4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 
เผยเอกสารลับสุดยอด ปริศนาการตายของลูกชายสตาลิน


[ยาคอฟ ซูกาชวิลิ]



ห่างจากกรุงเบอร์ลินทางเหนือ 35 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งค่ายกักกันของนาซีที่ชื่อว่า “ซาซเซนเฮาเซน” (Sachsen hausen) ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1936 ภายในสถานที่แห่งนั้น อัดแน่นด้วยเชลยศึกหลากหลาย ทั้งชายาของมกุฎราชกุมารแห่งบาวาเรีย นักการเมืองซีกตรงข้าม นักธุรกิจผู้คิดไม่ซื่อต่อรัฐบาลนาซี ผู้นำชาตินิยมยูเครน หัวหน้าขบวนการปลดปล่อยโปแลนด์ นายแอนโตนิน ซาโปต้อกกี้ (Antonin Zapotocky) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เช็คโกสโลวาเกีย (ต่อมาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี) สายลับจากหลายประเทศ ศิลปิน ทนายความ อาชญากรต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งนักบวช ผู้เป็นความหวาดระแวงของกองทัพเยอรมันและหนึ่งในจำนวนนั้นก็มียาคอฟ ซูกาชวิลิ (Yakov Dzhugashvili) ลูกชายของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำคนสำคัญของรัสเซียรวมอยู่ด้วย


[โจเซฟ สตาลิน]

ต่อมายาคอฟก็ได้เสียชีวิตลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ปริศนาการตายของเขาเป็นความลับเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้เองทางการรัสเซียจึงได้เผยแพร่เอกสารลับสุดยอดแก่ชาวโลกข้อความและภาพถ่ายระบุชัดว่า ยาคอฟถูกยิงเสียชีวิตในค่ายกักกันเชลยสงครามในปลายปี 1943 นั่นเอง ยาคอฟ ซูกาชวิลิ เกิดเมื่อปี 1907 ริมฝั่งทะเลดำบนแผ่นดินจอร์เจียก่อนที่จะมีการปฎิวัติของเลนินได้ 10 ปี ภรรยาคนแรกของสตาลินได้ให้กำเนิดเขา และเธอเองตายลงหลังการคลอดไม่กี่เดือน วัยเด็กกับดินแดนทะเลดำไม่มีอะไรตื่นเต้น เขาถูกส่งเข้ามอสโคว์เมื่ออายุ 14 ปีเพื่อศึกษาต่อ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูกนั้นเป็นไปอย่างห่างเหิน

เพราะช่วงที่ยาคอฟเติบใหญ่เป็นช่วงที่สตาลินหมกมุ่นกับกองทัพและการปกครอง (หลังเลนินเสียชีวิตในปีค.ศ.1924 ก็ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างสตาลินกับลีออน ทร็อตสกี) ยาคอฟเกือบดับลมหายใจตัวเองสำเร็จไปครั้งหนึ่ง จากความกดดันของพ่อ ซึ่งไม่พอใจที่เขาไปแต่งงานกับเด็กสาวคนหนึ่งวัย 16 ปี ตอนนั้นเป็นช่วงก่อนสงคราม ยาคอฟเลือกที่จะยิงตัวตาย ทว่ากลับรอดปาฏิหาริย์ สตาลินได้กล่าวเย้ยหยันกับภรรยาคนใหม่ถึงเรื่องนี้ว่า “แค่ยิงให้ตัวเองตายแค่นี้ยังทำไม่ได้” (ในเรื่องการเลี้ยงดูลูกของสตาลิน ต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเผด็จการเขาจะวางกรอบเอาไว้เคร่งครัด เพื่อให้ลูก ๆ เดินตามที่วางไว้ ลูกสาวที่เกิดกับภรรยาคนที่สองซึ่งปัจจุบันเป็นพลเมืองสหรัฐฯ เปิดเผยชีวิตวัยเด็กว่า เธอถูกพ่อบังคับให้เลือกเรียนประวัติศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ชอบมันเลย และชีวิตคู่ครั้งแรกก็ประสบกับความย่อยยับ เมื่อสตาลินไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นสามีคนที่สองของเธอจึงเป็นคนที่เขาเลือกให้) ครั้นเมื่อสหภาพโซเวียตเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยาคอฟเข้าร่วมในตำแหน่งผู้บัญชาการกองทหารรถถัง เขาเดินเข้าสนามรบอย่างชายชาติทหารไม่นานหลังสงครามก่อตัว ยาคอฟพลาดท่าถูกจับกุมตัวได้ที่สมรภูมิในเมืองสมาเลนส์คเมื่อเดือนกรกฎาคม 1941 ทางเยอรมันมีการโฆษณาชวนเชื่อให้ศัตรูวางอาวุธ เพราะแม้แต่ลูกชายของสตาลินยังยอมแพ้ ระหว่างนั้นมีการส่งยาคอฟไปคุมขังที่ต่าง ๆ จนถึงปี 1943 จึงถูกส่งเข้าค่ายกักกันเชลยซาซเซนเฮาเซน “เขามีอิสระมากในค่ายแห่งนั้น ผิดกับนักโทษคนอื่น ๆ ยาคอฟสงวนท่าทีของตนมาก ทว่าบางเวลากลับแสดงอาการ
ดูแคลนอย่างเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ในค่าย” มิเคล ซูเอฟ (Mikhail Zuev) นักประวัติศาสตร์กล่าว ในช่วงเวลานั้น จอมพลของเยอรมันนาม ฟรีดริช พาวลัส (Friedrich Paulus) พ่ายแพ้ในสนามรบที่สตาลินกราด มีข้อแนะนำต่าง ๆ เข้าหูสตาลินว่า เขาควรที่จะรับข้อเสนอทางเยอรมันในการแลกเปลี่ยนเชลยกับลูกชายของเขา ทว่าผู้นำโซเวียตกล่าวสั้น ๆ “ฉันไม่แลกร้อยโทกับจอมพล” ครั้งหนึ่งก่อนยาคอฟถูกจับตัว สตาลินพูดกับคนใกล้ชิดว่า “ยาซ่าทำตัวเหมือนพวกนักเลง และพวกฉ้อโกง ฉันไม่ต้องการติดต่อกับเขาอีก” และนี่น่าจะบ่งชี้ให้เห็นได้ว่า ลูกชายคนโตผู้นี้ไม่เป็นที่พิศวาสของสตาลิน


