เรียนดี เรียนสนุก ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองที่นี่จ้า!!!
Group Blog
 
All Blogs
 

ทฤษฎีการขายไอดาส ( AIDAS )

ทฤษฎีการขายไอดาส ( AIDAS )
เป็นทฤษฎีที่เน้นหนักด้านผู้ขายว่าต้องปฏิบัติการต่าง ๆ ตามลำดับขั้นให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เพื่อผลสำเร็จในการเสนอขาย

ความเอาใจใส่ (Attention)
ขั้นแรกพนักงานขายต้องหาโอกาสที่จะทำให้ผู้คาดว่าเป็นลูกค้าตื่นตัว พร้อมที่จะรับฟังการเสนอขาย เช่น การขอนัดพบล่วงหน้า หรือบอกเหตุผลในการมาหรือขออภัยที่รบกวนเวลาเขา การที่จะทำให้เขาเกิดความเอาใจใส่ที่จะรับฟังการเสนอขายอาจเป็นผลมาจากบุคลิกท่าทาง การแต่งกายเรียบร้อย การยิ้ม การพูดจาสุภาพนิ่มนวล พนักงานขายจะต้องแน่ใจว่าสามารถทำได้สำเร็จ ซึ่งเท่ากับเป็นการเริ่มต้นการขายที่มีประสิทธิภาพ และทำให้ผ่านไปสู่ขั้นตอนอื่น ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ความสนใจ ( Interest )
เมื่อเห็นว่าลูกค้าพร้อมที่จะรับฟังการเสนอขาย พนักงานขายก็ต้องเริ่มสร้างความสนใจ มีวิธีการให้ลูกค้าเกิดความสนใจ กล่าวถึงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ โดยอาจเสนอตัวอย่างสินค้า แค๊ทตาล๊อก รูปภาพ หรืออื่น ๆ มาช่วยเร่งเร้าความสนใจให้เกิดเร็วขึ้น หนักที่สำคัญก็คือ พนักงานขายต้องพยายามหาความต้องการของลูกค้า ( ในด้านทัศนคติและความรู้สึก ) โดยวิธีการตั้งคำถาม ทดสอบความสนใจเพื่อทราบถึงความรู้สึก ทัศนคติ หรือท่าทีซึ่งบางครั้งลูกค้าอาจจะบอกมาเองก็ได้

ความปรารถนา(Desire)
เป็นขั้นที่พนักงานขายต้องพยายามจูงใจให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกอยากที่จะเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายอยู่ ขั้นนี้เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการขายเพราะลูกค้ามักจะตั้งข้อตำหนิติเตียน สงสัย โต้แย้งต่าง ๆ ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคในการขาย พนักงานขายต้องเตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์ พยายามควบคุมสติอารมณ์ ปรับตัวให้เข้ากับลักษณะลูกค้าแต่ละรายจนสามารถแก้ข้อสงสัยต่าง ๆ ไปได้ โดยทำให้ลูกค้าเข้าใจและยอมรับหรือพอใจในคำตอบ บางครั้งจะเป็นการประหยัดเวลาได้มากถ้านักงานขายจะกล่าวถึงคำถามที่เขามักจะได้รับเสียเอง โดยอาศัยประสพการณ์ที่ผ่านมาและก่อนที่จะดำเนินการต่อไปก็ควรสรุปสาระสำคัญ ๆ ที่ได้กล่าวแล้วเพื่อกระตุ้นเตือนความสนใจของลูกค้า การตกลงใจที่จะซื้อ ( Action ) หากการเสนอขายได้กระทำอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมทำให้ผู้คาดว่าจะเป็นลูกค้าพร้อมที่จะตกลงซื้อ อย่างไรก็ตามการตกลงซื้อไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจะต้องอาศัยการชี้ชวนของพนักงานขายด้วย พนักงานขายที่ดีจะปิดการขายเมื่อเห็นแน่นอนว่าลูกค้าเกิดความอยากซื้ออย่างแรงกล้า โดยทั่วไปไม่นิยมถามตรง ๆ ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ แต่มักใช้คำถามเลี่ยง ๆ เช่นว่าจะให้ส่งสินค้ามาเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่

ตกลงใจซื้อ ( Action )
เป็นขั้นตอนที่ลูกค้าตกลงใจซื้อสินค้าที่เสนอขายแต่ผุ้ซื้ออาจจะไม่สั่งซื้อทันที การปิดการขายจึงไม่ควรที่จะตั้งคำถามให้ลูกค้าตอบว่า "ซื้อ" หรือ "ไม่" แต่ควรจะเลี่ยงด้วยการถามว่า "ต้องการสีอะไร" "จะให้จัดส่งเมื่อใด" "ต้องการจ่ายเป็นเงินสดหรือใช้บัตรเครดิต" เป็นต้น

ความพอใจ ( Satisfaction )
พนักงานขายต้องเสริมสร้างความพอใจให้กับลูกค้าโดยการแสดงความขอบคุณ และแสดงให้ลูกค้ารู้สึกว่า ได้ตัดสินใจถูกต้อง เหมาะสมที่สุดแล้ว ทั้งให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและพอใจที่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ขาย ขั้นนี้ควรทำให้เร็วที่สุดหลังการขาย พนักงานขายปลีก อาจจะเห็นว่าในขั้นนี้อาจจะเสนอขายสินค้าอื่น ๆ เพิ่มได้อีกด้วย






 

Create Date : 08 ธันวาคม 2549    
Last Update : 4 ตุลาคม 2551 6:04:11 น.
Counter : 9736 Pageviews.  

