การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลกคือ ความสุขของโลก
Group Blog
 
All Blogs
 

ภูมิของบัณฑิต

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ - หน้าที่ 240-254

๙. พาลบัณฑิตสูตร (๑๒๙)

[๔๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะ เครื่องหมาย เครื่องอ้างว่าเป็นบัณฑิตของบัณฑิตนี้ มี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตใน โลกนี้มักคิดความคิดที่ดี มักพูดคำพูดที่ดี มักทำการทำที่ดี ถ้าบัณฑิตจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ดี พูดคำพูดที่ดี และทำการทำที่ดี บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่าผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นสัตบุรุษ เพราะบัณฑิตมักคิดความคิดที่ดี มักพูดคำพูด ที่ดี และมักทำการทำที่ดี ฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นบัณฑิตเป็นสัตบุรุษ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแลย่อมเสวยสุขโสมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน ฯ

[๔๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าบัณฑิตนั่งในสภาก็ดี ริมถนนรถก็ดีริมทางสามแพร่งก็ดี
ชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าบัณฑิตเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้น
ขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากเหตุเป็นที่ตั้ง
ความประมาทเพราะ ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา
นั้นบัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ปกติเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในปรกติ เหล่านั้น
ด้วย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่หนึ่งดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

[๔๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก บัณฑิตเห็นราชาทั้งหลาย จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิด คือ

(๑) โบยด้วยแส้บ้าง
(๒) โบยด้วยหวายบ้าง
(๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
(๔) ตัดมือบ้าง
(๕) ตัดเท้าบ้าง
(๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
(๗) ตัดหูบ้าง
(๘) ตัดจมูกบ้าง
(๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
(๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง
(๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง
(๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง
(๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง
(๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง
(๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง
(๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง
(๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง
(๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง
(๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง
(๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง
(๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง
(๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง
(๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง
(๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง
(๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง
(๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง

ในขณะที่เห็นนั้น บัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า เพราะเหตุแห่งกรรมชั่วปานใดแล ราชาทั้งหลายจึงจับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้วสั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดคือ โบยด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ปรกติเหล่านั้นไม่มีอยู่ในเรา และเราก็ไม่ปรากฏในปรกติเหล่านั้นด้วย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่สองดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

[๔๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ ในก่อน คือ
กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปก คลุม ครอบงำบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือ
นอนบนพื้นดินในสมัยนั้น เปรียบเหมือนเงายอดภูเขา ย่อมปก คลุม ครอบงำแผ่นดินในสมัยเวลาเย็นฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กรรมงามที่บัณฑิตทำไว้ในก่อน คือ กายสุจริต
วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมปก คลุม ครอบงำบัณฑิตผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียงหรือนอนบนพื้น
ดินในสมัยนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นบัณฑิตจะมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดี ทำแต่ กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้ ละโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่คติของคน ที่ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความร้าย ไม่ได้ทำความเลว ทำแต่ความดี ทำแต่ กุศล ทำแต่เครื่องป้องกันความหวาดกลัวไว้เป็นกำหนด บัณฑิตนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไห้ทุ่มอก ไม่ถึงความหลงพร้อม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตย่อมเสวยสุขโสมนัสข้อที่สามดังนี้ในปัจจุบัน ฯ

[๔๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแลประพฤติสุจริตทางกายทางวาจา ทางใจ
แล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลเมื่อจะกล่าวถึงสุคติซึ่ง
เขาพูดหมายถึงสวรรค์นั้นแลโดยชอบ พึงกล่าวได้ว่าเป็นสถานที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ส่วนเดียว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพียงเท่านี้แม้จะเปรียบอุปมาจนถึงสวรรค์เป็นสุข ก็ไม่ใช่ง่ายนัก ฯ


[๔๘๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล พระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจเปรียบอุปมาได้หรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุอาจเปรียบได้ แล้วตรัสต่อไปว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการและความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง จึงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้นเป็นเหตุได้

พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการเป็นไฉน ฯ

[๔๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชามหากษัตริย์ในโลกนี้ผู้ทรงได้มุรธาภิเษกแล้ว ทรง
สรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕ ซึ่งวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ใน
พระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพมีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วย
อาการทุกอย่าง ครั้นทอดพระเนตรแล้วได้มีพระราชดำริดังนี้ว่า

