ความเป็นมาของแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา


ความเป็นมาของแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา

ความหมายเทคโนโลยีทางการศึกษา
Techno มาจากภาษากรีกว่า Technologia หมายถึง ศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือทักษะ(art science or skill) และมาจากภาษาลาตินว่า Texere หมายถึงการสานหรือการสร้าง (กิดานันท์
มลิทอง, 2540) โดยมีผู้นักวิชาการให้คำนิยามของคำว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ไว้แตกต่างกันหลายมิติ ดังนี้
Good C. (1973) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษาหมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดนเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนมากกว่ายึดเนื้อหาวิชามีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติโดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้โสตทัศนูปกรณ์รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ
Gane and Briggs (1974) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา พัฒนาจากการออกแบบการเรียนการสอนรูปแบบต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมศาสตร์ ทฤษฎีการเรียนรู้ เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ และความสนใจในเรียนรู้ของแต่ละบุคคล
AECT (1977) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เป็นกระบวนการบูรณาการที่เกี่ยวกับมนุษย์ วิธีดำเนินการ แนวคิด เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อการวิเคราะห์ปัญหา การคิดวิธีการนำไปใช้ การประเมินและการจัดแนวทางการแก้ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ทั้งมวลของมนุษย์
กิดานันท์ มลิทอง (2540) ได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาแนวคิด เทคนิค วิธีการ วัสดุ อุปกรณ์ การจัดระบบสารสนเทศ และสิ่งต่าง ๆ มาใช้ในการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน
ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2545) ได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นศาสตร์ว่าด้วยวิธีการหรือการศึกษา เป็นเรื่องของระบบในการประยุกต์เอาเทคนิควิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาทั้งในด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน
จากพจนานุกรมศัพท์ทางการศึกษาได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและประสานสัมพันธ์อย่างมีบูรณาการ ระหว่างบุคคล วิธีการ เครื่องมือ และการจัดระบบองค์การสำหรับวิเคราะห์ปัญหา วิธีแก้ปัญหา ดำเนินการประเมินผล และการจัดการแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกลักษณะของการเรียนรู้ (สุวิทย์ และคณะ, 2540)
Heinic, Molenda and Russel (2000) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ให้ปฎิบัติได้ในรูปแบบของการเรียนการสอน อีกนัยหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์(ทั้งด้านยุทธวิธี และด้านเทคนิค) เพื่อแก้ปัญหาทางการสอน เป็นความพยายามสร้างการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยออกแบบ ดำเนินการและการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยในการเรียนและการสื่อสาร
จากความหมายต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด วัสดุ อุปกรณ์ และศาสตร์ทางการศึกษา มาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาทางการศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน โดยแต่ละส่วนของกระบวนการมีความเป็นบูรณาการไม่ได้แยกเป็นอิสระจากกัน ทำให้นิยามของเทคโนโลยีทางการศึกษามีจุดเริ่มต้นจาก สอง แนวความคิด ดังนี้ (ชัยยงค์, 2545 : 12-13)
แนวคิดที่ 1 เน้นสื่อ (สื่อ+อุปกรณ์)
เป็นแนวคิดที่นำผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ที่มีทั้งวัสดุสิ้นเปลือง (Software) และอุปกรณ์ที่คงทนถาวร(Hardware) แนวคิดนี้เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการฟังด้วยหู และชมด้วยตา สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเน้นสื่อถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของครู นักเรียนซึ่งถือได้ว่าเป็นตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science Concept) ตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้น อาทิเช่น เครื่องฉายภาพข้ามศรีษะ เครื่องรับโทรทัศน์ ภาพยนตร์ คอมพิวเตอร์ และรายการอื่นๆ ที่อยู่ในรูปของอุปกรณ์ (Hardware) และวัสดุ (Software)
แนวคิดที่ 2 เน้นวิธีการ (สื่อ+อุปกรณ์ + วิธีการ)
เป็นแนวคิดที่ประยุกต์หลักการทางจิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษย์วิทยา และผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ เน้นวิธีการจัดระบบ (System Approach) ที่ใช้ในการออกแบบ การวางแผน ดำเนินการตามแผน และประเมินกระบวนการทั้งหมดของการเรียนการสอน ภายใต้วัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ด้วยการใช้ผลการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ การสื่อสาร เป็นพื้นฐานการดำเนินงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นตามแนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science)
จากแนวความคิดดังกล่าวข้างต้น เทคโนโลยีการศึกษา ตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science Concept) นั้น เป็นแนวคิดที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจ เพราะเน้นสื่อสิ่งของ แต่แนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) ที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับวิธีระบบ เป็นแนวคิดที่คนยังเข้าใจน้อย เพราะเน้นสื่อประเภทวิธีการ หรืออาจกล่าวโดยสรุป คือ เทคโนโลยีการศึกษา ตามแนวทางแรกนั้นเป็นเทคโนโลยีเครื่องมือ และแนวคิดอย่างหลังนั้นเป็นเทคโนโลยีระบบ
แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการศึกษา ยังมีภาพลักษณ์ของโสตทัศนศึกษา (Audio Visual Education) อยู่มาก เป็นผลทำให้เทคโนโลยีการศึกษามีภาพที่บุคคลทั่วไปมองและเข้าใจว่า ธรรมชาติของเทคโนโลยีการศึกษา เน้นหนักเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ ตลอดจนการนำผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา นับได้ว่าการที่บุคคลจำนวนมากมีความเข้าใจในลักษณะดังกล่าวถือเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะธรรมชาติของเทคโนโลยีการศึกษา อีกมิติหนึ่งคือ เทคโนโลยีระบบที่เน้นเกี่ยวกับการจัดการ การออกแบบ การวางแผน การดำเนินการตามแผนและการประเมิน ซึ่งเป็นการนำวิธีระบบมาใช้เพื่อแก้ปัญหา หรือจัดสภาพการณ์ทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย

พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสหวิทยาการที่รวมเอาศาสตร์ต่าง ๆ มาประกอบกัน ได้แก่ พฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Sciences) วิทยาการจัดการ (Management Science) และวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science) จากศาสตร์ดังกล่าวจึงเกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษา โดยมีพัฒนาการจำแนกได้ดังนี้
1. นักการศึกษาที่เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีการศึกษา
แนวคิดของนักการศึกษาที่มีส่วนวางรากฐานทางเทคโนโลยีการศึกษา แบ่งเป็น 2 ยุค
ตามช่วงระยะเวลาดังนี้
1.1 ยุคเริ่มแรก จนถึง ปี ค.ศ.1900
1.1.1 กลุ่มโซฟิสต์ (450-350 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นกลุ่มนักการศึกษา (Elder Sophists) เป็นผู้ริเริ่มปูพื้นฐานเทคโนโลยีและการสอน มีการใช้เทคโนโลยี การจัดองค์กรสังคม เน้นพัฒนาการที่ประสบการณ์ เปิดโอกาสให้ผู้ฟังเสนอแนะให้บรรยายในสิ่งที่ต้องการรู้และบรรยายตามความต้องการของผู้บรรยายหรือผู้ฟัง เป็นการบรรยายแบบเปิดใจและสนทนาโดยให้ผู้เรียนใช้ความคิดเห็น มีการวิเคราะห์
1.1.2 โสเครติส (ค.ศ.399-470) คิดวิธีการสอนแบบ “Socratic Method” คือการสอนแบบใช้คำถามนำเป็นชุด ซึ่งผู้เรียนเรียนรู้ได้และคำถามต้องเป็นสิ่งที่ผู้เรียนมีประสบการณ์มาแล้ว
1.1.3 อเบลาร์ด (ค.ศ.1079-1142) คิดวิธีการสอนที่เรียกว่า “Scholastic Method of Instruction” คือการสอนเชิงพุทธิปัญญาโดยฝึกผู้เรียนให้อาศัยหลักการวิเคราะห์ตรรกศาสตร์ของอริสโตเติล ซึ่งเขาได้เขียนไว้ในหนังสือ Sic et Non (Yes and No) แสดงถึงวิธีการสอนของเขา ซึ่งให้แง่คิด ความรู้แก่ผู้เรียนโดยเสนอแนะว่า อะไรควรและไม่ควร นักเรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจและสรุปเลือกเอง วิธีการของอเบลาร์ด เป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสวน วิจัย ทดลอง และค้นคว้า
1.1.4 คอมินิอุส (1592-1670) หลักการสอนของคอมินิอุสมีหลายประการที่สำคัญคือ
1) ใช้วิธีการสอนโดยเลียนแบบธรรมชาติ เนื้อหาต้องจัดให้เหมาะสมกับผู้เรียน
2) การเรียนการสอนควรเริ่มจากวัยเยาว์ ออกแบบให้เหมาะสมกับอายุ ความ สนใจ และความสามารถของผู้เรียน
3) ควรจำแนกและเรียงเนื้อหาจากง่ายไปหายาก
4) สอนในสิ่งที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
5) ควรมีแบบเรียนที่มีภาพประกอบควบคู่ไปกับการสอน
6) สอนตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง
7) หลักการแนวคิดทั้งหลายควรอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ
8) การเรียนควรใช้วิธีการสัมผัสโดยหาของจริงมาให้ผู้เรียนศึกษาประกอบ คำอธิบาย
9) การอ่านและเขียนควรสอนด้วยกันและสัมพันธ์กับเนื้อหา
10) เนื้อหาการสอนแบบบรรยายและมีภาพประกอบ
11) ไม่ควรลงโทษด้วยวิธีการเฆี่ยนตีเมื่อผู้เรียนประสบความล้มเหลว
