ดูจิตตามแบบฉบับครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน ๔ (หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)
ครูบาอาจารย์ทั้งหลายแต่เก่าก่อนนั้น
ท่านทั้งหลายล้วนเน้นให้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อเข้าถึงหลักชัย
แบบเอาชีวิตเข้าแลกกับการภาวนา โดยไม่กลัวทุกขเวทนาทางกายที่จะปรากฏเลย
เพื่อสร้างสติสัมปชัญญะแบบต่อเนื่อง (ชาคโร)
ให้จิตรู้อยู่ที่กรรมฐาน (ฐานที่ตั้งอันควรแก่การงาน)

การดูจิตของท่านจึงเน้นลงไปที่
เอาจิตผู้รู้ ไปรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ และคำภาวนา "พุทโธ" แบบต่อเนื่อง
จนกระทั่ง จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ทั้งหลาย
สงัดจากกามารมณ์ อกุศลธรรมทั้งหลาย และธรรมารมณ์ ณ.ภายใน
ด้วยองค์ภาวนา "พุทโธ" ให้ได้สำเร็จผลก่อน

ที่เรียกว่า "ภาวนาเป็น รู้เห็นตามความเป็นจริงได้"

ทำให้การดูจิตนั้น มีคุณภาพ ไม่ติดอยู่เพียงแค่ความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น
เปรียบเสมือนน้ำที่สงบนิ่งปราศจากลูกคลื่น และไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ
ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆในน้ำได้ชัดเจนกว่ายามปกติที่น้ำมีลูกคลื่นปรากฏอยู่
ทำให้รู้จัก และรู้เห็นสภาพธรรม ณ ภายในที่แท้จริง เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นมา

ซึ่งขบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความเพียรพยายามเป็นอย่างมาก
ในการหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตน ด้วยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา "พุทโธ"
จึงจะเกิดขึ้น และเข้าถึงสภาพธรรมที่แท้จริงของจิตได้

และต้องเพียรพยายามให้สภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น
เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วจนเป็นวสี เรียกว่า เป็นปัจจุบันธรรมได้อย่างแท้จริง

ซึ่งแตกต่างจากการปฏิบัติดูจิตในปัจจุบันนี้อย่างมากมาย

โดยมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน นำเอาธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาตีความ
เพื่อให้เข้ากับจริตนิสัยของตนเอง คือทำแบบง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น
เป็นที่ชื่นชอบของคนเมือง ที่คิดว่าตนเองนั้นฉลาดกว่าคนจำพวกอื่น
เข้าใจว่าตนมีปัญญามาก ทั้งๆที่ความจริงเป็นแค่สัญญา
เหตุเพราะเกียจคร้านที่จะต้องอดทนต่อการนั่งปฏิบัติธรรมภาวนา

ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย การ "ดูจิต" ที่มีสอนดังกล่าวนั้น
เป็นเพียงความตั้งใจที่มีเจตนาสำรวมระวังความรู้สึกนึกคิด
ในการกระทำกิจในชีวิตประจำวันของตนเท่านั้น

เมื่อสำรวมระวังความรู้สึกนึกคิดได้ ทำให้รู้เห็นความคิดของตนได้เร็วขึ้น
แต่ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดออกไปไม่เป็น
เพราะไม่เคยภาวนาจนจิตหยุดคิดนิ่งได้

เมื่อจิตไม่รู้วิธีหยุดคิด(นิ่ง) ย่อมปล่อยให้จิตไหลไปตามอารมณ์
ความรู้สึกนึกคิดทั้งวัน (ปรุงแต่งไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดตลอดเวลา)
จึงไม่ใช่ "สัมมาสติ" ที่มีสัมปชัญญะกำกับอย่างแท้จริง

เพราะการทำกิจวัตรประจำวันนั้น เรายังต้องนึกคิดติดตามสิ่งต่างๆ
เป็นเรื่องเป็นราว(ปรุงแต่ง) กับสิ่งต่างๆที่เราทำอยู่
โดยบางครั้งบางคราว เราก็เพลินยิ่งเข้าไปสู่อารมณ์ความคิดเหล่านั้น
โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และตัดสินอารมณ์ความคิดเหล่านั้นด้วยความรู้สึก
ที่รัก ชอบ ชัง ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นๆ

แล้วเข้าใจไปเองว่า ตนมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่ ซึ่งไม่ใช่เลย
นั่นเป็นการหลอกตนเอง ไม่ใช่เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง

วิธีที่ถูกตรงคือ ต้องหมั่นอบรมฝึกฝนวิธีการสร้างสัมมาสติให้เกิดขึ้นที่จิต
ของตนให้ได้ก่อน โดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา "พุทโธ"
จนกระทั่งจิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
เพราะมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่อย่างแท้จริง


เหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโรกล่าวไว้ว่า

"ต่อไปนี้จะให้ทำบุญโดยเข้าที่ภาวนา นั่งดูบุญดูกุศลของเรา
จิตใจมันเป็นยังไง ดูให้มันรู้มันเห็นซี่ อย่าสักแต่ว่า สักแต่ว่าทำ
เอาให้มันเห็นจริงแจ้งประจักษ์ซี่

เราต้องการความสุขสบาย แล้วมันได้ตามต้องการไหม
เราก็มาฟังดูว่าความสุขความสบายมันอยู่ตรงไหน เราก็นั่งให้สบาย
วางกายของเราให้สบาย วางท่าทางให้สง่าผ่าเผยยิ้มแย้มแจ่มใส

เมื่อกายเราสบายแล้ว เราก็วางใจให้สบาย
รวมตาเข้าไปหาดวงใจ หูก็รวมเข้าไป เมื่อใจสบายแล้ว
นึกถึงคุณพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยะสงฆ์อยู่ในใจ
เราเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว จึงให้นึกคำบริกรรมภาวนา ว่า " พุทฺโธธมฺโม สงฺโฆ" สามหน

แล้วเอาคำเดียว ให้นึกว่า "พุทฺโธ พุทฺโธ" หลับตางับปากเสีย ตาเราก็เพ่งเล็ง
ดูตำแหน่งที่ระลึกพุทโธนั่น มันระลึกตรงไหน
หูเราก็ไปฟังที่ระลึกพุทโธนั่น สติเราก็จ้องดูที่ระลึก พุทโธ พุทโธ
จะดูทำไมเล่า ดูเพื่อให้รู้ว่า ตัวเรานี่เป็นสุข หรือ เป็นทุกข์
มันดีหรือมันชั่ว จิตของเราอยู่ในกุศล หรือ อกุศลก็ให้รู้จัก

ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มันเป็นยังไง คือ
จิตมีความสงบ มันไม่ส่งหน้า ส่งหลัง ส่งซ้าย ส่งขวา เบื้องบนเบื้องล่าง
ตั้งอยู่จำเพาะท่ามกลางผู้รู้ มันมีใจเยือก ใจเย็น ใจสุขใจสบายจิตเบา
กายมันก็เบา ไม่หนักไม่หน่วงไม่ง่วง ไม่เหงา
หายทุกข์ หายยาก หายความลำบาก รำคาญ สบายอกสบายใจ
นั่นแหละตัวบุญตัวกุศลแท้

นี้จะได้เป็นบุญเป็นบารมีของเรา เป็นนิสัยของเรา ติดตนนำตัวไปทุกภพทุกชาติ
นี่แหละให้เข้าใจไว้ จิตของเราสงบเป็นสมาธิ คือ กุศล อกุศลเป็นยังไง
คือ จิตเราไม่ดี จิตทะเยอทะยาน จิตดิ้นรนพะวักพะวง จิตทุกข์ จิตยาก
จิตไม่มีความสงบ มันเลยเป็นทุกข์ เรียกว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย"



ตลอดเวลาที่ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ฝั้น ดำรงชีวิตอยู่นั้น
คำสั่งสอนของท่านมักเน้นไปที่การภาวนาให้เป็น
จึงจะรู้เห็นตามความเป็นจริงขึ้นมาได้
เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ การ "ดูจิต" ก็ไม่ผิดไปจากแบบแผน
ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ต้องการให้เป็นไป
คือ ต้องมีพื้นฐานสำคัญ เรื่องการปฏิบัติกรรมฐานภาวนา "พุทโธ"



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 23 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:29:43 น.
Counter : 1420 Pageviews.

ดูจิตตามแบบฉบับครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน ๓ (หลวงปู่สิม)
ก่อนอื่นต้องขอบอกไว้ว่า การเขียนบทความนี้ขึ้นมา
ไม่ได้หวังโจมตีท่านใดท่านหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นไปเพื่อธรรมทานล้วนๆ

ธรรมะของพระพุทธองค์นั้นเป็นของสากลโลกไปแล้ว
ใครก็ได้สามารถนำมากล่าวสั่งสอนอบรมได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์
พระบรมศาสดาพระองค์ท่านไม่เคยสงวนสิทธิ ไว้เฉพาะชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลย

พระองค์ท่านทรงมีพระประสงค์ ให้เผยแผ่ออกไปให้กว้างไกล
ในครั้งกระนั้นทรงให้พระภิกษุ ๖๐ รูปออกไปเผยแผ่เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา
โดยให้ไปทิศละองค์ อย่าไปในทิศทางเดียวกันสององค์

