แนะนำชุมชนนิเวศพิพิธภัณฑ์เมืองตราด

ตราด กับภาพลักษณ์ใหม่ “อีโค่มิวเซียมซิตี้” ค้นพบ ๗ สีสันแห่งตะวันออก

เมื่อจะพูดถึงจังหวัดตราดหลายท่านคงจะเกิดจิตนภาพถึงความงดงามของท้องทะเลหมู่เกาะช้างที่ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่๕๒ เกาะและอาหารทะเลชั้นเลิศในดินแดนสุดทางบูรพาแห่งนี้ บรรยากาศแสนสบายที่ธรรมชาติรังสรรค์ให้เราไม่รู้สึกเหนียวตัวทำให้คุณค่าของวันพักผ่อนซ่อนพลังแฝงติดกายกลับมาราวกับแบตเตอรี่ถูกประจุไฟไว้เต็มปรี่มีแรงต่อสู้กับความวุ่นวายของชีวิตในเมืองใหญ่ทำให้นับวันผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับจังหวัดตราดมากขึ้นทุกปี ฉบับนี้เราจะแนะนำภาพลักษณ์ใหม่ของตราดในมุมที่น้อยคนจะรู้จักและเมื่อท่านได้มาสัมผัสสักครั้งท่านจะหลงรักในดินแดนแห่งนี้ที่ชุมชนคนตราดชวนให้ท่านเปลี่ยนจากการเป็นผู้รับ(บริการ) มาเป็น “ผู้ให้” (ตอบแทนต่อธรรมชาติและสังคม) เที่ยวไปได้ความรู้ประสบการณ์แปลกใหม่สุขใจได้บุญ

ในปี ๒๕๕๗นี้ ททท.สำนักงานตราด ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ชูแหล่งท่องเที่ยวชุมชนน้องใหม่ ๗ แห่ง ได้แก่บ้านช้างทูน บ้านยายม่อม บ้านไม้รูด บ้านชายเนิน บ้านยายม่อม บ้านท่าระแนะบ้านแหลมเทียน บ้านอ่าวใหญ่ (เกาะกูด) ที่มีอัตลัตลักษณ์ทางนิเวศ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นฉบับชุมชน ซึ่งสังคมยังไม่ได้รับรู้อย่างแพร่หลายนำมาสร้างเป็นบริบทการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวชนบทใน๕ พื้นที่ ได้แก่ บ่อไร่ คลองใหญ่ แหลมงอบ แหลมศอก เกาะกูด โดยจัดแสดงในรูปแบบ อีโค่มิวเซียมหรือ นิเวศพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้ให้การสนับสนุนโครงการบริการวิชาการของโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยอาจารย์ณิศิรา กายราศ ได้นำแนวคิดอีโค่มิวเซียมเข้ามาเผยแพร่โดยให้ชุมชนเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมและบริหารจัดการเพื่อตอบโจทย์การทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและช่วยแก้ไขปัญหาในสังคมได้มากกว่าการเป็นสถาบันที่เป็นแหล่งเรียนรู้และเก็บรักษาเพียงโบราณวัตถุเพียงอย่างเดียวแบบพิพิธภัณฑ์แบบจารีตนิยม

อีโค่มิวเซียม(Eco-museum)หรือ นิเวศพิพิธภัณฑ์ มีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.๑๙๗๐ก่อนมีการแพร่หลายไปทั่วยุโรปเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชนเมืองยุคหลังอุตสาหกรรม การเกิดภัยธรรมชาติ และวิกฤตเศรษฐกิจทำให้หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตท้องถิ่นที่สูญหายไปให้กลับคืนมาในที่นี้ ให้ความสำคัญกับการเก็บสะสม วัตถุที่จับต้องไม่ได้ เช่น ภูมิปัญญาความเชื่อ ความทรงจำ ตลอดจนตัวอาคารพิพิธภัณฑ์และผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ในชุมชนล้วนจัดว่าเป็นมรดกท้องถิ่นอันควรค่าแก่การเก็บรักษาอีโค่มิวเซียมเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีคำจำกัดความหรือรูปแบบสำเร็จรูปจึงมีตัวแบบต่างๆแตกต่างกันตามสภาพปัญหาและวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ อัตลักษณ์ของตัวแบบอีโค่มิวเซียมที่พัฒนาขึ้นในจังหวัดตราดเปรียบเสมือน ธนาคารสีเขียว ซึ่งชุมชนตระหนักถึงการเก็บสะสมการนำไปใช้อย่างรู้คุณค่า และการทดแทนทรัพยากรกลับคืนสู่แหล่งกำเนิดโดยบูรณาการกับแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครเพื่อให้ผู้มาเยือนมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมทั้งนี้มีการถ่ายทอดและต่อยอดภูมิปัญญาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของสมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงามโดยนำเสนออัตลักษณ์นิเวศและวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองตราดใน ๗ ชุมชนที่มีวิธีการใช้อีโค่มิวเซียมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนและมีแผนรับมือผลกระทบจากการท่องเที่ยวในรูปแบบที่หลากหลายดังนี้

