การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลกคือ ความสุขของโลก
Group Blog
 
All Blogs
 

ถ้อยคำที่คนอื่นจะพึงกล่าว ๕ ประการ

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ - หน้าที่ 176

[๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ
คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑
กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑
กล่าวด้วยคำอ่อน หวานหรือคำหยาบคาย ๑
กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควร หรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบ คายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมา
นี้แล.
[๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาจอบและตะกร้ามาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า

เราจักกระทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดิน ดังนี้ เขาขุดลงตรงที่นั้นๆ โกยขี้ดินทิ้งในที่นั้นๆ บ้วนน้ำลายลงในที่นั้นๆ ถ่ายปัสสาวะรดในที่นั้นๆ แล้วสำทับว่าเองอย่าเป็น แผ่นดินๆ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจักทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้หรือไม่?

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่ได้ พระเจ้าข้า

ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะเหตุว่าแผ่นดินอันใหญ่นี้ ลึกหาประมาณมิได้ เขาจะทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ ไม่ให้เป็นแผ่นดินไม่ได้ง่ายเลย ก็แลบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้

แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ
กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑
กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑
กล่าวด้วยคำอ่อนหวาน หรือคำหยาบคาย ๑
กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่ควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

จิตของเราจักไม่แปรปรวนเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์
ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้นและเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยแผ่นดิน ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.

เปรียบเหมือนบุรุษเขียนรูปในอากาศ

[๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาครั่งก็ตาม สีเหลืองสีเขียว หรือ สีเหลืองแก่ก็ตามมาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ กระทำให้เป็นรูป เด่นชัด ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ กระทำให้เป็นรูปเด่นชัดได้หรือไม่?

ไม่ได้พระเจ้าข้า

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

เพราะธรรมดาอากาศนี้ ย่อมเป็นของไม่มีรูปร่าง ชี้ให้เห็นไม่ได้ เขาจะเขียนรูปในอากาศนั้น ทำให้เป็นรูปเด่นชัดไม่ได้ง่ายเลย ก็แหละบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้

ดังนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่าน มีอยู่ ๕ ประการ
คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑
กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑
กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑
กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจะแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา ด้วยอาการดังกล่าวมานี้แล.

เปรียบเหมือนบุรุษเผาแม่น้ำคงคา

[๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาคบหญ้าที่จุดไฟมาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วนี้ ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจักทำแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วได้หรือไม่?

ไม่ได้พระเจ้าข้า

ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ลึก สุดที่จะประมาณ เขาจะทำแม่น้ำคงคานั้นให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วไม่ได้ง่ายเลย ก็แลบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะ พึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ
กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑
กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑
กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย ๑
กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม เขาจะกล่าวด้วยเรื่องจริง หรือไม่ก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยแม่น้ำคงคา ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง
หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.

เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมว

[๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมวที่นายช่างหนังฟอกดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี เป็นกระสอบที่ตีได้ไม่ดังก้อง ถ้ามีบุรุษถือเอาไม้หรือกระเบื้องมา พูดขึ้นอย่างนี้ว่า เราจักทำกระสอบหนังแมว ที่เขาฟอกไว้ดีเรียบร้อยแล้วอ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี ที่ตีได้ไม่ดังก้องนี้ ให้เป็นของมีเสียงดังก้อง ด้วยไม้หรือกระเบื้อง ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะทำกระสอบหนังแมวที่เขาฟอกไว้ดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่มและสำลี ที่ตีได้ไม่ดังก้องนี้ ให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องได้หรือไม่?

ไม่ได้พระเจ้าข้า

ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะเหตุว่า กระสอบหนังแมวนี้เขาฟอกดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี ซึ่งเป็นของที่ตีได้ไม่ดังก้อง เขาจะทำกระสอบหนังแมวนั้น ให้กลับเป็นของมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องไม่ได้ง่ายเลย บุรุษคนนั้น
จะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้ ดังนี้ แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการคือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑
กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑
กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย ๑
กล่าวด้วยคำมีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ ๑
มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคนอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตามจะกล่าวด้วยถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำมีประโยชน์ หรือไร้ ประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้นพวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยกระสอบหนังแมว ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.

พระโอวาทแสดงการเปรียบด้วยเลื่อย

[๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้นภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตา จิตไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.

[๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอควรใส่ใจถึงโอวาท แสดงการเปรียบด้วยเลื่อยนี้ เนืองนิตย์เถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะไม่มองเห็นทางแห่งถ้อยคำที่มีโทษน้อย หรือโทษมาก ที่พวกเธอจะอดกลั้นไม่ได้ หรือยังจะมีอยู่บ้าง

ไม่มีพระเจ้าข้า

เพราะเหตุนั้นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงใส่ใจถึงโอวาทแสดงการเปรียบด้วยเลื่อยนี้เนืองนิตย์เถิด ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์และความสุขแก่พวกเธอสิ้นกาลนาน ดังนี้แล.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.

จบ กกจูปมสูตร ที่ ๑
______________________




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 11:07:13 น.
Counter : 199 Pageviews.  

มูลเหตุแห่งทุกข์

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค - หน้าที่ 333-335
คันธภกสูตร
[๖๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อุรุเวลกัปปะ นิคมของมัลลกษัตริย์ ในมัลลรัฐ ครั้งนั้นแล นายบ้านนามว่า คันธภกะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ข้าพระองค์เถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนายคามณี ก็เราพึงปรารภอดีตกาลแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่านว่า ในอดีตกาลได้มีแล้วอย่างนี้ ความสงสัย ความเคลือบแคลงในข้อนั้นจะพึงมีแก่ท่าน ถ้าเราปรารภอนาคตกาลแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่านว่า ในอนาคตกาลจักมีอย่างนี้ แม้ในข้อนั้น ความสงสัย ความเคลือบแคลง จะพึงมีแก่ท่านอนึ่งเล่า เรานั่งอยู่ ณ ที่นี้แหละ จักแสดงเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์แก่ท่านซึ่งนั่งอยู่ที่นี่เหมือนกัน ท่านจงฟังคำนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

นายคันธภกคามณีทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตายถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์ หรือถูกติเตียนมีแก่ท่านหรือ ฯ

คา. มีอยู่ พระเจ้าข้า ที่ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดมีแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ฯ

พ. ดูกรนายคามณี ก็ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ในอุรุเวลกัปปนิคมตาย ถูกจองจำเสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน มีอยู่แก่ท่านหรือ ฯ

คา. มีอยู่ พระเจ้าข้า ที่ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัสและอุปายาสไม่พึงเกิดมีแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ ในอุรุเวลกัปปนิคมตายถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ฯ

พ. ดูกรนายคามณี อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและอุปายาส พึงเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมบางพวกตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ก็หรือว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและอุปายาส ไม่พึงเกิดมีขึ้นแก่ท่าน เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมบางพวกตายถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ฯ

คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์โทมนัสและอุปายาสพึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่าใดตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือเพราะถูกติเตียน ก็เพราะข้าพระองค์ มีฉันทราคะ ในหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่านั้น
ส่วนความโศก ความร่ำไรความทุกข์โทมนัสและอุปายาส ไม่พึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์
เพราะหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่าใดตาย ถูกจองจำ เสื่อมทรัพย์หรือถูกติเตียน ก็เพราะ
ข้าพระองค์ไม่มีฉันทราคะในหมู่มนุษย์ชาวอุรุเวลกัปปนิคมเหล่านั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรนายคามณี ท่านจงนำไปซึ่งทุกข์อันใดด้วยธรรมที่เห็นแล้วทราบแล้ว บรรลุแล้วโดยไม่ประกอบด้วยกาล หยั่งลงแล้ว ทั้งอดีตและอนาคต
ทุกข์เป็นอดีตกาลอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์
ทุกข์เป็นอนาคตกาลอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเกิด จักเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์ ฯ




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 11:06:32 น.
Counter : 234 Pageviews.  

