Group Blog
 
All Blogs
 

====>>>> The Prophet <<<< ====



หนังสือ The Prophet ของคาลิล ยิบรานเล่มนี้ ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้ว โดย ศ.ระวี ภาวิไล

ผมได้หนังสือเล่มนี้มาจากร้านหนังสือมือ 2 แห่งหนึ่ง แถวประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่


ภาษากวีที่สวยงาม รวมถึงปรัชญาอันลึกซึ้งที่แฝงในถ้อยคำอันคมกริบนั้น ทำให้ทุกคนที่อ่านแล้ว ล้วนถูกกระชากความรู้สึกจากก้นลึกของหัวใจ ก่อให้เกิดการทบทวนวิถีของชีวิตที่กระทำอยู่ในทุกวัน ท้าทายต่อจารีตที่ปฏิบัติมา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น ซึ่งในปรัชญา หลังสมัยใหม่ (หรือเปล่า) เรียกว่า วาทกรรม

ความรักที่มีต่อกันแต่ปราศจากการสร้างพันธะแห่งความรัก จะเป็นไปได้หรือในสังคมที่แท้จริง? นี่คือตัวอย่างของคำถามที่แฝงไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งช่วยพยุงความคิดของเราให้ไตร่ตรองถึงความเป็นไป ในชีวิต และโลก




 

Create Date : 14 เมษายน 2548    
Last Update : 14 เมษายน 2548 8:13:32 น.
Counter : 507 Pageviews.  

ประวัติศาสตร์ ชาติ ปัญญาชน

ประวัติศาสตร์ ชาติ ปัญญาชน
นิธิ เอียวศรีวงศ์





หนังสือเล่มนี้ ถึงแม้จะดูเป็นหนังสือรวมบทความธรรมดาเล่มหนึ่ง แต่ทว่า ชื่อของหนังสือบวกกับผู้เขียน ทำให้ดูเป็นเรื่องที่น่าดึงดูดสำหรับผม ปัญญาชนแถวหน้าของเมืองไทยผู้นี้ ได้นำเสนอบทความแต่ละบทความด้วยภาษาที่ไม่ซับซ้อนและดูเป็นวิชาการจนเกินไปนัก ถึงแม้ในบางแง่มุมที่นิธิเสนอ จังยังไม่กระจ่างชัด และ ยังไม่ครอบคลุม แต่ผม ก็ได้ประโยชน์จากการอ่านบทความของนิธิตรงนี้แหละครับ ที่ทำให้เราเกิดการตั้งคำถาม วิพากษ์ รวมถึงแนวคิดในการมอง ที่อาจต่างไปจากเรา




 

Create Date : 10 มีนาคม 2548    
Last Update : 10 มีนาคม 2548 20:05:53 น.
Counter : 421 Pageviews.  

A History of Reading

โลกในมือนักอ่าน

(แปลจาก A History of Reading
ผู้แต่ง อัลแบร์โต แมนเกล
ผู้แปล กษมา สัตยาหุรักษ์
สำนักพิมพ์ มติชน)






อัลแบร์โต แมนเกล เริ่มต้นเล่าเรื่องอัตชีวประวัติแห่งการอ่านของเขา โดยบรรยายภาพจำนวน 18 ภาพอย่างละเอียดว่าเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน และอย่างไร ทั้ง 18 คนที่เขาหยิบยกมานั้น บางคนเป็นเพียงคนธรรมดา หลายคนเป็นคนมีชื่อเสียงก้องโลก แต่ทั้งหมดล้วนเป็น “นักอ่านที่อ่านด้วยท่าทาง ด้วยความชำนาญ ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยอำนาจและความรับผิดชอบที่สืบเนื่องจากการอ่านเช่นเดียวกับที่ผมได้รับ” และเขาสรุปจากท่าทางของคนทั้งหมดนี้ด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “ผ ม จึ ง ไม่ ไ ด้ อ ยู่ ต า ม ลำ พั ง”




