|
ข้าวตอก
เมื่อพ่อเริ่มรู้ว่า ลูกในครรภ์ของแม่เป็นป้อจาย ในวันที่คุณหมอเพิ่นอัลตร้าซาวด์เซาะหาเพศของลูก และชี้จุดไปยังอวัยวะ(ที่บ่งชี้)เพศของลูก พร้อมกับอุทานว่า
"วู้..นั่นไง จู๋ เห็นชัดขนาด ยืนยันค่ะ ว่า ผู้ชาย ยินดีด้วยนะคะ"
วันนั้นพ่อก็เอิ้นบอกแม่ว่า พ่อจะเรียกลูกว่า "ข้าวตอก" แม่พยักหน้ารับ และบอกว่า "น่าฮักดี"
วันนี้ลูกของพ่อ จึงได้ชื่อเล่นว่า "ข้าวตอก"
"ข้าวตอก" ในความหมายเชิง Biology คือ ข้าวเปลือกที่คั่วให้แตกออกเป็นดอกขาว ใช้ข้าวเปลือกใหม่ๆ ที่ผึ่งแห้งสนิทแล้วมาคั่วไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกัน เมื่อร้อนถึงขีดหนึ่งเนื้อในจะขยายบานออก ดันเปลือกให้ขาดจากกัน เมื่อฝัดเอาเปลือกทิ้งไป จะได้ข้าวตอกไว้ใช้ในการทำพิธีต่างๆ หรือปรุงเป็นอาหารอื่นๆ เช่น ข้าวตอกน้ำกะทิ กระยาสารท ข้าวตอกตั้ง เป็นต้น ข้าวตอกเป็นข้าวที่ขยายเม็ดออกบาน มีสีขาว เก็บไว้ได้นานไม่เสีย จึงถือเป็นสิ่งมงคลที่ใช้ในการทำพิธีมงคล ใช้โปรยรวมกับดอกไม้ และเงินทอง เป็นเคล็ดว่า ให้รุ่งเรืองเฟื่องฟูขยายออกได้เหมือนข้าวตอก
"ข้าวตอก" ในความเป็นล้านนา เครื่องสักการะบูชาของชาวล้านนา มีสิ่งของหลัก คือ ข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน เครื่องสักการะดังกล่าวนี้อาจใช้บูชาบุคคลที่ควรแก่การบูชา รวมไปถึง ผี เทวดา เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ในฐานะที่ชาวล้านนานับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ก็ได้ใช้เครื่องสักการะบูชาเหล่านี้สำหรับบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดังปรากฏคำไหว้ขอขมาแก้วทั้งสาม (พระรัตนตรัย) ตอนหนึ่งว่า
"บัดนี้ ผู้ข้าทังหลาย ก็ตกแต่งแปลงพร้อม น้อมนำมายัง อัคคิธูปะบุปผา ลาชา ดวงดอก ข้าวตอก ดอกไม้ ลำเทียนมวลมาก ปฐมวิภาคเบื้องต้นหนที จักขอปูชายังพระธัมม์หอมรื่น นับได้แปดหมื่นสี่พันขันธ์ ส่วนตติยกัณฑ์วิภาค ผู้ข้าหากปูชายังพระสังฆะเจ้า อันมีสีลใสบ่เส้า เรืองงาม..."
เรื่องของเครื่องสักการะบูชา มีผู้รู้ได้ตีความหมายเชิงสัญลักษณ์อีกทั้งยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจไว้ว่า
ข้าวตอก หรือที่ภาษาบาลีว่า "ลาชา" เป็นเครื่องบูชาพระพุทธ ด้วยคุณสมบัติที่เปรียบได้กับคุณของพระพุทธเจ้าสามประการ คือ ๑. ขณะที่คั่ว มีลักษณะแตกกระจายออกเป็นดอก เปรียบเสมือนความแตกฉานของพระปัญญาธิคุณ ๒. มีสีขาวบริสุทธิ์ เปรียบดังพระวิสุทธิคุณ ๓. มีลักษณะเบ่งบานดุจดั่งพระเมตตาที่เบ่งบานงดงามอยู่เต็มน้ำพระทัย เปรียบได้กับพระมหากรุณาธิคุณ ดอกไม้ เป็นเครื่องบูชาพระสงฆ์ เพราะดอกไม้มีหลากชนิด มีสีสันต่างๆ กันไป เมื่อเก็บมารวมอยู่ในที่เดียวกัน เสมือนพระสงฆ์แต่ละรูปมาจากที่ต่างกัน เมื่อมาบวชเป็นพระสงฆ์ในศาสนา ถือปฏิบัติในพระวินัยเดียวกันก็ย่อมงดงามเป็นหนึ่งเดียว
พ่อตั้งชื่อลูกว่า "ข้าวตอก" ด้วยหมายว่า ยามใดที่ไปร่วมในงานบุญใดใดตามพิธีกรรมทางศาสนาของชาวล้านนา จะมีการเอ่ยทักชื่อ ทักนามอันเป็นมงคลแก่ตนแก่ตัวของลูกทุกยามไป ทั้งนี้ จักหมายเอาว่า ได้ถวายลูก(ข้าวตอก)ไว้ในบวรพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคล บ่ห่างบ่หายจากหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอหื้อลูกอยู่ในศีล กินในธรรม เป็นคนดีของสังคม และสากลโลกสืบไป
ในวันที่คุณแม่ไปนอนโรงพยาบาลเพื่อรอผ่าตัดคลอด คุณแม่มีท่าทีและอารมณ์แจ่มใสตลอดเวลา
7 มกราคม 2552 เวลาบ่ายสองเศษๆ ขณะคุณแม่นอนพักฟื้นเพราะฤทธิ์ยาบล็อกหลัง ภายหลังการผ่าตัด พ่อ ซึ่งรออยู่ข้างนอกก็ได้เห็นหน้าลูกเป็นครั้งแรก ผ่านตู้อบปรับสภาพ พ่อจ้องมองลูกนานเนิ่น พลางครุ่นคิด นั่นลูกเหรอ นี่คือสิ่งที่ดิ้นขลุกขลักอยู่ในท้องแม่ คือสิ่งที่พ่อเฝ้าพูดคุยและร้องเพลงกล่อมนอน และสัมผัสผ่านพุงคุณแม่เหรอ..แล้วน้ำตาพ่อก็ไหลด้วยความปลาบปลื้ม... โถ..ลูกพ่อ..ดูซิเจ้า
Create Date : 18 พฤษภาคม 2552 | | |
Last Update : 18 พฤษภาคม 2552 21:47:40 น. |
Counter : 966 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|