สวัสดีคะ ยินดีต้อนรับเพื่อนๆทุกท่านคะ
ขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมบล็อก ขอให้ทุกท่านเพลิดเพลินในบล็อกนี้และหวังว่าคุณจะมีรอยยิ้มหลังออกจากบล็อกนี้นะคะ
การวิเคราะห์กรณีศึกษาบริษัท S.S.Bowling

โจทย์S.S. Bowling
ในอดีตผู้ที่เล่นหรือให้ความสนใจกับกีฬา Bowling จะมีเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่และนักกีฬาเท่านั้น อีกทั้งผู้ปกครองยังไม่สนับสนุนให้บุตรหลานที่เป็นวัยรุ่นมาเล่นเพราะมองว่ากีฬาชนิดนี้เป็นการพนันเช่นเดียวกับสนุ้กเกอร์ แต่ในปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป Bowling ได้รับการยอมรับว่าเป็นกีฬาที่ผ่อนคลายและให้ความบันเทิง (Entertainment) โดยจัดเป็นการเล่นเพื่อพักผ่อนและยังเป็นกีฬาของครอบครัวบางครอบครัวอีกด้วย กีฬา Bowling จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น
บริษัท S.S. Bowling เป็นลาน Bowling ที่ก้าวเข้าสู่ตลาดก่อนคู่แข่งอื่น ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 สาขา ตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม คือ ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีความพร้อมในด้านความบันเทิง (Entertainment) รองรับอยู่แล้วจึงสามารถดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีจุดที่เป็นปัญหา คือปัจจุบันห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาของ S.S. Bowling ตั้งอยู่ใน ไม่ใช่เป็นแหล่งกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ใหญ่ นักศึกษา กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มวัยรุ่นตอนปลายไปเดินเที่ยวแต่เป็นกลุ่มแม่บ้านและเด็กเป็นส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีความต้องการใช้บริการ ในขณะที่ปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้เกิดขึ้นมาก เช่น Bruchswich ซึ่งเป็นคู่แข่งขันรายใหญ่และตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายไปใช้บริการมากกว่า นอกจากนี้อุปกรณ์หลักและอุปกรณ์ควบคุมต่างๆของ S.S. Bowling ไม่มีการปรับปรุงในเรื่องคุณภาพ ทำให้อุปกรณ์ดูเก่า ชำรุด ทรุดโทรม อีกทั้งการตั้งกฎ กติกา มารยาทยังไม่ค่อยรัดกุม ซึ่งแสดงถึงความไม่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคต้องประหยัดมากขึ้น ทำให้การตัดสินใจในการบริโภครอบคอบมากขึ้นและจะเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้น S.S. Bowling จึงถูกเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันที่ดีกว่า เป็นผลให้ลูกค้าไม่เลือกเล่นของ S.S. Bowling ต่อไป ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา S.S. Bowling มีรายได้ลดลง
สำหรับกลยุทธ์ในการบริหารงาน S.S. Bowling จะใช้กลยุทธ์ราคาทางจิตวิทยาโดยจะตั้งราคาค่อนข้างต่ำ และมีหลายระดับราคา คือ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น. นักศึกษา 35 บาท คนธรรมดา 40 บาท วันจันทร์ -ศุกร์ เวลา 16.00-02.00 น. คนธรรมดา 50 บาท วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-02.00 น. คนธรรมดา 70 บาท ทั้งนี้เพื่อดึงดูลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลางและเพื่อให้นักศึกษานิยมมาเล่นมากขึ้น