การขายโดยบุคคลและการบริหารงานขาย

การขายโดยบุคคลและการบริหารงานขาย

ความหมายการขายโดยบุคคลหมายถึงการที่พนักงานขาย (Salesman) หรือบุคคลนำสินค้าหรือบริการ ขายตรงไปยังผู้คาดหวังเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้าหรือบริการ

กระบวนการขาย (Selling Process)กระบวนการขาย เป็นแผนการเสนอการขายอย่างมีระบบตามลำดับขั้น ประกอบไปด้วยขั้นตอน
ดังต่อไปนี้ คือ
1. การสืบหาผู้คาดหวัง (Prospecting) หาบุคคลที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะเป็นลูกค้า
2. การเตรียมการเพื่อเข้าพบผู้คาดหวัง (Preapproach) พนักงานขายจะต้องมีข้อมูล ควรทำการนัดหมายล่วงหน้า วางแผนการเสนอขายและเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเสนอขายให้พร้อม
3. การเข้าพบผู้คาดหวัง (Approach) ควรมาตรงตามเวลานัด แต่งกายให้สุภาพและระวังกิริยามารยาท สร้างมีบุคลิกภาพที่ดี
4. การเสนอการขาย (Presentation) ครอบคลุมเรื่องที่สำคัญทุกเรื่อง
5. การขจัดข้อโต้แย้ง (Answering the Objection) พยายามทำความเข้าใจในข้อโต้แย้ง รับฟัง และแถลงชี้แจงปัญหาต่าง ๆ
6. การปิดการขาย (Closing the Sales) ถามทางอ้อมให้ให้เขาตัดสินใจเลือกแบบสี หรือกำหนดวันส่งของ
7. การติดตามผล (The Follow-up) เพื่อจะได้ทราบว่าลูกค้ามีความรู้สึกอย่างไร
คุณสมบัติของพนักงานขายที่ดี
1. มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและลูกค้า มีความจริงใจ
2. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
3. มีความอดทน ขยัน และสามารถควบคุมตนเองได้
4. สามารถรับคำติชมจากลูกค้าได้
5. มีความรับผิดชอบต่องาน
6. รักความก้าวหน้า
7. มีมารยาท บุคลิกและการแต่งกายที่ดี
8. มีความช่างสังเกต มีไหวพริบ และมีความทรงจำดี
9. มีศิลปการพูด การฟัง และการเผชิญข้อโต้แย้ง
10. มีความมั่นใจในตนเองและมั่นใจในคุณภาพของสินค้าที่เราเสนอขาย
11. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
12. มีวิจารณญาณและมองการณ์ไกล
13. หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส สดชื่น และทักทายลูกค้าด้วยการไหว้ได้อย่างเหมาะสม
14. การเข้าใจจิตใจและความต้องการของผู้อื่นเพื่อเสนอในสิ่งที่ผู้อื่นต้องการ โดยต้องคำนึงว่าต่างคนต่างได้ผลประโยชน์ร่วมกัน
15. มีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อบุคคลอื่น สนับสนุนและช่วยเหลือในสิ่งที่ทำได้
การสรรหาและการคัดเลือกพนักงานขาย

กระบวนการคัดเลือกพนักงานขายมีลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ทำการวิเคราะห์งานขาย (Job Analysis)
2. ประมาณการณ์จำนวนพนักงานขายที่บริษัทต้องการ
3. รับสมัครพนักงาน
4. คัดเลือกพนักงานขาย

ประเภทของพนักงานขาย
1. ประเภทพนักงานขายที่แบ่งตามลักษณะขั้นพื้นฐาน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้คือ
1.1 พนักงานขายประเภทแสวงหาคำสั่งซื้อ (Order Getter)
เป็นพนักงานขายประเภทที่มีหน้าที่ใช้ความพยายามเพิ่มยอดขายให้กับบริษัท แสวงหาลูกค้า
รายใหม่ ๆ ให้ได้มากที่สุด
1.2 พนักงานขายประเภทจัดการกับคำสั่งซื้อ (Order Taker) มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล สรุปผลการขาย คอยติดตามลูกค้าเก่าให้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ
1.3 พนักงานขายประเภทสนับสนุนการขาย (Supporting Salesman) คอยให้การสนับสนุนพนักงานขาย 2 ประเภท ที่ได้กล่าวมาแล้ว
2. พนักงานขายประเภทที่แบ่งตามลักษณะของการดำเนินงานของกิจการ แบ่งได้ 3 ประเภท
ดังนี้
2.1 พนักงานขายผู้ผลิต
2.2 พนักงานขายผู้ค้าส่ง
2.3 พนักงานผู้ค้าปลีก

หน้าที่และความรับผิดชอบทั่วไปของพนักงานขาย (General Duties and
Responsibility)

1. หน้าที่การขายทางตรง (Direct Selling)
2. หน้าที่การขายทางอ้อม (Indirect Selling) ได้แก่
2.1 การเสริมความเชื่อถือความนิยมให้แก่บริษัท
2.2 สนับสนุนกิจกรรมทางด้านต่าง ๆ
2.3 ขจัดปัญหาต่าง ๆ ของลูกค้า
3. หน้าที่ที่ไม่เกี่ยวกับการขาย (Non selling) ได้แก่
3.1 การเขียนรายงาน
3.2 การเก็บเงิน
3.3 ส่งของ
3.4 งานทางด้านบริหารงาน
3.5 การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

