|
อยากเห็นเชียงใหม่ กวดขันวินัยจราจร
ในเรื่องวินัยจราจร และจิตสำนึกของการใช้รถใช้ถนนของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเรื่องที่แปลกมาก ไม่ค่อยมีใครใส่ใจ และเป็นปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข สถิติของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละคราว ก็ล้วนบ่งชี้ว่า เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่ย้อนศร เลี้ยวในที่ห้ามเลี้ยว จอดรถในที่ห้ามจอด กลับรถในจุดคับขัน ไม่เปิดสัญญาณไฟเลี้ยว รถจักรยานยนต์ที่ไม่มีกระจกมองหลัง ผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ คุยโทรศัพท์ขณะขับขี่ ตลอดจนไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่รัดเข็มขัดนิรภัย
ทั้งๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว ปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมายังจังหวัดเชียงใหม่หลายล้านคน ทั้งเดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนตัว ทั้งมากับบริษัทท่องเที่ยว นั่นยิ่งเพิ่มปริมาณรถยนต์ในจังหวัดเชียงใหม่ขี้นมาอีกไม่น้อย ซึ่งแม้จะมีการกวดขันในเรื่องวินัยจราจรเป็นพิเศษ หรือมีการรณรงค์เรื่องการขับขี่ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละวัน หรือแก้ไขเรื่องการจราจรที่คับคั่งบนถนนเส้นต่างๆ
แต่ปัญหาใหญ่กลับเป็นเรื่องของการใช้รถใช้ถนนที่ขาดจิตสำนึก เพราะแม้จะรณรงค์กวดขันเรื่องวินัยจราจรมากแค่ไหน แต่หากไร้จิตสำนึกเสียแล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการใช้รถใช้ถนนแบบ ตามใจฉัน อย่างทุกวันนี้ได้
ลองอ่านเรื่องเล่าที่นำมาจากเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมในการเข้าไปตั้งกระทู้พูดคุยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเชียงใหม่ //www.cm108.com เรื่องนี้ดูซึ่งผู้เขียนขออนุญาตปรับเนื้อหาบ้างเล็กน้อย เพราะเจ้าของกระทู้เขียนไว้ค่อนข้างขาดวรรคตอน ทำให้อ่านยาก รวมทั้งปรับจากภาษาพูดให้ออกมาในรูปของภาษาเขียนเพื่อให้อ่านง่าย แล้วพิจารณาเอาเถิดว่าท่านรู้สึกอย่างไร?...
ดิฉันย้ายมาอยู่เชียงใหม่ได้ 7 ปี ก็คงจะถือได้ว่าเป็นคนเชียงใหม่คนหนึ่งได้แล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาตอนประมาณ 5 โมงเย็นขณะที่ขับรถ กลับบ้านบนถนนสายหางดง เห็นรถพยาบาลของโรงพยาบาลสันป่าตองเปิดไฟขอทางมาแต่ไกล เลยรีบเปิดไฟเลี้ยวซ้ายและเลี่ยงเพื่อให้ทางแก่รถพยาบาล แต่อนิจจามีรถยนต์วีโก้ สีดำ (จำทะเบียนได้แม่นเลยค่ะ อยากจะบอกทะเบียนจริง ๆ แต่กลัวจะโดนฟ้องเอา) มัวแต่ขับกินลมชมวิวขวางทางอยู่ไม่หลบซักกะทีจนรถพยาบาลต้องบีบแตรเพื่อขอทาง...
เห็นภาพแบบนี้ทำให้นึกย้อนไปเมื่อปี 2542 ตอนนั้นดิฉันทำงานอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน แล้วเดินมากไปหน่อยทำให้ตกเลือด เวลาประมาณ 1 ทุ่มของคืนวันศุกร์ที่สามีก็ไปเข้ากะทำงานพอดี ดิฉันอยู่ที่คอนโดฯ แต่เพียงลำพัง และได้โทรบอกอาการแก่สามีแล้ว แต่รถติดมากไม่สามารถจะมาพาไปส่งโรงพยาบาลได้ทัน สามีเลยโทรแจ้ง 191 ปรากฏว่าทาง 191 ประสานงานศูนย์กู้ชีพนเรนทรให้มาช่วยชีวิตดิฉันไว้
ดิฉันอยู่คอนโดชั้น 4 เจ้าหน้าที่กู้ชีพไม่ได้ใช้ลิฟท์เลย คงเกรงว่าจะไม่ทันการ พากันวิ่งขึ้นบันไดมา จากนั้นก็รีบวัดความดัน ชีพจร แล้วรีบนำตัวดิฉันขึ้นรถพยาบาล ตอนนั้นดิฉันยังมีสติดีอยู่แต่ปวดท้องมาก เจ้าหน้าที่ถามว่าจะให้พาส่งโรงพยาบาลไหน (รถที่มารับเป็นรถของโรงพยาบาลเลิดสิน) ดิฉันบอกขอเป็นราชวิถีก็แล้วกัน เพราะไม่รู้จักโรงพยาบาลไหนแล้ว
ช่วงที่อยู่บนรถพยาบาล ดิฉันได้ยินเจ้าหน้าที่ประจำรถประสานงานกับตำรวจตลอดเวลา ว่าตอนนี้รถจะขึ้นทางด่วนแล้ว ขอช่วยเปิดทางให้ก่อน..แล้วได้ยินเจ้าหน้าที่โทรคุยกับสามีว่าจะนำส่งที่โรงพยาบาลราชวิถี ให้ไปรอที่โรงพยาบาลได้เลย
สรุปว่า วันนั้นดิฉันถึงโรงพยาบาลราชวิถีภายในเวลา 25 นาที (จากคอนโดมีเนียมย่านบางนา) และมาทราบที่หลังจากสามีว่า ทางศูนย์กู้ชีพประสานงานกับตำรวจขอช่วยเปิดไฟแดงแยกอนุสาวรีย์หมดทุกแยกพร้อมช่วยสกัดรถทุกทางให้จอดนิ่ง เพื่อที่จะให้รถพยาบาลไปก่อน คิดดูสิค่ะ ช่วงเย็นวันศุกร์รถติดแค่ไหน พอลงจากรถพยาบาลแล้วดิฉันยังไม่วายกังวล จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงค่าบริการในการนำตัวดิฉันส่งโรงพยาบาล... เจ้าหน้าที่ตอบว่า อย่ากังวลเลย ขอให้คุณปลอดภัยก็ดีใจแล้ว เพราะนี่เป็นโครงการของพระเจ้าอยู่หัว.....ดิฉันยกมือประนมขึ้นเหนือหัว ก่อนที่จะไหว้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน...
ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ไม่ได้หวังอะไรหรอกค่ะ เพียงแต่อยากเห็นเชียงใหม่เป็นแบบนี้บ้างและเพื่อที่จะบอกว่าคนดีคนเลวปะปนกันไปไม่ว่าอาชีพอะไรเมื่อเห็นสิ่งเลวก็อย่าลืมหันกลับมามองสิ่งดี ๆ กันบ้าง....เอาน่า คงจะมีให้เห็นอยู่บ้างแหละ และนี่เป็นอีกหนึ่งข้อความในกระทู้เดียวกัน ซึ่งอ่านแล้วคงสะท้อนจิตสำนึกให้กลับคืนมาได้บ้าง... คนที่เคยรอลุ้นความเป็นความตายของคนที่เรารักอยู่ในรถพยาบาล จะรู้ดีค่ะ ว่ามันทรมานแค่ไหน? อยากให้ถึงโรงพยาบาลเร็วเพียงใด? ดิฉันเป็นคนหนึ่ง ที่สามีประสบอุบัติเหตุเป็นตายเท่ากัน ต้องลุ้นตลอดเวลาว่า จะหยุดหายใจเมื่อไหร่? จากลำพูนไปเชียงใหม่ รู้สึกว่า เวลามันช่างยาวนาน นับจากวันนั้น จนถึงวันนี้ เวลาผ่านไป 5 ปีแล้ว ความรู้สึกบนรถพยาบาลคันนั้น ยังอยู่กับดิฉันตลอดเวลา คราวใดที่เห็นรถพยาบาล หรือรถฉุกเฉินตามหลังมา ดิฉันจะหลบชิดซ้าย ชะลอรถ หรือจอดข้างทาง จนกว่ารถพยาบาลจะวิ่งผ่านไปทุกครั้ง และภาวนาให้คนเจ็บที่มีวินาทีเป็นวินาทีตายบนรถคันนั้นปลอดภัย.. ท่านผู้อ่านอ่านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง? แม้เรื่องที่นำมาเล่าบอกนี้ ไม่ได้เป็นการทำผิดวินัยจราจรร้ายแรง หรือเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง แต่ผู้เขียนเองต้องยอมรับว่า รู้สึกอาย รู้สึกตระหนก และกังวลใจ หากสิ่งที่เกิดขึ้นในการใช้รถใช้ถนนบนท้องถนนของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นไปอย่างไร้จิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบ และไร้วินัยจนกลายเป็นความเคยชิน กระทั่งผู้ขับขี่ยานพาหนะเอง ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่ตัวเองปฏิบัติและทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เช่นที่เราเห็นกันจนชินตา ไม่ว่าจะเป็นการกลับรถในที่คับขัน การขับขี่ย้อนศร การเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาโดยไม่ให้สัญญาณไฟเลี้ยว และการเลี่ยงสัญญาณไฟจราจรตามสี่แยกต่างๆ โดยการขับรถอ้อมไปยังเส้นทางที่เป็นไฟเขียว เพื่อไปเลี้ยวซ้าย เมื่อเส้นทางที่ตนต้องการไปในทางตรงนั้นเป็นสัญญาณไฟแดง เป็นต้น เป็นการกระทำผิดวินัยจราจร และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ขอเถอะ ขอช่วยได้คำนึงกันสักนิด เกี่ยวกับเรื่องวินัยจราจร และจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนน อย่าได้ทำตามอำเภอใจ หรือเคยชินจนกลายเป็นนิสัยที่พอกพูน แก้ไม่ได้ และสุดท้ายกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ดีไม่งามของเชียงใหม่ให้ผู้คนกล่าวขานอีกด้านที่ช่างไม่น่าภาคภูมิเอาเสียเลย...
Create Date : 31 กรกฎาคม 2552 | | |
Last Update : 31 กรกฎาคม 2552 15:28:13 น. |
Counter : 440 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ยำเชียงใหม่ - รากเหง้า แต่เก่ากาล
เจียงใหม่ เชียงใหม่ หรือเวียงพิงค์ ที่เรียกกันมาแต่ในอดีต มาวันนี้ไม่เหมือนก่อนแล้ว แม้ผู้คนบางส่วนจะยังคงดำเนินชีวิตไปตามวิถีแห่งตน ตามวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างที่เคยเป็น และพยายามสืบสาน อนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ก็กลายก็เปลี่ยนไปจากเดิมไม่น้อย
ทั้งเพราะการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม รูปแบบที่เลือนลางของประเพณี การส่งผ่านรุ่นต่อรุ่นที่คลุมเครือ กับทั้งเพราะการผสมผสานเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความหลากหลายของกลุ่มชนที่เข้ามาตั้งรกรากปักฐาน จับจองพื้นที่ค้าขายทำกิน ทำให้รูปแบบวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ตลอดจนประเพณีต่างๆ มีการยึดปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งที่หมาย
เหล่านี้ อาจเพราะไม่ทันได้ฉุกคิด อาจเพราะไม่เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ รวมทั้งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด ก็เพราะเจตนาจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมเดิมโดยจงใจ หาได้ไยดีต่อความคลาดเคลื่อนไปจากภูมิปัญญาที่เคยเป็น
ชุมชนปฐมภูมิถูกกลืนด้วยวิถี และแนวคิดใหม่ๆ โครงสร้างของอาคาร ห้างร้าน ตึกแถวรูปร่างแปลกๆ ผุดขึ้นรายล้อม แม้แต่กาดหรือตลาดยังเปลี่ยนวิธีซื้อขาย จากกาดนัด กาดงาย กาดแลง เป็นกาดถนนคนเดินที่ผู้คนชักชวนกันมาเที่ยวมาแอ่ว มากกว่าจะมาจับจ่ายหาสิ่งจำเป็นทำข้าวแกงมื้อและใช้สอย
จากวิถีแห่งคนเมืองที่เรียบง่าย เนิบช้า เหตุเพราะไม่เห็นจำเป็นต้องรีบเร่งอันใด อยากไปอยากมา อยากหาอยากได้ ก็ประคองชีวิตให้ผ่านพ้นแต่ละมื้อละวันไปอย่างนั้น แต่เมื่อความเจริญที่ไหลบ่ามาจากทุกทิศทุกทาง และกระจายขยายไปทุกมุมหลืบ บ้างรับไหว บ้างรับไม่ทัน วิถีที่เคยเป็นจึงแปรเปลี่ยน เปลี่ยนจนสิ่งที่เคยชินถูกมองว่าไม่เหมาะสม ที่ปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันกลับไม่ถูกต้อง หากไม่ใจแคบนัก จะลองเปิดใจรับฟังข้อคิด ข้อถามที่คนบ้านอื่นเมืองไกลเขามองย้อนมายังคนเมืองเชียงใหม่ในมุมที่ต่างไปดูบ้าง แล้วพินิจเอาว่าเมืองเชียงใหม่วันนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะตระหนัก และหันมาหวงแหนวิถีแห่งตนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อพบเห็นสิ่งไม่ถูกไม่ควรก็ทักท้วงทวงถามตามสิทธิที่มีที่เป็น ธำรงรักษ์สืบสานคุณค่าของคนเมืองเชียงใหม่แต่หนหลังอย่างที่เคยมีเคยเป็นให้คงอยู่สืบไป
หาใช่เพียงแต่หลงภาคภูมิกับขนบผิวเผิน เฝ้าอวดผู้มาเยือนได้แค่เปลือกแห่งวัฒนธรรม และลูบคลำธรรมเนียมประเพณีแต่เพียงผิวแผ่ว โดยหลงลืมแก่น หรือกระพี้อันเป็นอัตลักษณ์ที่ถ่องแท้ เป็นรากเหง้าแห่งภูมิปัญญา ซึ่งแทรกอยู่ในทุกอณูเนื้อแห่งวิถีมานานเนิ่นนั้น แล้วเพิกเฉยปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามวิถีแห่งความเปลี่ยนแปลงโดยไม่คำนึงใดใด และละเลยว่าไม่ใช่หน้าที่ แล้วมาเรียกร้องเอาภายหลังต่อเมื่อสายไปเสียแล้ว
เช่นนั้น ภาษิตโบราณของชาวเชียงใหม่ที่ว่า เผื่อรู้คิง น้ำปิงปอแห้ง.. ที่ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็ไม่มีวันจะเกิดสถานการณ์ขึ้นจริงตามนั้นได้ จะเหือดขอดไปในยุคแห่งเรานี้เสียแล้ว...
Create Date : 30 มิถุนายน 2552 | | |
Last Update : 2 กรกฎาคม 2552 9:41:30 น. |
Counter : 386 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|