12) การเรียนวัตถุประสงค์เนื้อหาใด ๆ ควรเน้นลำดับ ตำแหน่ง และความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น
13) โรงเรียนควรมีบรรยายกาศที่ดีในการเรียนการสอน
คอมินิอุส ได้เขียนหนังสือที่สำคัญเกี่ยวกับเทคนิคการสอนของเขาคือ Great Didactic และอีกเล่มคือ โลกในรูปภาพ Orbus Pictus แนวความคิดของคอมินิอุสได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในการเรียนการสอนจนปัจจุบัน
1.1.5 แลนคาสเตอร์ (1778-1838) ได้เริ่มการสอนระบบพี่เลี้ยง (Monitor System) โดยครูสอนหัวหน้านักเรียน (พี่เลี้ยง) และหัวหน้านักเรียนจะสามารถสอนนักเรียนได้ต่อไป วิธีการของเขาคือการจัดสภาพห้องเรียน ดำเนินการสอนและใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างคุ้มค่าและประหยัด
1.1.6 เปสตาลอสซี่ (1746-1827) พัฒนาระบบการศึกษาที่ยึดหลักการศึกษา จากหนังสือ Emile ของรุสโซ โดยเน้นการศึกษาตามความสนใจของผู้เรียน จัดสภาพแวดล้อมให้เรียนรู้ตามธรรมชาติ ประยุกต์หลักจิตวิทยามาใช้ในการสอนด้วยการเน้นประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับ (1) ตัวเลข (2) รูปร่าง และ (3) ชื่อและความคิด
1.1.7 เฟรอเบล (1782-1852) เป็นผู้ริเริ่มการอนุบาลศึกษา โดยเน้นการสอนให้มี (1) กิจกรรมอิสระ (2) ความคิดสร้างสรรค์ (3) การเข้าสังคม และ (4) การแสดงออกทางกาย ระบบการสอนของเฟรอเบล จึงครอบคลุมเนื้อหาและประสบการณ์ 3 ลักษณะ ได้แก่ (1) เกมและเพลง (2) การก่อสร้าง และ (3) รางวัลและอาชีพ
1.1.8 แฮร์บาท (1776-1841) เป็นผู้เน้นทฤษฎีการสอน 4 ขั้น คือ (1) ความชัดเจน ในขั้นรับความรู้ใหม่ (2) การเชื่อมโยง ความรู้ใหม่กับความรู้เก่า (3) จัดระบบ คือ ขั้นรวบรวมแนวคิดหรือสรุป และ (4) วิธีการ คือขั้นของการนำไปใช้
1.2 ยุค ค.ศ.1900-ปัจจุบัน
ยุคนี้เป็นยุคเริ่มต้นของการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเรียนการสอน แนวคิดของนักการศึกษา ซึ่งเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีการศึกษามีดังนี้
1.2.1 ธอร์นไดค์ (1874-1949) เป็นผู้นำของทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มเชื่อมโยงนิยม
โดยเน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองและเขาได้เสนอกฎ 3 กฎ อันเป็น หลักการที่จะนำไปสู่เทคโนโลยีการศึกษาดังนี้
1) กฎแห่งการฝึกหัดหรือกระทำซ้ำ
2) กฎแห่งผล
3) กฎแห่งความพร้อม
1.2.2 ดิวอี้และคิลแพทริก (1859-1965) ดิวอี้เป็นผู้นำกลุ่มพิพัฒนาการ และเน้นการสอนแบบแก้ปัญหา (Problem Solving) เขาประกาศจิตวิทยาการเรียนรู้ที่ไม่เน้นตัวแหย่และการตอบสนอง และได้แนะนำแนวคิดใหม่ที่ว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีจากการกระทำ สิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหา
คิลแพทริก เป็นผู้เผยแพร่ทฤษฎีของดิวอี้ และได้คิดวิธีการสอนแบบโครงการ