สิ่งที่มนุษย์ต้องการที่สุด

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔ อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต - หน้าที่ 330

๑๐. ขัตติยาธิปปายสูตร

[๓๒๓] ครั้งนั้นแล ชานุสโสนิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ กษัตริย์ทั้งหลาย ย่อม
มีความประสงค์อะไร นิยมอะไรมั่นใจอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ธรรมดากษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจ
ในกำลังทหาร ต้องการในการได้แผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด ฯ

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีความประสงค์อะไร นิยม
อะไร มั่นใจอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ ธรรมดาพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์นิยมปัญญา
มั่นใจในมนต์ ต้องการบูชายัญ มีพรหมโลกเป็นที่สุด ฯ

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็คฤหบดีทั้งหลาย ย่อมมีความประสงค์อะไร นิยมอะไร
มั่นใจในอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ ธรรมดาคฤหบดีทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์นิยมปัญญา
มั่นใจในศิลป ต้องการการงาน มีการงานที่สำเร็จแล้วเป็นที่สุด ฯ

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็สตรีทั้งหลาย ย่อมประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจ
ในอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ ธรรมดาสตรีทั้งหลาย ย่อมประสงค์บุรุษ นิยมเครื่องแต่งตัว
มั่นใจในบุตร ต้องการไม่ให้มีสตรีอื่นร่วมสามี มีความเป็นใหญ่ในบ้านเป็นที่สุด ฯ

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็โจรทั้งหลาย ย่อมประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจอะไร
ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ ธรรมดาโจรทั้งหลาย ย่อมประสงค์ลักทรัพย์ของผู้อื่น นิยมที่ลับ
เร้น มั่นใจในศาตรา ต้องการที่มืด มีการที่ผู้อื่นไม่เห็นเขาเป็นที่สุด ฯ

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็สมณะทั้งหลาย ย่อมประสงค์อะไรนิยมอะไร มั่นใจ
อะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมประสงค์ขันติโสรัจจะนิยมปัญญา
มั่นใจในศีล ต้องการความไม่มีห่วงใย มีพระนิพพานเป็นที่สุด ฯ

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เรื่องไม่เคยมีได้มีแล้ว คือท่านพระโคดม
ย่อมทรงทราบความประสงค์ ความนิยม ความมั่นใจ ความต้องการและสิ่งที่เป็นที่สุด แม้แห่ง
กษัตริย์ทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งพราหมณ์ทั้งหลาย ฯลฯแม้แห่งคฤหบดีทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่ง
สตรีทั้งหลาย ฯลฯ แม้แห่งโจรทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมทรงทราบความประสงค์ ความนิยม ความ
มั่นใจ ความต้องการและสิ่งที่เป็นที่สุด แม้แห่งสมณะทั้งหลาย ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ
ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๑๐




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 11:08:11 น.
Counter : 383 Pageviews.  

