มาค้นหาเพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ให้ถูกที่ถูกทางกันเถอะ
มาค้นหาเพื่อให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน ให้ถูกที่ถูกทางกันเถอะ

ถูกที่น่ะ ที่ไหน?
ถ้าไม่ใช่ที่กายอันยาววา หนาคืบ กว้างแค่ศอก ที่มีจิตครอบครองอัตภาพนี้อยู่ (อุปาทินกสังขาร)

ถูกทางอย่างไรหละ?
ก็ทางเดินของจิตไปสู่ความเป็นอริยบุคล (โลกุตตรจิต) นั่นไง หรือเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘

เมื่อกล่าวถึงมรรคผลนิพพานที่เป็นธรรมอันสูงสุดแล้ว มักเป็นที่ถกกันชนิดถึงพริกถึงขิงดุเดือดเลือดพล่านตามมติของตน เนื่องจากความรู้ที่ได้รับมานั้น มาจากแหล่งความรู้ที่ตนเองเชื่อถือและศรัทธานั่นเอง

ถึงจะมาจากแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือมาก ไปสู่แหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือน้อยที่สุดก็ตามที แม้กระนั้น ก็ไม่มีใครยอมลงให้ใครในเรื่องเหล่านี้ เพราะมานะทิฐิที่มีในตนเองของแต่ละบุคคล

โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้เป็นความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติของตนเองเลย เพราะบุคคลที่ได้ผ่านประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติของตนเองมาแล้วนั้น มักไม่คิดจะตอบโต้หรือถกเถียงกับใครในเรื่องเหล่านี้ หรือให้ข้อเท็จจริงกับใครทั้งนั้น (ไม่อวด)

เนื่องจากสิ่งที่ตนเองรู้เองเห็นเองมานั้น เป็นเรื่องยากที่อธิบายเป็นคำพูดหรือร้อยเรียงเป็นภาษาให้เข้าใจได้ง่ายๆ เพราะเป็นของที่รู้ได้โดยยาก เป็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้งเข้าถึงด้วยตรรกะได้ยาก ต้องลงมือปฏิบัติเพื่อเข้าถึงเท่านั้น และรู้ดีว่า การกล่าวตอบโต้ถกเถียงข้อข้องใจออกไปนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาได้เลย

เปรียบเหมือนคนที่เคยได้รับประทานอาหารอร่อยที่สุดมาแล้ว ถึงจะได้รับประทานบ่อยๆ ครั้งก็จริง ก็ไม่สามารถบอกหรือบรรยายให้คนที่ไม่เคยได้รับประทานอาหารที่ว่ามานั้นเลยแม้สักครั้งเดียว ให้เข้าใจได้ถึงหรือเข้าไปถึงความรู้สึกอร่อยในรสชาดอาหารดังกล่าวที่ว่านั้นได้ แต่ถ้าเคยได้กลิ่นของอาหารดังกล่าวมาก่อนหน้านั้น ก็ยังพอจะเป็นการง่ายขึ้นมากในการอธิบายให้เข้าใจได้

ต่อให้บุคคลนั้นทรงภูมิปัญญาทางโลกที่เป็นเลิศ หรือมีความทรงจำดีขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะจินตนาการให้รู้ซึ้งถึงความรู้สึกอร่อยในรสชาดอาหารที่ว่านั้นได้ หรือในทางปฏิบัติก็จะกล่าวได้ว่า ไม่เคยได้สัมผัสถึง สภาวะธรรม อันประณีต สงบระงับ สันติ นั้น มาก่อนนั่นเอง


ฉะนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงมรรคผลนิพพานขึ้นมา ในตำรา ในคณะ ในประชุมชนไหนก็ตามแต่ ควรที่จะต้องนำมาพิจารณาให้รอบคอบ ตามหลักฐานในพระสูตรและวินัย ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วในเรื่องนี้

อย่าปล่อยให้ความเป็นใหญ่ในการที่จะเชื่ออะไรของตน ไปให้กับใครง่ายๆ ควรเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์ ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วในเรื่องเหล่านี้ เมื่อต้องการค้นหาพระนิพพานหรืออมตธรรม อันเป็นธรรมที่คงที่(อกุปปธรรม)