(Project Method) ซึ่งครูเป็นผู้จัดสภาพแวดล้อม ช่วยเหลือผู้เรียนในการจัดขอบเขตการเรียนรู้ ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือทำกิจกรรม ให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย
1.2.3 มอนเตสซอรี่ (1870-1952) เป็นผู้นำทางอนุบาลศึกษา จัดตั้งบ้านเด็ก มีวิธีสอนคือ จัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน ให้ผู้เรียนมีอิสระและฝึกใช้ประสาทสัมผัส
1.2.4 เลวิน (1900-1947) เป็นนักจิตวิทยาที่สนใจศึกษาเรื่องแรงจูงใจ บุคลิกภาพ จิตวิทยาสังคม และกลุ่มสัมพันธ์ ซึ่งเลวินได้กำหนดหลักการตามความคิดไว้คือ (1) Life Space อวกาศแห่งชีวิต เป็นโลกทางความคิดของคน (2) Topological คือโครงสร้างการรับรู้และปฏิกิริยาต่าง ๆ (3) Vector เน้นเรื่องทิศทางและความแข็งแรงของแรง ทั้งแรงขับและแรงต้าน หลักการของเลวินได้กำหนดสูตรขึ้นมา ดังนี้ B = f (P,E) หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลจะขึ้นอยู่กับการปะทะกันระหว่างบุคคล (P) และสิ่งแวดล้อม (E) ในสนามทางจิตวิทยา (Psychology Field)
1.2.5 สกินเนอร์ (1947) เจ้าของทฤษฎีการวางเงื่อนไข แบบอาการกระทำ (Operant Conditioning) เป็นพฤติกรรมการตอบสนองต่อการเสริมแรง ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดของการเสริมแรง โดยเขาเสนอแนะว่า กระบวนการเรียนควรจะแบ่งเป็นขั้นตอนย่อย ๆ และแต่ละขั้นตอนย่อย ๆ ควรมีการเสริมแรงให้สอดคล้องกับการประสบความสำเร็จของผู้เรียนโดยใช้เครื่องช่วยสอน แนวคิดของสกินเนอร์มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของการเรียนการสอนแบบโปรแกรม จนพัฒนามาเป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่า นักการศึกษาในยุค 1900 จนปัจจุบัน มีการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีการสังเกต การตั้งสมมติฐานและการทดลอง เข้ามาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีทางการศึกษา นอกจากแนวคิดของผู้นำทางเทคโนโลยีการศึกษาที่กล่าวมาแล้ว ยังมีแนวคิดและทฤษฎีของนักจิตวิทยาและนักการศึกษาหลายท่านที่มีผลต่อเทคโนโลยีทางการศึกษาเช่น ทฤษฎีการเรียนรู้ของกลุ่มเกสตัลท์ อันเป็นทฤษฎีการรับรู้และการหยั่งเห็น ทฤษฎีและแนวคิดของบลูมซึ่งจำแนกจุดมุ่งหมายเป็นด้านความรู้ เจตคติ และทักษะ โครงสร้างทางสติปัญญาของกิลฟอร์ด ซึ่งประกอบไปด้วย 3 มิติ คือ มิติด้านเนื้อหา มิติด้านปฏิบัติการ และมิติด้านผลผลิต ทฤษฎี และรูปแบบการสอนของกาเย่ ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนรู้และทฤษฎีการจัดระบบการเรียน การสอน ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ ทฤษฎีการเรียนรู้ของบรุนเนอร์ ไปจนถึงทฤษฎีและแนวคิดตามปรัชญาคอนสตรัคติวิสท์ ซึ่งแนวคิดและทฤษฎีเหล่านี้มีผลต่อพัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษาทั้งสิ้น