ธรรมะของพระพุทธองค์นั้น เป็นเพียงศาสนาเดียวในโลกเท่านั้น
ที่ทรงสอนผู้รู้อยู่ ผู้เห็นอยู่ และผู้ปฏิบัติตามได้ผลให้พ้นจากทุกข์ได้จริง
เข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคล ๔ จำพวก ซึ่งในศาสนาอื่นไม่มี

ดังมีพระบาลีกล่าวไว้ว่า

"ตราบใดที่อริยมรรคมีองค์ ๘ ยังดำรงอยู่
ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์"


แสดงว่าพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์
ทรงต้องการให้เราชาวพุทธทั้งหลายปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
เพื่อให้ห่างไกลจากกิเลส และหลุดพ้นทุกข์ทั้งปวงให้ได้
เมื่อปฏิบัติเต็มตามความสามารถ ย่อมรู้เห็นได้
และเข้าถึงความเป็นพระอริยะได้จริงๆ

ซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่นตรงที่ว่า
ศาสนาอื่นนั้นอบรมสั่งสอนให้ผู้ปฏิบัติตามเป็นพียงคนดีคนหนึ่งเท่านั้น
หวังความหลุดพ้นทุกข์ เข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้เลย


เฉกเช่นเดียวกันกับในปัจจุบันนี้ ศาสนาพุทธเริ่มอ่อนแอลง
ผู้คนเกียจคร้านที่จะปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
ครูอาจารย์ผู้สอนเอง ก็เข้าไม่ถึงจิตที่มีสติสงบ ตั้งมั่น ณ.ภายใน
เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นมา กลับอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์ลูกหา
ละทิ้งการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาเสีย

ใครจะปฏิบัติก็ได้ หรือ ไม่ปฏิบัติก็ได้ ไม่สำคัญอะไร
เพียงเล็กๆน้อยๆก็พอแล้วแต่จริต
ซึ่งเป็นคำสอนที่คิดเองเออเอง ไม่มีกล่าวไว้ในพระบาลีเลย

และเน้นสอนให้ดูการไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด
โดยปล่อยให้มีสติเกิดขึ้นเอง โดยอัตโนมัติ (เป็นเพียงความตั้งใจ)
ไม่ต้องสร้างสติ มันจะเกิดของมันเอง
เพราะเหตุใกล้ทำให้เกิดสติรู้ทันตามความคิด
เมื่อรู้ทันจิตจะละความคิดได้เอง ให้รู้เฉยๆ โดยไม่ต้องแทรกแซง
เป็นความรู้สึกเฉย (อารมณ์เฉย เฉยโง่) ที่คิดขึ้นเอง
ไม่ใช่เฉยที่เป็นอุเบกขาธรรมที่แท้จริง ที่เกิดจากการภาวนา
จนจิตมีสติสงบตั้งมั่นปล่อยวางอารมณ์ได้จึงรู้วางเฉยเป็นอุเบกขา

โดยที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นไม่เคยรู้เลยว่า ที่พูดที่สอนมาทั้งหมดนั้น
เป็นการตามรู้ตามเห็นอาการของจิต โดยมีเจตนาตั้งใจจะงดเว้นอยู่ก่อนแล้ว
ที่ท่านบัญญัติเรียกใช้ขึ้นเองว่า นี้คือ สติเกิดขึ้นเองอัตโนมัติ
แท้จริงไม่ใช่เลย เป็นการตั้งจิตเจตนา (สัญญา) ไว้ก่อนแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นเองเลย

เมื่อรู้ทันอาการของจิต (เจตสิก) ที่เป็นชนิดของจิตนั้นๆ
ที่เกิด-ดับไปตามชนิดอารมณ์ ที่เป็นแขกจรเข้ามาตลอดเวลา
จากอารมณ์หนึ่งไปสู่อารมณ์เฉย (เฉยโง่ในภาษาธรรม)
จากนั้นก็จะมีอารมณ์ใหม่หมุนเวียนเข้ามาอีก ทำให้รู้สึก(คิด)ถึงอารมณ์ได้เร็วขึ้น
สู่อารมณ์เฉยเช่นเคย จนเป็นวัฏฏะ โดยปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็นเลย

เป็นได้แค่คนดีคนหนึ่ง ที่สามารถควบคุม หรือเปลี่ยนอารมณ์ได้เร็วขึ้น
จนจิต "ติดดีในดี" กระทั่งหลงตนเองไปว่า ดีกว่าคนอื่น
เพราะผู้อื่นไม่สามารถเก็บอารมณ์ หรือเปลี่ยนอารมณ์ได้เร็วเท่าตนเอง