ในครั้งเมื่อพระพุทธองค์จะทรงออกผนวช เพื่อค้นหาอมตธรรมหรือพระนิพพานนั้น เนื่องจากพระพุทธองค์ได้ทรงเห็นนิมิตที่มาแสดงให้เห็นถึง ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย

เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงเห็นเช่นนั้น ทรงปรารภกับพระองค์เองว่า ต้องมีสิ่งที่เป็นของแก้กัน คือ การไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย ในอัตภาพนี้อย่างแน่นอน

พระพุทธองค์จึงทรงเริ่มต้นค้นหา ในอัตภาพร่างกายนี้ ที่มีจิตครองของพระพุทธองค์เองก่อน ใช่หรือไม่? ไม่ได้ออกไปเที่ยวค้นหาพระนิพพานหรืออมตธรรมจากที่ไหน ไกลออกไปจากอัตภาพร่างกายนี้เลย ส่วนวิธีการหรือทางที่จะดำเนินไปในการค้นหาเพื่อความหลุดพ้นนั้น ต้องมาว่ากันอีกทีในอันลำดับต่อไป

ในอัตภาพร่างกายของพระพุทธองค์หรือบุคคลทั่วไปทุกคนนั้น ล้วนเป็นที่ประชุมของธาตุทั้ง ๖ อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และ วิญญาณธาตุ หรือ ธาตุรู้ ที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชา มาประสมรวมกันเข้า เป็น รูป-นาม อันเกิดจากกิเลส กรรม วิบาก ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ ใช่หรือไม่?

ทั้งที่พระวรกายของพระพุทธองค์ ก็ไม่แตกต่างไปจากร่างกายของคนทั่วไปเลย ส่วนที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ระหว่างพระอริยบุคคล กับปุถุชนคนที่หนาด้วยกิเลสนั้น ที่ทำให้พระพุทธองค์ได้พระนามว่า "สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" คืออะไรหละ?

พระวรกายของพระพุทธองค์? หรือ
จิตของพระพุทธองค์ที่อาศัยอยู่ในพระวรกายนี้?


ในเบื้องต้นนี้เป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า พระนิพพานนั้น อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ไม่ได้มาจากไหน ก็ที่ร่างกายอันยาววา หนาคืบ กว้างแค่ศอก เป็นที่ประชุมของมหาภูตรูป ๔ ที่มีจิตครองนั่นเอง

รูปร่างกายที่มีที่เป็นอยู่ของทุกคนทุกตนนั้น ล้วนต้องมีจิตของตนเองครอบครองอยู่ จึงจะสั่งสอนฝึกฝนอบรมได้ ของใครของมันตามแต่กิเลส กรรม วิบาก ที่ได้สั่งสมผ่านมาในแต่ละภพแต่ละชาติอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน หรือเรียกว่า มีกิเลส กรรม วิบาก ที่สร้างสมมาของตน เป็นตัวผลักดันให้มาเกิดเป็นมนุษย์นั่นเอง

เมื่อเข้าใจตามนี้แล้ว ก็ควรที่จะพิจารณาหลักเกณฑ์ให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปว่า พระนิพพานเข้าไปอาศัยอยู่ในรูป-นาม ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ ได้อย่างไร? ในเมื่อพระนิพพานเป็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น หาที่ตั้งมิได้ คือ ไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้

แต่พระนิพพานเป็นสภาวะธรรมหรือคุณลักษณะที่มีอยู่จริง เข้าถึงได้จริง แต่จับต้องเป็นตัวๆ มิได้ แบบที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า มีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่ของโคมลอยหลอกลวง หรือที่เรียกว่าติต่าง-คิดขึ้นมากันเอง สามารถสัมผัสและเข้าถึงได้จริง ด้วยการลงมือปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยสัจ ๔

มีพระพุทธพจน์ทรงตรัสรับรองไว้ว่า
"ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ โลกจะไม่วางเว้นไปจากพระอรหันต์"