1.ระบุปัญหา (Problems) และอุปสรรค (Threats) ของ S.S. Bowling
ปัญหา (Problems)
-ปัญหาของทำเลที่ตั้ง อยู่ในห้างที่ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปใช้บริการ
-ผู้บริหารไม่ใส่ใจในการบริหารงานและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันคู่แข่งรายอื่น
-ปัญหาด้านอุปกรณ์ ไม่มีการปรับปรุง เก่าและชำรุดทรุดโทรม ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจที่จะเข้าไปใช้บริการ เพราะไม่ปลอดภัยต่อร่างกายเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
-ปัญหาด้านการตั้งกฎ กติกา มารยาท ไม่รัดกุม และไม่มีมาตรฐาน
-กลยุทธ์ด้านราคายังไม่เหมาะสม
-กลยุทธ์การส่งเสริมการขายยังไม่ชัดเจน
-ยังไม่มีการการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคให้ชัดเจน แบ่งเป็นแค่สองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกคนทำงาน/แม่บ้าน กลุ่มสองนักศึกษา เรามองข้ามไปหนึ่งกลุ่มคือ กลุ่มเด็กที่ไม่มีรายได้ แต่มีอำนาจในการซื้อสูง


อุปสรรค (Threats)
-ปัญหาด้านเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ผู้บริโภคประหยัดมากขึ้น
-ปัญหาด้านการเลือกใช้บริการในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
-ผู้บริโภคบางกลุ่ม ยังไม่ให้ความสนใจกับกีฬาทางด้านนี้มากนัก
-ผู้ปกครองบางกลุ่มยังยึดติดภาพลักษณ์ มองว่าเป็นกีฬาเพื่อการพนัน
-ผู้ปกครองบางกลุ่มมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมในการหนีเรียน
-เริ่มมีผู้แข่งขันมากขึ้นกว่าเดิม
-คู่แข่งขันรายอื่นๆ มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย และสถานที่ที่ดึงดูดใจลูกค้ามากกว่า

2.บอกวิธีแก้ปัญหาโดยปรับปรุงกลยุทธ์ของ S.S. Bowling
-ปัญหาของทำเลที่ตั้ง อยู่ในห้างที่ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปใช้บริการ แก้ปัญหาด้วยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การส่งเสริมการขาย โดยเน้นไปยังลูกค้ากลุ่มที่มาใช้บริการในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ ด้วยการจัดทำบัตรสมาชิก และให้ราคาพิเศษกับลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษ และจัดให้มีการแข่งขันโยน Bowling ในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน/เลิกงาน เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและวัยทำงาน(กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย) ให้มาใช้บริการและเมื่อลูกค้ากลุ่มหลักได้มาสัมผัส S.S. Bowling มากขึ้น โอกาสสร้างรายได้และสร้างฐานลูกค้าก็มากขึ้นไปด้วย สาเหตุที่ไม่ตัดสินใจย้ายห้างสรรพสินค้าเพราะต้องใช้ต้นทุนสูงมากในขณะที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ ทำได้เพียงรักษาลูกค้าไว้และหากย้ายไปตั้งยังห้างสรรพสินค้าที่มีคู่แข่งขันตั้งอยู่ ตราสินค้าของ S.S. Bowling สู้คู่แข่งขันรายอื่นได้ยาก

-ผู้บริหารไม่ใส่ใจในการบริหารงานและไม่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันคู่แข่งรายอื่น แก้ปัญหาด้วยการปรับนโยบายบริหารให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ โดยจัดให้มีกิจกรรมครอบครัว อาทิเช่น เพิ่มพื้นที่ ให้มีส่วนคาราโอเกะสำหรับคุณพ่อบ้าน และจัดกิจกรรมช่วงเย็น มีการเต้นแอโรบิค โยคะสำหรับคุณแม่บ้าน ส่วนคุณลูกๆ ก็โยน Bowling และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำกฎกติกา วิธีการเล่นสำหรับเด็กๆที่เพิ่งเริ่มต้นสนใจกีฬานี้ เพื่อสร้างฐานลูกค้าในอนาคต