ความรู้ที่จำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับพนักงานขายได้แก่ความรู้ในด้าน ต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. บริษัท (company)
2. สินค้า (Consumer’s Product)
3. ลูกค้า (Customers) พนักงานขายควรทราบถึง
3.1 อำนาจซื้อ (Purchasing Power)
3.2 อำนาจการตัดสินใจ (Authority)
3.3 ความต้องการ (Need)
3.4 ความมีเหตุผล (Rationality)
3.5 คุณสมบัติ (Eligibility)
4. คู่แข่งขัน (Competition)

ศิลปการขาย (Salesmanship)
หมายถึง ทักษะในการขาย ความสามารถและเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการขาย
(Selling Technique)
พนักงานขายที่มีศิลปการขาย นั้น จำเป็นต้องศึกษาทางด้านจิตวิทยา พฤติกรรมและ
ความสัมพันธ์ของมนุษย์ รวมทั้งกระบวนการขาย และทฤษฏีการขายด้วย

ทฤษฎีการขาย (Sales Theory)
1. ทฤษฎีการกระตุ้นและตอบสนอง (Stimulus Response Theory)
ทฤษฎีนี้ใช้ในกรณีที่พนักงานขายยังไม่ทราบถึงความต้องการของผู้คาดหวัง หรือยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาถึงความต้องการของผู้คาดหวัง พนักงานขายจะพยายามตั้งคำถามต่าง ๆ ให้ผู้คาดหวังโต้ตอบเพื่อพนักงานขายจะได้รับรู้ความต้องการและสนองตอบความต้องการนั้น โดยการเสนอขายสินค้าและบริการ

2. ทฤษฎีการขาย (AIDAS Theory of Selling)ใช้เมื่อทราบความต้องการของผู้คาดหวังบ้างแล้ว พนักงานขายจะพยายามกระตุ้นและจูงใจ โดยการให้ผู้คาดหวังเกิดความตั้งใจ สนใจ ปรารถนา และตัดสินใจซื้อด้วยหลัก AIDAS แต่ละขั้นตอนของทฤษฎี AIDAS คือ

A (Attention) หมายถึง ความตั้งใจ โดยทำให้ผู้คาดหวังตั้งใจฟังการ เสนอขายของพนักงานทั้งในเรื่องประโยชน์ และคุณภาพของสินค้าและตัวพนักงานขายด้วย

I (Interest) หมายถึง ความสนใจ คือการเน้นประโยชน์ที่ตรงกับ ความต้องการของผู้คาดหวัง

D (Desire) หมายถึง ความปรารถนา โดยกระตุ้นและจูงใจให้เกิด ความต้องการในสินค้า
หรือบริการ

A (Action)
หมายถึง ความตกลงใจ ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการนั้น

S (Satisfaction) หมายถึง ความพอใจ ทั้งในขณะซื้อและหลังการซื้อโดย การให้บริการ
เป็นที่ประทับใจ และการเสนอ ข่าวสารให้เป็นประจำเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และเกิดการซื้อซ้ำ

3. ทฤษฎีสนองตอบความต้องการ (Need Satisfaction Theory)
ทฤษฏีนี้จะเน้นทางผู้ซื้อ
มากกว่าผู้ขาย โดยพนักงานขายจะทำหน้าที่สนองตอบความต้องการของผู้ซื้อเท่านั้น

การสรรหาและการคัดเลือกพนักงานขาย

กระบวนการคัดเลือกพนักงานขายมีลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ทำการวิเคราะห์งานขาย (Job Analysis)
2. ประมาณการณ์จำนวนพนักงานขายที่บริษัทต้องการ
3. รับสมัครพนักงาน
4. คัดเลือกพนักงานขาย

การฝึกอบรมพนักงานขาย
ผู้บริหารควรพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
1. วัตถุประสงค์การฝึกอบรม 1.1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขาย
1.2 สร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานขาย
1.3 ลดอัตราการเข้าออกของพนักงานขาย
1.4 ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี
1.5 เพื่อการควบคุมพนักงานได้ง่าย
2. ผู้ทำหน้าที่ฝึกอบรม ได้แก่ผู้จัดการขาย (Sales Manager) ผู้ควบคุมการขาย
(Supervisors) พนักงานขายระดับอาวุโส บางครั้งผู้ทำหน้าที่ฝึกอบรม อาจมาจากหน่วยอื่นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขาย หรือว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

3. ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ประเภทที่ไม่มีประสบการณ์การขายเลย หรือมีประสบการณ์ การขายจากบริษัทอื่นมาแล้ว หรือพนักงานเก่าที่มีประสบการณ์การขายของบริษัทมาแล้ว

