People - Places - Pictures

ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้แสดงภาพ

ดือนมีนาคม 2556 ผมมีโอกาสแสดงนิทรรศการงานศิลปะในชื่อ The Player (หมายถึงผู้แสดงโขนสด) ที่ Serindia Gallery  ถนนเจริญกรุง เป็นการแสดงงานเดี่ยวครั้งแรกของผม ซึ่งไม่เคยทำและแทบไม่คิดไม่ฝันมาก่อนว่าจะได้ทำ  เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาพิเศษครั้งหนึ่งในชีวิต  


ถึงผมจะชอบวาดรูป  แต่ก็ไม่ได้จบมาทางจิตรกรรมโดยตรง  ช่วงมัธยมเรียนสายสามัญ ม. 6 ธรรมดา ต่อมหาวิทยาลัยในสาขาออกแบบนิเทศศิลป์  ทำงานออฟฟิศและเป็นฟรีแลนซ์  วาดรูปในนามบริษัท  ตามโจทย์ของเจ้านายและลูกค้าโดยตลอด   แทบไม่มีโอกาสวาดงานที่เป็นของตัวเองโดยแท้จริง เว้นแต่ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ทำเล่นยามว่าง ซึ่งก็สะเปะสะปะ ขาดความต่อเนื่องเกี่ยวโยงกัน  ในแง่การจัดแสดง ก็แทบไม่ได้สะสมโปรไฟล์เกี่ยวกับนิทรรศการใดๆมาก่อน มีแค่นิทรรศการเดียวคืองานกลุ่มโชว์ภาพถ่ายขาวดำ ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของเว็บผู้ชื่นชอบฟิล์มขาวดำทำมือ BWRhapsody  เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้  เมื่อคุณเชน สุวิกะปกรณ์กุล  แห่ง Serindia Gallery กรุณาชวนให้ลองทำนิทรรศการของตัวเอง วาดรูปที่ออกมาจากมุมมอง ความคิด ประสบการณ์ที่พบเห็นมาของตัวเอง ก็รู้สึกดีใจที่สุด  และตั้งใจทำออกมาอย่างเต็มที่  แม้จะประหม่าและกังวลอยู่บ้างก็ตาม



















นิทรรศการนี้  แบ่งเป็นสองส่วน  ส่วนแรกคือภาพถ่ายจากฟิล์มขาวดำเกี่ยวกับการแสดงโขนสด  อันเป็นเหตุที่มาและแรงบันดาลใจ  ส่วนที่สอง  คือภาพเขียนสีน้ำมัน จำนวน 6 ภาพ  อันเป็นผลตามมาจากแรงบันดาลใจนั้น

ผมได้มีโอกาสไปชมและถ่ายภาพโขนสดตามงานวัด,งานศพ แถบชานเมืองกรุงเทพ พบว่าแตกต่างจากโขนมาตรฐานที่เคยดูพอสมควร   โขนสดมีความสนุกแบบลูกทุ่งผสมลิเก เคร่งครัดสำรวมน้อยกว่า มีความห่าม ความตลกเฮฮา ทะลึ่งตึงตังแทรกตลอดแทบทุกฉาก  อย่างเช่นช่วงสงกรานต์ยักษ์บางตัวสวมหัวโขนแต่ใส่เสื้อฮาวาย เอาปืนพลาสติคฉีดน้ำขึ้นมาเล่นแทนอาวุธโบราณ ก็รู้สึกว่าข้อห้าม หรือจำกัดน้อยกว่าโขนมาตรฐาน น่าลองนำมาเขียนเป็นภาพ   ช่วงแรกยังไม่ทำจริงจัง เป็นลายเส้นการ์ตูนสนุกๆตามที่ถนัด ต่อมาเมื่อคิดว่าจะต้องแสดงงาน จึงค่อยนำไปพัฒนาเป็นภาพสีน้ำมัน