๑.นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านช้างทูน (Eco-museum of Changtune) ตั้งอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ เป็นอีโค่มิวเซียมต้นแบบที่นำมาพัฒนาชนบทเป็นแห่งแรกของจังหวัดตราดที่ขับเคลื่อนโดยชาวบ้านและปราศจากการแทรกแซงของรัฐนำเสนอนิเวศวิถีของชาวชอง-ซัมเรที่มีอุดมการณ์พิทักษ์รักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำในอำเภอบ่อไร่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาบ่อไร่ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมพลอยทับทิมสยาม (พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๓๕)หรือเป็นที่รู้จักว่า ยุคตื่นพลอย ส่งผลทำให้ชุมชนปลายน้ำอีก ๖แห่งได้รับผลกระทบแบบเป็นลูกโซ่ นอกจากนี้ชุมชนยังประสบวิกฤตภัยแล้งและปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าชาวชองบ้านช้างทูนจึงได้สร้างสรรค์นิทรรศการและกิจกรรม“ย้อนยุคตื่นพลอยตามรอยวิถีชอง” ประกอบด้วยกิจกรรม รักษ์ช้างสร้างโป่ง ทำฝายชองเพื่อให้ผู้มาเยือนช่วยชุมชนกู้วิกฤตภัยแล้งรวมทั้งสนุกสนานกับกิจกรรมร่อนพลอยและการทำสปาภูมิปัญญา จุดเด่นคือ สปาสุ่มไก่สปาโคลนขาว แฮร์สปาขี้แรด เป็นต้น ชุมชนสร้างเครือข่ายกับโรงเรียนวัดช้างทูนเพื่อจัดการแสดงโรงละครกลางแจ้งสืบสานตำนานเสือสมิงและโรงงานไม้หอมช.กฤษณาเพื่อชมขั้นตอนการกลั่นน้ำมันหอมกฤษณาถึงในโรงงานซึ่งได้มอบวัตถุดิบส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนกิจการสปาของชุมชนส่วนเมนูเด็ดคือ แกงไก่กล้วยพระรับประทานคู่กับข้าวเหนียวมูลห่อใบละป้างตลอดจนขนมชองทานคู่กับชาซัมเรซึ่งปรุงจากไม้หอมหายากหากอากาศร้อนก็ลงไปนอนแช่ตัวเล่นน้ำในสายธารแห่งอัญมณีชมวิวอันสวยงามของทิวเขาบรรทัด

๒.นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านยายม่อม (Eco-museum of Yaimom) ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมงอบ นำเสนอนิเวศวิถีของแขกจามหรือชาวมุสลิมเชื้อสายเขมรที่อพยพมาจากเมืองกัมปงจากในประเทศสาธารณรัฐกัมพูชามรดกนิเวศที่โดดเด่นคือ หินยายม่อม และลานหาดทรายดำ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ แห่งของโลกตัวแบบอีโค่มิวเซียมบ้านยายม่อมคือ “คนสู้โรค”ก่อตั้งโดยกลุ่มอาสาสมัครซึ่งเป็นสตรีมุสลิมถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำทรายดำบำบัดหรือหมกตัวในทรายเพื่อรักษาโรคอัมพฤกอัมพาตในผู้สูงอายุอีกทั้ง ต่อสู้การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกโดยนำกะลามะพร้าวแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปเผาเป็นถ่านสร้างรายได้และนำมาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมถ่านกะลาหน้าเด้งบอกต่อเคล็ดลับความงามและสุขภาพดีของสาวๆมุสลิมถิ่นยายม่อม เมนูเด็ดคือเมี่ยงสมุนไพรใส่ส้มจี๊ด ยำใบขลู่ ตบท้ายด้วยการจิบชาขลู่นั่งมองวิวพาโนราม่าของเกาะช้าง ในมุมมองสุดโรแมนติคที่ท่านไม่เคยพบเห็นมาก่อนแกล้มด้วยขนมเปียกปูนผงถ่านกะลา