4. ลักษณะและเนื้อหาของการฝึกอบรม
4.1 การฝึกอบรมเบื้องต้น (Initial Training) เป็นการฝึกอบรมให้กับพนักงานขายที่ยังขาดประสบการณ์ในการขายของบริษัท
4.2 การฝึกอบรมต่อเนื่อง (Continuous Training) เป็นการฝึกอบรมเพิ่มเติมจากการฝึกอบรมเบื้องต้น
5. สถานที่และเวลาในการฝึกอบรม ก่อนออกปฏิบัติงานจริง หรือจากการปฏิบัติ งานขายก่อนแล้วจึงค่อยเข้ารับการฝึกอบรม สำหรับสถานที่ฝึกอบรมจะจัดที่ศูนย์ฝึกอบรม (Centralized Training) หรืออบรมตามสาขาต่าง ๆ หรือนอกสถานที่ก็ได้
วิธีการฝึกอบรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. การฝึกอบรมในห้องฝึกอบรม (Off the Job Training)
2. การฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน (On the Job Training)
การฝึกอบรมในห้องฝึกอบรม1. การบรรยาย (Lecture)
2. การอภิปราย (Discussion)
3. การสาธิต (Demonstrations)
4. การกำหนดบทบาทแสดง (Role playing)
5. การฝึกอบรมในรูปแบบอื่น ๆ
การฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน
เป็นการให้พนักงานขายออกไปปฏิบัติจริงหลังจากฝึกอบรมในห้องแล้วโดยมี
พี่เลี้ยงผู้มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำ
การจูงใจพนักงานขาย และการจ่ายค่าตอบแทนสิ่งจูงใจได้แก่ สิ่งจูงใจที่เป็นตัวเงิน และสิ่งจูงใจที่ไม่เป็นตัวเงิน
สิ่งจูงใจในรูปของตัวเงิน (Financial) แบ่งได้เป็น 2 แบบคือ การจ่ายค่าตอบแทน
ทางตรง(Direct Payment) และการจ่ายค่าตอบแทนทางอ้อม (Indirect Payment)
สิ่งจูงใจที่ไม่อยู่ในรูปเงิน (Nonfinancial) จะอยู่ในรูปของ การยกย่อง ชมเชย
การมอบโล่รางวัล การเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ
วิธีการจ่ายค่าตอบแทนในรูปตัวเงินโดยตรงมีดังนี้
1. การจ่ายค่าตอบแทนในรูปเงินเดือน (Straight Salary)
2. การจ่ายค่าตอบแทนในรูปค่านายหน้า (Straight Commission)
3. วิธีผสมเป็นการจ่ายค่าตอนแทนในรูปของเงินเดือน และค่านายหน้า (Combination
Salary and Commission Plan)
การควบคุมและการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานขาย
1. การควบคุมการขาย ดูแลให้พนักงานขายปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพได้ตามที่
วางแผนเอาไว้
2. การประเมินผล ตรวจสอบและประเมินผลงานของพนักงานขาย








 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2549 9:03:48 น.
Counter : 6166 Pageviews.  

เทคนิคการขาย

ความหมายของเทคนิคการขาย เทคนิคการขาย คือ วิธีการขายที่พนักงานขาย ใช้ความสามารถส่วนตัวหรือใช้ศิลปะในการชนะใจลูกค้า โดยให้ความรู้สึกว่าลูกค้านั้นมีความสำคัญต่อผู้ขายมาก ให้ความชื่นชม ให้ความนับถือและให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้าให้มากที่สุด พนักงานขายที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพขายมีวิธีการใช้เทคนิคที่แตกต่างกัน เช่น

1.ความสามารถในการจำชื่อลูกค้าได้แม่นยำ แสดงให้เห็นว่าลูกค้าเป็นคนสำคัญ

2.ความสามารถในการเลือกคำพูดที่สั้นกระทัดรัด

3.ให้ลูกค้าทดลองใช้ฟรี ซื้อไม่ชอบใจเอามาคืน

4.ความสามารถในการทำให้ความฝันของลูกค้ากลายเป็นความจริง

5.ความสามารถในการใช้ความกลัวเป็นเครื่องจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้า

6.หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ทำให้เกิดภาพลบ





 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2549 11:31:03 น.
Counter : 4736 Pageviews.  

ประเภทและลักษณะของการขาย

บทที่ 2 : ประเภทและลักษณะของการขาย

การขาย (Selling) คือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้า เราต้องค้นหาให้พบว่าลูกค้าต้องการอะไร และสามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้ ทั้งนี้เพราะสินค้าและบริการที่มีอยู่บน
ท้องตลาดมีอยู่มากมายหลายชนิด แตกต่างกันไปตามลักษณะ คุณประโยชน์ คุณสมบัติ และลักษณะของการใช้งาน ดังนั้น การขายสินค้าจึงเป็นงานที่แตกต่างกันตามลักษณะของสินค้าและบริการ ตลอดจนนโยบายของกิจการนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้พนักงานต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวสูงมากจึงจะประสบความสำเร็จได้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องศึกษาว่า การขายมีประเภทใดบ้าง และลักษณะของการขายนั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำไปใช้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม


ประเภทของงานขาย
งานขายเป็นหัวใจของการดำเนินกิจการด้านธุรกิจ ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายจะต้องรู้จักใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ดำเนินกิจกรรมด้านการขายให้ประสบผลสำเร็จ โดยการจูงใจให้ลูกค้าสนใยและตัดสินใจซื้อสินค้า แต่เนื่องจากสินค้าและบริการที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบันมีหลากหลายประเภท งานขายสินค้าและบริการจึงมีวีการแตกต่างกันไปตามชนิดและประเภทของสินค้า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานขายแต่ละคนจะสรรค์สร้างแนวทางหรือวิธีการมาเสนอขายให้ประสบความสำเร็จ

การแบ่งประเภทของงานขายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการแบ่งว่าจะยึดสิ่งใดเป็นเกณฑ์ โดยทั่วไปจะแบ่งงานขายออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1.งานขายที่แบ่งตามระบบการจัดจำหน่าย สามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ระบบการขายตรง (Direct Sales) คืองานที่จัดจำหน่ายสินค้าและบริการจากผู้ผลิตส่งให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ใช้พ่อค้าคนกลางหรือตัวแทนจำหน่ายใด ๆ วิธีการขายตรงที่นิยมใช้ในปัจจุบันนี้ มีดังนี้

