People - Places - Pictures

สาวบราซิเลียน กับการเรียนวาดภาพทิเบตที่อินเดีย

LIFE AND THANGKA : Searching for truth through sacred arts
Tiffani H. Rezende


ปลายปี 2004 ผมมีโอกาสไปเมืองธรัมศาลา ประเทศอินเดีย บ่ายวันหนึ่ง ได้เข้าชมโรงเรียนศิลปะนอร์บูลิงกา ซึ่งตั้งอยู่กลางหุบเขาป่าสน

ธรัมศาลา อยู่ในแคว้นหิมะจัล ประเทศ ช่วงที่เทือกเขาหิมาลัยลาดตัวลงต่อเนื่องกับที่ราบสูงกว้างใหญ่ของแคว้นปัญจาบ คือบริเวณที่รัฐบาลอินเดียเอื้อเฟื้อให้องค์ดาไลลามะ และชาวทิเบตลี้ภัยได้พำนักอาศัย รวมถึงตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

ส่วนนอร์บูลิงกา คือวิทยาลัยศิลปะของชาวทิเบต เป็นศูนย์รวมวิชาเชิงช่างแขนงต่างๆที่สืบทอดมาแต่โบราณ เปรียบได้กับโรงเรียนช่างวังหลวง การเรียนการสอน การฝึกหัดเข้มข้น และเท่าที่ทราบ จะไม่รับสอนชาวต่างชาติ กระทั่งชาวอินเดียก็ยากที่จะเข้าเรียน ทั้งqที่ธรัมศาลา เป็นหนึ่งในเมืองที่ชาวต่างชาติมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมหลังคาโลก

ครูและศิษย์ของนอร์บูลิงกาเป็นชาวทิเบตล้วนๆ จนไม่อยากเรียกว่าเป็นการเรียนการสอนทั่วไป เป็นการสืบสายวิชาช่างมากกว่า

ผมทราบกฎเกณฑ์นี้มาก่อนหน้า จึงรู้สึกประหลาดใจพอดู ที่เห็นฝรั่งสาวน้อยคนหนึ่ง นั่งเขียนทังกา ภาพพระบฏทิเบต เป็นไข่แดงท่ามกลางชาวทิเบตหลายสิบคนในห้องเรียนของนอร์บูลิงกา และประหลาดใจหนักขึ้นไปอีก เมื่อช่างเขียนคนหนึ่งบอกว่าสาวน้อยคนนี้เป็นชาวบราซิล มากินๆนอนๆ นั่งขีดๆเขียนๆ ภาพพระพุทธ พระโพธิสัตว์ อยู่ที่นี่ร่วม 2 ปีแล้ว แต่นั่นแหละ อะไรก็เกิดขึ้นได้ในอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ในวันนั้น ผมเพียงแค่ทักทายตามมารยาท ไม่ได้เข้าไปพุดคุยทำความรู้จักกับเธอ และก็ลืมไปเลย จนกระทั่ง 2 ปีถัดมา ขณะเสิร์ชหาคำประหลาดๆในกูเกิล ก็พบเว็บไซต์ของเธอโดยบังเอิญ เห็นแว่บแรกก็รู้แน่ว่าต้องเป็นสาวน้อยคนนี้ เพราะชีวิตของเธอโดดเด่นไม่เหมือนใคร

อ่านดูพบว่าขณะนี้เธอสำเร็จการศึกษาที่นอร์บูลิงกาแล้ว และกลับไปเปิดสตูดิโอเล็กๆ บนภูเขาแถบเซา เปาโล บราซิล แต่งงานกับหนุ่มทิเบตและมีลูกอ่อนคนหนึ่ง นอกจากนี้ยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของเธอและเรื่องราวในชั้นเรียนทังกาที่ธรัมศาลา ผมอยากอ่านหนังสือเล่มนี้ จึงอีเมล์ไปขอเธอดื้อๆ ( แต่มีของแลกกันนะ ) เธอส่งหนังสือมาให้ด้วยความยินดี เราจึงเป็นเพื่อนกันแต่นั้นมา

ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่การรีวิวหนังสือ แต่เป็นการชื่นชมชีวิตและวีรกรรมงดงามพิสดารของเพื่อนคนหนึ่งมากกว่า


จะเล่าเรื่องคร่าวๆ ว่าทำไม ทิฟฟานี่ สาวน้อยชาวกาแฟจึงมาวาดภาพพระทิเบตได้


พ่อแม่ของเธอพบรักกันในรถไฟสาย เซา เปาโล - มาชู ปิคชู ทิฟฟานี่เกิดปี 1981 ที่บ้านในเซา เปาโล ด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะพ่อของเธอ ซึ่งเป็นทั้งนักปฏิบัติสมาธิภาวนา - นักดนตรี - นักดาราศาสตร์ - นักไบโอฟิสิกส์ และนักสัตว์ศาสตร์ในคนๆเดียว คิดว่าเมื่อเขาสามารถทำคลอดสัตว์ในสวนสัตว์ได้ ก็ต้องทำคลอดลูกตัวเองได้เช่นกัน