-ปัญหาด้านอุปกรณ์ ไม่มีการปรับปรุง เก่าและชำรุดทรุดโทรม ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจที่จะเข้าไปใช้บริการ เพราะไม่ปลอดภัยต่อร่างกายและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ แก้ปัญหาโดยการปรับปรุง ซ่อมแซม สำหรับอุปกรณ์ส่วนที่ไม่เสียหายมากและยังใช้งานได้อยู่ เปลี่ยนใหม่สำหรับอุปกรณ์ที่ชำรุดจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ เราเลือกที่จะไม่ใช้การเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเพราะจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในยุคข้าวยากหมากแพง จะไม่คุ้มกับการปรับปรุงครั้งนี้ เราเลือกที่จะปรับปรุงรูปแบบสถานที่ให้ดูทันสมัย ใช้สีสันสดใสในบรรยากาศที่ผ่อนคลายเข้ามาช่วยดึงดูดลูกค้า

-เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วยการทำประกันอุบัติเหตุในโยน Bowling ให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นสมาชิกเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองที่มีความห่วงใยในความปลอดภัยของบุตรหลาน

-ปรับกฎ กติกา มารยาท ให้รัดกุมมากขึ้นและให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด พร้อมกับมีป้ายบ่งชี้ชัดเจน ติดตั้งในตำแหน่งที่ผู้ใช้บริการเห็นได้ชัด ทั้งป้ายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงจัดพนักงานค่อยชี้แจงและให้คำแนะนำแก่ลูกค้าด้วย

-กลยุทธ์ด้านราคายังไม่เหมาะสม นโยบายราคาไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะการตั้งราคาสำหรับนักศึกษา วันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลา 10.00-16.00 น. จะไม่ช่วยในการเพิ่มยอดขายได้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องไปเรียนหนังสือ ควรกำหนดกลยุทธ์ด้านราคาใหม่

-กลยุทธ์การส่งเสริมการขายไม่ชัดเจน กำหนดกลยุทธ์การขาย ลดแลกแจกแถม คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อบริการเพิ่มขึ้นของลูกค้า

-ยังไม่มีการการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคให้ชัดเจน แบ่งเป็นแค่สองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกคนทำงาน/แม่บ้าน กลุ่มสองนักศึกษา เรามองข้ามไปหนึ่งกลุ่มคือ กลุ่มเด็กที่ไม่มีรายได้ แต่มีอำนาจในการซื้อสูง

กลุ่มผู้บริโภค ระดับช่วงอายุ
กลุ่มนักกีฬา 15 ปีขึ้นไป
กลุ่มแม่บ้าน 35 ปีขึ้นไป
กลุ่มพ่อบ้าน 35 ปีขึ้นไป
กลุ่มคนวัยทำงาน 25 ปี
กลุ่มวัยรุ่น 15 ปี
กลุ่มเด็ก ต่ำกว่า 15 ปี


-ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคมีความระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น ควรปรับกลยุทธ์ทางด้านราคาให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มจำนวนการใช้บริการของกลุ่มลูกค้า


-ส่งเสริมการขายไปด้วยพร้อมๆกัน อาทิเช่น การสะสมสติกเกอร์เพื่อแลกของรางวัลหรือส่วนลดในครั้งถัดไป และอื่นๆดังนี้

การส่งเสริมการขาย รูปแบบ
สะสมสติกเกอร์ เล่น 3 เกม จะได้รับสติกเกอร์ หนึ่งดวง สะสมครบ 5 ดวง แลกรับของรางวัล ตุ๊กตารูปพินโดยติดแบรนด์ เอส เอส โบลิ่ง หรือแลกเป็นคูปองเล่นฟรี 1 เกมในครั้งถัดไป(คูปองสามารถใช้ได้ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

การส่งเสริมการขาย รูปแบบ
คูปองส่วนลด จัดโปรโมชั่นร่วมกันห้างสรรพสินค้า ซื้อสินค้าครบ 600 บาท ได้รับคูปองส่วนลด 20 บาท/เกม (คูปองสามารถใช้ในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น)

