ธรรมะสู่การปฏิบัติ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๔
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ
คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ


(มหาจัตตารีสกสูตร)


สัมมาสมาธิของพระอริยะ ย่อมแตกต่างจากสมาธิทั่วๆไป ซึ่งมีมาก่อนหน้าที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้น สมาธิทั่วไปที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น มีทั้งรูปและอรูปเป็นนิมิตหมายในองค์ปฏิบัติภาวนา มักทำให้ผู้ปฏิบัติติดในสุขเวทนาอยู่กับสมาธินั้นได้ง่าย

ส่วนสมาธิที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบ และทรงแสดงไว้ในอริยมรรค ๘ นั้น เป็นสัมมาสมาธิที่นำไปเพื่อความหลุดพ้นของจิต ต้องละหรือปล่อยวางปิติและสุขในฌานออกไป จึงจะเข้าถึงฌาน ๔ ได้ ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดังมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้


สัมมาสมาธิ เป็นไฉน?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่

เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข

เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่


(มหาสติปัฏฐานสูตร)


สัมมาสมาธินั้น ต้องมีกายสังขารเป็นนิมิตหมายแห่งจิต ในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อใช้สักแต่ว่าเป็นที่รู้ สักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น

จึงต้องเริ่มต้นจากการพิจารณากายในกายเป็นภายใน (ดูจิต) ให้สำเร็จก่อน จนผู้ปฏิบัติเข้าถึงและรู้จักนามกายที่อาศัยทับซ้อนอยู่ภายในกาย ซึ่งเป็นการดูจิตของตนนั่นเอง

ผู้ที่จะเข้าถึงสัมมาสมาธิได้นั้น ล้วนต้องผ่านเวทนาต่างๆ ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นที่นามกาย(จิต) ในระหว่างปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอยู่

ซึ่งเมื่อผ่านเวทนาได้ หรือรู้จักเวทนาในเวทนาแล้ว จิตในจิต ธรรมในธรรมย่อมปรากฏให้ประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติเป็นลำดับตามกันมา

เพราะกาย เวทนา จิต และธรรมนั้น เป็นเรื่องเดียวกัน เนื้อเดียวกัน ที่ต่อเนื่องวนถึงกันหมด

สัมมาสมาธิของพระอริยะนั้น เกิดจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ย่อมก่อให้เกิดสัมมาทิฐิ คือ ทิฐิชอบ ทำให้จิตของตน(ผู้ปฏิบัติ) รู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทิฐิที่ถูก(จากการคิดเอา)


ปุถุชน ผู้มิได้สดับ……
เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส จึงเกิดขึ้น

ดูกรคฤหบดี ด้วยเหตุอย่างนี้แล
บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย และเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย


พระอริยสาวก ผู้ได้สดับ......
เพราะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส จึงไม่เกิดขึ้น

ดูกรคฤหบดี อย่างนี้แล
บุคคลแม้มีกายกระสับกระส่าย แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่


(นกุลปิตาสูตร)



สรุป

สัมมาสมาธิของพระอริยสาวกนั้น จิตสงบคงที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไปตามรูป-นาม ขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป ส่วนปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ตามดูจิตโดยไม่มีนิมิตหมายแห่งจิต เพิกเฉยต่อการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) เพราะมีความเชื่อว่าต้องวิปัสสนา(นึก)เท่านั้น จิตของตนย่อมไม่คงที่ และยังหวั่นไหวไปกับรูป-นาม ขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป

เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 11 มิถุนายน 2554
Last Update : 19 มกราคม 2558 20:24:49 น.
Counter : 796 Pageviews.

1 comments
  
อนุโมทนาสาธุครับ
โดย: shadee829 วันที่: 11 มิถุนายน 2554 เวลา:9:59:54 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์