ความที่ไม่เคยฝึกฝนอบรมการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนามาก่อน
จึงไม่รู้จักสภาวะจิตที่แท้จริง
ทำให้ไม่รู้จักเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงตามไปด้วยเช่นกัน

เฉกเช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แบบท่านพระอาจารย์หลวงปู่สิม
ที่เอาชีวิตเข้าแลก จนกระทั่งได้องค์กรรมฐาน เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้มาก่อน

พระอาจารย์หลวงปู่สิม พุทธจาโรท่านกล่าวไว้ว่า
ให้ปรารภความเพียร ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา “พุทโธ”
โดยเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อละกิเลสให้ได้ ดังนี้

"18.บทภาวนาบทใดก็ดีทั้งนั้น ถ้าภาวนาได้ทุกลมหายใจ ก็เป็นอุบายธรรมอันดีทั้งนั้น ความตั้งมั่นในสมาธิภาวนาของจิตใจ คนเรานั้นย่อมมีเวลาเจริญขึ้น มีเสื่อมลงเป็นธรรมดา ถ้าเรามารู้เท่าทันว่า การรวมจิตใจเข้าเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว เป็นความสงบสุขเยือกเย็น อย่างแท้จริง ก็ให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา อย่าได้มีความท้อถอย เมื่อใจไม่ท้อถอยแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้เราท้อแท้อ่อนแอได้ เพราะคนเรามีใจเป็นใหญ่เป็นประธาน สำเร็จได้ด้วยใจทั้งสิ้น

15. อันความตายนั้น จงระลึกดูให้รู้แจ้งด้วยสติปัญญาของตนเอง ยกจิตใจตั้งให้มั่นอย่าได้หวั่นไหว เจ็บจะเจ็บไปถึงไหนก็แค่ตาย อยู่ดีสบาย อยู่ไปถึงไหนก็แค่ตาย แก่ชราแล้วไม่ตายไม่ได้ เมื่อมาถึงบุคคลผู้ใดจะให้ผู้อื่นช่วยไม่ได้ ต้องภาวนาให้พ้นจากความตาย ความตายนั้นมีทางพ้นไปได้ อยู่ที่การละกิเลส ล้างกิเลสในใจให้หมดสิ้น"



ท่านพระอาจารย์หลวงปู่สิม พุทธจาโรนั้น
ท่านยังพูดถึง สภาพจิตที่แท้จริงว่า มีดวงเดียวเท่านั้น
ที่เห็นหลายดวงนั้น เป็นเพียงอาการของจิต
ที่แสดงออกมาตามอารมณ์กิเลสชนิดต่างๆ ที่เป็นแขกจรเข้ามาที่จิตของตน


ถ้าชอบ ก็แสดงอาการต้องการยึดมาเป็นของๆตน
ถ้าชัง ก็แสดงอาการต้องการผลักไสออกไปให้พ้นๆ ไปจากตน
อาการของจิตเหล่านี้ เกิดขึ้นที่จิตของตนและดับไปจากจิตของตน
เราอาจเรียกว่า ชนิดของจิตเหล่านี้ที่เกิด-ดับไป จะใช้คำว่าดวงก็ได้ก็ไม่ผิด
เป็นเพียงอาการ(ชนิด) ของจิตดวงนั้น เกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต

สรรพนามที่เราใช้เรียกจิตทั่วๆไปนั้น เราต่างก็ใช้คำว่า "ดวง" ทั้งสิ้น
เป็นเพียงอาการของจิตที่แสดงออกมาตามชนิดของอารมณ์ที่จิตของตนไปยึดเอา

เมื่อยังรู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริงแล้ว และยังเข้าใจไปว่า
จิตเป็นของเหลวไหลบังคับบัญชาให้เป็นไปดั่งใจหวังไม่ได้แล้ว
เราจะอบรมจิตได้หรือ ย่อมอบรมไม่ได้แน่นอน
เมื่อฝึกฝนอบรมจิตให้ผ่องใสบริสุทธ์ไม่ได้แล้ว
อุปกิเลสทั้งหลายทั้งที่เป็นของใหม่ และที่เป็นของเก่าที่หมักหมมอยู่ที่จิต
จะหมดไปได้ยังไร
ความเข้าใจผิดๆนี้ เป็นการกล่าวขัดแย้งกับพระพุทธพจน์
และพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย

พระบรมครู และ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายนั้น
ล้วนแล้วแต่สอนให้ฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้ผ่องใสบริสุทธิ์
โดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
เพื่อให้จิตหมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย(อวิชชา)ที่ครอบงำจิตอยู่