ก็เราได้สดับมาดังนี้แล พระราชาพระองค์ใด ผู้ทรงได้มูรธาภิเษกแล้ว ทรงสรงสนานพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๕ ซึ่งวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เมื่อประทับอยู่ในพระมหาปราสาทชั้นบน ย่อมปรากฏจักรแก้วทิพมีกำตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง พระราชานั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือหนอ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อนั้น พระองค์เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงจับพระเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงหลั่งรดจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา รับสั่งว่า จงพัดผันไปเถิดจักรแก้วผู้เจริญ จักรแก้วผู้เจริญจงพิชิตให้ยิ่งเถิด

ลำดับนั้น จักรแก้วนั้นก็พัดผันไปทางทิศตะวันออก พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จตามไป จักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา

บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราช ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงสั่งการเถิด

พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควร ลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกันตามสภาพที่เป็นจริงเถิด

บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นแล ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ

ต่อนั้น จักรแก้วนั้นได้พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันออก แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศใต้ ฯลฯ พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศใต้แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศตะวันตก ฯลฯ พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันตก แล้วกลับขึ้นพัดผันไปทิศเหนือ

พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ก็เสด็จตามไป จักรแก้วประดิษฐาน อยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อม ด้วยจตุรงคินีเสนา

บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราชพระองค์เสด็จมาดีแล้ว มหาราช ข้าแต่มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงสั่งการเถิด

พระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ที่ เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา และท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองกันตามสภาพที่เป็นจริงเถิด บรรดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นแล ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าจักรพรรดิ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล จักรแก้วนั้นพิชิตยิ่งตลอดแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขต แล้วกลับมาสู่ราชธานีเดิม ประดิษฐานอยู่เป็นเสมือนลิ่มสลักพระทวาร ภายในพระราชวังของพระเจ้าจักรพรรดิ ทำให้งดงามอย่างมั่นคงอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลายย่อมปรากฏจักรแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏช้างแก้ว
เป็นช้างหลวงชื่ออุโบสถ เผือกทั่วสรรพางค์กาย มีที่ตั้งอวัยวะทั้งเจ็ดถูกต้องดี มีฤทธิ์เหาะได้
ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็นแล้วย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปรานว่า จะเป็นยานช้าง
ที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญถ้าสำเร็จการฝึกหัด ต่อนั้น ช้างแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัดเหมือน
ช้างอาชาไนยตัวเจริญ ที่ฝึกปรือดีเป็นเวลานาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองช้างแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา

ดูกรภิกษุทั้งหลายย่อมปรากฏช้างแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏม้าแก้ว
เป็นอัสวราชชื่อวลาหก ขาวปลอด ศีรษะดำเหมือนกา เส้นผมสลวยเหมือนหญ้าปล้อง มีฤทธิ์
เหาะได้ ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรเห็น แล้วย่อมมีพระราชหฤทัยโปรดปรานว่า จะเป็น
ยานม้าที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญ ถ้าสำเร็จการฝึกหัด ต่อนั้น ม้าแก้วนั้นจึงสำเร็จการฝึกหัด
เหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญ ที่ฝึกปรือดีแล้วเป็นเวลานาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองม้าแก้วนั้น จึงเสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเวียนรอบปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับมาราชธานีเดิม ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทันเวลา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏม้าแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏมณีแก้ว
เป็นแก้วไพฑูรย์ งามโชติช่วง แปดเหลี่ยม อันเจียระไนไว้อย่างดี มีแสงสว่างแผ่ไปโยชน์
หนึ่งโดยรอบ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองมณีแก้วนั้น จึงสั่งให้จตุรงคินีเสนายกมณีขึ้นเป็นยอดธง แล้วให้เคลื่อนพลไปในความมืดทึบของราตรี ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ พากันประกอบการงานด้วยแสงสว่างนั้น สำคัญว่าเป็นกลางวัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏมณีแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏนางแก้วรูป
งาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่
ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงผิวพรรณของมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงผิวพรรณทิพย์
มีสัมผัสทางกายปานประหนึ่ง สัมผัสปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย นางแก้วนั้นมีตัวอุ่นในคราวหนาว มีตัว
เย็นในคราวร้อนมีกลิ่นดังกลิ่นจันทรฟุ้งไปแต่กาย มีกลิ่นดังกลิ่นอุบลฟุ้งไปแต่ปาก นางแก้ว
นั้นมีปรกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังบรรหารใช้ ประพฤติถูกพระทัย ทูลปราศรัยเป็นที่โปรด
ปรานต่อพระเจ้าจักรพรรดิ และไม่ประพฤติล่วงพระเจ้าจักรพรรดิแม้ทางใจ ไฉนเล่า จะมีประพฤติล่วงทางกายได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏนางแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏคฤหบดีแก้ว
ผู้มีจักษุเพียงดังทิพเกิดแต่วิบากของกรรมปรากฏ ซึ่งเป็นเหตุให้มองเห็นทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของ ทั้ง
ที่ไม่มีเจ้าของได้

เขาเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ พระองค์จงทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักทำหน้าที่การคลังให้พระองค์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วพระเจ้าจักรพรรดิเมื่อจะทรงทดลองคฤหบดีแก้วนั้น จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งให้ลอยล่องกระแสน้ำกลางแม่น้ำคงคา แล้วรับสั่งกะคฤหบดีแก้วดังนี้ว่า

ดูกรคฤหบดีฉันต้องการเงินและทอง คฤหบดีแก้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้นโปรดเทียบเรือเข้าฝั่งข้างหนึ่งเถิด

พระเจ้าจักรพรรดิตรัสว่า ดูกรคฤหบดี ฉันต้อง การเงินและทองตรงนี้แหละ

ทันใดนั้น คฤหบดีแก้วจึงเอามือทั้ง ๒ หย่อนลงในน้ำ ยกหม้อเต็มด้วยเงินและทองขึ้นมา แล้วกราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ว่า

ข้าแต่มหาราช พอหรือยังเพียงเท่านี้ ใช้ได้หรือยังเพียงเท่านี้ บูชาได้หรือยังเพียงเท่านี้

พระเจ้าจักรพรรดิจึงรับสั่งอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี พอละ ใช้ได้แล้ว บูชาได้แล้วเพียงเท่านี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏคฤหบดีแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

[๔๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฏปริณายก
แก้ว ปริณายกนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา สามารถถวาย ข้อแนะนำให้พระองค์ทรงบำรุง
ผู้ที่ควรบำรุง ทรงถอดถอนผู้ที่ควรถอดถอน ทรงแต่งตั้งผู้ที่ควรแต่งตั้ง

เขาเข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะขอพระองค์จงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักสั่งการถวาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมปรากฏปริณายกแก้วเห็นปานนี้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ นี้

พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผล ๔ อย่างเป็นไฉน ฯ

[๔๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ย่อมทรงพระสิริโฉมงดงาม น่าดู
น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งพระฉวีวรรณอย่างยิ่งเกินมนุษย์อื่นๆ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อแรกดังนี้ ฯ

[๔๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงพระชนมายุยืน
ทรงดำรงอยู่นานเกินมนุษย์อื่นๆ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๒ ดังนี้ ฯ

[๔๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมเป็นผู้มีพระโรคาพาธ
น้อย ไม่ทรงลำบาก ทรงประกอบด้วยพระเตโชธาตุย่อยพระกระยาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก
ไม่ร้อนนัก เกินมนุษย์อื่นๆ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๓ ดังนี้ ฯ

[๕๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงเป็นที่รักใคร่
พอใจ ของพราหมณ์และคฤหบดีเหมือนบิดาเป็นที่รักใคร่พอใจ ของบุตรฉะนั้น พราหมณ์และ
คฤหบดีก็เป็นที่ทรงโปรดปราน พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าจักรพรรดิเหมือนบุตรเป็นที่รักใคร่
พอใจของบิดาฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาออกประพาสพระราชอุทยาน ทันทีนั้น พราหมณ์และคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า

ขอเดชะ ขอพระองค์อย่ารีบด่วน โปรดเสด็จโดยอาการที่พวกข้าพระองค์ได้ชมพระบารมีนานๆ เถิด

แม้พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงสั่งสารถีว่าดูกรสารถี ท่านอย่ารีบด่วนจงขับไปโดยอาการที่ฉันได้ชมบรรดาพราหมณ์และคฤหบดีนานๆ เถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยความสัมฤทธิผลข้อที่ ๔ ดังนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบ
ด้วยแก้ว ๗ ประการ และความสัมฤทธิผล ๔ อย่างดังนี้ พึงเสวยสุขโสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้น
เป็นเหตุบ้างไหมหนอ ฯ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจักรพรรดิทรงประกอบด้วยแก้ว
แม้ประการหนึ่งๆ ก็ทรงเสวยสุขโสมนัสอันมีแก้วประการนั้นเป็นเหตุได้ จะป่วยกล่าวไปไย
ถึงแก้วทั้ง ๗ ประการ และความสัมฤทธิผลทั้ง ๔ อย่าง ฯ