การส่งเสริมการขาย รูปแบบ
ทำบัตรสมาชิก ค่าสมัครบัตร 300 บาท จะได้รับประกันอุบัติเหตุในการใช้บริการของ S.S Bowling ตลอดอายุบัตรสมาชิก อายุบัตรสมาชิก 1 ปี อภิสิทธิ์พิเศษสำหรับสมาชิก จะได้รับส่วนลด10% จากราคาค่าเกมปกติ (ไม่รวมโปรโมชั่นเหมาจ่าย) ส่วนลดนี้รวมถึงการซื้ออุปกรณ์กีฬาจากทาง S.S Bowling Shop ด้วย ,ได้รับสติเกอร์ดับเบิ้ล เล่น 3 เกม จะได้รับสติกเกอร์ 2 ดวง

การส่งเสริมการขาย รูปแบบ
จัดการแข่งขัน จัดการแข่งขันทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง “โบว์ลิ่ง ทัวร์นาเม้น ออฟ เดอะแชมเปี้ยน” โดยมีเงินรางวัล 1 ล้านบาทสำหรับผู้ชนะเลิศ โดยกิจกรรมนี้ร่วมกับผู้ค้ารายใหญ่ๆ อาทิเช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ห้างสรรพสินค้า ต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียง และให้กลุ่มผู้บริโภคสนใจกีฬาโบว์ลิ่ง และหมั่นฝึกซ้อมเพื่อจะลงแข่งขันในรายการต่างๆที่จัดขึ้น

3. ท่านคิดว่า S.S. Bowling ใช้กลยุทธ์ด้านราคา (Price strategy) อย่างไรและเหมาะสมหรือไม่

-คิดว่าไม่เหมาะสม ในปัจจุบันมีการแข่งขันกันทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องราคา หากเรากำหนดราคาสูงไป จะทำให้ลูกค้าหันไปใช้บริการของคู่แข่งขันที่ราคาถูกกว่า สถานที่ และการบริการที่ดีกว่า ปัจจุบันนโยบายราคาไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ ควรจะทำการปรับเปลี่ยนช่วงวันเวลาและกำหนดราคาใหม่ให้สอดคล้องกับการใช้บริการ โดยใช้กลยุทธ์เหมาจ่ายเพื่อเพิ่มความดึงดูดลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ในช่วงเวลาดังนี้

สำหรับบุคคลทั่วไป อาทิเช่น กลุ่มนักกีฬา กลุ่มแม่บ้าน,พ่อบ้าน และกลุ่มคนทำงาน

วัน เวลา ราคา/เกม
จันทร์-ศุกร์ 10.00-14.00 น. 3 เกม 100 บาท
15.00-17.00 น. 50 บาท
18.00-02.00 น. เหมาจ่ายคนละ 200 บาท

เสาร์-อาทิตย์ 10.00-14.00 น. 70 บาท
15.00-17.00 น. 100 บาท
18.00-02.00 น. เหมาจ่ายคนละ 250 บาท

วันจันทร์-วันศุกร์ ช่วงเวลาเช้าถึงบ่าย 10.00-14.00 น. ของคุณแม่บ้าน จะว่างก็ต่อเมื่อคุณพ่อบ้านไปทำงานและลูกๆไปโรงเรียน และเสร็จจากภารกิจประจำวันที่บ้านจึงเป็นช่วงเวลาออกมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ห้างสรรพสินค้า ดังนั้นเราจึงใช้กลยุทธ์ราคา 3 เกม 100 บาท เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคมาใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว ช่วงเย็น 15.00-17.00 น. กำหนดราคา 50 บาท และช่วงเวลา 18.00-02.00 น.ตั้งราคาเพื่อดึงดูดโดยใช้กลยุทธ์เหมาจ่าย คนละ 200 บาท เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราเสริมกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งแอโรบิค , โยคะ เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในครอบครัวมาใช้บริการได้พร้อมๆกัน
วันเสาร์-วันอาทิตย์ ช่วงเวลาวันหยุดพักผ่อน ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และใช้กีฬาโบว์ลิ่งเป็นการทำกิจกรรมพักผ่อนด้วยกัน ในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. ทุกคนต้องทำภารกิจประจำวันก่อนออกจากบ้าน จึงกำหนดราคาไม่สูงมาก ราคา 70 บาท/เกม ในช่วงเวลา 15.00-17.00 น. จึงตั้งราคาเป็นเกมละ 100 บาท เพราะช่วงเวลานี้จะมีผู้มาใช้บริการมากกว่าช่วงเวลาอื่น และช่วงเวลา 18.00-02.00 น. ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องกลับบ้าน จึงใช้กลยุทธ์เหมาจ่าย คนละ 250 บาท ดึงดูดกลุ่มลูกค้าไว้ เพราะจะคุ้มกว่าจ่ายค่าเกมปกติ