การอ่านเป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษยชาติมานาน อาจจะเรียกได้ว่าตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์เกิดขึ้นบนโลกก็ว่าได้ และการอ่านบนผิวกระดาษก็ไม่ใช่รูปแบบเดียวที่เรารู้จัก ยังมีการอ่านอีกมากมายที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเช่น ชาวประมงที่ฮาวายซึ่งอ่านกระแสน้ำจากมหาสมุทรโดยการจุ่มมือลงน้ำ นอกจากนั้น เรายังสามารถอ่านอดีตกาลผ่านพ้นมาเนิ่นนานได้จากแผนที่ดาวของนักดาราศาสตร์ อ่านอนาคตที่ยังมาไม่ถึงจากกระดองเต่า อ่านเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่จากท่าเต้นของนักแสดงบนเวที สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งโดยมือที่มองไม่เห็น (พระเจ้า ธรรมชาติ) และสองมือของมนุษย์นั้นล้วนมีความหมายก็เพราะมี นั ก อ่ า น นั่นเอง


อัลแบร์โตให้ความสำคัญของการอ่านเทียบเท่ากับการหายใจเลยทีเดียว เพราะสำหรับเขานั้น การอ่าน เป็นการกระทำ “เพื่อเข้าใจได้ในพริบตาว่าเราคืออะไร และอยู่ที่ใด เราอ่านเพื่อเข้าใจ หรือเพื่อเริ่มต้นที่จะเข้าใจ...การอ่านก็เช่นเดียวกับการหายใจ เป็นหน้าที่ที่จำเป็นของพวกเรา”



นอกจากเขาจะเล่าถึงประสบการณ์ที่ถือเป็น “รูปแบบหนึ่งของการหายใจ”ของตัวเขาตั้งแต่วัยเด็กจนโตแล้ว เขายังสอดแทรกประสบการณ์ทำนองเดียวกันของนักเขียนชื่อก้องโลกไว้เป็นระยะๆ ในหนังสือเล่มนี้ เราจะได้รู้จักกับนิสัย แปลกๆ ของนักอ่านชื่อดังหลายคน เช่น มาร์แซล พรุสต์ คาฟกา ริลเค่ อเล็กซานเดอร์มหาราช ฆอร์เก หลุยส์ บอร์เกส นักบุญออกัสติน ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ ฮิตเลอร์ แซมมวล จอห์นสัน โกแลต สามสาวตระกูลออสติน พลีเน่ผู้เยาว์ โสเกรติส ดังเต้ วอล์ท วิทแมน และผู้คนที่ถือว่า “หนังสือคือชีวิต” อีกมากมาย หนึ่งในนิสัยที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งในการอ่านของนักอ่านเหล่านี้คือ การเลือกหนังสือที่จะอ่านให้เหมาะกับสถานที่ เช่น โกแลต ซึ่งจะอ่าน เหยื่ออธรรม ของวิกเตอร์ ฮูโก บนเตียงนอน เท่านั้น และเล่มนี้ยังเป็นหนังสือเล่มเดียวที่เธออ่านได้ อย่างไม่มีวันจบ เฮนรี มิลเลอร์ สารภาพว่า เขาอ่าน ยูลิซิส ของเจมส์ จอยซ์ ได้อย่างสนุกสนานก็ต่อเมื่ออยู่ในห้องน้ำ ยังมีโอมาร์ คายัม ที่แนะนำผู้ชอบอ่านบทกวีว่า ควรอ่านใต้ต้นไม้ใหญ่ๆ ในเดือนพฤศจิกายน มาร์แซล์ พรุสต์ ชอบหนีคนในบ้านมาอ่านหนังสือในห้องอาหารตอนเช้า เพราะเชื่อใจในข้าวของเครื่องใช้ในครัวว่า เป็นเพื่อนแท้ที่ไม่เคย “ซอกแซกถามคำถามที่ทำให้สมาธิเสีย” (รายละเอียดของการอ่านหนังสือบางเล่มได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานที่บางแห่งนั้น อัลแบร์โตเขียนเล่าไว้อย่างน่าติดตามในบทที่ชื่อว่า เมื่ออ่านตามลำพัง)



