ดูจิตตามแบบฉบับครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน ๑ (หลวงปู่ดูลย์)
สืบเนื่องจากปัจจุบันนี้ ได้เริ่มมีกระแสสอนการดูจิตแบบนึกคิดขึ้นมาเอง
ให้ผู้ฝึกฝนอบรมที่ยังปฏิบัติมาใหม่ๆ เข้าใจไปว่า ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น

ส่วนใหญ่ช่องทางแรกที่รู้จักเรื่องการ "ดูจิต"
เกิดจากเว็บบอร์ดต่างๆในอินเตอร์เนท
เกิดจากการแนะนำกันปากต่อปาก หรือคนใกล้ชิดแนะนำการ "ดูจิต" ให้

จนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวพุทธในปัจจุบัน
ซึ่งเป็นแบบสะดวกสบาย และง่ายดี โดยไม่ต้องใช้ความเพียรเพ่ง
หรือเพียรพยายามในการปฏิบัติสมาธิภาวนากรรมฐานภาวนาใดๆเลย

ซึ่งผิดแผกไปจากการฝึกฝนอบรมการ "ดูจิต" ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
ตามแบบอย่างของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแต่เก่าก่อน

การดูจิตในรุ่นของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างมาก่อนนั้น
ผู้ฝึกฝนอบรมต้องมีพื้นฐานสำคัญ จากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
มาจนชำนิชำนาญคล่องแคล่ว ในการเข้าสู่ความสงบ
มีสติตั้งมั่นของจิตได้อย่างรวดเร็ว


ขอยกคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เช่น การเจริญจิตโดย
ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโลได้กล่าวไว้ ถึงวิธีการ "ดูจิตเป็นหนึ่ง"

"การบริกรรมพุทโธ" เปล่า ๆ โดยไร้เจตจำนง ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆไป
แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

ดังนั้น ในการนึก "พุทโธ" การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดเจน
และความไม่ขาดสายของ "พุทโธ" จะต้องเป็นไปด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละ

เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่า
มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบ
ที่ข้าสึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา
บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา
ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย

เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้
ไม่เช่นนั้น อย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธาตนเองเลย

เมื่อจิตค่อย ๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ
อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง
ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว

ถึงตอนนี้คำบริกรรม"พุทโธ" ก็จะขาดไปเอง
เพราะคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก

เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อย ๆ
และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ"

"บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครบริกรรมพุทโธ"



การฝึกฝนดูจิตในยุคก่อนนั้น ท่านจะต้องปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
จนรู้จักสภาวะธรรม และเข้าใจพฤติแห่งจิตของตนที่ถูกต้องแท้จริง
โดยการปฏิบัติสัมมาสมาธิ จนกระทั่งจิตรวมลงเป็นหนึ่งให้ได้ก่อน

จะทำให้การ "ดูจิต" ของท่าน ไม่ติดกับดัก อยู่กับความคิด
หรือที่เรียกว่า "ติดอารมณ์จิต" จนเข้าใจผิดๆว่า
อารมณ์ว่างๆของตัวเองนั้น คือความสามารถวางเฉยต่ออารมณ์ได้แล้ว

แท้จริงนั้นไม่ใช่เลย เป็นเพียงความคุ้นชินกับอารมณ์เหล่านั้น
หรือที่เรียกว่า "เฉยโง่" ที่เกิดจาก "ถิรสัญญา"
เพราะสลัด สำรอกอารมณ์ออกจากจิตของตนไม่เป็น


หลวงปู่ท่านเองก็พยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ
ของการปฏิบัติสมาธิภาวนาอันเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งยวด
สำหรับการ "ดูจิต" ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ที่ตริตรองตามได้

หลวงปู่ท่านเน้นว่า "เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อย ๆ
และสังเกตดูความรู้สึก และ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ"


คำว่า ฐานนั้น ฐานนั้น ที่เน้น
เพื่อให้เรารู้จักฐานนั้น อันเป็นที่ตั้งของสติ(ที่ฐานเดิม)ตลอดไป
เป็นที่ๆ "ดูจิต" ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง


ส่วนการดูจิตที่สอนทุกวันนี้ เป็นการดูอาการของจิต หรือ "เงาของจิต" เสียมากกว่า
เมื่อดูบ่อยๆ เนืองๆเข้า ก็รู้จัก คุ้นชินกับอาการของจิตเป็นอย่างดี

ถามว่าเสียหายมั้ยที่ทำตามแบบ "ดูจิต" ที่สอนกันอยู่ในปัจจุบัน
ขอตอบว่าไม่เสียหาย แต่ขาดประโยชน์อันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่พึงได้ไปเท่านั้น


การ "ดูจิต" ที่มีสอนในปัจจุบันนั้น เมื่อฝึกฝนไปเรื่อยๆ
ทำให้รู้สึกและคุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด หรืออาการของจิตได้เร็วขึ้น
เมื่อรู้สึกเร็วขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติเองไม่มากก็น้อย

เมื่อรู้จักและคุ้นชิน กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด หรืออาการของจิตเร็วขึ้น
แต่จิตของตนกลับสลัด สำรอก ปล่อยวางอารมณ์ออกไปไม่เป็น
ได้แต่เปลี่ยนจากอารมณ์อกุศลมาสู่อารมณ์ที่เป็นกุศลเท่านั้น

เมื่อทำให้บ่อยๆเนืองๆเข้า จิตจะคุ้นชินอยู่กับอารมณ์กุศลอย่างเหนียวแน่น
เมื่อจิตคุ้นชิน ย่อมต้องกระด้างต่ออารมณ์กุศลนั้นๆ
ที่ชาวบ้านเค้าเรียกว่า "ติดดีในดี" นั่นเอง


ซึ่งแตกต่างจากที่ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ได้สอนไว้อย่างสิ้นเชิง
ของหลวงปู่นั้น ต้องมีการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เป็นบาทฐานให้ได้เสียก่อน
เมื่อได้แล้วจึงมาดูในหมวดจิต ขณะที่มีภาระการงานอยู่ในชีวิตประจำวัน

หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า

"ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น
เมื่ออารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไปมาดูที่จิตต่อไปอีก

ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอ ๆ
สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบ ๆ (รู้อยู่เห็นอยู่)

ไม่ต้องวิจารณ์กริยาจิตใด ๆ ที่เกิดขึ้นเพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น
เป็นไปเช่นนี้เรื่อย ๆ ก็จะค่อย ๆ เข้าใจ "กริยาหรือพฤติแห่งจิต" ได้เอง
(จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)"

"ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ"



เห็นหรือยังว่า "การดูจิตที่ถูกต้องตามความเป็นจริง" นั้น
จิตต้องมีฐานที่ตั้งของสติ หรือที่เรียกว่า "กรรมฐาน" เพื่ออะไร?

เพื่อเป็นการหน่วงจิตให้มีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ
เป็นการดูพฤติแห่งจิต หรือ ที่เรียกง่ายๆว่าดู "กิริยาจิต"
เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น ไม่ว่าภายนอก หรือภายใน
จิตย่อมมีที่ตั้งของสติที่ฐานเดิม หรือที่เรียกว่าที่ตั้งแห่งการงาน(กรรมฐาน)
เพื่อดูกิริยาจิตว่าหวั่นไหว หรือไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์
แล้วค่อยสลัด สำรอกอาการเหล่านั้น ออกไปจากจิต จนกระทั่งจิตเป็นหนึ่ง


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 18 มิถุนายน 2552
Last Update : 5 มิถุนายน 2560 8:21:29 น.
Counter : 951 Pageviews.

34 comments
  
มีประโยชน์ ขอไป post ต่อค่ะ


โดย: Elbereth วันที่: 18 มิถุนายน 2552 เวลา:12:24:54 น.
  
ตามสบายเลยครับ ท่าน

ถ้าเห็นว่าดี มีประโยชน์

ยินดีที่ได้รู้จักครับ

ถ้ามีข้อสงสัย สอบถามได้นะครับ
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 18 มิถุนายน 2552 เวลา:19:42:39 น.
  