2. การเปลี่ยนแปลงของวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา
ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2545 : 15-20) ได้กล่าวถึงความ เปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา สรุปได้ดังนี้
เทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้ทางการศึกษานับตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล มีการกล่าวถึง นักเทคโนโลยีทางการศึกษาพวกแรก คือกลุ่มโซฟิสต์ (The Elder Sophists) ที่ใช้วิธีการสอนจะ ออกมาในทางการเขียน เช่น การใช้มือวาด การเขียนสลักลงบนไม้ ส่วนการใช้ชอล์คเขียนบนกระดานดำ ได้เริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 1800 สำหรับการใช้เทคโนโลยีทางสื่อโสตทัศน์ (audio visual) นั้น สามารถนับย้อนหลังไปได้ถึงต้นทศวรรษที่ 1900 ในขณะที่โรงเรียนและพิพิธภัณฑ์หลาย ๆ แห่งเริ่มมีการจัดสภาพห้องเรียนและการใช้สื่อการสอนประเภทต่าง ๆ เช่น ใช้สื่อการสอนประเภทต่าง ๆ เช่น ใช้สื่อภาพ ภาพวาด ภาพระบายสี สไลด์ ฟิล์ม วัตถุ และแบบจำลองต่าง ๆ เพื่อเสริมการบอกเล่าทางคำพูด ต่อมาปี เอดิสัน ได้ผลิตเครื่องฉายภาพยนตร์ขึ้นในปี ค.ศ.1913 และในช่วงทศวรรษที่ 1920-1930 เริ่มมีการใช้เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เครื่องบันทึกเสียง วิทยุกระจายเสียงและภาพยนตร์เข้ามาเสริมการเรียนการสอนวิทยุจึงบทบาทในการศึกษาและการสอนทางไกลช่วงทศวรรษที่ 1930
ในช่วงทศวรรษที่ 1950 วิทยุโทรทัศน์เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมตะวันตกซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อเพื่อการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิทยุโทรทัศน์จึงมีบทบาทสำคัญและกลายเป็นเทคโนโลยีแถวหน้าของสังคมนับแต่บัดนั้น นักวิชาการบางท่านถือว่าช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 นี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เนื่องจากการก่อกำเนิดของวิทยุโทรทัศน์ และยังได้มีการนำเอาทฤษฎีทางด้านสื่อสารมวลชนและทฤษฎีระบบเข้ามาใช้ในวงการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอีกด้วย ดังนั้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 จึงมีการใช้คำว่า “การสื่อสารทางภาพและเสียง” หรือ “audiovisual communications” แทนคำว่า “การสอนทางภาพและเสียง” หรือ “audiovisual instruction” ซึ่งย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดประการหนึ่งว่า เทคโนโลยีการสื่อสารนั้น คือเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดการเรียนการสอนนั่นเอง
หลังจากนั้นวิทยุโทรทัศน์ได้เข้ามามีบทบาทในการศึกษา การพัฒนาที่เด่นชัดที่สุดคือรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นในช่วงปี 1932-1939 ณ Iowa University และได้ขยายจนมีจำนวนถึง 140 สถานี ในค.ศ. 1967
เทคโนโลยีการศึกษาสื่อสาร ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงปลาย ทศวรรษที่ 1960 เมื่อโลกได้หันเข้ามาสู่ยุคของคอมพิวเตอร์ ในด้านการศึกษานั้น ได้มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในปี 1977 ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อบริษัท APPLE ได้ประดิษฐ์เครื่อง APPLE II ขึ้น โดยการใช้ในระยะแรกนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบริหารจัดการ ต่อมาได้มีการพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้ใช้ได้ง่ายและสามารถช่วยในการเรียนการสอนได้มากขึ้น คอมพิวเตอร์จึงเป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนคุ้นเคย และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้
ยุคของมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้เริ่มขึ้นในปี 1987 เมื่อบริษัท APPLE ได้เผยแพร่โปรแกรมมัลติมีเดียครั้งแรกออกมา คือโปรแกรม HyperCard แม้ว่าโปรแกรมนี้จะต้องใช้เครื่องที่มีกำลังสูง ต้องใช้เวลาในการฝึกหัดมาก แต่ผลที่ได้รับก็น่าประทับใจ การพัฒนามัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้มีการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาโปรแกรม Hyper Studio มาใช้ และได้รับความนิยมมากขึ้นในหลาย ๆ โรงเรียน อย่างไรก็ตามเพียงภายในสองปี มัลติมีเดียเพื่อการศึกษาก็ถูกแทนที่โดยสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากกว่า นั่นก็คือ อินเทอร์เน็ต (Internet) นั่นเอง
ปัจจุบันนี้ อินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากผลการสำรวจปี 2545 คนอเมริกันใช้คอมพิวเตอร์ถึง174 ล้านคน (หรือร้อยละ 66 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ) และมีการใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 143 ล้านคน (หรือร้อยละ 54 ของประชากร) ส่วนในประเทศไทยนั้นผลสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเขตเมืองใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 พบว่ามีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเองเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีประมาณ 10 ล้านคน ( ร้อยละ 16.6 ของประชากร) นอกจากนั้น ยังมีการสรุปด้วยว่าการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายถูกลงและมีอินเทอร์เน็ตคาเฟ่มากขึ้น
การพัฒนาอันน่ามหัศจรรย์ใจของอินเทอร์เน็ตในฐานะที่เป็นเครือข่ายแห่งเครือข่ายทำให้มีการเชื่อมโยงกันได้อย่างเสรีไม่มีการปิดกั้น ดังนั้นคนทุกคนจึงสามารถเผยแพร่ข้อมูลของตนบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย พอ ๆ กับการที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ทั่วโลก และจากคุณสมบัติดังกล่าวนี้ อินเทอร์เน็ตจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษารูปแบบต่าง ๆ เพราะนักเรียนและครูสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อีเมล์ การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านระบบ Bulletin Board และ Discussion Groups ต่าง ๆ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่ ทันสมัยยิ่งขึ้นในการโทรศัพท์หรือประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจึงเพิ่มบทบาทสำคัญในการศึกษารูปแบบใหม่และยังช่วยเปลี่ยนบทบาทของครูจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้แนะนำ” พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนและค้นคว้าด้วยตนเองอีกด้วย

3. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการศึกษา
ความเป็นมาของเทคโนโลยีการศึกษา ในยุคเริ่มแรก ช่วงปี 1600 คอมินิอุส ได้ให้แนวคิดที่สำคัญต่อการสอน และต้นศตวรรษที่ 20 มีพิพิธภัณฑ์โรงเรียนเกิดขึ้น พร้อมบริการให้ยืมภาพ สามมิติ สไลด์ ภาพยนตร์ ภาพชุด แผนภูมิ ในต้นศตวรรษปี ค.ศ.1900 ยังใช้การสอนเชิงทัศนะ (Visual Instruction) และพัฒนาเรื่อยมาจนปี ค.ศ.1930 มีความก้าวหน้าทางภาพยนตร์ สไลด์ วิทยุกระจายเสียง การบันทึกเสียง มีคุณภาพดีขึ้น จนเปลี่ยนจากการสอนเชิงทัศนะมาเป็นการสอนเชิงโสตทัศน์
ในช่วงปี ค.ศ.1936 เกิดองค์กรวิชาชีพทางการสอนเชิงทัศนะที่ใช้ชื่อว่า The Department of Visual Instruction ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ The Association for Educational Communications and Technology (ในปี ค.ศ.1970) ในช่วงนี้เทคโนโลยีการศึกษา ใช้คำว่า โสตทัศนศึกษา (Audiovisual Education) โดยใช้สื่อการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม ในปี ค.ศ.1946 เอดการ์ เดล เขียนแนวคิด “กรวยประสบการณ์” มีจุดมุ่งหมายเพื่อชี้แนะการใช้สื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1940-1946) มีการนำสื่อโสตทัศน์ ได้แก่ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ สไลด์มาใช้ในการอบรม หลังจากนั้นโรงเรียนจึงพัฒนาด้านการวิจัยและออกแบบสื่อโสตทัศน์เพิ่มมากขึ้น
ต่อมาในปี ค.ศ.1949 แชนนอน และวีเวอร์ และในปี ค.ศ.1960 เบอร์โล ได้ประยุกต์ทฤษฎีการสื่อสาร SMCR ขึ้น
ในเวลาใกล้เคียงกัน สกินเนอร์ (ค.ศ.1954-1958) เกลเซอร์ (ค.ศ.192) ลุมสเดน (ค.ศ.1964) และนักจิตวิทยาการเรียนรู้ท่านอื่น ๆ ให้การสนับสนุนการสอนแบบโปรแกรม มีการเสริมแรง สิ่งเร้า และการตอบสนอง เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลักการพื้นฐาน สำหรับการสอนแบบโปรแกรมและเครื่องช่วยสอน พร้อมทั้งมีการใช้จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นหนังสือของ เมเจอร์ (ค.ศ.1962) ชื่อ Preparing Objectives for Programmed Instruction โดยก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ.1956 เบนจามิน บลูม และผู้ร่วมงานได้พิมพ์หนังสือชื่อ The Taxonomy of Educational Objectives ไว้แล้ว และต่อมาเกิดแนวคิดการทดสอบแบบอิงเกณฑ์ที่มีผลต่อการจัด “พฤติกรรมตั้งต้น” และ “พฤติกรรมปลายทาง” จากโปรแกรมการสอนที่ออกแบบมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเทคโนโลยีการสอน
ในช่วงต้นปี ค.ศ.1960 กาเย่ (ค.ศ.1965) เกลเซอร์ (ค.ศ.1962) ได้ทำแนวคิดทางจิตวิทยา การวิเคราะห์ภารกิจ การระบุจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม และการทดสอบแบบอิงเกณฑ์ มาอภิปรายกัน และนำเรื่องระบบเข้ามาใช้ จึงเกิดคำเหล่านี้ขึ้นมา เช่น การพัฒนาระบบ การสอนอย่างเป็นระบบ และระบบการสอน ส่วนคำว่า วิธีการจัดระบบ และการพัฒนาระบบ เริ่มมีขึ้นมาใช้สำหรับอธิบายกระบวนการพัฒนาการสอนกับโครงการสอนบางอย่าง
ในเรื่องของการประเมินผลย่อย (Formative Evaluation) และการประเมินผลรวม (Summative Evaluation) เป็นผลมาจากการศึกษาของครอนบาช (ค.ศ.1963) และสไคเวน (ค.ศ.1967)
ในปลายทศวรรษแห่งปี ค.ศ.1960 ต่อต้นทศวรรษที่ ค.ศ.1970 บานาธีร์ (ค.ศ.1968) และ บริกส์ (ค.ศ.1970) ให้ความสนใจในเรื่องการจัดระบบและในปี ค.ศ.1980 อังดรูและกูลสัน ได้ รวบรวมแบบจำลองระบบไว้ และในปี ค.ศ.1987 ไรเกลธ คอพแมน และเธียการจัน ได้พัฒนาทฤษฎี การออกแบบการสอนขึ้นมา
ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ได้หันเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอน และไมโครคอมพิวเตอร์ ในทศวรรษที่ 1980 ทำให้นักการศึกษาและนักจิตวิทยา นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในการศึกษา ต่อมามีมัลติมีเดียและระบบเครือข่าย ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทต่อเทคโนโลยีการศึกษามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น CAI การสอนแบบปฏิสัมพันธ์ และในปัจจุบันมีการสอนผ่านเครือข่ายในรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้น
บทสรุปความเป็นมาของแนวคิดเทคโนโลยีทางการศึกษา