นอกจากเราจะเห็นด้วยกับอัลแบร์โตในเรื่องสถานที่ว่า “จำเป็นต้องเข้ากันได้กับหนังสือที่อ่าน”แล้ว เรายังจะได้รู้ถึงความจริงว่า สิ่งที่อยู่คู่กับการอ่านนั้นคืออะไรกันแน่ ทำไมเมื่อเวลาเราเห็นตัวอักษรแล้ว เราจึงเกิดอารมณ์สะเทือนใจ คล้อยตาม ขัดแย้ง สงสัย อยากรู้มากกว่าที่ตัวอักษรบอกไว้ นำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยพบมาก่อน ทั้งที่กำลังอ่านหนังสือในมือแท้ๆ แต่กลับไปคิดถึงหนังสือเล่มอื่น (เป็นอาการที่อัลแบร์โตเรียกว่า “ลักลอบมีชู้ทางการอ่าน”) เรียกได้ว่า อัลแบร์โต “ชำแหละ” ทุกอากัปกิริยาของการอ่านที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ให้เราเห็นอย่างละเอียดว่า ไม่ใช่เพียงแค่เกิดจากการร่ายมนตร์ของคนที่มีความสามารถอย่างที่เราเรียกว่า
นั ก เ ขี ย น เท่านั้น มันมีมากกว่านั้นแน่นอน (บทที่ชื่อว่า เงาของนักอ่าน) และมีมานานนับแต่มนุษย์เริ่มอ่านตัวหนังสือที่จารบนดินเหนียว จากนั้นก็กลายมาเป็นม้วนอักขระ หนังสือผูกเป็นเล่ม หนังสือเล่มใหญ่ยักษ์ที่ทำขึ้นด้วยมือ หนังสือที่มีรูปร่างหลากหลาย สุดท้ายกลายมาเป็นหนังสือที่ทุกคนสามารถหยิบติดตัวไปอ่านได้อย่างทุกวันนี้ และกว่าที่ เพนกวิน ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ทำให้คำว่า พ็อคเก็ตบุ้ค กลายมาเป็น “เรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว” นั้น มีอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง (รายละเอียดหน้าตาของหนังสืออยู่ในบทที่ชื่อว่า รูปร่างของหนังสือ)



อัลแบร์โตไม่เพียงแต่เล่าถึงการอ่านของคนที่รู้หนังสือเท่านั้น เขายังพาเราไปรู้จักกับโลกของนักอ่านที่ไม่รู้หนังสือ แต่ก็อ่านความหมายได้เช่นกัน โลกในมือนักอ่านหนังสือจากภาพ นั่นเอง ( ในบทที่ชื่อ เมื่ออ่านจากภาพ) นอกจากนั้น เรายังจะได้รู้ซึ้งถึงความสาหัสสากรรจ์ของคนในอดีตที่ชีวิตประจำวันผูกพันกับเรื่องทางศาสนา การหัดเรียนเขียนอ่านของคนสมัยก่อนที่มีเคล็ดลับน่าทึ่งปนน่าเวทนา การอ่านหนังสือตามลำพังโดยไม่ออกเสียงนั้นเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดในสายตาของนักบุญออกัสตินเพียงใด การอ่านหนังสือให้ผู้อื่นฟังทั้งจากหนังสือที่อยู่ในมือและหนังสือที่อยู่ในความทรงจำ และเรายังได้ทำความเข้าใจว่าทำไมหนังสือถึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกใช้อ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีการโต้แย้ง เป็นบาปของคนที่ไม่ทำอะไรในเวลากลางวัน เป็นสิ่งที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่า อะไรควรอ่าน อะไรต้องไม่อ่าน และทำไมคนที่สวมแว่นตาอ่านหนังสือจึงถูกมองว่าเป็นพวกเด็กเรียน สติเฟื่อง บ้าวิชาการ อีกทั้ง เราจะได้เข้าใจเสียทีว่า หอคอยงาช้าง นั้นมีดีอะไร ทำไมถึงถูก เหมาว่าเป็นที่อยู่ของคนประเภทนี้ (รายละเอียดของเรื่องเหล่านี้อยู่ในบท การอ่านต้องห้าม นักอ่านในใจ เมื่ออ่านให้ผู้อื่นฟัง หนังสือจากความทรงจำ คนโง่หนังสือ การหัดอ่าน)