จริงอยู่ครับ ที่ครูบาอาจารย์พระป่าในอดีตท่านมักจะให้เจริญสมถะจนมีจิตผู้รู้ แล้วจึงเจริญวิปัสสนา
ในลักษณะที่เรียกว่าสมาธินำปัญญา ซึ่งถ้าจริตนิสัยที่เคยสั่งสมมาเป็นสมถยานิก หรือเป็นผู้มีตัณหาจริตคือ รักสุข รักสบาย รักความสงบ รักสันโดษ ไม่ค่อยคิดมาก ก็เหมาะที่จะเจริญสมถะจนมีจิตผู้รู้ และเจริญวิปัสสนาปัญญาด้วยหมวดกายและเวทนาสติปัฏฐาน แบบนี้จึงจะสามารถรู้กายและเวทนาได้ตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นไตรลักษณ์ เราจึงมักเห็นครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนส่วนใหญ่ท่านเดินในเส้นทางนี้

ส่วนในปัจจุบันยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ต้องแข่งกับเวลาและแข่งขันกัน
ทำมาหาเลี้ยงชีพ การที่จะเจริญสมถะจนมีจิตผู้รู้จึงเป็นการยากสำหรับบุคคลซึ่งเป็นทิฏฐิจริต คือเป็นคนช่างคิดนึกปรุงแต่ง ชอบวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงหรือเจ้าอุดมการณ์ บุคคลลักษณะนี้จึงเหมาะ
ที่จะใช้ปัญญานำสมาธิหรือเจริญวิปัสสนาปัญญาด้วยการดูจิต(จิตตานุปัสสนาฯ)และธัมมานุปัสสนา
สติปัฏฐาน คือการหมั่นสังเกตจิตใจไปเลยโดยที่ยังไม่ต้องเจริญสมถะ เมื่อหัดสังเกตความเปลี่ยนแปลงในใจของตน บางครั้งสุข บางครั้งก็ทุกข์ บางครั้งดีใจ เสียใจ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็รู้สึกตัวฯลฯ หัดรู้หัดดูอยู่เนืองๆ ก็จะเข้าใจสภาวะของจิตและพลิกเข้าสู่ความสงบได้เป็นระยะๆ(ขณิกสมาธิ) แบบนี้จึงเป็นอีกทางเลือกที่ใช้ปัญญานำสมาธิของผู้ที่มีทิฏฐิจริตน่ะครับ


จะเห็นว่าไม่มีสิ่งใดถูกหรือผิด เพราะประตูมีอยู่หลายบาน ขึ้นกับว่าเราสามารถเลือกประตูที่
เหมาะกับจริตนิสัยของเราหรือไม่ ซึ่งถ้าเลือกได้ถูก เส้นทางสายนี้ก็ไม่เนิ่นช้า แต่ถ้าเลือกไม่ตรง
กับจริตนิสัยที่สั่งสมมา ก็อาจต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่าที่ควรเป็นนั่นเอง

เจริญในธรรมยิ่งขึ้นครับ _/|\\_
โดย: pin IP: 124.122.197.128 วันที่: 18 มิถุนายน 2552 เวลา:19:54:50 น.
  
แวะมาทักทายค่ะ
โดย: CrackyDong วันที่: 18 มิถุนายน 2552 เวลา:23:25:01 น.
  
ขอบคุณท่าน crackydong ที่แวะมาทักทายครับ

สำหรับท่าน pin ยินดีที่ได้สนทนาด้วยครับ
สำหรับคนที่ฝึกดูจิตสว่นใหญ่แล้ว ล้วนมีความเห็นเหมือนท่านทั้งนั้นครับ

เหมือนกับคนที่ต้องการเป็นแพทย์
แต่ไม่เห็นความสำคัญของการที่
ฝึกฝนอบรมเรื่องanatomyกับท่านอาจารย์ใหญ๋(ศพ)
แต่ต้องการลงมือรักษาคนไข้เลย
โดยที่ยังไม่มีพื้นฐานเรื่องกายวิภาคเลยครับ

ผมกำลังเขียนบทความที่จะลงเกี่ยวกับสมถะและวิปัสสนา
และทำไมจึงต้องมีพื้นฐานเรื่องกายคตาคติก่อนครับ
อย่าลืมตามอ่านนะครับ

รู้อยู่ที่รู้ ไม่ใช่รู้อยู่ที่เรื่อง(อารมณ์)ครับ

โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 19 มิถุนายน 2552 เวลา:9:31:50 น.
  
ถ้ามองในอีกมุมมองหนึ่ง สังคมปัจจุบัน ต้องเข้าใจว่าคนบางคนทำสมถะไม่ได้เลย เพราะจิตคอยฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ตลอดเวลา พอไปทำสมถะก็หงุดหงิด ท้อแท้ใจ ว่าตัวเองทำไม่ได้ ไม่มีวาสนาบารมี แล้วก็พาลเลิกปฏิบัติธรรมไปเลยก็มี

เพราะฉะนั้นหากการฝึกดูจิตช่วยให้คนเหล่านั้นรู้เท่านั้นกิเลส รู้เท่าทันจิตใจของตัว ก็ถือว่าได้เพียรขูดกิเลสออกจากใจแล้้ว สำเร็จบ้างมากบ้างน้อยบ้าง ก็ย่อมดีกว่าทำอะไรก็ไม่ได้เลยซักอย่างเดียว ได้แต่ทำบุญ ทำทานไปเท่านั้นค่ะ

ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวนะคะ

_/|\\_
โดย: โอ๊ต IP: 125.24.74.5 วันที่: 19 มิถุนายน 2552 เวลา:19:46:52 น.
  
ท่านโอ๊ตครับ ที่ท่านพูดมานั้นก็น่าเห็นใจนะครับที่พูดว่า
"สังคมปัจจุบัน ต้องเข้าใจว่าคนบางคนทำสมถะไม่ได้เลย"

ท่านลองนึกถึงหลักความจริงพื้นฐานก่อนนะครับว่า

คนเราถ้าจิตยังฟุ้งซ่านอยู่
ขณะนั้นเราไม่สามารถทำให้จิตสงบลงได้

เราจะดูจิตได้เหรอครับ
ในเมื่อเราเห็นแต่อาการของจิตฟุ้งกระจายเต็มไปหมด

เราต้องหาวิธีทำให้จิตสงบลงให้ได้ก่อน
ที่ง่ายๆ ก็คือ จากความฟุ้งซ่านวุ่นวาย มาดูลมหายใจแทน

โดยสูดลมหายใจให้แรงๆลึกๆ อั้นไว้นิดหนึ่ง
แล้วปล่อยลมหายใจออกมาช้าๆ สัก ๓ ครั้ง
อาการฟุ้งซ่านก็พอทุเลาลงได้
ฝึกฝนดูลมหายใจแทนเมื่อเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านสิครับ

เมื่อฝึกฝนบ่อยๆเนืองๆ ก็เป็นการดูจิตที่ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือครับ
ดีกว่าการฝืนดูจิตไปเรื่อยๆ โดยไม่แทรกแซง
นานวันไป จิตก็จะหยาบกระด้างต่ออารมณ์นะครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 19 มิถุนายน 2552 เวลา:20:47:11 น.
  