@ การขายสินค้าตามบ้าน (Door to Door Selling) คือ การที่พนักงานขายสินค้าจะไปขายสินค้าให้กับผู้บริโภคถึงที่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทของใช้ เช่น ผงซักฟอก ยาสีพัน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง งานขายประเภทนี้พนักงานขายจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีด้วย

@ การขายโดยการติดต่อทางไปรษณีย์ (Mail Selling) โดยผู้ขายจะส่งภาพตัวอย่างสินค้าไปให้ลูกค้าสั่งซื้อทางไปรษณีย์ หรือลงโฆษณาสินค้าทางนิตยสาร หนังสือพิมพ์พร้อมแบบฟอร์มสั่งซื้อ เพื่อให้ลูกค้ามาสั่งซื้อ สำหรับต่างประเทศจะนิยมส่งจดหมายไปยังลูกค้าที่บ้าน เพราะเป็นวิธีการขายที่เสียค่าใช้จ่ายน้อย และมีขอบเขตการขายได้กว้างขวาง

@ การขายโดยใช้โทรศัพท์ (Telephone Selling) ความก้าวหน้าทางด้านการติดต่อสื่อสารทำให้ให้พนักงานส่วนมากใช้การติดต่อทางโทรศัพท์กับลูกค้า โดยติดต่อเพื่อเสนอขาย สินค้าของตน ซึ่งผู้สนใจก็จะสามารถสั่งซื้อได้

@ การขายที่แหล่งผลิต (Manufacturer Selling) มักจะเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตจำหน่ายเอง เช่น ร้านตัดรองเท้า ร้านขายขนมหวาน เป็นต้น

2.ระบบที่ผ่านตัวแทนคนกลาง (Middleman Selling) คือ การขายที่ผู้ผลิตไม่ได้ขายสินค้าให้ผู้บริโภคโดยตรง แต่จะมีตัวแทนจำหน่าย ผู้ค้าส่ง หรือผู้ค้าปลีก เข้ามาเป็นคนที่รับสินค้าจากผู้ผลิตมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง ได้แก่

@ พ่อค้าคนกลาง (Merchant Middleman) เป็นพ่อค้าที่มีกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้า เช่น สามารถตั้งราคาขายได้ ได้แก่ ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก เช่น บริษัทผลิตบะหมี่สำเร็จรูปจะขายสินค้าไปยังร้านขายส่งหรือร้านขายปลีก (ห้างสรรพสินค้า) เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคคนสุดท้ายต่อไป





@ ตัวแทนคนกลาง (Agent Middleman) เป็นตัวแทนของผู้ผลิต ไม่มีกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้า มีหน้าที่จัดส่งสินค้า ได้แก่ นายหน้า หรือตัวแทนจำหน่าย ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง ขายสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่ายแต่ละเขต จากนั้นผู้ค้าส่งจะมารับซื้อสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายเขตนั้นไปขายให้กับร้านค้าปลีก ก่อนที่จะขายให้แก่ผู้บริโภคคนสุดท้าย



2.งานขายที่แบ่งตามลักษณะงาน แบ่งงานขายประเภทนี้ออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.งานขายที่ใช้พนักงานขาย (Personal Selling) คือ งานขายที่จะให้พนักงานไปเสนอขายสินค้าและบริการให้กับลากค้าโดยตรง งานขายประเภทนี้จัดเป็นงานขายที่สำคัญที่สุด และยังเป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขายของกิจการนั้น ๆ ด้วย งานขายที่ใช้พนักงานขายนี้แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

@งานขายปลีก (Retail Selling) คือ การขายสินค้าหลากหลายชนิดในเวลาพร้อม ๆ กัน เป็นการขายในปริมาณน้อยให้กับลูกค้าที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งถือเป็นผู้บริโภคคนสุดท้าย ได้แก่ ร้านขายของชำ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

@งานขายส่ง (Wholesales Selling) คือ การขายสินค้าให้กับตัวกลาง ต่าง ๆ เช่น ตัวกลางประเภทร้านค้าปลีก เพื่อนำสินค้านั้นไปขายต่อให้กับผู้บริโภคโดยกิจการด้านการขายส่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรจากการขายสินค้าให้แก่ตัวกลาง สินค้าที่นำมาขายส่งนั้นมีมากมายหลายชนิดส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องตัว อุปกรณ์การเรียน เครื่องใช้สำนักงาน รวมทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยที่สร้างความสุขทางใจ เช่น เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เป็นต้น

@งานขายด้านอุตสาหกรรม (Industrial Selling) คือ การขายสินค้าให้กับหน่วยงานองค์กร โรงงานอุตสาหกรรม และกิจการธุรกิจต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบเครื่องจักร เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่จะใช้ในกิจการเหล่านั้น เช่น ขายเครื่องพิมพ์และกระดาษให้กับโรงพิมพ์ ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ธนาคาร และกิจการทางธุรกิจต่าง ๆ ขายอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลหรือขายเหล็กให้แก่โรงงานผลิตรถยนต์เป็นต้น