สำหรับนักเรียน/นักศึกษา
วัน เวลา ราคา/เกม
จันทร์-ศุกร์ 10.00-14.00 น. เหมาจ่ายคนละ 150 บาท
15.00-02.00 น. 3 เกม 100 บาท
เสาร์-อาทิตย์ 10.00-14.00 น. 50 บาท
15.00-02.00 น. เหมาจ่ายคนละ 200 บาท
วันจันทร์-วันศุกร์ ช่วงเวลาที่นักศึกษาไปเรียนหนังสือ ลูกค้ากลุ่มนี้จึงน้อยที่จะเข้ามาซื้อบริการ ตั้งราคาเพื่อดึงดูดโดยใช้กลยุทธ์เหมาจ่าย และช่วงเย็นหลังเลิกเรียนกำหนดราคาเป็น 3 เกม 100 บาท
วันเสาร์-วันอาทิตย์ ช่วงเวลาเช้าถึงบ่าย จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กวัยรุ่นออกมานัดพบปะสังสรรค์กัน และลานโบว์ลิ่งก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ลูกค้ากลุ่มนี้ใช้ในการนัดพบและทำกิจกรรมร่วมกัน จึงตั้งราคาเป็นเกมละ 50 บาท และช่วงเย็นลูกค้ากลุ่มนี้ต้องกลับบ้าน จึงใช้กลยุทธ์เหมาจ่ายดึงดูดกลุ่มลูกค้าไว้

4. จงวิเคราะห์ว่า S.S. Bowling อยู่ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle ; PLC) ขั้นใด ควรใช้กลยุทธ์อย่างไร
-Product Life Cycle ; PLC แบ่งออกเป็น 4 ขั้น คือ
1)ขั้นแนะนำ (Introduction)
2)ขั้นเจริญเติบโต (Growth)
3)ขั้นเจริญเติบโตเต็มที่ (Maturity) และ
4)ขั้นตกต่ำ (Decline)

คิดว่าน่าจะอยู่ในขั้นเจริญเติบโต(Growth) ช่วงเวลาที่ตลาดยอมรับสินค้าอย่างรวดเร็ว และผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เพราะผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนความคิดที่มีต่อ Bowling และได้รับการยอมรับว่าเป็นกีฬาที่ผ่อนคลายและให้ความบันเทิง (Entertainment) โดยจัดเป็นการเล่นเพื่อพักผ่อนและยังเป็นกีฬาของครอบครัวบางครอบครัว และลูกค้าในยุคปัจจุบันต้องการบริการที่มากขึ้นกว่าบริการหลัก
เห็นได้จากแบบสำรวจความคิดเห็น จาก //www.bowlingthailand.com ดังนี้
-บริการใดๆที่คุณต้องการให้มีใน โบว์ลิ่ง เซนเตอร์มากที่สุด (21705)
โบว์ลิ่ง เธค และความบันเทิง (3886) 17.90%
โบว์ลิ่ง กีฬาและนันทนาการ (3644) 16.79%
ร้านขายอุปกรณ์ โบว์ลิ่ง (4418) 20.35%
โค้ชประจำ โบว์ลิ่ง เซนเตอร์ (3273) 15.08%
กิจกรรมการแข่งขัน โบว์ลิ่ง สัมพันธ์ (3619) 16.67%
บริการวิทยาศาสตร์การกีฬา (2865) 13.20%