[๕๐๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบแผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ แล้ว
ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน แผ่นหินย่อมๆขนาดเท่าฝ่ามือที่เราถือนี้กับภูเขาหลวงหิมพานต์อย่างไหนหนอแลใหญ่กว่ากัน ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นหินย่อมๆ ขนาดเท่าฝ่ามือที่ทรงถือนี้มีประมาณน้อยนัก
ปรียบเทียบภูเขาหลวงหิมพานต์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้ความนับย่อมไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว
ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พระเจ้าจักรพรรดินี้ ทรงประกอบด้วย
แก้ว ๗ ประการและความสัมฤทธิผล ๔ อย่าง ย่อมทรงเสวยสุข โสมนัสอันมีสิ่งประกอบนั้น
เป็นเหตุได้ สุขโสมนัสนั้นเปรียบเทียบสุขอันเป็นทิพย์แล้ว ย่อมไม่ถึงแม้การนับ ย่อมไม่เข้าถึง
แม้ส่วนแห่งเสี้ยว ย่อมไม่ถึงแม้การเทียบกันได้ ฯ

[๕๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแล ถ้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้ง
บางคราวไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดในสกุลสูง คือ สกุลกษัตริย์มหาศาล
หรือสกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคฤหบดีมหาศาล เห็นปานนั้นในบั้นปลาย อันเป็นสกุล
มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ และทรัพย์ธัญญาหาร
อย่างเพียงพอ และเขา จะเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณ
อย่างยิ่งมีปรกติได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ อาศัย
และเครื่องตามประทีป เขาจะประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตครั้นแล้วเมื่อตายไป
จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

[๕๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนนักเลงการพนัน เพราะฉวยเอาชัยชนะได้ประการแรก
เท่านั้น จึงบรรลุโภคสมบัติมากมาย การฉวยเอาชัยชนะของนักเลงการพนันที่บรรลุโภคสมบัติ
มากมายได้นั้นแล เพียงเล็กน้อย ที่แท้แลการฉวยเอาชัยชนะใหญ่หลวงกว่านั้น การฉวยเอา
ชัยชนะใหญ่หลวงกว่านั้น คือ การฉวยเอาชัยชนะที่บัณฑิตนั้น ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต แล้วตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นั่นเอง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ภูมิของบัณฑิตครบถ้วนบริบูรณ์ ฯ




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2552    
Last Update : 2 ธันวาคม 2552 10:27:31 น.
Counter : 610 Pageviews.  

อเนญชสูตร

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาท - หน้าที่ 254-255

อเนญชสูตร

[๕๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ

๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่ โดยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุดเพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะถึงความสิ้นไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา เขาย่อมชอบใจฌานนั้น ปรารถนาฌานนั้น และถึงความยินดีด้วยฌานนั้น เขาตั้งอยู่ในฌานนั้นน้อมใจไปในฌานนั้น มากด้วยฌานนั้นอยู่ ไม่เสื่อมจากฌานนั้น ทำกาละย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ มีอายุประมาณสองหมื่นกัป ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอากาสานัญจายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปจนหมดแล้ว ไปสู่นรกก็มี ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ไปสู่ปิตติวิสัยก็มี ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นอากาสานัญจายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปจนหมดแล้ว ปรินิพพานในภพนั้นเอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ มีความแปลกกันเช่นนี้ มีความแตกต่างกันเช่นนี้มีเหตุเป็นเครื่องทำต่างๆ กันเช่นนี้ ในเมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่

๒. อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน โดยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เขาย่อมชอบใจฌานนั้นปรารถนาฌานนั้น และถึงความยินดีด้วยฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในฌานนั้น น้อมใจไปในฌานนั้น มากด้วยฌานนั้นอยู่ ไม่เสื่อมจากฌานนั้นทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ มีอายุประมาณสี่หมื่นกัปปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นวิญญาณัญจายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปจนหมดแล้ว ไปสู่นรกก็มี ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มีไปสู่ปิตติวิสัยก็มี ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นวิญญาณัญจายตนะตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปจนหมดแล้วปรินิพพานในภพนั้นเอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ มีความแปลกกันเช่นนี้ มีความแตกต่างกันเช่นนี้ มีเหตุเป็นเครื่องทำต่างๆกันเช่นนี้ ในเมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่

๓. อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยบริกรรมว่า ไม่มีอะไร เขาย่อมชอบใจฌานนั้น ปรารถนาฌานนั้น และถึงความยินดีด้วยฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในฌานนั้น น้อมใจไปในฌานนั้น มากด้วยฌานนั้นอยู่ ไม่เสื่อมจากฌานนั้น ทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกที่ เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะมีอายุประมาณหกหมื่นกัป ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาพวกนั้นให้สิ้นไปจนหมดแล้วไปสู่นรกก็มี ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ไปสู่ปิตติวิสัยก็มี ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปจนหมดแล้ว ปรินิพพานในภพนั้นเอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ มีความแปลกกันเช่นนี้มีความแตกต่างกันเช่นนี้ มีเหตุเป็นเครื่องทำต่างๆ กันเช่นนี้ ในเมื่อคติและอุบัติยังมีอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 13:35:44 น.
Counter : 180 Pageviews.  