2.งานขายที่ไม่ใช้พนักงานขาย (Non-Personal Selling) คือ งานขายที่ไม่ต้องใช้บุคคลไปติดต่อเพื่อเสนอขาย แต่จะใช้เทคนิควิธีการอื่น ๆ เพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าแทน วิธีการที่นิยมใช้กันในกิจกรรมทางธุรกิจมีหลายประการเช่น

@การโฆษณา (Advertising) งานขายจะใช้วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์หลากหลาย วิธีที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สื่อมวลชนซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก เช่น การโฆษณาในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณาตามที่สาธารณะต่าง ๆ แผ่นพับ แคตตาล็อก เป็นต้น งานด้านโฆษณาเป็นสิ่งจำเป็นและถือว่าเป็นวิธีเสนอขายที่ได้ผลดี เพราะสามารถให้ข้อมูลรายละเอียดพร้อมทั้งกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ทันที

@การจัดนิทรรศการหรือจัดแสดงสินค้า (Display) เป็นงานขายที่ไม่ต้องใช้พนักงานขายแต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงสินค้าได้ทราบข้อมูลและเป็นรูปลักษณ์ การจัดแสดงสินค้าจะต้องให้เป็นที่น่าสนใจและดึงดูดลูกค้าให้มากที่สุด เพราะถ้าหากลูกค้าสนใจในตัวสินค้าเข้าไปติดต่อสอบถามขอชมสินค้าและบริการ อันจะทำให้เกิดความต้องการและตัดสินใจซื้อสินค้าในเวลาต่อมา

@การส่งเสริมการขาย (Promotion) คือ งานที่กิจการทางธุรกิจดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้งานขายนั้นมีประสิทธิภาพ เช่น การ ลด แลก แจก แถม ส่งชิ้นส่วนชิงโชค เป็นต้น

@การบริการตนเอง (Self Service)คืองานขายประเภทที่ลูกค้าจะต้องบริการตนเอง เช่น ตู้ขายน้ำดื่มที่ผู้ซื้อจะต้องหยอดเหรียญและเลือกสินค้าเองตามความพอใจ หรือการเลือกซื้อสินค้าในแผนกซูปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

งานขายซึ่งมีหลายประเภท มีวิธีการขายที่แตกต่างกันไปตามสภาพความเหมาะสมของสินค้าและบริการ นโยบาย เงินทุน และความพอใจของกิจการที่เป็นเจ้าของผลผลิตนั้น ๆ งานขายจะประสบผลสำเร็จได้นั้น มิใช่จะมีเพียงการขายที่หลากหลายเท่านั้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับพนักงานขายที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ใช้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเพื่อการตัดสินใจเลือกซื้อ

ประเภทของพนักงานขาย

การแบ่งประเภทของพนักงานขายมีอยู่หลายวิธีแต่ในที่นี้จะแบ่งตามลักษณะงานขายประเภทต่าง ๆ ดังนี้

1.พนักงานขายในงานอุตสาหกรรม (Manufacturer’s Representatives) งานขายประเภทนี้พนักงานขายจะต้องมีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านเกี่ยวกับสินค้าที่เสนอขายนั้นเป็นพิเศษ เข้าใจวิธีการทำงานสินค้าเพื่อจะได้นำเสนอข้อมูลให้ลูกค้าได้เข้าใจ พนักงานขายอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1. พนักงานขายอุตสาหกรรมทั่วไป (Industrial Salesman) พนักงานขายสินค้าของบริษัทจะต้องมีความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับสินค้าที่ตนเองจำหน่าย ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับความรู้ดังกล่าว เพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าได้อย่างชัดเจน

2. วิศวกรฝ่ายขาย (Sales Engineer) คือ พนักงานขายที่มีพื้นความรู้ทางด้านวิศวกรรม หรือเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุต่าง ๆ ของงานด้านอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี ต้องรู้ลึกถึงการทำงาน
ขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงาน การจัดตั้งอุปกรณ์ ส่วนประกอบของอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี และสามารถใช้และซ่อมแซมเครื่องมือ อุปกรณ์นั้น ๆ ได้ด้วย

3. พนักงานขายฝ่ายขายบริการ (Service Salesman) คือ พนักงานที่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าหลังการขาย เช่น เมื่อสินค้ามีอะไหล่ชำรุดก็สามารถหามาทดแทน หรือสามารถถอดอุปกรณ์และประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธา

2.พนักงานขายในงานขายส่ง (Wholesale’s Salesman) งานขายส่ง คือ งานที่ขายสินค้าในปริมาณมากและหลายหลายชนิด พนักงานประเภทนี้มีทั้งที่เป็นพ่อค้าคนกลางและตัวแทนคนกลางด้วย แบ่งออกเป็น

1. พนักงานขายบุกเบิก (Pioneer) คือ พนักงานขายส่งที่เป็นตัวแทนของงานขายอุตสาหกรรมเป็นผู้ที่ออกไปเสนอขายสินค้าเพื่อจูงใจให้ลูกค้ามีความสนใจในสินค้ายี่ห้อใหม่หรือเพิ่งผลิตออกสู่ตลาด

2. พนักงานขายประจำรถส่งสินค้า (Dealer-Servicing Salesman) คือ พนักงานที่จะต้องออกไปติดต่อขอการสั่งซื้อจากลูกค้าทั่ว ไป เพื่อการขายสินค้าให้มากที่สุด พร้อมกับต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าของตนในด้านต่าง ๆ อันจะนำมาสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้น