คนอื่นไม่อาจกล่าวแทนได้เลยค่ะ เอาตัวเองเป็นตัวอย่างละกัน เพราะตัวเองเป็นคนฟุ้งซ่าน
ขนาดหนัก 1 นาที คิดจบไปประมาณ 10 เรื่องได้ วันๆก็จะจมอยู่กับกองทุกข์ที่เกิดจาก
ความคิดนั่นแหล่ะ พูดอย่างนี้ได้ เพราะทุกข์มาแล้วหนักหนาเพราะเจ้าความคิดนี่แหล่ะ
จนท้อแท้ถึงขนาดหมดกำลังใจในชีวิตก็เคยมาแล้ว

ทำสมถะ ก็เคยทำค่ะ ก็ได้ปีติชั่วครู่ชั่วยาม สลับกับความฟุ้งซ่านและความปวดหัว
เพราะเพ่งอารมณ์ หรือเพ่งลมหายใจ

พอมาฝึกจิต ก็ดูที่ความฟุ้งนั่นแหล่ะค่ะ ดูได้ทั้งวัน ดูได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวันจากที่เคย
ไหลไปจมแช่กับความคิดนานเป็นชั่วโมงๆ ก็เหลือเป็นนาที เป็นวินาที น้อยลงๆ
จนบางขณะจิตสงบหยุดปรุงความคิดชั่วคราว (เหมือนเวลาเข้าสมาธิ) ลำพังแค่นี้ทุกข์
ก็ลดลงไปเยอะแล้วค่ะ

การทำสมถะเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งค่ะ และการเจริญสติและการทำสมถะงาน
ที่ส่งเสริมกันและกันจริงๆ วันไหนที่สติเกิดถี่ยิบ ก็ได้สมถะนี่แหล่ะที่และช่วยเสริมพลังให้จิต
ขณะเดียวกันการเจริญสติ ก็ช่วยให้ทำสมถะได้ดีขึ้นด้วย เดี๋ยวนี้นั่งสมาธิได้สงบเร็วขึ้นและ
ต่อเนื่องกว่าเดิม แล้วก็ไม่เครียดอีกแล้ว เวลามันสงบลงไปก็รู้ถึงความสงบที่ค่อยๆลึกลงไป
ไปมีหรอกค่ะดิ่งวูบ เพราะสติตามไม่ทันแบบเมื่อก่อนน่ะ

การใช้สมถะข่มอารมณ์เวลาที่อารมณ์รุนแรงจนถึงเป็นโทษก็เป็นสิ่งที่ดีค่ะ ดีกว่าปล่อยความเลวร้าย
ออกไปทางกายทางวาจา แต่สมถะก็คือสมถะค่ะ ถ้าไม่เจริญปัญญา ก็จะได้แต่ความสงบ
ขาดไตรสิกขาไป 1 ข้อ สายพระป่าท่านยังกล่าวว่า ไม่ให้ไปติดกับความนิ่งเฉยของสมถะ
ให้เดินปัญญาพิจารณากายนี้ใจนี้เป็นเพียงธาตุขันธ์มาประชุมกัน หมดเหตุก็ดับไป ไม่ควร
ยึดว่าเป็นตัวเราของเรา ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากที่หลวงพ่อฯ ท่านสอนแต่ประการใดเลยค่ะ

คนเราจริตต่างกันค่ะ ถ้าทำอย่างไหนแล้วค้นพบว่า ทำให้เปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีขึ้น
มากกว่าเสื่อมลง ก็ถือว่าเหมาะสมแก่ตนเองแล้วค่ะ

ทุกวันนี้ไม่ได้รู้สึกว่าฝืนดูจิตเลยค่ะ สนุกซะด้วยซ้ำ เวลาเห็นอัตตา หรือรู้ท้นกิเลสในใจตัวเอง
จิตมันมีปีติ โล่ง เย็น สบาย ขึ้นมาอย่างที่หลายๆคนมาส่งการบ้านนั่นแหล่ะค่ะ คือ ถ้าไม่ปฏิบัติเอง
เห็นเอง ก็อาจจะคิดว่าโม้รึเปล่า แค่รู้ทันแล้วมันจะมีอะไร

ธรรมะทั้งหลายในโลกนี้เป็น ปัจจัตตังฯ จริงๆค่ะ หากได้ลองปฏิบัติด้วยใจที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะแบบไหน
ก็ย่อมเห็นผลได้เองตามความเป็นจริงค่ะ

_/|\\_


ปล. จิตหยาบกระด้างต่ออารมณ์ หรือจิตมีปัญญารู้ว่าปรุงแต่งอารมณ์แล้วเป็นทุกข์เลยไม่ปรุงแต่งต่อคะ
ฝากไว้พิจารณาด้วยค่ะ
โดย: โอ๊ต IP: 125.24.7.146 วันที่: 20 มิถุนายน 2552 เวลา:1:27:29 น.
  
ท่านโอ๊ตครับ ผมไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม่ท่านถึงสนุกกับความคิด
ตอนที่ท่านพยายามที่จะหยุดโดยภาวนานั้น
ท่านกลับฟุ้งซ่านและปวดหัวเนื่องจากเพ่งอารมณ์

ท่านก็ผิดตั้งแต่ตอนเริ่มต้นแล้ว
ท่านไม่ดูจิตโดยอาศัยลมหายใจที่เข้า-ออก(ไม่ต้องคิด)
แต่กลับไปพยายามที่จะหยุดคิด ก็ยิ่งคิดเพราะยังอยากคิดอยู่
เมื่อไม่สมปรารถนาก็ฟุ้งซ่านปวดหัวตัวร้อนคิดท้อแท้ เพราะความอยากแท้ๆ

ผมถามตรงๆเถอะว่า ทุกวันนี้มีลมหายใจอยู่ ต้องคิดมั๊ยร่างกายจึงจะหายใจ???
ผมยังไม่เคยเจอใครเลยที่ต้องคิดจึงจะหายใจเข้าออกได้

ท่านเองกำลังติดคิดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ติดดีในดี”
การมีทัศนะแบบนี้ถามว่าไม่ดีตรงไหน
ใช่ครับไม่ได้เสียหายอะไร
แต่ผลที่ได้ทำให้เราติดคิด แทนที่จะปล่อยวางความคิดซะ

ผมเชื่อว่าท่านไม่เคยพิจารณาว่าจิตของท่านกระด้างต่ออารมณ์หรือไม่นั้น
เพราะ คิดว่าตัวเองวางเฉย(ไม่ปรุง) ..... แท้จริงไม่ใช่เลย

เพราะท่านตามดูความคิดจนจิตคุ้นชินต่ออารมณ์เหล่านั้น
พอเกิดปั๊บ รู้ปุ๊บ เพราะคุ้นเคยว่า เดี๋ยวก็ดับไปเอง
มีอารมณ์เฉยมาแทนที่ เพราะความที่สั่งตัวเองว่าให้ดูเฉยๆ
เป็นความเฉยที่ไม่ได้เกิดจากปัญญาในการปล่อยวางอารมณ์
ไม่ใช่ปัญญาที่ไหนหรอกครับ เป็นการหลอกตัวเองไม่วันๆเท่านั้น

ท่านก็พูดเองนิครับว่า ปัจจุบันทำสมาธิได้ดีขึ้นเพราะอะไร
ถ้าไม่หลอกตัวเองละก็ บอกได้เลยปัจจุบันคิดจนเหนื่อย
เมื่อเหนื่อยก็หน่าย เมื่อหน่ายก็หยุดคิด พอทำสมาธิจิตก็สงบได้ดีขึ้น

พอกลับสู่สภาวะเดิม ดูจิตคิดไปเรื่อยๆจนเหนื่อยหน่ายเช่นเดิม
วนเวียนเป็นวัฏกะอยู่แบบนี้ เมื่อไหร่หละจึงจะสิ้นสุดสักที่(หยุดคิดเป็น)
มีแต่รู้เร็วขึ้น แต่ไม่ใข่เพราะมีปัญญา แต่เป็นสัญญาที่คุ้นชินต่ออารมณ์
ทำให้จิตหยาบกระด้างโดยไม่รู้ตัว เมื่อเจออารมณ์ก็จะเฉยๆ
ไม่ใช่เฉยเพราะปล่อยวางอารมณ์ แต่เฉยเพราะอยู่ในอารมณ์เฉยๆต่างหากครับ

ผมก็ได้บอกไปแต่ตอนต้นแล้วว่า เมื่อฟุ้งซ่านเพราะความคิด
ก็ให้มาอยู่กับสิ่งที่ไม่ต้องคิด คือลมหายใจนั้นเอง
เมื่อฝึกฝนจนชำนาญ ก็จะหยุดคิดเป็นไปเอง โดยไม่ต้องสั่งครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 20 มิถุนายน 2552 เวลา:9:40:14 น.
  