นอกจากอัลแบร์โตจะจับเข่าคุยกับเราถึงเรื่องราวของนิสัยในการอ่าน เขายังเล่าถึงชีวิตของสองอาชีพคือ นักเขียน และ นักแปล ว่าโลกของคนเหล่านี้เป็นเช่นไร เมื่อทำหน้าที่เป็นแค่ นักอ่าน โดยยกตัวอย่างชีวิตของผู้ที่ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีเลิศ (จะเป็นใครเห็นทีต้องลองหยิบมาอ่านดูในบท เมื่อนักแปลเป็นนักอ่าน และ เมื่อนักเขียนเป็นนักอ่าน)



เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่เป็นแรงดึงดูดของ โลกในมือนักอ่าน คือ รายชื่อหนังสือนับร้อยๆ เล่มที่อัลแบร์โตยกมาอ้างประกอบไว้ ซึ่งบางเล่ม เขาก็หยิบยกบางตอนออกมาอ่านให้เราฟัง ขยายความอย่างละเอียดในบางประโยค แต่บางเล่มก็เพียง “หยิบขึ้นมาชูหน้าปกแล้ววางลงตรงที่เดิม” เหมือนจะยั่ว หนอนหนังสือ ให้คืบคลานไปลิ้มรสชาติอาหารจากหนังสือเหล่านั้นเอาเองว่า อร่อย เพียงใด




เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง อัลแบร์โตก็สามารถทำให้ นักอ่าน รวมทั้ง นักอยากอ่าน ทุกคนได้รู้ซึ้งถึงอำนาจของตนขณะถือหนังสืออยู่ในมืออย่างแท้จริงว่า ไม่ต่างอะไรกับบทกวีที่สตีเวนสันตวัดปากกาจารึกไว้


โลกใบนี้ ข้าคือเจ้าผู้ปกครอง
เพราะข้า หมู่ภมรจึงขับขาน
เพราะข้า ฝูงนกนางแอ่นจึงโบยบิน



มาถึงบรรทัดนี้ คงไม่ต้องบอก ตอก ย้ำ ซ้ำว่า หนังสือ โลกในมือนักอ่าน เล่มนี้ เหมาะกับใคร ถ้าไม่ใช่ทุกคนที่อยากเดินทางท่องไปได้ทั่วโลก เพียงใช้นิ้วพลิกหน้ากระดาษ เลื่อนมือไปมาโดยไม่ต้องลุกจากเตียงนอน โซฟา เก้าอี้เท้าแขน ห้องน้ำ บนรถไฟ ขณะโหนรถเมล์ ที่เปลยวนใต้ต้นไม้ใหญ่ ริมแม่น้ำ ในรถไฟฟ้า แม้กระทั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์



ใครก็ตามที่ประกาศตัวว่าเป็น หนอนหนังสือ ย่อมต้องดีใจที่ได้พบแหล่งอาหารอันโอชะอีกแหล่งหนึ่งซึ่งมีให้กินได้ไม่รู้จักอิ่ม จาก โลกในมือนักอ่าน เล่มนี้นี่เอง



อัลแบร์โต แมนเกล (Alberto Manguel) เป็นทั้งนักเขียน
นักแต่ง นวนิยาย และนักแปล ผลงานของเขาหลายเล่มคว้ารางวัลระดับนานาชาติ



สำหรับงานเขียนเรื่อง The History of Reading นี้
นิตยสารนิวยอร์คไทม์ ยกย่องว่าเป็น “เจ้าความคิด...ดั่งพิพิธภัณฑ์แห่งการรู้หนังสือ”



The History of Reading ติดอันดับหนังสือขายดี และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ แล้ว 27 ภาษา ทั้งได้รับเลือกให้เป็น หนังสือยอดเยี่ยมแห่งปี โดยนิตยสาร Times Literary Supplement และได้รับรางวัลชนะเลิศจากงานประกวด Prix Médecis ที่ประเทศฝรั่งเศส


อัลแบร์โต เกิดที่กรุงบูเอโนส ไอเรส และอาศัยอยู่ในอิตาลี อังกฤษ และตาฮิตี ปัจจุบันเขาถือสัญชาติแคนาดา และพำนักอยู่ที่ฝรั่งเศส


//www.praphansarn.com/WebBoard2/QAview.asp?id=1673




 

Create Date : 10 มีนาคม 2548    
Last Update : 17 มีนาคม 2548 20:06:38 น.
Counter : 484 Pageviews.  


Mr.ปู
Location :
อุทัยธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.ปู's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.