พุทธ กับ วิทยาศาสตร์ (update)

มีคำพูดติดหูของเรามาตั้งแต่เด็กๆกันแล้วว่า "พุทธคือวิทยาศาสตร์"

ผมค่อนข้างมั่นใจว่าคำพูดหนึ่งที่มีผลต่อข้อความนี้มากๆ มาจากคุณไอสไตน์ที่ว่า
"ถ้าต้องเลือกนับถือศาสนา ผมจะเลือกนับถือศาสนาพุทธ
เพราะเป็นศาสนาเดียว ที่สามารถรับมือกับวิทยาศาสตร์ได้"

ตั้งแต่เด็กๆ พออาจารย์พุทธศาสนาสอนว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์
ก็จะบอกเหตุผลว่า เพราะมันพิสูจน์ได้

แต่ครั้นพอถามอาจารย์ว่าพิสูจน์ได้อย่างไร อาจารย์สอนพุทธศาสนาท่านแรกของผม ตอบอย่างมาดมั่นว่า
"ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" ใครทำอะไรไม่ดีบาปกรรมจะตามไปสนองทันตาเห็น (พิสูจน์ได้จะๆ)
อุวะ! มาตรฐานการศึกษาไทย

อาจารย์ท่านที่สองพูดเรื่องเดียวกันอีก ผมก็เลยยิงคำถามเดิมไป
อาจารย์ตอบอย่างไม่มองหน้าว่า เมื่อปฏิบัติตามหลักคำสอนแล้ว จะใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข
(ผมถือว่าดีกว่าคำตอบของอาจารย์ท่านแรกก็ละกันน่า)

และนั่นเป็นสองคำตอบที่ดีที่สุด ที่ผมได้จากอาจารย์หลายๆท่านของผม
คำถามคาใจของผมอย่างนึง ก็เลยต้องเป็นว่า

" ทำไมพุทธคือวิทยาศาสตร์ "

ถ้าทำได้ก็อยากปลุกผีไอสไตน์มาเข้าฝันเสียเหลือเกิน
หรือถ้าได้สนทนาธรรมกับ พระสงฆ์กลุ่มหัวก้าวหน้า ก็น่าจะได้คำตอบเป็นที่น่าพอใจอยู่

แต่เป็นเด็กตัวกะเปี๊ยก สังคมไทยสมัยนู๊น (เอ๊ย..ไม่นานขนาดนั้นหรอกน่า แหม..จะหาว่าใบไม้ชรา) เค้าไม่ให้เด็กช่างซักช่างถาม เรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่ได้เตรียมคำตอบไว้ให้ เดี๋ยวจะเป็นเด็กกระด้างกระเดื่อง
ก็เลยต้องเก็บคำถามเป็นคำถามประจำใจรองลงมาจากคำถามว่า "คนเราเกิดมาทำไม"

ศึกษามาจนได้คำตอบที่ตัวเองคิดว่าน่าพอใจ (ขออนุญาติที่จะข้ามรายละเอียดเรื่องการศึกษาไปไว้ในหัวข้ออื่นอีกทีนะครับ เดี๋ยวจะยาวยืด) และมีเหตุมีผลสมน้ำสมเนื้อกับประโยคดังกล่าว

ว่าแท้จริงแล้ว พุทธศาสนา เป็นเรื่องของการศึกษา วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งเท่านั้นเอง คือ "วิทยาศาสตร์ทางจิต"

ยิ่งถ้าแยกคำว่าศาสนาออกไปได้แล้วล่ะก็ ผมขอกล้าฟันธงเลยว่า พุทธแท้ ไม่ใช่ศาสนาแต่อย่างใดเลย เอ้า! ถ้าจะพูดให้ถูก คงต้องเป็นว่า พระธรรม ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร กับความเป็นศาสนาเลยมากกว่า

ถ้าเราลองเอาเฉพาะเนื้อหาในส่วนพระธรรมของท่าน มาเขียนเป็นประโยคด้วยภาษาง่ายๆ และนำมาจัดเป็นหลักสูตร สักหลักสูตรหนึ่งแล้วล่ะก็ มันจะสามารถเข้าไปเป็นหมวดวิชา ในคณะจิตวิทยา หรือจะใช้เป็นหลักสูตรเพื่อการพัฒนาตนเอง อย่างเช่นพวก คอร์สปลุกยักษ์ และ Eat that frog ได้ทันที

ซึ่งแน่นอนครับว่า หลักสูตรอิงพุทธศาสตร์ ที่ฝรั่งเอาไปทำเป็นหลักสูตรดังกล่าว เริ่มมีให้เห็นกันเยอะขึ้นแล้ว
ที่ดังๆในประเทศไทย ก็อย่างเช่น Landmark ณ.BB Tower (พระไปเข้าคอร์สนี้กันเยอะเลยครับ) และก็ยังมีอีกหลายๆ หลักสูตร ที่หากคุณไปเทรนกันแล้วจะต้องอุทานในใจว่า " พุทธนี่หว่า! "
ซึ่งส่วนใหญ่ในต่างประเทศ เค้าเน้นเอาไปประยุกต์ใช้เป็นหลักสูตรการพัฒนา EQ โดยเฉพาะสำหรับเด็ก และวัยรุ่น (ตอนนี้เค้าให้ความสำคัญมากกว่า IQ อีกแน่ะ)

ในความหมายที่เป็นวิทยาศาสตร์ พุทธทำอะไรให้กับจิตใจเราได้บ้าง? อันนี้สำคัญครับ
- ศาสตร์แห่งพุทธทำให้ EQ ของเราพัฒนาจนเต็มกระติกได้
- ศาสตร์แห่งพุทธทำให้ เราเป็นเจ้านายของจิตใจ และอารมณ์ได้ หลังจากที่เคยปล่อยให้มันเป็นเจ้านายของเรามาตลอด
- ถ้าในทางโลก นี่ยิ่งเพรียบเลยครับ ได้แก่ ทำให้เราอ่านคนออก และเข้าใจคนที่ผ่านมาในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างง่ายดาย
- ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เหนื่อย ไม่ท้อ ไม่ง้อ OT
- ทำให้คนรอบๆข้าง พอใจในอัธยาศัยของเรา ผู้ไม่อยู่เป็นเจ้านายของอารมณ์ และแต่งงานกับเหตุผล
- อีกสารพัดเลยครับ ไว้จะขอคัีดมาไว้ในสักหัวข้อนะครับ
- แต่แหล่มที่สุด คือ ทุกข์ จะมีบทบาทในชีวิตเราเป็นแค่ตัวประกอบอดทน หรือถ้านิพพานเมื่อไร ทุกข์ก็หมดสิทธิเสนอหน้าโดยถาวรครับ (ทุกข์ตกงาน)

สิ่งที่น่าสังเกตุอีกอย่าง คือในการศึกษาศาสตร์แห่งพุทธนั้น หากเราลองถอดเครื่องประดับ กับล้างเครื่องสำอางของพุทธศาสนาออกไปแล้ว มันจะศึกษาได้ง่ายขึ้นอย่างมาก
ซึ่งเมื่อเราศึกษาจนถึงระดับหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าพอใจแก่ตัว และความรู้สึกของเราแล้ว จะรู้สึกได้เหมือนๆกันว่า "มันก็มีเ่ท่านี้จริงๆนี่หว่า" คิดๆอยู่เหมือนกันว่ามันจะต้องเป็นประมาณนี้ แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะมีเท่านี้จริงๆ (สมัยก่อนนึกว่ามันจะละเอียดซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหมือนค่ายกลบู้ลิ้มเสียอีก)

แต่ก็นั่นล่ะครับ "ไอ้เท่านี้" แค่นั้นล่ะ ที่หากเข้าใจมันแล้ว มันสามารถเกิดผลได้มหาศาล ตามที่เหล่าท่านเกจิได้ว่าและสรุปผลเอาไว้จริงๆ (หลายนิยาม แต่ความหมายเดียวกัน)

น่าอัศจรรย์ใจ ที่คำสอนคำเดียวกัน ฟังเมื่อวาน กับฟังวันนี้ มันกลับมีความหมายต่างกันได้ขนาดนั้นได้อย่างไร? นั่นล่ะครับ คือหัวใจของศาสตร์แห่งพุทธ

"Simply the Best" (ไม่ใช่เฮอร์บาไลฟ์นะครับ อย่าเข้าใจผิด)

แต่สุดท้ายแล้ว ปัญหาที่แท้จริงของการศึกษาเพื่อลุให้ถึงใน"พุทธ" โดยหลักแล้ว กลับไม่ได้อยู่ที่ จะเข้าใจหัวใจของพุทธได้อย่างไร แต่กลับไปอยู่ที่ว่า เมื่อเข้าใจแล้วจะเริ่มประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงอย่างได้ผล ได้อย่างไร (มันบังคับใจยาก เวลาต้องทำจริง เข้าข่าย รู้ดีรู้ชั่วแต่ตัวเป็นขน ^_^[ขยันตัวเป็นขน] )

เสมือนกับที่เราศึกษาในมหาวิทยาลัย หน้าที่เราคือจะต้องเรียนจนรู้ถึงภาคทฤษฏีให้ครบถ้วน แต่มันจะได้ผล หรือบรรลุผลต่อชีวิตจริงของเราได้หรือไม่นั้น ไม่ได้วัดกันที่ตอนเรียน แต่เป็นการวัดกันจากผลสำเร็จของหน้าที่การงาน หลังจากที่เรียนจบไปแล้วต่างหาก(ประยุกต์เพื่อใช้จริงในชีวิตประจำวัน)

เราจำเป็นต้อง ฝึกสติ(ไม่ให้เตลิดไปกับอารมณ์ รู้ทันอารมณ์) ฝึกสมาธิ(เพื่อการพิจารณาหาเหตุผล จากข้อมูลที่เราเก็บมาได้) ฝึกศีล(การยับยั้งชั่งใจ และการฝึกบังคับใจตนเองได้)
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตระเตรียมวิธี การเรียน การสอน และการทดสอบเพื่อใช้จริงเอาไว้ดีอยู่แล้ว
เราไปใส่เครื่องประดับจำพวก บุญ บาป และเมคอัพจำพวก สวรรค์ นรก ให้มันอย่างเกินงาม เลยเรียนกันเป็นคนละเรื่องไปเลย (บอกแล้วอย่าแต่งหน้าจัด)

ส่วนเรื่องปัญญานั้น เกิดได้ทั้งก่อนและหลัง (จะให้ดีควรจะมีต้นอ่อนแห่งปัญญา เป็นจุดหมายไว้นำทางสักนิดก่อน)
ในพุทธของเรา บางสาย ต้องปฏิบัติก่อนเพื่อให้เกิดปัญญาในที่สุด
และในบางสาย ต้องรีบเกิดปัญญาเสียก่อน เพื่อให้ปฏิบัติได้รวดเร็วที่สุด ย่นระยะทางการปฏิบัติ (เช่นภาวะรู้แจ้งฉับพลัน ในลัทธิเซน)

โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับอย่างหลังครับ จะยิงอะไร ควรจะรู้เป้าเีสียก่อน ค่อยฝึกยิงให้แม่นทีหลัง แต่ก็อีกนั่นล่ะ ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของสายตา (ปัญญา) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย

และความไม่เห็นเป้านี้เอง ที่เป็นเรื่องของความน่ากลัวอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา อาจโดนผู้ไม่หวังดี บอกเป้าผิดๆ เพื่อหวังประโยชน์จากนักศึกษาแห่งพุทธได้ ซึ่งก็จะทำให้ เตลิดหลงป่าหลงเขา ไปทำมาหาบุญ ไปฝันในสวรรค์ชั้นฟ้า แล้วก็หลงมันอยู่แถวนั้นเอง เห็นในส่วนนี้ไหมครับว่า การสอนแบบให้เกิดปัญญาก่อน ของบางนิกาย ก็ได้ผลดีอยู่เหมือนกัน ต้องอย่าลืมครับว่า รู้เป้าหมาย มันใช้เวลาน้อยกว่าเดินทางไปสู่เป้าหมายมาก ถ้าเป็นผิดเป้าแต่แรกเสียแล้ว
ยังไม่ต้องนับเวลาที่จะมาฝึกฝนจริงที่เสียไปเลยเลย อนุสัยที่สั่งสมอย่างไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้เราไม่อาจเห็นเป้าหมายจริงๆได้อีกเลย ก็มีสูงมาก

สุดท้ายนี้ ผมขออนุญาตสรุป (โดยส่วนตัวนะคร๊าบ) ว่า ถ้ามองให้เห็นเฉพาะวิชาที่ซ่อนอยู่ในศาสนาพุทธ ได้เมื่อไหร่ ก็จะเห็นความเป็น "วิทยาศาตร์แห่งพุทธ" ที่ซ่อนตัวอยู่ในศาสนาพุทธได้อย่างชัดเจน (ก็คนรุ่นต่อๆมานั่นแหละ ช่วยกันเติม ช่วยกันแต่งเข้าไปยุคละนิด 2500 ปีก็เลยเพียบ) ประดุจดังภาพสามมิติ ที่ต้องมองด้วยโฟกัสระดับใกล้มากๆ จึงจะเห็นภาพจริงที่ซ่อนอยู่นะครับ

ผมยังไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่นที่มาที่ไปของการศึกษาด้านศาสนาพุทธของผมเลย (จะขอให้อยู่ในหัวข้ออื่นนะครับ)
ก็เลยอยากออกตัวเผื่อไว้ก่อน ว่า ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะมาชี้นำใครๆ หรือฟันธงตามความคิดตัวเองหรอกนะครับ

แค่ถือว่ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก่อนก็แล้วกัน แล้วผมจะมาเติม Blog ในเรื่องอื่นๆเพื่อแลกเปลี่ยนกันอีกทีครับผม

ขอธรรมจงอยู่กับท่าน




 

Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2551 12:29:25 น.   
Counter : 246 Pageviews.  


คนเราเกิดมาทำไม?

ถ้าจะถามว่าคนเรา "เกิดมาทำไม" คำตอบในทัศนะของผมคือ "เกิดมาเืพื่อนิพพาน"
แต่คงเป็นเพราะคำตอบนั้นมันอยู่ที่ปลายทาง จึงได้มีวัตถุประสงค์รอง อีกมากมายระหว่างทาง

"เกิดมาเพื่อใช้กรรม" "เกิดมาเพื่อสร้างบุญ" "เกิดมาเพื่อเรียนรู้" "เกิดมาเพื่อรัก"

ผมจึงอยากเปรียบเป็นภาพง่ายๆ ว่ามีวงกลมอยู่วงหนึ่ง
ให้จุดศูนย์กลางของวงกลมนั้นคือ นิพพาน

ให้คนเราเป็นจุดกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมเดียวกันนั้น
จุดต่างๆดังกล่าว บ้างก็อยู่ใกล้จุดศูนย์กลาง บ้างก็อยู่ใกล้เส้นรอบวง กระจายกันอยู่ทั่ววงกลมตามแต่ลักษณะนิสัย ความชอบ ความยั้งคิด หรือจริยธรรมของแต่ละบุคคล

ยิ่งใกล้ศูนย์กลางเท่าไร ยิ่งหมายถึงเส้นรอบวงที่เล็กลง และหมายถึงการหาทางต่อไปยังนิพพานได้ง่ายดายขึ้น ด้วยข้อสงสัยต่างๆ ที่น้อยลง ตามขนาดวงกลมที่เล็กลงของบุคคลนั้นๆ

"ยิ่งเข้าใกล้ ก็ยิ่งเดินทางได้เร็วขึ้น หลายเท่าตัว"

ใครสนใจคำสอนขององค์พระศาสดา ก็เหมือนมีแผนที่อยู่กับตัว
ใครสนใจปฏิบัติตามคำสอน ก็เหมือนมีเข็มทิศอยู่กับตัว
ใครสนใจปฏิบัติตามคำสอน เอาใจใส่ สังเกตการเคลื่อนไหวของจิตใจตัวเรา และมีสติ ก็เหมือนติด GPS กับตัว

ผมจึงคิดว่านิพพานเป็นเรื่องของความเอาใจใส่ ในแต่ละบุคคล และไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินความสามารถของปุถุชนแน่นอน เพราะที่นิพพานไปทั้งหมด ก็อย่าลืมว่าเป็นเรื่องของคนทั้งนั้น ไม่เคยเป็นอื่น

สื่อที่กว้างขึ้น ความเข้าใจในตัวนิพพาน ที่ถ่ายทอดให้กันได้ง่ายขึ้น ทำให้วงกลมแห่งนิพพาน เล็กลงอย่างเห็นได้ชัด
เพียงแต่สื่อในทางยวนใจ พาใจเตลิดก็มากขึ้นเช่นกัน อยู่ที่เราว่าจะกรองของดีเอามาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน และสำคัญอยู่ที่ "ความตั้งใจของเรานั่นเอง"

ถ้าอีก 2,500 ปี จะเป็นจุดสิ้นสุดของพุทธศาสนา ผมก็ไม่แปลกใจว่า เป็นเพราะคนเข้าใจแล้วว่า พุทธเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ไม่ใช่แค่ศาสนา
พุทธไม่ใช่แค่ดับทุกข์ แต่ทำให้ตัวของเราอยู่เหนืออารมณ์ และความรู้สึกทุกประการของมนุษย์

เชื่อผมเถอะ ตั้งแต่พศ. 2,500 ไปเนี่ย จะเป็นยุคทองของนิพพานน่ะ ไม่ผิดจากพุทธทำนายหรอกครับ




 

Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2551 21:49:14 น.   
Counter : 164 Pageviews.  



ใบไม้กำนั้น
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับคร๊าบ

ฺฺจัดบ้านใหม่ละ แบ่งเป็นห้องๆ จะได้เลือกเข้าง่ายๆนะครับ
ห้องพระ - ศาสตร์แห่งพุทธของใบไ้ม้นะจ๊ะ
ห้องรับแขก - แวะเยี่ยมทักทายใบที่ห้องนี้นะ
ห้องนอน - ประวัติ และเรื่องส่วนตั๊ว ส่วนตัว ของนายใบไม้
ห้องหนังสือ - บทความที่ใบไม้เขียนขึ้น ลองมาอ่านกันดูจ้า
ห้องทำงาน - ใบไม้ทำงานหลายจ๊อบ มีอะไรน่าสนใจจะเอาไว้ห้องนี้นะ
ห้องฟิตเนส - ดูแลแต่จิตใจ แต่ไม่ดูแลสุขภาพไม่ได้นะ อัพเดทสุขภาพห้องนี้คร๊าบ
[Add ใบไม้กำนั้น's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com