ควรใช้ กลยุทธ์การตลาดขั้นเจริญเติบโต (Marketing Strategies : Growth stage) บริษัทต้องใช้หลายกลยุทธ์ในขั้นเจริญเติบโต เพื่อรักษาการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดให้คงไว้ ดังนี้
1)ปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ นอกจากจะเป็นกีฬาแล้วก็เพิ่มความบันเทิงเข้าไป ด้วยแสง สี เสียง
2)จัดพื้นที่ให้มีร้านค้าอุปกรณ์กีฬาโบว์ลิ่งไว้รองรับความต้องการของลูกค้า
3)ปรับปรุง ซ่อมแซม เปลี่ยนใหม่สำหรับอุปกรณ์ เพื่อความทันสมัย
4)ปรับปรุงรูปแบบสถานที่ ใช้สีสันสดใสในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
5)เพิ่มการทำประกันอุบัติเหตุในการโยน Bowling ให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นสมาชิกเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้า
6)จัดกิจกรรมการแข่งขันโยน Bowling ในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน/เลิกงาน
7)การจัดทำบัตรสมาชิก และให้ราคาพิเศษกับลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษพร้อมด้วยการทำประกันดังที่กล่าวมาแล้ว
8)เพิ่มการบริการมากกว่าบริการหลัก จัดให้มีพื้นที่ส่วนคาราโอเกะ, จัดกิจกรรมช่วงเย็น มีการเต้นแอโรบิค , โยคะ และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำกฎกติกา วิธีการเล่นสำหรับเด็กๆที่เพิ่งเริ่มต้นสนใจกีฬานี้ เพื่อสร้างฐานลูกค้าในอนาคต

กลุ่มผู้บริโภค จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
กลุ่มนักกีฬา กำหนดวันธรรมดา วันจันทร์/อังคาร เปิดไปสว่าง สำหรับกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
กลุ่มแม่บ้าน ,กลุ่มพ่อบ้าน เต้นแอโรบิค , โยคะ จัดให้มีพื้นที่ส่วนคาราโอเกะ
กลุ่มคนวัยทำงาน จัดการแข่งขันช่วงหลังเลิกงาน
กลุ่มวัยรุ่น เพิ่มแสงสีเปิดไฟแบบ Cosmic และเพิ่ม
เสียง โดยเฉพาะเพลงสนุกๆ
กลุ่มเด็ก มีโค้ชคอยให้คำแนะนำ วิธีการเล่น กฏกติกาการเล่นต่างๆ

5. S.S. Bowling ควรใช้กลยุทธ์หลัก (Grand strategies) ซึ่งประกอบไปด้วย อย่างไรบ้างจงอธิบาย
1)กลยุทธ์การเจริญเติบโต (Growth Strategies) จุดประสงค์เพื่อเพิ่มยอดขาย ,สร้างส่วนแบ่งทางการตลาด , ช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยขององค์กรให้น้อยลง เพื่อสร้างความอยู่รอด ในกรณีการแข่งขันรุนแรง
ลักษณะของกลยุทธ์การขยายตัว นั้นสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 5 แบบได้แก่
1.กลยุทธ์การขยายตัวจากภายในองค์กร (Internal Growth)
1)ในอุตสาหกรรมเดิม
2)ในอุตสาหกรรมใหม่
ตามแนวดิ่ง (Vertical Growth)
-ลักษณะย้อนหลัง (Backward Vertical Growth)
-ลักษณะไปข้างหน้า (Forward Vertical Growth)
ตามแนวราบ (Horizontal Growth)
-สัมพันธ์กับธุรกิจเดิม (Concentric / Related Diversification)
-ไม่สัมพันธ์กับธุรกิจเดิม (Conglomerate / Unrelated Diversification)
2.กลยุทธ์การขยายตัวจากภายนอกองค์กร ตามแนวราบ
3.กลยุทธ์การขยายตัวจากภายนอกในแนวดิ่งหรือแนวตั้ง
4.กลยุทธ์การขยายตัวโดยการควบและซื้อกิจการ
5.กลยุทธ์การขยายตัวโดยการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
2)กลยุทธ์ความคงที่ (Stability strategies)
-ถ้าการขยายกิจการส่งผลให้ลงทุนมากกว่ากำไรที่จะได้รับ
-เกิดขึ้นเมื่อองค์กรธุรกิจเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และใช้กลยุทธ์การคงตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็น Monopoly
-ในองค์กรขนาดเล็กที่มีสินค้าและบริการเฉพาะตัว ใช้กลยุทธ์คงตัวเนื่องจากต้องการรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการไว้