นอกจากร่ายรำแล้ว  คนแสดงโขนสดต้องร้องและพูดเอง ไม่มีการพากษ์แบบโขนมาตรฐาน  การสวมหัวโขนจึงยั้งอยู่แค่หน้าผาก ไม่ครอบลงมาทั้งศีรษะ ทั้งหัวโขนและใบหน้าคนเล่น ความรู้สึกต่างๆทางสีหน้า จึงปรากฏต่อสายตาผู้ชมไปพร้อมกัน  ทำให้เห็นชัดเจนขึ้น ถึงคำเปรียบเทียบที่ว่าสวมหัวโขน ก็เหมือนสวมยศตำแหน่ง บทบาทหน้าที่ต่างๆนาๆ  ซึ่งสุดท้ายแล้ว พอถอดหัวโขนออก สิ่งเหล่านั้นกลับมีค่าแค่มายา ไม่มีอยู่จริง 

เท่าที่ทราบ โขนสดน่าจะเป็นหนึ่งในการแสดงสวมหน้ากากไม่กี่ประเภท การที่เราเห็นได้ทั้งหน้ากาก (หัวโขน) และสีหน้าอารมณ์ของคนแสดง ไปได้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน สำหรับผมเป็นความพิเศษที่เด่นขึ้นมาจากการแสดงชนิดอื่นๆ และเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการถ่ายทอดความหมาย บอกกล่าวสิ่งท่ี่ผมเองอยากจะสื่อในภาพ






































































ที่ผู้เล่นในภาพวาดของผมมีสีหน้านิ่งๆ ไม่ยินดียินร้ายกับบทบาทและสภาพแวดล้อม เพราะเขารู้ว่าทั้งหมดคือการแสดง บทบาทหน้าที่ ฐานะ ยศศักดิ์ทั้งหลาย สุดท้ายแสดงจบก็ต้องถอดหัวถอดชุดออก ทุกสิ่งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป   ทั้งนี้หมายรวมถึงฉากรอบข้างด้วย ผมพยายามให้ดูเหมือนทุกอย่างไม่ใช่ของจริงตามธรรมชาติ. ถูกวาดขึ้นบนแผ่นไม้บ้าง บนม่าน บนผ้าใบบ้าง ตามที่ปรากฏบนเวที

แสงสว่างก็มาจากหลอดไฟ ไม่ใช่ทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์ พื้นที่เหยียบไม่ใช่ดินทราย แต่คือกระดานไม้  อยากบอกว่าทุกอย่างที่เห็นนั้นประดิษฐ์ขึ้น ไม่มีอยู่จริง พอแสดงจบฉากและเวทีก็จะถูกรื้อ และผู้แสดงก็รู้ซึ้งถึงข้อนี้. ผ่านสีหน้าอันสงบเรียบเฉย ยอมรับสภาพตามความเป็นจริง 




































































เมื่อนิทรรศการสิ้นสุดลง โชคดีที่ภาพเขียนมีผู้กรุณาอุปการะไปจนหมดสิ้น ผมรู้สึกดีใจและมั่นใจยิ่งขึ้นในแนวทางการวาดภาพส่วนตัว   นอกจากนี้  ภาพถ่ายขาวดำ  ยังได้ไปแสดงต่อ เป็นส่วนประกอบหนึ่งของนิทรรศการโขน ที่  Museu da Marioneta ( Puppet Museum ) เมืองลิสบอน โปรตุเกส อีกด้วย ทุกอย่างเหมือนดังน้ำหล่อเลี้ยงกำลังใจให้ทำงานต่อไป















ท่านที่อ่านรามเกียรติ์ คงพอทราบว่าแต่ละภาพนั้นหยิบมาจากตอนใดบ้าง จะเขียนในที่นี้คงยืดยาว สำหรับรายละเอียด  คำบรรยายของแต่ละภาพ  รวมทั้งภาพชิ้นใหม่ๆ ได้ทยอยลงไว้ในเฟซบุคเพจนี้นะครับ 




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2558   
Last Update : 7 ธันวาคม 2558 7:46:10 น.   
Counter : 4346 Pageviews.  


azurite
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Azurite is a lazy painter.
[Add azurite's blog to your web]