๓.นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านไม้รูด (Eco-museum of Mairoot) ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองใหญ่ เป็นตัวแบบอีโค่มิวเซียมของชุมชนต่อต้านอุตสาหกรรมโดยเฉพาะทรายแก้ว ซึ่งเป็นมรดกนิเวศที่กำลังอยู่ในวิกฤตถูกลักลอบขุดไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมทำแก้วและกระจกเครื่องบินนอกจากนี้ชุมชนมีกิจกรรมธนาคารปูไข่นอกกระดอง ปล่อยลูกปูสู่ทะเลการทำซั้งอนุบาลปลาจากเถากระฉอด การทำจุลินทรีย์บอลเพื่อบำบัดน้ำเสียธนาคารมันเทียน เป็นต้น เมนูเด็ดคือข้าวคลุกมันปู น้ำพริกกุ้งแก้ว มันเทียนต้มกะทิ

๔.นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านชายเนิน (Eco-museum of Chaineun) ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมกลัด เป็นตัวแบบอีโค่มิวเซียมเพื่อสันติภาพนำเสนอนิเวศวิถีของชาวไทยเกาะกงที่อพยพลี้ภัยสงครามการตามล่าของทหารเขมรแดงมายังฝั่งไทยด้วยเรือพายหลักคู่จุดเริ่มต้นความคิดคือชุมชนต้องการฟื้นฟูอู่จาก หรือป่าจากที่เคยใช้เป็นที่หลบภัยและจอดเรือสองแจวให้กลับคืนมาซึ่งจะมอบภารกิจให้ผู้มาเยือนช่วยชุมชนปลูกต้นจากและต้นเตยทะเลที่มีความสัมพันธ์กับอาหารพื้นบ้านของชาวไทยเกาะกงมีการแสดงย้อนยุคลี้ภัยของชาวไทยเกาะกงซึ่งบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงของชาวบ้านพร้อมทั้งเผยเคล็ดลับความงามและสุขภาพดีด้วย สปาขแมร์ ในสุ่มอบตัวทรงไม้ดักปูที่ชุมชนสร้างสรรค์ขึ้นเองเพื่อเตือนสติไม่ให้ใช้เครื่องมือประมงผิดกฏหมายนอกจากนี้ยังสามารถนั่งเรือชมชีวิตโลมาอิรวดีแห่งแหลมกลัด เมนูเด็ดคือแกงปูม้ายอดเตยทะเล และบันสุ้ง (ขนมจีนเขมร) และยำชายเนินรสแซ่บ

๕.นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านท่าระแนะ (Eco-museum of Tharanae) เป็นตัวแบบอีโค่มิวเซียมเพื่อกีฬาสร้างสรรค์และฟื้นฟูประวัติศาสตร์เมืองท่าค้าขายเรือใบไทย-จีนมรดกนิเวศที่สำคัญได้แก่ ต้นคันทรง(ชุมชนนำมาจักสานเป็นเครื่องใช้และใบเรือคันทรงซึ่งหาชมได้ยาก) หัวร้อยรูเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีว่า ดื่มชาร้อยรู อยู่ร้อยปี และการสาธิตคีบปูดูตื่นเต้นเร้าใจโดยจอมยุทธแขนเดียวผู้เชี่ยวชาญมีกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์หัวร้อยรูสู่ธรรมชาติ การปล่อยปูดำเป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถนั่งเรือชมมรดกนิเวศป่าชายเลน กีฬาหาหอยพอกกีฬาโบว์ลิ่งตะบูน เมนูเด็ดได้แก่ แกงหอยพอก ยำหอยขาสาว และ การทำ สปาเจ๊กเพื่อรื้อฟื้นภูมิปัญญาการอยู่ไฟและรักษาผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสุขภาพดีด้วยหัวร้อยรูและสมุนไพรนานาชนิด

๖.นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านแหลมเทียน (Eco-museum of Laemtien) เป็นตัวแบบอีโค่มิวเซียมเพื่อการกินอย่างอนุรักษ์ มรดกนิเวศที่โดดเด่นคือ เกาะต้นเทียนทะเลซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์และขยายพันธุ์ปูใบ้ ชาวตราดมีภูมิปัญญาเด็ดก้ามปูใบ้มารับประทานและปล่อยปูกลับสู่ธรรมชาติเพื่อให้ก้ามงอกขึ้นมาใหม่นอกจากนี้ยังสามารถนั่งแพชมทะเลอ่าวตราดพร้อมกับรับประทานหอยนางรมสดๆพร้อมเครื่องเคียงและน้ำจิ้มรสแซ่บฟาร์มหอยของแหลมเทียนได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติว่าหอยสะอาดคุณภาพน้ำดีเพราะต่อต้านการลักลอบคราดหอยอย่างผิดกฏหมาย นอกจากนี้ ยังมีสปาสาหร่ายพวงองุ่นซึ่งทางชุมชนเป็นเครือข่ายวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งทะเลตราดเพื่อขยายพันธุ์สัตว์น้ำให้เกิดความสมดุลย์ทางนิเวศในอ่าวตราด

.นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านอ่าวใหญ่ (Eco-museum of Ao Yai)เป็นตัวแบบอีโค่มิวเซียมเพื่อฟื้นฟูมรดกอุตสาหกรรมและนิเวศในเขตหมู่เกาะโดดเด่นเรื่องประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อาเซียนไร้พรมแดนอ่าวใหญ่มีชื่อเสียงในการผลิตน้ำปลาหมักโอ่งสูตรโบราณอันเป็นที่มาของโรงงานน้ำปลาตราสามกระต่ายแบรนด์น้ำปลาขายดีอันดับหนึ่งของจังหวัดตราด แต่ปัจจุบันโรงงานที่เกาะกูดต้องปิดตัวลงเพราะประสบปัญหาการขนส่งชุมชนจึงนำมาบูรณะเป็นพื้นที่เรียนรู้การหมักน้ำปลาโบราณนอกจากนี้มีกิจกรรมดำน้ำและร่วมกันสร้างบ้านปะการังเทียมเพื่อกู้วิกฤตม้าน้ำกิจกรรมปล่อยลูกปลาสู่ทะเล กิจกรรมย้อนรอยประวัติศาสตร์องเชียงสือซึ่งเป็นเจ้าเมืองไซง่อนได้หนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๖ และเคยเสด็จมายังเกาะกูดซึ่งชาวอ่าวใหญ่ได้สืบทอดภูมิปัญญาการทำ สปาญวน (การนวดคลายเส้นด้วยขวดแก้วลนไฟ)พบกับความตื่นตาตื่นใจกับการประสบการณ์นั่งเรือใบโบราณภูมิปัญญาท้องถิ่นฟังประวัติศาสตร์กองทัพเรือของสมเด็จพระนเรศวรและสักการะขอพรจากศาลเสด็จพ่อองค์ดำอันศักดิ์สิทธิ์

นิเวศพิพิธภัณฑ์ทั้ง ๗ แห่งดำเนินนโยบายเดียวกัน คือ หลังจากทำกิจกรรมแล้วผู้มาเยือนต้องมีส่วนร่วมกับชุมชนในการทำกิจกรรมธนาคารสีเขียวเพื่อทดแทนทรัพยากรของชุมชนที่นำออกมาใช้กลับคืนสู่แหล่งกำเนิดนับเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่ปลูกฝังการรับผิดชอบแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของททท.ที่ต้องปรับตัวต่อกระแสท่องเที่ยวในปัจจุบัน ที่กระแสโลกหันมาสนใจแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตแปลกใหม่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกิจกรรมที่ลงมือปฏิบัติเพื่อสัมผัสศิลปะการใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบพึ่งพาธรรมชาติซึ่งจังหวัดตราดมีให้เลือกถึง ๗ ชุมชน ๘ ไลฟ์สไตล์ส่งผลทำให้เป็นจังหวัดนำร่องในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ใหม่ที่แตกต่างสู่การเป็น อีโค่มิวเซียมซิตี้ (Eco-museum City) ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

ท่านที่สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากททท.สำนักงานตราด โทร.๐๓๙ ๕๙๗๒๕๙-๖๐ ทุกวันตั้งแต่ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.และเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/pingpinkky?fref=tl_fr_box 




Create Date : 06 สิงหาคม 2557
Last Update : 7 สิงหาคม 2557 8:47:44 น. 2 comments
Counter : 2334 Pageviews.  
 
 
 
 
thx u crab
 
 

โดย: Kavanich96 วันที่: 7 สิงหาคม 2557 เวลา:4:24:39 น.  

 
 
 
น่าสนใจมากค่ะ ชอบเที่ยวแบบนี้อยู่แล้ว ที่ที่มีเรื่องราว
เคยไปตราดสองครั้ง
ครั้งแรกราว 2537 ไปเกาะกูด ลงเรือที่คลองใหญ่
ครั้งที่สองขับรถเล่นไปถึงคลองใหญ่ เพื่อชมถนนสวยลอยฟ้า อิอิ ตั้งชื่อเองค่ะ วนในตัวจังหวัด แล้วก็กลับค่ะ
 
 

โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 12 สิงหาคม 2557 เวลา:16:04:03 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

เงาไม้ชายน้ำ
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add เงาไม้ชายน้ำ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com