3)กลยุทธ์การตัดทอน (Retrenchment strategies) เหมาะสมที่จะนำมาใช้เมื่อการดำเนินงานอยู่ในสภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจหรือเพื่อความอยู่รอดขององค์กร




เลือกกลยุทธ์การเจริญเติบโต (Growth Strategies) กลยุทธ์การขยายตัวจากภายในองค์กร (Internal Growth) ในอุตสาหกรรมเดิม เพราะเป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับได้ไม่นานนัก ยังมีลูกค้าบางกลุ่มยังไม่เปลี่ยนความคิดเดิม แต่ส่วนใหญ่ก็มองว่าเป็นกีฬาเพื่อการผ่อนคลาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ให้ความสนใจกับกีฬาโบว์ลิ่ง และเลือกลานโบว์ลิ่งเป็นที่นัดพบปะสังสรรค์กันในช่วงเย็นวันธรรมดาและวันหยุด จึงมุ่งเน้นกลยุทธ์ไปที่บริการหลักดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น รวมไปถึงการเพิ่มบริการอื่นๆเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยใช้บริการ เพื่อให้หันมาสนใจที่จะใช้บริการ พร้อมกับเพิ่มความแตกต่างด้วยการประกันอุบัติเหตุสำหรับลูกค้าที่เป็นสมาชิก S.S. Bowling พร้อมบริการทั้งครอบครัวและทุกวัยของครอบครัว และยังเป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สานสายสัมพันธ์ความรักของครอบครัว
นาทีนี้เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ การที่เรานำเสนอผลิตภัณฑ์หลักอย่างเดียวคงไม่เพียงพอแล้ว ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม หันมาใส่ใจรักสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเลือกที่จะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้เราเล็งเห็นว่า เราควรเพิ่มการบริการในพื้นที่ที่เรามีอยู่อย่างจำกัดและพยายามจะใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กิจกรรมโยคะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่หลายกลุ่มให้ความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน นักศึกษา สาวออฟฟิต จัดให้มีกิจกรรมช่วงเย็น จากนั้นเราก็ใช้พื้นที่เดิมในการทำกิจกรรมแอโรบิคต่อจากช่วงเวลาโยคะ และแบ่งโซนเล็กๆสำหรับวาง ตู้คาราโอเกะ โดยเน้นสำหรับกลุ่มพ่อบ้าน ที่มารอแม่บ้านทำกิจกรรม โยคะ แอโรบิค ส่วนกลุ่มบุตรหลานก็มุมลานโบว์ลิ่ง โดยจัดให้มีโค้ชสอนวิธีการเล่น กฎกิติกาต่างๆ สำหรับกลุ่มเด็กที่เพิ่งเริ่มต้นเล่น หรือบุคคลทั่วไปด้วย




Create Date : 09 สิงหาคม 2552
Last Update : 9 สิงหาคม 2552 22:07:13 น. 1 comments
Counter : 3831 Pageviews.