ปัจจัยเพื่อความคับแค้นแห่งสกุล

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค - หน้าที่ 330
กุลสูตร
[๖๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
เป็นอันมาก เสด็จถึงนาฬันทคามได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริก
อัมพวันใกล้นาฬันทคาม สมัยนั้นแล ชาวนาฬันทคามมีภิกษุหาได้ยาก เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง
เกลื่อนกลาดด้วยกระดูกต้องจับจ่ายด้วยสลาก (บัตรปันส่วน) สมัยนั้นแล นิครณถ์นาฏบุตร
อาศัยอยู่ในนาฬันทคาม พร้อมด้วยบริษัทนิครณถ์เป็นอันมาก ครั้งนั้น นายบ้านนามว่าอสิพันธก
บุตรสาวกนิครณถ์ เข้าไปหานิครณถ์นาฏบุตรยังที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น
แล้ว นิครณถ์นาฏบุตรได้พูดกับนายคามณีอสิพันธกบุตรว่า มาเถิดนายคามณี จงยกวาทะแก่
พระสมณโคดม กิตติศัพท์อันงามของท่านจักขจรไปอย่างนี้ว่า นายคามณีอสิพันธกบุตรยกวาทะ
แก่พระสมณะโคดมผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ นายคามณีถามว่า ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณะโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างไร นิครณถ์นาฏบุตร
กล่าวว่ามาเถิดท่านคามณี จงเข้าไปหาพระสมณโคดม ครั้นแล้วจงกล่าวกะพระสมณโคดม
อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความ
อนุเคราะห์สกุลทั้งหลาย โดยอเนกปริยายมิใช่หรือ ถ้าพระสมณโคดมถูกท่านถามอย่างนี้แล้ว
ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า อย่างนั้นนายคามณี ตถาคตสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความ
อนุเคราะห์สกุลทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย ท่านจงกล่าวกะพระสมณโคดมนั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช่นนั้นทำไมพระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์เป็นอันมากจึงเที่ยวจาริกอยู่ใน
นาฬันทคามอันเกิดทุพภิกขภัย เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับ
จ่ายด้วยสลากเล่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อตัดรอนสกุล เพื่อให้สกุลเสื่อมเพื่อให้สกุล
คับแค้น ดูกรนายคามณี พระสมณโคดมอันท่านถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจคาย จะ
ไม่อาจกลืน (กลืนไม่เข้าคายไม่ออก) ได้เลย ฯ
[๖๒๑] นายอสิพันธกบุตรรับคำนิครณถ์นาฏบุตรแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้นิครณถ์นาฏ
บุตรทำประทักษิณแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค - หน้าที่ 331
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี
พระภาคทรงสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย
มิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อย่างนั้น นายคามณี ตถาคตสรรเสริญความเอ็นดู การ
ตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลาย โดยอเนกปริยาย ฯ
คา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช่นนั้น ทำไมพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็น
อันมาก จึงเที่ยวจาริกอยู่ในนาฬันทคามอันเกิดทุพภิกขภัย เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อน
กลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยสลากเล่าพระผู้มีพระภาคปฏิบัติเพื่อตัดรอนสกุล เพื่อให้
สกุลเสื่อม ปฏิบัติเพื่อให้สกุลคับแค้น ฯ
[๖๒๒] พ. ดูกรนายคามณี แต่ภัทรกัปนี้ไป ๙๑ กัป ที่เราระลึกได้เราไม่รู้สึกว่าเคย
เบียดเบียนสกุลไหนๆ ด้วยการถือเอาภิกษาที่สุกแล้วเลย อนึ่งเล่าสกุลเหล่าใดมั่งคั่ง มีทรัพย์
มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีทรัพย์คือเครื่องอุปกรณ์มาก มีทรัพย์คือข้าวเปลือก
มาก สกุลทั้งปวงนั้นเจริญขึ้นเพราะการให้ทาน เพราะสัจจะและสัญญมะ ดูกรนายคามณี เหตุ
ปัจจัย ๘ อย่างเพื่อความคับแค้นแห่งสกุลทั้งหลาย คือ สกุลทั้งหลายถึงความคับแค้นจากพระราชา
๑ จากโจร ๑ จากไฟ ๑ จากน้ำ ๑ ทรัพย์ที่ฝังไว้เคลื่อนจากที่ ๑ ย่อมวิบัติเพราะการงานที่ประกอบ
ไม่ดี ๑ ทรัพย์ในสกุลเกิดเป็นถ่านไฟ ๑ คนในสกุลใช้จ่ายโภคทรัพย์เหล่านั้นฟุ่มเฟือย ให้
พินาศสูญหายไป ๑ ความไม่เที่ยงเป็นที่ ๘ดูกรนายคามณี เหตุปัจจัย ๘ อย่างเหล่านี้แล เพื่อ
ความคับแค้นของสกุลทั้งหลายเมื่อเหตุปัจจัย ๘ อย่างเหล่านี้มีอยู่ ผู้ใดพึงว่าเราอย่างนี้ว่า พระ
ผู้มีพระภาคปฏิบัติเพื่อให้สกุลขาดสูญ เพื่อให้สกุลเสื่อม เพื่อให้สกุลคับแค้น ดังนี้ ผู้นั้นยัง
ไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่สละทิฐินั้น ต้องดิ่งลงในนรกแน่แท้ ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายคามณีอสิพันธกบุตรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนักข้าแต่พระองค์ผู้
เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอด ชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเจ้าข้า ฯ
จบสูตรที่ ๙




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 11:08:38 น.
Counter : 218 Pageviews.  