ตอนทิฟฟานี่อายุ 4 ขวบ พ่อแม่ของเธอซื้อที่ดินในเขตภูเขาของแคว้น Minas Gerais เพื่อสร้างชุมชนและอาศรมปฏิบัติธรรม เธอจึงเติบโตมาแบบธรรมชาติ เป็นเจ้าของม้า ขี่ม้าปลอดอานไปโรงเรียนทุกวัน ประพฤติตัวคล้ายชาวอินเดียนแดง

จนกระทั่งอายุ 14 หลังจากทำโน่นทำนั่น เป็นโน่นเป็นนี่มากมาย พ่อของเธอเกิดอยากลิ้มลองชีวิตนักเดินเรือขึ้นมา ทิฟฟานี่จึงย้ายไปอยู่ในทะเลกับพ่อ ทั้งที่เธอเป็นเด็กป่าเขาไม่เคยลงเรือมาก่อนเลย ใช้ชีวิตอยู่บนเรือพักใหญ่ ทำงานเก็บตังค์ด้วยการพานักท่องเที่ยวตระเวนเกาะแก่ง และเพนท์เสื้อรูปม้า รูปอินเดียนแดงขาย
ภายหลังเธอเกิดคิดถึงแผ่นดินขึ้นมา จึงตัดสินใจขายม้า เอาตังค์ที่สะสมไว้เดินทางไปออสเตรเลีย อยู่กับชาวอะบอริจินส์ในดินแดนแล้งร้าง หัดกินงู กิ้งก่า ล่าหมูป่า จิงโจ้และนกอีมู ได้รับรู้ความสัมพันธ์เร้นลับระหว่างดวงจันทร์และทะเลทราย จากนั้น ยังตระเวนเร่ร่อนไปอยู่กับชุมชนพึ่งพาตนเองตามวิถีธรรมชาติอีกหลายแห่งในเขตออสเตรเลียตะวันตก

หลายเดือนให้หลัง เธอกลับมาบราซิลด้วยความรู้-ความคิดอ่านมากมายที่สับสนปนเป ตกค้างในสมอง ขณะเคว้งคว้างไม่รู้จะทำอะไรดี พ่อแม่ของเธอพลันบังเกิดไอเดียบรรเจิดแจ่ม ที่จะออกเดินทางแสวงบุญจากเยอรมันสู่เมืองจีน เพื่อเสาะหาอาจารย์ทางจิตวิญญาณ ( spiritual master-แปลตรงมาก) พ่อตัดสินใจขายเรือ เดินทางมาเยอรมันบ้านเกิดของแม่ ซื้อรถบ้านที่มิวนิค ส่วนทิฟฟานี่กับเพื่อนซื้อรถฟอร์ดทรานสิทเก่าบุโรทั่ง เตรียมตัวออกจาริก

ในปี 2000 พวกเขาขับดุ่ยๆ ออกจากเยอรมัน ผ่านออสเตรีย สโลวาเกีย ยูเครน และรัสเซียเกือบทั้งประเทศ ผ่านตั้งแต่โบสถ์ออร์โธดอกซ์ ไปถึง หมู่บ้านที่นับถือพ่อมดหมอผีในไซบิเรีย พำนักในเขตป่ารกร้างของเทือกเขาอัลไต และออกสู่ทุ่งกว้างของมองโกเลีย กระทั่งพบกับลามะท่านหนึ่งในถ้ำเล็กๆบนภูเขาชานเมืองคาราโครัม ท่านกล่าวถึงพระสูตรและคำสอนของพระพุทธเจ้า ทิฟฟานี่รู้โดยสัญชาติญานว่าเจอสิ่งที่เธอใฝ่หาแล้ว

ในอูลาน บาเตอร์มีโรงเรียนฝึกหัดเขียนภาพทังกา อยู่บนชั้นสองของวัดแกนดาน ลามะผู้สอนกระซิบบอกทิฟฟานี่ว่า

“ This is a sacred art,a path which can take you to enlightenment”

( ชาวพุทธวัชรยานมักไม่พูดถึงนิพพาน เขามิได้แสวงหาการสละสังสารวัฏ....ไปแล้วไปลับ แต่จะแทนคำนิพพานว่าเอ็นไลเท็นเมนท์ แปลว่าจิตตรัสรู้ ได้โพธิมรรค หรือแจ้งในธรรมมากกว่า เป็นการมุ่งบรรลุแบบไม่ทิ้งโลกและภพภูมิ เพื่อกลับมาช่วยสรรพสัตว์ได้อีก - เป็นความกรุณาปรานีในรูปแบบพระโพธิสัตว์ )