การที่จิตมีสติสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์โลภ โกรธ หลง
ที่เข้ามาครอบงำจิต เพราะจิตสามารถปล่อยวางอุปกิเลสเหล่านั้น
ออกไปจากจิตของตนได้นั่นเอง

แบบนี้เรียกว่า บังคับบัญชาจิตใจให้เป็นไปตามที่หวังได้
ถ้าบังคับจิตของตนไม่ได้ จิตย่อมต้องคล้อยตามอุปกิเลสเหล่านั้นไปแล้ว
อะไรที่สามารถนำมาอบรมได้แล้ว ย่อมต้องบังคับบัญชาได้ดั่งใจหวังเช่นกัน


ท่านพระอาจารย์หลวงปู่สิม พูดถึงจิตไว้ดังนี้

"1.คำว่า จิต ได้แก่ ดวงจิต ดวงใจผู้รู้อยู่ ผู้เห็นอยู่ ผู้ได้ยินได้ฟังอยู่ เราฟังเสียง ได้ยินเสียง ใครเป็นผู้รู้อยู่ในตัวในใจ นั่นแหละมันอยู่ตรงนี้ ให้รวมให้สงบเข้ามาอยู่ตรงนี้ ตรงจิตใจผู้รู้อยู่

2.ตาเห็นรูป ก็จิตดวงนี้เป็นผู้เห็น ดีใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียงผ่านเข้ามาทางโสต ทางหูก็จิตดวงเก่านี่แหละ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็จิตดวงนี้เป็นผู้หลง เมื่อจิตใจดวงนี้เป็นผู้หลงผู้เมาไม่เข้าเรื่อง เราก็มาแก้ไขภาวนาทำใจให้สงบ ไม่ให้หันเหไปกับอารมณ์ใดๆ เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดดับอยู่ในตัว ในใจ ในสัตว์ ในบุคคลนี้ว่า มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็แตกดับไปเป็นธรรมดาอย่างนี้"



ท่านทั้งหลายที่อ่านบทความนี้ โปรดพิจารณาด้วยจิตใจที่เป็นธรรมว่า
ธรรมใดที่มีการกล่าวขัดกันอยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ว่า จะได้ภูมิธรรมที่เหมือนกัน

โดยเฉพาะเรื่องจิตที่เป็นหัวใจสำคัญในทางพุทธศาสนาด้วยแล้ว
เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ที่อุบัติขึ้นมา
ท่านทรงสอนให้อบรมฝึกฝนชำระจิตของตน
ให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วหมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราย่อมพิจารณารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า
ท่านพระอาจารย์หลวงปู่สิม พุทธจาโรนั้น
ท่านคงไม่ไปรับรองภูมิรู้ภูมิธรรมให้ใครง่ายๆหรอก
ยิ่งกับคนชอบแอบอ้าง และยังมีคำสอนที่แตกต่างไปจากคำสั่งสอนของท่านเอง



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 28 ตุลาคม 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:29:58 น.
Counter : 719 Pageviews.

ดูจิตตามแบบฉบับครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน ๒ (หลวงปู่ขาว)
การดูจิตที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้
เป็นการดูอาการของจิตที่เกิดขึ้นตามอารมณ์โดยไม่รู้จักจิตผู้รู้ที่แท้จริง

เพราะโดยปกติแล้ว จิตเป็นสภาพธรรมที่กลอกกลิ้ง ซัดส่ายไปมาอย่างรวดเร็ว
เปลี่ยนแปรไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่มีเข้ามากระทบตลอดเวลา

เนื่องจากจิตของตนไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมสมาธิกรรมฐานภาวนา
จิตจึงแสดงออกมาซึ่งอาการของจิต ตามอารมณ์ความรู้สึกนึกต่างๆ
ที่เข้ามากระทบ จะมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความประทับใจของจิต
ที่มีต่ออารมณ์นั้นๆ ณ เวลานั้นๆ


ส่วนผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมจิตแบบ "ดูจิต" มาบ้างแล้ว
จากผู้หลักผู้ใหญ่ หรือ อัตโนมัติอาจารย์บางท่าน
และมีการตั้งเจตนาที่จะงดเว้น (วิรัติ) อกุศลจิตที่จะเกิดขึ้น
จึงมีการสำรวมระวังรักษากาย วาจา ไม่ให้แสดงอาการของจิตที่ไม่งาม
ออกสู่สายตาสาธารณชนได้

การทำเช่นนี้ได้ ก็เป็นการ "ดูจิต" แบบหนึ่งที่กำลังนิยมอยู่ในขณะนี้
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนอารมณ์ได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น
อันเป็นคำสอนที่ดี และมีอยู่ในทุกๆ ศาสนาทั่วไป