การตามรักษาสัจจะ

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ - หน้าที่ 450-459
เมื่อนั้น. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของกาปทิกมาณพด้วย
พระหฤทัยแล้ว ทรงทอดพระเนตรไปทางกาปทิกมาณพ. ครั้งนั้นแล กาปทิกมาณพได้มีความคิดว่า
พระสมณโคดมทรงใส่พระทัยเราอยู่ มิฉะนั้นเราพึงทูลถามปัญหากะพระสมณโคดมเถิด. ลำดับนั้น
แล กาปทิกมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านโคดม ก็ในบทมนต์อันเป็นของเก่า
ของพราหมณ์ทั้งหลาย โดยนำสืบต่อกันมาตามคัมภีร์ พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมถึงความตกลงโดย
ส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมตรัสว่าอย่างไร?
[๖๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภารทวาชะ ก็บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย
แม้พราหมณ์คนหนึ่งเป็นใครก็ตาม ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แล
จริง สิ่งอื่นเปล่าดังนี้ มีอยู่หรือ?
กา. ไม่มีเลย ท่านพระโคดม.
พ. ดูกรภารทวาชะ ก็แม้อาจารย์ท่านหนึ่ง แม้ปาจารย์ท่านหนึ่ง จนตลอด ๗ ชั่วอาจารย์
ของพราหมณ์ทั้งหลาย ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่น
เปล่าดังนี้ มีอยู่หรือ?
กา. ไม่มีเลย ท่านพระโคดม.
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ - หน้าที่ 451
พ. ดูกรภารทวาชะ ก็ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ
ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสสามิตร ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ
ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ทั้งหลาย
ในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตามซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว
กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้กล่าวไว้. บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นก็กล่าวแล้ว
อย่างนี้ว่า ข้อนี้เราทั้งหลายรู้อยู่ ข้อนี้เราทั้งหลายเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่า
ดังนี้หรือ?
กา. ไม่มีเลย ท่านพระโคดม.
พ. ดูกรภารทวาชะ แม้อาจารย์ แม้ปาจารย์คนหนึ่งจะเป็นใครก็ตามตลอด ๗ ชั่วอาจารย์
ของพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ สิ่งนี้แหละจริง
สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ มีอยู่หรือ?
กา. ข้อนี้หามิได้ ท่านพระโคดม.
พ. ดูกรภารทวาชะ ก็ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ
ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ
ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ เป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ ได้สาธยายบทมนต์
อันเป็นของเก่า ได้บอกมาแล้ว ได้รวบรวมไว้แล้ว เดี๋ยวนี้ พราหมณ์ทั้งหลายสาธยายตามนั้น
กล่าวตามนั้น ภาษิตได้ตามที่ได้รับภาษิตไว้ บอกได้ตามที่ได้รับบอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นได้กล่าว
แล้วอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
กา. ไม่มีเลย ท่านพระโคดม.
[๖๕๔] พ. ดูกรภารทวาชะ ได้ทราบกันดังนี้ว่า บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่มีพราหมณ์
แม้คนหนึ่งจะเป็นใครก็ตาม ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง
สิ่งอื่นเปล่า ไม่มีใครแม้คนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ เป็นปาจารย์ของอาจารย์ ตลอด ๗ ชั่วอาจารย์
ของพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง
สิ่งอื่นเปล่า แม้ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ
ฤาษีวามเทพ ฤาษีเวสสามิตตะ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ
ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม
กล่าวตามซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง
บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านได้กล่าวไว้ บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่
ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้. ดูกรภารทวาชะ เปรียบเหมือนแถว
คนตาบอด ซึ่งเกาะกันต่อๆ ไป แม้คนต้นก็ไม่เห็น แม้คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนหลังก็ไม่เห็น
ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ทั้งหลายเห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอด ฉะนั้น คือ แม้คนชั้นต้น
ก็ไม่เห็น แม้คนชั้นกลางก็ไม่เห็น แม้คนชั้นหลังก็ไม่เห็น ดูกรภารทวาชะ ท่านจะเข้าใจความ
ข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ความเชื่อของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมหามูลมิได้มิใช่หรือ?
กา. ท่านพระโคดม ในข้อนี้ พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมเล่าเรียนกันมา มิใช่ด้วยความเชื่อ
อย่างเดียว แต่ย่อมเล่าเรียนด้วยการฟังตามกันมา.
ธรรม ๕ ประการมีวิบากเป็นสองส่วน
[๖๕๕] พ. ดูกรภารทวาชะ ครั้งแรกท่านได้ไปสู่ความเชื่อ เดี๋ยวนี้ท่านกล่าวการฟัง
ตามกัน ดูกรภารทวาชะ ธรรม ๕ ประการนี้ มีวิบากเป็นสองส่วน ในปัจจุบัน ๕ ประการ
เป็นไฉน? คือ ศรัทธา ความเชื่อ ๑ รุจิ ความชอบใจ ๑ อนุสสวะ การฟังตามกัน ๑ อาการ
ปริวิตักกะ ความตรึกตามอาการ ๑ ทิฏฐินิชฌานขันติ ความทนได้ซึ่งความเพ่งด้วยทิฏฐิ ๑
ธรรม ๕ ประการนี้แล มีวิบากเป็นสองส่วนในปัจจุบัน ดูกรภารทวาชะ ถึงแม้สิ่งที่เชื่อกัน
ด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นของว่างเปล่าเป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้น