3. พนักงานขายส่ง (Wholesalers) คือพนักงานที่เป็นตัวแทนของสินค้าเพียงชนิดเดียว เช่น พนักงานขายส่งผลิตภัณฑ์ยา จะเสนอขายผลิตภัณฑ์ยาจากหลาย ๆ โรงงานให้กับร้านค้าปลีกหรือโรงพยาบาล

4. พนักงานแนะนำสินค้า (Missionaries Salesman) คือพนักงานที่มีหน้าที่แนะนำสินค้าหรือส่งเสริมการขาย ไม่มีหน้าที่รับการสั่งซื้อนอกจากไปเสนอผลิตภัณฑ์แนะนำข้อมูลแจกตัวอย่างสินค้า เพื่อให้ลูกค้าได้นำไปพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ

3. พนักงานขายปลีก (Retail Salesman) สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทดังนี้

1. พนักงานขายในร้าน หรือตามเคาน์เตอร์สินค้า (Retail Clerk) เช่นพนักงานขาย ในห้างสรรสินค้า
ในร้านค้าทั่ว ๆ ไป

2. พนักงานขายสินค้าเฉพาะอย่าง (Special Salesman) คือผู้ขายสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ผู้บริโภคคนสุดท้าย โดยจะเป็นผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้าน เช่น พนักงานขายประกันชีวิต ขายอุปกรณ์รถยนต์ เป็นต้น

3. พนักงานขายสินค้าตามบ้าน (Door to Door Salesman) ถือเป็นพนักงานที่เหนื่อยและลำบากที่สุด เพราะต้องออกไปขายสินค้าให้แก่ลูกค้าถึงบ้านตามจุดต่าง ๆ ที่ฝ่ายตลาดของบริษัทกำหนดโดยไม่มีการนัดหมายลูกค้าล่วงหน้า ซึ่งอาจจะพบกับความไม่ไว้วางใจจากลูกค้าหรือการต้อนรับที่เป็นมิตร สินค้าที่นิยมนำไปขายมักเป็นสินค้าที่มีราคาถูก เช่น น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ แต่ปัจจุบันมีสินค้าราคาสูงพอสมควรที่นิยมขายตามบ้าน เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องกรองน้ำ เป็นต้น

4. พนักงานขายตามเส้นทาง (Route Salesman) คือพนักงานที่นำสินค้าออกจำหน่ายด้วยพาหนะต่าง ๆ ที่ทางบริษัทจัดให้ไปตามเส้นทางที่ถูกกำหนดให้ เช่นพนักงานขายไอศกรีม ของรถขายไอศกรีมวอลล์ หรือพนักงานขายยาคูลท์ เป็นต้น






 

Create Date : 01 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 4 ตุลาคม 2551 6:34:47 น.
Counter : 55677 Pageviews.  

วิชาการขายเบื้องต้น :คำอธิบายรายวิชา จุดประสงค์รายวิชา และเนื้อหาบทที่ 1 ความหมาย ความสำคัญ แนวคิด

วิชาการขายเบื้องต้น
รหัส 3200-0004
เวลาเรียน 3 คาบต่อสัปดาห์/18 สัปดาห์


คำอธิบายรายวิชา
ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของการขายและการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย ประเภทและลักษณะของการขาย ความรู้พื้นฐานของพนักงานขาย โอกาสและความก้าวหน้าของพนักงานขาย ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการขาย คุณสมบัติและจรรยาบรรณของพนักงานขาย
จุดประสงค์รายวิชา1. รู้และเข้าใจหลักและวิธีการขายเบื้องต้น
2. มีเจตคติที่ดีต่ออาชีพขาย
3. มีทักษะเกี่ยวกับการปฏิบัติการขายและนำไปประกอบอาชีพได้
************************************
หน่วยการเรียนที่ 1
ความหมาย ความสำคัญ แนวความคิดของการขายและการตลาด


คำนิยามของการขาย
สมาคมการตลาดแห่งสหรัฐอเมริกา (The American MarKeting Association) ให้คำจำกัดความไว้ว่า "การขาย คือ กระบวนการทางตรงและทางอ้อมของการช่วยเหลือหรือชักจูงใจ ผู้เป็นลูกค้าในอนาคตให้ซื้อสินค้าหรือบริการหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างน่าพอใจที่เป็นผลสำคัญทางการค้าแก่ผู้ขาย

ความหมายของการขาย
การขาย หมายถึง การติดต่อสื่อสาร ( Communication) ซึ่งมีพนักงานขายเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารโดยนำข้อมูล เกี่ยวกับสินค้า นโยบายของบริษัท เสนอให้กับลูกค้า ในขณะเดียวกันพนักงานขายทำหน้าที่รับฟังข้อมูลจากลูกค้าในเรื่องของสินค้า ราคา อื่น กลับสู่บริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท

การขาย หมายถึง การแก้ปัญหา (Problem) ในการที่พนักงานขายได้มีการเข้าพบลูกค้าและมีการนำเสนอสินค้าให้ลูกค้านั้น บางครั้งลูกค้าอาจจะมีข้อสงสัย หรือปัญหาในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น นโยบายคุณภาพราคาเงื่อนไข การส่งมอบ ฯลฯ ดังนั้น พนักงานจะต้องเป็นผู้เข้าไปช่วยเหลือขจัดปัญหาต่าง ๆจนทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และยอมรับสินค้านั้น ๆ

การขาย หมายถึง การให้ความช่วยเหลือ (Assistance) โดยให้ความช่วยเหลือลูกค้าซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ราคา เหมาะสมกับลูกค้า