[ฟรีดริช พาวลัส]

เมื่อสิ้นสุดสงคราม เชลยคืนสู่บ้านเกิด ทว่า ข่าวคราวของยาคอฟกลับเงียบหายไป ต่างสรุปไปทิศทางเดียวกันว่าน่าจะเสียชีวิตลงแล้ว กระแสข่าวมีไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าเขาเดินไปโดนรั้วไฟฟ้าของค่ายกักกัน บ้างว่าฆ่าตัวตายจากความกดดัน เอกสารที่เพิ่งเปิดเผยดังกล่าวมีการเอ่ยถึงเหตุการณ์ในวันที่ยาคอฟถูกสังหารว่า “ยาคอฟได้เดินเลาะไปรอบ ๆ ค่าย เมื่อเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งให้เขากลับไปยังบ้านพักของตนยาคอฟนิ่งเฉย ซ้ำยังพยายามเดินไปบริเวณรั้วลวดหนาม ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าคือเขตต้องห้าม จากนั้นกระสุนหนึ่งนัดก็ยิงเข้าที่ศีรษะเขา” และจากหลักฐานภาพถ่ายรวมทั้งบันทึก คงเป็นการไขข้อสงสัยต่อการตายของยาคอฟได้อย่างดี อย่างไรก็ตามแม้ว่ายาคอฟจะเป็นลูกของสตาลิน แต่ตัวเขาเองกลับเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ที่ไม่นานผู้คนก็จะหลงลืม



[ยาคอฟ (กลาง) ถูกเยอรมันจับได้ระหว่างสงคราม]


[ยาคอฟเสียชีวิตคารั้วลวดหนามภายในค่ายกักกันเชลย]



ข้อมูลเกี่ยวกับค่ายกักกัน “วาชเซนเฮาเซน”
• ตั้งแต่ปี 1936-1945 มีนักโทษผ่านค่ายกักกันแห่งนี้ราว 200,000 คน
• ค่ายแห่งนี้เองที่ครั้งหนึ่งกองทัพนาซีเคยใช้เป็นสถานที่ผลิตเงินปลอมสกุลดอลล่าร์และปอนด์ ซึ่งอยู่ในหนึ่งแผนการทำลายเศรษฐกิจอังกฤษและอเมริกา
• ผู้ต้องขังราว 30,000 คนเสียชีวิตที่นี่ด้วยความอ่อนล้า เป็นโรคปอดอักเสบจากอากาศที่เย็นจัดในฤดูหนาว และยังเสียชีวิตจากผลพวงของการทดลองทางการแพทย์ของนาซีซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชลยจากรัสเซีย


ที่มาบทความ: ไอแสค อาศิระ (ต่วยตุนส์'พิเศษ ปีที่ 38 ฉบับที่ 452 เดือนตุลาคม 2555)











Create Date : 09 สิงหาคม 2557
Last Update : 15 สิงหาคม 2557 15:25:37 น. 0 comments
Counter : 3167 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.