เป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี อนึ่ง สิ่งที่ชอบใจดีทีเดียว ... สิ่งที่ฟังตามกันมาด้วยดีทีเดียว ...
สิ่งที่ตรึกไว้ด้วยดีทีเดียว ... สิ่งที่เพ่งแล้วด้วยดีทีเดียว เป็นของว่างเปล่าเป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้
สิ่งที่ไม่ได้เพ่งด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี ดูกรภารทวาชะ บุรุษผู้รู้แจ้ง
เมื่อจะตามรักษาความจริง ไม่ควรจะถึงความตกลงในข้อนั้นโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละจริง
สิ่งอื่นเปล่า.
กา. ท่านพระโคดม ก็ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร จึงจะเชื่อว่าเป็นการตามรักษาสัจจะ
บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงการตาม
รักษาสัจจะ?
พยากรณ์การรักษาสัจจะ
[๖๕๖] พ. ดูกรภารทวาชะ ถ้าแม้บุรุษมีศรัทธา เขากล่าวว่า ศรัทธาของเราอย่างนี้
ดังนี้ ชื่อว่า ตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง
สิ่งอื่นเปล่า ดูกรภารทวาชะ การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าตาม
รักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียง
เท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน ดูกรภารทวาชะ ถ้าแม้บุรุษมีความชอบใจ ... มีการ
ฟังตามกัน ... มีความตรึกตามอาการ ... มีการทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิ เขากล่าวว่า การทนต่อ
การเพ่งด้วยทิฏฐิของเราอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าตามรักษาสัจจะ แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดย
ส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดูกรภารทวาชะ การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วย
ข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการ
ตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการตรัสรู้สัจจะก่อน.
กา. ท่านพระโคดม การตามรักษาสัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่า
ตามรักษาสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลายย่อมเพ่งเล็ง การรักษาสัจจะด้วยข้อ
ปฏิบัติเพียงเท่านี้ ท่านพระโคดม ก็การตรัสรู้สัจจะย่อมมีด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อม
ตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงการตรัสรู้สัจจะ?
พยากรณ์การรู้ตามสัจจะ
[๖๕๗] พ. ดูกรภารทวาชะ ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคม
แห่งหนึ่งอยู่. คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญดูในธรรม
๓ ประการ คือ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ๑ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย ๑
ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ๑ ว่า ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ มีจิตอันธรรมเป็น
ที่ตั้งแห่งความโลภครอบงำแล้ว เมื่อไม่รู้ก็พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็พึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใด
พึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น
เช่นนั้น ได้หรือหนอ. เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็นที่
ตั้งแห่งความโลภ ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภครอบงำ ท่านผู้นี้เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้
เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือว่าสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้น
กาลนานแก่ผู้อื่น ท่านผู้นี้พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้น ไม่มีเลย. อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกาย
สมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่โลภฉะนั้น ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้น ลึกซึ้ง
เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้
ธรรมนั้นอันคนโลภแสดงไม่ได้โดยง่าย. เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัด เธอ
บริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ เมื่อนั้น เขาย่อมใคร่ครวญเธอให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมเป็น
ที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายว่า ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้ง
แห่งความประทุษร้ายครอบงำ เมื่อไม่รู้พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึง
เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น
อย่างนั้น ได้หรือหนอ. เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็น
ที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายครอบงำ เมื่อไม่รู้จะพึง
กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ไม่มีเลย. อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกาย
สมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายฉะนั้น ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้น
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิต
พึงรู้ธรรมนั้นอันบุคคลผู้ประทุษร้ายแสดงไม่ได้โดยง่าย. เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ย่อมเห็น
แจ้งชัดว่า เธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย เมื่อนั้นเขาย่อมใคร่ครวญเธอให้