การขาย หมายถึง การชักจูงลูกค้า การจูงใจลูกค้า ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของพนักงานขาย ถ้าเป็นสินค้าใหม่พนักงานขายจะต้องให้ความรู้ในเรื่องคุณภาพ เรื่องราคา ซึ่งเป็นศิลปะในการจูงใจและการพูดโดยใช้หลักด้านจิตวิทยาเพื่อให้ประสบความสำเร็จ

ความหมายและความสำคัญของการตลาด
การตลาดคือกิจกรรมของธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะอำนวยความสะดวก และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ผลิตหรือผู้ขายกับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ โดยจะต้องมุ่งสนองความพึงพอใจของผู้ซื้อเป็นสำคัญ

องค์ประกอบที่สำคัญของการตลาดประกอบด้วย
1. การโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า (Goods) หรือบริการ(service)
2. มีสินค้า และตลาด(Market) ที่จะทำการซื้อขายสินค้าหรือบริการ

แนวความคิดของการตลาดและการขาย
1.แนวความคิดมุ่งการผลิต (The Production Concept)
เป็นแนวความคิดทางการตลาดที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งการผลิตยุคนั้นเป็นการผลิตที่เป็นเพียงอุตสาหกรรมในครัวเรือนเพื่อการบริโภค ถ้าจะมีการค้าขายก็น้อยยังมีคู่แข่งขัน หรือถ้ามีคู่แข่งขันจะมีเพียงน้อยราย แนวความคิดนี้จะเน้นการผลิตเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงผลผลิตจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลงและหาวิธีที่จะเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายให้เกิดประสิทธิผลให้ดีที่สุด

2.แนวความคิดมุ่งผลิตภัณฑ์ (The Product Concept)
ซึ่งแนวความคิดนี้ผู้ผลิตจะเน้นปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุด เนื่องจากในตลาดได้มีคู่แข่งขันเพิ่มมากขึ้น แนวความคิดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ตลาดได้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้ลูกค้ามีโอกาสได้พิจารณาและเปรียบเทียบสินค้าในด้านต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

3.แนวความคิดมุ่งการขาย (The Selling Concept)
แนวความคิดนี้ได้มุ่งความสำคัญกับพนักงานขาย (Salesman) ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นผู้บริโภคให้มีความสนใจในสินค้าและบริการ สภาวะทางการตลาดจึงกลายเป็นตลาดผู้ซื้อ (Buyer’s Market)

4.แนวความคิดมุ่งการตลาด (The Marketing Concept) เป็นแนวความคิดที่ผู้ทำธุรกิจในตลาดสมัยใหม่จะต้องทำการวิเคราะห์ (Analysis) แล้วนำผลการวิเคราะห์มาวางแผน (Planning) แล้วทำการผลิตตามแบบที่วางไว้ เมื่อพบข้อผิดพลาดเกิดขึ้นก็จะทำการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นโดยได้ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ โดยคำนึงถึงส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) หรือ 4’P ได้แก่
1. Product (ผลิตภัณฑ์)
2. Price (ราคา)
3. Place (สถานที่หรือช่องทางการจัดจำหน่าย)
4. Promotion (การส่งเสริมการตลาด)

5.แนวความคิดทางการตลาดเพื่อสังคม (The Marketing for Social Oriented) เป็นการตลาดที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า การประกอบการที่ดีนั้นจะต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของสังคม รับผิดชอบต่อสังคมและลูกค้าให้มากที่สุด ในการผลิตสินค้านั้นไม่ทำให้สภาพแวดล้อมของสังคมเสีย เช่น ไม่ปล่อยน้ำเสีย ปล่อยมลพิษ ฯลฯ ที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชนและผู้บริโภค หรือด้านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพไม่ปลอมปนสินค้า หรือกักตุนสินค้า การใช้สื่อโฆษณาโดยใช้ข้อความอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงไม่ทำการโฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้น การตลาดที่เน้นสังคมจะมีผลทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกที่ดีต่อกิจการ

ความสัมพันธ์ระหว่างการขายกับการตลาด
การตลาดมีความสัมพันธ์กับการขาย เพราะ การขายเป็นหน้าที่หรือกิจกรรมทางธุรกิจอย่างหนึ่งของการตลาด เพราะการขายทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในสินค้า หรือบริการหรือเปลี่ยนความเป็นเจ้าของสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งในการที่สินค้าจะมีการซื้อขายกันได้นั้นก็จะต้องอาศัยกิจกรรมทางการตลาดอื่น ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน ดังนั้นการตลาดจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้หากไม่มีการตกลงซื้อขายสินค้าและบริการ การตลาดและการขายจะต้องใช้วิธีการที่เสนอแนะและกระตุ้นให้ลูกค้าได้เล็งเห็นประโยชน์และคุณค่าที่จะได้รับความสะดวกรวดเร็วที่ทันกับความต้องการ การตลาดและการขายจึงต้องเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการสอดคล้องประสานกันอย่างเป็นระบบ

จบบทที่ 1 ครับสาธุ




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2549    
Last Update : 4 ตุลาคม 2551 6:35:43 น.
Counter : 9062 Pageviews.  


ยอดชายนายตุ้มเม้ง
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สวัสดีพี่ ๆ เพื่อน ๆ ลูกศิษย์ทุกคนที่เข้ามาดูน่ะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add ยอดชายนายตุ้มเม้ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.