 
พอดีกดมั่วๆหลงเข้ามาอ่าน ขอแสดงความคิดเห็นหน่อยนะครับ ธุรกิจโบลลิ่งผมจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับลานเสก็ตน้ำแข็ง หรือโรลเลอร์เสก็ต ที่เคยสามารถทำตลาดได้เป็นอย่างดีในเมืองไทย ตอนนี้ธุรกิจโบลลิ่งกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ สาเหตุเดียวคือความนิยมน้อยลงแต่อาจไม่ถึงขั้นสูญพันธ์เหมือนพวกลานสเก็ต ต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา ลานโบลลิ่งเต็มเกือบทุกที่ครับ ช่วงเย็นๆ ไม่ต้องทำตลาดอะไรทั้งนั้น เพราะอะไร? ค่านิยมที่ต่างกันครับ ที่อเมริกาผมเห็นคนแก่ 60-70 ไปโยนโบลกันอยู่ประจำ เหมือนไปออกกำลังกาย เมืองไทยนี่ลองลากอากง อาม่าที่บ้านไปโยนโบลสิครับ มีสิทธิโดนด่า เด็กวัยรุ่นก็นิยมไปสิงกันอยู่กันตามลานโบลลิ่งช่วงวันหยุด เพราะเป็นที่เดียวที่พ่อแม่จะอนุญาตให้ไปได้โดยไม่ถามจุกจิก ส่วนวัยรุ่นไทยหาได้ตามร้านอินเตอร์เน็ตครับช่วงวันหยุด หรือไม่ก็ตามห้าง มันก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมของแต่ละประเทศอีกละครับ คนอเมริกาโตขึ้นมาจากลานโบลลิ่ง เด็ก 4-5 ขวบ พ่อแม่ก็ลากไปโยนโบลกันแล้วครับ ตอนนี้กลุ่มคนทำงานเท่านั้นครับในประเทศไทยที่ยังนิยมไปโยนโบลลิ่งกันอยู่ เป็นที่สังสรรค์ที่นึง แต่ก็ไม่ได้ไปบ่อยเหมือนฝรั่ง

เจ้าของกิจการโบลลิ่งหรือผู้บริหารควรที่จะพักนโยบายการบริหารที่ยังไม่ถึงขั้นต้องนำมาใช้ในตอนนี้ไปก่อน เพราะปัญหาหลักของธุรกิจนี้ถ้าคุณมองจากภาพรวมคือกระแสนิยม คุณสามารถผลักดันกระแสนิยมได้ไม๊ นโยบายหลักที่จำเป็นต้องนำมาใช้คือการกระตุ้นกระแสนิยมในการเล่นโบลลิ่งขึ้นมา ไม่เช่นนั้นคุณจะลงทุนลงแรงกับการจัดการด้านบริหารหรือส่งเสริมการตลาดไปมากแค่ไหนมันก็สูญเปล่าในเมื่อคนไทยไม่นิยมเล่นโบลลิ่ง การกระตุ้นกระแสนิยมทำได้โดยวิธีใดบ้าง? อันนี้ผมคิดว่าฝ่ายการตลาดหรือผู้บริหารกิจการโบลลิ่งน่าจะมีความรู้ด้านนี้มากกว่าผมครับ





โดย: NinthOfApril วันที่: 10 สิงหาคม 2552 เวลา:13:58:36 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

zakana7884
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เพื่อนสำคัญเสมอ ฉันจะรักษามิตรภาพระหว่าง
เพื่อนให้ดีที่สุด และคุณคือเพื่อนของฉันในตอนนี้

เกี่ยวกับฉัน..ฉันชอบอ่านหนังสือ ท่องเที่ยว
ท่องโลกอินเตอร์เน็ต แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เพื่อเปิดโลกทรรศในมุมมอง 360 องศา
เมื่อใดที่ฉันว่างเว้นสิ่งอื่นใด ก็จะเข้าสู่สภากาแฟฯ
แห่งนี้ บ้างอ่าน บ้างแสดงความคิดเห็น แล้วแต่
โอกาสจะอำนวยคะ

ขอบคุณโลกออนไลน์ที่ทำให้เราเป็นเพื่อนกันได้

lozocat
free counters
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add zakana7884's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.