อายุเทวดา

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต - หน้าที่ 197-200

วิตถตสูตร


อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ บุคคลเข้าอยู่แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก เพียงไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพระราชาเสวยราชย์ดำรงอิสรภาพและอธิปไตยในชนบทใหญ่ๆ ๑๖ รัฐ มีรัตนะ ๗ ประการมากมาย เหล่านี้ คือ อังคะ มคธะกาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจดีย์ วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะอัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ การเสวยราชดำรงอิสรภาพและอธิปไตยของพระราชานั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ประการ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้าเมื่อเทียบสุขอันเป็นทิพย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๕๐ ปีมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดาชั้นจาตุมมหาราช
๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็นเดือนหนึ่ง
๑๒ เดือนโดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่ง
๕๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นจาตุมมหาราช

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม
เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง
เทวดาชั้นจาตุมมหาราช นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวว่า
ราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้าเมื่อเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๑๐๐ ปี มนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดาชั้นดาวดึงส์
๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็นเดือนหนึ่ง
๑๒ เดือนโดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่ง
พันปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดาวดึงส์

ดูกรภิกษุทั้งหลายข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์นี้เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวว่าราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้า เมื่อเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๒๐๐ ปีมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดาชั้นยามา
๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็นเดือนหนึ่ง
๑๒ เดือนโดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่ง
๒,๐๐๐ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณของอายุเทวดาชั้นยามา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดาชั้นยามานี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวว่า ราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้า เมื่อเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๔๐๐ ปีมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดาชั้นดุสิต
๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็นเดือนหนึ่ง
๑๒ เดือนโดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่ง
๔,๐๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดุสิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิตนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวว่า ราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้า เมื่อเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๘๐๐ ปีมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดาชั้นนิมมานรดี
๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็นเดือนหนึ่ง
๑๒ เดือนโดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่ง
๘,๐๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นนิมมานรดี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวว่า ราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้า เมื่อเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๑,๖๐๐ ปีมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี
๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็นเดือนหนึ่ง
๑๒ เดือนโดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่ง
๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นหญิงหรือชายก็ตามเข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลายเราหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวว่า ราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้า เมื่อเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ ฯ




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 13:27:02 น.
Counter : 237 Pageviews.  

ฌานสูตร

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓ อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต - หน้าที่ 125-127

ฌานสูตรที่ ๑
[๑๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจปฐมฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยปฐมฌานนั้น ตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้น น้อมใจไปในปฐมฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยปฐมฌานนั้น ไม่เสื่อมเมื่อกระทำกาละย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา

ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย กัปหนึ่งเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา ปุถุชนดำรงอยู่ ในชั้นพรหมกายิกานั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้างส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นพรหมนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นทั้งหมดให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ในเมื่อคติ อุบัติมีอยู่ ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจทุติยฌานนั้นและถึงความปลื้มใจด้วยทุติยฌานนั้น ตั้งอยู่ในทุติยฌานนั้น น้อมใจไปในทุติยฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยทุติยฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกอาภัสสระ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๒ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าอาภัสสระ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระ ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือในเมื่อคติ อุบัติมีอยู่ ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บุคคลนั้นพอใจชอบใจตติยฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยตติยฌานนั้น ตั้งอยู่ในตติยฌานนั้นน้อมใจไปในตติยฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยตติยฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๔ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ ผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ในเมื่อคติ อุบัติมีอยู่ ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจจตุตถฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยจตุตถฌานนั้น ตั้งอยู่ในจตุตถฌานนั้น น้อม ใจไปในจตุตถฌาน
นั้น อยู่จนคุ้นด้วยจตุตถฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าเวหัปผละ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าเวหัปผละ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละนั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละนั้น ตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ ในเมื่อคติ อุบัติมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

จบสูตรที่ ๓




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 13:29:40 น.
Counter : 235 Pageviews.  


supatra.p
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก คือ ความสุขของโลก
Friends' blogs
[Add supatra.p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.