระนิพพานจึงกลายเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระขาดเหตุผล ขาดความน่าเชื่อถือ เป็นเหมือนสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง เป็นการพูดที่เลือนลอยอย่างมาก มีพระพุทธพจน์ในพระสัลลัตถสูตร รับรองไว้ชัดเจนว่า ปุถุชนกับพระอริยสาวก แตกต่างกันที่ตรงไหน? (ธรรมส่วนที่น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น) [๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในชน ๒ จำพวกนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐานฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกายและเวทนาทางใจ ฯ อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่เสวยทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา นี้แลเป็นความแปลกกันระหว่าง ธีรชนผู้ฉลาด กับ ปุถุชน ธรรมส่วนที่น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น ผู้มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว เป็นพหูสูตเห็นแจ้งโลกนี้และโลกหน้าอยู่ ท่านย่อมไม่ถึงความขัดเคืองเพราะอนิฏฐารมณ์ อนึ่งเวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดีและไม่ยินร้าย อริยสาวกนั้น รู้ทางดำเนินอันปราศจากธุลีและหาความโศกมิได้ ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพรู้โดยชอบ ฯ เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต เมื่อไม่รู้จักจิตที่แท้จริง ย่อมเข้าไม่ถึงหัวใจพระพุทธศาสนา
วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพุทธศาสนาของพวกเราชาวพุทธ ได้เวียนบรรจบมาครบอีกรอบ ในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
"มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปุรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ในครั้งพุทธกาลได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๔ ประการด้วยกัน คือ ๑.พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกัน ยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย ๒.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ๓.พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ๔.และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ในครั้งกระนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ทรงตรัสเป็นพระคาถา รวม ๓ พระคาถาครึ่ง ดังนี้ คือ พระคาถาที่ ๑ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ พระคาถาที่ ๒ สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ พระคาถาที่ ๓ อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ครึ่งพระคาถา อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ สรุปความโดยย่อคือ ๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ละการกระทำความชั่ว(สมุทัย)ด้วยประการทั้งปวง การจะละอะไรให้ผลสำเร็จได้นั้น ต้องกระทำการละที่จิตของตนเองทั้งสิ้น อกุศลธรรม กรรมชั่วทั้งหลายล้วนเกิดจากจิตที่มีอวิชชาความทะยานอยาก(ตัณหา)อุปาทาน เที่ยวออกไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องราวต่างๆ(อารมณ์)ในโลกมาเป็นของๆตน เมื่อละชั่วได้แล้วต้อง... ๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ ต้องกระทำความดี(เจริญสติ)ให้มาก ให้ยิ่งๆขึ้น เพื่อยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม การจะกระทำความดี(เจริญสติ)ให้มาก ให้ยิ่งๆขึ้น ให้ถึงพร้อมได้นั้น เราต้องเจริญสติ สมาธิ ปัญญาที่ไหน ถ้าไม่ใช่เจริญสติ สมาธิ ปัญญาที่จิตของตน กรรมดีและกรรมชั่ว ล้วนเกิดขึ้นที่จิตของตน กรรมดีและกรรมชั่วทั้งหลายที่ตนได้กระทำลงไป จิตของตนต้องเป็นผู้รับผลของการกระทำกรรมดีและกรรมชั่วเหล่านั้น เมื่อเจริญสติได้แล้ว ๓.สจิตฺตปริโยทปนํ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ ชำระจิตของตนให้มีสติบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองด้วยกำลังสติ สมาธิ ปัญญา อุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ล้วนเกิดขึ้นที่จิตของตนในขณะที่เผลอสติ เหตุเพราะอวิชชา ตัณหาความทะยานอยาก อุปาทาน ณ ภายในจิตของตน เราจึงต้องเจริญสติให้มาก ให้ยิ่งๆขึ้น ให้ถึงพร้อม ด้วยการปฏิบัติสัมมาสมาธิเพื่อให้จิตมีกำลังสติ สมาธิ ปัญญาในการปล่อยวางอวิชชา ตัณหา อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในโลกออกไปจากจิตให้หมด จะเห็นได้ว่า คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในโอวาทปาฏิโมกข์ ณ วันมาฆฤกษ์ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนแต่เรื่องจิตกับอารมณ์เท่านั้น ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากนี้ พระบาลีที่ยกมาครึ่งพระคาถานั้น ก็แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ การให้จิตมีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า เรื่องจิตนั้นเป็นหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนา ถ้าขาดซึ่งการสั่งสอนเรื่องปฏิบัติฝึกฝนอบรม ชำระจิต ให้จิตมีสติบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายด้วยสัมมาสมาธิเสียแล้ว ศาสนาพุทธคงไม่แตกต่างไปจากศาสนาอื่นๆ ศาสนาอื่นๆ ก็สอนเรื่องศีลธรรม จริยธรรมทั่วๆไป ให้ละการทำเรื่องชั่วช้าทั้งหลาย กระทำแต่ความดีเช่นกัน ต่างกันที่ ในศาสนาอื่นไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ หรืออริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นทางเดินของจิตที่จะนำไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า(โลกุตตรจิต) เพราะอริยมรรคมีองค์ ๘หรือ อริยสัจ ๔นั้น มีเฉพาะแต่ในพระพุทธศาสนาของเราเท่านั้น ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติอริยมรรค ๘ โลกนี้จึงไม่ว่างเว้นไปจากพระอรหันต์ ในองค์แห่งอริยมรรค ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำในเรื่องการปฏิบัติทางจิต โดยมีสัมมาสมาธิเป็นใหญ่เป็นประธานแวดล้อมด้วยมรรคอีก ๗ องค์ และมรรคที่แวดล้อมทั้ง ๗ องค์นั้น มีสัมมาทิฐิเป็นใหญ่เป็นประธาน ดังปรากฏแสดงไว้ในมหาจัตตารีสกสูตร และยังมีพระสูตรอื่นๆ ที่ทรงแสดงเนื่องกันไว้ ดังมีพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่น(สัมมาสมาธิ)แล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง(สัมมาทิฐิ) ดังนี้" และพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกนี้ ก็ล้วนทรงสั่งสอนให้ชำระจิตให้มีสติบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย โดยให้ฝึกฝนอบรมจิตของตน(ไม่ใช่จิตของคนอื่น) ดังพระบาลีที่มีตรัสไว้ว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ การทำให้ "จิต" มีธรรมอันยิ่ง(อธิจิต เต) เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และมีพระพุทธพจน์กล่าวรับรองเรื่อง การชำระ "จิต" ไว้ใน "อธิจิตสิกขา เป็นไฉน?" ซึ่งความตรงกับ "สัมมาสมาธิ เป็นไฉน?" ดังนี้คือ อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน? (สัมมาสมาธิเป็นไฉน?) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกและวิจารสงบไป มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา (สัมมาสมาธิ) สรุป หัวใจพระพุทธศาสนา ก็คือ การปฏิบัติสัมมาสมาธิ ซึ่งต้องอาศัยความเพียร (สัมมาวายามะ) ประคองจิตให้ระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ (สัมมาสติ) จิตจึงจะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ย่อมเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ) ทำให้จิตมีพลังปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต (สัมมาสังกัปปะ) ทำให้ไม่กระทำความชั่ว ทำแต่ความดี (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) ครบอริยมรรคมีองค์ ๘ และครบตามพระโอวาทปาฏิโมกข์ เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต จิตเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ก่อนแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้า ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่ง ธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่ง ธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จึงปรากฏ ฯ นิพพานสูตรที่ ๓ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ^ พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงจิตเดิมแท้ หรือจิตพุทธะ มีอยู่ จิต คือ ธาตุรู้ ส่วนอารมณ์นั้นเป็นของใหม่ที่เข้ามาปรุงแต่งจิต ทำให้จิตเสียสภาพเดิม จิตเป็นธรรมชาติที่มีมาอยู่ก่อนนานแล้ว อวิชชาเกิดขึ้นที่หลัง ไม่มีใครรู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ที่เศร้าหมองไปนั้นเพราะถูกอวิชชาครอบงำ มานมนานนับไม่ถ้วน ดังมีพุทธพจน์รับรองไว้ว่า เรา(จิต)นั้นเวียนว่ายเข้าไปในภพน้อยใหญ่อันยาวนานนับไม่ถ้วน เพราะไม่รู้เห็นอริยสัจจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้ ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้า ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่ง ธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย ^ ถ้า จิต ไม่มีอยู่ก่อนแล้ว พวกเราจะต้องเพียรปฏิบัติภาวนานุโยค ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิต ไปเพื่ออะไร? จะต้องไปกลัวอะไรกับบาปบุญคุณโทษ? จะต้องฝึกฝนอบรมจิต เพื่อละเหตุแห่งทุกข์ให้ไปจากจิต(สลัดออก) เพื่ออะไร? ถ้าเมื่อ จิต ไม่มีอยู่ก่อนแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่ง ธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จึงปรากฏ ฯ ^ ก็เพราะ จิต มี ฉะนั้นจึงต้องอบรมจิต เพื่อสลัดสิ่งที่มาปรุงแต่งจิตออกไป จึงจะถึงซึ่งพระนิพพาน มีปฐมพุทธพจน์รับรอง ดังนี้ "จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว" จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง (ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว) บรรลุพระนิพพาน เพราะสิ้นตัณหาแล้ว (สลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว) ........................................................ สรุปพระสูตรนี้ต้องการชี้ชัดให้เห็นว่า จิตมีอยู่ ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัย แต่มีเหตุปัจจัย(อวิชชา)มาปรุงแต่งจิต ให้เสียคุณภาพเดิมไป จึงต้องอบรมจิต เพื่อสลัดออกซึ่งเหตุปัจจัย(อวิชชา) เพื่อถึงซึ่งพระนิพพาน อันเป็นที่สุดทุกข์ เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต |
ในความฝันของใครสักคน
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog |
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |