Group Blog
 
All blogs
 

T4 กับทางเลือกเชื้อเพลิง LPG

และแล้วก็ถึงคราวที่ T4 ของกระผมจะต้องปรับปรุงความประพฤติในการบริโภคเชื้อเพลิง

จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นมากมายเหมือนฝัน T4 ซึ่งใช้งานในเมืองมีอัตราสิ้นเปลืองอยู่ราวๆ 3-4 กม.ลิตร(เครื่องเบนซิน)จะกระตุกเงินในกระเป๋าถึงกม.ละ 6-7 บาท! ดังนั้นจะพบว่า T4 จำนวนมากหายไปจากท้องถนนเพราะผู้ปกครองไม่อาจทนความประพฤติได้ จอดไว้บ้าน ใช้คันอื่นดีกว่า

โชคร้าย ผมไม่มีคันอื่นนะสิ T4 ทั้งสองคันใช้งานประจำทุกวัน (ผมมีเมียคนเดียวแต่ลูกมากหน่อย) แล้วก็คบกันมาตั้งนานจะให้เลิกง่ายๆหรือ(รถครับ ไม่ใช่เมีย) เห็นทีต้องนำทางเลือกเชื้อเพลิงอื่นมาพิจารณา

สำหรับท่านที่ใช้เครื่องดีเซล ก็ถือว่าไม่ลำบาก ด้วยอัตราการบริโภคที่ 8-10 กม./ลิตรในเมือง และ 11-13 กม./ลิตร นอกเมือง นับว่ายังให้ความประหยัดได้ดี

แต่รถส่วนใหญ่ที่มีเครื่องเบนซิน การเปลี่ยนเป็นดีเซลอาจไม่ใช่ทางออกที่ต้องการเสมอไป ดังนั้นทางเลือกอาจเป็นการใช้ก๊าซแทนน้ำมัน สำหรับตัวเลือกในกรณีนี้มีสองตัวคือ CNG และ LPG

CNG (Compressed Natural Gas) เป็นก๊าซธรรมชาติที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการมากนัก มีส่วนผสมของมีเทนเป็นหลัก เมื่อนำมาใช้ในรถยนต์แล้วเราเรียก"รถยนต์"คันนั้นว่า NGV (Natural Gas Vehicle) ข้อดีของ NG คือมันเบากว่าอากาศ ดังนั้นหากมีการรั่ว มันจะลอยขึ้นข้างบนและกระจายตัวหายไปได้ง่าย ส่วนข้อเสียคือการบรรจุถังต้องใช้ถังที่ทนแรงดันสูงมากๆ เนื่องจาก NG จะไม่มีสถานะเป็นของเหลวในอุณหภูมิปกติ และการบรรจุถังในรูปก๊าซจะทำให้เก็บน้ำหนัก NG ได้น้อย ดังนั้นระยะทางที่ได้จากการใช้เชื้อเพลิงหนึ่งถังก็น้อยด้วย ซึ่งถ้าคิดเป็นปริมาตรลิตรต่อลิตรแล้ว ถัง CNG เก็บเชื้อเพลิงให้ระยะทางน้อยกว่าน้ำมันเบนซินที่มีจำนวนลิตรเท่ากันถึง 4 เท่า นั่นคือถัง CNG 80 ลิตรทำให้รถวิ่งได้ไกลเท่าๆกับมีน้ำมันเพียง 20 ลิตร อีกทั้งจำนวนสถานีบริการ NGV ยังมีจำนวนน้อย และในต่างจังหวัดแทบไม่มีเลย เมื่อพิจารณากับอัตราการบริโภคของ T4 แล้วจึงยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