จากพระโอวาทที่ทรงตรัสไว้ พอที่จะสรุปไว้ว่า อริยมรรค ๘ นั้นเป็นทางเดินของจิตไปสู่ความเป็นอริยะ เพราะพระพุทธองค์ไม่ทรงสั่งสอนรูปหรือมหาภูตรูปที่ไม่มีจิตครองแน่นอน เพราะสั่งสอนไม่ได้ เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เข้าใจอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีจิตที่เป็นธาตุรู้ จำ คิด นึกนั่นเอง

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ชัดๆ พระพุทธองค์ทรงอุทานตอนตรัสรู้ใหม่ๆ เป็นปฐมพุทธพจน์ มีพระบาลีว่า
"วิสงฺขารคตํ จิตตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา" แปลว่า
"จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้วดังนี้"

แสดงว่าจิตของพระพุทธองค์ทรงบรรลุพระนิพพานมาแล้ว ทรงรู้จักสภาวะพระนิพพานเป็นอย่างดี จึงได้นำสภาวะของพระนิพพาน ที่พระพุทธองค์ทรงบรรลุแล้วนั้น กลับมาสั่งสอนให้เป็นที่รู้ทั่วกันได้

แสดงความชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้นว่า ความแตกต่างระหว่างพระอริยบุคคล และ ปุถุชนคนธรรมดานั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิต ที่แตกต่างกันนั่นเอง

จิตที่ได้เข้ามาที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ (ภพ) นี้ ของแต่ละบุคคลนั้น ย่อมมีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าได้สร้างสม สะสม บารมีธรรม (กิเลส กรรม วิบาก) กันมามากน้อยแค่ไหน เพียงใดนั่นเอง

มรรคผลนิพพานนั้น ไม่ใช่เป็นพหิทธาธรรมา แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ณ ภายในจิตของตน ไม่ใช่เป็นธรรมที่ต้องออกค้นหาจากภายนอกร่างกายของตนอันมีจิตครองเลย ใช่หรือไม่?

มักมีการสอนว่า มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง แต่โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องรองรับอยู่ก่อนเลย เป็นเพียงแต่สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมาเองได้เท่านั้น โดยบอกไม่ได้ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่รู้ เพราะไม่มีทั้งผู้เข้าถึง ผู้หลุดพ้น ผู้กระทำ ผู้รับผลของสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมานั้นเลย ทั้งๆ ที่พระนิพพานเป็นคุณลักษณะของอะไรสักอย่างที่ทำให้เกิดสภาวะธรรมนั้นขึ้นมาให้ปรากฏ

เมื่อมีการสอนกันเช่นนี้ พระนิพพานจึงกลายเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระขาดเหตุผล ขาดความน่าเชื่อถือ เป็นเหมือนสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง เป็นการพูดที่เลือนลอยอย่างมาก


มีพระพุทธพจน์ในพระสัลลัตถสูตร รับรองไว้ชัดเจนว่า ปุถุชนกับพระอริยสาวก แตกต่างกันที่ตรงไหน? (ธรรมส่วนที่น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น)

[๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในชน ๒ จำพวกนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก
เป็นเครื่องทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐานฯลฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว
ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย
เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกายและเวทนาทางใจ ฯ


อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่เสวยทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา

นี้แลเป็นความแปลกกันระหว่าง ธีรชนผู้ฉลาด กับ ปุถุชน

ธรรมส่วนที่น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น
ผู้มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว เป็นพหูสูตเห็นแจ้งโลกนี้และโลกหน้าอยู่
ท่านย่อมไม่ถึงความขัดเคืองเพราะอนิฏฐารมณ์

อนึ่งเวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดีและไม่ยินร้าย
อริยสาวกนั้น รู้ทางดำเนินอันปราศจากธุลีและหาความโศกมิได้
ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพรู้โดยชอบ ฯ



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 31 สิงหาคม 2554
Last Update : 19 มกราคม 2558 17:20:08 น.
Counter : 740 Pageviews.

1 comments
  
โมทนาสาธุ ท่านธรรมภูต
โดย: shadee829 วันที่: 31 สิงหาคม 2554 เวลา:9:21:14 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์