คนทั้งโลก ไม่ว่าชาวนา คนงานก่อสร้าง ปัญญาชน เค้าก็คิด เค้าก็ฟุ้งซ่านกันท้างน้านแหละคู้น

เอาอะไรมาวัดกัน ว่าคนเมืองคิดมาก ชาวนาไม่คิด
วันก่อนไปอยู่วัดมา เจอคุณป้าคนนึง เค้าบอกว่าหนูนี่ดีนะ คงไม่ค่อยคิดอะไรมาก ป้าน้ะคิดทั้งวันเลย

ฮ่า ฮ่า คุณป้าเค้าอยู่วัดมาหลายเดือน ทางโลกไม่มีอะไรต้องห่วงแล้ว เค้ายังคิดฟุ้งซ่ายอยู่เลยอ่ะ

ประหลาดดีแท้ ไม่รู้เมื่อก่อนเรากินยาอะไรเข้าไปถึงได้เชื่อนิยามนี้เป็นคุ้งเป็นแคว
แต่เดี๋ยวนี้เอาปืนมายิงห้ากระบอก กรูก็ไม่เชื่อออออ...
โดย: พุทโธ IP: 124.122.163.51 วันที่: 17 สิงหาคม 2552 เวลา:14:31:37 น.
  
คำว่าคนเมืองช่างคิด นี้เป็นจริตนิสัย คือ ทิฏฐิจริต

แต่ไม่ได้หมายถึงทุกคนเป็นทิฏฐิจริต หรือคนบ้านนอกไม่เป็นทิฏฐิจริต

ไม่หัดเปิดพระไตรปิฎกดูซะบ้าง จริตในการทำวิปัสสนามี 2 อย่าง ตัณหาจริต(รักสุขรักสบาย) กับทิฏฐิจริต (ฟุ้งซ่าน เจ้าความเห็น)

จากคู่มือการศึกษาพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๙ กรรมฐานสังคหวิภาค "สมถะ -- วิปัสสนา " โดย อ.บุญมี เมธางกูร
-------------------------------------------------------------------------
จริตของบุคคล ๔ พวก
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส สติปัฏฐาน ๔ เพื่อความเหมาะสมแก่บุคคล ผู้มีจริต ๔ ดังนี้ คือ
๑. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างหยาบ
๒. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างละเอียด
๓. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างหยาบ
๔. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด

๑. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างหยาบ มักติดอยู่ในกาย พอใจรักสวย รักงาม เป็นผู้มีปัญญาอ่อน ควรเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเพื่อละสุภวิปัลลาส
๒. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างละเอียด มักติดเวทนา คือ ในสุขเวทนา มุ่งต่อเวทนาเป็นใหญ่ เป็นผู้มีปัญญากล้า ควรเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อละสุขวิปัลลาส
๓. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างหยาบ มักติดอยู่ในจิต เห็นจิตเป็นของสำคัญ เป็นของเที่ยงแท้ มุ่งจิตเป็นใหญ่ ควรเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อละนิจจวิปัลลาส
๔. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด มักติดอยู่ในธรรมเห็นธรรมที่เกิดกับจิตเป็นของสำคัญ มุ่งธรรมเป็นใหญ่ เห็นธรรมเป็นอัตตา ควรเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเพื่อละอัตตวิปัลลาส

อนึ่ง ในมหาสติปัฏฐานสุตตวรรณนา กล่าวว่า
" จริงอยู่บรรดาสัตว์ทั้งหลายผู้มีตัณหาจริต และทิฏฐิจริต หรือ ผู้สมถยานิก และ วิปัสสนายานิก เป็นไป ๒ อย่าง ด้วยสามารถมันทบุคคล(บุคคลผู้ที่จะบรรลุธรรมได้แต่มีปัญญาอ่อน) และ ติกขบุคคล (ปัญญาแก่กล้า) กายานุปัสสนามีอารมณ์อันโอฬาร(หยาบ) เป็นทางแห่งความหมดจดของมันทบุคคลผู้มีตัณหาจริต เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์อันสุขุม เป็นทางแห่งความหมดจดของติกขบุคคลผู้มีตัณหาจริต จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์ อันแยกออกไม่มากนัก เป็นทางแห่งความหมดจดของมันทบุคคลผู้มีทิฏฐิจริต ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งมีอารมณ์อันแยกออกมาก เป็นทางแห่งความหมดจดของติกขบุคคลผู้มีทิฏฐิจริต

อนึ่ง สติปัฏฐานที่หนึ่ง มีนิมิตอันบุคคลพึงบรรลุได้โดยไม่ลำบากเป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้สมถยานิก ผู้มีปัญญาอ่อน
สติปัฏฐานที่สอง เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้สมถยานิก ผู้มีปัญญาแก่กล้า เพราะไม่เกิดในอารมณ์หยาบ
สติปัฏฐานที่สาม มีอารมณ์อันแยกออกไม่มากนัก เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้วิปัสสนายานิก ผู้มีปัญญาอ่อน
สติปัฏฐานที่สี่ มีอารมณ์อันแยกออกมากยิ่ง เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้วิปัสสนายานิก ผู้มีปัญญาแก่กล้า
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ โดยไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ด้วยประการฉะนี้



ยอมรับความจริงซะ ว่าเข้าใจผิด
โดย: กลับกัน IP: 222.123.95.232 วันที่: 29 สิงหาคม 2552 เวลา:21:46:03 น.
  
อย่าลืม ตัดตรงที่หลวงปู่ดูลย์สอนช่วงแรกไปได้ไง แสดงนิสัยชอบหมกเม็ดชัดๆ ช่วงก่อนที่คุณเอามาอ้างเขียนว่า

-----------------------------------------------------------
๑. เริ่มต้นอริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก
ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว อย่างเดียว

รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ" ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม

เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน เป็นธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ

จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก จนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณา และรักษาจิตต่อไป

ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้ และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน "พฤติแห่งจิต" โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร


ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต
------------------------------------------------------------

เห็นเปล่า ท่านว่าให้รู้สึกตัวก่อน ใครทำไม่ได้ ไปทำพุทโธ ท่านบอกไว้นะ ตัดเอาแต่ใจจริงคุณ
โดย: กลับกัน IP: 222.123.95.232 วันที่: 29 สิงหาคม 2552 เวลา:21:50:32 น.
  
คำว่าคนเมืองช่างคิด นี้เป็นจริตนิสัย คือ ทิฏฐิจริต

แต่ไม่ได้หมายถึงทุกคนเป็นทิฏฐิจริต หรือคนบ้านนอกไม่เป็นทิฏฐิจริต

ไม่หัดเปิดพระไตรปิฎกดูซะบ้าง จริตในการทำวิปัสสนามี 2 อย่าง ตัณหาจริต(รักสุขรักสบาย) กับทิฏฐิจริต (ฟุ้งซ่าน เจ้าความเห็น)

จากคู่มือการศึกษาพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๙ กรรมฐานสังคหวิภาค "สมถะ -- วิปัสสนา " โดย อ.บุญมี เมธางกูร

********************
ท่านกลับกันครับ
ท่านครับตกลงใครกันแน่ครับที่ไม่ยอมรับความจริง ผมเปิดพระไตรปิฎกแล้วครับ
ไม่เห็นมีพระพุทธวจนะตรงไหนเลย ที่กล่าวถึงจริตในการทำวิปัสสนามี๒อย่าง
อย่าเอาอัตโนม้ติอาจารย์มากล่าวขัดแย้งกับพระพุทธวจนะสิครับ
อาจารวาทและอัตโนมัติอาจารย์ มาเพิ่มเติ่มเสริมแต่งในภายหลัง

เมื่อท่านยกมาแล้ว ท่านต้องรับผิดชอบตอบคำถามผมด้วยนะครับ
อย่าใช้วิธีแถแบบพรรคพวกที่ผ่านมาครับ

ใครในโลกนี้บ้างที่ไม่เคยมี ทั้งตัณหาจริต(รักสุขรักสบาย) และทิฏฐิจริต (ฟุ้งซ่าน เจ้าความคืด)???
ไม่มีหรอกครับ ที่คนในโลกที่มีแต่ตัณหาจริตเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่เคยมีทิฐิจริตเลยใช่มั้ยครับ???
และในทางกลับกันก็เช่นกัน เลิกหลับหูหลับตาเชื่ออะไรโดยขัดเหตุผลได้แล้วครับ

เรื่องสมถะและวิปัสสนาก็เช่นกัน เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ตามพระพุทธวจนะ
ก็มีคนเพียรพยายามที่จะแยกออกจากกันให้ได้ จะด้วยความเขลาหรือเพราะอะไรไม่ทราบได้ครับ

ยอมรับความจริงซะ ว่าเข้าใจผิด

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:8:06:17 น.
  