เทคโนโลยีการศึกษา เดิมเป็นเพียงการนำเอาเครื่องมืออุปกรณ์และวัสดุมาช่วยผู้สอนให้สามารถสอนผู้เรียนให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายง่ายขึ้น โดยใช้คำเรียกว่า “โสตทัศนศึกษา” ต่อมาจึงได้มีการนำเอาวิธีระบบ และหลักการทฤษฎีต่าง ๆ เข้ามาใช้มากขึ้นตามพัฒนาการในหลายด้านที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งรวมทั้งเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงเกิดคำว่า “เทคโนโลยีการศึกษา “ ซึ่งมีหลักการสำคัญจากความรู้และผลผลิตด้านวิทยาศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ โดยใช้วิธีการจัดระบบ เป็นส่วนสำคัญในการจัดการให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษา
จากการศึกษาของนักการศึกษาและการสอนของการศึกษาที่ผ่านมา จะพบว่า แนวคิดและวิธีการเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นและหลักการพื้นฐานของเทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์เนื้อหาและเทคนิคการสอนของโซฟิสต์ การสอนแบบสอบถามของโสเครติส การให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ตัดสินใจและสรุปอย่างเสรีของอเบลาร์ด และการสอนที่เป็นไปตามธรรมชาติสอดคล้องกับชีวิต ยึดความแตกต่างของผู้เรียน มีลำดับขั้นตอนของการสอน ใช้สื่อต่างๆ เข้ามาช่วย และมีบรรยากาศการเรียนที่ดีของคอมินิอุส การสอนระบบพี่เลี้ยงของแลนคาสเตอร์ การจัดสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ นำประสบการณ์ตรงและหลักจิตวิทยามาสอนของเปสตาลอสซี่ การริเริ่มอนุบาลศึกษาของเฟรอเบล และการสอนแบบมีขั้นตอนของแฮร์บาท ซึ่งนับเป็นก้าวใหม่ของการสอนที่อาศัยหลักการเรียนรู้ในยุคนั้น
วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา เริ่มจากการใช้มือวาด การเขียน สื่อภาพ โสตทัศนวัสดุและสื่อสิ่งพิมพ์ เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายภาพ เครื่องบันทึกเสียง วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ มัลติมีเดีย มาจนถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการดังกล่าวคู่ขนานไปกับยุคสมัยทางสังคมของอัลวิน ทอฟเฟลอร์ (1980 : 543) ซึ่งได้แก่ สังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรม และสังคมสารสนเทศ วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีการศึกษาดังกล่าว เมื่อร่วมกับแนวคิดของนักการศึกษาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของขอบข่ายเทคโนโลยีการศึกษาเป็นอันมาก
เทคโนโลยีการศึกษา เริ่มต้นใช้คำว่า โสตทัศนศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งการนำสื่อโสตทัศน์ และวิธีการเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน มีการนำทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีทางจิตวิทยาเข้ามา มีส่วนทำให้เกิดการสอนแบบต่าง ๆ มีการออกแบบระบบการเรียนการสอน และความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบ หรือตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การสอนเป็นกลุ่ม การสอนมวลชน การสอนทางไกล และการศึกษาตลอดชีวิต รวมทั้งแนวคิดการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง Teacher Center Child Center หรือ Media Center รวมทั้งการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ การสอนผ่านเครือข่าย จะเห็นได้ว่าศาสตร์ของเทคโนโลยีการศึกษา มีพัฒนาการมาเป็นลำดับขั้น และประยุกต์ใช้เพื่อทำให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยีการศึกษาจึงถือเป็นเครื่องมือการศึกษา ที่มุ่งจัดระบบทางการศึกษาด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่มองภาพแบบองค์รวมลักษณะของการดำเนินการแก้ปัญหา จะมุ่งวิเคราะห์สภาพการณ์ทั้งหมด จากนั้นจึงเป็นการจัดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยขึ้นมาใหม่ ให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน โดยยึดถือหลักว่าให้แต่ละส่วนประกอบย่อยทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้น เทคโนโลยีการศึกษา มองภาพระบบทางการศึกษาเป็นระบบใหญ่ที่ประกอบขึ้นด้วยระบบย่อย อีกหลายระบบด้วยกัน
สำหรับความเป็นมาของการเกิดแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา หากมองตามการเกิดขึ้นของแนวคิดกับการปฏิบัติจริงขององค์ความรู้ในแต่ละอย่าง ก็จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1. เกิดแนวคิดก่อนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ความรู้ประเภทนี้มักเป็นเรื่องที่เป็นการศึกษา
ค้นคว้าทดลองจากแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีที่มีคิดขึ้นเองหรือมีผู้คิดไว้ก่อนแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำความคิดไปทดลองใช้ได้อย่างจริงจัง เช่น การค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดในการส่งสัญญาณวิทยุ ต่อมาจึงมีผู้นำแนวความคิดไปทดลองจนประสบความสำเร็จ
2. เกิดจากการปฏิบัติหรือการกระทำที่เป็นอยู่ แล้วนำไปสู่การสรุปเป็นแนวคิดหรือทฤษฎี
ความรู้ประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติหรือตามสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไป เช่น การเกิดลมพัด น้ำขึ้นน้ำลง แรงโน้มถ่วง ซึ่งคนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือเรื่องของธรรมชาติ แต่นักคิดก็จะพยายามศึกษาและทำความเข้าใจถึงความเป็นไปเหล่านั้น แล้วนำมาสรุปเป็นแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต หรือสังเคราะห์ให้เกิดแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นไปต่าง ๆ
ความเป็นมาของแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา ในระยะแรก ๆ จึงเป็นลักษณะของการกระทำที่เป็นอยู่แล้ว หรือเป็นไปตามสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไป เช่น การใช้รูปภาพ หรือ สื่อ อย่างง่าย ๆ มาประกอบการสอนหรือการบรรยาย โดยไม่ได้คิดถึงหลักการหรือทฤษฎีใด ๆ เพียงแต่คิดตามความความเข้าใจว่าย่อมทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ดีกว่าการสอนโดย
ไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ ส่วนแนวความคิดในยุคหลัง ๆ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เป็นการพยายามนำเอาแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ เพราะแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมักได้รับการพิสูจน์ หรือผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้ว