LPG (Liquidfied Petrolium Gas) หรือก๊าซหุงต้มที่ใช้ตามบ้าน มี โปรเพนเป็นส่วนผสมหลัก ข้อดีคือมันมีสถานะเป็นของเหลวในอุณภูมิปกติได้เพียงเก็บในความดัน 150 psi (ความดันน้อยกว่าCNG นับสิบเท่า) ดังนั้นลิตรต่อลิตรในถัง LPG จะให้ระยะทางได้มากกว่า CNG ข้อเสียคือ LPG หนักกว่าอากาศ ดังนั้นเวลารั่วในที่ไม่มีอากาศถ่ายเท มันจะกระจุกตัว เป็นความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ แน่นอนครับเมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงรั่ว มันก็ไม่ได้ลอยหายไปไหนเช่นกัน แต่ว่า LPGในสถานะของเหลว เมื่อรั่วออกมาแล้วจะขยายตัวเป็นก๊าซมีปริมาตรเพิ่มขึ้นถึง 200 เท่า! ดังนั้นผมไม่บอกว่า LPG ปลอดภัยกว่าน้ำมันแน่นอน ท่านควรศึกษาหาข้อมูลให้เต็มที่ ก่อนตัดสินใจใช้ LPG เพราะนอกจากเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ท่านต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรแล้ว ท่านควรมีความเข้าใจมากพอว่าระบบยังทำงานเป็นปกติอยู่หรือไม่ ก่อนที่จะสายเกินไป

ทางเลือกในการติดตั้ง LPG มีหลายระบบ ผมจะกล่าวถึงเพียงสองระบบ ระบบแรกเป็นระบบหัวฉีดซึ่งมีความคล้ายคลึงกับระบบหัวฉีดน้ำมันเบนซิน มีกล่องคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงาน การติดตั้งระบบนี้ควรได้สมรรถนะใกล้เคียงกับการใช้น้ำมันมากที่สุด แต่ค่าติดตั้งมีราคาสูง (4หมื่นขึ้นไป)

อีกระบบคือ Fix Mixer เป็นการผสมก๊าซเข้าไปในท่อไอดีด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ คล้ายๆกับการใช้คาร์บูเรเตอร์ในรถยนต์สมัยก่อน แต่ระบบ Mixer นั้นง่ายกว่าคาร์บูเรเตอร์ เนื่องจากเป็นการผสมก๊าซ(เชื้อเพลิง)กับก๊าซ(อากาศ) ในขณะที่คาร์บูเรเตอร์จะผสมของเหลว(เชื้อเพลิง)กับก๊าซ(อากาศ)

ระบบ Fix mixer จึงมีข้อดีด้านราคาถูก ง่ายต่อการติดตั้ง และถ้าไม่เป็นที่พอใจ จะถอดออกก็ไม่ทิ้งร่องรอยฟกช้ำไว้มากนัก

สำหรับเครื่อง 2.5 ของ T4 จะมีความเหมาะสมกับระบบ Fix mixer ดังนี้
1. เครื่องยนต์ตัวนี้ ออกแบบมาเพื่อให้มีแรงบิดสูงในรอบต่ำ การใช้งานทั่วไปไม่เน้นรอบสูง ดังนั้นการปรับจูนให้ใช้งานได้ดีในช่วงความเร็วรอบไม่กว้างนักจะทำได้ง่าย
2. เครื่องยนต์ตัวนี้ ไม่มีแอร์โฟลว์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะได้รับความเสียหายได้ง่ายหากเกิดอาการชิงจุดจากการปรับตั้งไม่ดีในระบบ Fix mixer อีกทั้งท่อไอดีเป็นโลหะ จะไม่แตกเสียหายถ้าบังเอิญเกิดการชิงจุดในท่อไอดี
3. ระบบสมองกลควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ ไม่มีความซับซ้อน ไม่เกี่ยงว่าจะใช้ก๊าซหรือน้ำมัน สามารถใช้สลับกันได้โดยไม่งอแง

หลังจากที่ได้หาข้อมูลตามแหล่งต่างๆ ผมได้คิวติดตั้ง(คิวยาวมาาาาก)จากสำนักชัย หมากกระจาย ทำการติดตั้งกลางเเดือนกันยายน 48