ได้อ่านมหาสติปัฏฐานสูตร ร้อยรอบพันหน
ยังไม่เห็นมีตรงไหนตรัสแบ่งไว้เป็นตัณหาจริตและทิฏฐิจริตเลย
และคำว่า สมถยานิก กับ วิปัสสนายานิก ก็เป็นคำที่ไม่มีมาในพระพุทธวจนะ

ในทางกลับกัน
ถ้าอ่านมหาสติปัฏฐานสูตร และเทียบเคียงกับพระพุทธพจน์อื่นที่เนื่องกัน

จะเห็นว่า ทรงให้ปฏิบัติสติปัฏฐาน โดยเริ่มต้นจากอานาปานสติบรรพะ
ซึ่งอานาปานสติ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา ในตัวอยู่แล้ว

เพราะถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ย่อมไม่เกิดปัญญาปล่อยวางอารมณ์ออกจากจิตได้

และถ้าจิตไม่สามารถปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้
จิตก็ย่อมไม่สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

นั่นคือ ทั้งสมาธิ ปัญญา หรือ สมถะ วิปัสสนา
เป็นสิ่งที่ต้องเกิดควบคู่กันไปในการปฏิบัติสมาธิภาวนา

และมีทรงตรัสไว้ว่า
อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์

สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์

โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้


ยินดีในธรรมครับ

โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:9:08:29 น.
  
สำหรับตัณหาจริตและทิฏฐิจริตนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกๆคนนั่นแล

เพราะตัณหา ก็คือ ตัณหา ๓ อันเป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์
ความทะยานอยากของจิตในการแส่ออกไปหาอารมณ์
ทำให้เกิดความหวั่นไหว กระสับกระส่ายเป็นทุกข์

เพราะจิตมีอวิชชาครอบงำ ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
หลงผิดยึดเอาขันธ์ ๕ เป็นตน เป็นเหตุให้เกิด ทิฏฐิ ๖๒ ประการ
อันมีตรัสไว้ใน พรหมชาลสูตร

ดังนั้น จึงทรงเน้นให้พระสาวกปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘
โดยเริ่มต้นจากการนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า

หรือก็คือ เริ่มต้นโดยการปฏิบัติอานาปานสติ นั่นเอง
ซึ่งต้องฝึกให้ชำนาญต่อเนื่องเนืองๆไม่ขาดสาย
เป็นการฝึกจิตให้มีสติตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ(ลมหายใจเข้า-ออก)

และฐานทั้ง ๔ (กาย เวทนา จิต ธรรม)จะกระเทือนถึงกันหมด
ซึ่งเราต้องอาศัยความชำนาญที่ฝึกได้ตอนนั่งสมาธิ มาใช้ในชีวิตประจำวัน

ยินดีในธรรมครับ

โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:9:20:15 น.
  
จริตของบุคคล ๔ พวก
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส สติปัฏฐาน ๔ เพื่อความเหมาะสมแก่บุคคล ผู้มีจริต ๔ ดังนี้ คือ
๑. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างหยาบ
๒. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างละเอียด
๓. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างหยาบ
๔. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด

๑. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างหยาบ มักติดอยู่ในกาย พอใจรักสวย รักงาม เป็นผู้มีปัญญาอ่อน ควรเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเพื่อละสุภวิปัลลาส
๒. บุคคล ผู้มีตัณหาจริตอย่างละเอียด มักติดเวทนา คือ ในสุขเวทนา มุ่งต่อเวทนาเป็นใหญ่ เป็นผู้มีปัญญากล้า ควรเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อละสุขวิปัลลาส
๓. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างหยาบ มักติดอยู่ในจิต เห็นจิตเป็นของสำคัญ เป็นของเที่ยงแท้ มุ่งจิตเป็นใหญ่ ควรเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อละนิจจวิปัลลาส
๔. บุคคล ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด มักติดอยู่ในธรรมเห็นธรรมที่เกิดกับจิตเป็นของสำคัญ มุ่งธรรมเป็นใหญ่ เห็นธรรมเป็นอัตตา ควรเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเพื่อละอัตตวิปัลลาส

อนึ่ง ในมหาสติปัฏฐานสุตตวรรณนา กล่าวว่า
" จริงอยู่บรรดาสัตว์ทั้งหลายผู้มีตัณหาจริต และทิฏฐิจริต หรือ ผู้สมถยานิก และ วิปัสสนายานิก เป็นไป ๒ อย่าง ด้วยสามารถมันทบุคคล(บุคคลผู้ที่จะบรรลุธรรมได้แต่มีปัญญาอ่อน) และ ติกขบุคคล (ปัญญาแก่กล้า) กายานุปัสสนามีอารมณ์อันโอฬาร(หยาบ) เป็นทางแห่งความหมดจดของมันทบุคคลผู้มีตัณหาจริต เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์อันสุขุม เป็นทางแห่งความหมดจดของติกขบุคคลผู้มีตัณหาจริต จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์ อันแยกออกไม่มากนัก เป็นทางแห่งความหมดจดของมันทบุคคลผู้มีทิฏฐิจริต ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งมีอารมณ์อันแยกออกมาก เป็นทางแห่งความหมดจดของติกขบุคคลผู้มีทิฏฐิจริต

อนึ่ง สติปัฏฐานที่หนึ่ง มีนิมิตอันบุคคลพึงบรรลุได้โดยไม่ลำบากเป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้สมถยานิก ผู้มีปัญญาอ่อน
สติปัฏฐานที่สอง เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้สมถยานิก ผู้มีปัญญาแก่กล้า เพราะไม่เกิดในอารมณ์หยาบ
สติปัฏฐานที่สาม มีอารมณ์อันแยกออกไม่มากนัก เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้วิปัสสนายานิก ผู้มีปัญญาอ่อน
สติปัฏฐานที่สี่ มีอารมณ์อันแยกออกมากยิ่ง เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้วิปัสสนายานิก ผู้มีปัญญาแก่กล้า
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ โดยไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ด้วยประการฉะนี้

********************
ท่านกลับกันครับ
ท่านกำลังสับสนอยู่ครับ โดยนำเอาอาจารวาทและอัตโนมัติอาจารย์
มาปนเปกันกับพระพุทธวจนะจนมั่วไปหมดนะครับ
ท่านต้องแยกว่า อ้นไหนเป็นพระพุทธวจนะ อันไหนอาจารวาท อันไหนอัตโนม้ติอาจารย์ครับ

ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นไม่มีตรงกล่าวถึงบุคคล๔จำพวกเลยครับ
ท่านว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ผมเช็คดูแล้วไม่มีพระพุทธวจนะนี้เลยละครับ
อย่ากล่าวตู่พระพุทธพจน์สิครับ เห็นแต่พระองค์ท่านตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางอันเอก(เป็นที่ไปของบุคคลผู้เดียว เป็นที่ไปในที่แห่งเดียว) เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์(ผู้ติดข้องในอารมณ์)ทั้งหลาย"

ตรงไหนครับที่พระองค์ทรงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุที่มีจริตนี้ ต้องไปตามฐานนี้"
ของแบบนี้คิดเองเออเองไม่ได้หรอกครับ แสดงว่าทางนี้ทางเดียวเท่านั้นใช่มั้ยครับ???
เพื่อความไม่ประมาท พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อีกว่า "สติปักฐาน๔อย่างคืออะไร???
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในรรมวินัยนี้(ย้ำภิกษุในธรรมวินัยนี้) ย่อมพิจารณากายในกายเนืองๆอยู่
พิจารณาเวทนาในเวทนาเนืองๆอยู่
พิจารณาจิตในจิตเนืองๆอยู่
พิจารณาธรรมในธรรมเนืองๆอยู่"

เห็นหรือยังครับว่า พระองค์ทรงตรัสให้พิจารณาเริ่มจากกายในกายไล่ไป
เพราะจะกระเทือนถึงกันหมด กาย เวทนา จิต ธรรม
มีตรงไหนครับที่พระองค์ทรงตรัสให้เลือกเอาเองตามจริต ทรงย้ำว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้เท่านั้น

ที่ท่านยกมาเป็นการกล่าวปรามาสพระพุทธองค์นะครับ เพราะทรงตร้สกับพระอานนท์ว่า
"ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์
ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

อีกพระสูตรชื่อว่า มหาจัตตารีสกสูตร กล่าวไว้อย่างชัดเจนเลยว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแก่เธอทั้งหลาย

พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่าชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ (ปัญญา)
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ (ศีล)
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นสมาธิ) เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ"


เลิกคิดเองเออเอง แล้วหันมายอมรับความจริงซะ ว่าเข้าใจผิด

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:10:07:14 น.
  