ซึ่งแตกต่างไปจากคำสอนในพระพุทธศาสนาที่แท้จริง
ที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสสอนไว้ดีแล้ว
ทรงสอนให้รู้จักวิธีชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
อันเป็นคำสอนที่ไม่เคยมีมาก่อนในศาสนาอื่นๆเลย

โดยเฉพาะอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางเดินของจิตไปสู่ความเป็นอริยบุคคล
จะมีเฉพาะในศาสนาพุทธของเราเท่านั้น

พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอนแต่การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
เพื่อให้จิตของตนมีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพื่อขจัด สลัด สำรอก
ปล่อยวางกิเลสและอุปกิเลส ทั้งหยาบและละเอียดที่เกิดขึ้นที่จิต
ซึ่งได้ชื่อว่ากิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามา ให้ออกไปจากจิตของตนนั่นเอง


แต่ในปัจจุบัน กลับยกย่องการ "ดูจิต" แบบที่ชาวบ้านทั่วๆไปทำกันมานานแล้ว
ว่าเป็นแบบแผนที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา
ปล่อยให้ สติ สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องไปบังคับควบคุมใดๆทั้งสิ้น
ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ในความเป็นจริงของการดำเนินชีวิต
แม้แต่คนที่ต้องการจะเป็นคนดีให้ได้นั้น ยังต้องมีความตั้งใจว่าจะเป็นคนดี
และมีเจตจำนงที่จะงดเว้น (วิรัติ) สิ่งไม่ดีต่างๆ ที่เป็นอกุศลจิตออกไปให้ได้ก่อน

ไม่ใช่เพียงแค่นึกคิด และมีความตั้งใจเท่านั้น
จิตก็จะมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้
ต้องผ่านการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนามาอย่างจริงจังเท่านั้น
จิตจึงจะมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้


การตั้งมั่นของจิต ที่นิยมพูดกันว่าทำได้ ในกลุ่ม "ดูจิต" แบบที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้
จึงเป็นเพียงความตั้งใจที่มีอยู่ก่อน ที่เป็นสัญญาเท่านั้นเอง
ที่จะมีการสำรวมระมัดระวัง อกุศลจิตต่างๆ ไม่ให้ครอบงำจิตได้
ซึ่งไม่ได้ปล่อยให้เกิดขึ้นเอง อย่างที่พูดๆกัน

และจะทำได้นาน ได้ไม่นาน หรือได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามเพียงใดนั้น
ก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนง คือความตั้งใจของแต่ละคน
ถึงกระนั้นก็ตาม จิตก็ยังพร้อมที่จะออกรับอารมณ์อื่นๆที่จะเกิดขึ้นตามมาอยู่ดี
อันเป็นสิ่งที่ใครๆในทุกๆศาสนาก็ทำกันทั้งนั้น


ทุกท่านเคยสงสัยมั้ยว่า ทำไมพระบรมครู และพ่อแม่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน
ท่านจึงเน้นนักเน้นหนาว่า ต้องปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาให้ได้ก่อนเท่านั้น
จึงจะทำให้เรารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า
จิตที่ชอบส่งออกนอก จึงเป็นเหตุแห่งทุกข์
เพราะจิตของตน ไม่มีที่ตั้งมั่น(ฐาน) ของสติ ย่อมซัดส่าย ส่งออก
ไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่ตนเข้าไปยึดถือไว้

แต่พวก "ดูจิต" แบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน กลับกล่าวว่าจิตนั้นแหละเป็นตัวทุกข์
ซึ่งผิดเพี้ยนไปจากการ "ดูจิต" ตามแบบอย่างพ่อแม่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน
อย่างพระอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านกล่าวว่า

"พากันทำภาวนาไป วันหนึ่ง ๆ อย่าให้ขาด อย่าให้มันเสียเวลาไป
ภาวนาไป ชั่วโมง หรือยี่สิบ สามสิบนาที อย่าให้มันขาด
อาศัยอบรมจิตใจของตน ทำมันไป ขัดเกลาใจของตน
ใจมันมีโลภะ โทสะ โมหะเข้าครอบคลุม ใจจึงเศร้าหมอง

ธรรมชาติจิตเดิมแท้นั้น เป็นธรรมชาติผ่องใส
ปภสฺสรมิตํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปฺกิเลเสหิ อุปฺกกิลิฏฺฐํ
ธรรมชาติจิตเดิมเป็นของเลื่อมประภัสสร เป็นของใสสะอาด
แต่มันอาศัยอาคันตุกะกิเลสเข้าครอบงำย่ำยี ทำให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัวไป

เพราะฉะนั้นให้พากันทำ อย่าประมาท
อย่าให้มันเสียชาติ อย่าให้มันโศกเศร้าเป็นทุกข์
มนุสฺสปฏิลาโภ ความได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ
ให้พากันทำ อย่าให้มันเสียไป วันคืนเดือนปีล่วงไป ๆ
อย่าให้มันล่วงไปเปล่า ประโยชน์ภายนอกก็ทำ
ประโยชน์ของตนนั่นแหละมันสำคัญ
พระพุทธเจ้าว่าให้ทำประโยชน์ของตนเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำประโยชน์อื่น"



ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ขาว ท่านก็กล่าวไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า
ต้องพากันหมั่นทำภาวนาด้วยความเพียร เพื่อให้จิตมีฐานที่ตั้งสติเป็นที่มั่น
จะได้ไม่ต้องออกไปรับเอาอุปกิเลสทั้งหลายเข้ามาเป็นแขกจร
ที่จะเข้ามาครอบงำจิตของตนให้เสียคุณภาพไป

โดยธรรมชาติแล้ว จิตชอบที่จะออกไปรับเอาโลภะ โมหะ โทสะ
เข้ามาเป็นแขกจรทั้งวันอยู่แล้ว พระบรมศาสดาและพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่าน
จึงต้องพร่ำสอนให้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อให้จิตมีหลักที่ตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบทางอายตนะทั้ง ๖ ได้ง่ายๆ

ความสำคัญของการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น
เป็นสิ่งที่พระบรมครูจอมศาสดา และพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านทั้งหลาย
ล้วนเน้นย้ำว่า ต้องทำให้เกิดขึ้นประจักษ์แก่จิตของตน


ดังมีพระบาลีว่า

"สมาธึ ภิกขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 19 ตุลาคม 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:30:15 น.
Counter : 914 Pageviews.

ดูจิตตามแบบฉบับครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน ๑ (หลวงปู่ดูลย์)
สืบเนื่องจากปัจจุบันนี้ ได้เริ่มมีกระแสสอนการดูจิตแบบนึกคิดขึ้นมาเอง
ให้ผู้ฝึกฝนอบรมที่ยังปฏิบัติมาใหม่ๆ เข้าใจไปว่า ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น

ส่วนใหญ่ช่องทางแรกที่รู้จักเรื่องการ "ดูจิต"
เกิดจากเว็บบอร์ดต่างๆในอินเตอร์เนท
เกิดจากการแนะนำกันปากต่อปาก หรือคนใกล้ชิดแนะนำการ "ดูจิต" ให้

จนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวพุทธในปัจจุบัน
ซึ่งเป็นแบบสะดวกสบาย และง่ายดี โดยไม่ต้องใช้ความเพียรเพ่ง
หรือเพียรพยายามในการปฏิบัติสมาธิภาวนากรรมฐานภาวนาใดๆเลย

ซึ่งผิดแผกไปจากการฝึกฝนอบรมการ "ดูจิต" ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
ตามแบบอย่างของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแต่เก่าก่อน

การดูจิตในรุ่นของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างมาก่อนนั้น
ผู้ฝึกฝนอบรมต้องมีพื้นฐานสำคัญ จากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
มาจนชำนิชำนาญคล่องแคล่ว ในการเข้าสู่ความสงบ
มีสติตั้งมั่นของจิตได้อย่างรวดเร็ว


ขอยกคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เช่น การเจริญจิตโดย
ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโลได้กล่าวไว้ ถึงวิธีการ "ดูจิตเป็นหนึ่ง"

"การบริกรรมพุทโธ" เปล่า ๆ โดยไร้เจตจำนง ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆไป
แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

ดังนั้น ในการนึก "พุทโธ" การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดเจน
และความไม่ขาดสายของ "พุทโธ" จะต้องเป็นไปด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละ

เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่า
มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบ
ที่ข้าสึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา
บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา
ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย

เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้
ไม่เช่นนั้น อย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธาตนเองเลย

เมื่อจิตค่อย ๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ
อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง
ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว

ถึงตอนนี้คำบริกรรม"พุทโธ" ก็จะขาดไปเอง
เพราะคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก

เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อย ๆ
และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ"

"บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครบริกรรมพุทโธ"



การฝึกฝนดูจิตในยุคก่อนนั้น ท่านจะต้องปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
จนรู้จักสภาวะธรรม และเข้าใจพฤติแห่งจิตของตนที่ถูกต้องแท้จริง
โดยการปฏิบัติสัมมาสมาธิ จนกระทั่งจิตรวมลงเป็นหนึ่งให้ได้ก่อน