ใช้ถัง 96 ลิตรวางท้ายรถ จะเห็นท่อปลอกพลาสติกสีดำหุ้มท่อแก๊สไว้ และกล่องปิดวาวล์กันรั่วซึม เมื่อมีแก๊สรั่วซึม จะระบายออกนอกรถทางปลอกท่อสีดำ ไม่ส่งกลิ่นรบกวนในห้องโดยสาร


หม้อต้มแก๊ส Aldesa ทำในตุรกี ใช้งานได้ดี

เดินท่อจ่ายก๊าซจากหม้อต้มไปเข้า Mixer ที่ท่อไอดี โดยแยกท่อเล็กจ่ายให้กับตัวคุมเดินเบาด้วย

เกจ์วัดแก๊สจากวรจักร(เป็นเกจ์วัดน้ำมัน) หาไปเองครับ เพราะของทางสำนักฯจะใช้เกจ์ดิจิตอลซึ่งผมไม่ชอบ

แต่ต้องปรับค่าด้วยตัวต้านทาน เพราะตัวเกจ์ไม่สัมพันธ์กับสัญญาณจากตัว sendor ที่ถัง พบว่าต้องเอาตัวต้านทาน 40 โอห์มอนุกรมเข้าไปจึงใช้ได้ดี

สวิชท์สามทางเลือกก๊าซ/น้ำมัน พร้อมต่อ pilot lamp แสดง ใช้น้ำมันสีส้ม ใช้ก๊าซสีเขียว ส่วนนี้เล่นเองครับ แถมติด Vacuum gauge ซึ่งทำหน้าที่เหมือน economy gauge ในรถยุโรปบางรุ่น

สำหรับการใช้งานเป็นที่น่าพอใจดีครับ วิ่งในเมืองจากใช้น้ำมัน กม.ละ 6-7 บาท(27บาทต่อลิตร) เป็นใช้ก๊าซ กม.ละ 2.3-2.5 บาท (9.50บาทต่อลิตร) วิ่งทางไกลตก กม.ละ 1.50 บาท

อัตราเร่งลดลงจากน้ำมันเล็กน้อย ไม่มีอาการวูบหรือฟอดหายให้หวาดเสียวใดๆ

สำหรับรถใช้ก๊าซควรมีสุขภาพเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์ใน2-3จุดใหญ่ๆ คือ ระบบจุดระเบิด หัวเทียน สายหัวเทียน คอล์ย ต้องอยู่ในสภาพดี เนื่องจากก๊าซมีอ็อกเทนสูง จุดระเบิดได้ยากกว่าน้ำมัน นอกนั้นระบบทางเดินไอดีต้องสมบูรณ์ ไม่มีรอยรั่วในท่อไอดีหรือท่อแวคคัมต่างๆ ฝาสูบมีสภาพดีวาวล์ไม่รั่ว สุดท้ายคือใส้กรองอากาศต้องสะอาด ไม่เช่นนั้นจะปรับจูนลำบาก

การสตาร์ทสามารถใช้ก๊าซได้ตลอด แต่เพื่อไม่ให้ระบบน้ำมันเสื่อมเสียไปก็ควรใช้น้ำมันให้สม่ำเสมอบ้าง บางท่านจะใช้ตอนเช้าทุกเช้า บางท่านใช้อาทิตย์ละ1วัน สำหรับผมจะใช้ตอนเย็นก่อนเก็บรถเข้าบ้านครับ

เพิ่มเติมให้สำหรับท่านที่ต้องการหาข้อมูลการติดก๊าซ LPG คลิกที่นี่เพื่อไปเวปบอร์ดผู้ใช้แก๊สครับ




 

Create Date : 11 ตุลาคม 2548    
Last Update : 18 เมษายน 2549 12:29:27 น.
Counter : 4555 Pageviews.  


John Luc
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add John Luc's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.