อย่าลืม ตัดตรงที่หลวงปู่ดูลย์สอนช่วงแรกไปได้ไง แสดงนิสัยชอบหมกเม็ดชัดๆ ช่วงก่อนที่คุณเอามาอ้างเขียนว่า

เห็นเปล่า ท่านว่าให้รู้สึกตัวก่อน ใครทำไม่ได้ ไปทำพุทโธ ท่านบอกไว้นะ ตัดเอาแต่ใจจริงคุณ
********************
ท่านกลับกันครับ
ท่านกำลังฉกฉวยโอกาสที่นำเอาคำสอนของครูบาอาจารย์ มาหมกเม็ดเพื่อเข้ากับทิฐิตนเองเท่านั้น
ทำไมผมจึงไม่นำเอาในช่วงแรกมาลงนั้น ผมพิจารณาแล้วว่า มีที่ไม่ใช่คำกล่าวของหลวงปู่ปะปนอยู่ครับ เช่น
"รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ" ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ
อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม"

ท่านต้องตอบผมด้วยนะครับว่า ประโยคเหล่านี้นั้น ขัดแย้งกันเองมั้ย???
"ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม"
คำว่า "อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม" ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า
ต้องมีการควบคุมบังคับหรือพยายามและแยกแยะจำแนก จึงจะไม่เป็นไปตามยถากรรม
คำเหล่าเหล่านี้ ผมเห็นก็มีอยู่ท่านเดียวเท่านั้นที่ชอบใช้ โดยแอบอ้างเป็นคำพูดหลวงปู่ครับ

ถ้าท่านอ่านไม่เข้าใจจริงๆหัดถามครูบาอาจารย์สิครับ อย่าคิดเองเออเองเพื่อให้เข้ากับจริตตนเอง
การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาให้ได้ผลนั้น ในขั้นแรกก็ต้องมีการสำรวมอินทีรย์ให้ดีก่อนทั้งนั้นครับ
เป็นการฝึกการรู้สึกตัวทั่วพร้อม เพื่อให้การทำสมาธิภาวนาให้ได้ผลดียิ่งๆขึ้น

ถ้าลองสำรวมแล้วยังไม่ได้ผลก็ให้ภาวนาคำว่า "พุทโธ"ไปด้วยก็เท่านั้นเอง
หลวงปู่ไม่เคยบอกตรงไหนเลยว่า ไม่ต้องทำสมาธิกรรมฐานภาวนาให้กำหนด "รู้เฉยๆก็พอ"
หลวงปู่ดูลย์ ตัวท่านเอง ก็ยังเข้าป่าเพื่อปลีกวิเวก
ฝึกฝนอบรมปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา "พุทโธ" อยู่ถึง๑๙พรรษา


เลิกคิดเองเออเอง แล้วหันมายอมรับความจริงซะ ว่าเข้าใจผิด

ธรรมภูต


โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:10:41:40 น.
  
คนเราจะดูปลาในน้ำ จะจับปลา ทั้งที่น้ำขุ่น คุณจะมองเห็นตัวปลาเหรอ น้ำมันทั้งกระเพื่อมทั้งขุ่นอย่างนั้น จะจับปลาได้ยังไง

เหมือนกันจะดูจิต ดันวิ่งตามไปดูกิเลส มันจะเห็นได้ยัง มันก็วิ่งตามตูดมันไปเรื่อยๆ คุณจะฆ่ามันได้ยังไง คุณต้องทำจิตให้สงบก่อนแล้วตามดูจิตที่มันคิดขึ้นมาน่ะ ลองไปอ่านคำสอนต้นตำรับของหลวงปู่ดูลย์ หรือหลวงพ่อพุธดูก็ได้ว่ามันขัดกันมากกับสิ่งที่พวกคุณกำลังปฏิบัติกันอยู่

อย่าเพิ่งโกรธผมนะพวกดูจิต

เดี๋ยวนะ การดูจิตดูกายนี่ ผมเคยฝึกมาก่อนแล้วทั้งนั้น สำนักเดียวกับท่านนี่แหละ เมื่อเกือบสองปีก่อน คำพูดหรือคำตอบเริ่มต้นของพวกคุณที่ยกมาผมก็เดาออกแล้วว่าพวกคุณจะลงท้ายกันยังไง

ตามรู้ตามจิตเฉยๆมันก็เหมือนคนบ้าสิ คนบ้ามันก็มีแต่ตัวรู้เฉยๆน่ะ

ผมถามหน่อยคุณกล้ายอมรับความจริงกันได้ไหม จิตก่อนที่จะปฏิบัติในแนวนี้กับตอนนี้ต่างกันยังไง อ้าว ทำไมถึงถามแบบนี้ ก็ต้องถามสิ เพราะนักปฏิบัติต้องรู้ความก้าวหน้าพัฒนาของจิตสิ จิตคุณเป็นยังไง

หรือเอาง่ายๆเลยผมว่าตอนนี้พวกคุณไม่ทันโทสะที่มันพุ่งขึ้นมาแล้่ว เห็นมะ ผมก็ดักจิตคุณถูก

พวกคุณก็เป็นแบบนี้ เอะอะก็อ้างคัมภีร์ อ้างทฤษฏีที่ฟังมา

เอาหล่ะ พอเท่านี้ก่อน

ขอบคุณคุณธรรมภูตครับ




โดย: คนตาบอดจูงคนตาบอด IP: 58.8.112.129 วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:20:45:51 น.
  
ตามรู้ตามจิตเฉยๆมันก็เหมือนคนบ้าสิ คนบ้ามันก็มีแต่ตัวรู้เฉยๆน่ะ

โดย: คนตาบอดจูงคนตาบอด IP: 58.8.112.129 วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:20:45:51 น
................
ขออนุโมทนาครับท่านคนตาบอดจูงคนตาบอด ผมกลับมาอ่านซ้ำถูกใจคำนี้มากครับ
เป็นการเปรียบเทียบได้ตรงมากเลยครับ กับการสอนดูจิตในปัจจุบัน
การบังคับไม่ได้ ปล่อยให้ไหลไป รู้ตามจิตเฉยๆ โดยไม่แทรกแซง และรอให้สติเกิดขึ้นเอง ตรงมั้ยครับกับคำที่เปรียบเทียบไว้...

ผมขออนุญาตนำไปใช้นะครับ

ธรรมภูต

โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 1 กันยายน 2552 เวลา:21:20:10 น.
  
เป็นคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงตาพระมหาบัวท่านเทศน์หลังฉันจังหันน่ะครับ

ผมไม่มีภูมิรู้ถึงขนาดนั้นหรอกครับ

ต้องขออภัยด้วยที่ไม่ได้ อ้างถึงครูบาอาจารย์ครับ
โดย: คนตาบอดจูงคนตาบอด IP: 202.12.118.61 วันที่: 2 กันยายน 2552 เวลา:13:38:40 น.
  