จะทำให้การ "ดูจิต" ของท่าน ไม่ติดกับดัก อยู่กับความคิด
หรือที่เรียกว่า "ติดอารมณ์จิต" จนเข้าใจผิดๆว่า
อารมณ์ว่างๆของตัวเองนั้น คือความสามารถวางเฉยต่ออารมณ์ได้แล้ว

แท้จริงนั้นไม่ใช่เลย เป็นเพียงความคุ้นชินกับอารมณ์เหล่านั้น
หรือที่เรียกว่า "เฉยโง่" ที่เกิดจาก "ถิรสัญญา"
เพราะสลัด สำรอกอารมณ์ออกจากจิตของตนไม่เป็น


หลวงปู่ท่านเองก็พยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ
ของการปฏิบัติสมาธิภาวนาอันเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งยวด
สำหรับการ "ดูจิต" ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ที่ตริตรองตามได้

หลวงปู่ท่านเน้นว่า "เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อย ๆ
และสังเกตดูความรู้สึก และ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ"


คำว่า ฐานนั้น ฐานนั้น ที่เน้น
เพื่อให้เรารู้จักฐานนั้น อันเป็นที่ตั้งของสติ(ที่ฐานเดิม)ตลอดไป
เป็นที่ๆ "ดูจิต" ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง


ส่วนการดูจิตที่สอนทุกวันนี้ เป็นการดูอาการของจิต หรือ "เงาของจิต" เสียมากกว่า
เมื่อดูบ่อยๆ เนืองๆเข้า ก็รู้จัก คุ้นชินกับอาการของจิตเป็นอย่างดี

ถามว่าเสียหายมั้ยที่ทำตามแบบ "ดูจิต" ที่สอนกันอยู่ในปัจจุบัน
ขอตอบว่าไม่เสียหาย แต่ขาดประโยชน์อันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่พึงได้ไปเท่านั้น


การ "ดูจิต" ที่มีสอนในปัจจุบันนั้น เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยๆ
ทำให้รู้สึกและคุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด หรืออาการของจิตได้เร็วขึ้น
เมื่อรู้สึกเร็วขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติเองไม่มากก็น้อย

เมื่อรู้จักและคุ้นชิน กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด หรืออาการของจิตเร็วขึ้น
แต่จิตของตนกลับสลัด สำรอก ปล่อยวางอารมณ์ออกไปไม่เป็น
ได้แต่เปลี่ยนจากอารมณ์อกุศลมาสู่อารมณ์ที่เป็นกุศลเท่านั้น

เมื่อทำให้บ่อยๆเนืองๆเข้า จิตจะคุ้นชินอยู่กับอารมณ์กุศลอย่างเหนียวแน่น
เมื่อจิตคุ้นชิน ย่อมต้องกระด้างต่ออารมณ์กุศลนั้นๆ
ที่ชาวบ้านเค้าเรียกว่า "ติดดีในดี" นั่นเอง


ซึ่งแตกต่างจากที่ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ได้สอนไว้อย่างสิ้นเชิง
ของหลวงปู่นั้น ต้องมีการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เป็นบาทฐานให้ได้เสียก่อน
เมื่อได้แล้วจึงมาดูในหมวดจิต ขณะที่มีภาระการงานอยู่ในชีวิตประจำวัน

หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า

"ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น
เมื่ออารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไปมาดูที่จิตต่อไปอีก

ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอ ๆ
สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบ ๆ (รู้อยู่เห็นอยู่)

ไม่ต้องวิจารณ์กริยาจิตใด ๆ ที่เกิดขึ้นเพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น
เป็นไปเช่นนี้เรื่อย ๆ ก็จะค่อย ๆ เข้าใจ "กริยาหรือพฤติแห่งจิต" ได้เอง
(จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)"

"ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ"



เห็นหรือยังว่า "การดูจิตที่ถูกต้องตามความเป็นจริง" นั้น
จิตต้องมีฐานที่ตั้งของสติ หรือที่เรียกว่า "กรรมฐาน" เพื่ออะไร?

เพื่อเป็นการหน่วงจิตให้มีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ
เป็นการดูพฤติแห่งจิต หรือ ที่เรียกง่ายๆว่าดู "กิริยาจิต"
เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น ไม่ว่าภายนอก หรือภายใน
จิตย่อมมีที่ตั้งของสติที่ฐานเดิม หรือที่เรียกว่าที่ตั้งแห่งการงาน(กรรมฐาน)
เพื่อดูกิริยาจิตว่าหวั่นไหว หรือไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์
แล้วค่อยสลัด สำรอกอาการเหล่านั้น ออกไปจากจิต จนกระทั่งจิตเป็นหนึ่ง


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 18 มิถุนายน 2552
Last Update : 5 มิถุนายน 2560 8:21:29 น.
Counter : 953 Pageviews.


ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์