ยิ่งขึ้นไปในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลงว่า ท่านผู้นี้มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง มีจิตอันธรรม
เป็นที่ตั้งแห่งความหลงครอบงำ เมื่อไม่รู้พึงกล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึง
เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น
เช่นนั้น ได้หรือหนอ. เมื่อเขาใคร่ครวญเธอนั้นอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็น
ที่ตั้งแห่งความหลง ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลงครอบงำ เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้
เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น หรือสิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้น
กาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้น ไม่มีเลย. อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร
วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่หลง ฉะนั้น ก็ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด ธรรมนั้นลึกซึ้ง เห็น
ได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ ธรรม
นั้นอันบุคคลผู้หลงพึงแสดงไม่ได้โดยง่าย เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัดว่า
เธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง เมื่อนั้น เขาย่อมตั้งศรัทธาลงในเธอนั้นมั่นคง เขา
เกิดศรัทธาแล้ว ย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เขา
เงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังแล้วย่อมทรงจำธรรม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้
เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรแก่การเพ่ง เมื่อธรรมควรแก่การเพ่งมีอยู่ ย่อม
เกิดฉันทะ เกิดฉันทะแล้ว ย่อมขะมักเขม้น ครั้นขะมักเขม้นแล้ว ย่อมเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียง
แล้วย่อมตั้งความเพียร เป็นผู้มีใจแน่วแน่ ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งชัดด้วยกายและเห็นแจ้ง
แทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา ดูกรภารทวาชะ การตรัสรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติ
เพียงเท่านี้แล บุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการตรัสรู้
สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่เชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะทีเดียว.
กา. ท่านพระโคดม การตรัสรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมตรัสรู้
สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลายย่อมเพ่งเล็งการตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียง
เท่านี้ ท่านพระโคดม ก็การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงการบรรลุสัจจะ?
พยากรณ์การบรรลุสัจจะ
[๖๕๘] พ. ดูกรภารทวาชะ การเสพจนคุ้น การเจริญ การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้น
แล ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะ ดูกรภารทวาชะ การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้
บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติ
เพียงเท่านี้.
กา. ท่านพระโคดม การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมบรรลุ
สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราทั้งหลายย่อมเพ่งเล็งการบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียง
เท่านี้ ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่าน
พระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ?
พยากรณ์ธรรมมีอุปการะมาก
[๖๕๙] พ. ดูกรภารทวาชะ ความเพียรมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ ถ้าไม่พึงตั้ง
ความเพียร ก็ไม่พึงบรรลุสัจจะนี้ได้ แต่เพราะตั้งความเพียรจึงบรรลุสัจจะได้ ฉะนั้น ความเพียร
จึงมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียรเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถาม
ท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียร?
พ. ดูกรภารทวาชะ ปัญญาเครื่องพิจารณามีอุปการะมากแก่ความเพียร ถ้าไม่พึงพิจารณา
ก็พึงตั้งความเพียรนี้ไม่ได้ แต่เพราะพิจารณาจึงตั้งความเพียรได้ ฉะนั้น ปัญญาเครื่องพิจารณา
จึงมีอุปการะมากแก่ความเพียร.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณาเป็นไฉน ข้าพเจ้า
ขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา?
พ. ดูกรภารทวาชะ ความอุตสาหะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ถ้า
ไม่พึงอุตสาหะ ก็พึงพิจารณาไม่ได้ แต่เพราะอุตสาหะจึงพิจารณาได้ ฉะนั้น ความอุตสาหะจึงมี
อุปการะมากแก่ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูล
ถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ?
พ. ดูกรภารทวาชะ ฉันทะมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ ถ้าฉันทะไม่เกิด ก็พึง
อุตสาหะไม่ได้ แต่เพราะฉันทะเกิดจึงอุตสาหะ ฉะนั้น ฉันทะจึงมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ฉันทะเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถามท่าน
พระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ?
พ. ดูกรภารทวาชะ ธรรมที่ควรแก่การเพ่งมีอุปการะมากแก่ฉันทะ ถ้าธรรมทั้งหลายไม่
ควรแก่การเพ่ง ฉันทะก็ไม่เกิด แต่เพราะธรรมทั้งหลายควรแก่การเพ่ง ฉันทะจึงเกิด ฉะนั้น
ธรรมที่ควรแก่การเพ่งจึงมีอุปการะมากแก่ฉันทะ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรการเพ่งเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอ
ทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมที่มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง.
พ. ดูกรภารทวาชะ ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่
การเพ่ง ถ้าไม่พึงใคร่ครวญเนื้อความนั้น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ควรแก่การเพ่ง แต่เพราะใคร่ครวญ
เนื้อความ ธรรมทั้งหลายจึงควรแก่การเพ่ง ฉะนั้น ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ จึงมี
อุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญา เครื่องใคร่ครวญเนื้อความเป็นไฉน
ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมที่มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ?
พ. ดูกรภารทวาชะ การทรงจำธรรมไว้ มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ
ถ้าไม่พึงทรงจำธรรมนั้น ก็พึงใคร่ครวญเนื้อความนี้ไม่ได้ แต่เพราะทรงจำธรรมไว้ จึงใคร่ครวญ
เนื้อความได้ ฉะนั้น การทรงจำธรรมไว้ จึงมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรมเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถาม
ท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม?
พ. ดูกรภารทวาชะ การฟังธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม ถ้าไม่พึงฟังธรรม
ก็พึงทรงจำธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะฟังธรรมจึงทรงจำธรรมไว้ได้ ฉะนั้น การฟังธรรมจึงมีอุปการะ
มากแก่การทรงจำธรรม.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การฟังธรรมเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถาม
ท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม?
พ. ดูกรภารทวาชะ การเงี่ยโสตลงมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม ถ้าไม่พึงเงี่ยโสตลง
ก็พึงฟังธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเงี่ยโสตลงจึงฟังธรรมได้ ฉะนั้น การเงี่ยโสตลงจึงมีอุปการะมาก
แก่การฟังธรรม.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลงเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอ
ทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง?
พ. ดูกรภารทวาชะ การเข้าไปนั่งใกล้มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง ถ้าไม่เข้าไปนั่งใกล้
ก็พึงเงี่ยโสตลงไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปนั่งใกล้จึงเงี่ยโสตลง ฉะนั้น การเข้าไปนั่งใกล้จึงมีอุปการะ
มากแก่การเงี่ยโสตลง.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน ข้าพเจ้าขอ
ทูลถามท่านพระโคดม ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้?
พ. ดูกรภารทวาชะ การเข้าไปหามีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ ถ้าไม่พึงเข้าไปหา
ก็พึงนั่งใกล้ไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปหาจึงนั่งใกล้ ฉะนั้น การเข้าไปหาจึงมีอุปการะมากแก่การเข้า
ไปนั่งใกล้.
กา. ท่านพระโคดม ก็ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเข้าไปหาเป็นไฉน ข้าพเจ้าขอทูลถาม
ท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา?
พ. ดูกรภารทวาชะ ศรัทธามีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา ถ้าศรัทธาไม่เกิด ก็ไม่พึง
เข้าไปหา แต่เพราะเกิดศรัทธาจึงเข้าไปหา ฉะนั้น ศรัทธาจึงมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา.
กาปทิกมาณพแสดงตนเป็นอุบาสก
[๖๖๐] กา. ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการตามรักษาสัจจะ ท่านพระโคดมทรง
พยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น
ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงการตรัสรู้สัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่
ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจ ทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลถาม
ท่านพระโคดมถึงการบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์ และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้ง
ชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมี
อุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ ท่านพระโคดมทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้ง
ชอบใจทั้งควรแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าพเจ้าได้ทูลถามท่านพระโคดมถึงข้อใดๆ
ท่านพระโคดมได้ทรงพยากรณ์ข้อนั้นๆ แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ทั้งชอบใจทั้งควรแก่
ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายินดีตามนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์รู้อย่างนี้ว่า พวก
สมณะหัวโล้นเชื้อสายคฤหบดีกัณหโคตร เกิดจากพระบาทท้าวมหาพรหม จะแปลกอะไรและจะ
รู้ทั่วถึงธรรมที่ไหน พระโคดมผู้เจริญได้ทรงทำความรักสมณะในสมณะ ความเลื่อมใสสมณะใน
สมณะ ความเคารพสมณะในสมณะ ให้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอก
ทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไป ฉะนี้แล.
จบ จังกีสูตร ที่ ๕.
__________________




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 11:14:03 น.
Counter : 172 Pageviews.  

1  2  

supatra.p
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก คือ ความสุขของโลก
Friends' blogs
[Add supatra.p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.