เราไม่ได้เข้ากับคุณธรรมภูต แต่ความจริงก็ต้องจริง

ใครจริงก็ถึงธรรมจริง บรรลุจริง

ถ้าไม่จริง ก็ไม่ลุจริง ด้วยไม่จริง

เค้าทำแข่งตาย หรือที่เรียกว่าเตรียมตัวตาย

ใครเลือกผิดเลือกถูกไม่ได้เกี่ยวกับผม

แต่ผมเลือกสิ่งดี ๆ ที่คุณธรรมภูตนำมาให้อย่างสนิทใจ

ธรรมะทานัง ชินาติ การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง

ขออนุโมทนากับคุณธรรมภูต

คุณได้ให้ธรรมทานแล้วครับ
โดย: ขอพูด IP: 203.154.63.2 วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:2:59:19 น.
  
อนุโมทนาครับท่านขอพูด
ผมเองก็ยินดีครับ ที่มีคนเห็นทางที่ถูกที่ควร
ไม่หลงไปกับคำสอนที่ลัดสั้นแบบง่ายๆไปด้วย

โดยความเป็นจริงแล้ววิธีแบบนั้นไม่มีในพุทธศาสนาครับ
การจะดูจิตให้เป็น ต้องเดินตามรอยพ่อแม่ครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนเท่านั้นครับ.....

เจริญในธรรมครับ

ธรรมภูต

โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 24 กันยายน 2552 เวลา:10:11:41 น.
  
ขอบคุณมากคะ คุณธรรมฑูต ที่ให้ความกระจ่าง ที่จะนำไปปฏิบัติต่อไปได้
ดิฉันเองเพิ่งกลับมาสนใจธรรมมะอีกครั้ง เนื่องจากเกิดความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ขอบคุณความทุกข์ทางกายที่ทำให้หันมาหาธรรมมะจริงจังมากขึ้น

และเริ่มสนใจการตามดูจิต แล้วก็กำลังสงสัยว่าการตามดูจิตไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิเลยหรือ ?
คือตนเองชอบการนั่งสมาธิแบบหายใจเข้าออกอยู่ก่อนแล้ว

อ่านบทความที่คุณเขียนมาแล้วทำให้ได้ความกระจ่างขึ้นมากคะ
ต่อไปนี้ก็จะกลับมาปฏิบัติในแนวทางเดิมคือ เจริญพุทธมนต์ นั่งสมาธิและเดินจงกรม แล้วนำเอาการตามดูจิตมาเพิ่มเติมในระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน

แนวทางนี้ เหมาะสมแล้วใช่หรือไม่คะ ขอคำแนะนำด้วยคะ

อนุโมทนาบุญ ที่ให้ความรู้ทางธรรมคะ
โดย: allseason IP: 124.122.192.152 วันที่: 7 ธันวาคม 2552 เวลา:20:20:02 น.
  
ขอโทษด้วยคะ คุณ ธรรมภูต ที่เขียนชื่อผิดไป
โดย: allseason IP: 124.122.192.152 วันที่: 7 ธันวาคม 2552 เวลา:20:26:53 น.
  
คอนเฟิร์มค่ะว่า มีหนทางเดียว คือต้องทำความสงบ (ด้วยวิธีต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้) ก่อน จึงจะเข้าสู่สติปัฏฐาน 4 ของแท้ อันเป็นทางเจริญมรรค และได้ผลในที่สุดค่ะ

ผิดไปจากนี้ ถือว่าเป็นการกระทำโดยกิเลสหมด สติปัญญาแบบโลกๆ ที่เฝ้าดูอาการทางกาย และจิต ไม่สามารถชำระกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตได้

นี่เป็นเหตุผลของการทำความสงบให้เข้าสู่ฐานของจิตก่อน จึงจะเจริญสติปัฏฐาน 4 ชำระกิเลส
โดย: พุทโธ IP: 124.121.212.39 วันที่: 8 ธันวาคม 2552 เวลา:15:00:11 น.
  
ขอบคุณมากคะ คุณธรรมฑูต ที่ให้ความกระจ่าง ที่จะนำไปปฏิบัติต่อไปได้
ดิฉันเองเพิ่งกลับมาสนใจธรรมมะอีกครั้ง เนื่องจากเกิดความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ขอบคุณความทุกข์ทางกายที่ทำให้หันมาหาธรรมมะจริงจังมากขึ้น
และเริ่มสนใจการตามดูจิต แล้วก็กำลังสงสัยว่าการตามดูจิตไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิเลยหรือ ?
คือตนเองชอบการนั่งสมาธิแบบหายใจเข้าออกอยู่ก่อนแล้ว
อ่านบทความที่คุณเขียนมาแล้วทำให้ได้ความกระจ่างขึ้นมากคะ
ต่อไปนี้ก็จะกลับมาปฏิบัติในแนวทางเดิมคือ เจริญพุทธมนต์ นั่งสมาธิและเดินจงกรม แล้วนำเอาการตามดูจิตมาเพิ่มเติมในระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน
แนวทางนี้ เหมาะสมแล้วใช่หรือไม่คะ ขอคำแนะนำด้วยคะ
อนุโมทนาบุญ ที่ให้ความรู้ทางธรรมคะ
โดย: allseason IP: 124.122.192.152 วันที่: 7 ธันวาคม 2552 เวลา:20:20:02 น.
......................................

ท่านallseasonครับ
ถูกต้องแล้วครับ การดูจิตที่ถูกต้องตรงต่อพระบรมครูนั้น
ต้องเริ่มต้นจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา"พุทโธ"ที่กำกับลมหายใจที่เข้าออก
เป็นการดูจิตที่เริ่มจากพื้นฐาน เพื่อให้รู้จักจิตที่แท้จริงครับ

ถ้าไม่สร้างพื้นฐานหรือฐานที่ตั้งของจิตแล้ว เราก็จะไม่รู้จักสภาพของจิตที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร

ตามที่มีการสอนดูจิตในปัจจุบันนั้น เป็นการตามดูอาการของจิตที่เกิดขึ้นแล้วค่อยรู้ทันอาการเหล่านั้น
ถามว่ามีประโยชน์บ้างมั้ย มีครับ เป็นการรู้อารมณ์ได้เร็วขึ้น แต่ปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็น

เมื่อปล่อยวางไม่เป็น ก็เป็นการสร้างภาพให้เห็นขึ้นมาแทนว่า ตนไม่ได้ผัสสะในอารมณ์เหล่านั้น
แต่แท้ที่จริงแล้วในจิตใจยังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลาที่อารมณ์นั้นยังไม่จืดจาง
เพราะปล่อยวางไม่เป็น เป็นแต่กดข่มด้วยอาการวางเฉย(เฉยโง่-ภาษาธรรม)เท่านั้น

การที่เรามาฝึกฝนอบรมจิตด้วยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นการทำความรู้จักจิต
ตั้งแต่เริ่มต้นที่จิตซัดส่ายไปตามอารมณ์ที่มาปรุงแต่งในขณะภาวนา มีอาการเช่นใด
เมื่อสามารถควบคุมให้จิตเริ่มสงบตั้งมั่นกับองค์ภาวนา
เราจะเห็นว่าจิตเริ่มปล่อยวางอาการของจิตได้มากขึ้น และรวมลงที่องค์ภาวนา
ให้เราหมั่นสังเกตว่า จิตเรารวมลงณ.จุดไหนที่ชัดเจนที่สุด
ให้ประคองจิตไว้ณ.จุดนั้น เพื่อเป็นฐานที่ตั้งของจิต(สติ)ในการปฏิบัติครั้งต่อไปอีก

ถ้าเรามีความเพียรภาวนามากพอ ย่อมทำให้เราเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
ระหว่างจิตที่สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์เป็นเช่นใด กับจิตที่กระสับกระส่ายวุ่นวายเป็นเช่นใด

เมื่อเรารู้จักจิตที่แท้จริง เราก็ย่อมรู้จักอาการของจิตเช่นกัน
ทำให้การดูจิตในชีวิตประจำของเรานั้น มีฐานที่ตั้งของสติ
การดูจิตก็จะไม่ติดความคิดหรืออาการของจิตครับ.....