------------------------------






เอกสารอ้างอิง

กิดานันท มลิทอง. 2540. เทคโนโลยีการศึกษา และนวัตกรรม. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
ฉลองชัย สุรวัฒนบูรณ์. 2546. สาระน่ารู้ทางเทคโนโลยีการศึกษา. กรุงเทพมหานคร:
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ชัยยงค์ พรหมวงศ์. 2545. มิติที่ 3 ทางการศึกษา : สานฝันสู่ความเป็นจริง. กรุงเทพมหานคร :
โรงพิมพ์ บ.เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด.
ชัยยงค์ พรหมวงศ์. 2533. แนวคิดเทคโนโลยีการศึกษา. เอกสารการสอนชุดวิชาเทคโนโลยีและ
สื่อสารการศึกษา. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ทิพย์เกสร บุญอำไพ. 2536. พัฒนาการเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในการพัฒนาทรัพยากร
มนุษย์. ประมวลสาระชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษากับการพัฒนาทรัพยากร
มนุษย์. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เปรื่อง กุมุท. 2537. แนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสอน. ประมวลสาระชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อ
สารการสอน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน. 2545. แนวทางปฏิรูปเทคโนโลยีเพื่อการ
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์กราฟฟิคโกร.
สุวิทย์ หิรัณยกาณฑ์ และคณะ. 2540. พจนานุกรมศัพท์ทางการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: ไอคิวบุค
เซ็นเตอร์.
สาโรช โศภีรักข์. 2546. รากฐานจิตวิทยาทางเทคโนโลยีการศึกษา. กรุงเทพมหานคร:
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
Briggs, Leslie J. 1977 . Insturction Design : Principles and Application. Educational Technology
Publications, Inc., Englewood Cliffs, New Jersey.
Gagene, R.M.1985. The Conditions of Learning and theory of Instruciton (4 th ed.). New York:
Holt, Rinehart & Winston, 1985.
Good, C 1973. Dictionary of Education. (3 rd ed.) New York: McGraw – Hill Book Company.
“What is the history of the field ?”. AECT. Avalable : //www.aect.org/standards/history.html.
June 5, 2004.
Saettler,L.Paul. 1990. The Evolution of American Educational Technology. Colorado: Libraries
Unlimited, INC.



Create Date : 28 มิถุนายน 2551
Last Update : 28 มิถุนายน 2551 20:55:01 น. 2 comments
Counter : 989 Pageviews.

 


Hi.....


โดย: Charia (SwantiJareeCheri ) วันที่: 28 มิถุนายน 2551 เวลา:21:28:18 น.  

 
ขอบคุนน่ะค่ะ


โดย: น้ามหวาน IP: 172.16.1.115, 182.52.198.145 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2553 เวลา:12:50:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 
 

YoyoAB
Location :
ชัยภูมิ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เนเน่ 4 เดือน
[Add YoyoAB's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com