ทิฟฟานี่ขอลามะเข้าศึกษาที่โรงเรียนแห่งนั้น แต่ท่านกลับบอกว่ายังไม่ถึงเวลา และที่มองโกเลียนี้ มิใช่จุดหมายของชะตาชีวิตเธอ เมื่อถึงเวลาอันควร เธอจะได้ไปเข้าเรียนทังกาที่ธรัมศาลา อินเดีย

ได้ยินดังนั้นทิฟฟานี่จึงตัดสินใจเดินทางกลับเพื่อหางานทำและสะสมตังค์ไปอินเดีย เธอและเพื่อนขึ้นรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ย้อนคืนสู่ยุโรป ในขณะพ่อและแม่ยังอยู่ในมองโกเลียต่ออีก 6 เดือน เผชิญฤดูหนาวอันทารุณในกระโจมของพวกโนหมาด คนเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์

ที่เยอรมัน เธอหางานทำ สะสมเงินทุกบาททุกสตางค์เพื่อการเดินทางศึกษาในวันข้างหน้า ทิฟฟานี่ส่งจดหมายถึงนอร์บูลิงกา แจ้งความประสงค์ของเข้าเรียนทังกา แต่ทางโรงเรียนตอบมาว่าไม่รับชาวต่างชาติ อย่างไรก็ดีเธอมิได้ท้อแท้สิ้นหวัง เพราะเชื่อในคำกระซิบของลามะท่านนั้น จุดหมายของเธอในยามนี้มีแห่งเดียวคืออินเดีย

และเมื่อได้เข้าร่วมฟังพระธรรมเทศนาจากองค์ดาไลลามะ สองครั้งสองคราวที่ออสเตรีย เธอยิ่งมั่นใจแล้วว่านี่คือหนทางชีวิตที่รอเธออยู่ องค์ดาไลลามะเปรียบเหมือนครูแห่งครู เป็นบรมครูที่เธอยึดมั่นและหวังอย่างแรงกล้าจะติดตาม

ต้นปี 2003 เมื่อจังหวะเวลาทุกสิ่งทุกอย่างลงตัว ทิฟฟานี่ลาออกจากงาน บ๊ายบายหนุ่มคนรัก และญาติมิตร ออกเดินทางสู่อินเดีย ทิ้งความผูกพันทั้งหมดไว้เบื้องหลัง ช่างเป็นอิสระเสียนี่กระไร.....



นี่เป็นแค่ส่วนเสี้ยวของหนังสือเล็กๆ เล่มนี้ หลังจากนั้น เหตุใด เธอจึงสามารถเข้าเรียนทังกาได้ในสถาบันช่างที่ไม่เคยรับชาวต่างชาติมาก่อนเลย ในเวลา 3 ปีเต็มหลังจากนั้น เธอใช้ชีวิตเช่นไรท่ามกลางชาวทิเบต และเล่าเรียนกับครูช่างเขียนผู้แทบไม่ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างไร แล้วชีวิตสาวน้อยชาวบราซิลในแดนทิเบตพลัดถิ่นที่อินเดียจะสุขทุกข์ประการใดบ้าง ถ้าสนใจคงต้องอ่านเองแล้วล่ะครับ

เธอเขียนได้ลึกซึ้ง ทว่าเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ทั้งยังคมคาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาการเล่าเรื่อง และบทกวี- แรงบันดาลใจที่แนบมาด้วยในตอนท้าย เพราะทั้งหมดเป็นสิ่งที่กลั่นกรองมาจากชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งด้วยวัยเพียงเบญจเพศ ประสบการณ์ตรง การเห็นโลกกว้างของเธอมากล้นพ้นประมาณ ที่สำคัญ เป็นมุมมองของคนหนุ่มสาวร่วมสมัย ที่กระโจนสุดตัวเข้าหาอารยธรรมโบราณเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ของอีกซีกโลก ห่างจากบ้านเกิดของตนลิบลับ

ทิฟฟานี่ใช้สำนวนง่ายๆ เหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ ที่สนใจการท่องเที่ยว เดินทางและศิลปวัฒนธรรม จะอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างมีความสุขและสนุกไปด้วยทุกหน้า – ทุกบท



หนังสือเล่มบางๆนี้มีเพียง 82 หน้า พิมพ์ในอินเดีย
ต้นสังกัดคือ Library of Tibetan Works and Archive,Dharamsala
คิดว่าไม่มีวางจำหน่ายในเมืองไทย ถ้าสนใจอยากอ่านบอกผมได้ครับ ผู้แต่งคงเป็นปลื้มอย่างมากทีเดียว




 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2553   
Last Update : 17 ตุลาคม 2553 9:29:48 น.   
Counter : 638 Pageviews.  


azurite
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Azurite is a lazy painter.
[Add azurite's blog to your web]