ธรรมภูต


โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 8 ธันวาคม 2552 เวลา:20:17:01 น.
  
อนุโมทนาที่ให้ความเข้าใจเพิ่มเติมในการปฏิบัติคะ

สำหรับผู้เริ่มต้นใหม่

ขอบคุณมากคะ
โดย: allseason IP: 124.122.194.91 วันที่: 10 ธันวาคม 2552 เวลา:15:03:17 น.
  
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกคือ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้าหายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจเข้าหายใจออกยาว หายใจเข้า หายใจออกสั้น ก็รู้ว่าหายใจเข้าหายใจออกสั้น ศึกษาคือสำเหนียกว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า เราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก ศึกษาว่าเราจักสงบรำงับกาย สังขาร เครื่องปรุงกาย หายใจเข้าเราจักสงบรำงับกายสังขาร คือเครื่องปรุงกายหายใจออกดั่งนี้ นี้เป็นหัวข้อการปฏิบัติทำอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ส่วนวิธีปฏิบัติที่ใช้ส่าหรับประกอบเข้าเป็นคำสอนของเกจิอาจารย์คือ อาจารย์บางพวก ซึ่งการจะพอใจในวิธีปฏิบัติของอาจารย์พวกไหน ก็ควรต้องให้อยู่ในหลักแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เพื่อการปฏิบัติทำสมาธิในพุทธศาสนาจะได้เป็นไปโดยถูกต้อง

อ่านเต็มๆที่นี่ครับ การทำจิตให้ตั้งเป็นสมาธิ-สมเด็จพระญาณสังวร

ท่าน allseason ครับ
ผมได้นำบางส่วนของสมเด็จพระสังฆราชที่ท่านเทศน์ไว้มาให้อ่าน
แม้องค์ท่านเองก็ยังดำเนินตามรอยพระบรมศาสดา

ให้เริ่มต้นดูจิตโดยการพิจารณาอานาปานสติ มีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก
ซึ่งเป็นการผูกจิตให้แนบแน่นกับลมหายใจ เพื่อสร้างฐานที่ตั้งของสติ

เมื่อจิตมีฐานที่ตั้งของสติแล้ว การกำหนดรู้เพื่อดูจิตนั้น เราจะเห็นอาการของจิตได้ชัดเจน
ฝึกปล่อยวางอาการของจิตเหล่านั้น มารู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
เป็นการฝึกการปล่อยวางอารมณ์ ซึ่งต้องฝึกฝนให้ชำนาญเป็นวสีครับ

เจริญในธรรมครับ
ธรรมภูต

โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 10 ธันวาคม 2552 เวลา:20:12:47 น.
  
อนุโมทนาค่ะ คุณธรรมภูต

พระนิพนธ์เรื่องการทำจิตให้ตั้งเป็นสมาธิ-สมเด็จพระญาณสังวร

อ่านแล้ว ดีมากๆเลยค่ะ เลยคัดลอกไปลงที่บล็อกแล้วค่ะ

อ่านกันดูนะคะ การทำจิตให้ตั้งเป็นสมาธิ...สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก




โดย: สมาชิกผู้ทรงเกียรติ วันที่: 11 ธันวาคม 2552 เวลา:9:14:44 น.
  
เรียนคุณธรรมภูต

ขอบพระคุณมากและอนุโมทนาบุญ ที่กรุณาแนะนำรายละเอียดในการฝึกสมาธิและสติไปพร้อมกัน ที่สมเด็จพระญาณสังวร ท่านทรงเขียนไว้ อย่างละเอียดและชัดเจน ง่ายแก่การทำไปปฏิบัติ

ธรรมะรักษาคะ
โดย: allseason IP: 124.122.193.27 วันที่: 15 ธันวาคม 2552 เวลา:23:40:45 น.
  
จะคิดอะไรก็คิดเถอะ เชื่อแล้วทุกข์น้อยลงก็ดีกว่าปวดหัวเพราะเถียงกัน เห็นแล้วสังเวช
โดย: ทุกข์น้อยลง IP: 114.128.132.123 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:21:18:37 น.
  
คุณทุกข์น้อยลงครับ
ยิ่งคิดก็ยิ่งไหล ยิ่งไหลก็ยิ่งทุกข์
หยุดคิดก็หยุดไหล หยุดไหลก็หยุดทุกข์

ทำอย่างไรจึงจะให้ทุกข์น้อยลงได้?
ต้องลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาเท่านั้น
จึงจะทำให้ทุกข์น้อยลงได้ เพราะเป็นวิธีฝึกให้หยุดคิดได้
หยุดเป็นก็เย็นได้ หยุดไม่เป็นก็เย็นไม่ได้

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:7:54:01 น.
  
คนที่มีศีลธรรม ทำไมต้องพูดโจมตีกันขนาดนี้ด้วย
ท่านอิจฉาเขา หรือว่าท่านปลงไม่ได้ ท่านมีแนวของท่านก็ทำไปตามแนวของท่านก็ได้ องค์ที่ท่านหมายความถึงท่านก็ทำตามแนวของท่าน เขายังไม่บันลุเขาก็ทุกข์ของเขา เขาไม่ได้เอาทุกข์มากองใว้ที่หน้าบ้านท่านเมื่อไร เลิกจับผิดพระเถอะครับแล้วรีบเร่งความเพียรปฎิบัติให้ตัวเองหลุดพ้น ภูมิธรรมสูงอย่างท่านไม่นานก็น่าจะบันลุได้

โดย: อนันตริยกรรม IP: 183.89.43.173 วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:2:17:33 น
.............................
คุณอนันตริยกรรม
คุณกำลังสับสนอะไรอยู่หรือเปล่า?
ตรงไหนที่คุณเรียกว่าโจมตี อย่าเอาอคติของตนเองเป็นที่ตั้งสิ
การเปรียบเทียบหรือเทียบเคียงธรรมนั้น
ต้องยกธรรมทั้งสองฝ่ายขึ้นมาเปรียบเทียบกันใช่มั้ย?

ผมจะไปอิจฉาเพื่ออะไร? ทำให้ใกล้มรรคผลนิพพานก็ไม่ใช่
จะอิจฉาไปทำไม อย่าคิดเองเออเองเพราะอคติธรรมสิ
หัดดูแต่เนื้อธรรมก็พอ และนำไปพิจารณาว่าที่พูดไปหนะ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ใช่มั้ย?

ใครจะสอนแนวไหนอย่างไร ผมไม่สนใจหรอก เป็นแนวทางส่วนบุคคล
จะหลุดพ้นหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของเค้า ไม่เกี่ยวกับผมเลย
แต่ต้องไม่ใช่แอบอ้างเอาครูบาอาจารย์ ขึ้นบังหน้า
แถมในคำสอนยังกล่าวร้ายครูบาอาจารย์เสียอีกด้วยว่า"ท่านกล่าวธรรมคลาดเคลื่อนไป"
โดยที่ไม่เป็นความจริงเลย แบบนี้ท่านครูบาอาจารย์ท่านเสียหายหมด

ส่วนใครจะเอาทุกข์ไปกองที่ไหนนั้น ก็เป็นเรื่องของเขาอีกเช่นกัน
ใครจะรับหรือไม่รับก็ไม่มีใครห้ามได้ใช่มั้ย?
ถ้ารับก็ต้องแบกทุกข์ไปกับเขาด้วย ถ้าไม่รับเขาก็ต้องแบกกลับไปเองนั่นแหละ

ถ้าใครคิดจะสอนธรรมแล้วยังกลัวถูกจับผิดก็เลิกสอนได้แล้ว
เพราะธรรมเป็นของสากล เป็นของสาธารณะ ไม่มีลิขสิทธิ์
ใครก็สามารถนำไปวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งนั้น
ถ้าเป็นของแท้เสียอย่าง จะต้องไปกลัวอะไรหละใช่มั้ย?

ขอบคุณที่เป็นห่วง ผมเองก็ไม่เคยละความเพียรเลยแม้สักวัน
และพร้อมที่จะให้ใครก็ได้วิพากษ์วิจารณ์เนื้อธรรมที่กล่าวไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:20:31:18 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์